ความสัมพันธ์ระหว่างพร สิทธิอำนวย สุธี นพคุณ กับบุญชูนั้น แท้ที่จริงแล้วเริ่มมาจากพร
สิทธิอำนวย แต่ผู้เดียว
“พรเป็นคนแนะนำสุธีให้คุณบุญชู ในตอนแรกคุณบุญชูยังไม่ไว้ใจสุธีเท่าไรนัก
เป็นเพราะพรให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่สุธีถึงได้ถูกใช้งานอย่างไว้วางใจที่สุด”
แหล่งข่าวบุญชูเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
พรเป็นคนที่บุญชูไว้ใจมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความคิดความอ่านเพราะ
“พรคุมฝ่ายวิชาการและวางแผนของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งคุณบุญชูพึ่งพาอาศัยมาก
อีกประการหนึ่งพรเป็นคนมีความคิดสมัยใหม่โดยเฉพาะในหลักการบริหารซึ่งบุญชูก็เห็นด้วย
พรก็เลยกลายเป็นมันสมองของบุญชูไปโดยปริยาย พรเป็นคนทำงานเร็วซึ่งก็เข้าล็อกคุณบุญชูที่เวลาสั่งงานแล้วจะต้องเอาทันทีทันใด”
แหล่งข่าวคนเดิมพูด
พรยังเป็นคนที่เขียนสุนทรพจน์ส่วนใหญ่ของบุญชูซึ่งบางครั้งก็ถูกแปลมาเป็นภาษาไทยสำหรับผู้ฟังคนไทย
“แต่สำหรับสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษแล้วเกือบทั้งหมดจะเป็นความคิดและการเขียนของพรทั้งสิ้น”
พรให้ความเคารพบุญชูอย่างสูง
ตอนที่สุธีแยกกับพร สุธีจะอ้างเหตุผลของการแยกว่าทนเอด้าหรือวนิดาซึ่งเป็นภรรยาพรไม่ได้
“คุณบุญชูเองก็โอนเอียงไปทางสุธีเหมือนกัน บางครั้งท่านถึงกับพูดกับคนใกล้ชิดว่าพรเสียเพราะเมีย”
แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว
พอจะเรียกได้ว่าในช่วงที่บุญชูเป็นรองนายกฯ ได้ห่างเหินกับพรมากพอสมควร
อาจเป็นเพราะบุญชูเองมัวยุ่งทางการเมืองและสุธีเองเป็นเสมือนมือเท้าที่บุญชูใช้
“แม้แต่สุนทรพจน์ภาษาอังกฤษสุธียังจ้างฝรั่งชื่อจูเลียน สปินดเลอร์ เข้ามาทำงานด้านนี้เเพื่อป็นการลดบทบาทของพรให้ยิ่งห่างเหินมากขึ้น”
แหล่งข่าวคนเดิมพูดต่อ
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพรกับบุญชูลึกซึ้งมากกว่าที่สุธีคิดเพราะเป็นเหมือนความสัมพันธ์แบบพี่ชายกับน้องชาย
พรเคยพูดถึงเรื่องนี้ว่าเขาเป็นห่วงบุญชูและบุญชูเองก็มักจะโทรศัพท์มาหาเขาเป็นครั้งคราวไม่ว่าจะเป็นอย่างไร
“กว่าผมจะทำให้คุณบุญชูเชื่อในความจริงใจของผมก็ต้องใช้เวลา 10 กว่าปีในการทำงานให้คุณบุญชู”
ในขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าบทบาทของพรต้องสูงขึ้นแน่เพราะกาลเวลาได้พิสูจน์ให้บุญชูเห็นแล้วว่า
“พรไม่ได้เสียเพราะเมียอย่างที่สุธีว่า”