|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ประจักษ์พยานแห่งร่องรอยความจำเริญของบ้านเมืองในสมัยเอโดะ (ค.ศ.1603-1868) ที่ถูกขนานนามว่า Little Edo ซึ่งยังปรากฏอยู่จวบจนปัจจุบันนี้อาจพบเห็นได้หลายแห่งรายรอบเอโดะ (ชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนเป็นโตเกียว) แต่คงไม่มีแห่งใดที่ถูกกล่าวขานถึงบ่อยครั้งเท่า Little Edo ในเมือง Kawagoe
Little Edo เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ในภาษาญี่ปุ่นว่า Ko-Edo ซึ่งหมายความถึงเมืองในสมัยเอโดะ ที่วางผังโดยมีปราสาทเป็นศูนย์กลางชุมชนรวมถึงมีความเจริญรุ่งเรืองตามแบบอย่างของเอโดะ อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเมืองที่เข้าข่าย Ko-Edo นั้นเป็นตรรกะที่บ่งบอกถึงความจงรักภักดีของไดเมียว ผู้ครองเมืองที่ขึ้นตรงต่อโชกุนซึ่งปกครองประเทศอยู่ในปราสาทเอโดะ
ความเป็นมาของการก่อร่างสร้างเมือง Kawagoe เริ่มตั้งแต่ก่อนสมัยเอโดะโดยเฉพาะวัดเก่าแก่หลายแห่งซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญสืบเนื่องจากความศรัทธาในพุทธศาสนาลัทธิหินยานของเจ้าเมือง Kawagoe ในอดีต ยกตัวอย่างวัด Kitain ซึ่งต่อมากลายเป็นหนึ่งในอารามหลวงในสมัยเอโดะ
หลังจากที่โชกุน Ieyasu Tokugawa สามารถรวมศูนย์อำนาจได้สำเร็จและสถาปนาเอโดะขึ้นเป็นศูนย์บัญชาการปกครองประเทศในขณะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงประทับที่วังในเมืองเกียวโตนั้น Kawagoe เริ่มทวีบทบาทสำคัญเป็น Castle Town ที่ดำเนินความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นในฐานะเมืองลูกหลวงของเอโดะ
ปราสาท Kawagoe สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1457 โดยซามูไรตระกูล Hojo เป็นปราสาทแบบญี่ปุ่นที่ปลูก สร้างบนฐานแบนราบซึ่งมีรูปลักษณ์ภายนอกแตกต่างไปจากปราสาทส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.1870 ปราสาทหลังนี้ได้รับการบูรณะใหม่ตามคำสั่งของโชกุนเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการเมืองและปกครองของ Kawagoe
จุดเปลี่ยนนี้ส่งผลให้ Kawagoe กลายเป็น Castle Town ที่อยู่ใกล้ เอโดะมากที่สุดซึ่งเชื่อมต่อกันโดยแม่น้ำ Shingashi และเส้นทางเดินเท้า Kawagoe kaido ที่มีระยะทางเพียง 43 กิโลเมตรจากจุดเริ่มต้นที่ Nihonbashi ใจกลางกรุงโตเกียว (ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเป็นทางหลวงหมายเลข 254) จึงอำนวยให้ยุทธศาสตร์การพัฒนา, วิทยาการความรู้, การจัดระเบียบสังคม รวมถึงวัฒนธรรมต้นแบบทั้งหมดจากเอโดะถูกส่งผ่านเข้าสู่ Kawagoe อย่างง่ายดายในลักษณะย่อส่วนให้เล็กลงเท่านั้น
ผลพวงของความเจริญรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้นนี้เป็นประดุจแรงดึงดูดให้ประชากรของ Kawagoe เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเปลี่ยนสภาพไปเป็นชุมชนที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่สอดคล้องควบคู่ไปกับความมั่งคั่งของเอโดะ
บนสองฟากถนน Ichiban Gai ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญใจกลาง Little Edo เรียงรายด้วยร้านค้าภายในอาคารแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า Kurazukuri ซึ่งอาจดูละม้ายคล้ายกันไปหมด แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่าสถาปัตยกรรมของอาคารแต่ละหลังได้รับการออกแบบอย่างประณีตให้สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำกันหรือกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในแง่ที่ว่าเป็นอาคารซึ่งมีเพียงหลังเดียวในโลก
