Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กรกฎาคม 2553
ลมมรสุม ทำไมจึงสำคัญนัก             
โดย ติฟาฮา มุกตาร์
 





ฤดูร้อนปีนี้ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดในอินเดีย นับจากบันทึกที่เริ่มมีตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 อุณหภูมิเฉลี่ยในหลายรัฐอยู่ระหว่าง 41-45 องศาเซลเซียส ขณะที่รัฐคุชราตมีผู้เสียชีวิตแล้ว 100 ราย อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ถึง 48.5 องศาเซลเซียส กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ลมมรสุม หรือที่เรียกกันว่า monsoon พัดเข้าฝั่งที่รัฐเกรละแล้ว อันหมายถึงการเริ่มต้นของฤดูฝน ข่าวนี้ช่วยชุบชูใจคนอินเดียทั้งประเทศ ใช่แต่ผู้คนที่หวังสายฝนมาช่วยคลายร้อนและเหล่าเกษตรกร ยังรวมถึงรัฐบาล ภาคธุรกิจ และตลาดหุ้น เช่นที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกล่าวว่า “ลมมรสุมคือรัฐมนตรีคลังตัวจริงของอินเดีย” ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

คำภาษาอังกฤษ monsoon อันหมายถึง มรสุมฤดูฝน เริ่มใช้ในอินเดียพร้อมการเข้ามาของอังกฤษ จนกลายเป็นคำสามัญที่ใช้กันแพร่หลาย สันนิษฐานว่ามาจากรากศัพท์โปรตุเกส monção ต้นกำเนิดน่าจะมาจากภาษาอารบิก คำว่า mawsim และคำนี้ก็กลายเสียงมาเป็น mausam ในภาษาฮินดีและอูรดู รวมทั้งภาษาถิ่นของอินเดียตอนเหนืออีกหลายภาษา ซึ่งมีความหมายกว้างขึ้น หมายถึงสภาพอากาศ หรือสภาพอากาศที่เกี่ยวเนื่องกับฤดูกาล

ลมมรสุมที่พัดผ่านอินเดียนั้นมีที่มาจากมหาสมุทรอินเดีย ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน สามารถมองเห็นภาพด้วยหลักวิทยาศาสตร์ง่ายๆ ว่า เป็นกระบวนการที่อากาศเย็นพัดเข้าแทน ที่อากาศร้อน โดยในช่วงฤดูร้อนแผ่นดินในอนุทวีปโดยเฉพาะบริเวณทะเลทรายธาร์และภาคกลางของอินเดีย ร้อนแล้งด้วยแดดที่แผดเผา อากาศที่ผิวโลก บริเวณดังกล่าวจึงลอยตัวสูงขึ้น เกิดภาวะความกดอากาศต่ำ ขณะที่ ณ เกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งใกล้มาดากัสการ์ในมหาสมุทรอินเดีย ชื่อว่ามัสคารีน อากาศที่เย็นกว่าและมีภาวะความกดอากาศสูง (Mascarene High) จะค่อยๆ รวมตัวและเคลื่อน เข้ามาแทนที่อากาศร้อนในอนุทวีป โดยสะสมความชื้นมาตลอดระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร มาตกเป็นฝน โดยมีเทือกเขาหิมาลัยทางตอนเหนือของอินเดียทำหน้าที่เสมือนกำแพงธรรมชาติสกัดไม่ให้มรสุมเคลื่อนต่อสู่ภาคพื้นทวีปและอ่อนกำลัง ทำให้อนุทวีปรับฝนเต็มที่จากลมมรสุมดังกล่าว ลมมรสุมนี้ขึ้นฝั่งอินเดียทั้งสองด้าน สายที่พัดผ่านทะเลอาหรับจะขึ้นฝั่งที่รัฐเกรละ ส่วนที่ผ่านอ่าวเบงกอลจะเข้าสู่รัฐเบงกอลตะวันตกและกลุ่มรัฐภาคอีสานหรือ Seven Sisters

