Wikipedia ภาษาเวียดนาม ได้ให้ข้อมูลของจังหวัดหล่าวกายไว้ว่า เป็นจังหวัดพื้นที่สูงชายแดน อยู่ในตอนกลางและพื้นที่ภูเขาทางทิศเหนือของเวียดนาม ติดเขตแดนระหว่างพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือและพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศเหนือของหล่าวกายติดสาธารณรัฐประชาชนจีน ทิศตะวันตกติดจังหวัดลายเจิว ทิศตะวันออกติดจังหวัดห่ายาง ทิศใต้ติดจังหวัดเอียนบ๊าย
ปี 2550 ประชากรของหล่าวกายมี 593,600 คนในจำนวนนี้อยู่ในวัยแรงงาน 314,520 คน คิดเป็นสัดส่วน 53% ตามผลการสำรวจเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2552 ประชากรหล่าวกายมีทั้งสิ้น 613,075 คน
ประวัติ
หลังจากเข้าตียึดครองหล่าวกาย (มีนาคม พ.ศ.2429) ฝรั่งเศสปกครองพื้นที่หล่าวกายตามระบอบทหาร ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2450 ผู้มีอำนาจเต็มอินโดจีนออกคำสั่งเปลี่ยนจากระบอบการบริหารโดยฝ่ายทหารไปเป็นระบอบปกครองโดยพลเรือน และก่อตั้งจังหวัดหล่าวกาย
ปัจจุบันจังหวัดหล่าวกายประกอบด้วย 1 นคร และ 8 อำเภอ คือนครหล่าวกาย อำเภอบ๋าวทั้ง อำเภอบ๋าวเอียน อำเภอบ๊าตซาต อำเภอบั๊กห่า อำเภอเหมื่องเคือง อำเภอซาปา อำเภอซีมากาย และอำเภอวันบ่าน
โครงสร้างแรงงานปี 2547
หล่าวกายเป็นจังหวัดยากจนที่สุดจังหวัดหนึ่งในเวียดนาม (รวมทั้งจังหวัดลายเจิว) ประชาชน 78.07% ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและป่าไม้ 0.04% ประกอบอาชีพประมง 1.62% ประกอบอาชีพอุตสาหกรรมขุดเจาะเหมืองแร่ 2.37% ประกอบอาชีพอุตสาหกรรมแปรรูป 3.29% ประกอบอาชีพก่อสร้าง 3.48% ค้าขาย ซ่อมเครื่องยนต์ และทำของใช้ส่วนตัว 0.90% อยู่ในอุตสาหกรรมโรงแรม และร้านค้า 1.31% อยู่ในธุรกิจขนส่ง และการติดต่อสื่อสาร 0.21% อยู่ในธุรกิจการเงิน และสินเชื่อ 0.05% อยู่ในกิจกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 0.13% ประกอบธุรกิจบริการที่ปรึกษา 0.36% อยู่ในภาคการบริการจัดการของรัฐความมั่นคง และการป้องกันประเทศ 3.57% อยู่ในภาคการศึกษาและฝึกอบรม 0.69% อยู่ในภาคสาธารณสุขและกิจกรรมช่วยเหลือสังคม 0.24% อยู่ในกิจกรรมวัฒนธรรม-กีฬา 0.52% อยู่ในกิจกรรมพรรค องค์การ สมาคม และ 0.24% อยู่ในกิจกรรมบริการเอกชนและประชาคม
ทรัพยากร
ที่ดินในจังหวัดหล่าวกายมี 10 กลุ่มที่ดิน ที่สำคัญคือ ดินตะกอนทับถม ดินดำ ดินแดงเหลือง ดินซากพืชเหลืองแดง ดินซากพืชบนภูเขา ดินซากพืชแห้งบนภูเขา ดินแดงเหลืองถูกปรับเปลี่ยนโดยการปลูกข้าว ดินหินกรวด และดินไหลเลื่อนทับถม
ในพื้นที่จังหวัดมีแม่น้ำใหญ่ 2 สายไหลผ่าน คือแม่น้ำแดง และแม่น้ำไจ๋ แหล่งต้นน้ำอยู่ในจีน และยังมีแม่น้ำลำธารใหญ่เล็กนับพันสาย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้จังหวัดหล่าวกายสามารถพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กบน พื้นที่จังหวัดมีแหล่งน้ำแร่ น้ำร้อน 4 แหล่ง มีอุณหภูมิประมาณ 400ºC
มีพื้นที่ป่า 278,907 เฮกตาร์ ในจำนวนนี้เป็นป่าธรรมชาติ 229,296.6 เฮกตาร์ และป่าปลูก 49,604 เฮกตาร์ อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์และพืชหลากหลายพันธุ์
จังหวัดหล่าวกายมีเหมืองแร่ถึง 150 แห่ง ด้วยแร่ธาตุกว่า 30 ชนิด ในจำนวนนี้มีแร่คุณภาพจำนวนมากที่สุดในประเทศและภูมิภาค เช่น เหมืองแร่อะพาไทต์กามเดื่อง ด้วยปริมาณสำรอง 2,500 ล้านตัน เหมืองแร่เหล็กกวี๊ซา ปริมาณสำรอง 124 ล้านตัน เหมืองแร่ทองแดงซินเกวี่ยน ปริมาณสำรอง 53 ล้านตัน เหมืองแร่โมลิบดีนัมโอกวีโห่ ปริมาณสำรอง 15,400 ตัน
โครงสร้างพื้นฐาน
หล่าวกายมีโครงข่ายคมนาคมขนส่งหลากหลาย ประกอบด้วยทางถนน ทางรถไฟ ทางแม่น้ำ และในช่วงปี 2549-2553 กำหนดจะขยายโครงการสนามบินหล่าวกาย
|