|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

“เรามองตัวเองไม่ใช่โรงกลั่นน้ำมันอย่างเดียว ไทยออยล์ครบ 50 ปี เราจะเป็นบริษัทที่เพิ่มมูลค่าให้พลังงาน หรือ “Energy Converter” คือไม่ว่าโลกต้องการพลังงานชนิดใด เราจะเป็นผู้เพิ่มมูลค่าและเพิ่มคุณภาพของพลังงานชนิดนั้น”
“ผมไม่แน่ใจว่า น้ำมันจะเป็นพลังงานหลักของโลกในอีก 30 ปีข้างหน้าหรือไม่ แต่ใน 30 ปีต่อไปนี้ยังเป็นโลกของ น้ำมัน ดังนั้น การเป็น Energy Converter ของเราก็ไม่ได้หมายความว่าจะหนีจากน้ำมัน แต่ขณะเดียวกันก็มองพลังงานชนิด อื่นไปด้วย ไทยออยล์จะมองภาพธุรกิจเป็น alternative หมายถึงพลังงานไปทางไหน เราจะไปทางนั้น”
วิสัยทัศน์ของสุรงค์ บูลกุล ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยออยล์ กล่าวกับ ผู้จัดการ 360° ในโอกาสที่บริษัทจะมีอายุครบครึ่งศตวรรษในปีหน้า
จาก “บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทย” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 2504 ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 20 ล้านบาท กับเงื่อนไขที่รัฐบาลในขณะนั้นกำหนดให้ต้องมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 35,000 บาร์เรลต่อวัน
ดูเหมือนชื่อบริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทยแทบจะไม่มีคนรู้จัก แต่ถ้าหากเอ่ยชื่อ “ไทยออยล์” นักลงทุนหลายคนรู้จักดี โดย เฉพาะเวลานี้ที่หุ้นพลังงานกลายเป็นที่หมายปองของนักเล่นหุ้น
มาถึงวันนี้ ไทยออยล์มีทุนจดทะเบียนมากขึ้นกว่า 1 พันเท่า และมีกำลังการกลั่น มากที่สุดในประเทศถึง 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของกำลังการกลั่นของทั้งประเทศ และนับว่าเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่มีกระบวนการกลั่นแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Refinery) ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยความใหญ่ของไทยออยล์ เมื่อเทียบกับบริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นของ ปตท. ไทยออยล์มักถูกคาดหมายให้กลายเป็น “เรือธง” ในการนำพาธุรกิจโรงกลั่นไทยก้าวเข้าสู่ระดับภูมิภาค
จากจุดเริ่มต้นที่ธุรกิจโรงกลั่น วันนี้ไทยออยล์มีอีกหลายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจผลิตสารพาราไซลีน ธุรกิจผลิตน้ำมันหล่อลื่น (group 1) ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทางเรือและทางท่อ ธุรกิจพลังงานทดแทน และธุรกิจ สารทำละลาย
สำหรับผลประกอบการปี 2552 ไทยออยล์มีรายได้สูงถึง 287,393 ล้านบาท เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทำรายได้มากที่สุด (อันดับ Manager 100) เป็นอันดับ 2 รองจาก บมจ.ปตท. บริษัทแม่
อีกตัวเลขที่น่าสนใจ ได้แก่ กำไรในปีที่ผ่านมาของไทยออยล์ ซึ่งสูงกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท แต่กลับไม่ได้มาจากธุรกิจการกลั่นเป็นหลัก แต่มาจากธุรกิจผลิตพาราไซลีน ที่ทำกำไรให้ไทยออยล์มากกว่า 7 พันล้านบาท ขณะที่ธุรกิจการกลั่นทำกำไรได้เพียง 3,281 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยลบในธุรกิจโรงกลั่น สืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ลดลง อย่างมากในปีที่แล้ว ทำให้ค่าการกลั่นลดลงตาม ประกอบกับแรงกดดันจากดีมานด์ที่ลดลง เพราะวิกฤติซัพไพรม์ และซัปพลายล้นตลาดจากจำนวนโรงกลั่นทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
