|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

ญี่ปุ่นเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี 5 คนภายในเวลาเพียง 4 ปี แต่ปัญหาของญี่ปุ่นไม่ใช่เป็นเพราะผู้นำไม่ดี
เรื่องอื้อฉาวเล็กๆ น้อยๆ ของนักการเมืองเป็นเรื่องปกติในประเทศร่ำรวย และนักการเมืองส่วนใหญ่ก็สามารถเอาตัวรอดไปได้ Bill Clinton รอดตัวจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับที่ดินและเรื่องอื้อฉาว ทางเพศ แถมยังลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างสง่างามด้วยคะแนนนิยมที่สูงถึง 66% Nicolas Sarkozy ถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงเอกสาร ในเรื่องอื้อฉาวที่เรียกว่า Clearstream Affair ทั้งยังเริ่มต้นการเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส ด้วยข่าวการหย่าร้างกับภรรยา แต่เขาก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งจนถึงวันนี้ อิตาลียิ่งแล้วใหญ่ นายกรัฐมนตรี Silvio Berlusconi ถูกรุมเร้าด้วยเรื่องอื้อฉาวทางการเงินและทางเพศ แต่คะแนนนิยมของเขาแทบไม่สะดุ้งสะเทือน
คงมีก็แต่เพียงญี่ปุ่นเท่านั้นที่ตรงกันข้าม เรื่องอื้อฉาวในญี่ปุ่นสามารถ “ฆ่า” นักการเมืองให้ตายได้ ทั้งในทางการเมือง หรือแม้แต่ตายจริงๆ
Yukio Hatoyama อดีตนายกรัฐมนตรีหมาดๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นนายกฯ ญี่ปุ่นคนที่ 4 แล้วที่ลาออกภายในเวลาเพียง 4 ปี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ เมื่อ 8 เดือนที่แล้วพร้อมกับคำสัญญาครั้งประวัติศาสตร์ที่จะปฏิรูประบบของญี่ปุ่น ที่เป็นสาเหตุให้ญี่ปุ่นต้องขาดดุลงบประมาณมากที่สุดชาติหนึ่งในโลก และทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน แต่ไม่ทันที่ช่วงฮันนีมูนของรัฐบาล Hatoyama จะผ่านพ้นไป เขาก็ถูกโยงกับเรื่องอื้อฉาวการรับเงินสนับสนุนทางการเมือง 12 ล้านดอลลาร์ ก่อนจะลาออก คะแนนนิยมของ Hatoyama ร่วงลงเหลือเพียง 24% หรือเท่ากับตกฮวบลงถึง 50 จุด เมื่อเทียบกับตอนที่เขารับตำแหน่งใหม่ๆ มีการพูดกันถึงนายกฯ คนใหม่ที่จะมาแทนที่เขา ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะได้มีโอกาสแถลงนโยบายปฏิรูป ซึ่งทำให้เขาชนะเลือกตั้งเสียอีก
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาสุญญากาศผู้นำโดยไม่รู้ตัว หนำซ้ำ สาเหตุของปัญหาดังกล่าวยังถูกมองข้าม นั่นคือ การที่ญี่ปุ่นเอาแต่หมกมุ่นสนใจแต่เรื่องอื้อฉาวของนักการเมือง มากกว่าจะสนใจนโยบายของนักการเมือง ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่จมูกไวที่สุด แม้กระทั่งเรื่องอื้อฉาวเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองของตน
เรื่องอื้อฉาวเริ่ม “ฆ่า” นักการเมืองญี่ปุ่นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เมื่อนายกรัฐมนตรี Kakuei Tanaka ถูกขับเนื่องจากปัญหาเงินบริจาคทางการเงินที่ยังคลุมเครือ นั่นเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่วังวนของปัญหาการเมืองกับเงิน จริงอยู่ที่ปัญหาดังกล่าวเป็นความจริงที่น่าวิตก แต่ขณะที่การสร้างความสัมพันธ์ สามเส้าที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระหว่างนักการเมือง ข้าราชการและธุรกิจ ต่างก็พบในประเทศพัฒนาแล้วทุกประเทศ แต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ที่เรื่องอื้อฉาวแม้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นความผิดที่สามารถจะจบสิ้นอนาคตทางการเมืองของนักการเมืองได้
หลายครั้งที่ผู้นำเก่งๆ ของญี่ปุ่นต้องจบสิ้นอนาคตไปอย่างน่าเสียดายด้วยข้อกล่าวหาที่อ่อนแอ ในปี 1980 ข้อกล่าวหาลอยๆ เรื่องสินบนบีบให้นายกรัฐมนตรี Noboru Takeshita ต้องลาออก ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ถูกฟ้องร้องแต่อย่างใด น่าเสียดายวิสัยทัศน์ของ Takeshita ที่ต้องการทำให้ญี่ปุ่นเป็นรัฐสวัสดิการแบบยุโรป ซึ่งหาก นโยบายดังกล่าวกลายเป็นจริง อาจช่วยเตรียมญี่ปุ่นให้พร้อมมาก กว่านี้สำหรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน
ต้นทศวรรษ 1990 หลังจากที่โซเวียตเพิ่งล่มสลาย ตลาดญี่ปุ่นกำลังเกิดฟองสบู่ และสหรัฐอเมริกากำลังหาทางวางระเบียบโลกใหม่หลังสงครามเย็นสิ้นสุด ส่วนญี่ปุ่นกำลังทำอะไรน่ะหรือ ง่วนกับการกล่าวหา Shin Kanemaru นักการเมืองใหญ่ของพรรค LDP พรรคการเมืองที่ครองอำนาจในญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะถูก Hatoyama และพรรค DPJ โค่นลงเมื่อ 8 เดือนก่อน Kanemaru ถูกกล่าวหาว่ารับเงินบริจาคทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย 5 ล้านดอลลาร์ และหลบเลี่ยงภาษี ทำให้นโยบายใหม่ของเขาที่คิดจะนำระบบ 2 พรรคมาใช้กับญี่ปุ่น เป็นอันต้องพับฐานไป
ไม่มีนักการเมืองญี่ปุ่นคนใดที่จะพูดถึงการไม่แพร่กระจาย นิวเคลียร์ หรือการไปเยือนประเทศที่เพิ่งแตกออกมาจากโซเวียต อย่างที่ ส.ส.อเมริกันทำ แต่การสนใจเรื่องอื้อฉาวทางการเมือง ทำให้ญี่ปุ่นเชื่องช้าในการปรับตัวรับระเบียบโลกใหม่ยุคหลังสงครามเย็น และความไร้เสถียรภาพทางการเมืองจากความอ่อนแอของพรรค LDP มีส่วนทำให้เวลาของญี่ปุ่นหายไปถึง 10 ปีเพราะ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องสูญเสียนายกรัฐมนตรีไปแล้ว 4 คนกับการลาออก Shinzo Abe ไม่ได้เจอเรื่องอื้อฉาวด้วยตัวเอง แต่รัฐมนตรีเกษตรในรัฐบาลของเขา เจอเรื่องอื้อฉาวโกงการจ่ายค่าน้ำประปา และยังเจอข้อกล่าวหาอื้อฉาวอื่นๆ จนถึงกับผูกคอตาย
เรื่องนี้ทำให้แผนการใหญ่ของ Abe ต้องหยุดชะงักไปตามๆ กัน เช่น การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งกำลังผงาดเป็นยักษ์เศรษฐกิจตัวใหม่ของโลก จนกระทั่งทุกวันนี้ ญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากการที่มีโอกาสได้เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและร่ำรวยที่สุดของจีน
