|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
'กรณ์' ถกกทช.แนวทางแปรสัญญาสัมปทานมือถือเป็นใบอนุญาต ให้ลดค่าต๋งเหลือ 12.5% จากเดิมเอกชนจ่ายส่วนแบ่งรายได้ 20-25% และขยายอายุสัมปทานเป็น 15 ปีเท่ากันทุกราย หวังตีกันผู้ให้บริการมือถือโอนลูกค้าหนีสัมปทานไปซบไลเซ่นต์ 3G กทช.พร้อมให้กทช.คิดค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต 3G เท่ากัน ด้าน 'พ.อ.นที' ถามใครกล้าลดส่วนแบ่งรายได้และขยายอายุสัมปทาน ด้าน รมว.ไอซีทีจี้ทีโอทีเตรียมรายงานความสำคัญ 3 G หากมีประโยชน์จริงพร้อมสนับสนุนขออนุมัติงบ 20,000 ล้านบาทกับครม.ทันที ติงทีโอทีควรคิดทำประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้เต็มที่ด้วย พร้อมเตรียมเข้าพบกทช.ขอความร่วมมือช่วยสานฝันถนนไร้สาย
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียกกทช.เข้าพบเพื่อหารือพร้อมรับฟังแนวทางที่คลังต้องการแปรสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือให้เป็นระบบการออกใบอนุญาต โดยมีรูปแบบจะขยายระยะเวลาสัญญาสัมปทานให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 รายเดิมประกอบด้วยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และบริษัท ทรูมูฟ ให้เป็น 15 ปีเท่ากันหมด จากปัจจุบันเอไอเอสมีอายุสัญญาสัมปทานเหลืออยู่ 5 ปี ดีแทคเหลือ 8 ปี และทรูมูฟเหลือเพียง 3 ปีและยังมีแนวคิดปรับอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็น 12.5% ต่อปีจากรายได้รวม จากปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3รายจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐที่ 20-25% ของรายได้รวม
ทั้งนี้ รมว.คลังให้เหตุผลว่าเพื่อต้องการให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมมากขึ้น จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวแบบคู่ขนาน เพื่อให้แล้วเสร็จก่อน กทช.เปิดประมูลใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) โทรศัพท์มือถือในระบบ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ในเดือนกันยายนนี้นอกจากนี้รมว.คลัง ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมกับการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาต3Gของกทช.ว่าควรเรียกเก็บในอัตราเดียวกันกับแนวคิดของคลังที่ 12.5% ในขณะที่ตามแนวทางการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือ 3Gของกทช.กำหนดเรียกเก็บค่าใบอนุญาตเฉลี่ย 6% จากรายได้รวม
'รมว.คลังระบุว่าแนวทางการแปรสัญญาสัมปทานต้องเกิดขึ้น เพราะหากยังปล่อยให้เป็นระบบสัมปทานอยู่ จะทำให้เอกชนรายเดิมในปัจจุบันโอนลูกค้าไปยังใบอนุญาต 3Gซึ่งจะสร้างความเสียหายให้รัฐมาก ประกอบกับคลังต้องการให้ทุกรายเข้าสู่กระบวนการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ซึ่งส่วนนี้ผมมองว่าหากคลัง ทีโอที กสท และคู่สัญญาสัมปทานตกลงกันได้กทช.ก็จะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งเอกชนต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการบนใบอนุญาตใด เพราะหากเลือกที่จะทำธุรกิจบนคลื่นความถี่เดิม ก็จะหมดสิทธิเข้าร่วมประมูล 3Gของ กทช.'
