Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2536
3+1 กลยุทธ์สู้อาณาจักรทีพีไอ             
โดย วิลาวัณย์ วิวัฒนากันตัง
 


   
www resources

โฮมเพจ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (TPI) - ทีพีไอ
โฮมเพจ ทีพีไอโพลีน

   
search resources

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย, บมจ.
ทีพีไอ โพลีน, บมจ.
ประชัย เลี่ยวไพรัตน์
Chemicals and Plastics
Cement




การที่ค่ายทีพีไอ ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก และกล้าชนกับปูนใหญ่ด้วยการฝ่ายด่านลงสู่ธุรกิจปูน แล้วยังแตกหน่อบริษัทออกไปมากมายในวันนี้พูดได้ว่า อาศัย 3 กลยุทธ์หลัก คือ กล้า..ใหญ่..ลึก..และอีกปัจจัยเสริม ด้านเทคโนโลยี โดยมีประชัย พี่ใหญ่ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์เป็นคนชูธงรบ..!

"กร้าว" ได้กลายเป็นภาพลักษณ์ของกลุ่มธุรกิจเครือทีพีไอ และเป็นหัวใจสำคัญที่นำพาวาทีพีไอสู่ความใหญ่ในวันนี้ ด้วยการนำของสามพี่น้องตระกูลเลี่ยวไพรัตน์

นามสกุล "เลี่ยวไพรัตน์" นั้นเป็นที่รู้จักดีตั้งแต่ ยุคธนาพรชัยค้าข้าว เมื่อหลายสิบปีก่อนให้ทายาทสืบสานต่อมาด้วยกลยุทธ์เดียวกัน

นั่นก็คือ กล้า..ใหญ่..ลึก..และตามด้วยเทคโนโลยี

เริ่มตั้งแต่ยุคของพร เลี่ยวไพรัตน์ ผู้หักเหชีวิตเพราะไม่ได้เรียนต่อ แต่กลับมารับโอนกิจการมาดูแลแทนพ่อ พ่อค้าใหญ่สระบุรีที่มีทั้งโรงสี โรงฆ่าสัตว์ โรงเหล้า ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่กำลังเกิดวิกฤติข้าวเนื่องจากกิจการค้าข้าวส่วนใหญ่อยู่ในมือต่างชาติและราคาข้าวตกต่ำมาก จนกระทรวงเศรษฐการต้องตั้งบริษัท สีข้าวไทย จำกัดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา

บริษัทข้าวไทยมีโรงสีใหญ่ในกรุงเทพฯ 7 แห่งซึ่งตอนนั้นมีบทบาทสูงกว่าพ่อค้าข้าวเป็นฐานสนับสนุน ตรงนี้เองที่เป็นจุดเกิดของ "เลี่ยวไพรัตน์"

แม้ว่าโรงสีไฟปากเพรียวของ "เลี่ยวไพรัตน์" จะไม่ได้ร่วมขบวนด้วยอย่างจริงจังนัก แต่ด้วยสายตาอันยาวไกลที่เห็นประโยชน์จากบริษัทข้าวไทย เขาตัดสินใจขยายกิจการผลิตของโรงสีสูงถึง 40 เกวียน ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในขณะนั้น

จนเป็นที่รู้กันว่า โรงสีปากเพรียวเป็นคนป้อนข้าวเปลือกจำนวนมากให้กับโรงสีทั้ง 7 แห่ง เพื่อขายผ่านไปยังบริษัทข้าวไทย หรืออยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการแก้ปัญหาคราวนั้น

"เลี่ยวไพรัตน์" เริ่มก่อรูปแล้วเพราะพรไม่เพียงแต่ทำโรงสีข้าวเท่านั้น แต่ยังเป็นเจ้าของพืชไร่ขนาดใหญ่รายหนึ่งของไทย โดยเฉพาะปอ มัน ข้าวโพดที่จังหวัดสระบุรพื้นที่เพาะปลูกกึ่งกลางระหว่างนครราชสีมากับลพบุรี

ที่สำคัญ เขายังมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปเป็นนักธุรกิจระดับชาติให้ได้ ตั้งแต่เมื่อคราวเรียนหนังสือที่เซี่ยงไฮ้ไม่ใช่จะเป็นแค่พ่อค้าภูธรในสังคมเล็ก ๆ จึงได้ขยายฐานเข้ากรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา

จุดเริ่มต้นธุรกิจของพร ก็ไม่ต่างจากเถ้าแก่เสื่อผืนหมอนใบรายอื่นที่สร้างฐานมาจากเครือข่ายความสัมพันธ์ของญาติมิตรเป็นทุนเดิมโดยมีตระกูล "แต้ไพสิฎพงศ์" เพื่อเก่าแก่เมื่อครั้งรุ่นเปี๊ยะยู้ (เจ้าของโรงงานอาหารสัตว์ เซนทาโก) ซึ่งสนิทสนมกันเป็นพิเศษเป็นเพื่อร่วมทางธุรกิจมาแต่แรก เข้าลักษณะที่ว่า คนหนึ่งทำธุรกิจอะไรอีกคนหนึ่งก็จะต้องเข้าร่วมลงทุนด้วย