อีกส่วนเป็นผลจากความสำเร็จในการขยายกำลังผลิตพาราไซลีนจาก 2 แสนตัน ไปสู่ 4 แสนตัน ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ดีมานด์และราคาขาขึ้น อันเป็นอานิสงส์จากเศรษฐกิจจีนและอินเดียที่เติบโตต่อเนื่อง บวกกับเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัว ส่งผลต่อ การบริโภคพลาสติกอันเป็นผลผลิตของปิโตรเคมี
การมีธุรกิจปิโตรเคมีควบคู่ไปกับธุรกิจโรงกลั่นนับเป็นกลยุทธ์ในการลดความเสี่ยง จากการทำธุรกิจหลัก และเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารวัตถุดิบในขณะเดียวกัน รวมทั้งยังสร้างรายได้และกำไรมหาศาลในช่วงขาขึ้นของธุรกิจ
“หน้าที่ของเราคือต้องทำให้การผลิต มีความยืดหยุ่น สามารถสับหลีกเอาน้ำมันพื้นฐานไปสู่สายการผลิตที่ให้มูลค่าสูงกว่า หรือเปลี่ยนไปสู่สายการผลิตอะโรเมติกส์ที่ได้ราคาดีกว่า แต่ถ้าอะโรเมติกส์ราคาไม่ดีก็สามารถกลับไปผลิตเป็นน้ำมันได้ตามความจำเป็น”
สุรงค์ยกตัวอย่างโครงการ Benzene Derivatives ที่พยายามลดการผลิตและส่งออก Benzene ซึ่งนับวันมีแต่ราคาจะถูกลง ด้วยการนำไปเป็นห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในสายการผลิตโซลเวนต์ สารละลาย ผงซักฟอก และอุตสาหกรรมครัวเรือนชนิดอื่น รวมถึงน้ำมันหล่อลื่น “group 1” ที่เป็นสินค้ายอดฮิตสร้างกำไรกว่าพันล้านบาทให้กับกลุ่มในปีที่ผ่านมา
ไม่เพียงเพิ่มมูลค่าและราคาให้กับสินค้าพื้นฐาน (commodity) อย่างน้ำมัน ให้กลายเป็นสินค้าพื้นฐานอีกชนิด ไทยออยล์ยังมีความพยายามในการสร้างมูลค่า เพิ่มให้น้ำมันกลายเป็นสินค้าพิเศษเฉพาะ (specialty product) ที่มีราคาสูงขึ้นได้ โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีทางพลังงาน และใช้ไอเดียหยิบยกกระแสสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลกมาพัฒนาสินค้า
เช่น โครงการ Euro IV หรือน้ำมัน สะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาตรฐานเดียวกับที่ใช้ในแถบยุโรป ซึ่งเมืองไทยจะบังคับใช้จริงในปี 2555 แต่ “ยูโร 4” ของไทยออยล์จะแล้วเสร็จก่อนใครในปีหน้า และผลิตภัณฑ์น้ำมันยางผสมในยางรถยนต์ ที่มีสารอะโรเมติกส์ในปริมาณที่ต่ำลง เพื่อให้ถูกต้องตามข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งจะทำให้สามารถ เจาะเข้าไปขายในตลาดยุโรปได้ รวมถึงยาง มะตอยสำเร็จรูปที่แห้งและเบาทำให้ขนส่งได้ง่าย เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง โดยเฉพาะขนส่งไปในตลาดต่างประเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้ ไทยออยล์มีแนวโน้มที่จะรุกธุรกิจผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าและต่อยอดจากวัตถุดิบน้ำมัน เพื่อผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ กลุ่มดาวน์สตรีม (downstream) ที่มีราคาสูงกว่ากลุ่มมิดสตรีม (midstream) และกลุ่ม specialty products ที่มีราคาสูงขึ้นไปอีก
นอกจากช่วยเพิ่มรายได้และกำไรให้กับบริษัท ความพยายามต่อยอดให้กับธุรกิจการกลั่นน้ำมันถือเป็นหนทางไปสู่การเป็น Energy Converter ตามนิยามของสุรงค์ สมเจตนารมณ์ของไทยออยล์ ที่ต้องการเป็นผู้เพิ่มมูลค่าและคุณภาพให้กับพลังงาน
“การเป็น Energy Converter ของเราไม่ได้หมายความว่าจะหนีจากธุรกิจน้ำมัน น้ำมันก็ยังเป็นรากฐาน รวมทั้งธุรกิจปิโตรเคมีและน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่จะเป็นอนาคตของเราในระยะ 10 ปีข้างหน้า เพียงแต่ว่าวันนี้เราก็ต้องมองพลังงานชนิดอื่นด้วย ในเมื่อเราจะเป็นองค์กรร้อยปี ก็คงต้องมองพลังงานนอกเหนือจากไฮโดรคาร์บอน”
