ปี 2548 พลากร อาชานานุภาพ สหายรักของผมที่ละทิ้งเส้นทางการเป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักการเงิน เพื่อมุ่งไปสู่เส้นทางแห่งคอมพิวเตอร์และโลกอินเทอร์เน็ตที่เขาชื่นชอบ ด้วยการไปเรียนต่อด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) ณ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลอน สถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกด้านคอมพิวเตอร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ส่งปาฐกถาของชายผู้หนึ่งที่ได้รับเกียรติขึ้นกล่าวในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมาให้อ่าน
“You can’t connect the dots looking forward. You can only connect them looking backwards, so you have to trust that the dots will somehow connect in your future...”
หากใครยังพอจำได้..ประโยคดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปาฐกถาโดยชายที่มีชื่อว่าสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท แอปเปิล อิงค์ ซึ่งกล่าวไว้ ณ งานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
ในเวลาต่อมาปาฐกถาชิ้นดังกล่าวที่มีความยาวไม่ถึง 15 นาที ได้ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางผ่านสื่อแขนงต่างๆ ของโลก ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรองและโลกอินเทอร์เน็ต ขณะที่คลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ยูทูปก็มีผู้เยี่ยมชมมากกว่า 3.3 ล้านครั้งแล้ว[1]
หลายปีมานี้แวดวงเทคโนโลยีสารสนเทศของโลกใบนี้ ราวกับว่าตกอยู่ภายใต้มนต์ขลังของสตีฟ จ็อบส์ ชายผู้เชิดหน้ายอมรับว่าเขาไม่เคยเรียนจบมหาวิทยาลัย ทว่า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรที่เขาคิดออกมา ล้วนแล้วแต่กลายเป็นนวัตกรรมใหม่และมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมไอทีที่ทุกคนบนโลกต้องเดินตามต้อยๆ
...ทั้งไอพอด ไอโฟน ไอแพด แอปสโตร์ ฯลฯ
การสร้างนวัตกรรมสะเทือนโลกอย่างต่อเนื่องของแอปเปิลได้ผลักดันให้ล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2553 มีตัวเลขประเมินออกมาว่า ในปีนี้ แอปเปิล อิงค์กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก แซงไมโครซอฟท์ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยหุ้นแอปเปิลในตลาดมีมูลค่าสูงถึง 222,000 ล้านเหรียญ สหรัฐ มากกว่าไมโครซอฟท์ราว 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่หากย้อนไปเมื่อสิบปีที่แล้ว ในสมัยที่บิล เกตส์ยังเรืองอำนาจในฐานะเจ้าแห่งโลกไอที หุ้น ไมโครซอฟท์ในเวลานั้นมีมูลค่ารวมสูงถึง 556,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแอปเปิลกลับมีมูลค่าเพียง 15,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่านั้น[2]
กระนั้น แม้แอปเปิลจะถือเป็นบริษัทเทคโน โลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้สินค้าไฮเทคอย่างไอแพดและไอโฟนรุ่นที่ 4 ก็กำลังจะปรากฏโฉมอย่างเป็นทางการในประเทศไทย แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า แอปเปิลกลับมิได้ถูกจัดให้เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นมากที่สุด ทั้งยังไม่ได้เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุด และติดเพียงอันดับที่สามของบริษัทเทคโนโลยีที่มีรายได้จากการดำเนินงานสูงที่สุดในโลกเท่านั้น...
ประเด็นที่ผมกำลังจะกล่าวก็คือ ในห้วงปี 2552 บริษัทเทคโนโลยีที่ถูกจัดให้ยืนอยู่หัวแถวของโลกใน การเป็นบริษัทที่ทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นมากที่สุด, เติบโตรวดเร็วที่สุดและมีรายได้จากการดำเนินงานมากที่สุดนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทจากจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งสิ้น!
