Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มิถุนายน 2553
จาก “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” สู่โรงแรมบูติกใจกลางเยาวราช             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

โฮมเพจ เซี่ยงไฮ้ แมนชั่น

   
search resources

ลิลลี่ อุดมคุณธรรม
Boutique hotels
โรงแรมเซี่ยงไฮ้ แมนชั่น




หนุ่มจีนในสูทชุดดำคล้องผ้าพันคอสีขาวมือถือหมวก เดินเคียงข้างสาวหมวยในชุดกี่เพ้าดูโมเดิร์นด้วยทรงผมดัดลอน เป็นภาพคุ้นตาของละครจีนชุดคลาสสิกเรื่อง “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” ที่นำกลับมาฉายซ้ำในทีวีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใครเลยจะคิดว่าจากฉากที่เคยคุ้นจะมีผู้นำมารังสรรค์เป็นบรรยากาศแปลกใหม่แต่คุ้นเคย ในรูปแบบของโรงแรมบูติก ภายใต้ชื่อ “เซี่ยงไฮ้ แมนชั่น”

ท่ามกลางเสียงจอแจของย่านเยาวราช ย่านที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางการค้าอีกแห่งของมหานครกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน แม้จะย้อนกลับไปเกือบ 100 ปีก่อน ย่านนี้ก็ยังคงเป็นศูนย์กลางไม่ต่างจากวันนี้

เยาวราชหรือ “ไชน่าทาวน์เมืองไทย” จะเสียแชมป์ไชน่าทาวน์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของโลกให้กับกรุงมะนิลา แต่เยาวราชก็นับเป็นไชน่าทาวน์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดของโลกอีกแห่งหนึ่ง ด้วยอายุกว่า 200 ปีแล้ว

กว่าครึ่งศตวรรษ เยาวราชไม่เพียง เป็นศูนย์กลางธุรกิจ แต่ยังเป็นศูนย์กลางความบันเทิงของชาวกรุงเทพฯ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองและความทันสมัยของเมืองกรุงเทพฯ

หลังจากตัดถนนเยาวราชไม่นาน ตึกที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ แห่งแรกก็เกิดขึ้นบนถนนเยาวราช ด้วยความสูงเพียง 6 ชั้น ไม่นานก็ถูกล้มแชมป์ด้วยตึก 7 ชั้น ซึ่งอยู่ฝั่งถนนตรงข้าม แล้วก็ถูกลบสถิติด้วยตึก 9 ชั้น ที่อยู่ในย่านเยาวราชเช่นกัน โดยตึกเหล่านี้มักสร้างเพื่อเป็นแหล่งบันเทิง ที่ทันสมัยสำหรับเศรษฐีสมัยนั้น

ตึก 6 ชั้น ที่เป็นตึกแห่งแรกที่เคยสูงที่สุดในกรุงเทพฯ เป็นของพระยาสารสินสวามิภักดิ์ หรือ “หมอเทียนอี้” ต้นตระกูลสารสิน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมบูติกที่มีชื่อว่า “เซี่ยงไฮ้ แมนชั่น”

ทันทีที่เข้ามาถึงล็อบบี้ของโรงแรมแห่งนี้ ความเงียบสงบก็เข้ามาแทนที่ความวุ่นวาย ราวกับว่าความสับสนจอแจของเยาวราชถูกใครพัดโบกออกไปอยู่ภายนอก

ก่อนจะกลายมาเป็นที่ตั้งโรงแรม ตึกอายุกว่า 60 ปีแห่งนี้ ถูกเปลี่ยนสภาพมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งของห้างเซาท์ แปซิฟิค ห้างเก่าแก่ของย่านนี้ จากนั้นก็ถูกปรับปรุงให้เป็นศูนย์การค้าที่มีชื่อว่า “D.S. เยาวราชสแควร์” ซึ่งประกอบด้วยสถานบันเทิง ร้านอาหาร และฟาสต์ฟู้ดชื่อดังอย่าง McDonald’s พร้อมด้วยห้องค้าหลักทรัพย์บนชั้น 5

