|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
คนไทยส่วนใหญ่รู้จักเบียร์ลาว แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รู้เรื่องราวโดยละเอียดของเบียร์ลาว บทสัมภาษณ์ “กิดสะหนา วงไซ” ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทเบียร์ลาว และเนื้อหาประกอบจากการสืบค้นข้อมูลของกองบรรณาธิการชิ้นนี้คงให้คำตอบในเรื่องราวเกี่ยวกับเบียร์ลาวกระจ่างขึ้น
“เบยลาว เบยของคนลาว คนจิงใจ” เป็นวลีที่ดูเรียบง่าย ใช้ภาษาตรงๆ ไม่อ้อมค้อม สะท้อนถึงบุคลิกตัวตนของคนลาวได้ตรงจุดที่สุด
วลีนี้ยังมีนัยที่กินใจคนลาวทั้งประเทศจนกลายเป็นความจงรักภักดีต่อตรา สินค้า ส่งผลให้เบยลาวหรือเบียร์ลาว เป็นเบียร์ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 98% ของตลาดเบียร์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว (สปป.ลาว) ทั้งประเทศ
คนไทยส่วนใหญ่รู้จักเบียร์ลาว แม้บางคนที่ไม่ใช่คอเบียร์ และไม่ใช่คนที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แต่หากได้เคยเดินทางไปยัง สปป.ลาว อย่างน้อยต้องได้เห็นตราสินค้าของเบียร์ลาวอยู่ตามป้ายโฆษณา หรือบิลบอร์ดที่กระจายติดตั้งอยู่ทั่วทุกจุด
แต่จะมีสักกี่คนที่รู้เรื่องราวของเบียร์ลาว หรือเข้าใจภาพธุรกิจของเบียร์ลาว โดยละเอียด
หนำซ้ำหลายคนยังชอบนำคำว่า “เบยลาว” ที่เขียนตามภาษาลาว มาพูดเชิง ติดตลกว่า “เขยลาว” ซึ่งความจริงแล้วเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเป็นการล้อเลียนภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน!!!
ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 100% ของเบียร์ลาว ถือเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญ เพราะธรรมชาติของคนลาวปัจจุบัน เวลามีงานเลี้ยงสังสรรค์ เครื่องดื่มแอลกอ-ฮอล์ที่นิยมดื่มกันมากที่สุด คือเบียร์
ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภท อื่นมีคนดื่มน้อยมาก อย่างวิสกี้หรือบรั่นดี คนมีฐานะในสังคมเพียงไม่กี่กลุ่มที่สามารถดื่มได้ หรือคนในชนบทห่างไกลซึ่งมีสัดส่วน ประชากรไม่มากนักที่ยังมีประเพณีดื่มสุราพื้นบ้านหรือสุรากลั่นเองอยู่
ประมาณกันว่ามูลค่าตลาดเบียร์ของ สปป.ลาวโดยรวมในปัจจุบันตกประมาณปีละ 2 ล้านล้านกีบ หรือเท่ากับ 7,874 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนที่ 254 กีบเท่ากับ 1 บาท)
หากคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าตลาดดังกล่าวจะอยู่ที่ 238 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม กิดสะหนา วงไซ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทเบียร์ลาวให้ตัวเลขอย่างถ่อมตัวกับผู้จัดการ 360º ว่า ยอดขายของเบียร์ลาวทุกวันนี้อยู่ที่ปีละ 150 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น
ตัวเลขนี้อาจดูน้อยหากเปรียบเทียบกับตลาดเบียร์ในประเทศไทยที่มีประชากรกว่า 65 ล้านคน แต่ถือเป็นตัวเลขที่ใหญ่มากของ สปป.ลาวที่มีประชากรเพียง 6 ล้านคนเศษ
หากมองไปถึงอนาคต “เบียร์ลาว” กำลังเป็นเบียร์ที่ได้รับความนิยม ไม่เฉพาะใน สปป.ลาว แต่ยังรวมถึงคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก จนกำลังการผลิต 210 ล้านลิตรต่อปีจากโรงงานที่มีอยู่ 2 แห่งในทุกวันนี้ไม่เพียงพอ ต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 150 ล้านลิตร
แบรนด์ “เบียร์ลาว” กำลังถูกพัฒนาให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นแบรนด์สากล เป็นที่รู้จักกันในระดับโลกมากขึ้น
ยิ่งเมื่อ สปป.ลาวมีแผนจะเปิดตลาดหลักทรัพย์ขึ้นภายในปีนี้ (ตามกำหนดการ จะเปิดในวันที่ 10 ตุลาคม 2010) เรื่องราวของเบียร์ลาว ยิ่งเป็นที่ต้องการรับรู้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุน
เพราะหุ้นเบียร์ลาวได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นสินค้าตัวแรกๆ ที่จะได้เข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาว
กิดสะหนา วงไซได้แสดงข้อมูลกับผู้จัดการ 360º ที่อาจตอบสนองความคาดหมายของนักลงทุนเหล่านั้นได้ในระดับหนึ่ง
ถือเป็นการให้สัมภาษณ์พิเศษโดยละเอียดกับสื่อมวลชนจากประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก!!!
บทสัมภาษณ์ของกิดสะหนา รวมทั้งการสืบค้นข้อมูลอย่างเป็นระบบของผู้จัดการ 360º ทำให้ได้เรื่องราวของ “เบียร์ลาว” ที่เชื่อว่าคนไทยหลายคนยังไม่รู้...
