|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ความร้อนแรงทางการเมืองเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผันผวน ดัชนีหุ้นบางวันบวก แต่บางวันก็ลบ ทำให้ตลาดฯ ต้องรายงานวันเปิดและปิดทำการวันต่อวัน
วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ตลาดต้องปิดเวลา 12.00 น. หลังจากที่ประกาศว่าจะปิดในเวลา 15.30 น. ก่อนเวลาทำการจริงเข้ามา 1 ชั่วโมง แต่ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ปิดที่ 765.54 เพิ่มขึ้น 5.43 เพิ่มขึ้นจากวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม ที่ดัชนีปิดที่ 753.06 ลงไป 15 จุด
แม้ว่าการซื้อขายจะเพิ่มขึ้น แต่ความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้เกิดการเทขายถึง 6,308.42 ล้านบาท ส่วนดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการซื้อขายภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 11,076.42 ล้านบาท ในวันที่ 19 พฤษภาคม
การเมืองทำให้ตลาดผันผวนตลอดเวลา เพราะในวันที่ 20-21 พฤษภาคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องประกาศปิดการซื้อ-ขายหุ้นตลอดทั้งวัน และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ประกาศให้ธนาคารหยุดทำการ 2 วันเช่นเดียวกัน
วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สภาวการณ์เช่นนี้มิได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นอย่าง ต่อเนื่องในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศก็เป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สามารถปฏิเสธได้ จะทำได้ก็แต่เพียงรับมือเพื่อให้ตลาดทุนเสียหายน้อยที่สุด
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ The Stock Exchange of Thailand: SET ปัจจุบันมีอายุ 35 ปี ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อระดมทุน รวมทั้งเป็นแหล่งเงินออม
บทบาทของตลาดหลักทรัพย์คือการกระตุ้นให้บริษัทเข้ามาระดมเงินทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยผ่านผลิตภัณฑ์ด้านการเงินต่างๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ และอื่นๆ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งของนักลงทุน จากแต่เดิมที่กู้เงินจากสถาบันการเงินเป็นส่วนใหญ่
ทำให้ปัจจุบันมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณ 564 บริษัท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) ถึง 5.9 ล้านล้านบาท ในขณะที่เงินกู้จากธนาคาร ทั้งระบบอยูที่ 7.8 ล้านล้านบาท
แม้ว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาจะน้อยกว่าระบบเงินกู้ในสถาบันการเงิน แต่ตัวเลขเริ่มใกล้เคียงมากขึ้น บ่งบอกให้รู้ว่านักลงทุนให้ความสำคัญให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น
บทบาทของตลาดหลักทรัพย์เสมือนทวีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ เพราะเงินลงทุนหรือเงินออมที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์สามารถบ่งชี้ให้เห็นถึงทิศทางของเศรษฐกิจภาวะโดยรวมได้เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถบ่งบอกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และในปัจจุบันดัชนีราคาหุ้นในตลาด หลักทรัพย์สามารถบอกสัญญาณการเติบโตได้ประมาณ 3 เดือนล่วงหน้า
ภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ กับผู้จัดการ 360 ํ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ในตอนนั้นเธอยังดำรงตำแหน่งนี้เป็นเดือนสุดท้าย
ตลอดระยะเวลาการทำงานของเธอในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่ากับอายุของตลาดฯ 35 ปี ตลาดฯ เปิดดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์ในวันที่ 30 เมษายน 2518 ในขณะที่ภัทรียาเริ่มทำงานในวันที่ 6 ตุลาคม 2518 เป็นพนักงานลำดับที่ 21 ในยุคศุกรีย์ แก้วเจริญ นั่งเป็นกรรมการและผู้จัดการคนแรก