กระทั่งกว่า 5 ปีก่อน พงส์ สารสินได้ปรับปรุงตึกนี้อีกครั้ง ภายใต้โครงการ “หอม หมื่นลี้” โดยชั้นล่างสุดเปิดให้ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นผู้เช่า ชั้น 2-3 เป็นศูนย์อาหารที่รวมห้องอาหารขึ้นชื่อหลายแห่ง ส่วนชั้น 4-5 เป็นที่ตั้งของโรงแรมบูติก โดยครั้งแรกยังใช้ชื่อ “เซี่ยงไฮ้ อินน์”

“เยาวราชเป็นไชน่าทาวน์นอกประเทศจีนที่เก่าแก่เกือบที่สุดในโลก เป็นแหล่งของกินชั้นดี เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญ แต่พอพูดถึงโรงแรมในเยาวราช กลับไม่มีใครนึกถึงโรงแรมหรูหรือโรงแรมบูติกที่นี่ มีแต่ภาพโมเต็ลเล็กๆ เก่าๆ เราก็อยากโชว์ให้ต่างชาติเห็นว่าไชน่าทาวน์ของเราก็มีโรงแรมเดิ้นๆ เหมือนกัน” ลิลลี่ อุดมคุณธรรม ผู้บริหารสาวและเจ้าของโรงแรมเซี่ยงไฮ้แมนชั่นฯ อธิบายที่มาของไอเดียสร้างโรงแรมบูติกในเยาวราช

คงไม่ใช่เพียงความอยากและคอนเซ็ปต์ข้างต้นของลิลลี่ที่ดลใจให้พงส์ สารสินตัดสินใจเลือกโปรเจ็กต์ของเธอมาเป็นส่วนสำคัญของโครงการหอมหมื่นลี้

และก็คงไม่ใช่เพียงเพราะความสัมพันธ์ระหว่างพงส์กับมานิต อุดม คุณธรรม ผู้เป็นพ่อของลิลลี่ แต่ยังเป็นเพราะฝีมือในการสร้างและบริหารโรงแรมของเธอที่ประจักษ์ผ่านโรงแรมบูติกชื่อดังแห่งหาดป่าตอง ที่มีชื่อว่า “บุราส่าหรี” โรงแรมแห่งแรกในชีวิตของเธอ ซึ่งเปิดมาตั้งแต่ปี 2545

“คล้ายว่าเราอยากมีบุราส่าหรีสาขาสอง แต่จะยกมาทำที่นี่ก็ไม่ได้ เพราะทำเลที่เป็นไชน่าทาวน์ เราก็คิดว่าต้องหาจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ นั่นก็คือต้องหาจุดเชื่อมโยงกับความเป็นเยาวราช”

แม้ไม่ได้ยกรูปแบบของบุราส่าหรีมาใช้ แต่ลิลลี่ก็ได้นำกลเม็ดที่ได้มาจากประสบการณ์เปิดโรงแรมแห่งแรกมาใช้ นั่นคือการให้ความสำคัญกับชื่อโรงแรม เพราะชื่อที่เหมาะสมจะนำมาซึ่งจินตภาพของหญิงสาวที่ชัดเจน อันจะกลายมาเป็นคาแรกเตอร์และรายละเอียดของโรงแรมในที่สุด เหมือนกับ “บุราส่าหรี” ที่กลายเป็นภาพสาวไทยผมยาวแต่ยาวไม่มาก ยิ้มเก่งดูไม่เย่อหยิ่ง มีบุคลิกอ่อนหวานและอ่อนโยน ซึ่งนำมาสู่คาแรกเตอร์ของโรงแรมที่มีองค์ประกอบการดีไซน์เป็นสถาปัตยกรรมที่เน้นสัมผัสกับธรรมชาติ ประกอบกับผ้าพลิ้วไหว และบริการที่เน้นความเป็นไทย

ขณะที่เซี่ยงไฮ้ อินน์นับว่าโชคดีกว่าที่ไม่ต้องใช้จินตนาการสูง เพราะลิลลี่ได้ไปเจอรูปภาพหญิงสาวที่เหมาะจะมาเป็นต้นแบบคาแรกเตอร์ของโรงแรมแห่งนี้โดยบังเอิญ เธอจึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการวางภาพรวมคอนเซ็ปต์ของโรงแรมตั้งแต่ต้น