มรสุมดังกล่าวจะพัดต่อเนื่องจนอ่อนกำลังลง ราวปลายเดือนกันยายน เมื่อผืนดินอนุทวีปเริ่มเย็น ลงและย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ธรรมชาติ และเส้นทางลมมรสุมนี้เชื่อกันว่าเก่าแก่พอๆ กับการยกตัวขึ้นของที่ราบสูงทิเบต หรือราว 15-20 ล้านปีก่อน

ลมมรสุมนี้คือที่มาของปริมาณน้ำฝน 80% ของอินเดีย และร้อยละ 60 ของภาคเกษตรกรรมพึ่งพาน้ำจากฝนในฤดูมรสุมนี้ ฉะนั้นแม้ว่าลมมรสุมจะมาช้าไปเพียงไม่กี่วันก็อาจก่อผลเสียหายมหาศาลแก่ภาคเกษตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของ GDP และมีประชากรราวร้อยละ 75 พึ่งพิงอยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นหน้าที่ในการพยากรณ์วันที่ลมมรสุมจะพัดถึงฝั่งเกรละและเข้าสู่รัฐต่างๆ จึงเป็นงานสำคัญของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปูเน และมีหอสังเกตการณ์ทางทะเลอยู่ที่ชายฝั่งเกรละ

ในปีนี้มรสุมพัดเข้าฝั่งเกรละล่วงหน้าวันที่กรมอุตุฯ พยากรณ์ไว้หนึ่งวัน และเมื่อมรสุมตัวจริงที่ไม่ใช่พายุฝนฤดูร้อนหรือหางเลขไซโคลน หอบฝนขึ้นอาบชายฝั่งเกรละ กรมอุตุฯ พยากรณ์ว่ามรสุมปีนี้จะให้ฝน ‘ปกติ’ หรือราวร้อยละ 98 ของปริมาณ น้ำฝนปกติในหน้ามรสุมของทุกปี จากคำพยากรณ์ชาวอินเดียน่าจะหายใจได้ทั่วท้อง ว่าตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกที่ไต่ขึ้นมาอยู่ที่ 8.6 คงจะไม่สะดุดเสียกลางทาง แต่บทเรียนจากปีก่อนทำให้ยังไม่มีใครวาง ใจ

ในปี 2009 ฤดูมรสุมของอินเดียเริ่มเร็วกว่าทุกปีร่วมสัปดาห์ และกรมอุตุฯ ก็พยากรณ์ในทำนอง เดียวกัน แต่ด้วยผลกระทบจากไซโคลนไอลาส่งผลให้ฝนระลอกถัดมาล่าช้า ราวกลางเดือนมิถุนายนหลายพื้นที่ยังไม่เห็นแม้แต่เค้าเมฆฝน กระทั่งหมดฤดูมรสุม อินเดียได้รับปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดในรอบ 37 ปี หลายพื้นที่ประสบปัญหาฝนแล้ง พืชผลเสียหายส่งผลให้ผลผลิตรวมทางการเกษตรลดต่ำ อินเดียซึ่งปกติเป็นผู้ผลิตข้าวและข้าวสาลีรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ถึงกับประสบภาวะขาดแคลน ข้าวและข้าวสาลี รวมถึงพืชผลอีกหลายชนิดจนต้องมีมาตรการจำกัดการส่งออก และถึงขั้นต้องนำเข้าน้ำตาลและน้ำมันพืช นับจากเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ราคาพืชผักและสินค้าเพื่อการบริโภคในอินเดียสูงขึ้นกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ตามติดด้วยภาวะเงินเฟ้อ และการประท้วงเรื่องราคาสินค้าหลายต่อหลายครั้ง

