Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มิถุนายน 2553
“จีน” กับ “กอล์ฟ” วิกฤติในโอกาส             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 


   
search resources

Sports




กลางเดือนพฤษภาคม 2553 หนังสือพิมพ์ ลิเบอร์ตี้ ไทมส์ สื่อไต้หวันที่มีจุดยืนตรงข้ามกับการรวมจีนกับไต้หวันเป็นหนึ่งเดียว รายงานถึงความไม่พอใจของเจ้าหน้าที่ในกองทัพแห่งสาธารณรัฐจีนที่มีต่ออดีตนายพลและนายทหารของไต้หวันจำนวนหนึ่งที่มักจะเดินทางไปออกรอบตีกอล์ฟกับนายทหารระดับสูงของสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแผ่นดินใหญ่) เป็นประจำในช่วงหลัง โดยอ้างว่าเป็น “นโยบายการทูตกอล์ฟ”

“ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เราจะทำให้ทหารและข้าราชการของไต้หวันที่กำลังรับใช้ชาติเชื่อได้อย่างไรว่า แผ่นดินใหญ่ยังคงเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับไต้หวัน” ทหารระดับนายพลของไต้หวันรายหนึ่งให้ทัศนะกับลิเบอร์ตี้ ไทมส์[1]

จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้ตั้งใจยกข่าวนี้ขึ้นมาเพื่อกล่าวถึงสถานะหรือพัฒนาการด้านความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับเกาะไต้หวันหรอกครับ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวและข้อมูลพื้นฐานแล้ว ผมรู้สึกว่า “กอล์ฟ” กับ “ประเทศจีน” นั้นเป็นส่วนผสมที่ไม่ค่อยเข้ากันนัก

เกือบ 10 ปีแล้วที่ผมมีสหายเป็นนักการทูตชาวจีนผู้หนึ่ง...

สหายชาวจีนของผมผู้นี้หลงใหลในกีฬากอล์ฟ อย่างมาก โดยเมื่อเดินทางมาธุระที่ประเทศไทยครั้งใดเขาก็มักจะหาโอกาสไปออกรอบหลายๆ วันติดกัน โดยให้เหตุผลว่า สนามกอล์ฟในจีนนั้นมีน้อย โดยเฉพาะในแถบภาคเหนือของประเทศจีนที่ขาดแคลนพื้นที่ในการทำการเกษตร อีกทั้งยังประสบกับสภาวะการขาดแคลนน้ำในการดื่มกิน ใช้ในชีวิตประจำวันและสำหรับการเพาะปลูกอย่างรุนแรงอยู่เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการเล่นกอล์ฟ (กรีนฟี แคดดี้ ฯลฯ) ในประเทศจีนก็สูงลิบลิ่ว กล่าวคือ ค่ากรีนฟีในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นั้นเฉลี่ยสูงถึง 150 เหรียญสหรัฐ (ราว 1,000 หยวน หรือ 5,000 บาท) ส่วนอัตราค่าแรกเข้าสมาชิกสนามกอล์ฟโดยเฉลี่ยในประเทศจีนก็สูงเสียดฟ้าถึง 50,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 1.65 ล้านบาท![2]

ขณะที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวประชากร หรือ GDP (nominal) per capita ณ ปี 2552 อยู่ที่เพียงราว 3,700 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี เท่านั้นเอง

สำหรับชาวจีนแล้วกีฬากอล์ฟและรูปแบบของกีฬากอล์ฟในยุคปัจจุบันที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสกอตแลนด์นั้นมิได้เป็นสิ่งที่แปลกหูแปลกตาเสียเลยทีเดียว เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยราชวงศ์หยวน (ราชวงศ์ที่มองโกลเป็นผู้ปกครอง ค.ศ.1271-1368) มีหนังสือหลายเล่มที่บันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวของกีฬาชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ฉุยหวัน” เอาไว้