ธุรกิจของเบียร์ลาวเริ่มต้นใน ค.ศ.1972 ซึ่งขณะนั้นลาวยังปกครองในระบอบราชอาณาจักร โดยนักธุรกิจชาวฝรั่งเศสได้ร่วมทุนกับคนลาวเชื้อสายจีน ด้วยเงินลงทุน 3.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งการถือหุ้นฝ่ายฝรั่งเศส 85% ลาว 15% ตั้งโรงงานผลิตเบียร์ขึ้นทางตอนใต้ของนครหลวงเวียงจันทน์ บนหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนท่าเดื่อ ใกล้หมู่บ้านสารคาม ในเขตอำเภอหาดซายพง (Hatsayphong) ภายใต้ชื่อ “โรงงานเหล้าเบียร์และน้ำก้อนลาว” เริ่มผลิตเป็นครั้งแรกในปี 1973 ด้วยกำลังการผลิต 3 ล้านลิตรต่อปี
ด้วยความต้องการผลิตเบียร์ที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ทุกคนสามารถดื่มได้ทั่วไปตามท้องถนน จึงตั้งแบรนด์เบียร์ที่ผลิตว่า ลารู (La Rue) แปลว่า ถนน ในภาษาฝรั่งเศส แต่ต่อมากลับมีแนวคิดที่จะให้ La Rue เป็นเบียร์ระดับบน เพื่อเข้าไปแทรกตลาดเบียร์ นำเข้าที่ผูกขาดตลาดลาวมาตลอดตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1975
การผลิตในช่วง 2 ปีแรก ผลิตได้เพียง 90% ของกำลังการผลิตรวม โดยผลิตเบียร์ได้ปีละ 2.85 ล้านลิตร
ระหว่างปี 1975-1976 การผลิตของโรงงานแห่งนี้ได้ลดลงจาก 2.85 ล้านลิตร เหลือเพียง 12,800 ลิตร เนื่องจากขาด แคลนวัตถุดิบนำเข้าระหว่างการจัดตั้ง สปป.ลาว อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปลายปี 1975
ปี 1977 โรงงานเหล้าเบียร์และน้ำก้อนลาวก็ตกเป็นโรงงานของรัฐ โดยรัฐบาล สปป.ลาวซื้อหุ้นคืนมาทั้งหมด มีการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 536,300 ลิตร แต่การดำเนินงานโดยรวมในฐานะที่เป็นกิจการของรัฐ เรียกได้ว่าแทบจะหยุดชะงัก
“หยุดชะงัก 2-3 ปี นิ่งเลย จนปี 1981 รัฐบาลมีนโยบายว่าต้องการฟื้นฟู ตอนนั้นผมเรียนจบจากฝรั่งเศสมาทำงานอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม-การค้าได้ 3-4 ปี รัฐบาลก็เห็นว่าต้องส่งพวกที่เป็นปัญญาชน และยังหนุ่มออกไปอยู่โรงงานใหญ่ๆ เวลานั้นโรงงานใหญ่ๆ ก็มีโรงงานยาสูบ โรงงานน้ำหวานลาว (ผู้ผลิตเครื่องดื่มเป๊ปซี่) หนึ่งในนั้นก็คือโรงงานเบียร์ด้วย ปี 1981 ผมถูก ส่งมาที่นี่ในนามรัฐบาล การผลิตทั้งโรงงาน จำได้ดีที่สุด ผลิตทั้งหมดได้เพียง 8 แสน ลิตร ทั้งปีนะ” กิดสะหนาย้อนอดีต
เมื่อถูกวางตัวให้มาบริหารงาน กิดสะหนาค่อยๆ ปรับเอาแนวคิดเดิมที่จะให้เบียร์จากโรงงานนี้เป็นเบียร์ที่คนทุกชั้นทุกระดับสามารถดื่มได้มาปัดฝุ่น เขาเปลี่ยน แบรนด์จาก La Rue เป็น “เบียร์ลาว” ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
ความต้องการบริโภคเบียร์ลาวได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1981 ทำให้โรงงานต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นไปด้วยเป็นเงาตามตัว
ปี 1990 กำลังการผลิตของเบียร์ลาว อยู่ที่ปีละ 4.5 ล้านลิตร มีการขยายกำลังการผลิตขึ้นในปีนี้เป็น 6.9 ล้านลิตรและขยายเพิ่มขึ้นอีกเป็น 8.7 ล้านลิตร ในปี 1992
จุดเปลี่ยนของเบียร์ลาวเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1993 รัฐบาล สปป.ลาวมีนโยบายให้แปรรูป (privatization) โรงงานเบียร์ลาว เพื่อหาเงินทุนภายนอกเข้ามาขยายกิจการ ได้มีการเชิญชวนนักลงทุนจากประเทศไทย คือบริษัทล็อกซเล่ย์ และบริษัทอิตัลไทยเข้ามาถือหุ้น โดยรัฐบาล สปป.ลาวยอมลด สัดส่วนการถือหุ้นลงมาเหลือ 49% และให้ทั้ง 2 รายถือหุ้นรวมกัน 51%
เบียร์ลาวได้เพิ่มเงินทุนจากเดิมที่มีอยู่ 800 ล้านกีบ ในสมัยที่รัฐบาลถือหุ้นเต็ม 100% เป็น 6.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังการแปรรูป
เมื่อมีเงินทุนใหม่เข้ามาจากการแปรรูป ทำให้เบียร์ลาวได้โอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดดกำลังการผลิตของเบียร์ลาวได้เพิ่มขึ้นจาก 10.2 ล้านลิตรในปลายปี 1994 เป็น 25 ล้านลิตรในปี 1997
แต่การขยายกำลังการผลิตหลายครั้งก็ยังไม่สามารถผลิตเบียร์ได้พอกับความต้องการภายในประเทศอยู่ดี ดังนั้นจึงมีการขอขยายโรงงานอีกครั้ง เมื่อเดือนสิงหาคม 1997 ในพื้นที่ตั้งของโรงงานเดิม และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้ โรงงานใหม่นี้สร้างเสร็จเมื่อปลายปี 1999 โดยมีกำลังผลิตเพิ่มเป็นปีละ 50 ล้านลิตร
เงินทุนของเบียร์ลาวในช่วงนี้ได้เพิ่มขึ้นจาก 6.7 ล้านดอลลาร์ ในปี 1994 มาเป็น 8.5 ล้านดอลลาร์ ในปี 1997
นอกจากนี้ การที่ได้ผู้ถือหุ้นจากภาคเอกชนเข้ามายังทำให้เบียร์ลาวได้เรียนรู้โนว์ฮาวด้านการบริหารจัดการ โดยในช่วงนั้น ทั้งล็อกซเล่ย์และอิตัลไทยต่างก็ส่งทีมงานเข้ามาช่วยปรับปรุงการบริหารจัดการที่เคยเฉื่อยชาแบบรัฐวิสาหกิจให้แอคทีฟแบบเอกชน ซึ่งแม้จะไม่เต็มร้อยแต่ก็ทำให้การบริหารงานของเบียร์ลาวคล่องตัวขึ้นมาก
“ปี 1984-1985 มาร์เก็ตแชร์เรามีแค่ 50% ตอนนั้นคนลาวนิยมเบียร์ไฮเนเก้น เป็นเบียร์นอก เบียร์ลาว 50% แต่จากวันนั้นถึงวันนี้เรามีแชร์ 98-99%”
เบียร์ลาววางกลยุทธ์อย่างไร จึงมีเรื่องราวที่ทำให้กิดสะหนาจดจำตัวเลขได้แม่นยำ ถึงวันนี้?