แล้วพรก็เปิดเอเย่นต์ค้าผ้ารายใหญ่รายหนึ่งของประเทศช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 "ฮ่งเยี่ยะเซ้ง" เป็นร้านค้าแห่งแรกของเขาในกรุงเทพฯ ขนาดที่ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ลูกชายคนโตของพรถึงกับเคยกล่าวว่า "ร้านของเราใหญ่ไม่แพ้ร้านของคุณสุกรี" (สุกรี โพธิรัตนังกูร)

หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการค้าผ้า พรจึงหันไปสร้างโรงงานลักกี้ เท็กช์ โรงงานสิ่งทอใหญ่รายหนึ่งในช่วงปี 2500 จากนั้นก็ร่วมทุนกับสมาน โอภาสวงศ์ แห่งกลุ่มฮ่วยชวนค้าข้าว พ่อค้าข้าวที่โตจากบริษัทข้าวไทยแล้วมาตั้งโรงงานไทยเกรียงปั่นทอขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง

สมานคนนี้นี่เองที่เป็นส่วนผลักดันสำคัญให้พรเข้าสู่วงการค้าข้าวส่งออกอย่างเต็มรูปแบบในระยะไล่เลี่ยกันกับการตั้งโรงงานไทยเกรียง เมื่อตั้งบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (ทีพีไอ) สมานก็เป็นหุ้นส่วนหลักของ "เลี่ยวไพรัตน์" จนพูดได้ว่า "พรกับสมานตัดกันไม่ขาด"

อย่างไรก็ตาม ความที่พรมีโรงสีใหญ่เป็นฐานการผลิตราคาถูก จึงทำให้เขาได้เปรียบในการประมูลแข่งขายข้าวแทบทุกครั้ง เพียงไม่กี่ปี "ธนาพรชัย" ก็พุ่งสู่หนึ่งในห้าผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อย่างไม่ลำบากนัก

ช่วงที่ธนาพรชัยรุ่งเรืองที่สุดสำหรับกิจการค้าข้าวนับตั้งแต่ช่วงปี 2520 เป็นต้นมาที่ประมูลขายข้าวในล็อตใหญ่ ๆ ได้ติดต่อกันหลายปี บางปีส่งออกได้ถึง 5 แสนตันซึ่งเป็นตัวเลขที่เรียกว่าทำกันได้ไม่ง่ายเลย

ตลาดหลักที่ทำให้ธนาพรชัยโดดเด่นขึ้นมา ก็คือตลาดอัฟริกาและตะวันออกกลาง ที่เขาเสี่ยงเข้าไปจนได้ผลดีมีกำไรมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะข้าวนึ่งที่ส่งครองตลาดตะวันออกกลางปีละหลายแสนตัน

ยิ่งในปี 2530 ด้วยแล้ว การที่ธนาพรชัยสต๊อกข้าวราคาถูกช่วงต้นปีไว้ถึง 2 แสนตัน จากราคาแค่ตันละ 5,000 บาท แต่ขายออกไปได้ช่วงกลางฤดูการผลิตถึงราคาตันละ 6,000 บาท ทั้งที่ตอนนั้นมีแนวโน้มว่าพ่อค้ารายอื่นจะเจ็บตัวกันทั่วหน้าทว่า..ที่สร้างผลตอบแทนอันงดงาม จนเป็นที่ฮือฮาทั่วยุทธจักรค้าข้าว เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ไม่มีใครกล้าทำจนทุกวันนี้ธนาพรชัยก็ยังเป็นที่ยำเกรงพอ ๆ กับกลุ่มสุ่นฮั่วเซ้งในวงการค้าข้าว

พูดได้ว่า การที่พรทำให้ธนาพรชัยประสบความสำเร็จอย่างสวยหรูนั้น เพราะกล้าที่จะเสี่ยงและพลิกแพลงตลาด แม้ว่าบางครั้งอาจจะเจ็บตัวบ้างจากการขยายตลาดอย่างฮึกเหิม แต่ผลตอบแทนที่ได้จากการเก็งกำไรก็คุ้มกว่าหลายเท่านัก

"ความกล้าในการตัดสินใจที่ว่านี้รวมถึงความฉับไวต่อสถานการณ์ และการมองโลกที่ทอดยาวไปข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ ยิ่งกว่านั้น เมื่อจะลงทุนแล้ว ก็ทำขนาดใหญ่ เพราะมีโอกาสโตเร็วกว่าและทำให้คนเกิดทีหลังตามทันยาก เรียกว่าต้องทิ้งห่างคนอื่นไปเลย" แหล่งข่าวเครือทีพีไอวิเคราะห์ถึงการเริ่มต้นยุทธศาสตร์การค้าของ "เลี่ยวไพรัตน์"

