Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2536
โกดัก ฟูจิ..!ห่ำหันตลาด ฟิล์มหนัง (ไทย)             
โดย ไชยยันต์ ปรัตถพงศ์
 


   
www resources

โฮมเพจ โกดัก (ประเทศไทย)
โฮมเพจ-ฟูจิ โฟโต้ ฟิล์ม (ประเทศไทย)

   
search resources

โกดัก (ประเทศไทย), บจก
Films
ฟูจิ โฟโต้ ฟิล์ม (ประเทศไทย), บจก.




"ธุรกิจฟิล์มหนังในเมืองไทยเป็นธุรกิจที่ถือว่าเล็กมาก เมื่อเทียบกับตลาดฟิล์มในต่างประเทศ นั่นเพราะตลาดที่ผูกติดอยู่กับอุตสาหกรรม การสร้างหนังไทย ยังเป็นทารกโดยไม่รู้จักโตเสียที ผู้สร้างยังเดินย่ำอยู่กับที่เหมือนเป็นวัฏจักรวังวน ด้วยมีปัจจัยหลายหลากที่เป็นอุปสรรค แต่ทำไมสองคู่กัด "โกดัก" กับ "ฟูจิ" ถึงได้รุมทึ้งเนื้อก้อนเล็กก้อนนี้ เพียงเพื่อแย่งมาเก็ตแชร์กันอย่างไม่ยอมวางมือด้วยงัดกลยุทธ์มาสู้กันทุกรูปแบบ ทั้ง ๆ ที่ยอดขายทั้งแผนก มีตัวเลขเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์จากยอดขายรวมของฟิล์มทั้งตลาด

"ฮอลลีวู้ด" ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมของผู้สร้างภาพยนตร์ฝรั่งรายใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นพาราเม้าท์ ยูนิเวอร์แซล เอ็มจีเอ็ม วอลเนอร์ วอลดิสนีย์ โคลัมเบีย ฟ็อค ฯลฯ ซึ่งผู้สร้างเหล่านี้ล้วน เป็นผู้ที่มีกำลังการสร้าง มีผลิตผลป้อนให้กับตลาด ทั้งอเมริกาและส่งออกต่างประเทศปีละหลายร้อยเรื่อง

ภาพยนต์ทุกเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมา จะจัดส่งไปยังสาขา และเครือข่ายที่กระจายอยู่เกือบทุกมุมโลก เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ และจัดจำหน่าย ออกฉายตามโรงภาพยนต์ต่าง ๆ หารายได้กลับสู่ผู้สร้าง

จากตลาดที่ใหญ่มหาศาล แค่ผู้ชมในอเมริกาเพียงประเทศเดียว ภาพยนต์เรื่องหนึ่ง ๆ มีคนดูถึง 200 ล้านคน จึงทำให้ผู้สร้างสามารถทุ่มเทงบประมาณในการสร้างได้อย่างไม่ต้องลังเลและเสียดายเลย เพราะรายได้ที่จะกลับมานั้นคุ้มค่า

ฟิล์มที่ใช้ ทั้งฟิล์มสำหรับการถ่ายทำและจำนวนก็อปปี้ที่ผลิตออกมาเป็นร้อยเป็นพันก็อปปี้สำหรับเรื่องหนึ่ง ๆ เพื่อส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของมุมโลกไม่ต้องพูดถึงว่าเป็นเท่าไร เปรียบเทียบการใช้เพียงเดือนเดียวของการสร้างภาพยนต์ในอเมริกาก็เกือบจะสร้างหนังไทยได้ทั้งปี

ทำให้ตลาดฟิล์มที่ผูกติดอยู่กับอุตสาหกรรมภาพยนต์ในอเมริกา ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก แตกต่างกับอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยในปัจจุบัน ที่ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่กระนั้นเราก็มิอาจเปรียบเทียบกันได้ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง

"ฝรั่งเขาทำหนังขี้หมูขี้หมาเรื่องหนึ่งก็ 20 ล้านเหรียญ คิดเป็นเงินไทยแล้วตกประมาณ 500 ล้านบาท นั่นเป็นการสร้างหนังที่ธรรมดาเท่านั้น บางเรื่องก็ปาเข้าไปเป็น 1,000 ล้าน แต่บ้านเรา 20 ล้านเหรียญ เกือบจะเท่ากับที่เราสร้างกันออกมาทั้งปีการใช้ฟิล์มก็ไม่ต้องพูดถึง เรื่องหนึ่งเขาใช้ฟิล์มกันเป็นพัน ๆ ม้วน บ้านเราอย่างมากที่เรียกว่าหนังฟอร์มโตก็คงไม่เกิน 400 ม้วน ตลาดเขาใหญ่กว่าเรามาก" ผู้กำกับหนังไทยท่านหนึ่ง ซึ่งคลุกคลี่อยู่ในวงการภาพยนต์มานาน เล่าให้ฟัง

จากความแตกต่าง ในขนาดของอุตสาหกรรมและตลาดภาพยนต์ที่มารองรับ เป็นดัชนีที่จะบอกถึงการบริโภคฟิล์มได้เป็นอย่างดี เพราะว่าตลาดจะขึ้นลงไปในทิศทางเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตลาดฟิล์มภาพยนต์เมืองไทยจึงมิใช่ตลาดที่ใหญ่โตเลย มียอดจำหน่ายรวมทั้งปีเพียง 200 กว่าล้านบาทเท่านั้น เพราะอุตสาหกรรมการสร้างภาพยนต์ไม่ขยายตัวจนเป็นสากล ด้วยมีปัจจัยเป็นอุปสรรคมากมาย

แต่การแข่งขันในตลาดฟิล์มกลับไม่เล็กไปตามตลาด มีความรุนแรงไม่ด้อยไปกว่าในตลาดภาพยนต์ประเทศอื่น ๆ หรือแม้แต่ในตลาดฮ่องกง ที่เขาถือเป็นสินค้าส่งออกอย่างหนึ่ง เพราะภาพยนต์จีนกำลังเข้าไปตีตลาดทั่วโลก และเติบโตพร้อม ๆ กับชนชาวจีนที่กระจายไปเกือบจะทุกหนแห่ง เช่นเดียวกับภาพยนต์ฝรั่ง

การกำเนิดของภาพยนต์เริ่มต้นที่มีผู้ริเริ่มสร้างกันออกมาเป็นครั้งแรก จากประเทศในยุโรป คือในเบลเยี่ยมและเยอรมัน แล้วต่อมาได้ขยายตัวมาสู่อเมริกา และพัฒนาเรื่อยมากลายเป็นอุตสาหกรรมสากลจนมีผู้สร้างกระจายอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน

