|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ใครที่คิดว่าการรวมยุโรปจะต้องล่มสลายในวันใดวันหนึ่ง มักจะผิดคาดเสมอ
วิกฤติการเงินของกรีซทำให้หลายคนคิดว่า นี่คงถึงกาลอวสานของเงินยูโรแล้ว แม้กระทั่งอาจจะถึงขั้นการล่มสลายของสหภาพยุโรป (European Union: EU) เลยด้วยซ้ำ แต่ตลอดประวัติศาสตร์การรวมยุโรปที่ผ่านมานานหลายทศวรรษแล้ว คนที่มองยุโรปในแง่ร้ายสุดๆ มักจะผิดหวังเสมอ
คำทำนายว่าสหภาพยุโรปจะล่มสลายมีมาตลอดตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1960 เมื่อประธานาธิบดี Charles de Gaulle ของฝรั่งเศสในขณะนั้น ใช้สิทธิยับยั้งการเข้าร่วมของอังกฤษ และถอนตัวออกจากตลาดร่วมยุโรป (Common Market) จนทำให้กระบวนการตัดสินใจของยุโรป ต้องหยุดชะงักไปนานถึง 6 เดือน ในครั้งนั้น หลายคนเชื่อว่า “การทดลอง” ที่มีชื่อว่า การรวมยุโรป คงจะจบสิ้นลงแล้ว ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 สื่อต่างคาดการณ์ว่ายุโรปจะล่มสลาย มีการใช้คำเปรียบเทียบว่ายุโรปกำลังเป็นโรคร้ายอย่าง Euro-sclerosis หรือคำที่มองยุโรปในแง่ร้ายสุดๆ อย่าง Euro-pessimism แต่ในอีกไม่กี่ปีต่อจากนั้น ยุโรปกลับริเริ่มการรวมกันเป็นตลาดเดียว (single market) ท่ามกลางการประสานเสียงคัดค้านจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์ว่า การรวมเงินสกุลเดียวเป็นเงินยูโรจะใช้ไม่ได้ผล แต่มาบัดนี้ เงินยูโรได้ผงาดขึ้นมาเทียบชั้นกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เพียง 5 ปีก่อน หลังจากการลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ EU ประสบความปราชัยทั้งในฝรั่งเศส เนเธอร์ แลนด์และไอร์แลนด์ ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รัฐธรรมนูญ EU ต้องล่มแน่ แต่ขณะนี้รัฐธรรมนูญ EU กลับกลายเป็นกฎหมายไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศในยุโรปมักจะหาทางแก้ไขปัญหาวิกฤติต่างๆ ร่วมกันได้เสมอ หาใช่เป็นเพราะพวกเขารู้สึกซาบซึ้งตรึงใจกับอุดมการณ์การรวมยุโรปไม่ หากแต่เป็นเพราะยุโรปเป็นทวีปที่แต่ละประเทศต่างมีเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพากันและกันมากที่สุดในโลก พวกเขาจึงไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องจับมือกันเท่านั้น ผลจากวิกฤติค่าเงินยูโรเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลับทำให้ยุโรปยิ่งเข้มแข็งมากขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์นโยบายการคลังอย่างที่มีบางคนเสนอ วันที่ 10 พฤษภาคม ยุโรปตกลงอุ้มกรีซ และอนุมัติการจัดตั้งกองทุน 750,000 ล้านยูโร เพื่อปกป้องค่าเงินยูโร จากผลกระทบจากวิกฤติหนี้สินของกรีซ รวม ทั้งอนุมัติให้ธนาคารกลางแห่งยุโรป (European Central Bank: ECB) สามารถแทรกแซงตลาด ด้วยการเข้ากว้านซื้อหนี้สาธารณะของประเทศในยุโรปที่กำลังมีปัญหาหนี้สินได้
