|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
อนาคตของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งในระยะยาว แน่นอนแล้วว่าคงไม่ได้ฝากอนาคตไว้ที่ประเทศไทยเป็นหลัก และไม่เพียงการอาศัยพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านในฐานะผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าและผู้ให้บริการเท่านั้น แต่หากยังต้องสร้างความสัมพันธ์ที่กระชับแน่นขึ้นกว่าเดิม
นั่นคือที่มาของบริษัท ราช-ลาว บริการ จำกัด พร้อมออฟฟิศที่ดูอบอุ่นด้วยบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ขนาดสองชั้นบริเวณรอบนอกของกำแพงนครเวียงจันทน์ ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 โดยมีทั้งตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมของรัฐบาลทั้งจากฝั่งไทยและมีผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการค้าการลงทุนของลาว ฝั่งเจ้าบ้านมาร่วมยินดี
บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง เริ่มเข้ามาลงทุนในลาวแล้วเกือบครึ่งหนึ่งของอายุบริษัทที่ตั้งขึ้นในเมืองไทย โดยการเข้ามาลงทุนในลาวของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง มีรูปแบบต่างจากบริษัทคู่แข่งจากหลายประเทศในลาว อย่างเกาหลีและจีน ซึ่งมีรัฐบาลเป็นหัวหอกในการชักนำเข้ามาเจรจาเพื่อการลงทุน แล้วพ่วงเอาเอกชนเข้ามาด้วย
แต่สำหรับนักลงทุนไทยแล้ว กลับเป็นฝ่ายเอกชนเป็นคนนำ โดยมีรัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่ห่างๆ
การตัดสินใจก่อตั้งบริษัทราช-ลาวฯ และเปิดสำนักงานในลาวขึ้นเพราะเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเริ่มดูแลการลงทุนให้ใกล้ชิดและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานมากขึ้น โดยปัจจุบันสำนักงานแห่งนี้มีพนักงานประจำเพียง 5 คน 2 คนจากไทย และที่เหลือเป็นคนท้องถิ่น
จตุพร โสภารักษ์ ผู้อำนวยการ บริษัทราช-ลาว บริการ จำกัด ผู้ให้การต้อนรับทีมงานผู้จัดการ 360 ํ ที่สำนักงานแห่งใหม่เล่าว่า งานหลักตอนนี้ของราช-ลาว คือการดูแลการก่อสร้างเขื่อน 2 เขื่อน รวมทั้งแผนดูแลสำหรับการลงทุนเขื่อนน้ำงึม 3 ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งตอนนี้ก็เพิ่งผ่านขั้นตอนการคัดเลือกผู้มีศักยภาพที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการ
ส่วนหนึ่งของการตั้งสำนักงานจึงเหมือนการเตรียมพร้อมเพื่อหาและสร้างทีมงานเพื่อการขยับขยายเพิ่มขึ้นสำหรับงานในอนาคต
“งานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยับขยายช่องทางไม่ได้จัดการเฉพาะเรื่องงานเทคนิค ตอนนี้ก็มีหลายโครงการที่นำเสนอผู้บริหารที่นี่ ตอนเราเปิดออฟฟิศก็เป็นช่วงเดียวกับที่โครงการเขื่อนน้ำงึม 2 เข้ามาพอดี จึงลงตัวว่าเราน่าจะมีออฟฟิศเพราะนอกจากดูเรื่องการจัดการทั่วไปสำหรับการขยายธุรกิจแล้ว ก็จะเป็นหน่วยสนับสนุน บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งอีกที”
การให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับการดูแลใกล้ชิดด้านการลงทุนในลาว ถือเป็นเรื่องที่บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งมาถูกทาง เพราะตามแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำของลาวจะมีถึง 140 แห่ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานประเมินว่าลาวมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 26,500 เมกะวัตต์
“จริงไม่จริง ไม่รู้ แต่ลาวมีศักยภาพ แล้วถ้าอยู่ เราจะทำอะไรบ้าง จากเดิมที่เราขายไฟกลับไทยอย่างเดียว แต่ตอนนี้เรากำลังทำโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 150 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟสำหรับใช้ในประเทศลาว เพราะเราก็อยากจะพรีเซ็นต์ว่าเรามาลงทุนที่ลาว ก็อยากจะให้บริการที่ลาวด้วย ไม่ใช่ว่าเอาอย่างเดียว เพราะนโยบายของราชบุรีก็คือการให้พลังงานอย่างยั่งยืน” จตุพรกล่าวถึงบทบาทของราช-ลาว
แนวคิดของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ “มั่นยืน” ในสำนวนลาว จึงถือเป็นแนวคิดที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะการลงทุนเขื่อนหรือโรงผลิตไฟฟ้า เป็นธุรกิจที่ทำให้บริษัทต้องอยู่กับคนท้องถิ่นอย่างน้อย 20-30 ปี เท่าอายุโรงไฟฟ้า และจะ “มั่นยืน” ได้ ก็ต้องอยู่กันด้วยสัมพันธภาพที่งดงามแบบเพื่อนฝูงพี่น้อง ไม่ใช่การเข้ามาเพียงเพื่อกอบโกยแต่เพียงอย่างเดียว
|
|
|
|
|