|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ได้กำหนดยุทธศาสตร์ขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้มาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว หลังจากเห็นว่าตลาดไทยเริ่มมีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ จากนี้ไปจะเริ่มเห็นบทบาทของบริษัทในเวทีระดับภูมิภาคมากขึ้น
แม้ว่า บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งมีอายุครบรอบ 10 ปีเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นบริษัทอายุน้อย แต่สามารถสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจในระยะ 4 ปีค่อนข้างสม่ำเสมอ อยู่ในระดับ 5-6 พันล้านบาท
รายได้หลักของบริษัทมาจากโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3 แห่งที่ตั้งอยู่จังหวัด ราชบุรี คือ โรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 4,374 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจัดจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรืออีแกท (EGAT)
กฟผ.นอกจากจะเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าแล้ว หน่วยงานรัฐแห่งนี้ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 45 ในบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และผู้มีถือหุ้นรายใหญ่ลำดับสองคือ กลุ่มบริษัทบ้านปู ร้อยละ 14.99
การที่บริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ระบบบริหารงานและระดมเงินทุนคล่องตัว บริษัทจึงทำหน้าที่เปรียบเสมือนแขน ขา ของอีแกทในการขยายและสร้าง การเติบโตให้กับธุรกิจ
แม้ว่า กฟผ.จะเป็นเหมือนแม่ของบริษัทราชบุรีโฮลดิ้งก็ตาม แต่ขั้นตอนระบบการทำงานของทั้งสองฝ่ายก็รักษาผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก เหมือนดังเช่นการเจรจาซื้อไฟ จะต้องได้ผลคุ้มค่าทั้งสองฝ่าย
“ค่า adder เวลาเจรจากับอีแกท เขาไม่คิดว่าเราเป็นลูก Chinese Wall ว่าสูง นี่เป็น Everest Wall คิดเป็นเศษสตางค์แบ่งกันชัดเจน เราต้องเข้มแข็งและแกร่งพอให้สามารถไปข้างนอกได้” นพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวกับผู้จัดการ 360° ระหว่างให้สัมภาษณ์
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมารายได้หลักของราชบุรีโฮลดิ้ง มาจากการตั้งโรงงาน ผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตลาดแข่งขันเริ่มแคบลง เหตุเนื่องด้วย “วัตถุดิบ” มีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นถ่านหินลิกไนต์หรือก๊าซธรรมชาติที่ได้คาดการณ์ล่วงหน้า จะหมดประมาณ 20 ปีข้างหน้า
บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งได้เห็นสัญญาณนี้มาระยะหนึ่งแล้ว จึงเริ่มก้าวไปยังต่างประเทศ แสวงหาธุรกิจใหม่ๆ ให้กับบริษัทเพื่อสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ
การมองหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ไม่ได้มีเป้าประสงค์เพื่อป้อนไฟฟ้าขายให้กับอีแกท เพียงอย่างเดียว แต่การขยายธุรกิจไปสู่พื้นที่นอกประเทศเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับในประเทศที่เข้าไปลงทุนเป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่มรายได้กลับมาสู่บริษัทในอนาคต
นพพลในฐานะแม่ทัพใหญ่ เขาบอกผู้บริหารและพนักงานอยู่เสมอว่า วัฒนธรรมการทำงานในองค์กรต้องคิดใหม่ คิดนอกกรอบและย้ำเตือนถึงวิธีการทำงานจะต้องเป็นไปในรูปแบบที่เรียกว่า First Move and Fast Action
ระบบการทำงานดังกล่าวจะสอด คล้องไปกับวิสัยทัศน์ของบริษัทได้กำหนดไว้ว่า ต้องการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำ ในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 7,800 เมกะวัตต์ และเพิ่มการลงทุนในพลังงานทางเลือกให้ได้ 100 เมกะวัตต์ ในปี 2559
และถ้าหากเป็นไปตามแผนธุรกิจ บริษัทจะต้องใช้เงินทุนประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทในอีก 7 ปีข้างหน้า
จากนโยบายการขยายธุรกิจไปยังภูมิภาค บริษัทจึงได้ก่อตั้งบริษัทลูกเพื่อทำหน้าที่ลงทุนในต่างประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2552 ภายใต้ชื่อ บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท
