ASIAN INSTITUTE OF MANAGEMENT หรือ AIM เป็นสถาบันสอนด้านการบริหาร ตั้งอยู่ที่มนิลา
ประเทศฟิลิปปินส์ AIM กำเนิดขึ้นจากผลของข้อตกลงร่วมกันระหว่าง 18 ชาติในทวีปเอเชีย ทั้งนี้ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลอเมริกัน,
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 2 มหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯ
สถาบันแห่งนี้ทำการเปิดสอนและรับนักศึกษาชุดแรกเมื่อปี 2511 ปัจจุบันมีศิษย์เก่าซึ่งส่วนมากจะเป็นคนเอเชียไม่น้อยกว่าพันคน และถือกันว่าเป็นสถาบันซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมากแห่งหนึ่งของโลก
AIM มีหลักสูตรที่ให้ปริญญาอยู่ 2 หลักสูตรสำคัญๆ คือหลักสูตรปริญญาโทด้านการจัดการธุรกิจ
(MASTER IN BUSINESS MANAMGEMENT) หรือเรียกย่อๆ ว่า MBM โดยรับผู้จบปริญญาตรีที่มีประสบการทำงานมาแล้วอย่างน้อย
1 ปีเข้าศึกษา ส่วนอีกหลักสูตรหนึ่งเรียกว่า MM หรือ MASTER IN MANAGEMENT
หลักสูตรนี้เปิดรับผู้จบปริญญาตรีมาแล้วเช่นกัน เพียงแต่จะต่างจากหลักสูตร
MBM ก็ตรงที่ผู้สมัครเข้าเรียนต้องมีประสบการณ์ผ่านงานอย่างน้อย 8 ปีขึ้นไปเท่านั้น
หลักสูตร MBM ใช้เวลาเรียน 2 ปี และหลักสูตรน MM ใช้เวลาเรียน 1 ปี
ดูเหมือนว่าสำหรับหลักสูตร MM นั้นเพิ่งจะมีคนไทยเรียนจบออกมาคนเดียว
นอกจากนั้น 2 หลักสูตรซึ่งถือเป็นหลักสูตรที่ให้ปริญญาแล้ว AIM ยังมีการเปิดสอนหลักสูตรสั้นๆ
ใช้เวลาเรียนหรือฝึกอบรมประมาณ 1-3 เดือนอีกด้วย
หลักสูตรที่ใช้เวลาสั้นๆ นี้ก็เช่น BMP หรือ BASIC MANAGEMENT PROGRAM สำหรับนักบริหารระดับล่างที่กำลังจะก้าวขึ้นไปเป็นนักบริหารระดับกลาง
MDP หรือ MANAGEMENT DEVELOPMENT PROGRAM สำหรับนักบริหารระดับกลาง และ TOP
MANAGEMENT PROGRAM สำหรับนักบริหารระดับยอดสุดของแต่ละองค์การ เป็นต้น
หลักสูตรระยะสั้นดังกล่าวเป็นหลักสูตรที่ไม่มีปริญญาให้
AIM มีศิษย์เก่าที่เป็นคนไทยในขณะนี้เกือบ 200 คนแล้ว โดยเป็นศิษย์เก่าตามหลักสูตรที่ให้ปริญญาประมาณ
15 คน และที่เหลือเป็นศิษย์เก่าประเภทที่เคยไปเข้าเรียนหลักสูตรระยะสั้นระดับต่างๆ
ศิษย์เก่าเหล่านี้หลายๆ คนเมื่อเอ่ยชื่อก็เป็นที่รู้จักกันดีในวงการธุรกิจและในวงการนักวิชาการของบ้านเรา
ธีระชัย เชมนะสิริ อดีตประชาสัมพันธ์อาวุโสบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งปัจจุบันย้ายมานั่งในตำแหน่งผู้บริหารคนหนึ่งของฝ่ายขายก็เป็นศิษย์เก่าคนหนึ่งของ
AIM
ธีระชัย สำเร็จ MBM เมื่อปี 2516 เขาเป็นคนไทยคนที่สองที่สามารถผ่านหลักสูตรนี้มาได้
ส่วนคนแรกที่จบไปก่อนประมาณสองรุ่นก็คือ สมพงษ์ ชีรานนท์ ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินบริษัทเมโทรแมชีนเนอรี่ในปัจจุบัน
ธีระชัยเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่า AIM แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2525
และเพิ่งได้รับรางวัลเกียรติยศสูงสุดของสถาบันที่เรียกว่า TRIPPLE A ไปเมื่อปีที่แล้วนี่เอง
โดยศิษย์เก่าคนไทยอีกคนหนึ่งที่ได้รับรางวัลนี้พร้อมๆ กับธีระชัยก็คือ ชัยณรงค์
มณเฑียรวิเชียรฉาย
