การแข่งขันของผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระหว่าง 2 ค่ายใหญ่ บริษัท
แอดวานซ์ อินโฟว์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัทในเครือของชินวัตร
ผู้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์ฯ ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ
NMT900 (เซลลูล่าร์ 900) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด
หรือ แทค ผู้รับสัมปทานจากการสื่อสารฯ เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ
AMPS 800 (เวิร์ลโฟน) นับวันยิ่งดูจะเข้มข้นมากขึ้น
การแข่งขันนี้กำลังจะยกระดับขึ้นไปต่อสู้กันด้วยเทคโนโลยีในต้นปีหน้า ด้วยการนำเอาระบบ
"ดิจิตอล" เข้ามาแทนระบบ "อนาล็อก" ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
โดยทางเทคนิคแล้ว ระบบดิจิตอลมีคุณสมบัติที่ดีกว่าระบบอนาล็อคอยู่หลายประการ
เช่น คุณภาพของเสียงที่ชัดเจนกว่า ความสามารถในการเพิ่มช่องความถี่ที่มีความจำกัดในระบบอนาล็อค
เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนช่องความถี่ได้
คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่ง ซึ่งจะพลิกโฉมการสื่อสารในบ้านเราได้ก็คือ
ระบบดิจิตอล สามารถให้บริการการส่งข้อมูลผ่านความคลื่นความถี่วิทยุ เช่นเดียวกับการส่งผ่านสายโทรศัพท์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
นอกเหนือจากการเป็นพาหนะนำเสียงที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว
"ในทางเทคนิคระบบดิจิตอล สามารถทำอะไรๆ ได้มากกว่าและดีกว่า อย่างเช่น
เสียงที่สนทนาระหว่างกันจะมีความคมชันกว่า คือเสียงพูดจะถูกเปลี่ยนมาเป็นคลื่นสัญญาณดิจิตอลที่มีคลื่นความถี่ที่คงที่
และเมื่อเกิดเสียงรบกวนที่สอดแทรกเข้ามาระหว่างการส่งสัญญาณในอากาศ เครื่องรับ-ส่งจะสามารถแยกสัญญาณตัดเสียงรบกวนออกสัญญาณที่ออกมาจึงมีความคมชัด
ซึ่งในระบบอนาล็อคที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มช่องสัญญาณความถี่
คือจะเพิ่มได้เป็น 1:8 คือ 1 ช่องสัญญาณเดิมที่ใช้กันอยู่ในระบบอนาล็อก แต่ระบบดิจิตอบสามารถทำให้มีเครื่องโทรศัพท์หรือเครื่องลูกข่ายได้ถึง
8 เครื่อง โดยการนำ 1 ช่องสัญญาณที่มีอยู่เดิมในระบบอนาล็อคมาซอยออกเป็น
8 ช่วงเวลา ในหนึ่งช่องจึงสามารถเพิ่มช่องความถี่ได้มากขึ้นเท่ากับว่าในอนาคตการขาดแคลนเลขหมายจะหมดไป
และสามารถรองรับการขยายตัวได้มากขึ้น" ผู้เชี่ยวชาญระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ท่านหนึ่ง
เล่าให้ฟัง
โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอลที่ใช้กันอยู่ในโลกปัจจุบัน และมีผู้ให้บริการในเชิงพาณิชย์แล้วมีด้วยกัน
2 ระบบ คือระบบ PCN และระบบ GSM ซึ่งมีผู้ให้บริการส่วนใหญ่อยู่ในประชาคมยุโรป
สำหรับในประเทศไทย จะมีการนำทั้ง 2 ระบบเข้ามาเปิดบริการเช่นเดียวกัน คือ
ทางด้าน "แทค" ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ AMPS800
(เวิลด์โฟน) ในปัจจุบันจะนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล ที่เรียกว่าระบบ
PCN (PERSONAL COMMUNICATION NETWORK) เข้ามาติดตั้งให้บริการส่วนทาง "เอไอเอส"
ของชินวัตรที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ NMT 900 หรือเซลลูล่าร์ 900