แผนธุรกิจเข้าไปลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างชัดเจน เพราะได้กำหนดพื้นที่ลงทุนไว้แล้ว คือ ในเวียดนาม ลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ส่วนฟิลิปปินส์ ลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ อินโดนีเซีย ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่และธุรกิจเหมืองถ่านหิน รวมไปถึงก้าวกระโดดไปลงทุนในออสเตรเลีย ในธุรกิจเหมืองถ่านหิน
โครงการใน 4 ประเทศไม่ได้เห็นในหนึ่งปีข้างหน้า แต่เป็นแผนระยะยาวที่บริษัทมองหาโอกาส โดยเฉพาะธุรกิจในออสเตรเลียอยู่ในช่วงเริ่มต้นศึกษาเท่านั้น
การขยายธุรกิจไปต่างประเทศในปัจจุบัน บริษัทราชบุรีโฮลดิ้งจะเริ่มต้นจาก เพื่อนบ้านก่อนเพราะเป้าหมายเพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับ กฟผ. เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้า ในประเทศไทย
ในขณะเดียวกันการยึดภูมิศาสตร์ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ระบบการจัดการบริหารเป็นไปได้ง่ายกว่าประเทศ ที่อยู่ห่างไกลออกไป เพราะความคล้ายคลึง ทางด้านวัฒนธรรม และมีความรู้ประสบ การณ์มีแนวทางใกล้เคียงกับผู้บริหารคนไทย
เหมือนดังในช่วงเริ่มต้นธุรกิจได้สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าราชบุรี โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่าส่งผ่านทางท่อเข้ามาในประเทศไทย มีกำลังการผลิต 3,645 เมกะวัตต์ เมื่อปี 2543 โรงงานไฟฟ้าราชบุรี เป็นโรงงานที่มียอดการ ผลิตที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
นอกเหนือจากลงทุนในพม่าแล้ว บริษัทเข้าไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 4 แห่งในประเทศ ลาว คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 แขวงเวียงจันทน์ ให้บริการ ปลายปี 2553 โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสา แขวงไชยะบุรี ให้บริการปี 2558 โรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 3 แขวงเวียงจันทน์ ให้บริการปี 2560 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย แขวงจำปาศักดิ์และอัตตะปือ ให้บริการปี 2560
ส่วนโรงงานน้ำงึม 2 จะสร้างเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ 3 เครื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งโรงงานจะผลิตไฟฟ้า ให้กับประเทศไทยร้อยละ 90
จะเห็นได้ว่าบริษัทพึ่งพิงวัตถุดิบหลักจาก 2 แห่งคือ ก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่า และใช้ถ่านหิน น้ำ จากประเทศลาว
หากพิจารณาศักยภาพของบริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง แม้จะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ใน ประเทศ มีสินทรัพย์ 69,341.82 ล้านบาท มีรายได้ในปี 2552 รวม 37,653.83 ล้านบาทก็ตาม แต่การก้าวออกไปเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาคก็มีความเสี่ยงไม่น้อย
แต่นพพลได้ชี้ให้เห็นจุดแข็งของบริษัทคือประสบการณ์ของบุคลากรมีรอบด้านเกี่ยวกับพลังงาน เช่น ไฟฟ้า ถ่านหิน น้ำมัน แม้กระทั่งพลังงานทดแทน และการมี กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นสามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้อีกในระดับหนึ่ง
รวมไปถึงความร่วมมือกับพันธมิตรไทยเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ได้ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท P.T. Construction & Irrigation บริษัท Shalapak Development Company บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด
วิธีการทำงานของราชบุรีโฮลดิ้งคือการอ้างอิงประสบการณ์ เงินทุนและการทำงาน ควบคู่ไปกับพาร์ตเนอร์ เพราะกรรมการผู้จัดการใหญ่มองว่าบริษัทไม่ต้องการแข่งขันกับคู่แข่ง แต่สิ่งที่บริษัทบริหารงานอยู่ในปัจจุบันคือการแข่งขันกับตัวเอง
