|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

ว่ากันว่าประวัติศาสตร์ย่อมซ้ำรอยตัวมันเองเสมอ อะไรที่มีขึ้นย่อมมีเสื่อมถอย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทำไมอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองสูงสุดด้วยวิทยาการหลากหลายสาขาในอดีต และทิ้งไว้ซึ่งหลักฐานชิ้นโตที่แสนจะอลังการอย่างนครวัด นครธมของอาณาจักรขอมโบราณ จะกลับกลายมาเป็นสถานที่ที่คนทั่วโลกหวนกลับมาเยือน จนเหมือนจะทำให้อาณาจักรแห่งนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้งไม่ได้ในวันนี้
หากจะลองค้นหาคำตอบดูว่า อะไรคือคุณค่าสูงสุดแห่งโบราณสถานอย่างนครวัด นครธม หลายคนคงจะให้เหตุผลที่แตกต่างกัน
หลายคนมาด้วยเหตุจูงใจของประโยคอมตะของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส ผู้มาพบนครวัด แล้วเอื้อนเอ่ยประโยคอมตะออกมาจนเข้าหูเข้าตาใครต่อใครว่า ความยิ่งใหญ่ของนครวัดนั้นให้ความรู้สึกถึงขนาดว่า “See Angkor and Die”
ประโยคแบบนี้เกิดขึ้น จนกลายเป็นการจัดเรตติ้งรายการ สถานที่ที่ผู้คนต้องไปเยือนก่อนตายอีกมากต่อมาก สำหรับสถานที่ ท่องเที่ยวชื่อดังทั้งหลาย เป็นแรงดึงดูดที่ชะงัดนักของนักท่องเที่ยว หลายราย
ปราสาทนครวัดสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ราวพุทธศตวรรษที่ 17 (ใกล้เคียงกับปราสาทพนมรุ้งของไทย) สาเหตุ ที่เรียกกันว่านครวัด เนื่องจากมีลักษณะคล้ายเมืองๆ หนึ่ง แรกเริ่มสร้างด้วยความเชื่อตามศาสนาฮินดู แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพุทธศาสนาคือวัด จึงเรียกกันว่า นครวัด
ส่วนนครธม หรือเมืองพระนครหลวง เป็นเมืองที่มีพื้นที่รวม 9 ตารางกิโลเมตร สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีไฮไลต์อยู่ที่ปราสาทบายน ซึ่งเป็นศาสนสถานกึ่งกลางเมืองที่มีรูปหน้าพระโพธิสัตว์ที่เห็นกันบ่อยๆ
เรามักเรียกรวมกันว่านครวัดนครธม แต่ความหมายจริงๆ นครวัดเป็นศาสนสถาน แต่นครธมเป็นเมือง
ความยิ่งใหญ่ของทั้งนครวัดและนครธม อาจจะสัมผัสได้ด้วยสายตาในระยะไกลจากขนาดของสิ่งก่อสร้าง ที่เกิดขึ้นด้วยความเชื่อและแรงศรัทธาของผู้สร้าง
แต่สำหรับนครธม คุณค่าที่ประเมินได้ไม่สิ้นสุด ก็คือการเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งปรัชญาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะสำหรับคนในอุษาคเนย์หรืออินโดจีน ที่ไม่ควรพลาดที่จะหาโอกาสมาเรียนรู้สักครั้งในชีวิต
คำว่า “บายน” ของปราสาทบายน สันนิษฐานกันว่าอาจจะมาจากคำเรียก “ครูบาอาจารย์” ส่วน “ยน” น่าจะมาคำว่า “ยันตระ” คือการให้การปกป้อง มีคำคู่กันคือคำว่า “แม่บุญ” ทั้งสองคำมาจากความเชื่อตามประเพณี ที่ฝ่ายหนึ่งหากนิยมนับถือผู้หญิงเป็นใหญ่ ก็จะใช้คำเรียกที่ขึ้นต้นว่าแม่ แต่หากนับถือผู้ชายเป็นใหญ่ เขาจะเรียกว่าครูบา หรือครูบาอาจารย์ แต่เมื่อครั้งฝรั่งเศสค้นพบกลับเรียกที่นี่ว่า Banyan tree ตามลักษณะของต้นไทรที่พบปกคลุมปราสาท
อย่างไรก็ตาม ชื่อปราสาทบายนที่ทุกคนรู้จักจริงๆ ก็ยังเป็นชื่อที่สอง เดิมนั้นสถานที่แห่งนี้เรียกว่าชัยคีรี หรือยโสคีรี ซึ่งหมายถึงภูเขาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั่นเอง
สำหรับจุดเด่นที่เห็นได้แต่ไกลของปราสาทบายน คือพระพักตร์จำนวน 216 พระพักตร์ บนประปรางค์ 54 ยอด
