Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2528
บุญชนะ อัตถากร อีกบทบาทหนึ่งในธุรกิจประกันชีวิต             
 


   
search resources

Insurance
บุญชนะ อัตถากร
ไทยเศรษฐกิจประกันภัย, บมจ.




ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร เป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในหลาย ๆ วงการ และออกจะเป็นผู้ที่มีภาพอยู่หลายภาพในตัว

ศาสตราจารย์บุญชนะเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวงหลายยุค เคยเป็นนักการทูต เป็นนักการเมือง นักวิชาการ นักเขียนผู้ซึ่งผลิตผลงานออกมาทั้งที่เป็นงานด้านวิชาการและอัตชีวประวัติในแต่ละช่วงของท่าน นอกจากนี้ยังเคยถูกระบุว่าจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งที่กลุ่มยังเติร์กก่อการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 1-3 เมษายน 2525 อีกด้วย

ในทางธุรกิจศาสตราจารย์บุญชนะก็เป็นกรรมการบ้าง ที่ปรึกษาบ้าง ให้กับองค์กรธุรกิจหลายแห่ง และโดยส่วนตัวนั้นเท่าที่ทราบกันท่านเป็นเจ้าของโรงแรมฟลอริดาซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกพญาไท

ศาสตราจารย์บุญชนะสำเร็จเนติบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์และการคลังจากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศนียบัตรด้านการพัฒนาเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า สถาบันที่ท่านสำเร็จปริญญาโทมา

ในด้านผลงานและบทบาทที่เด่นๆ ก็เห็นจะได้แก่ การที่ท่านเป็นผู้กำหนดนโยบายและวางแผนโครงการต่างๆ ให้แก่แผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 6 ปีฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2504 ส่วนหน้าที่ที่ถือเป็นเกียรติสูงสุดก็คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการหรือคือกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน และตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา

และในวันนี้ด้วยวัย 75 ปี ศาสตราจารย์บุญชนะกำลังเพิ่มบทบาทให้แก่ตัวเองอีกบทบาทหนึ่งด้วยการเข้ารับตำแหน่งทางธุรกิจเป็นประธานกรรมการบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต

บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต เป็นบริษัทที่ได้แยกการประกอบธุรกิจประกันชีวิตออกมาเป็นเอกเทศจากบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2526 ขณะนี้ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 36 ล้านบาท

กลุ่มที่เข้าไปซื้อกิจการประกันชีวิตของไทยเศรษฐกิจประกันภัยและแยกเป็นบริษัทต่างหาก คือ บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตนั้นก็คือ กลุ่มของศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร กลุ่มตระกูลเคียงศิริ และกลุ่มตระกูลอัศวินวิจิตร ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการค้าส่งออกข้าวและพืชผลการเกษตรอีกหลายชนิด

ทั้งนี้ทั้ง 3 กลุ่มถือหุ้นอยู่ในอัตราส่วนที่เท่าๆ กัน

สำหรับบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย มีประวัติเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2485 โดยการสนับสนุนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลขณะนั้น ไทยเศรษฐกิจประกันภัยประกอบธุรกิจทั้งด้านการประกันวินาศภัยและประกันชีวิต มีทุนจดทะเบียนครั้งแรกสุด 4 ล้านบาท แต่เรียกชำระเพียง 25% ผลการดำเนินงานปรากฏว่า ประสบความสำเร็จด้วยดี สามารถนำเงินปันผลมาจ่ายเป็นค่าหุ้นได้ในปีต่อๆ มา จนครบ 4 ล้านบาทโดยไม่ต้องเรียกเงินเพิ่มจากผู้ถือหุ้น

ในปี 2519 หรืออีก 34 ปีต่อมา เพิ่มทุนเป็นครั้งแรกจาก 4 ล้านบาทเป็น 8 ล้านบาทและเพิ่มอีกเป็น 10 ล้านบาทในปี 2521

ปี 2525 อันเป็นปีที่ดำเนินกิจการมาครบ 40 ปีเต็ม จึงได้มีการเสนอเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 40 ล้านบาท

ไทยเศรษฐกิจประกันภัยนับเป็นผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิตที่มีอายุเก่าแก่มากแห่งหนึ่งของไทย แต่ถ้ามองด้านผลการดำเนินงานแล้วก็จะพบว่ามีอัตราการเติบโตที่ช้าและน้อยมาก ทั้งนี้ว่ากันว่าสาเหตุใหญ่ก็คือ การขาดแคลนผู้บริหารที่มีฝีมือมาโดยตลอด

เพราะฉะนั้นนับตั้งแต่ปี 2525 อันเป็นปีที่ผู้ถือหุ้นจะต้องควักเงินเพิ่มทุนในทันทีอีก 30 ล้านบาทเพื่อให้มีทุนจดทะเบียนเป็น 40 ล้านบาทนั้น ก็ได้ชักนำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เข้ามาด้วย

ไทยเศรษฐกิจประกันภัยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ส่วนภาคเอกชนก็แบ่งกันถือหุ้นคนละเล็กละน้อยจำนวนหลายสิบราย เพราะฉะนั้นกรรมการผู้มีเสียงชี้ขาดจึงเป็นกรรมการจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งก็คือ โพธิ์ จรรย์โกมล รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอดีตเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลบริษัทประกันภัยโดยตรง

และด้วยความเห็นของโพธิ์ จรรย์โกมล ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ โพธิ์หรือที่คนในวงการประกันภัยเรียกกันว่า “อาจารย์โพธิ์” ได้ตัดสินใจมอบงานด้านการประกันวินาศภัยบางแขนงไปให้เอกชนกลุ่มหนึ่งดำเนินการโดยแบ่งผลกำไรส่วนหนึ่งให้กับบริษัท และยังได้แยกกิจการด้านประกันชีวิตออกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่งต่างหาก จากนั้นได้ขายกิจการนี้ไปให้กลุ่มศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร กลุ่มเคียงศิริ และกลุ่มอัศวินวิจิตร เมื่อเดือนกันยายน 2526 ดังได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น

เมื่อได้กิจการประกันชีวิตมาทำนั้น ทั้ง 3 กลุ่มต่างก็ทราบดีว่า ไม่มีใครในกลุ่มพวกตนที่มีประสบการณ์ในงานด้านนี้มาก่อน แม้จะมีชื่อเสียงมาจากหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการประกันชีวิตในปัจจุบันเป็นกิจการที่จะต้องใช้มืออาชีพด้านนี้จริงๆ อีกด้วย

ในเดือนกรกฎาคม 2527 หรือหลังการซื้อบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตมาได้ 10 เดือน จึงได้มีการทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัทอยาลา อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ขึ้นโดยสัญญานี้บริษัทอยาลาจะได้เข้ามาถือหุ้นร้อยละ 25 จากจำนวนหุ้นที่แบ่งมาจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้ง 3 กลุ่มในจำนวนเท่าๆ กัน และอยาลาจะให้ความร่วมมือแก่บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตทั้งด้านเทคนิคและวิชาการที่ทันสมัยต่อไป

อยาลา อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เป็นบริษัทลูกของอยาลา อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศฟิลิปปินส์ กลุ่มนี้มีประวัติการก่อตั้งย้อนหลังไปได้ถึง 150 ปี ว่ากันว่าปัจจุบันเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของฟิลิปปินส์ มีกิจการด้านการค้าที่ดิน การธนาคาร การประกันภัย และการประกันชีวิต เป็นต้น

อยาลา เข้าร่วมทุนในบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต โดยมีเป้าหมายเฉพาะหน้าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้ 5 ประการใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

หนึ่ง - นำโครงการพัฒนาบุคลากรมาใช้ เพื่อฝึกอบรมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ของสำนักงานใหญ่ให้มีความสันทัดจัดเจน พัฒนาพลังตัวแทนขายประกันให้มีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จในการขาย รวมทั้งฝึกอบรมตัวบุคคลที่เหมาะสมที่จะมาเป็นผู้จัดการหรือเจ้าหน้าที่ระดับบริหารในอนาคต

สอง - พัฒนาบุคคลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกให้พร้อมและสามารถที่จะมารับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปได้ เมื่อหมดสัญญาการบริหารงาน

สาม - พัฒนาแบบประกันต่างๆ ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดและเป็นที่นิยมของประชาชนโดยทั่วไป

สี่ - พัฒนาระบบเงินค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของตัวแทนให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดและเพื่อให้ตัวแทนขายประกันมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานสูงขึ้น

ห้า - พัฒนาระบบการตลาด ระบบการเงิน และระบบการบริหารงาน ตลอดจนระเบียบปฏิบัติและการควบคุมให้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผล

กลุ่มอยาลา ภายใต้สัญญาร่วมทุนที่จัดทำขึ้นกับกลุ่มผู้ถือหุ้นทั้ง 3 กลุ่มของไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต มีสัญญาการบริหารงานและให้การฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่คนไทยชั้นแรกนี้กำหนดไว้ 5 ปี โดยเมื่อสิ้นสุดปีที่ 5 ได้ตั้งเป้าหมายว่า ควรจะมีเบี้ยประกันจากกรมธรรม์ที่มีผลบังคับ ณ สิ้นสุดของปีนั้น เป็นจำนวน 134 ล้านบาท

จะเป็นได้ตามเป้าหมายนี้หรือไม่ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป

มีมืออาชีพในวงการประกันชีวิตคนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า ธุรกิจประกันชีวิตนั้นจะประสบความสำเร็จได้อย่างน้อยต้องมี 2 สิ่ง คือ ภาพพจน์และฝีมือของผู้บริหาร

ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตก็คงจะได้ภาพพจน์ที่ดีจากภาพของศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร ไปบ้าง และในขณะเดียวกัน ฝีมือระดับกลุ่มอยาลาก็คงจะช่วยได้มากด้านการบริหาร

ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตอาจจะมีเรื่องต้องพูดกันมากก็หลังจากนี้ 5 ปีเมื่อหมดสัญญากับกลุ่มอยาลาแล้วนั่นแหละ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us