จะนำระบบที่เรียกว่า GSM (GLOBAL SYSTEM FOR MOBILE COMMUNICATION) มาให้บริการ
"ในทางเทคนิคแล้วโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 2 ระบบนั้นมีลักษณะเช่นเดียวกัน
จะแตกต่างกันตรงที่การพัฒนาของรูปลักษณะตัวเครื่อง และที่คลื่นความถี่ที่นำมาใช้เท่านั้น
โดย GSM จะใช้คลื่นความถี่ที่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นความถี่เดียวกันกับระบบปัจจุบันที่ทางเอไอเอสใช้อยู่
ส่วน PCN จะใช้คลื่นความถี่ที่ย่าน 1,800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นย่านความถี่ใหม่"
ผู้เชี่ยวชาญคนเดียวกันอธิบายถึงการใช้ความถี่ของระบบดิจิตอล ที่ทั้ง 2 บริษัทมีโครงการว่าจะเปิดให้บริการแก่ลูกค้าได้ในราวต้นปีหน้า
อิริค วอน เอสเชน ผู้จัดการฝ่ายระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท อิริคสัน
เทเลโฟน คอร์ปอเรชั่น ฟาร์อีสท์ จำกัดและบริษัท อีริคสัน คอมมิวนิเคชั่น
(ประเทศไทย) จำกัด ซัพพลายเออร์ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเป็นบริษัทหนึ่งที่พัฒนาระบบของโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบดิจิตอล
ได้ให้ความเห็นว่า
โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอลที่มีผู้ให้บริการอยู่แล้วนั้นระบบ GSM เป็นระบบที่มีผู้ให้บริการและผู้ใช้มากกว่าระบบ
PCN เพราะถ้าเปรียบ GSM ถือกำเนิดจากความร่วมมือของรัฐบาลในแต่ละประเทศถึง
18 ประเทศ ที่เริ่มต้นในกลุ่มประเทศ NORDIC และขยายออกไปทั่วยุโรป ส่วน PCN
นั้นเกิดมาตามแรงผลักดันของตลาดซึ่งภาคเอกชนเป็นผู้ให้กำเนิดขึ้นมา มีใช้กันในบางประเทศ
ความเหลื่อมล้ำที่มองเห็นได้ชัดเจนในเบื้องต้นคือ อำนาจของการรวมกลุ่ม ซึ่งทางการพาณิชย์นั้น
ทำให้ผู้ที่ทำการซัพพลายเออร์ในระบบและผู้ผลิตเครื่อง อย่างเช่น โมโตโลล่า
อิริคสัน โนเกีย ฟิลิปส์ อัลคาเทล ฯลฯ หันมาให้ความสนใจในการพัฒนาระบบ GSM
มากกว่า จึงทำให้หลายประเทศได้นำระบบ GSM นี้มาใช้
"การที่ทางเอไอเอสตัดสินใจเลือกมาใช้ระบบของ GSM ก็คือว่าเป็นระบบที่มีใช้กันอย่างแพร่หลาย
และมีซัพพลายเออร์ ที่จะมาให้บริการอุปกรณ์และติดตั้งระบบมีมากกว่าในแง่นี้จะเป็นความได้เปรียบในเชิงการตลาดและง่านต่อการพัฒนาระบบในอนาคต
เพราะเป็นระบบที่ใหญ่" สมประสงค์ บุญยะชัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของเอไอเอส
บริษัทในเครือชินวัตร กล่าว
โดยขณะนี้ระบบ GSM ในเมืองไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น แต่โครงการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำระบบนี้มาใช้มีมาเกือบ
10 ปีแล้ว เพราะทางเอไอเอสเพิ่งได้รับอนุญาตจากองค์การโทรศัพท์ฯ แผนการในขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาซัพพลายเออร์ในส่วนที่จะสนับสนุนระบบเครือข่ายให้กับเอไอเอส
ซึ่งมีซัพพลายเออร์ของ GSM ทั่วโลกได้ยื่นเสนอเข้ามา เช่น โมโตโลล่า โนเกีย
อัลคาเทล อีริคสัน ซีเมนต์ ฯลฯ คาดว่าประมาณเดือนสิงหาคมปี 2536 นี้ จะมีการสรุปผลและทำการเลือกผู้ซัพพลายระบบให้
ในราวต้นปี 37 จะเริ่มทดลองใช้ได้ และจะเปิดบริการในเชิงพาณิชย์หากได้รับสนใจจากผู้ใช้