กีฬาฉุยหวัน หรือแปลสั้นๆ ได้ว่า “ตีลูก” (โดย “ฉุย” แปลว่าตี “หวัน” แปลว่าลูก) เป็นกีฬาที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับกีฬากอล์ฟในปัจจุบัน คือ ผู้เล่นต้องใช้อุปกรณ์คือไม้ตีที่ทำจากไม้หยกหรือกระทั่งทองคำ (โดยผู้เล่นคนหนึ่งๆ มีไม้หลากหลายชนิด) เพื่อตีลูกทรงกลมที่ทำจากไม้ หรือหินโมราที่มีขนาดประมาณไข่ไก่ ข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ให้ลงในหลุมที่จัดเอาไว้

จากเอกสารอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ทราบว่า “ฉุยหวัน” เป็นกีฬาที่ปรากฎขึ้นในประเทศจีนอย่างช้าที่สุดคือ ในสมัยฮ่องเต้ซ่งฮุยจง (ครองราชย์ในช่วง ค.ศ.1100-1125) แห่งราชวงศ์ซ่ง เริ่มแพร่หลายต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง โดยในสมัยราชวงศ์หมิงกีฬาชนิดนี้ถือเป็นที่รู้จักในหมู่สามัญชน ทว่ายังคงจัดเป็นกีฬาสำหรับเชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูง โดยปรากฏหลักฐานเป็นภาพวาด “เซวียนจงสิงเล่อถู” ซึ่งฮ่องเต้หมิง เซวียนจง ฮ่องเต้องค์ที่ห้าแห่งราชวงศ์หมิง (ครองราชย์ช่วง ค.ศ.1426-1435) กำลังเล่นฉุยหวัน ซึ่งภาพดังกล่าวปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม[3]

ในช่วงประวัติศาสตร์ยุคใกล้และยุคปัจจุบัน กอล์ฟตะวันตกแพร่เข้ามาในแผ่นดินจีนเป็นครั้งแรก โดยชาวอังกฤษราว พ.ศ.2439 (ค.ศ.1896) โดยสนามขนาด 9 หลุมถูกสร้างขึ้นย่านใจกลางนครเซี่ยงไฮ้ ขณะที่ในปี พ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมา เจ๋อตง ขึ้นครองอำนาจ แน่นอนว่า กีฬาฟุ่มเฟือยอย่างกอล์ฟย่อมถูกจัดให้เป็นกีฬาของ ชนชั้นกระฎุมพี-ผู้นิยมลัทธิจักรวรรดินิยมและสูญหายไปจากสังคมจีน จนกระทั่ง พ.ศ.2527 (ค.ศ.1984) ในแผ่นดินใหญ่จึงค่อยปรากฏสนามกอล์ฟขึ้นอีกครั้ง

หลังการปฏิวัติทางวัฒนธรรมและเติ้ง เสี่ยวผิง ประกาศปฏิรูปเศรษฐกิจ กอล์ฟเริ่มแพร่หลายไปในหมู่ข้าราชการชาวจีนที่มีฐานะทางการเงินที่ดีและมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง (อย่างนายพลในกองทัพปลดแอกของจีน และสหายของผมที่กล่าวมาตั้งแต่ตอนต้น) จนถึงทุกวันนี้ที่เศรษฐกิจจีนมีอัตราการเจริญเติบโตในระดับสูงติดต่อกันนับสิบปี กีฬาที่ถูกตีตราว่าเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย หรูหรา และทันสมัยชนิดนี้จึงแพร่กระจายไปสู่หมู่เศรษฐีและพ่อค้าในที่สุด

จากรายงานล่าสุดของโกลบอล ไทมส์ หนังสือ พิมพ์ภาษาอังกฤษภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อ้างอิงถึงตัวเลขจากสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศจีนระบุว่า นับถึงครึ่งปีแรกของปี 2552 ในประเทศจีนมีสนามกอล์ฟมากกว่า 500 แห่ง[4] ขณะที่ไชน่า รีลไทม์ รีพอร์ต ระบุว่าทั่วประเทศมีนักกอล์ฟราว 3 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนนักกอล์ฟ 600 คนต่อ 1 สนาม (เทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนนักกอล์ฟมากถึง 10,000 คนต่อ 1 สนาม)