ณ วันนี้ เอทานอลเป็นพลังงานสีเขียวและเป็นพลังงานทางเลือกที่จะเลือกก็ได้ แต่ถึงไม่เลือกเลยก็แค่เสียภาพลักษณ์ไปบ้าง แต่ไม่ทำให้ธุรกิจเสียหาย หลายธุรกิจจึงเลือกดำเนินโครงการเอทานอลเพียงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ CSR
แต่สำหรับไทยออยล์ โครงการเอทานอลเป็นตัวอย่างโครงการเพื่อมุ่งสู่ Energy Converter ที่สามารถพัฒนาไปสู่ธุรกิจและยังประสบความสำเร็จที่ดี โดยเฉพาะการลงนามร่วมทุนระหว่างไทยออยล์กับบริษัททรัพย์ทิพย์ ในเครือบริษัททรัพย์สถาพร 1 ใน 5 ผู้ส่งออกมันสำปะหลังที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ในสัดส่วน 50 : 50 ด้วยเงินลงทุนเกือบ 7 ร้อยล้านบาท
ปัจจุบันความต้องการใช้เอทานอลภายในประเทศมีอยู่ 1.3 ล้านลิตรต่อวัน โดย เป็นดีมานด์จากกลุ่ม ปตท. ร่วม 5 แสนลิตร ขณะที่บริษัททรัพย์ทิพย์ผลิตได้ 2 แสนลิตร ต่อวัน และอาจขยายไปได้ถึง 4 แสนลิตร
ไม่เพียงเอทานอลจากมันสำปะหลัง ในปี 2549 ไทยออยล์ยังร่วมทุนกับ บมจ.ผาแดงอินดัสทรี และ บมจ.เพโทรกรีน (ในกลุ่มมิตรผล) ตั้งบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อยแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย โดยมีกำลัง ผลิตเอทานอล 200,000 ลิตรต่อปี และได้เริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2552
“วันนี้เรามาเป็นผู้นำการใช้เอทานอล เพราะเรามีความเชื่อเช่นเดียวกับภาครัฐ คือต้องมองถึงความเป็นอิสระจากการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศให้มากที่สุด ทุกวันนี้ เราใช้พลังงานนำเข้าถึง 90% ขณะที่มีแก๊สในอ่าวไทยเหลือไม่ถึง 30 ปี เราจำเป็นต้องสร้างพลังงานของตัวเอง แม้เอทานอลอาจจะไม่คุ้มในเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ต้องผลักดันเพราะมันเป็นพลังงานที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับประเทศ”
สุรงค์ตั้งใจกล่าวราวกับเพื่อให้รู้ว่า พลังงานเอทานอลเป็นพันธกิจของไทยออยล์อยู่แล้ว หาใช่เพราะถูกมอบหมายจากบริษัทแม่แล้วจึงทำ
อย่างไรก็ดี ภายใต้ร่มของ ปตท. ไทยออยล์ได้รับมอบหมายอย่างชัดเจนเพื่อให้เป็น ผู้นำการใช้เอทานอลของกลุ่ม ปตท. และยังเป็นแกนหลักในการริเริ่มโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกหลายอย่างของเครือ
มาถึงวันนี้ ไทยออยล์มองภาพการผลิตเอทานอลไกลกว่าการทำพลังงานทดแทน เพื่อสร้างภาพ CSR ด้านสิ่งแวดล้อม และก็ไม่ได้มองเอทานอลเป็นแค่เพียงเชื้อเพลิง แต่ในฐานะ Energy converting Company ไทยออยล์มองไปถึงการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าเอทานอลไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่นอกจากภาคการขนส่ง
สุรงค์ยกตัวอย่างการต่อยอดธุรกิจผลิตเอทานอลไปสู่ธุรกิจไบโอพลาสติก และไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร โดยเขามองไกลไปถึงตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน
“อนาคต 5 ปีข้างหน้า เชื่อว่าธุรกิจเอทานอลน่าจะดีและเป็นส่วนขยายที่ชัดเจนของไทยออยล์ การที่เราเข้ามาร่วมทุนตรงนี้ เชื่อว่าก็น่าจะสร้างรายได้และกำไรให้ไทยออยล์ เป็นกอบเป็นกำได้” เขากล่าวอย่างมั่นใจ
สุรงค์เชื่อว่า ความสามารถในการมองภาพที่คนอื่นยังมองไม่เห็นและมองได้ไกลกว่าคนอื่น และความสามารถจับเทรนด์ทางธุรกิจพลังงานได้ก่อนคนอื่น เป็นคุณลักษณะพิเศษของคนไทยออยล์ โดยมีความพร้อมของบริษัทเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้ภาพเหล่านั้นกลายเป็นจริงขึ้นมาได้