ภัทรียาเป็นกรรมการและผู้จัดการคนที่ 10 และที่สำคัญที่สุดเธอเป็นลูกหม้อเพียงคนเดียวของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ขึ้นมาสู่ตำแหน่งนี้ เธอจึงสามารถเล่าเหตุการณ์สำคัญๆ ได้เหมือนกับว่าเหตุการณ์เพิ่งผ่านไปไม่นาน
เธอเล่าว่าบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มซื้อขายในวันแรกมีทั้งหมด 11 แห่ง แต่เหลืออยู่ 5 บริษัทที่เติบโตควบคู่มากับตลาดหลักทรัพย์ฯ จนถึงปัจจุบันคือธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ชื่อเดิมว่าลีกวงมิ้งทรัสต์
ในตอนนั้นมูลค่าการซื้อขายในวันแรกมีเพียง 1.98 ล้านบาท ปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขาย 14,315.87 ล้านบาท (19 พฤษภาคม 2553)
ตลอดระยะเวลา 35 ปีผ่านมา ภัทรียาชี้ให้เห็นความสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดฯ ได้พยายามเปรียบเทียบ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดกับจีดีพี หรือเปรียบเทียบเงินกู้และเงินออมของระบบธนาคารโดยรวม
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปรียบเทียบดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯ กับจีดีพี เช่นไตรมาสแรกปี 2552 ดัชนีอยู่ที่ประมาณ 400 จุด จีดีพี -4 สาเหตุเนื่องมาจากประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินจากสหรัฐอเมริกา
เหตุการณ์สำคัญประการหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้ามามีบทบาทโดดเด่นต่อ ตลาดทุนก็คือ ในช่วงปี 2537-2540 ในช่วงเวลานั้นตลาดทุนค่อนข้างบูมและร้อนแรง เห็นได้จากดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์พุ่งขึ้นสูงสุด 1,753.73 จุด ในปี 2537 เป็นเวลาที่สถาบันการเงินและบริษัทเอกชนสนุกสนานกับการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเพื่อขยายธุรกิจ
ภัทรียาเล่าว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ประมาณปลายปี 2536 เริ่มมีสัญญาณผลประกอบการบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ บางแห่งเริ่มลดลง หนึ่งในนั้นก็คือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ
เข้าปี 2540 วิกฤติต้มยำกุ้งเกิดเหตุการณ์ค่าเงินบาทถูกโจมตี ปัญหาสถาบันการเงิน ตลาดเงินตึงตัวมาก ส่งผลให้สถาบันการเงิน 16 แห่งถูกระงับกิจการชั่วคราว รวม ไปถึงปิดสถาบันการเงิน 56 แห่งอย่างถาวร และยังมีการประกาศค่าเงินบาทลอยตัว ทำให้ประเทศไทยในช่วงนั้นต้องขอรับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ
ปัญหาดังกล่าวทำให้สถาบันการเงินเริ่มทวงหนี้และไม่ปล่อยเงินกู้ ในช่วงปี 2541-2544 ทำให้บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งเข้ามาระดมทุนในตลาดฯ โดยเฉพาะในปี 2541 ระดมทุน 517,825 ล้านบาท ปี 2542 ระดมทุน 244,432 ล้านบาท
นอกจากเป็นแหล่งระดมทุนแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังต้องดูแลควบคุมการเคลื่อนไหวของเงินทุนหรือปัจจัยเสี่ยง ทั้งภายในและภายนอกที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย จนบางครั้งต้องนำกฎระเบียบมาใช้เป็นครั้งแรก ก็คือการประกาศหยุดซื้อขายหุ้นชั่วคราว (Circuit Breaker) เป็น เวลา 30 นาที เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เนื่องจากความกังวลที่ธนาคารแห่งประเทศ ไทยประกาศใช้มาตรการสำรองหนี้ 30% สำหรับการนำเข้าเงินทุนระยะสั้น
Circuit Breaker เริ่มทำหน้าที่บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะในปี 2551 ได้ประกาศ ใช้ถึง 2 ครั้ง คือในวันที่ 10 ตุลาคม และ 27 ตุลาคม
จะเห็นได้ว่าความเป็นไปของตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นอยู่กับปัจจัยรอบด้าน ทวีผลกระทบมากขึ้นตามลำดับด้วยอิทธิพลการสื่อสารที่รวดเร็วทั่วโลก ยิ่งตลาดทุนเชื่อมโยงกันมากเท่าไร ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นในรูปแบบของโดมิโนเช่นเดียวกัน
แต่องค์กรแห่งนี้ก็มีความมุ่งหมายที่จะขยายขอบเขตและพัฒนาตัวเองให้เจริญเติบโตเคียงคู่ไปกับการเปิดเสรีทาง การเงินของโลก เพราะการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในประเทศเท่านั้น