ตอนที่ได้ผู้ร่วมทุนใหม่เข้ามา กิดสะหนามีโอกาสได้บริหารงานต่อตามเงื่อนไขของผู้ถือหุ้นที่กำหนดเอาไว้เลยว่าเขาต้องอยู่ ซึ่งก็หมายความว่าชีวิตของกิดสะหนาได้เติบโตมาควบคู่มากับเบียร์ลาวตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน
เขาบริหารเบียร์ลาวตั้งแต่เริ่มคิดสโลแกน วางกลยุทธ์ สร้างตลาด โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่าเบียร์ลาว ต้องเป็น “เบียร์ของคนลาวทุกคน”
เขายอมรับอย่างเปิดเผยกับผู้จัดการ 360º เลยว่า หลายกลยุทธ์ที่เขานำมาใช้ เป็นกลยุทธ์ที่ “เลียนแบบ” เบียร์สิงห์ของไทย
“เราต้องเรียนรู้ของเพื่อนบ้านที่เขาประสบความสำเร็จ สิงห์เขาใช้ My Country My Beer ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของใคร เราเอามาใช้ ก็เป็น “เบียร์ลาว เมืองลาว” ก็เป็นที่ฮิต ที่ฮือฮา เป็นความภูมิใจของผู้บริโภค และเป็นกลยุทธ์การตลาดที่จับกลุ่มคนทุกชั้น ใช้อยู่ 2-3 ปี ก็เปลี่ยนสโลแกนมาเป็น “เบียร์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นความภาคภูมิใจของคนลาว” ซึ่งก็กินใจและเป็นที่ภูมิใจของชาวลาวอีก”
การขายเบียร์ให้ทุกชนชั้น แม้จะขัดแย้งกับฮีตคองประเพณีของลาวอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลลาวต้องชั่งใจ เพราะถึงไม่ผลิตเองก็ไม่สามารถปิดกั้นตลาดเบียร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศได้ ดังนั้นความหมายของการดื่มได้ทั่วทุกคน จึงเน้นที่จะสื่อสารออกไปว่า ให้คนลาวดื่มอย่างพอเหมาะ
“ให้หลายคนดื่ม ไม่ใช่ดื่มคนเดียวหลายๆ” กิดสะหนายกตัวอย่างเป็นคำพูดที่ทำให้มองเห็นภาพ
เป็นการทำตลาดที่เน้นจิตสำนึกที่พยายามปลูกฝัง แม้จะขัดแย้งกับการตลาด แห่งยุคสมัย ที่มุ่งเพิ่มยอดขายก็ตาม
“พวกผมก็ได้โต้แย้งกับต่างประเทศ อยู่ตอนนี้ เราเป็นศาสนาพุทธ แต่เบียร์จากต่างประเทศมาจากทุกแห่ง สไตล์ของเขาเน้นหาผู้บริโภค ยอดต้องขึ้น แต่เราต้องการทำตลาดระยะยาว ให้ยืนยงเพื่อรักษาการรับรู้ในแบรนด์บนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค”
เบียร์ลาวมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อรัฐบาล สปป.ลาวมีนโยบายว่าถึงเวลาแล้วที่เบียร์ลาวควรจะก้าวสู่ความเป็นสากล หรือ “Go Inter”
โจทย์ใหม่นี้ทำให้บริษัทต้องหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ที่มีความเป็นมืออาชีพด้านการผลิตเบียร์โดยเฉพาะ
ในปี 2002 เบียร์ลาวได้ผู้ร่วมทุนรายใหม่ คือบริษัททีซีซีของเจริญ สิริวัฒน-ภักดี ซึ่งขณะนั้นยังญาติดีกับคาร์ลสเบอร์ก ร่วมทุนกันทำธุรกิจเบียร์ในประเทศไทยอยู่
ทั้งล็อกซเล่ย์และอิตัลไทยยอมขายหุ้นคืนให้ด้วยเหตุผลที่ลงตัวหลายด้าน ทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับ ประกอบกับเป็นช่วงที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทยมาหมาดๆ ทั้ง 2 บริษัทจึงต้องการกำไรเพื่อนำเงินกลับเข้ามาโฟกัสธุรกิจหลักของแต่ละบริษัท
สัดส่วนการถือหุ้นในเบียร์ลาวช่วงนี้ แบ่งเป็นรัฐบาล สปป.ลาว 50% ทีซีซี 25% และบริษัทคาร์ลสเบอร์กจากประเทศเดนมาร์ก ถือหุ้น 25%
เจริญถือหุ้นอยู่ในเบียร์ลาวได้เพียง 3 ปี ในกลางปี 2005 เมื่อความขัดแย้งระหว่างเขากับคาร์ลสเบอร์กถึงจุดแตกหัก เขาขายหุ้นที่ถืออยู่ในเบียร์ลาวออกทั้งหมด
ว่ากันว่าเจริญได้กำไรไปเป็นจำนวน มากจากการขายหุ้นล็อตนี้
สัดส่วนการถือหุ้นในเบียร์ลาวจึงเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยครั้งนี้แบ่งกันถือระหว่างรัฐบาล สปป.ลาวกับคาร์ลสเบอร์ก ฝ่ายละ 50% เท่ากัน และสัดส่วนนี้ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
เงินทุนของเบียร์ลาวช่วงนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 20 ล้านดอลลาร์
กิดสะหนาให้เครดิตรัฐบาล สปป. ลาวว่า เป็นความฉลาดที่สร้างเงื่อนไขตอบสนองนโยบาย go inter ด้วยการหาผู้ร่วมทุนที่เป็นมืออาชีพเฉพาะด้าน ทำให้บริษัทได้รับการพัฒนาอย่างถูกทาง
การได้กลุ่มทีซีซีของเจริญกับคาร์ล สเบอร์กเข้ามาถือหุ้นในปี 2002 ทำให้เบียร์ลาวได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีละ 50 ล้านลิตร เป็น 90 ล้านลิตร
