Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2536
เครื่องมือของรัฐก.ล.ต.มือปราบ "ตั้งไข่"             
โดย นพ นรนารถ
 


   
search resources

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
Stock Exchange




เพียงแค่ 1 ปี ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ก่อตั้งขึ้นมา หน่วยงานใหม่ที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการกำกับดูแล และพัฒนาตลาดทุนแห่งนี้ ก็ได้มีบทบาทที่โดดเด่นขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้มีการตัดสินใจกล่าวโทษบุคคลอย่างสอง วัสรศรีโรจน์ วิชัย กฤษดาธานนท์ หรือคุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์ เป็นผู้ต้องหาในคดีสร้างราคาหุ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องตามออกมาอย่างมากมาย อย่างน้อยที่สุดก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับวงการเมืองของไทย ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการหยิบยกเรื่องของตลาดหุ้นขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล มาถึงวันนี้ หลายคนเริ่มสงสัยกันแล้วว่าบทบาทของหน่วยงานนี้ในช่วงที่ผ่านมา แท้จริงได้ทำหน้าที่ไปอย่างเป็นกลางหรือมีอิทธิพลที่การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่กันแน่ ????

การถือกำเนินขึ้นมาของหน่วยงานที่มีชื่อว่า "สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์" ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่า "ก.ล.ต." เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2535 นั้น ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างใหญ่หลวงต่อระบบและพัฒนาการของตลาดทุน ตลอดจนการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

บางคนเปรียบเปรยว่า หากจะยกเอาวิกฤติการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ซึ่งอุบัติขึ้นหลังวันเปิดสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างเป็นทางการเพียง 1 วัน มาถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะชักนำระบบการเมืองของประเทศไทยให้สามารถพัฒนาขึ้นไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบแล้ว

การก่อกำเนิดของสำนักงาน ก.ล.ต. ขึ้นมา ก็สามารถถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะทำให้ตลาดทุนของไทยได้มีโอกาสพัฒนาขึ้นไปได้อย่างมีระบบทัดเทียมกับต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกหลายคนที่มองในด้านตรงข้างออกมาว่า ตั้งแต่ได้มีการจัดตั้งหน่วยงาน ก.ล.ต. ขึ้นมา นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องประสบกับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส

เนื่องจากต้องพบกับการตกต่ำอย่างรุนแรงของราคาหุ้น ซึ่งปรากฏออกมาอยู่หลายระลอก

และเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงมาดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็มาจากท่าทีและบทบาทของ ก.ล.ต. ในช่วงตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเป็นต้นมา โดยเฉพาะบทบาทในการเป็นผู้คุมกฏ ให้การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม

ซึ่งผลที่ตามมาจากการดำเนินตามบทบาทดังกล่าว มาถึง ณ วันนี้ทำให้หลายคนต้องเริ่มหันกลับมาคิดทบทวนกันแล้วว่า ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้เล่นตามบทบาทที่แท้จริงของตนเองหรือไม่???

รพี สุจริตกุล ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ ก.ล.ต. ได้กล่าวถึงบทบาทการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาของ ก.ล.ต.ไว้ว่า มีด้านที่เด่น ๆ อยู่ 2 ด้าน คือ ด้านปราบปรามและด้านการพัฒนา

แต่งานด้านพัฒนานั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ได้สร้างความโดดเด่นให้กับ ก.ล.ต. มากนัก เพราะเป็นงานที่กระทำกันโดยเงียบ ๆ

ในทางตรงข้าม งานด้านปราบปราม ได้กลายเป็นงานที่ทำให้ ก.ล.ต. กลางเป็นหน่วยงานซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากกว่า โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดูเหมือนจะรู้จักภาพของ ก.ล.ต. ได้จากงานด้านนี้มากที่สุด

แม้กระทั่งการที่หลายคนพยายามดึง ก.ล.ต. ให้เข้ามาเกี่ยวพันกับเรื่องของการเมือง ก็มีสาเหตุมาจากงานด้านปราบปรามนี้ทั้งนั้น ซึ่งแม้จะมีหลายคนปฏิเสธแต่จากภาพที่ปรากฏออกมา ล้วนแต่มีน้ำหนักที่จะทำให้ใครต่อใครสามารถคิดไปได้ว่า สำหรับหน่วยงานที่ใหม่ แต่มีบทบาทสูงสำหรับตลาดทุน ของประเทศไทย มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะกรณีการกล่าวโทษบุคคล ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการสร้างราคาหุ้นดังกล่าว ดูเหมือนจะเป็นภาพที่เด่นชัดที่สุด

ภาพดังกล่าว เกิดขึ้นในความรู้สึกของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์มาตั้งแต่การตัดสินใจที่จะกล่าวโทษสอง วัชรศรีโรจน์และพวกในคดีมีพฤติกรรมการสร้างราคาหุ้นธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535 ซึ่ง ก.ล.ต. เพิ่มจะมีอายุการทำงานได้เพียง 6 เดือน กับอีก 2 วัน

หลายคนมองว่าการตัดสินใจกล่าวโทษในครั้งนั้น ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแผ่อำนาจทางการเมือง เข้ามาสู่หน่วยงานที่ควรจะเป็นสถาบันกลางแห่งนี้ เนื่องจากมีการตัดสินใจกระทำกันโดยเร็วเกินไปและขัดกับหลักการที่ ก.ล.ต. เคยตั้งใจเอาไว้

