|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2553 มีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปีที่ระดับร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) และสามารถฟื้นตัวกลับมามีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับช่วงก่อนหน้าการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยของโลกในปี 2551 ได้ในที่สุด
แต่ก้าวย่างนับจากไตรมาสที่ 2/2553 เป็นต้นไป เศรษฐกิจและภาคธุรกิจของไทยคงต้องเผชิญความยากลำบากในการฟันฝ่า มรสุมร้ายจากวิกฤติการเมืองในประเทศที่รุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะเหตุการณ์หลังยุติการชุมนุมที่ย่านราชประสงค์ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่เผาผลาญศูนย์กลางธุรกิจและการค้าหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ
ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าไม่ใช่มีเพียงปัจจัย ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว การบริโภคและการลงทุนในประเทศเท่านั้น แต่ยังเผชิญความเสี่ยง จากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ที่อาจจะกระทบต่อการส่งออก ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักเพียงหนึ่งเดียวที่ยังคงมีอยู่ในเวลานี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 2553 ว่าผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2553 ทรุดตัวอย่างหนักเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก โดยความสูญเสียในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ค้าปลีก รวมทั้งแนวโน้มที่เศรษฐกิจ โดยรวมอาจชะลอตัวลง จะส่งผลให้มูลค่าจีดีพีที่ปรับฤดูกาลหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 5.0 จากไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter)
แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จีดีพีในไตรมาสที่ 2/2553 อาจยังคงขยายตัวในแดนบวกในอัตราประมาณร้อยละ 2.5-3.5 (YoY) โดยคาดว่าเศรษฐกิจมีปัจจัยหนุนจากภาคการส่งออกที่ยังมีทิศทางเติบโตสูงในปัจจุบัน ประกอบกับฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน (ที่จีดีพีหดตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสที่ 2/2552)
อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวดังกล่าวนับว่าเป็นระดับที่ชะลอลงอย่างมากจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.0 (YoY) ทั้งนี้ ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกที่ออกมาดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ทุกรายนี้ มีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงตัวเลข อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยตลอดทั้งปีให้ยังคงเป็นบวกได้ แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือจะต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมืองนับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 มาจนถึงวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2553 น่าจะสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2553 แล้ว คิดเป็น มูลค่าไม่ต่ำกว่า 138,000 ล้านบาท โดยเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วประมาณ 80,000 ล้านบาท จากรายได้ของภาคธุรกิจและมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งมูลค่าอาคารสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินที่ถูกเผาทำลายในช่วงหลังจากการยุติการชุมนุม
ขณะที่ความเสียหายอีกไม่ต่ำกว่า 58,000 ล้านบาท เป็นผลพวงต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะสูญเสียโอกาสทางรายได้ในอนาคตไปตลอดระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ เช่น ผู้ประกอบการที่อาคารหรือร้านค้าถูกเผาทำลาย ซึ่งไม่สามารถประกอบกิจการในพื้นที่เดิมต่อไปได้ หรือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ภาพเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงที่เผยแพร่ออกไปสู่ประชาคมโลกจะทำให้การฟื้นฟูความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทยในสายตาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอาจยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง หากมองในแง่ดีที่สุด (Best Case) ในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์การเผชิญหน้าทางการเมืองเกิดขึ้นอีก เศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีโอกาสขยายตัวสูงที่สุดได้ที่ประมาณร้อยละ 5.0 (หลังจากที่ได้หักผลกระทบ 138,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 ของจีดีพีไปแล้ว)
กรณีดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สถานการณ์การเมืองนับจากนี้ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ภาครัฐและเอกชนมีเวลาพอที่จะเร่งกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงไฮซีซันในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งจะเป็นผลให้ความเสียหายหยุดอยู่เพียงแค่ที่ได้ประเมินไว้ข้างต้นนี้ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงคงต้องยอมรับว่าสถานการณ์ ในระยะข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนอยู่อีกมาก
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองที่ระมัดระวัง จึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 2.6-4.5 เช่นเดิม แม้ว่าตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกมีระดับที่สูงค่อนข้างมาก โดยในกรณีพื้นฐาน (Base Case) คาดว่า จีดีพีอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับปี 2552
ทั้งนี้ กรอบประมาณการดังกล่าวได้คำนึงถึงผลกระทบต่อเนื่องที่อาจจะตามมาจากเหตุการณ์วันที่ 19-20 พฤษภาคม และรองรับปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองในอนาคตไว้แล้วในระดับหนึ่ง โดยสมมุติฐานของประมาณการครอบคลุมกรณีที่สถานการณ์การเมืองยังคงมีบรรยากาศของการเผชิญหน้าต่อไป ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 233,000-365,000 ล้านบาท ผ่านรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติและธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชุมนุม ตลอดจนการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลงเป็นสำคัญ
กรอบประมาณการนี้ไม่รวมผลหากมีการชุมนุมทางการเมืองหรือเหตุการณ์ความรุนแรงที่ลุกลามบานปลายไปยังพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆ ในวงกว้าง หรือมีผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ อันจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก-นำเข้าของประเทศ เป็นระยะเวลายาวนานอย่างมีนัยสำคัญ
แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2553 จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 จนถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรม หลังการยุติการชุมนุมในวันที่ 19-20 พฤษภาคมนั้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2553 หดตัวลงรุนแรงถึงกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)
ขณะที่ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 2/2553 ที่เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แม้ว่ายังเป็นบวกได้ เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่จีดีพีในช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวในระดับสูง แต่ก็คาดว่าอาจจะชะลอลงมาเหลือเพียงร้อยละ 2.5-3.5 เท่านั้น
ส่วนแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 เนื่องจากภาพเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้รุนแรงกว่าที่ผ่านๆ มา จึงทำให้การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติอาจต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือน ขณะเดียวกัน ทิศทางระยะข้างหน้ายังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองอยู่อีกมาก
ประเด็นสำคัญในเชิงนโยบายของภาครัฐคงต้องให้ความสำคัญกับการเร่งเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากผลกระทบของเหตุการณ์ชุมนุมโดยเร็ว ขณะที่ในระยะสั้นอาจยังจำเป็นต้องคงแนวนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายไว้ต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤติการเมืองอันหนักหน่วงนี้
นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็น ต้องเร่งแผนฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศ โดยมีการประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่นักท่องเที่ยวและนักลงทุน ตลอดจนการจัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ แต่มาตรการฟื้นฟูเยียวยาต่างๆ จะไม่สามารถบรรลุผลได้หากบรรยากาศทางการเมืองยังคงอยู่ท่ามกลางการเผชิญหน้า ดังนั้น นโยบายที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้น จำเป็นต้องเริ่มจากการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ซึ่งรัฐบาลควรเร่งเดินหน้าแผนปรองดอง โดยสนับสนุนให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
|
|
|
|
|