The Tech 100 List คือ ตารางอันดับบริษัทเทคโนโลยีที่มีผลการดำเนินงานที่ดีที่สุดในโลกในรอบปี 2552 (ค.ศ.2009) ซึ่งนิตยสารบลูมเบิร์ก บิส เนสวีกได้จัดทำขึ้น โดยใช้วิธีการและมาตรฐานดังนี้
คือทีมงานนิตยสารได้รวบรวมเอาผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกจำนวน 6,500 แห่ง และตั้งเกณฑ์ขึ้นมาคัดกรองเฉพาะบริษัทที่เข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นบริษัทที่ในช่วงปี 2551-2552 รายรับไม่ลดลงเกินร้อยละ 5 (คิดตามมูลค่าเงินสกุลท้องถิ่น) เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่ามีบริษัทที่หลุดเข้ารอบมาจำนวน 210 แห่ง
จากนั้นบิสเนสวีก จึงนำบริษัท 210 แห่งมาประชันกัน โดยใช้ดัชนีชี้วัดต่างๆ เช่น ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น อัตราการเติบโตของการจ้างงาน เป็นต้น เพื่อจัดอันดับสุดยอดบริษัทเทคโนโลยีของโลกตั้งแต่อันดับที่ 1 ถึงอันดับ ที่ 100[3]
ทั้งนี้ผลสรุปออกมาว่าสุดยอดบริษัท เทคโนโลยีของโลกที่ยืนอยู่หัวแถวของ The Tech 100 List นั้นกลายเป็นบริษัทที่มีชื่อว่า บีวายดี (BYD; )
บีวายดี (ในชื่อภาษาจีน “ปี่ย่าตี๋”) หรือที่หวัง เฉวียนฝู ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ระบุว่า ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษ คือ Build Your Dreams บริษัทจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง เป็นบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟ แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฮบริด-ไฟฟ้า ดาวรุ่งของประเทศจีน โดยในปี 2551 วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนชื่อก้องได้เข้าไปถือหุ้นบริษัทแห่งนี้จำนวนร้อยละ 10
นิตยสารบิสเนสวีกได้ระบุว่าในห้วง 1 ปีที่ผ่านมา (นับถึง 30 เมษายน 2553) ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Shareholder Returns) ของบีวายดีนั้นพุ่งสูงถึงร้อยละ 246 ส่งผลให้นับจากเดือนกันยายน 2551 ที่บัฟเฟตต์ใช้เงินลงทุน 230 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อหุ้นบริษัทบีวายดีจำนวนร้อยละ 10 ถึงวันนี้มูลค่าหุ้นของบัฟเฟตต์ได้พุ่งขึ้นเกือบ 10 เท่าเป็น 2 พันล้านเหรียญสหรัฐเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ด้วยผลประกอบการที่ดีเยี่ยม ราคาหุ้น ที่พุ่งพรวดและอนาคตที่สดใสนี่เอง เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้บริษัทบีวายดีครองอันดับ 1 ใน The Tech 100 List เหนือบริษัทแอปเปิลของสตีฟ จ็อบส์ ซึ่งครองอันดับที่ 2
หากเปรียบเทียบอัตราการเติบโตทางรายรับ (Revenue Growth) ของบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก บริษัทที่ครองอันดับที่ 1 ก็ยังคงเป็นบริษัทผู้ผลิตคอม พิวเตอร์จากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ชื่อ เกรทวอลล์ (Great Wall; ) โดยในรอบปีที่ผ่านมา เกรท วอลล์ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของจีน จัดเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มียอดรายรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลกถึงร้อยละ 460