เมื่อธุรกิจค้าข้าวไปได้ดี พรไม่หยุดแค่นั้นแต่กลับรวบรวมพ่อค้าข้าวไปตั้งโรงงานทอกระสอบที่ จ.สระบุรี เพื่อเป็นฐานสนับสนุนการค้าข้าวอีกต่อหนึ่งเพียงไม่กี่ปี "เลี่ยวไพรัตน์" ก็เกือบผูกขาดโรงงานแห่งนี้แต่ผู้เดียว จนกลายเป็นเสือนอนกินเก็บเกี่ยวกำไรจากพ่อค้าข้าวได้อย่างอิ่มใจ

ขณะที่ชื่อเสียง "เลี่ยวไพรัตน์" กำลังแพร่สะพัดพรได้ขยายไปสู่ธุรกิจอื่นหลังจากที่มีฐานการเงินจากการค้าข้าวมากพอแล้ว โดยไปตั้งบริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด บงล.คาเธ่ย์ไฟแนนซ์ ซึ่งร่วมทุนกับเพื่อเก่าตระกูลแต้ไพสิฏพงศ์ตั้งโรงงานอาหารสัตว์เบทาโก-เซนทา-โก ราวปี 2516

ตอนนั้น โรงงานใหญ่ไม่แพ้โรงงานของกลุ่มซีพี "ถ้ายังอยู่ ก็คงแข่งกันสะบั้นหั่นแหลก" ที่ต้องขายทิ้งไปทั้งที่กำลังไปได้ดี ธุรกิจอาหารสัตว์อยู่ในภาวะขยายตัวเพราะคุณแม่ของพรขอร้องให้เลิก ด้วยเหตุว่าถ้ายิ่งขยายก็ต้องฆ่าสัตว์มากขึ้น และยิ่งจะเป็นเจ้ายุทธจักรอาหารสัตว์ในปัจจุบันได้อย่างลอยตัว แหล่งข่าวเครือทีพีไอ กล่าวถึงที่มาในการขายหุ้นทิ้งเพราะถ้าจะทำต่อ นั่นหมายถึง "เลี่ยวไพรัตน์" จะต้องเป็นหนึ่ง

การตัดสินใจตรงนี้ได้กลายเป็นช่วงโค้งสำคัญต่อทิศทางธุรกิจของ "เลี่ยวไพรัตน์…"

ปี 2521 ที่พรขายหุ้นโรงงานอาหารสัตว์ทิ้ง ประจวบเหมาะกับประมวล น้องชายรองจากประชัย และประทีปคว้าเอาปริญญาเอกด้านปิโตรเคมีจากเอ็มไอที สหรัฐฯ กลับมา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นมิติใหญ่ทางธุรกิจของตระกูล

ประมวล จบมัธยมปลายที่อัสสัมชัญ บางรัก แล้วเรียนต่อคณะวิศวะ จุฬาฯ สอบทุนโคลัมโบได้ที่ 1 แต่บังเอิญตกสัมภาษณ์จึงเบนไปเรียนปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเบอร์กเลย์ ด้วยความที่สนใจงานปิโตรเคมีอย่างมาก เลยเรียนต่อปริญญาโทจนได้ดอกเตอร์ในที่สุด ขนาดที่ประชัยกล้าประกศแทนน้องชายว่า "เขาเป็นคนแรกที่เรียนด้านนี้"

แล้วความเป็นหนึ่งและความเป็นคนแรกของประมวลได้ทำให้เลี่ยวไพรัตน์กลายเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในขณะที่ยังไม่มีนักลงทุนรายใดกล้าที่จะเอาจริงกับมัน

มีวิชาอยู่กับตัวกลัวอะไร..!

เมื่อประมวลมีความรู้เรื่องปิโตรเคมีท่วมท้น จึงชวยประชัยและประทีปร่วมกันศึกษาโครงการซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นตอของพลาสติกนานาชนิด และมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนเราอยู่มากทั้งยังมีแนวโน้มโตได้อีกเยอะ

สามพี่น้องเลี่ยวไพรัตน์จึงไม่รอช้า ได้ตั้งบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (ทีพีไอ) เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกประเภทพีอีวัตถุดิบที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์พลาสติกมากที่สุด ด้วยความเชื่อมั่นว่าอย่างไรเสียโครงการปิโตรเคมีก็ต้องเกิด

แน่ละ..โครงการปิโตรเคมีจะมีเกิดได้ ก็ต้องมีโรงงานขึ้นปลายอย่างโรงงานเม็ดพลาสติกเกิดขึ้น เพื่อเป็นตลาดรองรับวัตถุดิบเพราะโดยระบบการผลิต หากยังไม่มีโรงงานปิโตรเคมีผลิตเอทธีลีน ก็นำเข้ามาใช้ก่อนได้ โดยเฉพาะเมื่อไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมากพ่อที่จะใช้ในโครงการได้เขาจึงพากันสู้ถึงที่สุด

ชื่อ "ทีพีไอ" เจ้าตลาดเม็ดพลาสติกจึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา..!

