แม้จะต้องเผชิญกับวิกฤติความรุนแรงทางการเมืองภายในประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจในต่างประเทศจากวิกฤติหนี้ในกลุ่มยูโรโซนและมาตรการชะลอความร้อนแรงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน แต่ยอดการจำหน่ายรถยนต์ทั้งภายในประเทศและส่งออกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สามารถขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินระดับที่ผู้ประกอบการเคยคาดการณ์ไว้
ยอดขายรถยนต์ในประเทศขยายตัวสูงถึงร้อยละ 53.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน ขณะที่ยอดการส่งออกรถยนต์ของไทยในเดือนเดียวกันก็ขยายตัวสูงมากเช่นเดียวกันที่ระดับร้อยละ 135.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว โดยการขยายตัวของทั้ง 2 ตลาดในเดือนพฤษภาคมนี้ เป็นการขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องมาจากต้นปี ซึ่งจะเป็นผลทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2553 ขยายตัวสูงขึ้นอย่างมากเกินระดับที่ผู้ประกอบการเคยมีการคาดการณ์ไว้ที่ 1.4 ล้านคัน และมีโอกาสสูงที่จะขึ้นไปทำสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
จากการรายงานของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ล่าสุดถึงตัวเลขยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมาของปี 2553 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศของไทยสามารถบันทึกยอดขายได้สูงถึง 286,135 คัน ด้วยอัตราการขยายตัวที่สูงถึงร้อยละ 52.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในจำนวนนี้แบ่งออกเป็นรถยนต์นั่ง 124,196 คัน ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 56.4 ขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์มีจำนวนทั้งสิ้น 161,939 คัน และขยายตัวสูงถึงร้อยละ 49.1
ทิศทางการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2553 ของไทยมีโอกาสขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 28 ถึง 33 คิดเป็นจำนวน 700,000 ถึง 730,000 คัน เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 16-25 หรือคิดเป็นจำนวน 635,000-685,000 คัน และจำนวนยอดขายรถยนต์ในประเทศดังกล่าวอาจเป็นสถิติที่สูงที่สุดของไทย โดยสูงกว่าที่เคยทำได้ในปี 2548 ที่จำนวน 703,261 คัน
ขณะเดียวกันรายงานตัวเลขการส่งออกรถยนต์ของไทยโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยล่าสุด พบว่าการส่งออกรถยนต์ของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 ที่ผ่านมามีการขยายตัวดีขึ้นมากถึงร้อยละ 75.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ส่งออก 348,899 คัน โดยในส่วนของมูลค่าการส่งออกที่รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ในช่วงเวลาเดียวกันก็พบว่าขยายตัวสูงเช่นกันที่ร้อยละ 90.1 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 5,013.2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดส่งออกสำคัญที่มีการขยายตัวสูงคือ ออสเตรเลีย และอาเซียน ซึ่งมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 159.2 และ 115.5 ตามลำดับ
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกรถยนต์รายหลักๆ ของไทย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าคงทนอย่างเช่นรถยนต์มีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลทำให้โอกาสในการนำเข้ารถยนต์จากไทยมีเพิ่มสูงขึ้นตาม นอกจากนี้การเปิดเสรีทางการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เจรจา โดยเฉพาะการเปิดเสรีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2553 ภาษีรถยนต์ส่งออกจากไทยไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และไทย ได้ลดเหลือร้อยละ 0 ทั้งหมด ทำให้การส่งออกรถยนต์จากไทยมีโอกาสขยายตลาดเพิ่มขึ้น