Abe ต้องลาออกไปเพราะคะแนนนิยมที่ตกต่ำ และทำให้ Yasuo Fukuda นายกรัฐมนตรีคนต่อจากเขา ไม่สามารถเดินหน้า แผนการแก้ไขระบบสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่นได้ Fukuda เป็นผู้นำ ญี่ปุ่นอีกคนที่ต้องลาออกไป หลังจากอยู่ในตำแหน่งเพียงปีเดียว Taro Aso ตกเป็นเป้าของเรื่องอื้อฉาว เกือบจะทันทีที่รับตำแหน่งนายกฯ อันเกิดจากนิสัยส่วนตัวที่ไม่ดีเพียงเล็กน้อยของเขา คือ ชอบไปนั่งดื่มที่บาร์แพงๆ การอ่านตัวหนังสือผิดๆ พลาดๆ และการมีรัฐมนตรีคลังที่ดูเหมือนจะเมาขณะแถลงข่าวการประชุมสุดยอด G7 Aso ถูกสื่อละเลงข่าวจนดูราวกับเป็นคนปัญญาอ่อน
ในขณะนั้นวิกฤติการเงินโลกกำลังระส่ำหนัก แต่ญี่ปุ่นกลับ มัวสนใจแต่เรื่องอื้อฉาวของผู้นำเรื่องแล้วเรื่องเล่า เกินกว่าจะสนับสนุนความพยายามของ Aso ในการฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องบอกว่ามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถกลับมาฟื้นตัวเล็กน้อยได้อีกครั้งอยู่ในขณะนี้ รัฐมนตรีคลังของ Aso ที่ถูกนินทาว่าดื่มเหล้าก่อนการแถลงข่าว G7 คือผู้ที่ประกาศจะให้เงินกู้ 100,000 ล้านดอลลาร์แก่ IMF เพื่อนำไปใช้แก้ไขวิกฤติการเงินโลก จน Dominique Strauss-Kahn กรรมการผู้จัดการใหญ่ IMF ถึงกับออกปากชมญี่ปุ่น ที่ยอมให้เงินกู้ก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่คนญี่ปุ่นกลับไม่เคยเห็นความดีของผู้นำของตัวเอง ทั้ง Aso และพรรค LDP ของเขาพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งกลายเป็นการสิ้นสุดอำนาจที่ครอง มายาวนานของพรรค LDP
แม้แต่ Hatoyama ซึ่งไม่ได้มาจาก LDP ก็ยังคงหนีไม่พ้นชะตากรรมเดียวกัน คะแนนนิยมของเขาเริ่มลดลง เมื่ออัยการ สื่อและฝ่ายค้าน ต่างพากันขุดคุ้ยเรื่องเงินบริจาคทางการเมือง หลังจากพบว่า รายชื่อผู้บริจาคเงินให้พรรคของเขามีชื่อของคนที่ตายไปแล้ว และ Hatoyama ยังเลี่ยงภาษีเงินสด 12 ล้านดอลลาร์ ที่เขาได้รับมาจากมารดาซึ่งเป็นเศรษฐินีทายาทธุรกิจผู้ร่ำรวยมหาศาล การสอบสวนเรื่องเงินเพียงไม่กี่สิบล้านนี้ กลายเป็นสิ่งที่ คนทั่วญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากเสียยิ่งกว่าปัญหาขาดดุลงบประมาณ หลายพันล้านดอลลาร์ของประเทศและยังทำให้ Hatoyama หมดสิ้นอำนาจต่อรองในการเจรจาประเด็นนโยบายต่างประเทศที่ร้อนแรงอย่างการย้ายฐานทัพสหรัฐฯ ออกจากเกาะโอกินาวาและแผนการของเขาที่จะถ่ายโอนอำนาจจากข้าราชการไปยังนักการเมือง
บางทีนี่อาจถึงเวลาแล้วที่ญี่ปุ่นจะต้องคิดว่า การพยายาม จะกวาดล้างการเมืองญี่ปุ่นให้สะอาดปราศจากเรื่องอื้อฉาวโดยสิ้นเชิงนั้น มากเกินไปแล้วหรือเปล่า
การหมกมุ่นกับการทำการเมืองให้สะอาดของญี่ปุ่น มีรากเหง้ามาจากทัศนคติของคนญี่ปุ่น ที่มองว่าเงินบริจาคทางการเมืองมักเป็นเงินสกปรก เพราะเป็นที่มาของการให้อภิสิทธิ์ต่อเจ้าของเงิน ทัศนคตินี้ยิ่งเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น เมื่อความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเริ่มเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 ยิ่งเวลาผ่านไป ชาวญี่ปุ่นก็ยิ่งรู้สึกเบื่อหน่ายกับภาพที่นักการเมืองซื้อเสียง และให้สิทธิพิเศษกับเขตที่เป็นฐานเสียงของตัวเอง
