|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของอินเดีย ประเมินว่า ผู้หญิงร้อยละ 75 อ้วนเกินน้ำหนักมาตรฐาน ส่วนผู้ชาย อยู่ที่ร้อยละ 58 ขณะเดียวกันในแต่ละปีมีเด็กเกือบ 2 ล้านคนเสียชีวิตตั้งแต่อายุไม่ถึง 5 ขวบ ในจำนวนนี้ กว่าล้านคนมีสาเหตุจากภาวะขาดสารอาหารและความหิวโหย ปัญหานี้เร่งด่วนและรุนแรงจนนายกรัฐมนตรีมานโมฮัน ซิงห์ ถือว่าเป็น 'ความอับอายของชาติ'
เรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนอย่างดีถึงความเหลื่อมล้ำ ลักลั่นทางเศรษฐกิจและสังคมในอินเดีย ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีรัฐมหาราษฏระและหรยาณา โดยที่มหาราษฏระถือเป็นหนึ่งในรัฐที่เศรษฐกิจมั่งคั่งเฟื่องฟูที่สุดของอินเดีย ด้วยเมืองหลวงของรัฐคือมุมไบ เป็นเมืองหลวงทางเศรษฐกิจการเงินและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรือ Bollywood แต่กลับมีตัวเลข เด็กที่เสียชีวิตเนื่องจากภาวะขาดอาหารถึงราว 45,000 คนต่อปี ส่วนหรยาณานั้นภาคภูมิใจกับอัตรารายได้เฉลี่ย ต่อจำนวนประชากรที่สูงอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งมีอัตราการเติบโตของภาคเกษตรกรรมที่รวดเร็ว เป็นศูนย์กลางการปฏิวัติเขียว และมีปริมาณธัญญาหารต่อจำนวนประชากรสูง แต่กลับพบว่าเด็กอายุระหว่าง 6-35 เดือน ร้อยละ 82.3 เป็นโรคโลหิตจาง
สำหรับรัฐที่สถานการณ์รุนแรงที่สุดเห็นจะได้แก่รัฐมัธยประเทศ ซึ่งภาวะเด็กขาดอาหารแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในช่วงห้าปีที่ผ่านมา พบว่ามีเด็ก เป็นโรคโลหิตจางมากกว่าร้อยละ 82 โดยเฉพาะในหมู่ชนเผ่าพื้นเมือง อัตราเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิต สูงถึง 140.4 ต่อพันคน และในช่วงปีที่ผ่านมา หมู่บ้านหลายพื้นที่ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองมีอัตราเด็กขาดสารอาหาร สูงขึ้นกว่าเท่าตัว
ส่วนรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Seven Sisters States อัสสัม เผชิญปัญหารุนแรงที่สุด โดยเฉพาะเด็กในครอบครัว แรงงานไร่ชา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำและ ประสบปัญหาตลิ่งทรุด รวมถึงชุมชนในเขตพื้นที่สีแดง ที่ต้องอพยพหนีการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธ องค์การยูนิเซฟอินเดีย เปิดเผยว่าอัสสัมมีอัตราเด็กทารกเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ และมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตวันละ 169 คน
ต้นตอของสถานการณ์นี้โยงใยด้วยปัญหาหลายแง่มุม แน่นอนว่าความยากจนคือปัจจัยสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการตีโจทย์ให้กระจ่างว่าภาวะความยากจนเองก็เป็น ผล’ โดยมีเหตุแห่งความด้อยโอกาสเป็นปัจจัย นับจากความด้อยโอกาสในการศึกษา การมีงานทำ มีที่ดินทำกิน การเข้าถึงทรัพยากร จนถึงแหล่งอาหาร เป็นต้น ตัวอย่างในเรื่องนี้เห็นภาพได้ชัดจากสภาพการณ์ของปัญหาเด็ก ขาดสารอาหารที่เกี่ยวโยงโดยตรงกับความเป็นอยู่ของผู้หญิงหรือผู้เป็นแม่ ดังพบว่าภาวะการขาดสารอาหารในเด็กที่แม่ไม่ได้รับการศึกษา สูงเป็นสามเท่า ของเด็กที่แม่จบการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี
ทั้งนี้ เนื่องจากแม่ที่มีการศึกษานอกจากจะมีโอกาสมีงานทำมีรายได้เป็นของตน ยังเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขอนามัยได้มากกว่า และมีแนวโน้มที่จะยึดติดกับความเชื่อเก่าๆ น้อยกว่าแม่ที่ไม่ได้รับการศึกษา อาทิ การเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองเพียงอย่างเดียวตลอดช่วงหกเดือนแรก ซึ่งผ่านการวิจัยศึกษาและแนะนำโดยองค์การอนามัยโลก แต่กุมารแพทย์ ของอินเดียพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะชักจูงให้บรรดาแม่ๆ เชื่อและปฏิบัติตาม ผู้หญิงจำนวนมากยังเลี้ยงลูกตามความเชื่อเก่าๆ เช่น เริ่มให้ลูกกินกล้วยหรือน้ำ ตั้งแต่อายุเพียง 1-2 เดือน
ตัวอย่างในเรื่องนี้ได้แก่กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างสภาพการณ์ในสิกขิมและมัธยประเทศ ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของประชากรในรัฐทั้งสองไม่ต่างกันนัก และมีประชากรยากจนเป็นร้อยละ 37 เท่ากัน แต่อัตราการรู้หนังสือของผู้หญิงสิกขิมเป็นร้อยละ 62 ส่วนมัธยประเทศอยู่ที่ร้อยละ 50 นอกจากนี้สิกขิมยังมีอัตราส่วน ผู้หญิงที่มีงานทำ มีรายได้ของตนเอง มีอิสระในการใช้ชีวิตมากกว่าผู้หญิงในมัธยประเทศ
จากการสำรวจในเรื่องการเลี้ยงดูบุตร พบว่า ทารกในสิกขิมร้อยละ 43 ได้รับนมแม่ภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงหลังคลอด ส่วนมัธยประเทศได้รับเพียงร้อยละ 15 ส่วนการเลี้ยงดูในช่วง 6-23 เดือน ซึ่งเด็กควรได้รับอาหารเสริมที่เหมาะสม พบว่าเด็กในสิกขิมร้อยละ 49 ได้รับตามเกณฑ์มาตรฐาน แต่มัธยประเทศมีเพียง 18 เปอร์เซ็นต์
ความรุนแรงของความอดอยากในหลายพื้นที่ คุกคามชีวิตทั้งพ่อแม่และเด็ก ประชากรในหลายหมู่บ้านในรัฐฌาร์ขัณฑ์และมัธยประเทศที่ประสบภาวะขาดอาหารต่อเนื่อง มีร่างกายซูบผอมและแก่ก่อนวัย บางครอบครัวเด็กๆ ยังชีพอยู่ด้วยโรตีแผ่นบางเพียงวันละแผ่น ซึ่งแม่บางคนใช้วิธีทาด้วยพริกตำ เพื่อให้เด็กกินน้ำตามมากๆ จนรู้สึกอิ่ม ทั้งมีรายงาน ว่าเด็กเสียชีวิตเนื่องจากพ่อแม่ต้มใบไม้ที่เก็บจากราวป่าให้กินประทังหิว โดยที่ไม่รู้ว่าใบไม้นั้นมีพิษ
ในรัฐมัธยประเทศ ชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่มประสบภาวะอดอยากเนื่องจากต้องย้ายออกจากถิ่นที่อยู่ ซึ่งถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การเพาะปลูกในที่ทำกินใหม่มักได้ผลไม่พอเพียงจากปัญหาดินและแหล่งน้ำ
ขณะเดียวกันก็ถูกตัดขาดจากวิถีดั้งเดิม ซึ่งเคยมีพืชผักจากราวป่าเป็นที่พึ่ง ชาวบ้านจำนวนมากต้อง กลายเป็นแรงงานเร่ร่อน ลูกหลานมักต้องอดมื้อกินมื้อ หนำซ้ำต้องเผชิญกับโรคนานาชนิดระหว่างรอนแรม ไปกับพ่อแม่ อาทิ มาเลเรีย ท้องร่วง บิด ปอดบวม ฯลฯ ทำให้เด็กที่สุขภาพอ่อนแอเนื่องจากขาดสารอาหารเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างคลาสสิกคือกรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคูโน่ ที่สั่งโยกย้ายชาวบ้านจำนวน 26 หมู่บ้านออกจากป่า ในปี 1995 เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับสิงโตพันธุ์หายากที่คาดว่าจะย้าย มาจากรัฐคุชราต แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการย้ายสิงโตมาแต่อย่างใด ขณะที่ครอบครัวจำนวนมากได้กลายเป็นผู้พลัดถิ่นและแรงงานเร่ร่อน