นอกเหนือจากตัวดารานักแสดง "ฟิล์ม" คือวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมนี้ "โกดัก" เป็นเจ้าของต้นตำหรับและเป็นผู้ที่ผลิตสินค้าป้อนให้กับตลาดเป็นรายใหญ่

โกดัก ผลิตฟิล์มทั้งฟิล์มเนกกาทีฟที่ใช้ในการถ่ายทำและฟิล์มโพสซิทีฟสำหรับทำก็อปปี้รวมถึงการสร้างสูตรน้ำยาเคมีต่าง ๆ ให้กับตลาดมานาน จนคนในวงการภาพยนต์ส่วนใหญ่รู้จักโกดักดีว่าคือผู้สร้างแผ่นฟิล์มและสูตรต่าง ๆ ป้อนให้กับอุตสาหกรรมการสร้างภาพยนต์ทั่วโลก ที่เรียกกันว่า "อีสแมน โกดัก"

ไพจิตร ศุภวารี นายกสมาพันธ์ภาพยนต์แห่งชาติ ได้เคยกล่าวถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนต์ในงานฉลองครบรอบ 70 ปี ของภาพยนต์ไทยเมื่อต้นปี 2536 ไว้ว่า

ภาพยนตร์ ถือว่าเป็นศิลปสากลที่โลกต้องอนุรักษ์ไว้ เช่นเดียวกับมรดกโลก เพราะภาพยนต์นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ยังเป็นที่รวบรวมศิลปการแสดงหลายหลายทั้งละคร นาฏศิลป์ ดนตรี ฯลฯ และยังเป็นที่รวมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือของสากล

ภาพต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในฟิล์มภาพยนต์ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์ ถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่องแม้กระทั่งการแต่งกายของผู้แสดง บทเจรจา เมื่อวันเวลาได้ผ่านพ้นไป สิ่งเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่สามารถจะนำมาอ้างอิงได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน เพราะมีประจักษ์พยานทั้งภาพและเสียงยืนยันอย่างชัดเจน

"สื่อที่ถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์ม สามารถสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม ความคิดพื้นฐาน ความนิยมชมชอบ และประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศได้ดีที่สุด" ไพจิตรกล่าวเน้นถึงคุณค่าและความสำคัญขออุตสาหกรรมภาพยนต์

ฉะนั้นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนต์ของแต่ละประเทศมีขนาดที่ต่างกันไป ก็คือวัฒนธรรมและค่านิยมชมชอบของผู้ชม ซึ่งจะเป็นตัวที่กำหนดขนาดของอุตสาหกรรมอีกทอดหนึ่ง

หลาย ๆ คน ที่คุ้นเคยกับภาพยนต์ฝรั่งเป็นอย่างดี รู้กันว่าฮอลลีวู้ดเป็นกลุ่มผู้สร้างหลัก ภาพยนต์ฝรั่งมีลักษณะของวัฒนธรรมที่เป็นสากลมากกว่า จึงได้กระจายไปทั่วทุกมุมโลก

ภาพยนต์จีนมีผู้สร้างหลัก ๆ อยู่ในฮ่องกง ก็ได้รับความนิยมอยู่ในขอบเขตที่ไม่แพ้กัน เพราะชนชาวจีนกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก หรือภาพยนต์อินเดียซึ่งเป็นตลาดใหญ่แต่จำกัดเฉพาะอยู่ในวงแคบ ๆ สำหรับผู้ชมชาวอินเดีย ภาพยนต์ไทย ตลาดก็คือคนไทย

การเริ่มต้นของอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยในยุคแรก ๆ คือเมื่อ 70 ปีที่แล้ว "ฟิล์ม" ผู้สร้างต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทส จากประเทศผู้ผลิตในยุโรปหรืออเมริกาเพราะการสร้างภาพยนต์ไทยยังไม่แพร่หลายและมากพอที่จะมีผู้นำเข้ามาจำหน่าย

ฟิล์มที่ใช้อยู่กันมี 2 ชนิดคือ ฟิล์ม 35 มม. และฟิล์ม 16 มม.

ผู้สร้างในยุคแรก ๆ มีเพียงไม่กี่กลุ่ม อย่างผู้สร้างที่เคยมีบทบาทที่สำคัญ เช่น วัชรฟิล์ม ของ กำพล วัชรพล ละโว้ฟิล์มขององค์ชายใหญ่พระองค์เจ้าภานุพันธุ์ยุคล หรือเอวันฟิล์ม ต่อมาก็มีบางกอกภาพยนต์ ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร

ตลาดภาพยนต์ในยุคนั้นมีการสร้างด้วยฟิล์มขนาด 35 มม.ที่ฉายออกมาเป็นระบบ "ซิเนมาสโคป" (เช่นเดียวกับที่ฉายอยู่ในปัจจุบัน) และที่สร้างด้วยฟิล์มขนาด 16 มม. หรือที่เรียกกันว่า "หนัง 16 มม."

สมัยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลาดภาพยนต์ไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างด้วยผู้สร้างภาพยนต์ในต่างประเทศได้หันมาใช้ฟิล์มขนาด 35 มม. กัน ในขณะที่ประเทศไทยกลับหันมาใช้ฟิล์ม 16 มม. มากขึ้นซึ่งจะถือเป็นการย้อนยุค

เพราะในขณะนั้น ภาพยนตร์ 16 มม. ได้รับความนิยมจากผู้ชมชาวไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ปีหนึ่งมีการสร้างออกมาเป็นร้อย ๆ เรื่อง

ยุคที่ภาพยนต์ 16 มม. กำลังเฟื่องนี้เอง จึงมีการจัดประกวดภาพยนต์ชิงรางวัล "ตุ๊กตาทอง" กันขึ้นมา แบบเดียวกับการประกวด "ออสการ์" ในต่างประเทศ

กระทั่งเวลาได้ผ่านไป ภาพยนตร์ 16 มม. ที่ขยายตัวขึ้นไปเป็นอย่างมาก อาจจะเป็นเพราะเรื่องของเทคนิคการสร้างที่ไม่ยุ่งยาก และเป็นที่นิยมของผู้ชมในยุคนั้นก็ได้รับความนิยมน้อยลง ซึ่งถือเป็นธรรมดาของวงจรตลาด

ทำให้ผู้สร้างหลายรายหันกลับมาสร้างในระบบ 35 มม. กันอีกครั้ง เวลาฉายออกมาเป็นระบบ "ซีเนมาสโคป" อย่างเดียวกับภาพยนต์ฝรั่งเพื่อต้องการฉีกแนวตลาด เพราะในระบบ 35 มม. มีจอใหญ่กว่า เสียงดีกว่า ในที่สุดภาพยนต์ในระบบ 16 มม. ต้องเลิกสร้างไป