ยิ่งไปกว่านั้นกระเบื้องที่ห่อหุ้มตัวอาคาร Kurazukuri ยังโดดเด่นตรงที่มีความทนทานต่อการเผาไหม้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีการผลิตกระเบื้องทนไฟที่นำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการสร้างบ้านในปัจจุบัน
นอกจากนี้อาคาร Kurazukuri ที่เคยมีอยู่ดาษดื่นในเอโดะได้สูญสลายไป เนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ Great Kanto Earthquake ในปี ค.ศ.1923 และอีกส่วนถูกทำลายไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ Kurazukuri ที่เรียงรายอยู่ใน Little Edo เป็นสมบัติแผ่นดินอันล้ำค่าที่หาดูได้ไม่ง่ายนัก
กระนั้นก็ดีสิ่งปลูกสร้างที่ถือว่าเป็น Landmark สำคัญคือหอนาฬิกา Toki No Kane ที่ยังตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของ Little Edo ซึ่งพบหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรบันทึกประวัติการสร้างในช่วงปี 1627-1634 ตามประสงค์ของไดเมียว Tadakatsu Sakai แต่เนื่องจากถูกไฟไหม้หลายครั้ง หอนาฬิกาที่เห็นในปัจจุบันมีความสูง 16 เมตรได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ภายหลังไฟไหม้ Kawagoe ครั้งใหญ่ใน ปี 1893
หลังจากการเปิดประเทศรับวิทยาการสมัยใหม่และวัฒนธรรมตะวันตกในสมัยปฏิรูปเมจิ* (ค.ศ.1686-1911) Kawagoe ก้าวไปสู่บทบาทใหม่ในฐานะหนึ่งใน Bed Town of Tokyo ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นเขตโรงงานอุตสาหกรรมที่มีทำเลตั้งอยู่ใกล้กรุงโตเกียว
ย่าน Kashiya Yokocho ใน Little Edo ได้กลายเป็น outlet สำหรับโรงงานผลิตขนมในละแวกนั้น ซึ่งปัจจุบันมีร้านขายขนมที่ยังคงรูปแบบและขนมดั้งเดิมหลากหลายชนิดตั้งแต่สมัยคุณตาคุณยายยังเด็กวางเรียงรายอยู่กว่า 20 ร้านในราคาย่อมเยา
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1873 เป็นต้นมา Kawagoe รวมเข้าเป็นเมืองหนึ่งในจังหวัด Saitama ตั้งอยู่ติดกับมหานครโตเกียวทางทิศเหนือซึ่งก่อนหน้านั้นถูกจัดอยู่ในเขตปกครองของจังหวัด Kawagoe จนถึงปี 1871 และเปลี่ยนชื่อ เป็นจังหวัด Iruma ในช่วงปี ค.ศ.1871-1873
พื้นที่รอบนอกของเมือง Kawagoe คือเขตเกษตรกรรมที่เพาะปลูกมันเทศมากเป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ซึ่งกลายเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าพื้นเมืองที่แปรรูปจากมันเทศ เช่น กาแฟมันเทศ, ขนมญี่ปุ่น, เบียร์ Ko-Edo เป็นอีกแหล่งรายได้อีก ทั้งยังช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงงานเทศกาลตามฤดูกาลต่างๆ นอกจากนี้ยังมีชาเขียว Sayama และผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยเอโดะ
นับเป็นความโชคดีที่ Kawagoe ได้รับความเสียหายเล็กน้อยในระหว่างสงคราม โลกครั้งที่ 2 เท่ากับเป็นการรักษาสมุดบันทึก เล่มใหญ่ที่นำพาผู้คนย้อนกลับไปสู่เรื่องราวแห่งกาลเวลาซึ่งสามารถสัมผัสได้ภายใน Little Edo แห่งนี้
อ่านเพิ่มเติม
คอลัมน์ Japan Walker นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 2552
|
|
|
|
|