ในทางทฤษฎี การพยายามทำให้รัฐบาลสะอาดและโปร่งใส น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับในญี่ปุ่นแล้ว เรื่องอื้อฉาวทางการเมืองกลายเป็นเรื่องหลักของประเทศ ที่ดูเหมือนจะสำคัญยิ่งกว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ญี่ปุ่น กำลังประสบในปัจจุบัน แม้กระทั่งหลังจากอัยการสั่งไม่ฟ้องและคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงก็ตัดสินว่า Hatoyama ไม่ต้องถูกฟ้องร้อง แต่ฝ่ายค้านก็ยังคงโจมตีเขาว่าโกหกและผิดสัญญาหาเสียงที่บอกว่าจะเปิดเผยรายละเอียดเรื่องเงินสนับสนุนทางการเมือง ส่วนหนังสือพิมพ์ก็ยังคงไม่หยุดพาดหัวข่าวว่า Hatoyama ยังปิดปากเงียบเรื่องเงินที่เขาได้รับจากมารดา แม้แต่ชาวญี่ปุ่นก็สนใจแต่เรื่องอื้อฉาวของนักการเมือง ทั้งๆ ที่ประเทศกำลังมีปัญหาใหญ่ด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ แต่ผลสำรวจล่าสุดในเดือนมีนาคมของหนังสือพิมพ์ Asahi ยังคงพบว่า 74% ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในญี่ปุ่นยืนยันว่า การตัดสินใจจะลงคะแนน เสียงให้นักการเมืองคนใดในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะยังคงดูเรื่องเงินกับการเมืองเป็นหลัก
แม้แต่กฎหมายของญี่ปุ่นก็ยังสะท้อนการไม่ตระหนักว่าเรื่องใดสำคัญต่อบ้านเมืองมากกว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นแก้ไขกฎหมายควบคุมเงินบริจาคทางการเมืองนับครั้งไม่ถ้วน จนกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ยิ่งเข้มงวดและซับซ้อนมากขึ้น อัยการญี่ปุ่นที่เก่งๆ แทบจะสามารถตั้งข้อหานักการเมืองให้มีความผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เสมอ จะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย หากจะพบว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ในสภาญี่ปุ่นจะถูกกล่าวหาเรื่องรับเงินผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายนี้ถูกนำมาตีความตามอำเภอใจ
กระนั้นก็ตาม แม้แต่นักการเมืองญี่ปุ่นก็ยังดูเหมือนจะไม่เข้าใจรากเหง้าที่มาของปัญหานี้ Yoichi Masuzoe อดีตรัฐมนตรี สาธารณสุข ซึ่งออกจากพรรค LDP ไปตั้งพรรคใหม่ ยังคงประกาศ จะกวาดล้างเรื่องการรับเงินออกไปจากการเมืองญี่ปุ่น โดยจะห้าม พรรคการเมืองรับเงินบริจาคจากธุรกิจ
นี่เป็นเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะนักการเมืองต้องใช้เงินจึงจะทำงานได้ในระบอบประชาธิปไตย และผลที่จะเกิดขึ้นจะกลับกลายเป็นว่า นักการเมืองดีๆ ต้องมาเสียอนาคต เพียงเพราะทำความผิดเล็กน้อยอันเกิดจากกฎหมายที่จุกจิกมากเกินไป
