ก่อนที่บทความนี้จะเขียนขึ้น บังเอิญปรากฏข่าวเรื่องของสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งตกเป็นผู้ต้องหา
ในคดีซื้อบริการทางเพศจากเด็กนักเรียนอายุ 14-15 ปี อย่างไรก็ตาม จนถึงช่วงที่
เขียนบทความนี้ ส.ว.ท่านนั้นยังไม่ได้มอบตัว และยังไม่มีการลาออกจากสถานภาพการเป็นสมาชิกสภา
(ที่เชื่อกันว่า) ทรงเกียรติ กว่าที่หนังสือผู้จัดการรายเดือนนี้จะวางแผง
ผมคิดว่าคงจะมีความคืบหน้าของคดี และความชัดเจนของเรื่องราวมากกว่าที่เป็นอยู่
แต่นั่นคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับผู้เขียน ประเด็นที่ผมรู้สึกไม่สบายใจ
ก็คือ การลงรายละเอียดของสื่อมวลชนเกี่ยวกับคดีนี้ในเชิงของพฤติกรรมทางเพศของผู้ถูกกล่าวหา
รวมไปถึงความสามารถในการประกอบกิจกรรมทางเพศ ถึงกับเรียกว่า "ป๋าสามนาที"
หากไม่คิดอะไรก็คงจะมองได้ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนอยากรู้ว่า คนสูงอายุขนาดนั้น
ที่ว่ากันว่า ธรรมะ ธัมโม จะมีพฤติ กรรมที่วิปริตพิสดารเพียงใด
แต่เรื่องคงไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น สิ่งที่คนไม่ได้คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
สื่อมวลชนประเภทที่ชอบขุดข่าวรายละเอียด สนองความอยากรู้อยาก เห็น (จนเกินพอดี)
ของผู้เสพนั้น คือ เด็กนักเรียน อีก 5 คนนั้นจะอยู่อย่างไรในสังคมเล็กๆ ของเขา
ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน เรื่อยไปจนถึงละแวกบ้านใกล้เรือนเคียง แล้วพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นจะมองหน้าคนแถวบ้านตัวเองได้อย่างไร
นี่ยังไม่นับภรรยา หรือญาติพี่น้องของผู้ถูกกล่าวหา หาก บรรดา ส.ว.ด้วยกันรู้จักอาย
แล้วอยากจะให้ท่าน ผู้นี้ลาออก แล้วผู้มีส่วนใกล้ชิดกับคดีนี้จะไม่รู้สึกอับอายหรือ?
อาจจะมีคนกล่าวว่า คนทำผิดก็ควรจะต้องรับโทษ แต่การรับโทษนั้นไม่ได้มีการระบุว่าจะต้องประจาน
หรือเปิดเผยอะไรที่ไม่เหมาะสม ขนาดนี้
เรื่องสุดท้ายที่ผมคิดว่าผู้เสนอข่าวและผู้เสพไม่ค่อยคำนึงถึงกัน สนใจแต่ความสนุกในอารมณ์ของตน
คือ การไม่คำนึงถึงรายละเอียดที่เสนอนั้น เยาวชนหรือเด็กที่อ่านหนังสือพิมพ์จะเป็นอย่างไร
คนที่ไม่มีเด็กเล็กอยู่กับตนคงไม่รู้ ว่า การตอบคำถามเด็กเกี่ยวกับศัพท์แต่ละคำที่สื่อมวลชนใช้นั้นยากเข็ญเพียงใด
หากกลับมาพิจารณาเรื่องราวที่เป็นคดีนั้น เราจะพบว่า คนที่ไม่เชื่อว่าเหตุการณ์นั้นเป็นเรื่อง
จริงก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ใกล้ชิด หรือคุ้นเคยกับผู้ถูกกล่าวหา
และรู้จักอุปนิสัย (ภายนอกที่เห็น) เป็นอย่างดี แต่คนที่เชื่อว่าเป็นจริงมากกว่า
และเป็นคนที่ไม่รู้จักผู้ถูกกล่าวหา เป็นคนที่รับรู้เรื่องราวจากการเสนอข่าวของสื่อ
มวลชน
หากเราตัดสิ่งที่เราเรียกกันว่า อคติ ไม่ว่าจะเป็นความชอบหรือไม่ชอบท่านผู้นั้นออกไปก่อน
แล้วมาพิจารณาเฉพาะเหตุการณ์ เราจะพบว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการจะกล่าวว่าคนสูงอายุไม่น่าจะกระทำพฤติกรรม
ดังกล่าวได้ ดูจะเป็นการกล่าวที่หลงลืมไปว่าเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่เราไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้
ก็เคยเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรามาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่ดูจะน่านับถือ
เช่น แพทย์ หรือครู หรือกระทั่งสมณเพศ ดังนั้น การปกป้องดังกล่าว จึงเป็นเรื่องของอคติส่วนตน
คนผู้นั้นจะกระทำหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องที่ตำรวจและอัยการจะต้องแสดงหลักฐานออกมา
