ตามคาด เศรษฐกิจเดือน เม.ย.ทรุดเหตุเพราะการเมืองวุ่น เผยจะชัดเจนขึ้นใน 2 เดือนข้างหน้า อาจกระทบการลงทุนฉุดเศรษฐกิจในอนาคต
นายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโดยรวมในเดือน เม.ย.แผ่วลง นอกเหนือในเดือนนี้มีวันหยุดทำการมากเป็นพิเศษแล้วจนมีผลให้ธุรกรรมต่างๆ ชะลอลง ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเป็นสำคัญด้วย โดยยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้และคาดว่าผลกระทบจากปัญหาการเมืองจะมีผลต่อเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นใน เดือน พ.ค.และมิ.ย.นี้ ซึ่งคาดว่าจะกระทบในบางภาคธุรกิจ ท้ายที่สุดเศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าต่อไปได้อยู่
“ธปท.มีความเป็นห่วงปัญหาทางการเมืองนี้อาจมีผลกระทบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุน เพราะกว่าจะทบทวนแผนการลงทุนต้องใช้เวลา ประกอบกับภาคการลงทุนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว ทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจในอนาคตอาจจะมีปัญหาได้”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการประเมินความเสียหายของปัจจัยการเมืองต่อเศรษฐกิจไทย ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อล่าสุด วันที่ 29 เม.ย.นั้น ธปท.ได้พิจารณาไว้เป็น 3 กรณีคือ ความเสียหายในกรณีฐาน หรือความเสียหายที่เหตุการณ์ไม่รุนแรงไปกว่าช่วงที่มีการประเมินมากนัก ความเสียหายจากปัจจัยการเมืองจะอยู่ที่ 0.9% ของจีดีพี และในกรณีที่เหตุการณ์ดีขึ้นกว่าในช่วงการประมาณการ ความเสียหายจะลดลงเหลือประมาณ 0.3- 0.5% ของจีดีพี แต่หากสถานการณ์การเมืองเลวร้ายลงมากจากที่ประมาณการ ธปท.ได้ประเมินความเสียกรณีเลวร้ายไว้ที่ 1.4 -1.6% ของจีดีพี หรือประมาณ 140,000-160,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในเดือน เม.ย. การบริโภคลดลงบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤต แต่ได้รับการทดแทนจากรายได้เกษตรกรและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากระดับ 77.3 มาอยู่ที่ระดับ 75.0 ในเดือนนี้ จากปัญหาการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับการผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เร่งการผลิต จึงมองว่าแนวโน้มในอนาคตอีก 3 เดือนข้างหน้ายังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออกตามคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่ยังมีต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการลงทุนในประเทศก็ยังดีอยู่ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการลงทุนขยายการผลิตของผู้ประกอบการยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 55.7 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 46.0 ส่วนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและความไม่แน่นอนเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงในระดับต้นๆ
ขณะที่เงินฝากลดลง 2.3 หมื่นล้านบาท ผลจากการถอนเงินฝากเพื่อใช้ในกรณีจำเป็นช่วงสถานการณ์ความไม่สงบทางการเงิน และการโอนเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารในคดียึดทรัพย์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 4.9 หมื่นล้านบาท ส่วนสินเชื่อทรงตัวในระดับ 5.9% จากผลความกังวลในสถานการณ์การเมืองที่เริ่มรุนแรงขึ้น ความต้องการสินเชื่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคจึงไม่ได้เร่งขึ้นมากเหมือนช่วงก่อนหน้า โดยสินเชื่อภาคธุรกิจลดลงเล็กน้อยภายหลังจากที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นนานติดต่อกัน 5 เดือน
ด้านการส่งออกมีมูลค่า 13,832 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 34.6% โดยการส่งออกในทุกหมวดดีขึ้น ยกเว้นภาคเกษตรในส่วนของยางพาราและข้าว ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 14,022 ล้านเหรียญ หรือขยายตัว 43.1% โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบที่มีการสต็อกสินค้า เพื่อนำมาผลิตสินค้าในอนาคต รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบ เพื่อลดเชียปริมาณน้ำมันสำรองที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า ทำให้ขาดดุลการค้า 190 ล้านเหรียญ จากเดินก่อนที่เกินดุล 1,090 ล้านเหรียญ
ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล 232 ล้านเหรียญ จากเดือนก่อนเกินดุล 645 ล้านเหรียญตามรายได้การท่องเที่ยวลดลง โดยปริมาณนักท่องเที่ยวลดลงกว่าเดือนก่อนหน้าเกือบ 3.5 แสนคน โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวในภาคกลาง และกลุ่มนักท่องเที่ยวในเอเชียลดลงมาก โดยเฉพาะประเทศจีน แต่นักท่องเที่ยวบางส่วนได้ปรับแผนการเดินทางไปทางภาคใต้แทน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบของการชุมนุมในกรุงเทพ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 423 ล้านเหรียญสหรัฐจากที่เกินดุลในเดือนก่อน 1,734 ล้านเหรียญ
นอกจากนี้ในเดือน เม.ย.มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 2,999 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเงินทุนไหลเข้าในส่วนของธนาคาร 1,203 ล้านเหรียญ และภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร 1,602 ล้านเหรียญ ซึ่งส่วนนี้เป็นเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) 383 ล้านเหรียญ แสดงให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติยังคงมีต่อเนื่อง แม้มีเหตุการณ์บางอย่างทำให้ภาคธุรกิจขาดความเชื่อมั่นก็ตามและมีการลงทุนในตลาดหุ้น 499 ล้านเหรียญ
|