และเมื่อ ก.ล.ต. ได้ตัดสินใจที่จะมีการกล่าวโทษกรณีแรกขึ้นในจังหวะดังกล่าว ก็เหมือนเป็นการขึ้นไปขี่บนหนังเสือ ที่จำเป็นต้องเร่งรัดการกล่าวโทษอีก 4 กรณีที่มีอยู่ในมือตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ในบางกรณี ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบของ ก.ล.ต.จะมีเอกสารหลักฐานน้อยจนไม่มั่นใจว่า จะเพียงพอต่อการกล่าวโทษได้หรือไม่ก็ตาม

ต้องยอมรับว่า ในช่วงแรกของการก่อตั้งสำนักงาน ก.ลงต. ขึ้นเสมือนเป็นความหวังของคนทำธุรกิจหลักทรัพย์ ที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยได้มีความเชิดหน้าชูตาขึ้นทัดเทียมกับตลาดต่างประเทศ เพราะการตั้งหน่วยงานดังกล่าวขึ้นมาเท่าเดิมที่ค่อนข้างจะมีการลักลั่นกันมาก ระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ให้เข้ารูปเข้ารอยตามแบบอย่างสากล

หากย้อนกลับไปดูบทวิเคราะห์ ที่ได้คาดการณ์ถึงแนวโน้มของตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีการตีพิมพ์ออกมาในช่วงต้นปี 2535 ทุกสำนักล้วนมองไปในทางเดียวกันว่า การมี ก.ล.ต. ขึ้นมาจะเป็นปัจจัยบวกที่ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ ให้ไหลเข้ามายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากขึ้น

สาเหตุที่ทุกคนมีความเชื่อดังกล่าว เนื่องจากบทบาทในการกำกับและพัฒนาตลาดทุนของประเทศไทย ในช่วงที่ก่อนที่จะมีการจัดตั้งสำนักงาน ก.ล.ต. ขึ้นมานั้น ต่างกระจัดกระจายไปยังหน่วยงานต่าง ๆ มากเกินไป จนบางครั้งก่อให้เกิดความสับสนแก่นักลงทุน โดยเฉพาะจากต่างชาติ

การก่อกำเนิด ก.ล.ต. ขึ้นมา จึงเท่ากับเป็นการจัดระบบระเบียบให้เกิดขึ้นในตลาดการเงินของประเทศไทย โดยมีการแยกบทบาทของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ในการกำกับดูแลแต่ละตลาดให้เกิดความชัดเจนขึ้น

โดยเฉพาะบทบาทระหว่าง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งที่ผ่านมาบทบาทหนักจะตกอยู่ที่หน่วยงานหลัง เพราะต้องสวมหมวกถึง 2 ใบ ทั้งในแง่ กำกับดูแลการซื้อขาย และการให้บริการ

ตามหลักการแล้ว เมื่อมีการจัดตั้ง ก.ล.ต. ขึ้นมา ก.ล.ต. จะเข้ามารับหน้าที่ดูแลในแง่ของตลาดแรก โดยจะเป็นผู้อนุมัติให้บริษัทสามารถออกหุ้นใหม่มากระจายขายให้กับประชาชนทั่วไป ขณะเดียวกันก็จะเป็นผู้กำกับดูแลการซื้อขายในตลาดรอง ให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม

ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะเหลือบทบาทในการพัฒนาการซื้อขาย ตลอดจนการเตรียมการรองรับตลาดตราสารใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เนื่องจากเป็นช่วงที่ปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียงกัน

ปัจจัยสำคัญคือตัวองค์การตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งก็ได้มีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารจากเดิมที่มีมารวย ผดุงสิทธิ์ เป็นกรรมการและผู้จัดการติดต่อกันมาถึง 71 ปี ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นเสรี จินตนเสรี ด้วยเหตุผลที่มารวมได้เกษียณอายุลง

ในช่วงแรกของการดำเนินงานของหน่วยงานที่เพิ่งมีการจัดตั้งขึ้นใหม่ กับหน่วยงานเก่า แต่เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนผู้น้ำนั้น แม้ในหลักการจะมีการแบ่งแยกหน้าที่กันอย่างเด่นชัด แต่ในการปฏิบัติงานตามความเป็นจริง จึงได้มีความสับสนในบทบาทของตนเอง ระหว่างทั้ง 2 องค์กร เกิดขึ้นมา

และจากปัญหาดังกล่าวนั้นเอง ก็มีส่วนขยายผลตามมา จนชูให้บทบาทของ ก.ล.ต. ต้องโดดเด่นขึ้น

ปมปัญหาความสับสนในบทบาทของทั้ง 2 องค์กรดังกล่าวที่ว่า เริ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงแรกที่เสรีตัดสินใจเข้ามารักตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีการมองว่าเป็นการส่งเข้ามาของ ก.ล.ต. เนื่องจากก่อนหน้าการรับตำแหน่งนั้น เสรีได้เข้ามาเป็นกรรมการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในโควตาของทางการโดยการเลือกสรรของ ก.ล.ต.