แม้ประชัยจะจบวิศวะ แต่เขามีพรสวรรค์ในเรื่องการตลาดอย่างดี กรณีบุกเบิกตลาดข้าวอัฟริกาและตะวันออกกลางที่ใครต่อใครในวงการมองว่า เสี่ยงเข้าไปอย่างบุ่มบ่ามได้อย่างไร ก็มาจากความคิดคิดของเขา ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องสร้างทีพีไอ ด้วยการชูธงนำตลาดอย่างอาจหาญตามบุคลิกที่เขารับมาจากพ่อ

ขณะเดียวกัน ก็มีประทีปซึ่งจบวิศวะ จุฬาฯ แล้วเรียนต่อปริญญาโทวิศวะ-อุตสาหกรรมที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด แล้วมารับผิดชอบโรงงานอาหารสัตว์เบทาโก-เซนทาโก ก่อนที่จะรับผิดชอบการตลาดของทีพีไอภายใต้ธงรบของประชัย

ก้าวแรกของทีพีไอจึงไปได้สวย โดยมีประชัยเป็นโต้โผใหญ่ แล้วแยกให้ประทีปดูด้านตลาด ส่วนประมวลรับผิดชอบสายการผลิตทั้งหมด

ส่วนบริษัทในเครือแห่งอื่นไม่ว่าจะเป็นบริษัท บางกอกสหประกันภัย บงล.คาเธ่ไฟแนนซืนั้นมีมาลินี ลูกคนแรกของพรคอยบริหารอยู่

มาลินีถือเป็นคนเก่งคนหนึ่ง หลังจากจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์ฯ จุฬาฯ แล้วก็เข้ารับราชการที่สำนักงานประกันภัย จนได้ทุนเรียนต่อด้านนี้ที่มหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐ แล้วกลับมารับราชการอีกครั้งจนถึงปี 2516 จากนั้นก็ลาออกมาดูแลธุรกิจครอบครัว โดยเป็นกรรมการผู้จัดการที่บริษัท บางกอกสหประกันภัย และต่อมาก็ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมประกันวินาศภัยหญิงคนแรกของไทย

เมื่อกระจายงานกันรับผิดชอบกันได้อย่างนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง..!

ประชัยมั่นใจมากในการลงเสาเข็มสร้างโรงงานเม็ดพลาสติกแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ด้วยกำลังการผลิต 65,000 ตันต่อปี ซึ่งเริ่มผลิตเม็ดแรกได้ในปี 2525 ด้วยเทคโนโลยีของ IMHAUSEN แห่งเยอรมัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยกู้จาก KFW บริษัทเงินทุนเพื่อการพัฒนาของรัฐบาลเยอรมันตะวันตก

ทีพีไอเริ่มก้าวอย่างหนักแน่น ดังที่ประชัยเชื่อมั่นว่า มีตลาดใหญ่คอยรองรับเม็ดพลาสติกพีอี ซึ่งเดิมไทยต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นเป็นหลัก

"ตลาดจะยอมรับเรามากแค่ไหน อยู่ที่ฝีมือ (ทั้งการผลิตและการตลาด) มากว่าแหล่งข่าวที่รู้จักทีพีไอดีกล่าว "ที่ผ่านมาประชัยเชื่อว่าตัวเองคาดการณ์ไม่ผิด และผ่านขวากหนามในเวทีธุรกิจมาพอตัว"

ตังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากกรณีการประมูลขายข้าวลอตใหญ่ได้ติติ่กันหลายปี หรือเป็นคนต้นคิดเสี่ยงขายข้าวในแถบประเทศตะวันออกกลางตั้งแต่ช่วงปี 2522 จนเข้ามาบริหารธนาพรชัยอย่างเต็มที่ หรือแม้แต่การกู้เงินแบงก์ในการสร้างโรงงานเม็ดพลาสติกแล้วถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย จนต้องร่อนจดหมายไปทั่วโลกกว่า 60 ฉบับ กระทั่งได้รับแรงหนุนจาก KFW เพราะเขาเชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้มีอนาคต ขณะที่ตนก็ต้องการขายเทคโนโลยี จนตอนหลังทีพีไอได้กลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่เครดิตดีของ KFW เมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่าโครงการไปได้ดี