การที่เยอรมนีและฝรั่งเศส 2 ชาติผู้นำของยุโรปยอมอุ้มกรีซ หาใช่เป็นเพราะรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับกรีซ ประเทศที่ยอมให้มีการเกษียณอายุเร็วกว่าประเทศอื่น และยังมีกระบวนการทางบัญชีที่ไม่น่าไว้ใจ หรือเป็นเพราะเชื่อ ในอุดมการณ์การรวมยุโรปไม่ วันเวลาแห่งความศรัทธาในอุดมการณ์เช่นนั้นได้สูญสิ้นไปนานแล้ว และการใช้เงินภาษีอากรของราษฎรเข้าอุ้มธนาคาร ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมในยุโรป มากไปกว่าในสหรัฐฯ และเพราะเหตุนี้จึงทำให้เยอรมนีลังเลอยู่นาน กว่าจะยอมตกลงช่วยอุ้มกรีซ
นอกจากนี้ การยอมช่วยอุ้มกรีซของฝรั่งเศสกับเยอรมนี ก็หาใช่เป็นเพราะต้องการพยุงค่าเงินยูโร ซึ่งดิ่งลงเกือบ 20% แล้ว นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จนค่าเงินยูโรเหลือราวๆ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐ หรือพอๆ กับเมื่อแรกกำเนิดเงินยูโรเมื่อสิบปีก่อน ความจริงแล้ว ค่าเงินยูโรที่อ่อนลงกลับจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกในฝรั่งเศสและเยอรมนีด้วยซ้ำ และนายกรัฐมนตรี Angela Merkel ของเยอรมนี ก็ไม่ได้ช่วยกรีซ เพราะว่าประธานาธิบดี Obama ขอร้อง อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวรั่วไปถึงสื่อเยอรมันด้วย ยุโรปคงไม่เอาค่าเงินของตัวเองมาเสี่ยง เพียงเพื่อแลกกับการเอาใจสหรัฐฯ
แต่สาเหตุที่ทำให้ยุโรปตัดสินใจช่วยอุ้มกรีซ เป็นเพราะคิด สะระตะอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า การทำเช่นนั้นคือการรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง กล่าวคือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียความเชื่อมั่น ในธนาคารในเยอรมนีและฝรั่งเศส รวมไปถึงในพันธบัตรที่เกี่ยวพันกับกรีซ เพราะธนาคารในฝรั่งเศสถือพันธบัตรของกรีซเป็นมูลค่าถึง 58,000 ล้านยูโร ส่วนธนาคารเยอรมันก็ถืออยู่ถึง 32,000 ล้านยูโร ซึ่งเป็นมูลค่าที่มากกว่าธนาคารของกรีซเองถือไว้เสียอีก และ 90% ของหนี้สินทั้งหมดของกรีซ เป็นหนี้ต่างประเทศ
ดังนั้น หากปล่อยให้กรีซล่ม ระบบธนาคารทั้งยุโรปก็อาจล่มตามไปด้วย และวิกฤติของกรีซยังเริ่มลามไปในสู่ประเทศยุโรป อื่นๆ ที่จัดอยู่ในกลุ่มอ่อนแอเช่นเดียวกับกรีซ ที่เรียกรวมกันว่า กลุ่ม PIIGS อันประกอบด้วยโปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน ดังนั้น การช่วยกรีซของเยอรมนีและฝรั่งเศส จึงไม่ใช่เป็นการช่วยประเทศอื่น หากแต่เป็นการช่วยตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ไม่มีทางเลือก
แต่กระนั้นก็ตาม อีกครั้งที่บรรดานักวิพากษ์วิจารณ์ยุโรป ก็ยังคงมองวิกฤติที่เกิดขึ้นกับยุโรปล่าสุด เป็นสีขาวกับสีดำเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เป็นการต่อสู้กันของคนที่ไม่เชื่อในการรวมยุโรปกับคนที่ซาบซึ้งในอุดมการณ์การรวมยุโรป