ปลายเดือนกันยายน 2005 หลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นครั้งล่าสุด เบียร์ลาวก็ได้ประกาศจับมือกับคาร์ลสเบอร์ก โดยโรงงานของเบียร์ลาวที่นครหลวงเวียงจันทน์จะผลิตเบียร์คาร์ล สเบอร์กเป็นเบียร์เกรดพรีเมียมเพื่อวางจำหน่ายใน สปป.ลาวเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ยังได้ปรับรูปโฉมของเบียร์ลาวใหม่ เปลี่ยนโลโกจากรูปหัวเสือดำ เป็นรูปหัวเสือโคร่งสีเหลือง รวมทั้งออกสินค้าใหม่คือเบียร์ลาวไลท์ พร้อมทั้งเตรียม ขยายกำลังการผลิตจาก 90 ล้านลิตร เป็น 120 ล้านลิตรภายในสิ้นปี 2005
กลางปี 2006 เบียร์ลาวประกาศโครงการก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ในเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก โดยโรงงานแห่งใหม่ต้องใช้เงินลงทุน 25 ล้านดอลลาร์ มีกำลังการผลิตรวม 200 ล้านลิตรต่อปี แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ แต่ละระยะมีกำลังการผลิต 50 ล้านลิตร
เบียร์ลาวจัดพิธีลงนามในสัญญาก่อสร้างโรงงานกับบริษัทบริษัทซีมานน์กรุ๊ป (Siemann Group) จากเยอรมนี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2006 ที่โรงแรมดอนจัน พาเลส นครหลวงเวียงจันทน์
อีก 1 ปีถัดมาในวันที่ 31 กรกฎาคม 2007 เบียร์ลาวได้จัดพิธีลงนามในสัญญาเงินกู้ระหว่างเบียร์ลาวกับธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในเครือธนาคารโลก ในวงเงินกู้รวม 20 ล้านดอลลาร์
พิธีลงนามในสัญญาจัดขึ้นที่โรงแรมล้านช้าง
เงินกู้ก้อนนี้แบ่งเป็น BCEL 11 ล้านดอลลาร์ และ IFC 9 ล้านดอลลาร์ อัตราดอกเบี้ยประมาณ 6-7% ต่อปี มีระยะเวลาใช้คืนเงินกู้ 4-5 ปี
กิดสะหนากล่าวในพิธีลงนามเงินกู้ดังกล่าวว่า เงินกู้ก้อนนี้จะช่วยปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศ รวมทั้งการขยายการผลิตในนครหลวงเวียงจันทน์ และการก่อสร้างโรงงานใหม่ในแขวงจำปาสัก
ปัจจุบันกำลังการผลิตรวมของเบียร์ลาวอยู่ที่ 210 ล้านลิตรต่อปี แบ่งเป็นโรงงานในนครหลวงเวียงจันทน์ 160 ล้านลิตร และโรงงานที่แขวงจำปาสักระยะแรก ซึ่งก่อสร้าง เสร็จและเปิดดำเนินการแล้วอีก 50 ล้านลิตร
สามยุคจากการเปลี่ยนแปลงของเบียร์ลาว นับจากเริ่มออกสู่ตลาดครั้งแรกในนาม La Rue จนกลายเป็นเบียร์ลาว ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างรัฐบาล สปป.ลาวกับคาร์ล สเบอร์ก ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่จากเดนมาร์ก ถือเป็นจุดเปลี่ยนเชิงโครงสร้างที่กิดสะหนาเชื่อว่าทำให้เบียร์ลาวแข็งแกร่งกว่าเบียร์ไทย ทั้งสิงห์ซึ่งยังคงมีการบริหารแบบครอบครัว และช้างแบรนด์ที่ยังไม่เคยพบกับจุดเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ
หลังจากนี้ถือเป็นเวลาของการพัฒนาคุณภาพและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคของเบียร์ลาวเต็มรูปแบบ
การจัดแต่งพื้นที่บริเวณโรงงานของเบียร์ลาวที่นครหลวงเวียงจันทน์ นอกจากตัวอาคารโรงงานแต่ละส่วน บนพื้นสนามหญ้าสีเขียวระหว่างตัวอาคาร ถูกตกแต่งให้เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง โดยนำเครื่องจักรเก่าสมัยเริ่มสร้างโรงงานเมื่อปี 1973 มาตั้ง แสดงเอาไว้ เพื่อให้พนักงานและแขกที่มาเยี่ยมชมโรงงานได้รำลึกถึงประวัติศาสตร์การพัฒนาบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง
“จุดหนึ่งที่ผมและทีมงานถือเป็นความสำคัญ คือการลงทุนด้านเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ เราจ่ายแพง เครื่องจักรจากเยอรมันทั้งนั้นเลย ประเทศรอบข้างลาวทั้งหมดยกเว้นไทย ไม่มีใครมี ตัวนี้ถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค”
เครื่องจักรในโรงงานของเบียร์ลาวทุกชิ้นในทุกกระบวนการผลิต เป็นยี่ห้อ KHS จากเยอรมนี
อีกสิ่งหนึ่งที่เบียร์ลาวทำต่อเนื่องมาตลอด คือการปลูกฝังแบรนด์ในความรู้สึกของผู้บริโภคด้วยสโลแกนใหม่ๆ
