เหตุการณ์ 6 ตุลาคมเป็นบทพิสูจน์ตัวบุญชูพอสมควร!
ถึงแม้จะไม่ได้ต่อสู้ในทางการเมือง แต่ในทางการงานถ้าบุญชูจะมีโอกาสช่วยคนที่ถูกรังแกจากเหตุการณ์นั้นเขาก็ช่วยทันทีโดยไม่รีรอ
วิทยากร เชียงกูร นักเขียนนักคิดคนนี้ลาออกจากธนาคารกรุงเทพหลังเหตุการณ์
6 ตุลาฯ แล้วไปอยู่อังกฤษเพื่อหลบเหตุการณ์ พอเรื่องสงบลงมาบ้างวิทยากรก็กลับมากรุงเทพฯ
เพื่อมาขอกลับเข้าทำงาน แต่ฝ่ายบุคคลปฏิเสธเพราะบทบาทของวิทยากรตั้งแต่เริ่ม
14 ตุลาคม เป็นบทบาทที่เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นกับบรรดาฝ่ายหัวก้าวหน้า
จนกระทั่งบุญชูรับเรื่องวิทยากรก็เลยเรียกวิทยากรและสั่งให้ฝ่ายบุคคลรับวิทยากรกลับเข้าทำงาน
ในคำพูดของบุญชูเอง “วิทยากรเป็นคนดีมีความสามารถถ้าเขาเป็นคนที่กล้าแสดงออกต่อสังคมอย่างเปิดเผยก็ต้องยอมรับว่าเขามีประโยชน์กับธนาคาร
เพราะมีคนอย่างเขาไว้จะทำให้ธนาคารรู้ว่ามีคนมองธนาคารแบบไหน”
ปัจจุบันวิทยากรลาออกจากธนาคารกรุงเทพและไปสอนหนังสืออยู่เชียงใหม่
ราชันย์ ฮูเซ็น เคยทำงานอยู่สถานีวิทยุ ททท. หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
เมื่อดุสิต ศิริวรรณ ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ซึ่งมีหน้าที่คุม
อสมท. และ ททท. ด้วย ราชันย์ ฮูเซ็น ถูกสั่งระงับให้จัดรายการวิทยุทั้งหมด
จากการที่มีรายได้ประจำค่อนข้างดี ราชันย์กลายเป็นคนไม่มีรายได้และต้องตกอยู่ในสภาพลำบากมากจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะความวิตกกังวล
เพราะบ้านกำลังจะถูกธนาคารแห่งหนึ่งยึด
มีคนมาเล่าเรื่องราชันย์ให้บุญชูฟัง บุญชูสั่งสังเวียร มีเผ่าพงษ์ ให้ช่วยราชันย์ทันทีโดยให้ธนาคารกรุงเทพสาขาคลองตันรับโอนจำนองจากธนาคารที่จะยึดมาหมดแล้ว
ก็ติดต่อคนรู้จักบุญชูให้ป้อนงานราชันย์ทำเพื่อให้มีรายได้ประจำขึ้นมาบ้าง
ข้าราชการชั้นตรีคนหนึ่ง บุญชูเป็นคนที่มีคนเขียนจดหมายมาขอความช่วยเหลืออยู่ตลอดทั้งๆ
ที่ไม่รู้จัก ถ้าเป็นเรื่องที่น่าช่วย บุญชูก็จะช่วย “น้อย” (ชื่อสมมุติ)
เป็นข้าราชการชั้นตรีแห่งหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักเพราะสามีทิ้งไปมีภรรยาใหม่แล้วสร้างหนี้สินโดยเอาที่ผืนเล็กๆ
ของครอบครัวไปขายฝากไว้ในจำนวนไม่กี่หมื่นและใกล้จะหลุด
“น้อย” นึกอะไรไม่ออกก็บอกมายังบุญชู
บุญชูสั่งให้ผู้ใกล้ชิดสืบข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อเป็นจริงตามที่อ้าง บุญชูก็ควักเงินส่วนตัวช่วยและให้ผู้ใกล้ชิดหางานพิเศษให้
“น้อย” ทำเพื่อเอาเงินมาคืน
“ผมต้องการให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณใครเมื่อเขาคืนเงินผมหมดแล้ว
เขาจะได้ภูมิใจในตัวเขาและรู้สึกว่าถ้าเขามีความมานะพยายาม เขาจะประสบความสำเร็จ”
บุญชูเคยพูดถึงเรื่องนี้ให้ฟัง
กิจการต่างๆ ที่ใกล้จะล้ม ในขณะเดียวกันก็มีกิจการที่ใกล้ล้มอยู่มากที่มาขอความช่วยเหลือโดยตรงทั้งๆ
ที่ไม่รู้จัก
บุญชูจะไม่ปฏิเสธแม้แต่รายเดียวและจะส่งคนที่ชำนาญแต่ละด้านไปดูโดยเขาจะให้หลักว่าถ้าช่วยได้ก็ให้ช่วยเต็มที่
และถ้ากิจการนั้นเพียงแต่ขาดการบริหารที่ดีเท่านั้น บางครั้งบุญชูถึงกับช่วยหาคนให้
แต่ถ้าช่วยไม่ได้เขาก็จะไม่ช่วย!