ฝ่ายที่ไม่เชื่อในการรวมยุโรปยังคงเห็นว่า การแตกสลายของเขตยูโรโซนซึ่งใช้เงินยูโรสกุลเดียว จะต้องเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ความแตกต่างทั้งเรื่องความสามารถในการแข่งขัน งบประมาณ ต้นทุนแรงงาน และลักษณะประชากรของประเทศต่างๆ ในยุโรปนั้น ไม่มีทางที่จะไปกันได้ตลอดรอดฝั่ง และในที่สุดก็จะต้องแยกกันไปคนละทาง ความคิดที่จะให้เยอรมนีกับกรีซ หรือแม้กระทั่งเยอรมนีกับฝรั่งเศส ใช้เงินสกุลเดียวกัน เป็นความคิดที่แย่ เพราะจะไปยับยั้งการเติบโตของประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันน้อยกว่า เนื่องจากทำให้ประเทศนั้นไม่สามารถจะลดค่าเงินเพื่อส่งเสริมการส่งออกได้ และยังไปยับยั้งการใช้จ่ายของผู้บริโภคอีกด้วย
ฝ่ายที่มองการรวมยุโรปในแง่ร้ายนี้เชื่อว่า สภาพตลาดที่ผันผวนอย่างทุกวันนี้ ไม่ว่ารัฐบาลจะแทรกแซงตลาดมากเท่าใด ก็ไม่อาจจะหยุดยั้งการเก็งกำไรได้ และมีแต่จะสร้างความขุ่นเคือง ใจให้เกิดขึ้นภายในสหภาพยุโรป จนในที่สุดก็ต้องแตกแยกกัน ผู้ที่ ไม่เชื่อในการรวมยุโรปอย่างศาสตราจารย์ Kenneth Rogoff แห่ง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเชื่อว่า ควรจะให้ประเทศที่อ่อนแออย่างกรีซ ถอนตัวออกจากการใช้เงินสกุลเดียวเลยด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็ชั่วคราว เพื่อให้สามารถลดค่าเงินของตัวเอง และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันขึ้นมาใหม่ได้
จริงอยู่ที่บางครั้งบางประเทศอย่างกรีซ อาจจะต้องถอนตัวออกจากยูโรโซนไปในที่สุด แต่ความเสียหายของการถอนตัวออกจากการร่วมใช้เงินยูโร หนักหนาเกินกว่าที่ผู้นำการเมืองในประเทศนั้นๆ จะยอมเสี่ยง ความเสียหายมหาศาลจะเกิดต่อธุรกิจ ภาระหนี้สินจะพุ่งขึ้นมหาศาล จะต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างหนักหน่วง และเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ การถูกฟ้องร้อง รวมไปถึงการชะงักงันของการค้าและการลงทุน จนกระทบระบบการเงินของทั้งประเทศ
ส่วนฝ่ายที่เชื่อในอุดมการณ์การรวมยุโรปเชื่อว่า ทางเดียว ที่สหภาพยุโรปจะทำได้ คือการรวมศูนย์อำนาจ กล่าวคือการถ่าย โอนอำนาจการควบคุมงบประมาณและนโยบายของประเทศต่างๆ ในยุโรป ไปรวมไว้ที่สหภาพยุโรป Romano Prodi อดีตประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป คือหนึ่งในฝ่ายนี้ ซึ่งเชื่อว่า การบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดโดย EU เท่านั้น จึงจะทำให้ประเทศต่างๆ ในยุโรปยอมลงมือปฏิรูปเศรษฐกิจได้ ฝ่ายนี้ต้องการให้ EU วางกฎเกณฑ์ที่กำหนดบทลงโทษชัดเจน แทนที่ข้อตกลง stability pact ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1997 ซึ่งจำกัดการขาดดุลงบประมาณของชาติสมาชิก EU ไม่เกิน 3% แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้เชื่อในการรวมยุโรป ก็ยังคิดเช่นเดียวกันว่า ยุโรปจะต้องเลือกระหว่างการรวมเป็นประเทศเดียวอย่างจริงจังเป็น “สหรัฐยุโรป” หรือจะรวมกันเล่นๆ และรอวันที่จะแตกแยกจากกัน ไม่ช้าก็เร็ว เนื่องจากปัญหาไม่ได้อยู่ที่เพียงการควบคุมงบประมาณ แต่ยังจะขยายไปถึงเรื่องการจัดเก็บภาษี และนโยบายต่างๆ การรวมยุโรปเป็นประเทศเดียว คือสหรัฐยุโรปนั้น เป็นความฝันมายาว นานแล้วของฝ่ายที่เชื่อในการรวมยุโรป