มาในปี 2528 ธีระชัยก็สร้างเกียรติประวัติอีกครั้งด้วยการได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์ศิษย์เก่า
ซึ่งสหสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดจากการรวมตัวของสมาคมศิษย์เก่าในประเทศต่างๆ ในเอเชีย
12 ประเทศ หรือ 12 สมาคม นับเป็นเกียรติสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง
และในฐานะประธานสมาพันธ์ งานใหญ่ที่ธีระชัยจะต้องรับผิดชอบร่วมกับสมาคมศิษย์เก่า
AIM แห่งประเทศไทยก็คือ งานสัมมนาระดับนานาชาติครั้งที่ 8 ของ AIM หรือ 8TH
AIM. INTERNATIONAL MANAGEMENT CONFERENCE ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ
งานสัมมนาระดับนานาชาติของ AIM นี้ จัดกันปีละครั้ง เริ่มตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี
2521 ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย การจัดงานที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่
8 และถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งที่จริงเจ้าภาพของครั้งนี้ควรจะเป็นประเทศเกาหลีใต้หากแต่สมาคมศิษย์เก่าของที่นั่นได้แจ้งอย่างฉุกเฉินว่าเกิดเหตุขัดข้องไม่สามารถรับเป็นเจ้าภาพจัดงานได้
ที่ประชุมจึงขอร้องให้ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพแทน พร้อมกันนั้นก็ลงมติให้ธีระชัยรับตำแหน่งประธานสหพันธ์ศิษย์เก่าไปด้วย
ประเทศไทยเคยได้รับเกียรติครั้งแรกเมื่อปี 2524 ซึ่งก็ถือเป็นครั้งที่ 4
ของงานสัมมนาระดับนานาชาติของ AIM นี้ ครั้งนั้นงานได้จัดขึ้นระหว่าง 27-28
กุมภาพันธ์ สถานที่คือโรงแรมรามาทาวเวอร์ มีบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งรองนายกฯ
ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิด
หัวข้อของการสัมมนาก็ใช้หัวข้อว่า THE DEVELOPMENT OF ASEAN MANAGER เป็นหัวข้อใหญ่และยังมีหัวข้อรองลงมาก็คือเรื่อง
CAN ASEAN MANAGER BE DEVELOP
ตัวผู้บรรยายหลักๆ ในปี 2424 นั้นก็คือ ศาสตราจารย์เมนโดซ่า อธิการบดีคนปัจจุบันของ
AIM และพอล สิทธิอำนวย ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้มีฝีมือระดับเจ้ายุทธจักรด้วยกันทั้ง
2 คน
ศาสตราจารย์เมน โดซ่า เป็นนักพูดที่เก่งกาจหาตัวจับยากมากคนหนึ่ง เขาเป็นชาว
ฟิลิปปินส์ สำเร็จการศึกษา MBA จากฮาร์วาร์ด โดยมีเกียรตินิยมพ่วงท้ายมาด้วยนับว่าไม่ใช่คนธรรมดา
เพราะปกติแค่ MBA จากฮาร์วาร์ดเฉยๆ ไม่ต้องได้เกียรตินิยมก็สำเร็จได้ยากอยู่แล้ว
ปรากฏว่าการจัดงานสัมมนาระดับชาติของ AIM ครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จงดงามมาก
ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาวิชาการจากการสัมมนาและการต้อนรับขับสู้ของเจ้าภาพซึ่งเป็นศิษย์เก่าคนไทย
บรรดาศิษย์เก่าประเทศอื่นๆ ซึ่งมาชุมนุมกันเพราะถือว่างานนี้เป็นงานชุมนุมศิษย์เก่าจากทุกประเทศด้วยต่างพากันชมเชยมาก
ซึ่งนี่ก็คงอธิบายได้อย่างดีว่า ทำไมสหพันธ์จึงพร้อมใจกันเลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอีกครั้งหลังจากเกาหลีใต้ได้เกิดเหตุขัดข้องกว่าจะพร้อมอีกทีก็คงต้องเป็นการจัดงานครั้งที่
9 ในปีหน้าโน่น