โดยเฉพาะการที่ทีพีไอเป็นรายแรกและรายเดียวที่ผลิตเมล็ดพลสติกพีอีในขณะนั้น ภาพของการ "ผูกขาด" จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ติดตัวทีพีไอไปด้วย

ที่ประชัยแน่ใจยิ่งกว่านั้น คือ "เมื่อกล้า แล้วยังลงทุนขนาดใหญ่ และไม่มีนโยบายแข่งกับลูกค้าโดยทีพีไอเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐาน หรือลงลึกในธุรกิจนั้น จะเห็นว่าทีพีไอจะไม่ผลิตสินค้าพลาสติกแข่งกับลูกค้า จะผลิตแต่เม็ดพลาสติกเป็นวัตถุดิบให้ลูกค้าเท่านั้น มิฉะนั้นก็จะสร้างความเหลื่อมล้ำในการซื้อขาย" แหล่งข่าวใกล้ชิดทีพีไอยืนยันถึงจุดยืนทางธุรกิจที่คงมาถึงทุกวันนี้ เฉกเช่นการค้าข้าวที่เป็นสินค้าเกษตรขั้นต้นสำคัญในรุ่นแรก ยุคแรกของ "เลี่ยวไพรัตน์"

สำหรับทีพีไอถือเป็นธุรกิจรุ่นที่ 2 คือจากพ่อมาสู่ลูกคือประชัย และเป็นยุคที่ 2 ของธุรกิจภายใต้ชื่อทีพีไอ เจ้าเม็ดพลาสติกที่โด่งดังไปทั่วทุกสารทิศ

จะต่างกันก็แต่ธุรกิจยุคทีพีไอมีปัจจัยของเทคโนโลยีเข้าเสริมให้กลยุทธ์กล้า-ใหญ่-ลึกแข็งแกร่งยิ่งขึ้นตามความจำเป็นของอุตสาหกรรม..!

ที่ว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยเสริม เพราะสมัยก่อนโรงงานพลาสติกของไทยส่วนใหญ่เป็นโรงงานเล็กเก่า การพัฒนาอุตสาหกรรมไม่ใช่ว่ามีเทคโนโลยีดีแล้วจะไปได้ดีในตลาดนี้ทันที ในขณะที่ลูกค้ายังใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีอายุการใช้นาน ๆ ขนาดที่ปั๊มแม่พิมพ์แล้วมีเสียงเอี๊ยดอ๊าด เม็ดพลาสติกที่ผลิตออกมาก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับเครื่องมือที่ลูกค้าใช้อยู่ แล้วค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนกันไป

"ไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีสูง ๆ มุ่งคุณภาพดีเลิศแล้วจะใช้ได้ บางครั้งทำเอาเครื่องจักรพังก็มีเนื่องจากพลาสติกเป็นสินค้าที่ไวในเรื่องคุณภาพมาก เครื่องจักรที่คุ้นเคยกับเม็ดพลาสติกคุณภาพใด ถ้าเพี้ยนไปเพียงนิดเดียว ก็ใช้ไม่ได้แล้ว" แหล่งข่าวระดับสูงเครือทีพีไอกล่าวถึงเหตุผลที่ให้เทคโนโลยีเป็นแค่ปัจจัยเสริม

"เทคโนโลยีซื้อได้ แต่ไม่ใช่เอาเข้ามาแล้วจะใช้ได้ทันที ปรับโน่นปรับนี่กันเยอะกว่าจะลงตัวจนทำให้ลูกค้าพากันบ่นอุบในตอนแรกว่า คุณภาพไม่ดีบ้าง สู้ของญี่ปุ่นไม่ได้บ้าง หรือสินค้าดี แต่ใช้กับเครื่องจักรที่มีอยู่ไม่ได้"

ว่าไปแล้ว การเกิดของทีพีไอ ด้านหนึ่งก็เป็นแรงผลักดันสำคัญให้อุตสาหกรรมพลาสติกต้องเร่งพัฒนาตัวเองมากขึ้น แม้อีกด้านหนึ่งจะถูกมองว่าผูกขาด เห็นแก่ได้ มุ่งแต่กำไรก็ตามที

นอกจากสามพี่น้อง "เลี่ยวไพรัตน์" แล้ว ยังมีแกนหลักสำคัญอย่างมังกร เกรียงวัฒนา มือโปรดูแลการเงินของทีพีไอ

เนื่องจาก "เกรียงวัฒนา" ถือเป็นเพื่อนเก่าแก่ประจำตระกูลอีกคนหนึ่ง เขาจึงเป็นคนใกล้ชิดที่ประชัยเชื่อใจ

จะเห็นว่า เมื่อมังกรจบจากอัสสัมชัญ ได้ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์บัณฑิต และการบริการการเงินจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐฯ แล้วก็เข้าทำงานตั้งแต่ช่วงก่อตั้งทีพีไอในปี 2521 จนปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งกรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้วยวัยเพียง 40 ปี