พ.อ.นที กล่าวต่อว่า กทช.ยินดีที่จะสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่ทุกอย่างต้องไม่กระทบต่อแผน 3G ที่ถูกวางเอาไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม เห็นว่าแนวทางของรมว.คลังนั้น อาจจะนำมาซึ่งคำถามว่า ใครจะกล้าปรับรายได้สัมปทานที่เคยได้รับจาก 20-25% เหลือ 12.5% รวมถึงการขยายระยะเวลาสัญญาสัมปทานให้กับเอกชนรายเดิมยาวออกไปอีก เพราะทั้งหมดล้วนเป็นประเด็นด้านข้อกฎหมายทั้งสิ้น
ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงโครงการโทรศัพท์มือถือ 3G ทั่วประเทศของบริษัท ทีโอที ที่อยู่ระหว่างรอรมว.ไอซีที เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตั้งแต่สมัยรต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี เป็นรมว.ไอซีทีว่าต้องมองหลายมิติโดยเฉพาะโครงการดังกล่าวต้องถามว่ามีประโยชน์อะไรกับประเทศและจำเป็นต้องทำหรือไม่รวมทั้งต้องตั้งคำถามว่าทำไมต้องเป็น 3G
ทั้งนี้อยากให้ผู้บริหารทีโอทีสรุปความจำเป็นเรื่องการลงทุน 3 G ทั่วประเทศให้รับทราบในการเข้าตรวจเยี่ยมทีโอทีที่จะมีขึ้นเร็วๆนี้ซึ่งจะนำคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เข้ารับฟังด้วย หากดีก็พร้อมผลักดัน แต่สำหรับทีโอทีแล้วไม่ได้มีแค่เรื่อง 3 G เรื่องเดียวที่จะต้องผลักดันแต่จะดูเรื่องการนำโครงข่ายและบริการที่มีอยู่เดิมมาใช้ประโยชน์สูงสุดเพราะที่ผ่านมาทีโอทียังไม่นำออกมาใช้ประโยชน์มากเท่าที่ควรเช่นโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก
“เรื่อง 3 G ต้องตอบให้ได้ว่าทำไมต้องเป็น 3 Gที่สำคัญทำแล้วประชาชนและประเทศชาติได้อะไร การเข้าตรวจเยี่ยมทีโอทีนี้น่าจะมีคำตอบ และจะนำสคร.เข้าร่วมฟังด้วย หากมีประโยชน์จริงก็พร้อมเสนองบ 20,000 ล้านต่อครม.ให้ทันที แต่ผมจะไม่อยากให้คิดเรื่องนี้เรื่องเดียวที่สำคัญทีโอทีต้องคิดว่าที่ผ่านมาใช้ประโยชน์สิ่งที่มีอยู่คุ้มค่าหรือยัง”
รมว.ไอซีทีกล่าวว่ากรณีนี้อาจจะต้องพิจารณาถึงประเด็น 1.สัญญาสัมปทานของเอกชนที่เหลืออยู่ว่าจะทำอย่างซึ่งส่วนนี้จะมีกระทรวง การคลังเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเพราะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และต้องดูว่าคลังจะเสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์ 2.การปรับให้ทุกคนมีฐานะที่เท่าเทียมกันในการแข่งขันจะทำได้อย่างไร และผู้ให้บริการเอกชนจะยอมหรือไม่ 3.จะทำอย่างไรให้รักษาผลประโยชน์ของรัฐไว้ได้ 4.ค่าบริการของผู้บริโภคจะต้องเป็นราคาที่เป็นธรรมและประเด็นสุดท้าย คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จะมีความเห็นว่าอย่างไร เพราะที่ผ่านมาในอดีตกทช.มองว่าไม่มีอำนาจ แต่มาตอนนี้กทช.ระบุว่ามีอำนาจประเด็นนี้จำเป็นจะต้องเข้าไปหารือกับกทช.โดยเร็วเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน
ทั้งนี้ยังจะหารือกับกทช.ว่าจะสามารถทำอะไรร่วมกันได้บ้างอย่างเช่นเรื่องนโยบายถนนไร้สายทั่วประเทศ ซึ่งไปสอดคล้องกับนโยบายของกทช. ที่ต้องการลดช่องว่างดิจิตอลระหว่างชุมชนเมืองกับต่างจังหวัด ดังนั้น ในส่วนนี้จะสามารถประสานงานร่วมกันอย่างไรได้บ้างเพื่อทำให้เกิดขึ้นได้เร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังจะขอความรู้และความช่วยเหลือกรณีความเร็วอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาผู้ใช้บริการได้ความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่เต็มตามที่ผู้ให้บริการระบุไว้ กรณีนี้จะมีทางแก้ไขให้ผู้บริโภคได้ความเร็วตามความต้องการได้อย่างไร และอินเทอร์เน็ตไทยยังมีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อที่หลุดบ่อย
นายจุติ กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 3/53 เมื่อวันที่18 มิ.ย.ที่ผ่านมาซึ่งรมว.ไอซีทีเป็นประธานว่าธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะขณะนี้มีการทำธุรกรรมผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แล้ว 1 ล้านล้านบาท ทั้งแบงก์ และนอน-แบงก์ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้ฝากการบ้านกับธปท.ว่าถ้าหากธปท.สนับสนุนให้ปรับลดค่าธรรมเนียมโอนเงินผ่านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้ต่ำลงกว่าเดิมจากปัจจุบันค่าธรรมเนียมการโอนเงิน 10,000 บาทอยู่ที่ 20 บาทให้เหลือสัก 5 บาทก็น่าจะช่วยสนับสนุนธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้มีการใช้งานมากขึ้น
|
|
 |
|
|