ขณะที่เมื่อมองในมุมของรายได้จากการดำเนินงาน (Operating Income) ของบริษัทเทคโน โลยีทั่วโลกแล้ว ยอดขายที่พุ่งกระฉูดของไอพอด-ไอโฟน (ยังไม่รวมไอแพดที่เพิ่งเริ่มวางขายในเดือนเมษายน 2553) กลับดันแอปเปิลขึ้นไปได้สูงสุดเพียงแค่อันดับที่ 3 ด้วยยอดรายได้จากการดำเนินการ 11,740 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรองเวอไรซอน (Verizon) บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่มียอดรายได้ 19,480 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 และอันดับที่ 1 คือ ไชน่า โมบาย (China Mobile; ) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ เคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีรายได้ในรอบปีที่ผ่านมามากถึง 22,439 ล้านเหรียญสหรัฐ
หรือกล่าวง่ายๆ คือ ไชน่า โมบายมีรายได้จากการดำเนินงานมากกว่าแอปเปิลเกือบเท่าตัว
ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ถือเป็นเรื่องแปลกอะไรที่ไชน่า โมบายจะมีรายได้ทิ้งห่างบริษัทเทคโนโลยีคู่แข่งรายอื่นๆ ค่อนข้างมาก เพราะด้วยอำนาจการผูกขาดตลาดจีนที่มีฐานประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน ทำให้ปัจจุบันไชน่า โมบายครองตำแหน่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใหญ่โตที่สุดในโลก ด้วยฐานลูกค้ากว่า 500 ล้านคน
หากถอยห่างออกจากตัวเลขสถิติทางผลประกอบการที่นิตยสารบิสเนสวีกรวบรวมเอาไว้และหันมามองในมุมของ “สัญชาติของทุน” แล้ว ก็จะพบว่า จากบริษัท 100 แห่งที่ถูกจัดอันดับไว้ใน The Tech 100 List นั้น สหรัฐอเมริกายังคงครองความเป็นเจ้าทางเทคโนโลยีเอาไว้ได้ เพราะมีบริษัทอเมริกัน มากถึงเกือบครึ่ง คือ 44 บริษัทที่ติดอยู่ในลิสต์ดังกล่าว รองลงมาคือ ญี่ปุ่น 11 บริษัท จีนแผ่นดินใหญ่ และไต้หวันเท่ากันคือ 8 บริษัท อินเดีย 6 บริษัท บราซิล 5 บริษัท อังกฤษ-เยอรมนี-สิงคโปร์ เท่ากันที่ 3 บริษัท เบอร์มิวดา-ฮ่องกง เท่ากันที่ 2 บริษัท และสุดท้าย อาร์เจนตินา-แคนาดา-เบลเยียม-อิสราเอล-เกาหลีใต้ เท่ากันคือ ประเทศละ 1 บริษัท
ทว่า เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกลงไปก็จะพบว่า ในอนาคตอันใกล้นี้บริษัทสัญชาติจีน น่าจะสามารถแซง บริษัทจากญี่ปุ่นได้ไม่ยาก เพราะในเบื้องต้นหากนับรวมจำนวนบริษัทใน The Tech 100 List จากแผ่นดิน ใหญ่-ไต้หวัน-ฮ่องกง เข้าด้วยกันแล้ว ก็จะพบว่ามีปริมาณมากถึง 18 บริษัท (เทียบกับญี่ปุ่นที่มี 11 บริษัท)
เมื่อลองเชื่อมต่อ “จุดข้อมูล” ต่างๆ ในอดีต ปะติดปะต่อข้อมูลเหล่านั้นเข้ากับ “จุดข้อมูล” ในปัจจุบัน ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงสามารถจินตนาการภาพในอนาคตได้ไม่ยากว่า ตำแหน่งแห่งที่ซึ่งบริษัท สินค้าไฮเทคและเทคโนโลยีจากจีน จะสามารถไปยึด ครองอยู่ในโลกอนาคตนั้นน่าจะเป็นเช่นไร?
ข้อมูลอ้างอิงจาก :
[1] ชม Steve Jobs Stanford Commencement Speech 2005 คลิก www.youtube.com/watch?v=D1R-jKKp3NA
[2] Apple passes Microsoft to be biggest tech company, BBC News, 27 May 2010.
[3] The Bloomberg Businessweek Tech 100, Bloomberg Businessweek, 24-30 May 2010, p65-70. หรือเข้าไปที่ http://bit.ly/dtuA2y
อ่านเพิ่มเติม :
- ตะวันตกที่ “ดีทรอยต์” ตะวันออกที่ “แผ่นดินใหญ่” นิตยสารผู้จัดการ 360º ฉบับเดือนสิงหาคม 2552
- iPhone VS OPhone นิตยสารผู้จัดการ 360º ฉบับเดือนตุลาคม 2552
|