อย่างไรก็ตาม ระหว่าง 2 ฝ่ายที่เปรียบเหมือนขาวกับดำนั้น ยังมีทางที่สามที่อาจจะสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่า โดยที่แต่ละประเทศจะยังคงรักษาผลประโยชน์ของตนไว้ได้ การตัดสินใจอุ้มกรีซ ทำให้เยอรมนี ฝรั่งเศส และประเทศที่ช่วยให้เงินกู้ฉุกเฉินแก่กรีซ มีเวลาที่จะเริ่มปรับโครงสร้างภาคการธนาคารของตนเอง ส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้สินของยุโรปครั้งนี้ คือการที่เยอรมนีกับฝรั่งเศส ยังไม่กล้าทำอย่างที่สหรัฐฯ และอังกฤษได้ทำไปแล้ว นั่นคือการกำจัดสินทรัพย์ที่ “เป็นพิษ” ที่อยู่ในงบดุลของธนาคาร เพราะการจะทำเช่นนั้นต้องกล้าตัดสินใจทางการเมืองที่เสี่ยงต่อความไม่พอใจของประชาชน เนื่องจากจะต้องนำเงินภาษีอากรของราษฎรจำนวนมหาศาลมาใช้ในการแก้ปัญหาภาคการธนาคาร แต่ถึงเวลาแล้วที่เยอรมนีและฝรั่งเศสจะต้องตัดสินใจ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาของกรีซและจากกลุ่มประเทศ PIIGS
ในขณะเดียวกันนั้น EU ก็จะต้องวางกฎเกณฑ์เพื่อยอมให้ประเทศยุโรปผิดนัดชำระหนี้ได้อย่างมีระเบียบ โดยอาจจะได้รับความช่วยเหลือเป็นเงินกู้ชั่วคราว bridge financing จาก EU หรือจากกองทุนการเงินแห่งยุโรป ที่อาจจะจัดตั้งขึ้นใหม่คล้ายๆ กับ IMF แม้กระทั่งการให้ประเทศที่มีปัญหาถอนตัวออกจากการใช้เงินยูโร
เมื่อวางมาตรการปกป้องภาคการธนาคารของประเทศอื่นๆ ในยูโรโซนได้แล้ว ก็สามารถปล่อยให้กรีซและประเทศที่มีปัญหาอื่นๆ ผิดนัดชำระหนี้ได้ ซึ่งหมายความว่า สามารถจ่ายคืนหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพียงบางส่วนของหนี้ทั้งหมดเท่านั้น วิธีการปรับโครงสร้างหนี้เช่นนี้ไม่ถือเป็นปัญหาวิกฤติ และเป็นสิ่งที่ยุโรปและสหรัฐฯ ก็เคยทำมาแล้วในช่วงทศวรรษ 1970 ตามมาด้วยละตินอเมริกาและเอเชียเมื่อไม่นานมานี้
ที่ผ่านมาไม่ว่าจะประสบวิกฤติหนักหนาเพียงใด ยุโรปก็ผ่านพ้นมาได้เสมอ เพราะนโยบายต่างๆ ของ EU ไม่ได้วางอยู่บนอุดมการณ์ความคิดฝัน หากแต่อยู่บนการตระหนักว่า การรวมกลุ่มของประเทศที่มีความหลากหลาย จำเป็นต้องแสวงหาวิธีการทำงานร่วมกันที่ทำได้จริงและไม่เพ้อฝัน แม้ว่าพันธะที่ชาติยุโรปมีต่อกันจะไม่ถึงขั้นไร้เงื่อนไขใดๆ อย่างที่ฝ่ายนิยมยุโรปต้องการเห็น แต่ก็เข้มแข็งมากกว่าที่ฝ่ายไม่เชื่อในการรวมยุโรปคิด และแม้ว่าสไตล์การแก้ปัญหาจนประสบความสำเร็จแบบมวยวัดของยุโรป อาจจะดูไม่สง่างาม แต่มันได้ผล และเป็นอีกครั้งที่ฝ่ายที่เชื่อว่ายุโรปจะต้องล่มสลาย คงจะต้องผิดหวัง
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
|
|
|
|
|