สโลแกนล่าสุดที่เบียร์ลาวเลือกใช้คือ “เบียร์ลาว เบียร์ของคนลาว คนจริงใจ” ซึ่งใช้มาตั้งแต่ สปป.ลาวได้เป็นเจ้าภาพจัด การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เมื่อปลายปีที่แล้ว สโลแกนนี้ออกมาพร้อมเพลงประกอบภายใต้เนื้อหาเดียวกัน ถูกเปิดกระหึ่มในช่วงซีเกมส์ และน่าดีใจที่เป็นสโลแกนซึ่งได้ บริษัท Pocin เอเยนซี่จากไทยไปช่วยคิด
กิดสะหนาบอกว่า การคิดสโลแกน ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเบียร์ลาวใช้วิธีเฝ้าดูการทำตลาดของเบียร์ไทยที่ถูกควบคุมการโฆษณาสินค้าที่มีแอลกอฮอล์ไม่ให้โจ่งแจ้ง หรือกระตุ้นให้คนดื่มโดยตรง
“ผมชอบโฆษณาหลายตัวของไทย รีเจนซี่ก็ชอบ มันไม่น่าเกลียด ผมก็พยายาม เลียนแบบทางเมืองไทย ไม่แบรนดิ้งเกินไป เห็นโฆษณาแล้วไม่น่าเกลียด”
โดยเฉพาะในระยะหลัง เบียร์ลาวต้องเจอกับการแข่งขันเนื่องจากในตลาดเริ่มมีคู่แข่งเข้ามามากขึ้น ทั้งเบียร์ภายในประเทศยี่ห้อเบียร์สะหวัน มีโรงงานอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต เบียร์นำเข้าอย่างไฮเนเก้น สิงห์ และลีโอ ที่มีวางจำหน่ายอยู่แล้วใน สปป.ลาว
แต่คู่แข่งที่สำคัญคือไทเกอร์ โดยบริษัทเอเชียแปซิฟิกบริวเวอรี่ส์ (Asia Pacific Breweries: APB) จากสิงคโปร์ ผู้ผลิตเบียร์ไทเกอร์ได้ลงทุน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างโรงงานผลิตเบียร์ที่มีกำลังการผลิต 30 ล้านลิตรต่อปีใน สปป. ลาว และเริ่มผลิตเบียร์ออกมาจำหน่ายแล้ว ตั้งแต่ปลายปี 2007
โรงงานเบียร์ไทเกอร์ถือหุ้นโดย APB 68% รัฐบาล สปป.ลาว 25% และบริษัท SBK Consultant ซึ่งเป็นบริษัทลาว 7%
ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ไทเกอร์ได้ออกเบียร์แบรนด์ใหม่ชื่อว่าน้ำของ (น้ำโขง) เพื่อหวังปูพรมในตลาดล่าง
“เรื่องสโลแกนบางทีก็ยากอยู่ เราพยายามจับตัวที่โดนจริงๆ คู่แข่งเขาก็ดูของเราอยู่ เขาเอาน้ำของมาเล่น ใช้สโลแกน “น้ำของของเรา เบียร์ของเรา” เราก็เอาใหญ่กว่า เราไม่เอาน้ำของเรา เอาหมดประเทศเลย”
นั่นเป็นที่มาว่า ทำไมเบียร์ลาวต้องผลิตเบียร์ล้านช้างออกสู่ตลาดตั้งแต่ปี 2009 เพื่อใช้เป็นไฟท์ติ้งแบรนด์ในตลาดล่าง
ถือเป็นการอ่านตลาดขาดของเบียร์ลาว ด้วยการออกสินค้าก่อนหน้าคู่แข่ง พร้อมกับผลักดันเข้าสู่ตลาดทันทีด้วยวิชาที่เรียนรู้มาจากเมืองไทยเช่นกัน
กิดสะหนาเล่าว่า จังหวะการออกสินค้าใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าออกเร็วกว่าคู่แข่งมากเกินไป คู่ต่อสู้ก็อาจจะเปลี่ยนแผน ไม่ออกสินค้ามาชน แต่กรณีล้านช้างถือว่าคาดการณ์ได้ตรง
ในความจริงแล้ว ก่อนหน้านั้นเบียร์ลาวไม่ต้องการจะพัฒนาเบียร์ในตลาดล่าง เพราะได้เห็นกรณีของเบียร์ลีโอกับเบียร์สิงห์ ที่เมื่อออกมาแล้ว ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ตัวกลับ มากินตลาดกันเอง เบียร์ลาวจึงเกรงว่าจะเกิดกรณีแบบเดียวกัน
แต่เมื่อตลาดเริ่มเปลี่ยน มีการแบ่งเซกเมนต์ มีคู่แข่งมากขึ้น เบียร์ลาวจำเป็นต้องพัฒนาไปตามตลาด แม้ว่าในภาพรวมตลาดเบียร์ในลาวถ้าเทียบกับไทยแล้ว จะช้ากว่าไทยอย่างน้อย 7-9 ปีก็ตาม
นอกจากล้านช้าง สินค้าของเบียร์ลาวปัจจุบันได้เพิ่มความหลากหลาย เพื่อเจาะลงไปยังตลาดเฉพาะกลุ่ม
ในตลาดบน คือเบียร์ระดับพรีเมียม เบียร์ลาวใช้คาร์ลสเบอร์ก เป็นตัวเจาะตลาด
ในระดับรองลงมาคือเบียร์ดำซึ่งเป็นสินค้าดั้งเดิม และสร้างชื่อให้กับเบียร์ลาวมานานแล้ว กับเบียร์ลาวโกลด์ที่เริ่มเปิดตัวในช่วงซีเกมส์
ในตลาดระดับ mass คือเบียร์ลาว และระดับล่างคือเบียร์ล้านช้าง
สินค้าแต่ละตัวยังแยกตลาดตามเปอร์เซ็นต์ แอลกอฮอล์ และราคาขาย โดยคาร์ลสเบอร์กได้ตั้งราคาขายไว้ที่ขวดละ 12,000 กีบ
เบียร์ดำ ซึ่งมีแอลกอฮอล์ 6.5% ตั้งราคาขายไว้ขวดละ 10,000 กีบ เท่ากับเบียร์ลาวโกลด์ แต่เบียร์ลาวโกลด์มีแอล-กอฮอล์ 5% เท่ากับเบียร์ลาว โดยที่เบียร์ลาวตั้งราคาขายอยู่ที่ขวดละ 8,000 กีบ
ส่วนเบียร์ล้านช้าง ซึ่งอยู่ระดับล่าง สุดมีแอลกอฮอล์ 5.5% ตั้งราคาขายอยู่ที่ขวดละ 7,000 กีบ
ตอนที่ไทเกอร์เข้ามาทำตลาดเบียร์ในลาวใหม่ๆ ไทเกอร์พยายามยกตลาดตนเองให้ขึ้นไปสูงกว่าเบียร์ลาว โดยการออกเบียร์น้ำของมาเพื่อหวังชนกับเบียร์ลาว แต่กลยุทธ์นี้ถูกตีกลับโดยเบียร์ลาวได้ออกเบียร์ล้านช้างมาดักไว้ก่อน และกดตลาดของไทเกอร์ลงมาอยู่ในระดับเดียวกับเบียร์ลาวแทน
