เผย 4 เดือนต่างชาติยื่นขอส่งเสริมฯลงทุน 245 โครงการมูลค่า 5.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 146% บ่งชี้นักลงทุนยังเชื่อมั่นไทย อุตฯ เตรียมถกอัยการสูงสุดสัปดาห์นี้ เล็งหาช่องยื่นศาลฯ ปลดล็อคคำสั่งระงับ 2 กิจการ ได้แก่ บริษัท เอ็มทีพี เอชพี เจวี และบมจ.วีนีไทย อุ้มลงทุน
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยถึงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) ใน 4 เดือนแรกปี 2553 (ม.ค.-เม.ย.) ว่า มีโครงการลงทุนจากต่างประเทศยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 245 โครงการ เพิ่มขึ้น 31.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีจำนวน 186 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนรวม 53,302 ล้านบาทขยายตัวถึง146% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 21,672 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในการลงทุนระยะยาว
ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวแยกเป็นการลงทุนใหม่ 130 โครงการและขยายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว 115 โครงการ กิจการที่นักลงทุนต่างชาติยื่นขอส่งเสริมและมีเงินลงทุนสูงสุด คือ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง จำนวน 67 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 16,911 ล้านบาท รองลงมาคือ กิจการบริการและสาธารณูปโภค 57 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 12,697 ล้านบาท ตามด้วยกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 49 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 8,439 ล้านบาท
ญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด มีจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริม 99 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 25,611 ล้านบาท ซึ่งขยายตัว 152% รองลงมา คือ การลงทุนจากสิงคโปร์ จำนวน 25 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 6,897 ล้านบาท อันดับสาม คือ จีน มีโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมรวม 9 โครงการ ปริมาณเงินลงทุน 6,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 6 พันล้านบาท
นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานกลางเพื่อหาข้อสรุปในแนวทางดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 กล่าวว่า สัปดาห์นี้จะหารือกับอัยการสูงสุดถึงความเป็นไปได้ในการยื่นต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอผ่อนผันคำสั่งระงับกิจการของบริษัท เอ็มทีพี เอชพี เจวี(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท วีนีไทย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากทั้งสองกิจการเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำหากล่าช้าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำได้
ทั้งนี้ บริษัท เอ็มทีพี เจวี (ประเทศไทย ) จำกัด ผลิตก๊าซไฮโดรเจน เป็นการร่วมทุนของบริษัท โซลเว่ย์ เอส.เอ. กับดาวเคมีคอล ซึ่งพร้อมจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ 2 เดือนที่ผ่านมา และยังได้ดำเนินงานเกี่ยวกับจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และสุขภาพ (HIA) แล้ว ทำให้โครงการได้รับผลกระทบ ซึ่งล่าสุดผู้บริหารของดาวเคมีคอลได้เข้ามาหารือและรายงานว่าอาจจะต้องยื่นเรื่องต่อศาลฯเพื่อให้เร่งรัดขั้นตอนและพร้อมที่จะพาไปดูเทคโนโลยีดังกล่าวที่ยืนยันว่าไม่มีปัญหากับสิ่งแวดล้อม ส่วนของบมจ.วีนีไทยขยายกำลังผลิตคลอรีนและโซเดียมไฮดรอกไซด์นั้นได้มีการนำเข้าเครื่องจักรบางส่วนแล้ว
“เราได้ดูรายละเอียดแล้วยอมรับว่าใน 2 กิจการนี้มีเอกสารสมบูรณ์สุดก็เลยจะเร่งยื่นในส่วนนี้ก่อน โดยยอมรับว่าหากบัญชีประเภทกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติออกมาเร็วก็จะสามารถนำไปประกอบอธิบายกับศาลฯได้เพิ่มขึ้นว่าเป็นกิจการเข้าข่ายไม่รุนแรงแต่ขณะนี้รายชื่อบัญชียังหาข้อสรุปไม่จบซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มองว่าไม่คืบหน้า โดยระหว่างนี้ 40 กิจการในมาบตาพุดก็เร่งทำตามมาตรา 67 วรรค 2 โดยเฉพาะ HIA ที่คาดว่าจะเสร็จในปลายเดือนนี้ คาดว่าพ.ย.นี้จะมีการอนุมัติดำเนินงานได้ทั้งหมดตามองค์ประกอบกับรัฐธรรมนูญครบถ้วน”นายสรยุทธกล่าว
|