นั่นเป็นยุคต้น ๆ ของอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยและตลาดภาพยนต์ ที่ความบันเทิงทุก ๆ รูปแบบถูกถ่ายทอดผ่านวัสดุที่เรียกกันว่า "ฟิล์ม" เพราะยังไม่มีสื่ออย่างอื่นเข้ามาแทนที่ ทำให้อุตสาหกรรมการสร้างภาพยนต์ในยุคนั้นราบรื่นไปด้วยดี

ภาพยนตร์ ได้ขยายตัวและเติบโตเรื่อยมาตามการขยายตัวของอุตสาหกรรม จนกระทั่งมีผู้คิดนำฟิล์มชนิดต่าง ๆ เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย

ธุรกิจค้าฟิล์มในเมืองไทยจึงเริ่มต้นมาในช่วงนั้น คือ เมื่อ 30 ปีก่อน โดยมีบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์เป็นผู้จัดจำหน่ายฟิล์มโกดัก และฟิล์มอั๊กฟ่า และตามมาด้วยบริษัท บอเนียว เป็นผู้จัดจำหน่าย ฟิล์มของฟูจิ

โกดัก ในขณะนั้นถือว่าเป็นเจ้าตลาดฟิล์มภาพยนต์ในเมืองไทย เพราะความได้เปรียบจากการเป็นผู้ริเริ่ม เป็นต้นตำหรับ และมีผลิตภัณฑ์ที่ออกมาสนองตอบตลาดที่ดีกว่า จึงได้รับการตอนรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

โกดักมีตั้งแต่ ฟิล์มถ่ายภาพทางอากาศ ผลิตภัณฑ์ทางการพิมพ์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และฟิล์มสไลด์สำหรับมืออาชีพ และฟิล์มถ่ายภาพยนต์จัดอยู่ในหมวดของตลาดฟิล์มสำหรับอุตสาหกรรม

แต่การทำตลาดก็ไม่ได้ตื่นเต้นและแข่งขันกันรุนแรงมากนัก เพราะต่างคนต่างขายกันไป ฟิล์มเนกกาทีฟที่ใช้ในการถ่ายทำ ลูกค้าหลักก็คือผู้สร้างภาพยนต์และฟิล์ม โพสซิทีฟคือแล็ป ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าคนใดต้องการฟิล์มยี่ห้ออะไรจากค่ายไหน และเลือกบริการจากแล็ปใด เรียกว่าตลาดเป็นของผู้ขายเสียมากกว่า โดยเฉพาะโกดัก

ในขณะนั้นธุรกิจแล็ปสี ก็เกิดขึ้นมารองรับอุตสาหกรรม แล็ปคือผู้ที่ทำหน้าที่ในการให้บริการล้างฟิล์มและทำเทคนิค แต่งสีสันให้ได้ตามคุณภาพและตลอดจนการทำก็อปปี้ที่จะจัดออกฉายตามโรงภาพยนต์ต่าง ๆ ซึ่งเดิมต้องนำไปใช้บริการในต่างประเทศ

ประมาณปี 2520 โกดักได้แยกตัวออกมาตั้งเป็นบริษัทโกดัก (ประเทศไทย) ดูแลธุรกิจจำหน่ายฟิล์มของตนเอง โกดักจึงเปรียบคู่แข่ง ในแง่การเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าของตัวเองโดยตรง ในขณะที่อีก 2 ยี่ห้อ ยังจำหน่ายผ่านทางตัวแทนอยู่กิจกรรมการตลาดจึงไม่เด่นชัดนัก

ความคล่องตัวของโกดัก ส่งผลให้การส่งเสริมการขาย การจัดโปรโมชั่น ทำได้อย่างเต็มที่ลูกค้าส่วนใหญ่จึงนิยมใช้สินค้าจากโกดัก

ช่วงที่ฟิล์มขนาด 16 มม. หลังจากไม่เป็นที่นิยมในการสร้างภาพยนตร์ แต่ยังไม่ได้หายไปตลาดเสียทีเดียว ได้นำกลับมาใช้ในวงการโทรทัศน์ ซึ่งโทรทัศน์กลายเป็นสิ่งที่ให้ความรู้ความบันเทิงอีกแขนงหนึ่ง

ฟิล์ม 16 มม. ได้นำมาใช้เป็นสื่อในการออกอากาศ เช่นในการทำภาพข่าว ทำละครออกฉาย เรื่องจากความสะดวกคือฟิล์ม 16 มม. เพราะคุณลักษณะเช่นเดียวกับฟิล์มสไลด์ เมื่อถ่ายเสร็จสามารถส่งไปล้างที่แล็ปแล้วนำฉายออกอากาศได้ทันที เหมาะกับงานของสถานีโทรทัศน์มาก

นับวันตลาดฟิล์มก็ขยายตัวมากขึ้น ด้วยอีก 2 ค่ายคืออั๊กฟ่าและฟูจิ ก็พยายามที่จะผลักดันกิจกรรมทางด้านการตลาดของตนเองขึ้นมา เพราะเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ได้รับการตอบรับจาก ผู้ชมชาวไทยปีหนึ่งมีการผลิตภาพยนตร์ออกสู่สายตาประชาชนกว่า 200 เรื่อง เรียกว่าเป็นยุคทองของภาพยนตร์ไทย คือ ช่วง 10 กว่าปีที่แล้ว

ผู้สร้างรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับการขยายตัวของตลาด อย่างโคลีเซียมฟิล์ม พูนทรัพย์ภาพยนตร์ เอเพ็กซ์ฟิล์ม ไฟท์สตาร์ สหมงคลฟิล์ม และมีผู้สร้างอิสระผลงานต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงถูกผลิตจากผู้กำกับชื่อดัง ๆ หลาย ๆ คนอย่างท่านมุ้ย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล, เชิด ทรงศรี, เปี้ยก โปร์เตอร์, รุณ รณภพ, วิจิตร คุณาวุฒิ, สักกะจารุจินดา ฯลฯ

ทุกค่ายทุกบริษัทผู้สร้างและรวมถึงผู้สร้างอิสระต่างคนต่างผลิตผลงาน แย่งกันออกสู่ตลาด ผู้ขายฟิล์มต่างพอใจในตลาดของตนเป็นอย่างมาก

"การสร้างภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง ๆ จะว่ากันไปแล้ว การใช้ฟิล์มจริง ๆ นั้น ไม่ได้เป็นตัวเลขที่มากเลย เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นภาพยนตร์ขนาดใด จะวัดกันที่ขนาดของการลงทุน หากเป็นภาพยนตร์ขนาดเล็กถือกันว่าเงินลงทุนจะไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือภาพยนตร์ขนาดกลางใช้เงินลงทุนไม่เกิน 10 ล้านบาท และหากเกินกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไปก็เป็นภาพยนตร์ ขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันติดปากว่าหนังฟอร์มโต" นริส ธนัพประภัศร์ ผู้จัการแผนกผลิตภัณฑ์ฟิล์มภาพยนต์ พูดถึงการแบ่งประเภทของภาพยนตร์ไทยกับ "ผู้จัดการ"