ทั้งนี้ ปตท.ยังได้วางตำแหน่งให้ไทยออยล์เป็นผู้นำด้านคำปรึกษาและซอฟต์แวร์ในเรื่อง Energy Solution โดยอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน 49 ปี ซึ่งก็ตรงกับเป้าหมายในการเป็น Energy Converter ของไทยออยล์ เพราะธุรกิจให้คำปรึกษาทางด้านพลังงานก็นับเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ที่สั่งสมมาจากธุรกิจโรงกลั่น
นอกจากนี้ ปตท.ยังได้มอบหมายให้ไทยออยล์เป็นผู้นำในการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เป็นผู้นำกลุ่มไฟฟ้าของเครือ เพื่อสรรหาพลังงานสะอาดมาเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เช่น สาหร่าย ผักตบ หรือพลังแสงอาทิตย์ เป็นต้น
ด้วยความแข็งแกร่งของโครงสร้างธุรกิจและผลการดำเนินงาน ไทยออยล์จึงก้าวขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งในธุรกิจโรงกลั่นของเมืองไทย บวกกับความพร้อมในการก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศ ลู่ทางการทำธุรกิจในต่างประเทศจึงเริ่มก่อร่างเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมาถึงยุคของสุรงค์
หากย้อนดูเส้นทางการทำงานของสุรงค์อย่างละเอียด จะพบว่าเขาถูกวางตัวให้ดูแลงานด้านต่างประเทศของ ปตท.มาโดยตลอด ดังนั้น การถูกส่งเข้ามาเป็นแม่ทัพไทยออยล์ ก็พอจะคาดเดาได้ว่าทิศทางของไทยออยล์ในรุ่นเขาน่าจะมีการรุกหนักกับธุรกิจต่างประเทศ มากขึ้น โดยอาศัยจุดแข็งที่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายกว้างใหญ่ของกลุ่ม
แนวทางในการออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ สุรงค์มีแนวโน้มเลือกที่จะใช้วิธีเดียวกับบริษัทในเครือ ปตท.คือการเข้าไปซื้อกิจการ (เทกโอเวอร์) แต่ถ้าจำเป็นต้องสร้างโรงกลั่นแห่งใหม่ในต่างแดน เขาเน้นการผลิตเพื่อขายผลิตภัณฑ์ให้กับประเทศที่เข้าไปลงทุน
“วันนี้ไทยออยล์เริ่มมีพื้นที่จำกัด ดังนั้น ถ้า ปตท.จะไปกันเป็นกลุ่มไทยออยล์ก็อยากจะ join ด้วย เพราะเราเป็น midstream การไปโดดเดี่ยวก็ไม่มี value การไปเป็นกลุ่มก็ทำให้เกิดความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันดีขึ้น” สุรงค์สรุป
ปัจจุบันไทยออยล์มีธุรกิจโซลเวนท์อยู่ในเวียดนาม หลังจากรับโอนกิจการจากเชลล์ เสร็จเมื่อปลายปีที่แล้ว นับเป็นก้าวแรกในการขยายธุรกิจและนำเสนอผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของไทยออยล์บุกตลาดอินโดจีน
อีกธุรกิจที่สุรงค์มองว่ามีความพร้อมสูงในการขยายออกไปต่างประเทศ ได้แก่ ธุรกิจเดินเรือ เขาวางแผนจะเสริมกองเรือให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อเปิดบริการขนส่งให้กับกลุ่ม ปตท.ทั้งเครือ จากเดิมที่เคยให้บริการแต่บริษัทแม่
สุรงค์ถือเป็นลูกหม้อของ ปตท.และ มีประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นเจ้านายมาตลอดชีวิตการทำงานที่ ปตท.ร่วม 27 ปี กระทั่งปลายปีที่แล้ว เขากลายเป็นผู้บริหาร จาก ปตท.คนที่ 3 ที่ได้ขึ้นมานั่งคุมบังเหียน บริษัทไทยออยล์
ภายใต้พันธสัญญากับบริษัทแม่ หน้าที่หลักของสุรงค์คือการทำให้ไทยออยล์ และกลุ่ม ปตท.เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับ ปตท.และบริษัทในเครือ
ขณะที่นั่งเก้าอี้ CEO ของไทยออยล์ สุรงค์ก็ต้องมีหน้าที่ยกระดับศักยภาพของไทยออยล์ให้เข้มแข็งขึ้น โดยนำเอาจุดแข็ง ของกลุ่ม ปตท.เข้ามาเป็นสปริงบอร์ดในการก้าวขึ้นไปสู่ความเป็น “ผู้นำในการดำเนินธุรกิจเชิงบูรณาการด้านการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีที่ต่อเนื่องอย่างครบวงจร ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”... ตามวิสัยทัศน์ที่บริษัทวางไว้
|
|
 |
|
|