แผนธุรกิจของราชบุรีโฮลดิ้งในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ แม้นพพล จะบอกว่าแผนส่วนหนึ่งต้องผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์การใช้ไฟฟ้าของชาติ เพราะปัจจุบันประเทศไทยใช้ไฟฟ้าโดยรวม 24,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้ามีกำลังการผลิต 30,000 เมกะวัตต์ โดยครึ่งหนึ่ง กฟผ.เป็นผู้ผลิต ส่วนที่เหลือเป็นบริษัทเอกชน
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยุทธศาสตร์ของประเทศไทยยังไม่มีนโยบายชัดเจนในการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับในอนาคต โดยเฉพาะแผนการจัดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Independent Power Producer: IPP) มีแต่นโยบายสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer: SPP & Very Small Power Producer: VSPP) และพลังงานทดแทน
แผนธุรกิจที่ต้องสอดคล้องไปกับนโยบายเป็นส่วนหนึ่งที่บริษัทไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะว่าอีแกทบริษัทแม่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่ต้องสร้างความมั่นคงให้กับรัฐบาลด้านพลังงาน
ในอีกด้านหนึ่งแผนการลงทุนของบริษัทก็ไม่สามารถละเลยสร้างผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้น เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจเช่นเดียวกัน
แผนการสร้างโรงงานไฟฟ้าขนาดเล็กและพลังงานทดแทนของรัฐบาลเป็นส่วนหนึ่ง ที่สอดคล้องกับแผนธุรกิจของราชบุรีโฮลดิ้งเช่นเดียวกัน เพราะได้กำหนดไว้ว่าภายในปี 2559 บริษัทเตรียมลงทุนพลังงานทางเลือกไว้ 100 เมกะวัตต์
บริษัทได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ กำหนดเป้าหมายไว้ว่า จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 60 เมกะวัตต์ และการลงทุนในครั้งนี้เป็นการลงทุนพลังงานทางเลือกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
บริษัทได้ลงทุนซื้อที่ดินหนึ่งพันไร่เพื่อติดตั้งเสาประมาณ 20 ต้น แต่ละเสาลงทุนเสาๆ ละ 2.3 ล้านยูโร และเริ่มให้บริการได้ในปี 2554
ส่วนพลังงานทดแทนด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นโครงการไฟฟ้าพลังงานร่วม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล อยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกพันธมิตรและร่วมมือกับชุมชน โดยใช้มันสำปะหลัง ข้าวโพด เศษไม้สักหรือเหง้ามัน ใช้เป็นวัตถุดิบคาดว่าจะอยู่ในภาคอีสาน
ในทัศนคติเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก นพพลมองว่าเป็นพลังงานที่เข้ามาช่วยเสริม พลังงานหลัก เพราะไม่สามารถรองรับการใช้พลังงานได้ทั้งหมด เขายังเชื่อว่าการผลิตไฟฟ้ายังต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เนื่องจากพลังงานทดแทนยังต้องพึ่งพาธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นลม หรือแดด มีข้อจำกัดด้านเวลา จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในเวลากลางวัน หรือพลังงานลม ก็ต้องอาศัยความเร็วของลมต้องอยู่ในระดับ 5-6 เมตรต่อวินาที
แผนลงทุนในพลังงานทางเลือกส่วนหนึ่งเป็นแนวคิดของนพพล ที่เขามองว่าจำเป็น ต้องมี และบริษัทจะต้องเริ่มเตรียมความพร้อม เพราะกฎระเบียบใหม่ๆ เช่น มาตรฐานไอเอสโอ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ จะเป็นเงื่อนไขทางการค้าในอนาคตอันใกล้
ประสบการณ์ทำงานในองค์กรผู้ผลิตไฟฟ้าของนพพลที่เริ่มทำงานให้กับอีแกท จนกระทั่งมาถึงราชบุรีโฮลดิ้งร่วม 30 ปี ทำให้เขาคาดการณ์ว่ากฎเงื่อนไขทางการค้า จะอ้างอิงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างแน่นอน
แผนธุรกิจของบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งจะเดินเร็วกว่าแผนพลังงานแห่งชาติของรัฐบาล แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรเอกชนไม่สามารถหยุดนิ่งได้ แม้ว่าสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจ การเมืองจะอยู่ในสภาวะใดก็ตาม เพราะบริษัทต้องคำนึงถึงพนักงาน ผู้ถือหุ้น ความมั่นคงของธุรกิจ สิ่งสำคัญต้องสร้างความเติบโต
เหมือนดังที่นพพลพูดประโยคนี้ถึง 2 ครั้งระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการ 360° ว่า “อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน”
|
|
|
|
|