เมื่อนำตัวเลขดังกล่าวประกอบเข้ากับจำนวนเศรษฐีชาวจีนในปัจจุบัน ที่หูรุ่น รีพอร์ต รายงานล่าสุด (เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553) ว่าทุกวันนี้จีนแผ่นดินใหญ่มีเศรษฐีที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 10 ล้านหยวน (ราว 50 ล้านบาท) ขึ้นไปมากถึง 875,000 คน จะเห็นได้ชัดว่าช่องว่างและโอกาสในการเติบโตของกีฬากอล์ฟในประเทศจีน นั้นมีอีกมากมายมหาศาล

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิกฤติสร้างสรรค์โอกาสในโอกาสก็ย่อมก่อเกิดวิกฤติได้เช่นกัน

จากตัวเลขสนามกอล์ฟ 500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่แถบตะวันออกและทางใต้ของประเทศเช่น ปักกิ่ง มณฑลเจียงซู มณฑลกวางตุ้งและเกาะไหหลำ กระทรวงที่ดินและทรัพยากรของจีนกลับยืนยันว่ามีสนามกอล์ฟเพียง 10 แห่งเท่านั้นที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ

ประเด็นที่กลายเป็นเรื่องใหญ่และกลายเป็นที่ถกเถียงในสังคมจีนในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาก็คือ กรณีที่เกิดขึ้นกับเกาะไหหลำ (ไห่หนาน) เกาะ ซึ่งรัฐบาลจีนมุ่งหวังว่าจะพัฒนาให้เป็น “ฮาวายแห่งเอเชียตะวันออก”

แต่ไหนแต่ไรมา ด้วยความที่ไหหลำเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตร้อนชื้นทำให้เกาะแห่งนี้มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และอุดมไปด้วยสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างเช่น เสือลายเมฆ ชะนีหงอนดำ อีกทั้งยังมีพื้นที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ไม้ผล ประกอบกับเป็นพื้นที่ซึ่งมีปริมาณน้ำและแสงแดดเพียงพอจึงสามารถเก็บผลผลิตได้ 2-3 ครั้งต่อปี ทว่าเมื่อทางการจีนมุ่งเป้าจะทำให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับสากล ด้วยความพยายามที่จะดึงงานสำคัญๆ ของโลกให้มาจัดที่เมืองซานย่า (เมืองสำคัญที่สุดของเกาะไหหลำรองจากไหโข่ว) เป็นประจำอย่างเช่น การเป็นเจ้าภาพมิสเวิลด์ในปี 2546 2547 2548 และ 2550 ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเกิดภาวะการปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ขึ้นอย่างมากมายมหาศาลบนเกาะแห่งนี้

ตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นต้นมา โดยเฉลี่ยแล้วราคาอสังหาริมทรัพย์บนเกาะไหหลำพุ่งขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 50 ถึงหนึ่งเท่าตัว ทั้งนี้ทั้งนั้นหนึ่งในเครื่องมือ ชั้นยอดที่ถูกใช้ในการสร้างฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ทั่วประเทศจีน (และทั่วโลก) ก็คือการสร้างสนามกอล์ฟ โดยในประเทศจีนมีการศึกษากันว่าราคาของ อสังหาริมทรัพย์หนึ่งๆ จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 หากโครงการนั้นอยู่รอบสนามกอล์ฟ

ปัจจัยเหล่านี้เมื่อผนวกกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความโลภของบรรดาข้าราชการและพ่อค้า บนเกาะไหหลำในหลายพื้นที่ซึ่งถูกจัดให้เป็นพื้นที่ชนบท ด้อยพัฒนาและเขตยากจนสุดขีด ส่งผลให้เกิดการรุกพื้นที่ป่าไม้และแปลงพื้นที่เกษตรกรรมให้กลายเป็นสนามกอล์ฟอย่างมากมาย จากปัจจุบันที่เกาะสวาทหาดสวรรค์แห่งทะเลจีนใต้มีสนามกอล์ฟราว 30 แห่ง มีการวางแผนว่าจะทำให้จำนวนสนาม กอล์ฟบนเกาะแห่งนี้เพิ่มขึ้นเป็น 50 แห่งและ 80-100 แห่ง ภายในสิบปีและยี่สิบปีข้างหน้าตามลำดับ