ลูกหม้อเก่าอีกคนหนึ่งที่ร่วมลุยตลาดตั้งแต่แรก ๆ คือ ประสิทธิ์ ชาญสิทธิโชค ซึ่งมีภรรยาเป็นลูกพี่ลูกน้องกับประชัย คอยดูแลการปฏิบัติงานด้านตลาดทั้งหมดในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด

คณะทำงานที่เป็นแกนหลักของทีพีไอจึงล้วนแล้วแต่มาจากสายสัมพันธ์ญาติมิตร "เลี่ยวไพรัตน์" เพราะถือว่าจะเชื่อใจกันได้มากกว่าตามสไตล์การบริหารสมัยก่อน แหล่งข่าวระดับสูงเครือทีพีไอชี้ถึงคนที่เป็นกลไกสำคัญของที่นี่ โดยมีประชัยเป็นประธานผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่จะตัดสินใจทุกอย่าง

ภาพลักษณ์ธุรกิจของทีพีไอในวันนี้จึงมาจากมันสมองของประชัยทั้งสิ้น..!

ไม่ว่าจะด้วยสไตล์ที่ดูกร้าว โผงผาง หรือคิดแล้วทำทันที จนบางครั้งผู้ร่วมงานตามแทบจะไม่ทันก็คือตัวแทนของประชัยนั่นเอง ดังที่มักกล่าวกันว่าจะดูบุคลิกองค์กรก็ให้ดูที่ผู้นำตัวจริงขององค์กรนั้น

โดยเฉพาะอาณาจักรเม็ดพลาสติกประเภทพีอีนั้น เรียกว่าอยู่ในกำมือทีพีไอ ที่ประชัยสู้ผ่านขวากหนามสร้างขึ้นมาอย่างยากลำบาก กระทั่งช่วงที่จะสร้างโรงงาน ก็ยังถูกขู่เผาโรงงานทิ้ง เพราะภาพโรงงานเม็ดพลาสติกในตอนนั้น คือ อุตสาหกรรมนอกคอกที่ดูน่ากลัวจนแทบไม่มีใครสนใจ สุดท้ายทีพีไอก็เป็นผู้ชนะ

แต่จู่ ๆ ทีพีไอก็เล่นเอาอาณาจักรทีพีไอสั่นสะเทือน…!

ทีพีไอ..ชื่อย่อที่ละม้ายคล้ายกับทีพีไอ ซึ่งมีชื่อเต็มว่า บริษัท ไทยโพลิเอททีลิน จำกัด จะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าบริษัทแม่ไม่ใช่ปูนใหญ่..!

นี่จึงกลายเป็นศึกใหญ่สำหรับทีพีไอ เมื่อปูนใหญ่เจ้าของปูนตราช้างที่เมื่อย่างเข้าสู่ธุรกิจใดก็เล่นเอาธุรกิจนั้นมีอันต้องผวา ได้ประกาศสร้างโรงงานเม็ดพลาสติกพีอี คือ เอชดี และแอลแอลดีพีอี อันเป็นโครงการต่อเนื่องจากวัตถุดิบ คือ เอทธีลีนจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด ในปริมาณ 137,000 ตันต่อปี

"อยู่ ๆ ปูนใหญ่คิดมาลงทุนเม็ดพลาสติกได้อย่างไร" ประชัยถึงกับให้สัมภาษณ์โพล่งออกมาอย่างไม่เข้าใจ

เพราะโดยภาพของปูนใหญ่นั้นมีความได้เปรียบทุกด้าน เมื่อลงทุนก็ทำครบวงจร จะเห็นว่าทำโรงปูนแล้วยังทำวัสดุก่อสร้าง ซึ่งต่างกับทีพีไอที่มองว่าการทำครบวงจรคือการแข่งกับลูกค้าโดยตรง

งานนี้เท่ากับเป็นการลูบคมทีพีไอ และเล่นเอาประชัยต้องคิดหนักเหมือนกันว่า ปูนใหญ่จะเอายังไงแน่ ก็เมื่อปูนใหญ่เคยศึกษาโครงการนี้อย่างละเอียดแล้ว พบว่าต้องลงทุนหลายพันบาท และเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่แต่เห็นว่าไม่คุ้มจึงยกเลิกไป ขณะที่ทีพีไออุตส่าห์ฝ่าฟันทุกรูปแบบให้โครงการนี้เกิดขึ้นมาจนเป็นผู้นำการผลิตเม็ดพลาสติกพีอีแต่ผู้เดียว ขณะที่ปูนใหญ่ก็เป็นผู้นำการผลิตปูนและแน่นอนว่า ต่างก็ย่อมหวงแหนอาณาจักรที่ตนบุกเบิกมาอย่างลำบาก

ที่สำคัญ คนอย่างประชัยจะไม่ปล่อยให้ใครมาเหยียบย่ำน้ำใจแน่..!