นริส ยังเล่าให้ฟังอีกว่าการบริโภคฟิล์มในตลาดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน หากเป็นภาพยนตร์ขนาดเล็ก การใช้ฟิล์มในการถ่ายทำหรือฟิล์มเนกกาทีป ตกอยู่ราวไม่เกิน 100 ม้วน (ม้วนหนึ่งมีความยาว 400 ฟิต) เพราะผู้สร้างเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีงบประมาณไม่สูง ส่วนภาพยนตร์ขนาดกลางและขนาดใหญ่จะมีงบประมาณไม่สูง ส่วนภาพยนตร์ขนาดกลางและขนาดใหญ่จะขึ้นอยู่กับผู้กำกับ ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 200-300 ม้วนต่อหนึ่งเรื่อง

ราคาของฟิล์ม เทียบราคาในปัจจุบัน เฉลี่ยจะตกอยู่ประมาณ 2,900-3,500 บาทต่อม้วนแล้วแต่ชนิดแล้วแต่ยี่ห้อ

ดังนั้นต้นทุนสำหรับฟิล์มในการสร้างหนึ่ง ยกตัวอย่างภาพยนตร์ขนาดเล็ก ฟิล์มที่ใช้ถ่ายทำคือเนกกาทีฟจะใช้กันประมาณ 100 ม้วน ค่าฟิล์มจะตกอยู่ราว 300,000 กว่าบาทหลังจากนั้นจะอยู่ในขบวนการของแล็ปสีสำหรับภาพยนตร์

แล็ปจะมีหน้าที่ให้บริการล้างฟิล์ม ทำเทคนิคตัดต่อแต่งสี ตลอดจนการทำก็อปปี้จากฟิล์มดิบที่ถ่ายทำแล้ว 100 ม้วนหรือ 40,000 ฟิตต่อภาพยนตร์หนึ่งเรื่องดังกล่าว เมื่อนำมาตัดต่อแล้วจะเหลือประมาณ 25-27 ม้วน หรือประมาณ 10,000 ฟิต สำหรับภาพยนตร์มาตรฐานที่ฉายประมาณ 2 ชั่วโมงถึง 2 ชั่วโมงเศษ

แล็ปจะคิดแบบเหมาจ่าย จะตกอยู่ในราคาประมาณ 1.2 ล้าน ถึง 1.5 ล้าน แล้วแต่ความยาวของเรื่องเป็นราคาที่รวมการทำก็อปปี้ที่ใช้ฟิล์มโพสซิทีฟประมาณ 30-40 ก็อปปี้

ฉะนั้นหนังฟอร์มเล็กเรื่องหนึ่งจะมีต้นทุนสำหรับค่าฟิล์มรวมเบ็ดเสร็จประมาณ ไม่เกิน 1.8-2 ล้านบาท ส่วนต้นทุนอื่น ๆ เช่นค่าตัวดารา นักแสดง อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเลือกใช้อย่างไร

แต่หากเป็นหนังขนาดกลางหรือใหญ่ ค่าฟิล์มจะตกอยู่ในราว 3 ล้านบาท และ 5 ล้านบาทตามลำดับ ดังนั้นในปีหนึ่ง ๆ ผู้จำหน่ายฟิล์มจะมียอดขาย หรือทำรายได้ ได้เท่าไรก็ขึ้นอยู่กับจำนวนของภาพยนตร์ที่ได้รับการผลิตออกมาป้อนให้กับตลาด

ตลาดภาพยนตร์ที่สร้างออกมาเฉลี่ยเป็นตัวเลขอยู่ที่ 100 เรื่อง/ปี แยกเป็นภาพยนตร์ขนาดเล็กประมาณ 70 เรื่อง ภาพยนตร์ขนาดกลางประมาณ 25 เรื่อง และที่อีก 5 เรื่องจะเป็นภาพยนตร์ขนาดใหญ่

สำหรับตลาดฟิล์ม สามารถแบ่งฟิล์มออกเป็น 2 ชนิด คือ ฟิล์มสำหรับถ่ายทำเรียกว่าฟิล์มเนกกาทีฟ และฟิล์มสำหรับทำการก็อปปี้เรียกว่าโพสซิทีฟ ซึ่งการที่จะต้องมีฟิล์ม ชนิดคือว่าการถ่ายด้วยฟิล์มเนกกาทีฟที่เป็นภาพและสีตรงกันข้ามกับตัวจริง มีคุณภาพที่ดีสำหรับการนำไปทำก็อปปี้จำนวนมากจะให้ภาพที่คมชัดกว่า

"ฟิล์มภาพยนตร์ จริง ๆ แล้วไม่ได้แตกต่างไปจากฟิล์มที่ใช้ในงานถ่ายรูปที่หลาย ๆ คนคุ้นเคยกันดี มีความไวแสงอยู่หลายขนาด เช่น 50, 100, 200 หรือ 500 ซึ่งเป็นตัวกำหนดประเภทของงานที่ใช้ว่าจะถ่ายแสงอย่างไรเป็นกลางวัน หรือกลางคืนจะแตกต่างกันก็ตรงที่ ประเภทของลูกค้าที่มาใช้บริการจะเป็นมืออาชีพทั้งหมด" นริสอธิบายให้ฟัง

หากภาพยนตร์ขนาดเล็ก(วัดจากขนาดการลงทุนดังที่กล่าวมา) จะใช้ฟิล์มเนกกาทีฟต่อ 1 เรื่อง ประมาณ 100 ม้วน ๆ ละ 400 ฟิตหรือ 40,000 ฟิต ต่อ 1 เรื่อง ปีหนึ่ง ๆ มีภาพยนตร์ประเภทนี้ออกมาประมาณ 70 เรื่อง ก็จะมีการใช้ฟิล์มอยู่ประมาณ 2.8 ล้านฟิต/ปี

ภาพยนตร์ขนาดกลาง จะใช้เนกกาทีฟต่อ 1 เรื่อง ประมาณ 200 ม้วน หรือ 80,000 ฟิต ปีหนึ่ง ๆ มีภาพยนตร์ประเภทนี้ออกมา 25 เรื่อง เท่ากับว่าจะใช้ฟิล์มอยู่ที่ 2 ล้านฟิต/ปี

