|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แม้ว่าจีนและไต้หวันจะยังคงมีความไม่ลงรอยกันในประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะนโยบายจีนเดียว แต่ในมิติทางเศรษฐกิจ โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจช่องแคบไต้หวัน Economic Cooperation Framework Agreement (ECFA) กำลังมีความคืบหน้าและกำลังท้าทายดุลยภาพทางการค้าการลงทุนของภูมิภาคอย่างกว้างขวาง
โครงการดังกล่าวเป็นความพยายามในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ล่าสุดได้มีการเจรจารอบที่ 3 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ตกลงกันในประเด็นสินค้าที่จะเปิดเสรีระหว่างกันรอบแรก (Early Harvest) โดยได้มีการเจรจาลดภาษีสินค้าในกลุ่มปิโตรเคมี เครื่องจักร และชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวนกว่า 200 รายการสำหรับการส่งออกจากจีนไปยังไต้หวัน ประมาณ 500 รายการสำหรับการส่งออกจากไต้หวันไปยังจีน
ก่อนหน้านี้ ทางการทั้งสองประเทศได้มีการเชื่อมความสัมพันธ์ผ่านการประชุมของ Straits Exchange Foundation (SEF) และ Association for Relations Across the Taiwan Straits (ARATS) เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2551 และมีการประชุมครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 4) เมื่อเดือนธันวาคม 2552 จากการประชุมทั้ง 4 ครั้งเกิดข้อสรุปร่วมกันหลายด้าน เช่น การเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวในอีกประเทศได้ การอนุญาตให้ขนส่งสินค้าโดยตรงทั้งทางน้ำและทางอากาศ และการลดข้อจำกัดการลงทุน ระหว่างกันในธุรกิจธนาคาร หลักทรัพย์ และประกัน
การลงนามข้อตกลง ECFA คาดว่าจะมีการลงนามในการประชุมครั้งที่ 5 ของ Straits Exchange Foundation (SEF) และ Association for Relations Across the Taiwan Straits (ARATS) ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีความแน่นอนเรื่องตัวสินค้าและกำหนดเวลาที่จะเริ่มลดภาษีระหว่างกันภายใต้การเปิดเสรีรอบแรกของความตกลง ECFA แต่ถือได้ว่าความร่วมมือของทั้งสองประเทศมีความคืบหน้าที่สำคัญ และอาจมีผลกระทบต่อการค้าการลงทุนของไทยกับทั้งจีนและไต้หวันในอนาคต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าข้อตกลง ECFA จะส่งผลให้มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างจีน-ไต้หวันมีโอกาสขยายตัวขึ้น โดยการค้าระหว่างจีนและไต้หวันในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 44.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.9 (YoY) โดยการส่งออกจากจีนไปยังไต้หวันมีมูลค่า 8.52 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.8 (YoY) และการส่งออกจากไต้หวันไปยังจีนมีมูลค่า 35.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.9 (YoY)
นอกจากนั้น มูลค่าการค้ารายเดือนระหว่างสองประเทศ ทั้งมูลค่ารวม การส่งออกจากจีนไปไต้หวัน และการส่งออกจากไต้หวันไปจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น (YoY) ทั้ง 4 เดือน ทั้งนี้จีนเป็นตลาด ส่งออกที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน ในปี 2552 มูลค่าการส่งออกไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.3 ของการส่งออกทั้งหมด และถ้ารวมการส่งออกไปฮ่องกงด้วย จะมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมด
ในส่วนการลงทุน 4 เดือนแรกของปีนี้มีการลงทุนของนักลงทุนไต้หวันในจีนมูลค่า 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.7 (YoY) ทั้งนี้จีนเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญที่นักลงทุนไต้หวันเข้าไปลงทุนในจีนมากคือ กลุ่มอุตสาหกรรมไอที ไต้หวันถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก
จากข้อมูลของ Market Intelligence & Consulting Institute of the Institute of Information Technology ระบุว่า ฐานการผลิตสินค้าไอทีของไต้หวันร้อยละ 90 อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากอุตสาหกรรมไอที ไต้หวันยังเป็นประเทศชั้นนำในอุตสาหกรรมการเงินอีกด้วย โดยในการเจรจาความตกลง ECFA ครั้งนี้ จีนยังได้ให้สิทธิพิเศษให้ธนาคารไต้หวันเข้าไปจัดตั้งธุรกิจในจีนได้โดยสามารถให้บริการธุรกรรมด้วยเงินสกุลหยวนได้ทันทีหลังจากการจัดตั้งสาขา
