Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กรกฎาคม 2553
INDIA: ความหวังใหม่ส่งออกไทย             
 


   
search resources

Import-Export




ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวในครึ่งปีหลัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจส่งออก อินเดียอาจถือเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่น่าสนใจและเป็นคำตอบสำหรับผู้ส่งออกไทยในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจอินเดียได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2552 น้อยกว่าประเทศอื่นในเอเชีย จึงสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มจะขยายตัวสูงเช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีน ด้วยเหตุนี้ การส่งออกสินค้าของไทยไปอินเดียจึงน่าจะสามารถฟื้นกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้ง หลังจากหดตัวร้อยละ 3.6 (YoY) ในปี 2552

นอกจากนี้การลดภาษีสินค้าของอินเดียภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับอินเดีย 2 ฉบับ คือ FTA ไทย-อินเดีย และ FTA อาเซียน-อินเดีย ทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนต่ำลง ขณะที่ประเทศคู่แข่งซึ่งไม่มี FTA กับอินเดียมีต้นทุนทางภาษีเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลอินเดียประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันทุกชนิดจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2553

ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งเจาะตลาดสินค้าในอินเดียเพื่อชดเชยผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกในปีก่อนที่ทำให้การส่งออกของไทยต้องประสบภาวะหดตัว และช่วยรักษาส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยจากประเทศคู่แข่งที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ตลาดอินเดียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากสมาชิกอาเซียนที่ได้ประโยชน์ จาก AIFTA เช่นเดียวกับสินค้าไทย

ผู้ส่งออกไทยสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่บังคับใช้แล้วคือ FTA ไทย-อินเดีย (TIFTA) เริ่มลดภาษีตั้งแต่ 1 กันยายน 2547 จนสินค้านำร่องจำนวน 82 รายการ มีอัตราภาษีเท่ากับร้อยละ 0 ในเดือนกันยายน 2549 โดยสินค้าไทยที่มีภาษีร้อยละ 0 แล้วภายใต้ TIFTA ประกอบด้วยสินค้าเกษตร 7 รายการ อาหารทะเลกระป๋อง 4 รายการและสินค้าอุตสาหกรรม 71 รายการ เช่น องุ่น แอปเปิล ลำไย มังคุด และข้าวสาลี ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาแมกเคอเรล เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ สินแร่ เครื่องรับโทรทัศน์ หลอดภาพ เครื่องปรับอากาศ อัญมณีและเฟอร์นิเจอร์ อีกฉบับหนึ่งคือ FTA อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2553 ส่งผลให้สินค้าไทยราว 4,000 รายการหรือร้อยละ 80 ของสินค้าทั้งหมด ทยอยลดภาษีจนเหลือ 0 ภายในปี 2556-2559 กล่าวใน ส่วนของ FTA ไทย-อินเดีย ถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้การค้าระหว่างไทยกับอินเดียขยายตัว และไทยเปลี่ยนเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับอินเดียตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับอินเดียมาโดยตลอด ทั้งนี้ เพราะอินเดียมีระดับอัตราภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันทางการค้าค่อนข้างสูง ระบบภาษีที่ซ้ำซ้อนและแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ทำให้สินค้าไทยและสินค้าอาเซียนที่เข้าสู่ตลาดอินเดียมีต้นทุนทางภาษีสูงขึ้น

การยกเลิกภาษีสินค้าในกรอบ TIFTA ในปี 2549 จึงทำให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ มูลค่าการส่งออกจากไทยไปอินเดียที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47.1 (YoY) ในปี 2550 เทียบกับปีก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 (YoY) และเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการนำเข้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 27.7 (YoY) ในปี 2550 การลดภาษีสินค้าภายใต้กรอบ AIFTA ที่ครอบคลุมจำนวนสินค้ามากกว่า TIFTA รวมถึงความยืดหยุ่นของแหล่งกำเนิดสินค้าสะสมของ AIFTA ที่อนุญาตให้สินค้าไทยหลายรายการที่มีสัดส่วนวัตถุดิบในอาเซียนสูงกว่าร้อยละ 40 (แต่สัดส่วนวัตถุดิบใน ประเทศไทยต่ำกว่าร้อยละ 40) สามารถขอรับสิทธิฯ การลดภาษี จาก AIFTA ได้ จึงน่าจะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิ FTA ได้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ เห็นได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้า จากไทยไปอินเดียในกรอบ FTA ทั้ง 2 ฉบับในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 20.8 ของมูลค่าการส่งออกรวมจากไทยไปอินเดีย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกภายใต้ TIFTA ฉบับเดียวเพียงร้อยละ 8.6

สินค้าไทยที่ FTA อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) เปิดตลาดให้กับ ไทยเพิ่มขึ้นจาก FTA ไทย-อินเดีย ได้แก่ สินค้าเกษตรแปรรูปคือ น้ำผลไม้และผลไม้แปรรูป ผักและพืชประเภทถั่ว ปลากระป๋อง เครื่องปรุงรส ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องสำอาง อัญมณีและเครื่องประดับ ด้ายและเส้นใยสังเคราะห์ เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่อินเดียยังไม่เคยเปิด ตลาดให้กับไทยในกรอบ TIFTA มาก่อน