แต่ด้วยความที่พื้นเพดั้งเดิมของเสรี เป็นคนที่อยู่ห่างไกลจากวงการตลาดหุ้น และเมื่อเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ ก็มิได้นำทีมบริหารที่รู้ใจและเคยทำงานร่วมกันก่อนมาอยู่ด้วย

ดังนั้นในการบริหารงานของเสรีในแต่ละวัน จึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยเจ้าหน้าที่ประจำของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งส่วนใหญ่ ยังติดยึดอยู่กับระบบการทำงานแบบเดิม ตั้งแต่สมัยที่มีมารวย ผดุงสิทธิ์ เป็นผู้จัดการ

แม้ว่าเสรี จะได้เคยประกาศเอาไว้ ตั้งแต่เมื่อครั้งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ ในช่วงเดือนกรกฎาคมแล้วว่า จะพยายามปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ให้ดีขึ้น

แต่ก็เป็นการยากที่เสรีจะปรับเปลี่ยนแนวความคิด ตลอดจนระบบการทำงานใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างทันทีทันใดในองค์กรแห่งนี้

อุปสรรคเช่นนี้ ได้สร้างความหนักใจกับเอกกมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นอย่างมาก เนื่องจากเอกกมลนั้นต้องการลบล้างระบบวัฒนธรรมเดิม ตลอดจนการบริหารงานในรูปแบบเดิม ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้หมดไปโดยเร็วที่สุด

ในช่วงแรกที่เสรีตัดสินใจเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้รับแรงสนับสนุนจากเอกกมลนั้นเชื่อว่า เสรี ซึ่งอดีตเคยเป็นพนักงานแบงก์ชาติมาในรุ่นราวคราวเดียวกัน จะมีความเข้าใจแนวความคิดของตนเอง เกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนารูปแบบการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ

โดยมิได้นึกถึงบุคลิกส่วนตัวของเสรี ซึ่งเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของตัวเองเป็นอย่างมาก จะกลายเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้การทำงานร่วมกันตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้น กลับมีอุปสรรค

ตามความคิดของเอกกมล คีรีวัฒน์ ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนตัดสินใจเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. นั้น มองว่า การบริหารงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในสมัยที่มารวย ผดุงสิทธิ์ เป็นผู้จัดการนั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะต้องปรับปรุงให้เข้ากับยุคปัจจุบัน

โดยเฉพาะบทบาทในการออกมาให้ข่าว เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นในแต่ละวัน "จนก่อให้เกิดความเคยชินกับนักลงทุนว่าถ้าวันไหนหุ้นตก ต้องให้ดร.มารวยออกมาให้กำลังใจ แต่วันไหนหุ้นขึ้นมากเกินไปก็ต้องรอให้ดร.มารวยออกมาเตือน"

ในความคิดของเอกกมลนั้น ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการกำกับดูแลการซื้อขาย โดยการใช้เครื่องหมาย "ดีเอส" (DESIGED SECURITY) เนื่องจากป้ายดังกล่าว ได้ถูกยกเลิกไปแล้วในตลาดหุ้นหลายแห่งทั่วโลก แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในยุคมารวยกลับใช้ป้ายดังกล่าวบ่อยครั้งมาก โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อเป็นการปกป้องนักลงทุนรายย่อย

แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ตรงกับแนวความคิดของเอกกมล ที่มองว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถแก้ไขได้เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีระบบตรวจสอบการซื้อขาย (STOCK WATCH) ซึ่งสามารถรู้ได้ทันทีหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น

"เมื่อมีการพบสิ่งผิดปกติ แค่ให้เจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ โทร.ไปยังโบรกเกอร์ที่ทำรายการดังกล่าว ก็สามารถยุติปัญหาได้ การขึ้นเครื่องหมายดีเอส ยิ่งจะเป็นการสร้างสับสนให้กับนักลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีก" ผู้บริหาร ก.ล.ต. ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเอกกมล คีรีวัฒน์ ผู้หนึ่งกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "การสร้างราคาหุ้น" ซึ่งเจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีความสับสนกันอยู่ระหว่างพฤติกรรมการเก็งกำไร กับการสร้างราคาว่าแตกต่างกันอย่างไร

ตลอดจนบทบาทในการปกป้องนักลงทุนรายย่อย ที่เอกกมลมองว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในยุคดังกล่าว ดำเนินมาตรการในการปกป้องมากเกินไปจนขัดกับหลักการที่จะให้ในตลาดมีการซื้อขายหุ้นกันอย่างเสรี

จะด้วยเพราะว่าความเป็นตัวของตัวเองของเสรี จินตนเสรี ตลอดจนการก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในองค์กรแห่งนี้ ในลักษณะที่เรียกได้ว่า "ข้ามาคนเดียว" นั้นจึงทำให้ภายหลังจากที่เสรีเข้ามาบริหารงานในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากจะไม่แก้ไขรูปแบบการบริหารงานดังกล่าวให้เป็นไปตามแนวความคิดของ ก.ล.ต. แล้ว กลับยังดำเนินตามแนวทางเดิมไปเสียอีก

"ก.ล.ต. มองว่าในช่วง 4 แรกของการเข้ามาบริหารงานของเสรี แทบจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้น" คนใน ก.ล.ต. ผู้หนึ่งกล่าว

สถานการณ์เช่นนี้ ได้สร้างความอึดอัดขึ้นในใจเอกกมลเป็นอย่างมาก เพราะตนเองนั้นเคยประกาศออกไปแล้วว่า มีนโยบายที่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้ว่า ก.ล.ต. จะสามารถดำเนินตามบทบาท ในการเป็นพี่เลี้ยงตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ก็ตาม