สำหรับกรณีภาวะโลหิตจางในเด็กที่มีสถิติน่าตกใจในรัฐหรยาณา เป็นผลจากการ 'พัฒนา' ทางการเกษตร ที่เปลี่ยนจากไร่นาผสมผสานแบบดั้งเดิม มาเน้นพืชไร่เชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์ อย่าง ข้าว ข้าวสาลี ฝ้าย และพืชสำหรับผลิตน้ำมัน ทำให้ การเพาะปลูกพืชหลายชนิดลดลง เช่น อ้อย และถั่วบางชนิด สภาพการณ์นี้เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยภาวะที่ราคาพืชผักถีบตัวขึ้นสูงเช่นในปัจจุบัน ทำให้อาหาร พื้นถิ่นหลายชนิดที่เคยมีอยู่เหลือเฟือกลายเป็นสินค้า ราคาแพง เช่น น้ำตาลอ้อย ซึ่งเป็นแหล่งแร่เหล็กชั้นดี ถั่วชานาแหล่งโปรตีนสำหรับคนจน จากที่เคยกิโลกรัมละ 3-4 รูปี ทุกวันนี้ราคา 30 รูปี ส่วนน้ำที่เหลือจากการทำเนยแข็งพื้นบ้าน ซึ่งเคยแจกจ่าย ให้กันฟรีๆ หรือเอาไว้เลี้ยงสัตว์ ทุกวันนี้ก็กลายเป็นสินค้าสำหรับซื้อขาย โดยภาพรวมเด็กจำนวนมากแม้อาจไม่อดอยากถึงขั้นเสียชีวิต แต่กลับมีภาวะโลหิตจางเนื่องจากขาดอาหารจำพวกโปรตีนและแร่ธาตุที่สำคัญต่อสุขภาพ
รัฐบาลอินเดียได้พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้มาตลอดหลายทศวรรษ ด้วยโครงการรูปแบบต่างๆ อาทิ เปิดศูนย์แม่และเด็กในชุมชนทั่วประเทศ มีระบบ Ration Shop ที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นในราคาถูกกว่าท้องตลาด แก่ครอบครัวที่ได้รับการประเมินแล้วว่ายากจน การแจกธัญพืชเพื่อการบริโภค แก่ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน เป็นจำนวน 35 กิโลกรัมต่อเดือน โครงการอาหารกลางวันฟรีในโรงเรียนประถมทั่วประเทศ โครงการประกันการจ้างงานในชนบท ฯลฯ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะทำให้สภาพการณ์ดีขึ้น ทั้งด้วยปัญหาคอร์รัปชั่น การขาดแคลนเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ และงบประมาณ ไปจนถึงปัญหาการทำสำมะโนประชากร ที่ทำให้ตัวเลขพื้นฐานสำหรับกำหนดนโยบายและงบประมาณทุกอย่างคลาดเคลื่อนจากสภาพความเป็นจริง
ล่าสุด รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคคองเกรสกำลังเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ว่าด้วยความมั่นคงทางอาหาร ที่คาดว่าจะแก้ปัญหา ภาวะขาดแคลนอาหารแก่ประชากรทั่วประเทศ แต่หลายฝ่ายมีความเห็นพ้องกันว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ยังเต็ม ไปด้วยปัญหาและไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ เช่น แทนที่จะประกันความหิวโหยของประชากรแบบถ้วนหน้า กลับถอยหลังเข้าคลองไปใช้มาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม หนำซ้ำระบุว่าไม่ครอบคลุมประชากรในพื้นที่สีแดง ทั้งที่ในความเป็นจริงชาวบ้านเหล่านั้น เป็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
หากรัฐบาลอินเดียหนักแน่นและจริงใจในการยอมรับว่าสภาพการณ์เด็กขาดสารอาหารเป็นความอับอายของชาติ อย่างน้อยในสมัยรัฐบาลของมานโมฮัน ซิงห์ เราอาจได้เห็นการแก้ปัญหาแบบตรงจุด เป็นรูปธรรม และมีวิสัยทัศน์ระยะยาวมากขึ้น ซึ่งประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ คือการวิเคราะห์โจทย์ให้เห็นถึงต้นตอที่โยงใย และตระหนักอย่างลึกซึ้งว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการศึกษาที่พอเพียง ใช่แต่เพียงรอดชีวิตจากภาวะความหิวโหยเท่านั้น
|
|
|
|
|