สนามกอล์ฟสร้างใหม่หลายแห่งบนเกาะไหหลำสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของ คนในท้องที่อย่างมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น “มิชชั่น ฮิลส์ รีสอร์ต ไหหลำ” โครงการกอล์ฟที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะ ซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพในการจัด The Omega Mission Hills World Cup ในปี 2554 (ค.ศ.2011) ได้สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและอาชีพทำการเกษตรของคนท้องถิ่นอย่างมาก ทั้งนี้ตามแผนเดิมโครงการนี้ตั้งเป้าว่าจะบรรจุสนามกอล์ฟไว้ถึง 22 สนาม แต่เพียงเริ่มการก่อสร้างได้เพียง 6 สนามก็ก่อให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่และหมู่บ้านใกล้เคียงอย่างหนัก ทั้งๆ ที่แต่ไหนแต่ไรมาพื้นที่ดังกล่าวไม่เคยประสบเหตุเช่นนี้มาก่อน[5]

“สนามกอล์ฟมีผลกระทบอย่างมหาศาล แต่ก่อนหมู่บ้านเราไม่เคยเจอน้ำท่วมมาก่อน ตอนนี้กลับท่วมปีละสามเดือน บางทีน้ำก็ท่วมถึงเอว รถยังวิ่งผ่านไม่ได้เลย” ชาวบ้านจากหมู่บ้านฉางหย่งเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสนามกอล์ฟที่เจ้าของโครงการผู้พัฒนาอ้างว่าไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใดๆ เลย

...ในประเทศอันไพศาลแต่พื้นที่ป่าไม้เหลือไม่ถึงร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งหมด (น้อยกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกที่ราวร้อยละ 30)

...ในประเทศที่มีปากท้องต้องเลี้ยงดูทุกๆ วันกว่า 1,300 ล้านปากท้อง ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ขาดแคลน พื้นที่เพาะปลูก ทั้งยังถูกคุกคามด้วยภัยธรรมชาตินับครั้งไม่ถ้วนในแต่ละปี ทั้งภาวะแล้งจัด ดินถล่ม น้ำท่วม แผ่นดินไหว ฯลฯ

...ในประเทศที่ประเพณีดั้งเดิมอย่างการฝังศพกลายเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะรัฐบาลเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองพื้นที่ในการเพาะปลูก

คงไม่สาธยายให้มากความนัก ผมก็เชื่อว่าทุกคนคงทราบดีว่ากระแสบูมของกีฬากอล์ฟ และการสร้างสนามกอล์ฟในประเทศที่มีเงื่อนไขเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวและอันตรายเพียงไร

จริงๆ แล้วรัฐบาลจีนและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีอำนาจมิอาจทำทีเพิกเฉย หรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นในจุดเล็กๆ เช่นนี้ได้เลย เพราะในอนาคตกีฬาประเภทนี้อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสภาวะความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรของประเทศและภูมิภาคนี้ อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง

ข้อมูลอ้างอิงจาก:
[1] Lawrence Chung, Golf course diplomacy blows hole in army morale, South China Morning Post, 18 May 2010.
[2] Jamie Miyazaki, Golf in China: Targeting 3 Million Players, China Realtime Report, 13 May 2010.
[3] ประวัติฉุยหวันจาก www.ccnh.cn/zt/zgtyyc/gdtyxm/chuiwan/311491439.htm
[4] Golf course mania result of sub-par officials, Global Times, 17 May 2010.
[5] Jonathan Watts, All the tees in China: Golf boom threatens rainforest, guardian.co.uk, 23 April 2010.   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us