ย้อนกลับไปในช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 ซึ่งประเทศไทย ได้รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของชวน หลีกภัย ภาพความใสสะอาดของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะการนำมืออาชีพทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประสบความสำเร็จจากภาคเอกชนหลายคนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนกลับฟื้นขึ้นมาได้โดยเร็ว

ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้วิ่งขึ้นจากที่เคยอยู่ระดับประมาร 680 จุด ขึ้นไปถึง 900 ได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหุ้นของหลายบริษัทได้มีราคาวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในจำนวนนี้ หุ้นที่มีความหวือหวามากที่สุดได้แก่ บง.เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเมนต์ กับรัตนการเคหะของคุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์ กฤษดามหานคร ของตระกูลกฤษดาธานนท์ ตลอดจนหุ้นธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ซึ่งบริหารงานโดยเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตเจ้าหน้าที่ในระดับหัวหน้าส่วนจากแบงก์ชาติ

และทุกครั้งที่หุ้นของแต่ละบริษัทมีการไล่ราคาขึ้นมา มักจะมีชื่อของคุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์ ตลอดจนวิชัย กฤษดาธานนท์ หรือสอง วัชรศรีโรจน์ ไม่คนใดก็คนหนึ่ง เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทุกครั้ง

ผู้บริหารของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งชาติมองภาวการณ์ลงทุนในช่วงนี้ว่า เป็นช่วงที่มีการสร้างราคากันอย่างสุดขีด เนื่องจากทุกคนมีความมั่นใจว่าในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจ และภาจพจน์ของประเทศกำลังต้องการฟื้นฟูขึ้นอย่างโดยเร็วเช่นนี้ คงจะไม่มีใครที่จะกล้าเข้ามาทำลายบรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีการเก็งกำไรกันอย่างมากดังกล่าได้

แม้กระทั่ง ก.ล.ต. เอง ก็ยังไม่มีความมั่นใจที่จะเข้ามามีบทบาท ในท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวเพราะเกรงว่าหากดำเนินการอย่างใดไปโดยที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอแล้ว ผลเสียหายที่จะตามมาย่อมจะสูงกว่ามาก

ความหวังสิ่งเพียวที่ ก.ล.ต. สามารถพึ่งได้ในขณะนั้นก็คือ กลไกควบคุมการซื้อขายหุ้น ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่จากอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 หน่วยงานดังกล่าว ตลอดจนกลไกการควบคุมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเน้นหนักไปในด้านของการขึ้นเครื่องหมายต่าง ๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสามารถหยุดยั้งกระแสการเก็งกำไรอย่างสุดขีดที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวันได้

จนในที่สุด กระแสดังกล่าว ก็ถูกดึงให้ไปโยงเข้ากับสถานการณ์ทางการเมือง

เนวิน ชิดชอบ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคชาติไทย เป็นบุคคลแรกที่ได้หยิบยกประเด็นการเก็งกำไรดังกล่าวขึ้นมาพูดกลางสภาเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ในวันเปิดแถลงนโยบายของรัฐบาลชวน หลีกภัย

มีการยกตัวอย่างกรณีของสอง กับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ตลอดจนความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นบริษัทกฤษดามหานคร ขึ้นมาอ้างในการขออนุมัติจากรัฐสภาพ ให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อศึกษาและสอบสวนการปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ซึ่งกรนำประเด็นดังกล่าวขึ้นมานั้น นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่พยายามนำเรื่องสถานการณ์การปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นมากดดันรัฐบาล

กระแสความกดดัน เริ่มต้นจากในมุมกว้าง ๆ ที่ว่า รัฐบาลจะต้องเข้ามาควบคุมการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่นับวันจะขยายความรุนแรงขึ้นทุกที

และก็เริ่มลงลึกไปถึงแต่ละพรรคที่เข้ามาร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคความหวังใหม่ กับประชาธิปัตย์

หากเป็นไปในภาวะปกติการหยิบยกเอาเรื่องการเก็งกำไรในตลาดหุ้นขึ้นมากดดันรัฐบาลนั้น อาจถือได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองธรรมดา ของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ที่ต้องการสร้างบทบาทของตัวเองขึ้นมา

แต่ในภาวะเช่นในเดือนตุลาคม 2535 แล้ว ความเคลื่อนไหวดังกล่าว นับว่าสุ่มเสี่ยงอย่างมาก เพราะอาจจะเกิดเผลในด้านร้ายติดตามมาได้

ในช่วงระยะเวลานั้นรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย กำลังประสบการมรสุมลูกใหญ่ ๆ 2 ลูกด้วยกัน

มรสุมลูกแรกนั้น ได้แก่ปัญหาภายใน ที่แม้จะเพิ่งผ่านมาฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ไม่กี่วัน แต่ก็เริ่มมีสัญญาณของความร้าวฉานระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเกิดขึ้นแล้ว

โดยเฉพาะพรรคความหวังใหม่กับประชาธิปัตย์

เนื่องจากแนวความคิด และนโยบายของทั้ง 2 พรรคที่ประกาศออกมา มักจะสวนทางกัน

มรสุมลูกที่ 2 ได้แก่การพยายามขุดคุ้ยของสื่อมวลชน ถึงปมปัญหาที่ว่าทำไมสอง ต้องเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จนหนังสือพิมพ์หลายฉบับสามารถสาวเข้าไปได้ว่ากรณีนี้ได้มีชื่อของเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการของธนาคารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