ในอินเดียมรสุมฤดูฝนจึงเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ภาวะ เงินเฟ้อ ปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติ นอกจากจะส่งตรง ต่อภาคเกษตรกรรมและราคาพืชผล ทำให้ต้องจำกัดการส่งออกหรือเพิ่มปริมาณการนำเข้ายังมีผลต่อปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ซึ่งปัจจุบันอินเดียเผชิญกับภาวะขาดแคลนไฟฟ้าหนักหน่วงอยู่แล้ว และปริมาณน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่อาจทำให้ต้องลดกำลังการผลิต ซึ่งแน่นอนว่าจะโยงไปถึงสภาพการลงทุนและตลาดหุ้น นัยหนึ่งคือความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม

ดังจะเห็นได้ว่าช่วงที่เศรษฐกิจโลกถดถอย ในปี 2008 อินเดียไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงนัก จีดีพียังเติบโตอยู่ที่ 6.7 แต่ภาวะฝนแล้งในปีก่อนกลับส่งผลกระทบหนักหน่วงกว่า ทั้งที่เศรษฐกิจโลกกำลังเริ่มฟื้นตัว นั่นคือสาเหตุที่นายกรัฐมนตรีมันโมฮัน ซิงห์กล่าวว่า ตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้ที่คาดว่าจะเป็น 8.5 นั้น มีข้อแม้สำคัญว่ามรสุมปีนี้จะให้ฝนพอเพียง

ระหว่างปี 2009 ที่อินเดียเผชิญภาวะฝนแล้ง พบว่าชาวบ้านหลายพื้นที่สิ้นหวังขนาดที่ต้องหันไปพึ่งพิธีขอฝนโบราณหลายรูปแบบ อาทิ การจับกบแต่งงาน พบในหลายพื้นที่และพิธีแต่งงานก็ทำกันเอิกเกริกครบขั้นตอนตามความเชื่อทางศาสนาฮินดู ในเมืองอาห์เมดาบัด รัฐคุชราต ชาวบ้านประกอบพิธี ขอฝนด้วยการลงไปนั่งสวดมนต์ในภาชนะใส่น้ำ ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐอุตตรประเทศ หญิงชาวนากลุ่ม หนึ่งเทียมแอกไถนาแทนวัวเพื่อวอนขอฝน ทั้งมีรายงานข่าวว่าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐพิหาร ชาวบ้าน ถึงกับขอให้บรรดาลูกสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานเปลือยกายไถนา ด้วยความเชื่อว่าเทวดาจะรู้สึกอายและประทานฝนลงมา แต่จากปริมาณฝนอันน้อยนิดในปีก่อน คงทำให้พวกเขาหวั่นใจว่าหากหน้าฝนนี้ซ้ำรอย จะมีพิธีหรือความเชื่อใดให้พึ่งได้อีก

หน้าร้อนปีนี้ถือว่าร้อนเป็นประวัติการณ์ ไม่ว่านี่จะเป็นผลจากภาวะโลกร้อน หรือผลพวงจากปรากฏการณ์ El Nino อินเดียมียอดผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนในรัฐต่างๆ แล้วกว่า 260 ราย เว้นจากแคชเมียร์และสิกขิมซึ่งสภาพภูมิอากาศเกี่ยวโยงกับหิมาลัยมากกว่าภาคอื่นๆ ของอินเดีย ผู้คนต่างพากันแหงนหน้ามองฟ้า และรอวันที่ลมมรสุมจะเคลื่อนมาถึง

ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เดินทางตามเส้นทางอันเก่าแก่มาขึ้นฝั่งแล้วที่เกรละ แต่ชาวอินเดียนับจากชาวนาชาวไร่ พ่อค้า นักลงทุน จนถึงนายกรัฐมนตรีต่างกลั้นใจรอว่าเมฆฝนที่มรสุมหอบมาฝาก จะพอให้ดินที่แห้งผากมากว่าปีได้ดับกระหายหรือไม่ ปีนี้จะเป็นอีกปีที่แร้นแล้งหรือช่ำเย็น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us