ส่วนฟิล์มโพสซิทีฟสำหรับทำก็อปปี้ ต่อหนึ่งเรื่องอย่างขนาดเล็กก็มี ตั้งแต่ 20 ก็อปปี้ จนถึงขนาดใหญ่ 70 ก็อปปี้ เฉลี่ยแล้วจะอยู่ในราว 35 ก็อปปี้ (เพราะหนังขนาดเล็กมีมากกว่า) เรื่องหนึ่ง ๆ จะใช้ฟิล์มประมาณ 10,000 ฟิต สำหรับ 35 ก็อปปี้เท่ากับว่าใช้ฟิล์มประมาณ 350,000 ฟิต/เรื่อง ปีหนึ่งมีหนังไทยประมาณ 100 เรื่องเท่ากับว่าจะมีการบริโภคฟิล์มชนิดนี้อยู่ในราว 35 ล้านฟิต/ปี

ซึ่งยังไม่รวมภาพยนตร์จากต่างประเทศที่เข้ามาฉายในเมืองไทย โดยภาพยนตร์จีนจะอยู่ประมาณ 130 เรื่องต่อปี ภาพยนตร์ฝรั่งจะอยู่ประมาณ 70 เรื่องต่อปี ส่วนใหญ่ก็อปปี้ที่ผลิตขึ้นมาจะอยู่ที่ 30-40 ก็อปปี้ เฉลี่ยแล้ว 35 ก็อปปี้ต่อปี รวมแล้วจะมีการใช้ฟิล์มอยู่ในรวม 70 ล้านฟิตต่อปี

เท่ากับว่าการบริโภคฟิล์มในตลาดสำหรับเนกกาทีฟประมาณ 5.4 ล้านฟิต/ปี เป็นมูลค่าประมาณ 40 กว่าล้านบาท (1ม้วนเท่ากับ 400 ฟิต ราคาเฉลี่ย 3,000 บาท) และ 105 ล้านฟิต/ปีประมาณ 120 ล้านบาท (ราคาฟุตละ 1 กว่า ๆ ) รวมกันตกประมาณ 160 ล้านบาท/ปี

ลูกค้าที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทต่อการบริโภคฟิล์มในตลาด นอกจากลูกค้าหลัก ๆ ในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็คือกลุ่มของผู้ใช้ในงานถ่ายภาพยนตร์โฆษณา ซึ่งทั้ง 2 ตลาดนี้ ถือเป็นตลาดใหญ่ เพราะมีการบริโภคฟิล์มอยู่กว่า 80 % ของตลาดโดยรวมทั้งปี

ที่กล่าวว่ากลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์โฆษณาจะเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ ก็เพราะว่าถึงแม้ตลาดจะเล็กแต่มีอำนาจซื้อสูง แตกต่างจากการสร้างภาพยนตร์ไทยมาก

ภาพยนตร์โฆษณาจะเน้นที่คุณภาพของงานเป็นหลัก เพราะงานต้องการความเชื่อถือจากลูกค้า วัสดุที่ใช้ต้องเป็นของที่ดี หรือดีที่สุด ภาพยนต์โฆษณาไม่เน้นที่ความยาวแต่เน้นที่คุณภาพ

ลูกค้างานโฆษณาเขาต้องการคุณภาพมาก เพราะปีหนึ่งเขาทำกำไรได้เป็น 100 ล้าน 1,000 ล้าน เพียง 4-5 ล้านสำหรับงานสร้างภาพพจน์นั้น จึงถือว่าไม่เรียกว่าแพง" นริส เน้นถึงความแตกต่างของงานทั้ง 2 กลุ่ม

งบประมาณในการจัดทำภาพยนตร์โฆษณาจึงวิ่งอยู่ในราว 1 ล้าน ถึง 2 ล้านบาทสำหรับค่าฟิล์มค่าล้าง ค่าทำเทคนิครวมเบ็ดเสร็จ แต่ในขณะที่ภาพยนตร์ไทย มีความยาวต่อหนึ่งเรื่องกว่า 2 ชั่วโมงมีงบประมาณก็มีพอ ๆ ทั้งเรื่องอาจจะ 2 ล้าน หรือ 3 ล้านบาท แต่เมื่อพูดถึงความยาวแล้วมันผิดกันมาก ปีหนึ่งตลาดภาพยนตร์โฆษณาจะบริโภคฟิล์มเฉลี่ยที่ 50 ล้านบาทต่อปี

เพราะฉะนั้น ทางผู้สร้างภาพยนตร์ไทยเป็นกลุ่มที่เรียกว่า PRICE SENSITIVE ต้องการประหยัดคุณภาพเรียกว่าพอใช้ได้เท่านั้น

โดยตัวเลขเท่าที่ผ่านมาเติบโตของตลาดฟิล์มสำหรับการสร้างภาพยนตร์ ปีหนึ่ง ๆ ตลาดโฆษณาโตถึง 10 % แต่วงการภาพยนตร์ไทยอยู่ที่ปีละ 100 เรื่องมานาน 3-4 ปีแล้ว จากเดิมที่หนังเรื่องหนึ่งจะฉายกัน 3 เดือน 5 เดือน ซึ่งใช้จำนวนก็อปปี้เพียงไม่กี่ก็อปปี้ ลดลงมาเหลือ 2 อาทิตย์ หรืออย่างมาก 3 อาทิตย์จะไปโตทาง ด้านจำนวนก็อปปี้ที่ใช้มากกว่า และการเพิ่มโรงฉายเข้าไป หรือการทำก็อปปี้สำหรับภาพยนตร์ที่มาจากต่างประเทศอย่างภาพยนตร์จีนปีหนึ่งก็กว่า 100 เรื่อง

"จำได้ว่าสมัยที่เป็นยุคทองของหนังไทย ปีหนึ่งต้องมี 200 เรื่องขึ้นไป ปัจจุบันที่มีออกมาให้ดูกัน ก็ไม่เกิน 100 เรื่อง หรือต่ำกว่านั้นอีก อย่างล่าสุดที่ส่งเข้าประกวดก็มีเพียง 70-80 เรื่องเท่านั้น" นันทินี วงศ์พัวพันธุ์จากฟูจิ เล่าให้ฟัง

เพราะในปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมการสร้างภาพยนตร์ จากที่เคยเป็นยุคทอง มีการสร้างภาพยนตร์ออกมาป้อนตลาด กว่า 200 เรื่องทุกปี กลับหดตัวลงเพราะอุปสรรคในหลาย ๆ ด้าน

ตลาดที่เคยรุ่งโรจน์กลับตกลงมา เพราะมีสื่ออื่น ๆ ที่เข้ามาให้ความบันเทิงมากขึ้น มีตัวเลือกใหม่ ๆ มากขึ้น

สวง ว่องสุภัคพันธ์ เจ้าของบริษัท ซีเนคัลเลอร์ แลป จำกัด ซึ่งเป็นแลปที่รองรับบริการสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยรายใหญ่กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า