ยกเว้นสินค้าบางกลุ่มเช่น เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ ที่อินเดียได้ยกเลิกภาษีให้กับไทยเพียงรายการเดียวในกรอบทวิภาคี คือ ส่วนประกอบที่นั่ง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงน่าจะมีโอกาสส่งออกสินค้าไทยในกรอบ AIFTA มากกว่า TIFTA ส่วนสินค้าที่น่าจะได้รับผลกระทบจาก AIFTA คือ รถจักรยานยนต์ เครื่องนุ่งห่ม กระจกและยารักษาโรค

ส่วนสินค้าที่อินเดียนำไปไว้ในรายการสินค้าอ่อนไหวสูงซึ่งจะไม่นำมาลดภาษีระหว่างกัน อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสินค้าไทยไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่ไทยให้การคุ้มครองเกษตรกรในประเทศเช่นเดียวกัน หรือเป็นสินค้า ที่ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันต่ำกว่าอินเดียหรืออาเซียนอื่น เช่น ไหม น้ำมันปาล์ม ชา กาแฟ พริกไทย ปลา กุ้ง ไก่ นม ข้าวหัวหอม น้ำตาล มันสำปะหลัง ยกเว้นสินค้าบางรายการที่ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันสูง แต่อินเดียต้องการปกป้อง อาทิ น้ำยางพารา ยางแผ่นรมควัน ยางรถยนต์บางชนิด มอเตอร์ไฟฟ้า ผักและผลไม้

ทั้งนี้อินเดียชดเชยการสูญเสียผลประโยชน์ให้กับไทยมากขึ้นจากการปกป้องตลาดของอินเดีย โดยเพิ่มจำนวนสินค้าอ่อนไหวของไทยที่จะคงอัตราภาษีร้อยละ 5 เป็น 91 รายการ มากกว่าข้อตกลงของอาเซียน-อินเดียที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกมีไม่เกิน 50 รายการ สินค้ากลุ่มนี้ได้แก่ กุ้ง แป้งข้าวสาลี หนังฟอก แผ่นเหล็กรีดร้อน แผ่นเหล็กรีดเย็น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องเขียน

อย่างไรก็ตาม สินค้าไทยอาจจะเผชิญกับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นในปีนี้ เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกต่างแสวงหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงเพื่อรองรับสินค้า แม้ว่าสินค้าไทยจะได้แต้มต่อจากการลดภาษีของอินเดียภายใต้ความตกลงฯ FTA ถึง 2 ฉบับ แต่การลดภาษีสินค้าภายใต้กรอบ AIFTA เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้สินค้าไทยหลายรายการอาจจะต้องแข่งขันกับสินค้าจาก ประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันมากขึ้น

สิงคโปร์ถือเป็นประเทศอาเซียนที่อาจเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดอินเดีย เพราะสิงคโปร์เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนของอินเดีย โดยในปี 2551-2552 อินเดียมีสัดส่วน นำเข้าสินค้าจากสิงคโปร์เฉลี่ยร้อยละ 28.1 ของมูลค่าการนำเข้า ทั้งหมดจากอาเซียน ขณะที่อินเดียนำเข้าจากไทยเพียงร้อยละ 10.8 เท่านั้น นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็น 1 ใน 2 ชาติอาเซียนนอกจากไทยที่มี FTA ทวิภาคีกับอินเดียและมีผลบังคับใช้แล้ว ส่งผลให้สินค้าสิงคโปร์ได้รับสิทธิฯ จาก FTA เช่นเดียวกับสินค้าไทย

อินโดนีเซียซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 (สัดส่วนร้อยละ 28.0) และมาเลเซียซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 (ร้อยละ 24.4) อาจจะยังเป็นคู่แข่งที่ไม่น่ากลัวนักสำหรับสินค้าไทย เพราะสินค้า ส่งออกของประเทศทั้งสองส่วนใหญ่เป็นน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มสกัด ที่ไทยมีความสามารถการแข่งขันไม่สูงนักและสินค้าทั้งสองไม่ได้รับการลดภาษีจากอินเดีย เพราะอยู่ในรายการสินค้าอ่อนไหวสูง

ขณะนี้มาเลเซียและอินโดนีเซียกำลังเจรจา FTA ทวิภาคีกับอินเดียคือ FTA มาเลเซีย-อินเดีย และ FTA อินโดนีเซีย-อินเดีย สินค้าของอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี จาก FTA ทวิภาคี อาจเป็นคู่แข่งของสินค้าส่งออกไทยในระยะต่อไป

กัมพูชา ลาวและเวียดนาม ถือเป็นกลุ่มอาเซียนใหม่ที่มีมูลค่าการค้ากับอินเดียไม่มากนัก แต่มูลค่าการส่งออกกลับเพิ่มขึ้น ในอัตราที่สูงมาก ในปี 2552 การค้าระหว่างอินเดียและกัมพูชามีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 263.15 (YoY) รองลงมาคือ ลาว (ร้อยละ 587.5) และเวียดนาม (ร้อยละ 132.5) ขณะที่การค้าไทยกับอินเดีย เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 21.4 (YoY) หากประเทศเหล่านี้ได้รับการลดภาษีจากอินเดียในอัตราที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้สินค้าไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

แม้อินเดียจะเป็นตลาดใหญ่ที่มีความน่าสนใจ แต่หากผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ดีพอ บางทีตลาดใหญ่ที่น่าจะเป็นความหวังและคำตอบให้กับภาคการส่งออกของไทยแห่งนี้ อาจเป็นเพียงโอกาสที่หลุดลอยซึ่งผู้ส่งออกไทยได้แต่นั่งมองด้วยความเสียดายเท่านั้น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us