ภาพดังกล่าวเป็นภาพของสาวหมวยผมดัดลอนในชุดกี่เพ้า ดูมีชาติตระกูล มีรสนิยม มีความมั่นใจใน ตัวเอง มีลุคทันสมัยตามกระแสแฟชั่นแต่ก็ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดี หากดูเผินๆ อาจทำให้สาวกละครเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้นึกไปถึง “เฝิงเชิงเชิง” นางเอกในเรื่องนี้ก็เป็นได้

ภาพรีเซฟชั่นสาวในชุดกี่เพ้าหลังเคาน์เตอร์ไม้สีเข้ม เมื่อบวกกับเก้าอี้บุหนังและโซฟาเบดดูทันสมัย ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมและการตกแต่งที่ส่งกลิ่นอายความเป็นจีน ยิ่งทำให้ล็อบบี้ของโรงแรมแห่งนี้ดูคล้ายกับฉากในบ้านหรูของ “สี่เหวินเฉียง” หรือพระเอกในละครเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้

“เวลาพูดถึงหนังจีน คนไทยจะนึกถึงแต่เจ้าพ่อ เซี่ยงไฮ้ พอพูดถึงเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ปุ๊บ ดูเหมือนทุกคนจะนึกออกเลยว่าสถาปัตยกรรม การแต่งตัว วิถีชีวิต จะออกมาเป็นยังไง ภาพลอยมาเลย ไม่ต้องอธิบายมาก”

ลิลลี่เลือกที่จะนำเอาความเป็นเซี่ยงไฮ้ในยุค 1930s ที่สถาปัตยกรรม ศิลปะ แฟชั่น และวิถีชีวิตของคนยุคนั้นได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสเข้าไปผสมค่อนข้างมาก โดยเอกลักษณ์ความเป็นเซี่ยงไฮ้ภายใต้อาณานิคมหลายอย่าง คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดีผ่านฉากละครจีนเรื่องเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ที่ถูกนำมาฉายซ้ำอยู่บ่อยครั้ง

ความหรูหราสไตล์จีนที่มีกลิ่นอายโมเดิร์นแห่งยุคทองของเซี่ยงไฮ้ในอดีต (Golden Shanghai Oldies) ถูกแทรกอยู่ในดีไซน์ห้องพักและเกือบทุกพื้นที่ของโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นโซฟาเบด ผ้าม่านกำมะหยี่ อ่างอาบน้ำขนาดใหญ่ และโคมไฟระย้า เป็นต้น

ขณะเดียวกันวิถีชีวิตคนจีนยุคเก่าของชาวเยาวราชบางส่วนยังถูกนำมาผสมผสานอยู่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ภายในโรงแรมแห่งนี้ เช่น อ่างล้างหน้าแบบอากงอาม่า โคมกระดาษ และระเบียงทางเดินที่มีดีไซน์ และสีสันฉูดฉาดรุนแรงดูคล้ายวัดจีน เป็นต้น

ไม่เพียงของตกแต่งที่กล่าวมา ภาพวิถีชีวิตเก่าๆ ของเยาวราชที่นำมาประดับ สลับกับภาพเขียนสีรูปซูสีไทเฮา รูปสาวหมวยในชุดกี่เพ้า และรูปดอกโบตั๋น ก็เป็นอีกสิ่งที่ช่วยสร้างอารมณ์ของความเป็นจีนโบราณให้คละคลุ้งทั่วโรงแรม

“เรื่องการตกแต่ง เราให้ฝรั่งทำ เพราะถ้าให้คนไทยทำอาจจะไม่สะใจเท่า เนื่องจากคนไทยเวลาดูเมืองจีนหรือความเป็นจีนเราจะรู้สึกเฉยๆ แต่ขณะที่เวลาฝรั่ง เห็น เขาจะสนใจในทุกมิติ เขาจึงสามารถดึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ออกมาทำให้ดูโดดเด่นและดูแรงได้”