“ถ้าเทียบกับคู่แข่งเขาจัดน้ำของมาตีกับเบียร์ลาว แต่เราบอกน้ำของระดับเดียวกับล้านช้าง เราจัดเบียร์ลาวไปเล่นกับไทเกอร์”
โดยหลักเป็นการจัดตามราคาจำหน่าย ส่วนเรื่องเบื้องหลังการแบ่ง ขึ้นอยู่กับการเสนอขายที่มีลูกเล่น ราคา และแท็คติกของคนขาย ที่พ่วงด้วยการลดแลกแจกแถม ไม่ต่างจากการแข่งขันของสินค้าทั่วไป
เบียร์ล้านช้างเมื่อวางตำแหน่งเป็นคู่ต่อสู้ของน้ำของรสชาติของเบียร์จึงเข้มข้นเพื่อเน้นตลาดคอเบียร์ที่เน้นราคาถูก
“เหมือนตอนช้างออกมาชนกับสิงห์ราคาถูกกว่า จ่ายน้อยดีกรีเยอะ แต่พอมาคิดใหม่ ทำให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าเราโลว์เกินไป สำหรับแบรนด์เราเสียอิมเมจ ผู้บริโภคเวลาดื่มจะโชว์ออฟ สั่งกินกับเพื่อน เบียร์ลาวสั่งได้ แต่ล้านช้างทำให้เขารู้สึกตัวเองโลว์ลง กินแล้วไม่ภูมิใจ”
เมื่อภาพลักษณ์ออกมาเป็นแบบนี้ ล้านช้างจึงถูกส่งไปทำตลาดรอบนอก สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เน้นราคา และเน้นตลาดที่เป็นกิจกรรมตามงานต่างๆ ทั้งงานบุญ งานดอง (งานแต่งงาน) หรืองานประเภทผู้ดื่มไม่ได้เลือกแบรนด์ เน้นปริมาณ เช่น ถ้าซื้อเบียร์ลาวได้ 100 กล่อง แต่ถ้าซื้อล้านช้างจะได้แถมอีก 15 กล่อง ได้ปริมาณที่จะไปเลี้ยงแขกมากขึ้น
“เพราะฉะนั้นในตัวเมืองจะไม่เห็นล้านช้างเลย เราจะเข้าตามกลุ่มคนที่มีอำนาจซื้อ ในตลาดชนบท ลาวมีงานบุญทุกเดือน เหมือนในภาคอีสานของไทย” กิดสะหนาเล่าเทคนิค
เขายอมรับว่านี่เป็นกลยุทธ์ที่ศึกษาจากเบียร์ช้างในช่วงเปิดตลาดใหม่ๆ ที่มีการขายพ่วงกับเหล้า ที่เบียร์ลาวหยิบกลยุทธ์มาใช้เพื่อกันตลาดจากคู่แข่ง ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เรียนรู้การเพลี่ยงพล้ำของสิงห์ในช่วงเดียวกัน ถึงขนาดพูดว่า
“เราเรียนจากสิงห์เยอะเลย กลัวว่า จะเป็นแบบสิงห์ เราเชิญอาจารย์หลายท่าน มาบรรยาย เอาเคสของเบียร์สิงห์มา เคสเบียร์สิงห์ตัวหนึ่งที่เราเรียนเลย ก็คือพวกยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เวลาเราเป็นพระเอก ถ้าเราไม่แคร์เขา เขาต้องแคร์เรา เราขายๆ วันหนึ่งถ้ามีคนมาออฟเฟอร์ในสิ่งที่ดีกว่า พวกนั้นจะไปทันทีเลย เพราะฉะนั้นเราเอาใจใส่ ดูแลตลอด ต้องยึดติดว่าถ้าจะอยู่ด้วยกันนานๆ เรารวย เขาก็ต้องรวย สุดท้ายเขาก็ไม่หนี อันที่สอง เราเรียนเคสของคาร์ล สเบอร์กในมาเลเซีย ช่วงเปลี่ยนซีอีโอ เปลี่ยนเอ็มดีแล้วมาเปลี่ยนระบบโครงสร้างของธุรกิจ คนเอเชียนี่ระวังมาก บอกกันปากต่อปาก ตัวนี้ไม่ใช่ต้องตัวนี้ เปลี่ยนระบบขนส่ง เปลี่ยนบริษัทขนส่ง ทั้งๆ ที่ราคาต่างกันนิดเดียวแต่เสียเยอะกว่า แต่ถ้ารักษาความสัมพันธ์ไว้ก็จะ win-win ทั้งคู่ แต่ถ้าปล่อยให้เสียตลาดไป การดึงกลับนั้นยากที่สุด”
แม้จะพัฒนาตลาดตามหลักสากล แต่ในอีกมุมหนึ่ง เบียร์ลาวก็ต้องรักษาเอกลักษณ์ของชาติลาวไว้อย่างเหนียวแน่น ผ่านการดำเนินงานบริษัท ภาพที่สะท้อนออกมาอย่างเป็นเอกลักษณ์ ก็คือเรื่องของสื่อโฆษณา ปฏิทิน และสาวเชียร์เบียร์
สื่อโฆษณาของเบียร์ลาวพัฒนารูปแบบไม่ต่างจากสื่อโฆษณาสินค้าไทย เว้นแต่สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ ซึ่งปัจจุบันลาวมีสถานีโทรทัศน์ผ่านระบบดาวเทียมเพียง 2 ช่องเท่านั้น จึงไม่ได้เป็นที่โดดเด่นมาก แต่ที่เห็นได้ทั่วไปคือป้ายหน้าร้านค้าที่มีอยู่กว่า 10,000 ร้านค้าทั่วประเทศ ร่มสำหรับบังแดดที่เห็นอยู่ทั่วไปในเมือง รถขนส่ง สินค้าของบริษัทและบิลบอร์ดในจุดสำคัญๆ โดยเฉพาะเส้นทางเข้าเมืองจากสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 1 หนองคาย เข้าสู่นครหลวงเวียงจันทน์
“เราติดป้ายทุกที่เพื่อให้คนติดตาตลอด หลานผมอายุ 2 ปีกว่า ไปไหน เห็นแล้วพูดเลยว่าป้ายเบียร์ลาว เราทำในกรอบที่รัฐบาลอนุญาต ถนนใหญ่ทำป้ายกับลูกค้า เอเยนต์เราก็ทำ เราดูคุณตัน โออิชิ ที่เอาคนไปเที่ยวญี่ปุ่น โอ้ สนุก เราก็ทำแต่เราไม่ได้ลงไปถึงผู้บริโภค เราเน้นดีลเลอร์ วางเป้าให้เขาขายเยอะๆ พาไปเที่ยว ปี กลายพาไปดูลิเวอร์พูลมาเตะที่เมืองไทย ปีนี้ไปมาเลเซีย นอกจากนั้นก็มีกิจกรรมพวกวัยรุ่น มีประกวดดีเจ มีเบียร์ลาวมิวสิก คาราโอเกะ คัดเลือกนักร้อง เลียนแบบเดอะสตาร์ เพราะว่ากลุ่มวัยรุ่นนั้นเราต้องเข้าหา เพราะเรากลัวมาก พฤติกรรมวัยรุ่นเปลี่ยนไว ถ้ามีแบรนด์อื่นมา แล้วทำให้เขารู้สึกว่าแบรนด์นี่ไม่ใช่ของเขา เป็นของผู้เฒ่า แบบนี้ต่อไปเราก็ไม่ได้ลูกค้ากลุ่มนี้เลย ก็ต้องทำให้ต่อเนื่อง ตามให้ทันพฤติกรรม แบรนด์ที่ทำให้ดูวัยรุ่นนี่ เราก็ชอบลีโอของสิงห์ผมว่าเขาทำได้ดี”