พระพักตร์ที่เห็น ว่ากันว่าเป็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์ ตามความเชื่อของพุทธศาสนามหายาน ดังนั้น เมื่อเข้าไปประชิดใบหน้า หากสังเกตดีๆ ก็จะเห็นเหมือนมีตาที่สามบนพระนลาฏ แต่บ้างก็ว่านี่คือพระพักตร์ของพระอิศวร และตาที่เห็นนั้นก็คือตาที่สามของพระอิศวร แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งเชื่อว่า อาจจะเป็นพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระเจ้าแผ่นดินซึ่งมีศรัทธาต่อศาสนาพุทธ ที่มีไว้เพื่อดูแลพสกนิกรของท่านได้ทั่วทั้งสี่ทิศ และอีกทฤษฎีหนึ่งหากจะคิดตามความเชื่อของศาสนา พุทธแบบเถรวาทในช่วงศตวรรษที่ 15 ดูบ้าง พระพักตร์ทั้งสี่ทิศก็เปรียบได้ดังพรหมวิหาร 4 ซึ่งเป็นธรรมของนักปกครอง
ไม่ว่าจะตีความด้วยทฤษฎีหรือความเชื่อใด แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ออกก็คือ การผสมกลมกลืนระหว่างลัทธิความเชื่อและศาสนาของปราสาทบายนได้ลงตัว ทั้งศาสนาพุทธแบบมหายาน และหินยาน และศาสนาฮินดู ไปจนถึงลัทธิเทวราชา
นั่นคือคติความเชื่อ แต่ถ้าพูดตามหลักวิชาการ ปราสาทบายนหลังนี้เปี่ยมด้วยคุณค่าของความเป็นพิพิธภัณฑ์ทางด้านปรัชญาประวัติศาสตร์ โดยมีผนังรอบระเบียงคดทั้ง 4 ด้าน เป็นเครื่องพิสูจน์
ภาพจำหลักบนผนังนครธมนั้น แม้จะเน้นหนักถึงวิถีชีวิตของขอมโบราณเป็นหลัก แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงวิถีดั้งเดิมอันเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนในอุษาคเนย์ที่ไม่ได้แตกต่างกันเลย ของทั้งไทย ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน แต่กลับยิ่งทำให้ให้แจ่มชัดมากขึ้น โดยเฉพาะในจิตสำนึกว่า เราทั้งผองล้วนพัฒนาขึ้นภายใต้การมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์เดียวกัน
สิ่งที่สะท้อนออกมานั้น หลายอย่างยังคงเป็นวิถีชีวิตที่คนในอุษาคเนย์ยังคงใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันโดยไม่ได้เลือนหายไป แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนผ่านไปนับพันปี เปลี่ยนไปทั้งการแบ่งแยกเชื้อชาติ เขตแดน หรือแม้แต่การแทรกเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่มากมายก็ตามที
ภาพบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีมากว่าพันปี จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่ล้าสมัย หรือยาก เก่าเกินจะทำให้ใครละเลยคุณค่าที่เห็นนี้ไปได้ กีฬาชนไก่ หมากกระดาน ปิ้งปลา จับปลา ค้าขาย คลอดลูก หรือแม้แต่หาเหา แค่พูดขึ้นมา ทุกชนชาติในอุษาคเนย์ก็เกิดจินตภาพที่เชื่อแน่ว่าไม่แตกต่างไปจากภาพจำหลักที่ปรากฏอยู่แม้แต่น้อย
ความอยู่ยงคงทนของภาพจำหลักที่นครธม จึงไม่เพียงแต่คงความร่วมสมัย หากแต่ยังเป็นหลักฐานอย่างดีสำหรับการทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ได้ง่ายขึ้น นับเป็นวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ของพระผู้สร้าง ที่ทิ้งสิ่งล้ำค่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้กลับมาเรียนรู้ความเป็นมาได้อย่างประจักษ์ชัดแจ้ง
ที่สำคัญ ทุกสิ่งที่เห็นเป็น Originality ที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้แต่แรกเริ่ม มิได้โยกย้ายถ่ายเทมาจากที่ใด ซึ่งต่างจากพิพิธภัณฑ์มีชื่ออีกหลายแห่งทั่วโลก ที่โด่งดังได้ด้วยการรวบรวมสิ่งมีค่ามาจากประเทศต่างๆ และนั่นย่อมก่อให้เกิดความภูมิใจแก่ผู้เป็นเจ้าของได้อีก ทวีคูณ
|
|
 |
|
|