พูดกันตรง ๆ ทีพีไอไม่เคยคิดลงทุนโรงปูนจนเมื่อปูนใหญ่มาลงทุนเม็ดพลาสติกนี่แหละ เลยกลายเป็นพฤติกรรมที่คนนอกไม่เข้าใจมัน อาจจะเป็นจุดปรับของทีพีไอ แต่ไม่ถึงกับเป็นจุดเปลี่ยนอะไรใหญ่โต" แหล่งข่าวระดับสูงเครือทีพีไอกล่าวถึงเบื้องหลัง "ตอนนี้ ยังคงเป็นรุ่นที่ 2 แต่เป็นยุคธุรกิจยุคที่ 3 ของเลี่ยวไพรัตน์ ที่ประชัยจะทุ่มเททุกอย่างไปที่โรงปูน" หลังจากที่ได้แตกหน่อออกไปหลายบริษัท ทั้งที่เป็นบริษัทในเครือทีพีไอและเลี่ยวไพรัตน์ถือหุ้นมากกว่า 50 % และที่ร่วมลงทุนบางส่วน (โปรดดูตาราง "บริษัทเครือทีพีและร่วมลงทุน")

เป็นที่รู้กันว่า เกมนี้เล่นเอาประชัยเหนื่อยสาหัสหากรรจ์ทีเดียว…!

อันที่จริง ทีพีไอยอมรับว่าตอนแรกก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน เพราะไม่มีประสบการณ์ แต่ไม่สำคัญเท่าตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยในช่วงก่อนปี 2530 จนเมื่อเกิดภาวะปูนขาดแคลนอย่างชัดเจน

จนเมื่อปี 2532 บรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติให้ขยายโรงปูนประชัยใช้เวลาไม่ถึงอาทิตย์ก็ตัดสินใจทำโรงปูนชนกับปูนใหญ่ ด้วยการเสนอขอส่งเสริมจากบีโอไอสร้างโรงปูนขนาด 5 ล้านตันต่อปี ตามแบบฉบับของเลี่ยวไพรัตน์ เมื่อจะลงทุนก็ทำให้ใหญ่ จนถูกวิจารณ์กันเซ็งแซ่ บรรดาโรงปูนที่มีอยู่พากันคัดค้านรวมถึงบีโอไอที่ไม่ให้การส่งเสริม เพราะเกรงว่าทีพีไอจะเอาไปเป็นข้ออ้างในการขยายกำลังการผลิตจากกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะที่เดิมทีพีไอประกาศขออนุมัติจากโรงงานอุตสาหกรรมแค่ 2 ล้านตันต่อปี

เมื่อบีโอไอไม่ให้ส่งเสริม ประชัยก็ไม่หยุดหากยอมลงทุน 7,000 ล้านบาท จาก 5,000 ล้านบาท (ถ้าได้บีโอไอ) สร้างโรงปูนขนาด 2 ล้านตัน ไม่แต่เท่านี้โรงปูนนี้จะต้องเสร็จในปี 2535 ก่อนที่โรงใหม่รายอื่นกำหนดเสร็จในปี 2536 เพื่อเบียดตลาด ขณะที่ประชัยเห็นว่าโรงปูนไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยาก

ดังที่ทวี บุตรสุนทรจากค่ายปูนใหญ่เคยกล่าวไว้ว่า โรงปูนไม่ใช่สินค้าไฮเทคโนโลยี แต่อาศัยต้นทุนสูง ขนาดโรงงานจะต้องไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านตันต่อปีจึงคุ้มต่อการลงทุน และใช้เงินไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท

เขาจึงเดินหน้าสร้างโรงปูนอย่างเด็ดเดี่ยวและฉับไว โดยเริ่มปรับข่ายการตลาดของทีพีไอ ตั้งบริษัททีพีไอ โพลี จำกัด ขึ้นมารับซื้อสายการผลิตเม็ดพลาสติกแอลดีจากทีพีไอทั้งหมด รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้จากบีโอไอด้วย

"การย้ายการผลิตแอลดีมาอยู่ที่ทีพีไอ โพลี เพราะแอลดีเป็นส่วนที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด เมื่อเรารับอนุญาตให้ตั้งโรงปูน ก็รวมกิจการแอลดีกับทีพีไอ โพลีกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องควบกิจการที่เป็นคนละสายเข้าด้วยกัน

ทำให้ทีพีไอไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่อาศัยฐานกำไรจากการขายแอลดีมาเป็น CASH COW ก่อนที่โรงปูนจะคุ้มทุนในอีก 5-6 ปีหลังจากที่เริ่มผลิต ขณะที่พีทีไอที่ดูแลสายการผลิตเอชดีก็ยังมีกำไร แม้จะลดลงก็ตาม