กิจกรรม-โปรโมชั่นสำหรับดีลเลอร์อาจจะดูทันสมัยอยู่บ้าง แต่สำหรับปฏิทิน และสาวเชียร์เบียร์ลาวออกแนวอนุรักษ์เต็มเปี่ยม เพราะทุกอย่างนำเสนอภายใต้รูปแบบวัฒนธรรมลาว การแต่งกายของนายแบบนางแบบในปฏิทิน การแต่งกายของสาวเชียร์เบียร์ที่เน้นดีไซน์แบบฟอร์มให้เป็นซิ่นแบบลาวกับเสื้อสีเหลืองของบริษัท พร้อมกฎระเบียบเข้มงวดว่า ห้ามดื่มกับลูกค้าหรือแม้แต่พูดชักจูงให้ลูกค้าสั่งเบียร์เพิ่ม
ช่วงที่ปฏิทินโป๊ของลีโอเป็นข่าวฮือฮาในเมืองไทยเมื่อต้นปีนี้ ปรากฏว่าภาพ ปฏิทินของเบียร์ลาวถูกโพสต์ขึ้นตามเว็บบอร์ดและถูกฟอร์เวิร์ดเมลแพร่กระจายไปทั่ว เพราะคนไทยส่วนหนึ่งมองเห็นวิสัยทัศน์ ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วของผู้ผลิตเบียร์จาก 2 ประเทศเกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติ
“นโยบายการตลาดของเราแต่ละแขวงจะมีระบบของพริตตี้คอยดูว่าเขาทำถูกไหม สาวเชียร์เบียร์ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาปี 2 ปี 3 ทำสัญญาเป็นปี แต่ไม่ประจำ เราจะมีระเบียบของเรา ไปรับถึงบ้าน เอาไปส่งที่ทำงาน แล้วกลับมาส่งถึงเรือน เพราะฉะนั้นเราทำให้ดีเพื่อให้พ่อแม่เขาวางใจที่จะให้มาทำงานกับเรา คอนเซ็ปต์เราเน้นวัฒนธรรม เมื่อยังมีฮีตคองประเพณีเราก็ส่งเสริม ถึงผู้ชายดื่มเบียร์อยากเห็นเนื้อหนังนุ่งให้มันโชว์ กลุ่มหนึ่งอาจจะชอบ แต่ว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนลาวแท้ๆ และสมาคมสตรีของลาวก็เข้มแข็ง เขาปกป้องสิทธิประโยชน์ผู้หญิง ถ้าเกิน เลยเขาจะท้วงทันที ดังนั้น ในอีกด้าน ถ้าผู้หญิงซัปพอร์ตเรา สินค้าเราก็จะขายดี แต่ถ้าผู้หญิงไม่ซัปพอร์ต ก็อาจจะไม่ให้แฟนดื่ม” ถึงจะเป็นการเล่าติดตลกแต่ก็มีนัยสำคัญทางการตลาด ไม่น้อย
ความคิดเรื่องสาวเชียร์เบียร์ แม้จะเป็นแนวคิดที่สวนทางกับของต่างชาติที่มีวิธีคิดต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นสิ่งที่เบียร์ลาวยืนยันที่จะรักษา ความเข้มงวดเหล่านี้เอาไว้ เพราะสาวเชียร์เบียร์ก็คือแบรนด์แอมบาสเดอร์ที่ชัดเจนที่สุดของเบียร์ลาวอย่างหนึ่ง
เมื่อตลาดในประเทศอยู่ตัวด้วย การครองตลาดถึงเกือบ 100% เบียร์ลาวเริ่ม go inter ตามที่ตั้งใจ ด้วยการส่งออกเบียร์ไปจำหน่ายใน 10 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่มีสัดส่วนการส่งออกเพียง 1% ของกำลังการผลิตเท่านั้น
เป้าหมายของการส่งออกไม่มีอะไรมากไปกว่าความต้องการส่งออกแบรนด์ มากกว่าจะจริงจังกับการทำยอดขาย เพราะสถานะของ “เบียร์ลาว” ก็ไม่ต่างจากแบรนด์ แอมบาสเดอร์ของ สปป.ลาวที่จะทำให้คนนึกถึงการท่องเที่ยว เป็นการส่งออกแบรนด์ที่เน้นผลประโยชน์ที่ได้กับประเทศ
“แค่ขนส่งก็ไม่คุ้มแล้วที่จะส่งออก อย่างเบียร์ดังๆ ไม่ว่าจะเป็นไฮเนเก้นหรือคาร์ลสเบอร์กที่ทำกันก็ขายแบรนด์ทั้งนั้น แล้วไปผลิตอยู่ในประเทศที่ทำตลาด ตอนนี้เราก็ทำให้แบรนด์เราเป็นอินเตอร์แบรนด์ แต่ตลาดจริงๆ เป็นแบรนด์ในประเทศ เมื่อถึงจุดหนึ่งถ้าเป็นไปได้ แบรนด์เราเข้มแข็งพอ เราก็อาจจะไปตั้งโรงงานผลิตอยู่ในประเทศอื่น แต่อย่างน้อยต้องทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักให้ได้เสียก่อน เราถึงกล้าไปลงทุนอย่างน้อยสักล้านลิตรก็ผลิตได้แล้ว มองดูประเทศแรกอาจจะเป็นจีนก็ได้ เพราะมีพรมแดนติดตอนเหนือของลาว แต่การส่งออกเบียร์ กำไรน้อย ได้แต่ภาพพจน์ ชื่อเสียงประเทศ ชื่อเสียงการท่องเที่ยว เป็นผลที่ได้ทางอ้อม”
อย่างไรก็ดี สำหรับการส่งออกแบรนด์เบียร์ลาว กิดสะหนาก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีข้อจำกัดด้านปัจจัยหนุนในส่วนของร้านอาหารลาว ซึ่งไม่ได้เป็นที่รู้จักทั่วโลกเหมือนร้านอาหารไทย หรือร้านอาหารจีน ที่เบียร์จากประเทศนั้นสามารถเข้าไปเป็น combination ในมื้ออาหารได้อย่างลงตัว