และที่สำคัญคือ เกริกเกียรตินั้น นอกจากจะเป็นอดีตพนักงานแบงก์ชาติ ที่มีความสนิทสนมกับเอกกมล คีรีวัฒน์ และเสรี จินตนเสรีแล้ว ยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นกรมการในโควตาของทางการ ซึ่งต้องผ่านการคัดเลือกมาจาก ก.ล.ต. อีกตำแหน่งหนึ่ง

นักการเมืองพรรคฝ่ายค้านจึงได้มีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ดังกล่าว และมีการรุกหนักถึงขึ้นจะมีการยื่นญัตติให้มีการเปิดอภิปรายเพื่อซักฟอกรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องของสถานการณ์การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีพฤติกรรมการสร้างราคาขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะ

ในขณะเดียวกัน ภาวะเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เกิดขึ้นอย่างขาดการควบคุมไปช่วงหนึ่งนั้น ได้ขยายผลรุนแรงเข้ามาสู่ระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่งปล่อยสินเชื่อให้นักลงทุนเข้าไปซื้อหายหุ้นมากเกินไป

ซึ่งหากเกิดปัญหาที่อาจจะกระทบกับตลาดหุ้นขึ้นมาย่อมส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ และอาจจะลามไปจนกลายเป็นวิกฤติการณ์ทางการเงินทั้งระบบ

ดังนั้นในสายตาของรัฐบาลแล้ว กระแสกดดันทางการเมืองดังกล่าว ย่อมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนจนไม่สามารถมองข้ามได้

"การแก้ไขปัญหาในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราไม่สามารถทำอะไรอย่างปุปปับได้ เพราะหากเกิดผิดพลาดไป ผลเสียหายที่ตามมามันมีมหาศาล ทั้งกับตัวของนักลงทุนเองที่ต้องประสบกับการขาดทุน ต่อเนื่องไปถึงระบบของสถาบันการเงิน และที่สำคัญคือจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม" ผู้บริหาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งหนึ่งกล่าวถึงสถานการณ์ในช่วงนั้น

ดังนั้นในการเข้ามาแก้ไขปัญหา ทางการจึงต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด

ในช่วงนั้นมีกลไกในการแก้ไขปัญหาหลายด้านให้รัฐบาลได้เลือก

กลไกแรก ได้แก่ระบบควบคุมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร เพราะแม้จะมีการขึ้นป้ายดีเอสไว้บนกระดานหุ้นของหลายบริษัท แต่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นเการเก็งกำไรได้

"ในช่วงนั้นคนมันไม่กลัวป้ายดีเอสกันแล้ว กลับมองว่าหากหุ้นตัวไหนถูกขึ้นป้าย ก็ยิ่งดีเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เข้าไปซื้อ รอเมื่อปลดป้ายเมื่อไร ราคาก็จะวิ่งต่อไปได้อีก" โบรกเกอร์รายหนึ่งกล่าว

กลไกต่อมาที่รัฐบาลเริ่มน้ำมาใช้ คือ อำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยให้แบงก์ชาติเรียกบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่ง มาบีบให้ลดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อขายหุ้นลงมาเพื่อเป็นการลดสภาพคล่องที่จะเข้าไปหมุนเวียนในตลาด

ปรากฏว่ากลไกดังกล่าว แม้จะชะลอการเก็งกำไรในตลาดลงมาได้อย่างมาก แต่ไม่สามารถจะลดกระแสกดดันรัฐบาลจากการเมืองลงไปได้ในทางตรงกันข้าม การตกต่ำลงมาของราคาหุ้นกลับเป็นประเด็นสำคัญให้พรรคฝ่ายค้าน สามารถหยิบยกขึ้นมาโจมตีได้อีก

ดังนั้นจึงเหลือเพียงกลไกสุดท้าย คือ การใช้อำนาจของ ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้ที่มีพฤติกรรมสร้างราคาหุ้น ซึ่งเป้าหมายแรกที่รัฐบาลได้เล็งไว้แล้ว ก็คือสอง วัชรศรีโรจน์ ซึ่งมักเป็นชื่อที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ผิดปกติหลาย ๆ กรณี

แต่ที่คนยังกังขากันอยู่ก็คือ ในการกล่าวโทษ กรณีแรก จึงไก้กลายเป็นกรณีที่เข้าไปถือหุ้นในธนาคารกรุงเทพรฯ พาณิชย์การ ทั้ง ๆ ที่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นหลังสุด

และจุดนี้ ได้กลายเป็นปมสำคัญที่เริ่มสร้างภาพให้การดำเนินงานของ ก.ล.ต. ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวพันธ์กับอิทธิพลทางการเมืองอย่างช่วยไม่ได้

ผู้บริหารระดับสูงใน ก.ล.ต. ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเอกกมลมาก ได้กล่าวว่าก่อนหน้าวันที่ 18 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการกล่าวโทษสองเพียงไม่กี่วัน ในความรู้สึกของเอกกมลนั้นยังไม่เคยมีความคิดที่จะกล่าวโทษกลุ่มของสอง วัชรศรีโรจน์ ในกรณีของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเลยแม้แต่น้อย แม้จะเป็นกรณีที่โด่งดังมากในช่วงนั้นก็ตาม