แล้วทำไมคนส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าเรื่องนี้มีความเป็นไปได้ที่ ส.ว.ท่านนั้นจะทำผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา
การจะกล่าวว่า ความไม่ดีหรือพูดกันง่ายๆ การกระทำความชั่วนั้นในแง่ของศาสนาเองก็กล่าวได้แล้วว่า
การทำชั่วง่ายกว่าการทำความดี แต่อาจจะมีคนตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วทำไมทำชั่ว
จึงง่ายกว่าการทำความดี ทำไมความดีจึงกระทำยากหนักหนา ปัญหานี้อาจจะตอบง่ายขึ้น
หากเราสรุปแบบกำปั้นทุบดินว่า ธรรมชาติของมนุษย์ มีแนวโน้มที่จะลงสู่ที่ต่ำ
เหมือนน้ำ
มีจิตแพทย์ชาวอเมริกันท่านหนึ่งเขียนหนังสือน่าอ่านออกมาเล่มหนึ่ง โดยตั้งชื่อหนังสือ
ว่า "Bad Men Do What Good Men Dream" ถ้าจะแปลเป็นไทยก็อาจจะแปลได้ว่า คนเลวทำสิ่งที่คนดีฝัน
(อยากจะทำ-แต่ไม่ได้ทำ) นั่นคือแพทย์ท่านนี้เสนอความเห็นว่า เหตุที่เราทุกคนยังเป็นคนดียังไม่กระทำผิดจนติดคุกติดตะราง
ก็เพราะเรามีแต่ความอยาก หรือความฝันที่จะทำ ในสิ่งที่คนเลวทำ พูดอีกคือแพทย์ท่านนี้เชื่อว่า
มนุษย์ทุกคนมีแรงขับดันด้านลบ หรือด้านมืดอยู่ในตัว เขาอ้างความเห็นของฟรอยด์ในหนังสือ
"Civilization and Its Discontents" ว่า มนุษย์ก็คือ สัตว์โลกที่สถาบันทางสังคม
และความรู้สึกผิด ไม่สามารถกล่อมเกลาสัญชาตญาณ ของความก้าวร้าว ตัณหา ที่นำไปสู่การข่มขืน
การสมสู่ในครอบครัว และฆาตกรรม ได้อย่างสมบูรณ์
มนุษย์ทุกคนมีด้านมืดอยู่ในตัว เหมือนความเชื่อทางศาสนาคริสต์ที่ว่ามนุษย์มีบาปมาแต่กำเนิด
(original sin) เหตุที่เราควบคุมด้านมืดอยู่ได้ เพราะเราต้องการการยอมรับของสังคม
สังคมตราจารีต และประเพณีขึ้น เพื่อสร้างความ สงบเรียบร้อยในกลุ่มชน เพื่อช่วยให้สมาชิกในชุมชนนั้นควบคุมด้านมืดในตัวให้ดียิ่งขึ้น
จารีตประเพณีถูกพัฒนาเป็นกฎระเบียบและกลายเป็นกฎหมายในที่สุด
หากสังคมมีส่วนในการช่วยมนุษย์ให้ควบคุมด้านมืดของตน แล้วอะไรที่ทำให้คนบางคนควบคุมด้านมืดของตนไม่ได้
ในขณะที่คนส่วนใหญ่ทำได้
ในประเด็นนี้ความเห็นของจิตแพทย์ท่านนี้เหมือนกับความเห็นทั่วไปที่คุณผู้อ่านคงจะเคยได้ยินได้ฟังกันมา
นั่นคือ การอบรมและการกล่อมเกลาของสถาบันที่เล็กที่สุดในสังคม คือ ครอบครัว
จากตัวอย่างคดีต่างๆ ที่แพทย์ท่านนี้ยกให้ เห็นในหนังสือดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้ร้ายที่มีบุคลิก
ต่อต้านสังคม (psycopath) ฆาตกรที่กระทำฆาตกรรมต่อเนื่อง (serial killers)
นักข่มขืน (rapists) บุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีวัยเด็กเต็ม ไปด้วยความทุกข์
ไม่ว่าจะเป็นการถูกทารุณกรรม การล่วงละเมิดทางเพศ ในบุคคลที่ประกอบอาชญากรรมรุนแรงนั้น
ในวัยเด็กมักจะมีประวัติ การชอบเล่นไฟ รังแกสัตว์ และปัสสาวะรดที่นอน
บุคคลเหล่านี้เมื่อเข้าโรงเรียนมักจะกลายเป็นตัวตลกที่ถูกเพื่อนๆ ล้อเลียน
หรือกลั่นแกล้ง นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้ไม่ประพฤติตนตามกรอบของสังคมเมื่อโตขึ้น
เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีประโยชน์ หรือช่วยเหลือ เขาในวัยเด็ก
นั่นคือ คนเหล่านี้ไม่มีตัวแบบที่ดีในการเรียนรู้ที่จะควบคุมด้านมืดที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่
คนเหล่านี้จึงกระทำในสิ่งที่คนดีๆ เคยฝันถึงในภาวะที่ความสามารถในการควบคุมตนเองของเรา
ลดลง เช่น บางครั้งเราอาจจะโกรธจนอยากจะทำร้ายใครบางคน (แต่ก็ไม่เคยทำ) อาจจะอยากได้ของบางสิ่งที่