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตระหนักดีว่าตลาดทุนกำลังแข่งขันดึงบริษัทหรือนักลงทุนภายในประเทศไทยไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ในทางตรงกันข้ามบทบาทนี้ตลาด หลักทรัพย์ฯ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป
ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดแผนพัฒนาตลาดทุนไทยขึ้นมา เนื่องจากองค์กรรองรับตลาดทุนยังไม่ดีพอ เพราะจำนวนนักลงทุนสถาบันยังมีไม่มาก และบริษัทที่เป็นนักลงทุนรายย่อยยังมีจำนวนน้อย ผลิตภัณฑ์ไม่มีความหลากหลาย มีข้อจำกัดด้านกฎหมาย
จากสาเหตุเหล่านี้ทำให้ตลาดทุนมีการเติบโตล่าช้า โดยเฉพาะเปรียบเทียบตลาดทุนกับจีดีพี มีขนาดเพียงร้อยละ 51 (5 มิถุนายน 2552) เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค เดียวกัน เช่น ฮ่องกงร้อยละ 845 สิงคโปร์ร้อยละ 202 มาเลเซียร้อยละ 104 เกาหลีใต้ร้อยละ 66
แม้ความคืบหน้าในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจจะยังไม่สามารถมองเห็นได้เป็นรูปธรรม ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้แปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทจำกัด ตามร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
กระบวนการจากนี้ไปหลังจากมติ ครม.อนุมัติแล้วจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาภายใน 60 วัน และจะให้ ครม.พิจารณาต่ออีก 30 วัน
สำหรับวัตถุประสงค์ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นกฎหมาย เพื่อตอบสนองกับแผนพัฒนาตลาดทุนของไทยปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ และยกเลิกการใช้อำนาจผูกขาดในระบบตลาดทุนไทย รวมไปถึงจัดโครงสร้างองค์กรตลาดทุนใหม่ โดยให้แยกระหว่างองค์กรของตลาดทุนกับองค์กรที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ออกจากกันและจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน พ.ร.บ.นี้จะเป็นกลไกขับเคลื่อนตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ก้าวทันโลกต่อไป
นอกจากการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ภายในประเทศแล้ว ด้วยประสบการณ์ทำงาน 35 ปี ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าไปมีบทบาทในต่างประเทศ ด้วยการเป็นที่ปรึกษาจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ในประเทศเพื่อนบ้านเช่น ประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อนำเทคโนโลยีสำหรับการซื้อขายและให้ความรู้แก่บุคลากร
ภาพรวมการแข่งขันตลาดทุนไทยนับจากนี้ไปจะเป็นการทำงาน 2 รูปแบบเคียงคู่กันไป รูปแบบแรก บริษัทต้องแข่งขันกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ด้วยการมองหาโอกาสให้บริษัททั้งในและต่างประเทศเข้ามาระดมทุนเพิ่มมากขึ้น เพราะบริษัทขนาดใหญ่ ของไทยได้เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯเกือบหมดแล้ว
สิ่งที่ตลาดฯ มองเห็นโอกาสในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ก็คือการชักชวนรัฐวิสาหกิจเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือรวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ ของภาครัฐในรูปแบบออกหุ้นกู้หรือพันธบัตร
ส่วนรูปแบบที่สองคือ ร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน หรือเรียกว่า ASEAN Linkage เพื่อเชื่อมโยงการซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มอาเซียน โดยข้อตกลงจะเริ่มอย่างเป็นทางการในไตรมาสแรกของ ปี 2554
ความท้าทายของตลาดหลักทรัพย์ฯ นับจากนี้ไปจะอยู่ในทุกแห่งของโลกที่เปิดเสรีตลาดทุน โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนและผู้ที่รับไม้ต่อในฐานะกรรมการและผู้จัดการคนที่ 11 ก็คือ จรัมพร โชติกเสถียร อดีตรองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี ธนาคารไทยพาณิชย์ เขาจะเป็นหนึ่งในฐานะผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
|
|
|
|
|