ทั้งนี้เนื่องจากเอกกมลมองเห็นว่ากรณีดังกล่าวนั้นเพิ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน จึงเป็นช่วงที่ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกรณีของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การกับอีก 4 กรณีคือกรณีของ บง.เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเมนท์ บริษัทรัตนการเคหะ บริษัทกฤษดามหานคร และธนาคารนครหลวงไทย ที่ ก.ล.ต. ได้ใช้เวลารวบรวมมาก่อนหน้านั้นแล้ว ทั้ง 4 กรณีแรก ดูเหมือนจะมีข้อมูลพร้อมกว่า

"ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนั้น เฉพาะสำนวนสวบสวนการสร้างราคาหุ้น 4 กรณีที่ ก.ล.ต. มีอยู่ ก็มีมากถึง 1,000 กว่าหน้าแล้ว"

ภาพที่ปรากฏออกมาจึงดูเหมือนว่า เอกกมลเองก็ไม่ได้มีความเต็มใจที่จะกล่าวโทษสอง และพวกในช่วงจังหวะดังกล่าวสักเท่าไร

แหล่งข่าวกล่าวว่า โดยความรู้สึกส่วนตัวของเอกกมลนั้น ค่อนข้างจะเอาจริงเอาจังกับบทบาทในด้านการปราบปรามของ ก.ล.ต. มาก ถึงขั้นที่ตั้งใจไว้ว่าหากเป็นกรณีที่ ก.ล.ต. จะเป็นผู้กล่าวโทษแล้ว คดีนั้นจะต้องชนะ ไม่สามารถแพ้ได้

และเมื่อมีการกล่าวโทษขึ้นในวันใด กระบวนการทุกอย่างจะต้องทำให้จบสิ้นในเวลารวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้มีผลกระทบกับบรรยากาศการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ น้อยที่สุด

ตามความตั้งใจดังกล่าวนั้น เอกกมลได้วางแผนเอาไว้ว่า ขั้นตอนการกล่าวโทษจะต้องกระทำไปโดยพร้อมเพรียงกันทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายของ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นผู้กล่าวโทษ ฝ่ายกรมตำรวจซึ่งจะเป็นพนักงานสอบสวน และฝ่ายกรมอัยการซึ่งจะเป็นตัวแทนของรัฐในการฟ้องศาล ดังนั้นจึงมีการตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ตามขั้นตอนนั้น ในขณะที่ ก.ล.ต. เก็บรวบรวมหลักฐานเพื่อเตรียมการกล่าวโทษ ก็จะมีการประสานงานกับฝ่ายตำรวจและอัยการอยู่ตลอดเวลา โดยตำรวจจะเป็นคนพิจารณาว่าหลักฐานที่เก็บได้มีเพียงพอหรือไม่ พร้อมกับเตรียมร่างสำนวนการสอบสวนไปด้วย ส่วนฝ่ายอัยการก็จะดูว่าสำนวนที่ตำรวจร่างมานั้น ยังขาดตกบกพร่องในด้านไหน เพื่อให้พร้อมสำหรับการฟ้อง

ในขณะที่ทั้ง 3 ฝ่าย กำลังทำงานไปอย่างลับ ๆ นั้น จะไม่มีการออกข่าว หรือปล่อยให้ข้อมูลเล็ดรอดออกมาได้เลยว่า ก.ล.ต. กำลังจับตาความเคลื่อนไหวของหุ้นตัวใด เพื่อที่จะไม่ให้มีผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์

และเมื่อข้อมูลของทุกฝ่ายพร้อมแล้ว ก็จะถึงขึ้นตอนการกล่าวโทษ ซึ่งก็จะกระทำไปโดยพร้อมเพรีงกันทั้ง 3 ฝ่าย คือในวันเดียวกับที่ ก.ล.ต. ประกาศกล่าวโทษ ฝ่ายตำรวจก็จะสามารถออกหมายจับผู้ที่ถูกกล่าวหาได้ ในขณะที่อัยการก็ยื่นสำนวนฟ้องต่อศาลทันที

แนวความคิดดังกล่าว ซึ่งกระบวนการทุกอย่างจะต้องกระทำให้เสร็จสิ้นไปภายในวันเดียวนั้น ถือว่าเป็นสิ่งใหม่มากสำหรับประเทศไทย โดยที่เอกกมลไปได้ความคิดมาจากการศึกษาถึงการทำงานของหน่วยงานกำกับการซื้อขายหุ้นในต่างประเทศ ทั้งนี้เหตุผลสำคัญที่สุดก็คือเพื่อให้ผลกระทบต่อการซื้อขายหุ้นน้อยที่สุด

"ที่ต้องให้กระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้นลงภายในวันเดียวก็เพื่อ หากการกล่าวโทษจะสร้างความตื่นตระหนักให้กับตลาดหุ้น ก็ให้เกิดความตื่นตระหนกเกิดขึ้นเพียงวันเดียว หุ้นอาจจะตกลงแรง ๆ เพียงวันที่กล่าวโทษ หลังจากนั้นเมื่องกระบวนการไปถึงขึ้นศาล กระแสทุกอย่างก็จะอ่อนลง คนก็จะเริ่มกลับมาคิดได้ ซึ่งในช่วงนี้ ก.ล.ต. ก็จะประสานงานกับทุกฝ่ายเพื่อหามาตรการมาพยุงราคาหุ้น โดยอาจจะให้กองทุนใดกองทุนหนึ่งเข้ามารับซื้อ"

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการกล่าวโทษดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ และขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อกล่าวโทษ ก็ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางที่เอกกมลต้องการ

ปมปัญหาจึงอยู่ที่ว่า อิทธิพลในการโน้มน้าวให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. ตัดสินใจลงมติที่ให้มีการกล่าวโทษสอง วัชรศรีโรจน์ ในครั้งนั้น จะอยู่ที่ใคร ? โดยมีปัจจัยอะไรเป็นแรงผลักดัน ?