ตลาดภาพยนตร์ไทยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่วีดีโอเข้ามามีบทบาทและตีตลาดภาพยนตร์ ทำให้ความนิยมของภาพยนตร์ได้ตกลงมา และขยายตัวแบบถดถอยเรื่อยมา จากที่เคยเติบโตปีละ 10 % เมื่อมีวีดีโอเข้ามาเป็นตัวเลือก ก็ค่อย ๆ ลดลงมา เหลือ 8% เหลือ 5 % และ 4 % ตามลำดับ นี้คือเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคนส่วนใหญ่หันไปดูวิดีโอกัน ทำให้ภาพยนตร์อยู่ในช่วงตกต่ำ

แม้แต่อุตสาหกรรมการสร้างภาพยนตร์ ยังใช้วัสดุชิ้นใหม่ คือ เทปวิดีโอ มาแทนฟิล์ม โดยเพาะอย่างยิ่งในวงการทีวี ซึ่งหันมาใช้เทปที่เรียกว่า "ยูเมติก" แทนฟิล์ม 16 มม. ทำให้การใช้ฟิล์มตกลงไปมาก

"อย่างหนังที่สร้างด้วยวิดีโอทั้งหมดก็มี คือเรื่องแม่เบี้ย คือใช้เทปยูเมติกในการถ่ายทำ แล้วเอามา CONVERS เป็นฟิล์ม สำหรับส่งฉายตามโรงหนังต่าง ๆ" จนกระทั่ง ปี 2532 และ 2533 ตลาดภาพยนตร์กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เพราะว่าการเปรียบเทียบในเชิงคุณภาพแล้วฟิล์ม เป็นสื่อที่มีคุณภาพมากกว่า ให้ความเป็นธรรมชาติมากกว่า ทั้งแง่ของสีสันและภาพ เพราะฟิล์มมีเกรนที่ละเอียดอ่อนกว่าวีดีโอ

ผู้สร้างหรือผู้ประกอบการถ่ายภาพยนตร์ไทย ภาพยนตร์โฆษณาสารคดี หรือมิวสิควิดีโอ หันกลับมาใช้ฟิล์มกันอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันเรียกได้ว่าต้องถ่ายทำด้วยฟิล์มทั้งหมด แล้วจะออกฉายในสื่อใด แล้วค่อยมีการ CONVERS กลับไปอีกครั้ง

นั่นเป็นเพียงอุปสรรคอันหนึ่งเท่านั้นที่มีต่ออุตสาหกรรมการสร้างภาพยนตร์ ที่ส่งผลให้ตลาดฟิล์มหดตัวลดลงมา

ภาพที่สะท้อนออกมาตลอดช่วง 4-5 ปี หลังอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยต้องประสบปัญหาเรื่องของรายได้ เพราะได้มีสื่อใหม่ ๆ ดังที่กล่าวมา ไม่เพียงเท่านั้น โฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์" ทั้งทีวี วีดิโอ เลเซอร์ดิส เคเบิ้ลทีวี และดาวเทียม เข้ามาแข่งขันและแย่งชิงตลาดไป ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงปัจจัยและอุปสรรคอื่น ๆ ในเรื่องของความไม่สะดวกต่าง ๆ นานาอย่างเช่นปัญหาเรื่องอากาศร้อน การจราจรที่ติดขัดปัญหาเรื่องที่จอดรถ ฯลฯ

ทำให้ผู้สร้างหลายรายขาดทุนจนอยู่ไม่ได้ ได้ล้างมือออกจากวงการไป หรือหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่น

และก็มีไม่น้อยที่เป็นผู้สร้างหน้าใหม่ อยากจะทดลอง และได้เดิมเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้มีอีกหลายรายเช่นเดียวกัน และต้องถอยกลับออกไปอีกเช่นกัน ก็เพราะตลาดที่อยู่ในวงจำกัดและส่วนหนึ่งมาจากกฎเกณฑ์ของทางราชการ

"หนังไทยมั่นคงไม่ตายไปเสียทีเดียว แต่ก็มีเงื่อนไขหลาย ๆ อย่าง ที่เป็นวังวนทำให้อุตสาหกรรมการสร้างภาพยนตร์ไทยต้องเดินย่ำอยู่กับที่" เป็นความเห็นต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยของผู้กำกับน้องใหม่ สังกัดค่ายไฟท์สตาร์ "อิทิสุนทร" หลังจากตัดสินใจกระโดดจากงานโฆษณาเข้ามามีผลงานการสร้างภาพยนตร์

แนวโน้มของตลาดภาพยนตร์ไทย ต้องสร้างแรงจูงใจให้คนรู้สึกรักหนังไทยต้องอาศัยทุกฝ่าย ที่จะเข้ามาจับมือร่วมกันแก้ไข ซึ่งอาจจะมองเป็นปัญหาใหญ่ จริง ๆ แล้วมีเพียงบางจุดเท่านั้นที่ต้องทำ เพราะมันมีเงื่อนไขที่น่าหนักใจอยู่ อย่างคนไทยทำภาพยนตร์ ทุนก็น้อยกว่าฝรั่งทำ แต่ต้องซื้อกล้องแพงกว่าฝรั่งซื้อ ซื้อเลนส์แพงกว่าฝรั่งซื้อ ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันภาพยนตร์ไทยมีงบประมาณที่น้อยกว่าฝรั่ง แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่อุตสาหกรรมนี้กำลังจะได้รับการดูแลจากรัฐบาล

แล้วที่สำคัญคือ การร่วมมือจากรัฐ ในแง่ของการอำนวยความสะดวกให้กับกองถ่าย อย่างการใช้สถานที่ของทางราชการ การใช้ถนน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางรัฐอาจจะยื่นมือมาช่วยหรือบ้าง ต้องเข้าใจว่าภาพยนตร์ฝรั่งเขานำกองถ่ายเข้ามา เขามาถ่ายทำให้เมืองไทยสามารถปิดถนนปิดสะพานได้

เขาปิดถนนราชดำเนินได้ทั้งสายเพราะอะไร ขณะที่หนังไทยทำไม่ได้เพราะไม่มีสตางค์พอที่จะปิดถนนได้ขนาดนั้น รัฐน่าจะให้ความร่วมมือเช่นว่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ให้รู้ว่านี้คืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย

อย่างจะเห็นได้ว่ากองหนังฮ่องกง วางระเบิดกลางสะพานพุทธได้ เอาปืนกลไปยิงสาดกันกลางสะพานพุทธได้ แต่ในขณะที่หนังไทยต้องไปวางระเบิดที่ อำเภอบางอำเภอในนครสวรรค์หรือที่ชัยภูมิ ไม่สามารถจะมาระเบิดกันกลางสะพานพุทธได้

หรือปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์ก็ตาม เราไม่สามารถจะแตะเรื่องต่าง ๆ ที่จะสะท้อนภาพอย่างเช่นการคอรับชั่นในวงราชการได้ การเข้าไปถ่ายทำเรื่องการขนของหนีภาษีในท่าเรือกรุงเทพได้ เพราะรัฐบาลกลัวจะเสียภาพพจน์หนังฝรั่ง 5 ใน 10 เรื่องจะเกี่ยวกับรัฐบาล เกี่ยวกับตำรวจเป็นผู้ร้าย

ส่วนหนังไทยจะต้องเป็นหนังวิ่งหนีผี เป็นหนังตลก หรือไม่ก็ไปเป็นแนวแฟนตาซีไปเลย "อิทิสุนทร" ตอกย้ำถึงอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ในวงการสร้างภาพยนตร์ไทย

ดีมานกับซัพพลายของหนังเป็นตัวที่ลดลงไปตามลำดับ ในขณะที่เป็นผู้ขายฟิล์มภาพยนตร์ตรงนี้มองว่าตัวเลขมันเป็นอย่างนี้มันไม่สวยสำหรับทุกคน ในตลาดซึ่งเป็นภาพที่วงการธุรกิจค้าฟิล์มในตลาดเมืองไทยต้องยอมรับกัน

แต่ธุรกิจค้าฟิล์มไม่ได้ลดความเข้มข้นไปเลย เมื่อฟูจิได้แยกตัวออกมาตั้งเป็น บริษัท ฟูจิโฟโต้ฟิล์ม (ประเทศไทย) เมื่อ ปี 2532 หรือเมื่อ 4 ปีที่ผ่านศักยภาพต่าง ๆ ได้เอื้ออำนวยให้การแข่งขันของฟูจิทำได้มากขึ้น

ในสายตาของโกดัก ฟูจิถือเป็นน้องใหม่สำหรับวงการภาพยนตร์ เพราะในขณะนั้นโกดักได้รับความนิยมและเป็นเจ้าตาด และรวมถึงอั๊กฟ่าของเบอร์ลี่ฯ

ฟูจิภายใต้การนำของ สมพันธ์ จารุมิลินท กรรมการบริหารและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ได้จัดตั้งแผนกฟิล์มภาพยนตร์ขึ้นมาเพื่อเจาะตลาดนี้โดยเฉพาะ

การเริ่มต้นบุกตลาดในฐานะน้องใหม่ของฟูจิ มีทีมเซลล์วิ่งหาตัวผู้กำกับ จี้ไปที่ผู้อำนวยการสร้าง และมีทีมงานการสร้างอิมเมจ การโปรโมชั่นตามเข้าไป เกมการตลาดเปิดฉากในเชิงรุกมากกว่ารับ จนทำให้มีคนเริ่มที่จะรู้จักฟิล์มของฟูจิมากขึ้น พูดได้ว่าเป็นช่วงที่ตลาดกลับมาเป้นของผู้ใช้ทันทีเพราะสินค้าในตลาดเริ่มมีการแข่งขันขึ้น "โกดักเริ่มมีคู่แข่งที่ชัดเจนขึ้นมาแล้ว

"เราไม่ได้เปิดตัวในแง่ที่ว่าจะเข้ามาขายอย่างเดียว เพราะว่าก่อนที่คนจะซื้อสินค้าของเราแน่นอนเราก็ต้องสร้างอิมเมจก่อนต้องสร้างให้แบรนด์ของเราแข็งแรงพอสมควร เพราะว่าสินค้าตรงนี้ไม่ใช่สินค้าคอนซูเมอร์ มันเป็นอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นความเชื่อถือในแบรนด์ค่อนข้างที่จะสำคัญ" นันทินี วงศ์พัวพันธุ์ เจ้าหน้าที่การตลาดของบริษัท ซึ่งเคยรับผิดชอบตลาดฟิล์มภาพยนตร์ของฟูจิ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังการรุกรบของฟูจิ ซึ่งอ่านเกมนี้มานานรู้ว่า ราคาเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อตลาดภาพยนตร์ไทยเป็นอย่างมาก ราคาสินค้าเป็นจุดขายอย่างหนึ่ง ที่ฟูจินำเสนอต่อตลาด ที่ถูกกว่าเจ้าตลาดเฉลี่ยอยู่ประมาณ 10-20 % พร้อมทั้งทุ่มงบในการการโปรโมชั่นมากมาย

มีทั้งแจกของพรีเมียมสำหรับลูกค้าที่ใช้ฟิล์มจากฟูจิ อย่างเป็นร่มสำหรับกองถ่าย เก้าอี้สำหรับผู้กำกับและตากล้อง ฯลฯ มีการเข้าไปเยี่ยมเยียนกองถ่าย พร้อมทั้งคอยให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการถ่ายทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้

สมัยก่อนถ้าจะพูดว่าการเยี่ยมกองถ่ายเป็นหัวใจสำคัญของการตลาด เราพูดได้เต็มปากเลยว่า เราเริ่มเป็นเจ้าแรก แต่ในปัจจุบันทุกคนทำเหมือนกัน เพราะว่าการออกไปเยี่ยมตลาด จะได้รู้ว่าใครมีผลวานไปถึงไหน มีใครบ้างที่กำลังจะเปิดกล้องใหม่ ทำให้รู้ความเคลื่อนไหวของตลาด แล้วจะวางแผนได้ถูก" นันทินี กล่าวย้ำถึงกลยุทธ์ที่ฟูจิเป็นผู้ริเริ่มนำมาใช้

ฟูจิ ค่อย ๆ มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมา ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดดังที่กล่าวมา แต่ก็ได้รับการตอบโต้จากโกดัก ด้วยลดราคาสินค้าลงมาสู้กันทันที

"ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของตลาดต้องยอมรับว่า ฟูจิได้เข้ามามีบทบาทในตลาดฟิล์มภาพยนตร์เพิ่มขึ้น" นริส ธนัพประภัศร์ ผู้จัดการแผนผลิตภัณฑ์ภาพยนตร์จากโกดัก กล่าวกับ "ผู้จัดการ" แต่ก็ย้ำว่า

ส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่ที่ฟูจิดึงมาได้มาจากโกดักเล็กน้อยที่เหลือจะมาจากอั๊กฟ่าเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากอั๊กฟ่าไม่ค่อยมีกิจกรรมด้านการตลาด

เพราะจุดที่สำคัญขอการขายอยู่ที่การเข้าถึงตัวผู้ใช้และเสนอการบริการที่มากกว่าคู่แข่งเท่านั้น จึงสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ดี ก็เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยังไม่มีความพิถีพิถันในเรื่องการผลิตมากนักอยู่ที่ราคาและการบริการเท่านั้น