จะเห็นว่า จากเดิมที่ทีพีไอเคยมีกำไรเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา และบางปีสูงถึงร่วม 1,000 ล้านบาท เมื่อแยกสายการผลิตแอลดีไปอยู่กับทีพีไอ โพลีนแล้ว ก็ยังคงมีกำไรปีละ 200-300 ล้านบาท

ขณะที่ทีพีไอ โพลีนเลือกเทคโนโลยี KRUPP POLYSIUS แห่งเยอรมนี เพราะมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีต่อกันตั้งแต่สมัยสร้างโรงงานทีพีไอ ทำให้สะดวกด้วยประการทั้งปวง

นี่เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมด้านการผลิตและโครงสร้างการบริหารสำหรับโรงปูน ขณะที่ประชัยต้องไล่กวดตามเวลาเพื่อสร้างโรงปูนชนิดหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้เสร็จเร็วที่สุด พร้อมที่สุดที่จะเข้าช่วงชิงกันในตลาด ถึงขนาดที่ยอมให้โครงการผลิตเม็ดพลาสติกเอบีเอสในตอนนั้นล่าช้าออกไป ทั้งที่ประชัยให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้ทีพีไอเป็นผู้น้ำเม็ดพลาสติกที่ใช้ทำชิ้นงานที่ต้องการคุณภาพสูงประเภทชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ ประชัยได้ให้โกศล เพื่อนที่รู้จักผ่านทางภรรยามารับผิดชอบทีพีไอ โพลีน โกศลเคยเป็นอธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ เคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำตุรกี เวียดนาม จีน เยอรมัน เคยเป็นรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยนายกชาติชายในปี 2532 กระทั่งมาลุยงานที่นี่เต็มที่เมื่อเกษียณในปี 2533

ขณะเดียวกัน ก็มีอมร จันทรวิมล ซึ่งประชัยรู้จักมานาน เขาจบเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วไปต่อ M.B.A>CALPOLY,POMONA CALIFORNIA สหรัฐฯ จากนั้นก็ทำงานอยู่กับกลุ่มคาร์กิลล์ประเทศไทยถึง 14 ปี แล้วมาเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดปูนของทีพีไอ โพลีน

แต่การตัดสินใจสำคัญหรือที่ดูแหนวกแนวแต่ละครั้ง ยังคงมาจากหัวเรือใหญ่ที่ชื่อประชัย

ประชัยยอมรับว่า "ไม่เคยเหนื่อยอย่างนี้มาก่อน" กับการที่ต้องมาทำโรงปูนด้วยภาพที่สะท้อนถึงแรงบีบต่อทีพีไอที่ฝ่าเข้าสู่ตลาดปูน (โปรดอ่านล้อมกรอบ "ชนปูนใหญ่ ประกาศศักดิ์ศรีทีพีไอ")

ไม่ว่าจะต้องถางขวากหนามกันอย่างหนักหน่วงขนาดไหน ประชัยยังคงยืนยันถึงจุดยืนของกลุ่มว่าจะไม่ลงสู่อุตสาหกรรมขั้นปลาย สำหรับอุตสาหกรรมปูนก็เช่นกัน ก็จะทำแค่โรงปูนและคอนกรีต ไม่ถึงขั้นทำเสาเข็ม "เราไม่กินเรียบเหมือนปูนใหญ่"

ที่ทำให้ทีพีไอโตมาได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการค้าข้าว อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกหรืออุตสาหกรรมปูน ก็ด้วย 3 หลักใหญ่เหมือนเดิม คือ กล้า-ใหญ่-ลึก ส่วนเทคโนโลยี ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด เพราะจะขึ้นอยู่กับสภาพแต่ละอุตสาหกรรม

ประชัยมั่นใจว่าหลักอันนี้จะทำให้ทีพีไอเติบโตอย่างสมบูรณ์แบบในอีก 6 ปีข้างหน้าเมื่อถึงวันที่ 9 เดือน 9 ปี 1999 อันเป็นฤกษ์งามยามดีที่ประชัยเคยประกาศไว้กับพนักงานครั้งหนึ่งว่า วันนั้น ทุกโครงการจะเสร็จเรียบร้อย ซึ่งหมายถึงการที่ทีพีไอจะเป็นเจ้าของและหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทต่าง ๆ มากขึ้นด้วย

ประชัยยังควงอาวุธ 3+1 ไปสู่ความยิ่งใหญ่ตามฤกษ์ที่วางไว้

คงต้องติดตามฉากต่อไปว่า เลี่ยวไพรัตน์ แห่งทีพีไอจะก้าวย่างไปได้อย่างงดงามหรือไม่..?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us