"การตัดสินใจที่จะกล่าวโทษกลุ่มของสองในครั้งนั้น เป็นการตัดสินใจโดยหวังผลทางการเมืองเป็นหลัก" กรรมการ ก.ล.ต. ผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ในที่ประชุมตลอดก่อนที่จะมีการตัดสินใจกล่าวโทษในครั้งนั้นเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

กรรมการท่านเดียวกัน ยังได้เล่าต่อไปอีกว่าความจริงในการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน นั้น วาระหลักของการประชุมจะมีการพิจารณากันในเรื่องอื่น โดยที่ไม่มีการบรรจุเอาเรื่องของการกล่าวโทษสอง วัชรศรีโรจน์เข้าในที่ประชุมด้วย

แต่ปรากฏว่าเมื่อเริ่มมีการประชุมขึ้นมาได้ไม่กี่นาที ก็มีเจ้าหน้าที่กระดาษโน้ตส่งเข้ามาให้ธารินทร์ ซึ่งนั่งเป็นประธานในที่ประชุม ธารินทร์จึงได้นำเรื่องของสองขึ้นมาสอดแทรกเป็นเรื่องด่วนให้พิจารณาทันที โดยให้เหตุผลว่า "มีข่าวออกมาว่าสองกำลังจะเดินทางออกนอกประเทศในวันรุ่งขึ้น"

ต่อมาไม่นาน ธวัช วิชัยดิษฐ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็ได้เดินทางจากทำเนียบรัฐบาลมายังที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. พร้อมกับหอบแฟ้มใบใหญ่เข้ามา ในแฟ้มดังกล่าวปรากฏว่าเป็นเอกสารลับของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่ระบุสำเนาหนังสือเดินทาง ตลอดจนเลขที่ตั๋วเครื่องบินของสองไว้อย่างชัดเจน

"การพิจารณาว่าจะกล่าวโทษสองหรือไม่นั้น ดูเหมือนจะจัดขึ้นมาอย่างฉุกละหุกมาก เพราะต้องมีการเรียกคณะอนุกรรมการกฎหมายเข้ามาร่วมประชุมด้วยเป็นการด่วน ซึ่งกว่าจะมีการตัดสินใจได้ก็ล่วงเลยเข้าไปถึงตอนเช้ามืดวันรุ่งขึ้น

ทำไมคณะกรรมการ ก.ล.ต. จำเป็นต้องรีบตัดสินใจที่จะกล่าวโทษในวันนั้น ??

กรณีนี้ในวงการธุรกิจหลักทรัพย์ ได้มีการวิเคราะห์กันออกมาแล้ว สามารถแยกแยะสาเหตุออกมาได้เป็น 3 ประเด็นหลัก

ประเด็นแรก เป็นการกระทำตามหน้าที่ โดยสุจริตจริง ๆ เนื่องจากกลัวว่าผู้ที่จะต้องถูกกล่าวโทษกำลังจะหนีไปกบดานในต่างประเทศ แต่ขั้นตอนการตัดสินใจดังกล่าว ก็จะขัดกับแนวความคิดและขั้นตอนที่เอกกมลเคยวางไว้

"และถ้าเป็นประเด็นนี้ ทำไมเลือกเอา 1 ใน 4 กรณีที่เกิดขึ้นมาก่อน มากล่าวโทษเป็นตัวอย่าง ก่อนทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานพร้อมกว่า" ผู้บริหาร บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งยังกังขา

ประเด็นที่ 2 ผู้บริหาร ก.ลงต. บางคน พยายามบิดเบือนประเด็น ซึ่งขณะนั้นเริ่มมีการมองเป้าไปความขัดแย้งกรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การว่ามีจุดเริ่มต้นที่เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ จึงต้องรีบตัดสินใจ เพื่อไม่ให้เสียศักดิ์ศรีของอดีตพนักงานแบงก์ชาติ

ซึ่งหากเป็นประเด็นนี้จริง ก็นับว่า ก.ล.ต. สามารถกลบเกลื่อน บิดเบือนประเด็นได้สำเร็จเพราะภายหลังมีการกล่าวโทษสองออกมาแล้ว กระแสภายหลังมีการกล่าวโทษสองออกมาแล้ว กระแสหรือความสนใจที่จะขุดคุ้ยเรื่องเกี่ยวกับเกริกเกียรติก็เงียบหายไป กลายเป็นกระแสความสนใจเรื่องเกี่ยวกับสองเข้ามาแทนที่

ส่วนประเด็นที่ 3 เป็นความจงใจที่จะลดความกดดันทางการเมือง เนื่องจากขณะนั้นธารินทร์และพรรคประชาธิปัตย์กำลังถูกโจมตีอย่างหนัก