โกดักยังคงยืนยันต่อการตลาดในวันนี้ว่า "ผู้สร้างหนังรายใหญ่ที่เขาไม่แคร์เรื่องค่าใช้จ่ายของฟิล์ม มักจะเลือกใช้สินค้าโกดัก เพราะเชื่อมันในคุณภาพของสินค้าอยู่แล้ว อย่างรายเล็กที่มีทุนน้อยหน่อย โกดักก็มีโปรแกรมเรื่องราคาไปเสนอ ขอราคาพิเศษจากเมืองนอกมากึ่ง ๆ เป็นโปรดักส์ไฟท์ติ้ง โดยจะคุยกันเป็นราย ๆ ไป"

ตลาดฟิล์มภาพยนตร์ในวันนี้ "มาเก็ตติ้งมิกส์" ในวงการตลาดได้ถูกนำมาใช้ในการแข่งขันของตลาดฟิล์มภาพยนตร์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัว โปรดักส์ราคาช่องทางการจัดจำหน่าย และการโปรโมชั่นเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ระหว่างเจ้าตลาดโกดักและฟูจิ ทำให้ตลาดมีความเข้มข้นขึ้นแต่ดูเหมือนอั๊กฟ่าจะยังคงไม่มีกิจกรรมทางด้านการตลาดออกมาให้เห็นกัน

"ผมเองสำหรับการเลือกใช้ฟิล์มนั้น ก็ขึ้นอยู่กับตากล้องว่าจะเลือกใช้ฟิล์มประเภทไหน ซึ่งดูจากอารมณ์ของหนังซึ่งฟิล์มภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะหนีไม่ค่อยพ้นกัน ลักษณะจะคล้าย ๆ กัน ไม่ว่าฟูจิหรือโกดัก อันหนึ่งดีไปอย่างหนึ่งอีกอันหนึ่งก็ดีไปอีกอย่างหนึ่ง ให้อธิบายถึงทางเทคนิคมันยากจุดที่คนจะเลือกใช้จริง ๆ แล้ว ท้ายสุดอยู่ที่การบริการมากกว่าจะดีหรือไม่ดี หรืออยู่ที่การให้เครดิตว่าบริษัทไหนจะให้มากกว่ากัน" ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือท่านมุ้ย แห่งวงการภาพยนตร์ไทย เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ความโดดเด่นของฟิล์มแต่ละค่าย เป็นที่ยอมรับกันแล้วถึง 30 ปี สินค้าทั้ง 3 ตัวต่างก็มีจุดเด่นของแต่ชนิดขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการใช้เท่านั้น

จุดสำหรับหรือหัวใจของตลาดอยู่ที่การบริการ โดยเฉพาะอยู่ที่การบริการ โดยเฉพาะการเข้าถึงตัวผู้กำกับและตากล้อง ซึ่งจะเป็นตัวหลักในการที่จะตัดสินใจว่าจะเลือกใช้สินค้าจากค่ายใดยี่ห้อใด "การจูงใจ การเข้าถึงบุคคลเหล่านี้ซิสำคัญที่สุด"

ในปัจจุบันหากจะพูดถึงสัดส่วนระหว่างฟิล์มในอุตสาหกรรมการสร้างภาพยนตร์และการใช้ในงานด้านโฆษณา ปีหนึ่งตก 210 ล้านบาท ในงานการผลิตภาพยนตร์โฆษณาจะตกอยู่ในราว 50 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 4 ของตลาด ส่วนตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อีกประมาณ 160 ล้านบาทต่อปี

โกดักมียอดขายอยู่ที่ ประมาณ 65 % หรือประมาณ 130 กว่าล้านบาท ส่วนฟูจิจะอยู่ที่ 30 % หรือประมาณ 60 กว่าล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นของอั๊กฟ่า 5 %

แนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งสำหรับวงกรในขณะนี้ คือ มีการร่วมโปรโมชั่นกันมากขึ้นระหว่างค่ายฟิล์มและผู้สร้าง เพราะการแข่งขันที่รุนแรงและค่าใช้จ่ายด้านสื่อต่าง ๆ มันสูงขึ้น

ทำให้การตลาดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องเปลี่ยนแปลงไป แนวโน้มคือหันไปผลิตก็อปปี้เพิ่มมากขึ้น วางสายหนังให้ครบทุกสาย แล้วจึงยิงสปอร์ตโฆษณาครั้งเดียว ภาพยนต์จะติดตลาดหรือไม่ก็จบกันไปเลย เพราะวงจรสุดท้ายของหนังมันสั้นมาก

"การร่วมโปรโมชั่นนั้นจริง ๆ แล้วจะได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ประการที่หนึ่งเป็นการสนับสนุนลูกค้าของเราโดยตรง คือเขาซื้อสินค้าของเรา เราก็สนับสนุนในเรื่องมีเดียเขาไป สอง ถือเป็นการแชร์กันในเรื่องของค่าใช้จ่ายด้านมีเดีย เพราะในปัจจุบันค่ามีเดียมันแพงมาก" สหพันธ์ จารุมิลินท กรรมการฝ่ายการตลาด ของฟูจิอธิบาย

สหพันธ์เองก็ยอมรับว่า ธุรกิจฟิล์มภาพยนตร์ไม่ได้เป็นธุรกิจที่ใหญ่เมื่อเทียบกับยอดขายทั้งบริษัท เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สำหรับยอดขายทั้งบริษัทที่มีถึง 2,000 ล้านบาท แต่ความสำคัญของธุรกิจนี้ คือเป็นสินค้าสำหรับมืออาชีพ

"ถึงแม้ว่าธุรกิจฟิล์มหนังตัวเลขจะไม่สูง ผลกำไรพูดกันง่าย ๆ ว่าไม่มี ถูกคืนกลับไปในรูปของการร่วมโปรโมชั่นหมด หากเราเป็นตัวแทนจำหน่ายฟิล์มหนังเพียงอย่างเดียว คงต้องปิดบริษัทกันไปนานแล้ว ผมเชื่อว่าค่ายอื่นก็คงเป็นลักษณะเดียวกับเรา แต่ที่ทุกคนต้องทำ ก็เพื่อประคับประคองไม่ให้ธุรกิจมันจบลงไป เพราะถือกันว่าอุตสาหกรรมนี้ สินค้าทุกตัวเราขายให้กับมืออาชีพผลทางอ้อมมันมี อิมเมจที่ได้กับมามันไม่น้อยเลยทีเดียว" สหพันธ์โต้โผใหญ่แห่งค่ายฟูจิ กล่าวด้วยความมั่นใจ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us