การเปิดเสรีทางการค้ายังส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตรถยนต์บางรุ่นเข้ามายังไทย หลังต้นทุนวัตถุดิบและราคาส่งออกลดลงเพื่อขยายฐานการส่งออก ประกอบกับในปีนี้ไทยมีการเปิดตัวรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงานรุ่นใหม่ หรือรถอีโคคาร์ออกสู่ตลาดสอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันของตลาดโลก ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยในปีนี้ได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในระยะต่อจากนี้ไปสำหรับการส่งออกรถยนต์ของไทยที่ยังต้องคำนึงถึง คือ ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะความวิตกกังวลต่อวิกฤติหนี้ในยุโรป รวมถึงการใช้มาตรการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางจากหลายประเทศลดลง ซึ่งมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้การส่งออกของตลาดส่งออกรถยนต์หลักของไทย เช่น อาเซียนและออสเตรเลีย เป็นต้น ทำให้การนำเข้ารถยนต์จากไทยของประเทศเหล่านี้อาจชะลอลงได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยและทิศทางการส่งออกที่ขยายตัว โดยคาดว่าการส่งออกรถยนต์ของไทยมีแนวโน้มขยาย ตัวสูงถึงร้อยละ 55-64 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ส่งออก 830,000-880,000 คัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 47-57 หรือคิดเป็นจำนวน 790,000-840,000 คัน และจะเป็นปริมาณการส่งออกรถยนต์ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน หลังจากที่ไทยเคยส่งออกได้สูงที่สุดในปี 2551 ที่ 775,652 คัน
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์การขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้นมากของยอดขายรถยนต์ในประเทศ และการส่งออกรถยนต์ดังที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้น ย่อมส่งผลทำให้ยอดการผลิตรถยนต์ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการผลิตรถยนต์ในประเทศปี 2553 ของไทยมีโอกาสขยับขึ้นไปแตะระดับ 1,500,000-1,600,000 คัน หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 50-60 เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนที่มีจำนวนยอดการผลิต 999,378 คัน หรือหดตัวร้อยละ 28.2 ซึ่งตัวเลขยอดการผลิตรถยนต์ในปีนี้จะเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่ไทยเคยผลิตได้สูงที่สุดก่อนหน้านี้ในปี 2551 ที่ 1,391,728 คัน โดยการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกจะเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญในปีนี้ และมีสัดส่วนสูงกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด
กระนั้นก็ดี รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุด พบว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนั้น ได้ใช้กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม จากการตอบรับที่ดีของตลาด ซึ่งทำให้รถยนต์หลายรุ่นผลิตไม่ทันและค้างส่งมอบเป็นระยะเวลาหลายเดือน
ประกอบกับตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ รถยนต์อีโคคาร์จากไทยจะเริ่มมีการส่งออกไปต่างประเทศ รวมถึงมีการย้ายฐานการผลิตรถยนต์บางรุ่นจากต่างประเทศมายังไทย โดยเน้นตลาดส่งออก ทำให้ในช่วงที่เหลือของปีอัตราการใช้กำลังการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยทำไว้ที่ร้อยละ 70 ขึ้นมาเป็นมากกว่าร้อยละ 75 ของกำลังการผลิตรถยนต์ ปัจจุบันที่สามารถทำได้ที่ 2 ล้านคันต่อปี
ปริมาณการผลิตรถยนต์ที่สูงขึ้นมากนี้ได้สร้างความท้าทาย ในลำดับต่อไปให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในการจะผลิตรถยนต์ให้ได้ตามเป้าหมายแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ฉบับที่ 2 ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตรถยนต์ให้ได้ 2 ล้านคัน ในปี 2554 ซึ่งภาครัฐมีส่วนสำคัญในเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุน เพิ่มขึ้นในไทย ทั้งในแง่ของการขยายกำลังการผลิตที่มีอยู่เดิม รวมถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามายังไทยมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะหลังจากจีนซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานและค่าจ้าง แรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเป็นฐานการส่งออกรถยนต์ไปยังหลายภูมิภาค เช่น โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา มีโอกาสเพิ่มขึ้นในการถูกมองเป็นฐานการลงทุนสำหรับผลิตรถยนต์ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง
นี่อาจเป็นจังหวะโอกาสและสัญญาณการฟื้นตัวที่เอื้อต่อทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและการวางรากฐานทางยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่น่าติดตามอย่างยิ่งว่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างไร
|