ความโดดเด่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GSM นอกจากจะให้สัญญาณเสียงที่มีความคมชัดแล้ว
ยังมีคุณสมบัติอีกมากมายที่จะให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้ อย่างเช่น ระบบการรักษาความปลอดภัยในการถูกดักฟังและการถูกแอบพ่วงหมายเลขทำให้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
โดยโทรศัพท์ระบบนี้จำต้องมีอุปกรณ์ 2 ส่วนมาประกอบกันคือ ตัวเครื่องกับ
SIM CARD (SIM CARD ถือเป็นหัวใจของเครื่อง) ตัวเครื่องมีลักษณะเช่นเดียวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่ว
ๆ ไป ส่วนตัว SIM CARD มีลักษณะคล้าย ๆ กับบัตร ATM หรือที่เรียกกันว่า สมาร์ทการ์ด
เพียงแต่ SIM CARD นั้น จะเป็นเหมือนไมโครชิป ในขณะที่สมาร์ทการ์ดนั้นเป็นแถบแม่เหล็ก
ภายใน SIM CARD จะบรรจุข้อมูลของผู้เป็นเจ้าของเครื่อง และรหัสประจำตัวต่าง
ๆ เช่นเขตพื้นที่ของการจดทะเบียนของเครื่อง รหัสประจำตัวของผู้ใช้ สำหรับการใช้เครื่อง
ทั้ง 2 จำต้องใช้ร่วมกันเพื่อให้ความสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้คือจะทำให้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ
GSM ทุกเครื่องจึงมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น แตกต่างจากโทรศัพท์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป
และนอกจากนี้ตัว SIM CARD สามารถถอดออกมาและไปใช้กับเครื่องอื่น ๆ ได้ทุก
ๆ เครื่อง เพราะตัวที่สำคัญอยู่คือ SIM CARD เพียงนำมาประกอบกันเข้าเครื่องก็จะเปลี่ยนหมายเลขตามเจ้าของ
SIM CARD สมประสงค์ เล่าถึงคุณสมบัติที่เด่นในตัวของระบบ GSM ที่ค่ายชินวัตรเลือกมาให้บริการ
ในปัจจุบันการรวมตัวของผู้ให้บริการทั่วโลกเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่กลุ่มประเทศ
NORDIC และ เนเธอแลนด์ ได้เชื่อมระบบเครือข่าย GSM ระหว่างกันจนขยายตัวไปสู่ประเทศในยุโรปเกือบทุกประเทศแล้วในปีนี้
"การรวมตัวของผู้ให้บริการระบบ GSM ภายใต้วัตถุประสงค์คือ ต้องการพัฒนาระบบนี้ให้ก่อประโยชน์มากที่สุดระบบนี้ให้ก่อประโยชน์มากที่สุด
การที่เราเข้าเป็นสมาชิกก็จะได้รับซอฟแวร์สำหรับมาใช้บริการในระบบนี้ ซึ่งเขาจำกัดว่าจำต้องเป็นประเทศสมาชิกเท่านั้น
และนอกจากนั้นองค์กรนี้มีโครงการที่จะเชื่อมระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GSM
นี้เข้าด้วยกัน (INTERNATIONAL ROAMING) ในปี 2537 ซึ่งจะมีหน่วยงานกลางที่จะเข้ามาเป็นคนดูแลการใช้ในระบบอินเตอร์
เช่น การเก็บค่าบริการระหว่างประเทศสมาชิก" สมประสงค์ กล่าวอย่างมั่นใจถึงอนาคตของระบบ
GSM
ฉะนั้นแล้วคงอีกไม่นานที่นักธุรกิจไทยจะติดต่อสื่อสารระหว่างกันด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง
2 อาจจะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ ณ ส่วนใดของโลก เพราะการสื่อสารด้วยอุปกรณ์เล็ก
ๆ ที่ได้รับการพัฒนาระบบขึ้นมาใหม่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เรียกว่าระบบ
GSM จะทำให้ฝันที่ชินวัตรจะกลายเป็นผู้นำในการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นความจริงขึ้นมาได้
เพราะการย่อโลกให้เล็กลงด้วย อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ที่เรียกกันทั่วไปว่า "มือถือ"