นอกจากเบียร์ สินค้าหลักอีกตัวหนึ่งของเบียร์ลาว คือน้ำดื่มตราหัวเสือ ที่ครอง ส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง มีอัตราเติบโตล่าสุดถึงปีละ 45% ก็มีเส้นทางการเติบโตที่ไม่ต่างจากน้ำดื่มสิงห์เช่นกัน
น้ำดื่มตราหัวเสือ เป็นการดึงโลโกหัวเสือของเบียร์ลาวมาเป็นตรายี่ห้อ เริ่มแรกผลิตโดยบรรจุขวดแก้ว แต่การดำเนินงานไม่ราบรื่นเมื่อต้องเจอปัญหาตามมา เรื่องขวดไม่พอขาย การล้างขวดที่ไม่สะอาด จนถูกลูกค้าร้องเรียน
ในที่สุดบริษัทก็ตัดสินใจลงทุนซื้อเครื่องจักรผลิตและเป่าขวด PT หรือที่รู้จักกันในชื่อขวด PET ขึ้นเอง พร้อมกับดีไซน์ขวดที่แตกต่างจากขวดน้ำดื่มทั่วไปที่มีอยู่ในตลาดเหมือนดีไซน์ขวดน้ำดื่มเบียร์สิงห์ ที่แตกต่างจากยี่ห้ออื่นในเมืองไทย
โรงงานผลิตน้ำดื่มตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงงานผลิตเบียร์ที่นครหลวงเวียงจันทน์ โดยเครื่องจักรสำหรับผลิตน้ำ และทำแพ็กเกจจิ้งขวด เป็นเครื่องจักรจาก จีน แต่เครื่องจักรสำหรับเป่าขวดมาจากฝรั่งเศส
“ส่วนแบ่งตลาดน้ำดื่มเราเติบโตมาเรื่อยๆ ตอนนี้ 60% ของตลาด แต่ปัญหาก่อนหน้านี้เยอะ ตอนใช้ขวดที่ไม่ได้เป่าเอง ก็เกิดการปลอมแปลง พอเป่าเองแล้ว ขวด เป็นเอกลักษณ์ของเรา เลยไม่มีใครมาลอกเลียนได้”
ความสำเร็จของน้ำดื่มล่าสุด ก็คือการได้รับรางวัล Monde Selection จากเบลเยียมในปีนี้ ซึ่งกิดสะหนาจะเดินทางไปรับรางวัลที่เยอรมนีในปีนี้ด้วยตัวเอง เพราะถือเป็นเกียรติและความภูมิใจของบริษัท
สำหรับความคาดหวังในอนาคต นอกจากสิ่งที่เบียร์ลาวกำหนดให้ตัวเองเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ เบียร์ลาวกำลังเป็นองค์กรที่ได้รับการคาดหวังว่า น่าจะเป็นหัวหอกในการเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สปป.ลาว ซึ่งมีแผนจะเปิดตามกำหนดภายในปลายปีนี้ เพราะเป็นบริษัทใหญ่มีผลประกอบการดี น่าจะเป็นแรงดึงดูดที่ดีสำหรับนักลงทุนเข้าสู่ตลาดหุ้นลาวได้ไม่น้อย
กิดสะหนาได้พูดถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า
“บริษัทที่เขาต้องการเข้าตลาด ก็เพื่อต้องการระดมเงินทุน แต่ของเราถ้าถามว่าเราต้องการทุนไหม ตอนนี้เรายังไม่ต้องการ แล้วบริษัทก็มีกำไรดีอยู่แล้ว จะไปแบ่งกำไรกับคนอื่นทำไม แต่หากเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้เราเข้าไปเพื่อให้เป็นสีสันของตลาดหุ้น เพื่อหวังดึงให้ธุรกิจอื่นเข้ามาจดทะเบียนด้วย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
อีกไม่นานนักลงทุนทั่วไปก็คงได้รู้แล้วว่าในตลาดหลักทรัพย์ สปป.ลาว จะมีหุ้นของเบียร์ลาวซื้อขายอยู่ด้วยหรือไม่
เพราะอย่างน้อยในแง่โครงสร้างของบริษัท เบียร์ลาวไม่จำเป็นต้องแต่งตัวมากนัก เป็นบริษัทที่มีความพร้อมอยู่แล้ว โดยเฉพาะระบบบัญชี ซึ่งใช้ตามมาตรฐานของเครือคาร์ลสเบอร์กทั่วโลก โดยมี KPMG เป็นบริษัทผู้สอบบัญชีให้กับเบียร์ลาว และยังควบด้วยการตรวจสอบจากสำนักตรวจสอบบัญชีของรัฐ ที่เป็นภาคบังคับ
กิดสะหนาได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า แม้เบียร์ลาวจะไม่ใช่บริษัทที่มีความต้องการระดมทุน แต่ในความเห็นของเขา การที่สปป.ลาวจะมีตลาดหลัก ทรัพย์นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะมีส่วนช่วย พัฒนาองค์กรต่างๆ ในลาว ในด้านบริหารจัดการ การปรับโครงสร้างและโอกาสของการขยายการลงทุนที่จะพัฒนาขึ้นไปทัดเทียมประเทศอื่น
นอกจากกิดสะหนา วงไซ จะเป็นผู้อำนวยการใหญ่ของเบียร์ลาวแล้ว เขายังเป็นประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมลาวอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
ซึ่งในตำแหน่งนี้หากเทียบกับในประเทศไทย เขาก็เป็นทั้งประธานสภาหอการค้ากับประธานสภาอุตสาหกรรมไทย 2 ตำแหน่ง อยู่ในบุคคลเดียวกัน
ปลายเดือนนี้เมื่อตลาดหลักทรัพย์ สปป.ลาวเปิดดำเนินการแบรนด์ของชนชาติลาวก็น่าจะมีชื่อให้เอ่ยถึงมากขึ้น นอกเหนือจากแบรนด์ “เบียร์ลาว” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว
|
|
|
|
|