ซึ่งประเด็นนี้ ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักที่สุด

และก็เป็นประเด็นที่ฉายภาพชัดว่า แท้จริงแล้ว หน่วยงานที่ทุกคนตั้งความหวังไว้ว่าจะให้เป็นหน่วยงานที่ทุกคนตั้งความหวังไว้ว่าจะให้เป็นหน่วยงานกลางอย่าง ก.ล.ต. ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลตลาดทุน ก็ยังไม่สามารถจะปลอดออกจากอิทธิพลทางการเมืองไปได้

"จะมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เราไม่ทราบ เรารู้แต่ว่าต้องทำตามหน้าที่ เพื่อให้การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม เมื่อเกิดกรณีขึ้น เราก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ และถ้าผิดจริงเราก็ต้องหาหลักฐานเพื่อกล่าวโทษ" เจ้าหน้าที่ระดับสูงในฝ่ายตรวจสอบธุรกิจถึงหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายมาตลอดในช่วง 1 ปี ตั้งแต่เริ่มเข้ามารับงานในหน่วยงานแห่งนี้

แม้ว่าภาระหน้าที่ดังกล่าวจะหนักหน่วงเพียงไร หรือมีอิทธิพลอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่งานของฝ่ายตรวจสอบก็ยังต้องเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอิทธิพลทางการเมือง ที่ได้เข้ามามีส่วนสัมพันธ์กับงานตรวจสอบ 5 กรณี ที่ได้ถูกกล่าวโทษไปแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา เขาเล่าว่าเท่าที่เห็นก็คือการเร่งรัดงานตรวจสอบให้สามารถสรุปผลได้เร็วที่สุด

"ในช่วงที่เตรียมจะมีการกล่าวโทษอีก 4 กรณีที่เหลือ เราก็รู้อยู่แล้วว่าหลักฐานที่มีอยู่นั้น มีน้ำหนักเพียงไร พอเพียงสำหรับการที่จะกล่าวโทษได้หรือไม่ และต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมอีกเท่าไร แต่พอนายมาบอกว่าไม่ได้ ต้องทำให้เสร็จภายในวันนั้น วันนี้เราก็ต้องทำให้เสร็จ

ว่ากันว่าในการเร่งรัดรวบรวมหลักฐาน ก่อนการกล่าวโทษอีก 4 กรณีการสร้างราคาหุ้นที่เหลือนั้น ฝ่ายตรวจสอบ ก.ล.ต. ต้องทำงานกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ ติดต่อกันหลายวัน จนทำให้เจ้าหน้าที่ถือกุญแจซึ่งมีอยู่คนเดียวของแบงก์ชาติสาขาสุรวงศ์ และมีอายุมากแล้ว ถึงกับต้องล้มป่วยลง

"การเมืองก็คือการเมือง นักการเมืองก็ต้องพูดต้องกทำไปเพื่อหวังผลทางด้านการเมือง คะแนนเสียงของตัวเอง แต่ถ้าเราถือว่าเราบริสุทธิ์ใจ ทำตามหน้าที่และอีกอย่างถ้าใครทำผิดจริง เราก็ต้องกล่าวโทษไปห้ามมายุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจของเรา เท่านั้นก็ไม่น่ามีปัญหา" เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบคนเดียวกันกล่าว

เพียงแค่ 1 ปีแรกของการก่อตั้ง ก.ล.ต. หน่วยงานซึ่งจัดได้ว่ามีความสำคัญระดับหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ไม่แพ้ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ได้แสดงภาพชัดออกมาแล้วว่า มีช่องว่างที่ทำให้อิทธิพลทางการเมืองสามารถเข้ามาสอดแทรกได้

แต่ก็ยังโชคดีที่ใน 1 ปีแรกนั้น อิทธิพลทางการเมืองที่เข้ามายังจัดได้ว่าเป็นการอย่างถูกจังหวะ เพราะถือว่าเป็นช่วงที่ตลาดทุนของไทย กำลังต้องการจัดระเบียบใหม่ ประกอบกับภาวะการเก็งกำไรที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นกำลังต้องการแก้ไข

ที่สำคัญคือ นักการเมืองที่เข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจดำเนินงานการของ ก.ล.ต. ยังพอมีความรู้ ความสามารถอยู่บ้าง

จึงยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรงจนเลวร้ายเกินไป

หากแต่ในอนาคต ซึ่งโครงสร้างการบริหารงานของ ก.ล.ต. ยังคงเป็นในเช่นปัจจุบัน ถ้าได้นักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาเป็นคนกุมนโยบาย คนในวงการธุรกิจหลักทรัพย์หลายคนที่ติดตามการทำงานของหน่วยงานแห่งนี้ ยังมองไม่ออกว่าจะมีภาพเป็นอย่างไร

หลายคนมองว่าปัญหาของ ก.ล.ต. คือ โครงสร้างตามกฎหมาย ที่ระบุชัดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นประธาน ก.ล.ต. โดยตำแหน่ง ตลอดจนอำนาจ และบทบาทในการตัดสินใจดำเนินการตามนโยบายใหญ่ ๆ ยังขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเป็นหลัก

ซึ่งแตกต่างจากธนาคารแห่งประเทฯไทย ที่คณะกรรมการแทบจะไม่มีบทบาทอะไร การตัดสินใจทุกสิ่งทุกอย่างสามารถสิ้นสุดได้ลงที่ผู้ว่าการเท่านั้น

ถ้าโครงสร้างของ ก.ล.ต.ยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ต่อไป ก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าถึงจุดหนึ่ง ก.ล.ต. ก็จะกลายเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองชิ้นหนึ่งเท่านั้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us