นอกจากดีไซน์ในแง่ของบริการลิลลี่ได้ยึดคอนเซ็ปต์ “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” มาใช้เป็นมาตรฐานบริการที่เธอนิยามว่า “Feel Noble @home” ผ่านการบริการอย่างใกล้ชิดราวกับบัตเลอร์ส่วนตัว

จากจุดเริ่มต้นที่ไม่มั่นใจว่าจะมีลูกค้าไฮเอ็นด์ยอมจ่ายค่าที่พักเฉลี่ยคืนละเกือบครึ่งหมื่น ในทำเลอย่างเยาวราช ซึ่งไม่ใช่แหล่งที่ตั้งของโรงแรม 5 ดาว เมื่อแรกเปิดตัวโรงแรมเซี่ยงไฮ้ อินน์ ในปี 2549 ลิลลี่จึงสร้างเพียงห้องพักแบบ Superior ในจำนวนราว 50 ห้อง ใช้พื้นที่เพียง 2 ชั้นของอาคาร

ด้วยดีไซน์ที่แปลกตาราวกับหลุดเข้าไปในฉากละครเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้หรือทะลุมิติไปอยู่ใน เซี่ยงไฮ้ยุค 1930s บวกกับบริการระดับ 5 ดาว จึงได้ผลตอบรับดีเกินคาด จนลิลลี่เริ่มรู้สึกว่า เซี่ยงไฮ้ อินน์คงเล็กไปแล้ว

“พอทำไปเรื่อยๆ ลูกค้าจะเป็นคนบอกเราว่าพวกเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และจากจุดนี้ก็ทำให้เรารู้ว่า สำหรับลูกค้าของเรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป เขามองว่าถ้าโรงแรมดีจริงๆ มากกว่านี้เขาก็ยอมจ่ายเพื่อสไตล์ที่จะตอบสนองไลฟ์สไตล์ของเขา”

ปลายปี 2551 ลิลลี่จึงตัดสินใจขยายพื้นที่ โรงแรมไปสู่ชั้น 2 ชั้น 3 และชั้น 6 ทันทีที่ผู้เช่า เดิมหมดสัญญากับเจ้าของอาคาร 6 ชั้นแห่งนี้ ดังนั้นอาคารแห่งนี้จึงมีเพียงชั้นล่างที่ยังเป็นท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนชั้นที่เหลือเป็นพื้นที่โรงแรมบูติกของเธอ ในชื่อใหม่ “เซี่ยงไฮ้ แมนชั่น”

นอกจากจำนวนห้องที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 70 ห้อง เซี่ยงไฮ้ แมนชั่นยังมาพร้อมกับความทันสมัย และความสง่างามในแบบจีนเซี่ยงไฮ้ยุคโคโลเนียลเพิ่มขึ้น โดยเริ่มสร้างกลิ่นอายกันตั้งแต่ล็อบบี้บนชั้น 2

ขณะที่ส่วนหลังของชั้น 2 และชั้น 3 ถูกปรับเป็นห้องพักระดับดีลักซ์และห้องสูทที่ดูหรูหรายิ่งขึ้น โดยเฉพาะระเบียงใหญ่หน้าห้องสำหรับนั่งเล่นเกมหรือจิบน้ำชา ปล่อยอารมณ์ไปกับเสียงน้ำไหลจากบ่อปลาขนาดใหญ่ที่ลิลลี่ตั้งใจเนรมิตไว้กลางชั้น 2 เพื่อเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลายราวกับอยู่บ้าน

ยามบ่ายของวันเสาร์-อาทิตย์ และในโอกาสพิเศษ ที่ริมบ่อน้ำแห่งนี้จะมีสาวสวยในชุดกี่เพ้ามานั่งบรรเลงเพลงกู่เจิงให้ลูกค้าได้ปลดปล่อยอารมณ์อย่างสุนทรีไปเสียงใสๆ ของเครื่องดนตรีจีนชิ้นนี้