ขณะเดียวกันการลงทุนของจีนในไต้หวัน จากการที่ในปี 2552 ไต้หวันเริ่มเปิดให้นักลงทุนจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปลงทุนในไต้หวันได้ในกิจการที่ไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศได้มากขึ้น เช่น สิ่งทอ รถยนต์ โรงแรม และท่องเที่ยว ทำให้เริ่มมีมูลค่าการลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาในไต้หวันในครึ่งหลังของปี 2552 มากขึ้น โดยใน 4 เดือนแรกของปีนี้มีการลงทุนของนักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ได้รับอนุญาตทั้งสิ้น 34.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2534 มีการลงทุนของนักลงทุนจีนในไต้หวันเป็นมูลค่าราว 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลการค้าและการลงทุนระหว่างจีนและไต้หวันแสดงให้เห็นว่าการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศมีแนวโน้มทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผลจากข้อตกลง ECFA ซึ่งจากการเจรจาในรอบที่ 3 ได้ข้อสรุปเรื่องการลดภาษีสินค้ากลุ่มปิโตรเคมี เครื่องจักร และชิ้นส่วนยานยนต์ และยังอาจจะมีข้อตกลงลดภาษีสินค้ากลุ่มอื่นๆ รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตตามการเจรจาเปิดเสรีในรอบต่อๆ ไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนของไทยกับจีนและไต้หวันได้ ในฐานะที่จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ส่วน ไต้หวันแม้การส่งออกของไทยไปไต้หวันมีมูลค่าไม่สูงนัก แต่ไต้หวันก็มีความสำคัญในด้านการเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนรายหลักๆ ในประเทศแถบเอเชีย
การเปิดเสรีการค้าระหว่างจีนและไต้หวันในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยบางชนิดไปยังประเทศทั้งสอง เนื่องจากจะต้องแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกันที่ทั้งสองประเทศค้าขายกันข้ามพรมแดนมากขึ้นจากการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้นหากอัตราภาษีที่ทั้งสองประเทศจะบังคับใช้ระหว่างกันเป็นอัตราต่ำลง โดยสินค้าของไทยที่ได้รับผลกระทบมากคือสินค้าที่เป็นสินค้าส่งออกหลักระหว่างกันของไต้หวันและจีนอยู่แล้วและไทยยังถูกเก็บภาษีนำเข้าจีนและไต้หวัน ซึ่งหากข้อตกลง ECFA ทำให้การนำเข้าสินค้าชนิดนั้นข้ามพรมแดน จีน-ไต้หวันถูกเรียกเก็บภาษีน้อยกว่าสินค้าจากไทย ก็จะทำให้สินค้าชนิดเดียวกันนั้นได้เปรียบสินค้าส่งออกจากไทย
สินค้าออกหลักของไทยไปยังจีนบางชนิดที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงหากข้อตกลง ECFA เก็บภาษีจากไต้หวันในอัตราต่ำกว่า ได้แก่ สินค้ากลุ่มส่วนประกอบเครื่องจักร (HS 8473) และสารเคมีประเภทโพลีอะซีทัล โพลีเอทิลีนอื่นๆ (HS 3907) ซึ่งในปัจจุบันสินค้าเหล่านี้ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าไปจีนในอัตราร้อยละ 0-10.5 และร้อยละ 6.5-10 ตามลำดับ (ขึ้นอยู่กับประเภทย่อยของสินค้า)
โดยใน 4 เดือนแรกของปี 2553 จีนเป็นตลาดส่งออก อันดับ 1 ของไทยสำหรับสินค้าทั้งสองชนิด ด้วยมูลค่าการส่งออก 300.2 และ 110.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 27.45 และ 18.29 ของการส่งออกสินค้าแต่ละชนิดตามลำดับ
ผลกระทบโดยตรงของข้อตกลงดังกล่าวต่อสินค้าออกของไทยไปยังไต้หวันน่าจะยังจำกัดอยู่เพียงสินค้าบางชนิดที่มีมูลค่าการส่งออกไปไต้หวันไม่มากนัก เนื่องจากสินค้าออกหลักของไทย ไปยังไต้หวันส่วนใหญ่ในกลุ่มวงจรรวม เครื่องจักร และชิ้นส่วนเครื่องจักร ได้รับอัตราภาษีเท่ากับศูนย์จากการเป็นประเทศ Most Favored Nation ของไต้หวันจากการเป็นสมาชิก WTO อยู่แล้ว
สินค้ากลุ่มดังกล่าวบางชนิดที่ยังถูกเก็บภาษีมากกว่าศูนย์มีมูลค่าการส่งออกไปยังไต้หวันไม่มากนัก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ (HS 8415) และส่วนประกอบยานยนต์ (HS 8708) ในปัจจุบันถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าไต้หวันร้อยละ 1.5-10 และร้อยละ 0-30 ตามลำดับ (ขึ้นกับชนิดย่อยของสินค้า)
ทั้งนี้ใน 4 เดือนแรกของปี 2553 การส่งออกเครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบยานยนต์จากไทยไปยังไต้หวันมีมูลค่า 29.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 17.8 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.58 และ 1.45 ของการส่งออกของไทยในสินค้าแต่ละชนิดตามลำดับ
ขณะที่สินค้าออกหลักของไทยไปยังไต้หวันที่เป็นสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ซึ่งถูกไต้หวันเก็บภาษีนำเข้ามากกว่าศูนย์ น่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนักจากข้อตกลง ECFA เนื่องจากไม่ใช่สินค้าออกหลักของจีนไปยังไต้หวันในขณะนี้ ทำให้การแข่งขันจากจีนในสินค้าดังกล่าวยังมีน้อย
อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศจีนมีกำลังการผลิตสูงและมีต้นทุนต่ำ หากสินค้าดังกล่าว เป็นที่น่าสนใจในตลาดไต้หวันอาจทำให้จีนพัฒนาการผลิตและส่งออกไปยังไต้หวันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากจีนมากขึ้นในอนาคต
ถึงที่สุดไม่ว่าจะเป็นจีนเดียวหรือสองจีน การแข่งขันในระดับสากลของผู้ประกอบการไทยก็เผชิญกับสถานการณ์ที่หนักหน่วงอย่างยิ่ง
|
|
|
|
|