ตลอดระยะ 10 ปีของ คสศ.จัดกิจกรรมและผลักดันโครงการความร่วมมือในการพัฒนาภาคเหนือและกับประเทศภาคีสมาชิก (ไทย พม่า ลาว จีน) มาอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกันมากยิ่งขึ้น รวมถึงได้ผลักดันแผนพัฒนาด้านต่างๆ ร่วมกับภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นรูปธรรมหลายด้าน ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
ช่วงสมัยแรก (2543-2546) ที่มีราชันย์ วีระพันธุ์ เป็นประธานฯ อันเป็นยุคเริ่มต้นของ คสศ. หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้เพียรเปิดเวทีสัมมนากระตุ้นสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และได้ประสานงานจัดตั้งคณะกรรมการร่วมหอการค้าในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หรือ Joint Economic Quadrangle Chamber of Commerce (JEQC) ซึ่งมีลำดับการจัดตั้ง ดังนี้
- ลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2543 ณ โรงแรมเชียงใหม่ออคิด โดยมีธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ขณะนั้น) เป็นสักขีพยาน
- ลงนามจัดตั้ง JEQC อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2543 ณ นครคุนหมิง ซึ่งประกอบไปด้วย หอการค้ามณฑลหยุนหนัน จีน, สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว, สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สหภาพพม่า และ คสศ.หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ
- คณะกรรมการ JEQC จะประกอบด้วยผู้แทนประเทศละ 3 คน เป็นกรรมการ ซึ่งได้มีการประชุม และให้การต้อนรับคณะต่างๆ จากประเทศภาคีสมาชิกดังนี้
1) ประชุมครั้งที่ 1 ประจำปี 2544 เมื่อวันที่ 18-21 ตุลาคม 2544 ณ เมืองเชียงรุ่ง เขตสิบสองปันนา
2) ประชุมครั้งที่ 2 ประจำปี 2545 เมื่อ 28 กันยายน 2545 ณ จังหวัดเชียงใหม่
3) ประชุมครั้งที่ 3 ประจำปี 2546 เมื่อ 24 มกราคม 2546 ณ เมืองย่างกุ้ง สหภาพพม่า
4) ประชุมครั้งที่ 4 เมื่อ 26 สิงหาคม 2546 ที่ Kunming International Trade Fair ณ นครคุนหมิง
5) ประชุมครั้งที่ 5 เมื่อ 8 ธันวาคม 2546 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรสเชียงใหม่
ในยุคแรกนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือทวิภาคีกับประเทศภาคีสมาชิก ในความร่วมมือด้านต่างๆ คือลงนามความร่วมมือกับหอการค้าเขตสิบสองปันนา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 ณ เมืองเชียงรุ่ง เขตสิบสองปันนา
หลังจากเปลี่ยนประธานฯ จากราชันย์ โดยมีอนันต์ เหล่าธรรมทัศน์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายรับไม้ต่อในปี 2547-2550 ได้มีจัดการประชุมคณะกรรมการ คสศ. ในจังหวัดต่างๆ ของภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง ทั้งสิ้น 9 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดลำปาง 2 ครั้ง, เชียงราย 2 ครั้ง, เชียงใหม่ 1 ครั้ง, พะเยา 1 ครั้ง, น่าน 1 ครั้ง, แพร่ 1 ครั้ง และลำพูน 1 ครั้ง
ตลอดจนจัดทัศนศึกษาประเทศในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ พร้อมกันนั้นยังได้การจัดสัมมนา-ประชุมในวาระพิเศษ โครงการหนังสือแนะนำการลงทุนในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจประจำปี 2550 ซึ่งทำเป็น 2 ภาษา คืออังกฤษ และจีน จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านข้อมูล ข่าวสารความคืบหน้าของโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ตลอดจนบทบาทของคณะกรรมการ คสศ.ต่อนักธุรกิจ นักลงทุนชาวต่างประเทศ ในโอกาสที่เดินทางไปทัศนศึกษาต่างประเทศ และต้อนรับภาครัฐ และเอกชนจากต่างประเทศ
ส่วนยุคปัจจุบัน ภายใต้การนำของพัฒนา สิทธิสมบัติ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน (หมดวาระในปี 2554) กล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ อันเป็นส่วนหนึ่งของ GMS และ ASEAN เริ่มเดินเครื่อง คสศ.ได้พยายามผลักดันให้มีการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในพื้นที่ ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และประเทศภาคีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนจัดทัศนศึกษา-ประชุมสัญจรกับประเทศในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจจัดทำเว็บไซต์และนิตยสารด้านการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
ในโอกาสครบรอบ 10 ขวบปีเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คสศ.เปิดเวทีฉลองร่วมกับองค์กรเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรสากลที่เกี่ยวข้องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
แน่นอน...ประเด็นหนึ่งที่ คสศ.-หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ มุ่งเน้นก็คือ
เปิดทางออกสู่ทะเลให้กับแม่ฮ่องสอนผ่านทางพม่า ซึ่งมีชายฝั่งอยู่ห่างไปเพียง 200 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น!
|