นอกจากนี้ ลิลลี่ยังได้สร้างกิมมิคเพื่อเชื่อมโยงกับความเป็นเยาวราช ด้วยการเปลี่ยนชื่อเรียกคลาสห้องพักแบบใหม่โดยใช้ชื่อดอกไม้จีนโบราณ “Mei Hua” หรือดอกบ๊วยแทนห้องซูพีเรีย “Ying Hua” หรือดอกซากุระแทนห้องดีลักซ์ ส่วนห้องสูทที่จัดว่าหรูที่สุดแทนด้วย “Mu Dan” หรือดอกโบตั๋น ซึ่งว่ากันว่าเป็นดอกไม้ตระกูลฮ่องเต้และเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นผู้ดี

พร้อมกันนี้ยังมีการปรับปรุงบางส่วนบนชั้น 3 เป็นห้องอาหารหรูสำหรับคนรักแจ๊ซ หรือ “แจ๊ซบาร์” โดยใช้ชื่อ “COTTON” ชื่อเดียวกับแจ๊ซบาร์ชื่อดังของนิวยอร์ก ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างสูงในหมู่คนรักแจ๊ซแห่งยุค 1930s อันเป็นยุคร่วมสมัยกับช่วงเวลาในละครเจ้าพ่อ เซี่ยงไฮ้

“ย่านเยาวราชยังไม่มีบาร์หรือร้านเหล้าที่ฟังดนตรีแจ๊ซดีๆ สดๆ ได้ เราก็คิดว่าตรงนี้น่าจะมาเสริมวัฒนธรรมแบบนี้ให้กับย่านนี้ได้”

ขณะที่ลิลลี่คาดหวังว่า COTTON Jazz Bar จะเป็นอีกไลฟ์สไตล์ที่ช่วยยกระดับภาพลักษณ์ความหรูให้กับเยาวราช ในเวลาเดียวกันเธอก็ใช้จุดแข็งในเรื่องความเป็นแหล่ง รวมสุดยอดความอร่อยจากร้านอาหารชื่อดังของเยาวราชมาเป็นจุดขายให้กับ COTTON ด้วยบริการสั่งอาหารจากร้านอร่อยในเยาวราชมาขึ้นโต๊ะเสิร์ฟ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องลำบากไปสืบค้นและเสาะหาเอง

สำหรับชั้น 4 และชั้น 5 ยังคงเป็นห้องพัก บางส่วนบนชั้น 5 ถูกจัดเป็นแกลเลอรี สำหรับจัดแสดงวัฒนธรรมเกี่ยวกับความเป็นจีนและความเป็นเยาวราชที่เกี่ยวเนื่องกับด้านศิลปะ ดนตรี และอาหาร

ส่วนชั้น 6 ปรับปรุงเป็นฟังก์ชันสำหรับงานแต่งงานแบบจีน ซึ่งเป็นไอเดียที่ต่อยอด จากความนิยมของคู่บ่าวสาวเชื้อสายจีนที่มักติดต่อมาขอใช้สถานที่ของโรงแรมเพื่อถ่ายรูปคู่แต่งงาน

เกือบ 5 ปีที่ลิลลี่ใช้เวลาพิสูจน์ว่า ไชน่าทาวน์เมืองไทยก็สามารถมีโรงแรมบูติกดีๆ เดิ้นๆ ที่สามารถขายห้องพักคืนละเกือบหมื่นได้เหมือนกัน ขอแค่มีคอนเซ็ปต์ชัดเจนและทำการบ้านมาดีพอ ทว่า ความฝันที่จะยกระดับภาพลักษณ์ของเยาวราชให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน เฉกเช่นไชน่าทาวน์ของหลายประเทศ ยังอาจต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่านี้

“ตอนนี้เหมือนมีเราทำอยู่คนเดียว อยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้ามาช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้เยาวราชร่วมกัน” ลิลลี่กล่าวด้วยความหวังว่า ความสำเร็จจากมนต์เสน่ห์ของ “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” ที่ถ่ายทอดผ่านโรงแรมของเธอ อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นอยากเข้ามาร่วมขับเคลื่อนยกระดับเยาวราชร่วมกับเธอ ก็เป็นได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us