|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
อุตสาหกรรมยานยนต์พุ่งแรง ฟื้นเป็นรูปตัววี (V) ทำให้ผู้ประกอบการมองข้ามตัวเลขการผลิต ที่เคยประมาณการณ์ไว้เมื่อต้นปี 1.4 ล้านคัน ทะลุไปเป็น 1.5-1.6 ล้านคัน ส่งผลให้ประเมินปริมาณการใช้วัตถุดิบผิดพลาด โควต้าเหล็กที่ได้รับอนุมัตินำเข้าจากญี่ปุ่น 4.7 แสนตัน ภายใต้ข้อตกลง JTEPA อาจจะหมดในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จนต้องหันมานำเข้าเหล็กนอกโควต้าแทน ส่งผลต้นทุนพุ่ง 5-10%
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.- เม.ย.) มีอัตราการเติบโตเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ ทำให้มีแนวโน้มว่าการผลิตรถยนต์ในไทยปีนี้ มีโอกาสจะปรับเพิ่มมากกว่าประมาณการณ์ไว้เมื่อต้นปีที่ 1.4 ล้านคันได้
“ในการประชุมครั้งล่าสุดของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้หารือกันถึงเรื่องนี้และเห็นว่า โอกาสเป็นไปได้สูงที่การผลิตรถยนต์ในไทยปีนี้ จะปรับเพิ่มกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ โดยได้มีการมองไปถึงตัวเลขการผลิต 1.5-1.6 ล้านคัน เหตุนี้ทางกลุ่มฯ จึงได้ให้สมาชิกจากแต่ละบริษัทรถ กลับไปประเมินตัวเลขการผลิตใหม่ ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนในเดือนมิถุนายนนี้”
ทั้งนี้การประเมินตัวเลขที่น่าจะปรับเพิ่มขึ้น มาจากตลาดในประเทศที่เดิมคาดการณ์ไว้ประมาณ 6 แสนคัน ขณะนี้ได้มีการมองยอดขายเพิ่มไปเป็น 6.5 แสนคัน และการส่งออกรถไปต่างประเทศตลาดหลักๆ ของไทย ล้วนมีอัตราการขยายตัวเป็นอย่างมาก จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดว่าการผลิตเพื่อส่งออกจะปรับเพิ่มเป็นกว่า 9 แสนคัน จากเดิมประมาณการณ์ไว้ที่ 8 แสนคัน
นายศุภรัตน์กล่าวว่า ปริมาณการผลิต 1.4 ล้านคัน หรือประมาณกว่า 70% ของกำลังการผลิตรถยนต์ที่มีในไทยทั้งหมดกว่า 1.8 ล้านคัน ถือเป็นสัดส่วนที่ตามหลักการณ์แล้ว จำเป็นจะต้องมีการเตรียมปรับปรุงไลน์ผลิตใหม่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเมื่อปี 2551 แต่ต้องชะลอไปเมื่อประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ในช่วงปลายปีดังกล่าวและต่อเนื่องมาจนถึงปี 2552 แต่เมื่อตัวเลขการผลิตกลับมาฟื้นตัวเป็นรูปตัววี(V) เช่นนี้ ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการเริ่มเตรียมปรับไลน์ผลิตใหม่บ้างแล้ว
“เบื้องต้นสิ่งที่ดำเนินการปรับการผลิต ได้แก่ เรื่องของแรงงาน เพิ่มกะทำงาน และขยายไลน์เพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งในส่วนของแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่มีปัญหา แต่การเพิ่มกะทำงานปัจจุบันเต็มที่ 2 กะแล้ว และเป็นเรื่องลำบากที่จะเพิ่มมากกว่านั้น ทำได้เพียงเพิ่มการทำงานเป็นโอทีเท่านั้น สิ่งที่ผู้ผลิตกำลังเตรียมในขณะนี้จึงเป็นการขยายไลน์การผลิต โดยเฉพาะในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วน แต่จะเป็นมูลค่าเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับปริมาณและเป้าหมายของโรงงานนั้นๆ จึงไม่สามารถสรุปได้”
นายศุภรัตน์เปิดเผยว่า การขยายตัวของตลาดรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศ จนต้องปรับเพิ่มกำลังการผลิตตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อเรื่องของวัตถุดิบบางอย่าง ที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะโควต้านำเข้าเหล็กจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปีนี้ได้รับอนุมัติโควต้าเหล็กนำเข้าเพื่อผลิตรถยนต์ ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น หรือ JTEPA โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าอยู่ที่ 4.7 แสนตัน จากการประเมินกำลังการผลิตที่ 1.4 ล้านคัน
“ในการเจรจาเรื่องโควต้าการนำข้าเหล็ก เรามีการร้องขอโควต้าไปมากกว่านี้ แต่ทางที่ประชุมคณะกรรมการอนุมัติให้แค่นี้ เพราะไม่เชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยน์ไทย จะกลับมาพลิกฟื้นได้เร็วอย่างที่เห็นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามแม้จะมีปัญหาโควต้าเหล็กนำเข้าหมด ทางผู้ผลิตจำเป็นต้องนำเข้าเหล็กนอกโควต้ามาทำการผลิตทดแทน ถึงจะต้องรับภาระต้นทุนภาษีนำเข้านอกโควต้าอยู่ที่ 5-10% ตามประเภทเหล็ก เพื่อผลิตรถให้ได้ตามความต้องการตลาด”
ทั้งนี้หลังกลางปีเป็นต้นไปจะเริ่มเห็นผลกระทบจากปัญหาเหล็ก ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าคงไม่มีการขึ้นราคาสินค้า เพื่อผลักภาระให้กับผู้บริโภค เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด โดยผู้ประกอบการคงจะใช้วิธีบริหารจัดการมาช่วยลดต้นทุนแทน
|
|
|
|
|