งานสัมมนาระดับนานาชาติครั้งที่ 8 ของ AIM ได้ตระเตรียมการทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว
โดยใช้เวลาเตรียมการกันเกือบปี คือหลังจากที่ทราบว่าจะต้องเป็นเจ้าภาพแน่นอนแล้วนั่นเอง
กล่าวคืองานจะจัดกันระหว่างวันที่ 20-22 มิถุนายน 2528 ซึ่งบรรดาศิษย์เก่าอันบัดนี้ได้กลายเป็นนักธุรกิจและนักบริหารของหลายๆ
ประเทศจะเดินทางมากรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 20 และเดินทางกลับวันที่ 22 ส่วนวันที่
21 นั้น จะเป็นวันสัมมนาและวันนี้เองที่นักธุรกิจหรือนักบริหาร ตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไปที่เป็นคนไทยโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นศิษย์เก่าด้วยหรือไม่จะมีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาด้วย
โดยเสียค่าใช้จ่ายหัวละ 1,000 บาท
การสัมมนาครั้งนี้จะใช้สถานที่ที่โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล และหัวข้อของการสัมมนาหลังจากใช้เวลาตรึกตรองอยู่นานพอสมควรและก็ตกลงกันว่าจะใช้ชื่อเรื่องสิ่งท้าทายสำหรับผู้จัดการมืออาชีพหรือ
THE CHALLENGE FOR PROPRESSIONAL MANAGERS ซึ่งฟังแล้วก็สะดุดความสนใจใช้ได้
สำหรับผู้ที่เป็นมืออาชีพก็น่าจะลองไปฟังดูว่า ในปัจจุบันมองออกไปในอนาคตแล้วจะมีปัญหาอะไรบ้างที่ผู้จัดการมืออาชีพจะต้องตระเตรียมตัวรับมือไว้
ส่วนผู้ที่ต้องการจะก้าวขึ้นมาเป็นมืออาชีพก็จะมีประโยชน์ในแง่ของการทดสอบดูว่าตนพอจะเป็นมืออาชีพได้หรือไม่
ที่นั่งสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่ศิษย์เก่าดูเหมือนจะมีให้ไม่เกิน 150 ที่นั่งเท่านั้น
ผู้ใดสนใจก็โทรศัพท์ไปสำรองทีนั่งได้ที่นายกสมาคมศิษย์เก่า AIM แห่งประเทศไทย
อภิชาต รมยะรูป หมายเลขโทรศัพท์ 222-2656 หรือที่ธีระชัย เชมนะสิริ หมายเลข
585-4053 ในวันเวลาราชการนี่ก็ถือโอกาสประชาสัมพันธ์ให้เสร็จ
หัวข้อสัมมนาเรื่อง THE CHALLENGE FOR PROPRESSIONAL MANAGERS นี้ ได้กำหนดตัวผู้บรรยายไว้อย่างน่าสนใจมาก
คือจะทำพิธีเปิดงานและกล่าวนำการสัมมนาโดยพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
ส่วนผู้บรรยายคนอื่นๆ ก็เช่น ศาสตราจารย์เมนโดซ่า จะบรรยายจากทัศนะของนักวิชาการ
ดร.อำนวย วีรวรรณ บรรยายจากทัศนะของผู้จัดการมืออาชีพคนหนึ่งและถาวร พรประภา
ประธานกลุ่มสยามกลการจะบรรยายในทัศนะของเจ้าของกิจการ ก็เรียกว่าได้ครบทุกแง่ทุกมุม
ทั้งนี้ผู้ทำหน้าที่ดำเนินการสัมมนาก็คือ ชัยณรงค์ มลเฑียรวิเชียรฉาย
การสัมมนาดีๆ อย่างนี้นานปีจะจัดกันสักครั้ง ซึ่งสำหรับสมาคมศิษย์เก่า AIM
แห่งประเทศไทยกว่าจะได้จัดอีกครั้งก็คงต้องรออีกไม่น้อยกว่า 10 ปี เพราะงานประเภทนี้ประเทศไหนก็อยากจะเป็นเจ้าภาพจัดด้วยกันทั้งนั้น
และคงจะมีประโยชน์โดยตรงใช่แต่ผู้บริหารในภาคเอกชนอย่างเดียว ผู้บริหารในภาครัฐบาลโดยเฉพาะผู้บริหารในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็จะเป็นประโยชน์มากภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลเองก็กำลังมีนโยบาย
PRIVATIZATION อยู่พอดี
ผู้ใดสนใจก็ลองสอบถามตามรายชื่อที่ให้ไว้นั่นก็แล้วกัน