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นหมกมุ่นกับความผิดเล็กน้อยของนักการเมือง เป็นเพราะการที่ฝ่ายค้านอ่อนแอมานาน ในช่วง หลายทศวรรษที่พรรค LDP ครองอำนาจติดต่อกันอย่างยาวนานนั้น โอกาสเดียวที่ฝ่ายค้านจะเข้าถึงประชาชนทั่วทั้งประเทศได้ คือเมื่อมีการถ่ายทอดสดการอภิปรายในสภาเท่านั้น ทำให้ฝ่ายค้านซึ่งไม่สามารถจะสั่นคลอนอำนาจของ LDP ได้เลย ต้องฉกฉวยโอกาสนี้ รุมกระหน่ำโจมตีเรื่องอื้อฉาวของพรรค LDP เพื่อดึงความสนใจของประชาชนให้ได้จนติดเป็นนิสัย และกลายเป็นสิ่งที่บิดเบือนการอภิปรายนโยบายสำคัญของชาติ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนถึงทุกวันนี้ เมื่อเกิดเรื่องอื้อฉาวของนักการเมืองขึ้นมาเมื่อใด การถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายสำคัญของชาติเป็นอันต้องชะงักลงทันที เพราะทั้งรัฐสภา สื่อ และประชาชน ต่างเฮโลไปสนใจแต่เรื่องอื้อฉาวล่าสุดของนักการเมืองที่เกิดขึ้น
สื่อญี่ปุ่นเชี่ยวชาญการติดตามข่าวความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่าข่าวนโยบาย ก่อนจะลาออก สื่อถึงกับล้อเลียน Hatoyama ว่าเป็นลูกแหง่ที่ต้องคอยแบมือขอเงินแม่ เขาถูกสื่อรุมกระหน่ำคำถามเรื่องเงินที่ได้รับจากมารดา มากกว่าเรื่องนโยบาย การปฏิรูป การที่สื่อญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการเรียกเรตติ้งจากผู้ชม จากการที่สามารถดับอนาคตของนักการเมือง ทำให้สื่อกระหายที่จะล่าเหยื่อรายใหม่ไปเรื่อยๆ
โรคคลั่งเรื่องอื้อฉาวของนักการเมืองกำลังจะทำให้ญี่ปุ่นหมดสิ้นคนดีที่จะมาเป็นผู้นำประเทศ ในเวลาที่ญี่ปุ่นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีผู้นำเพื่อความอยู่รอด แม้กระทั่ง ส.ส.ดีๆ Muneo Suzuki อดีต ส.ส.พรรค LDP ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการปรับปรุงความสัมพันธ์กับรัสเซีย ซึ่งจะเป็นผลดีกับญี่ปุ่นที่ไม่มีทรัพยากรเป็นของตนเอง และยังสามารถใช้รัสเซียคานอำนาจกับจีนได้ Suzuki ช่วยให้ญี่ปุ่นมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาข้อพิพาทกับรัสเซีย เรื่องการแย่งกันอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะ Kuril ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการปรับปรุงความสัมพันธ์กับรัสเซีย
แต่ Suzuki ถูกขับออกจากรัฐสภาในปี 2003 หลังจากเจอเรื่องอื้อฉาวการรับสินบน และแม้ว่าเขากลับเข้าสู่สภาได้อีกครั้งในฐานะ ส.ส.อิสระ แต่ก็หมดสิ้นซึ่งอำนาจที่เคยมี ชะตากรรมของ Suzuki สะท้อนชะตากรรมของญี่ปุ่นเอง ซึ่งเปรียบเสมือนนักมวยที่ยังไม่แขวนนวม แต่บาดเจ็บสาหัสจากบาดแผลที่เกิดจากการลงโทษตัวเอง จนอำนาจอิทธิพลที่เคยมีในโลกของญี่ปุ่น ลดลงอย่างรวดเร็ว
นี่อาจถึงเวลาที่ญี่ปุ่นควรหันมาพิจารณาอย่างจริงจังว่า การตามล้างตามเช็ดการเมืองญี่ปุ่นให้สะอาดปราศจากเรื่องอื้อฉาว ทางการเงินอย่างหมดจดจนเกินไปนั้น คุ้มค่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่ประเทศต้องสูญเสียไปหรือไม่
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
|
|
 |
|
|