ป่าพรุหรือป่าทางภาคใต้ที่อยู่ในที่ลุ่มมีน้ำขังทั้งบนผิวดินหรือใต้ดิน
ป่าพรุที่ภูเก็ตกำลังเป็นข้อพิพาทที่อยู่บนพื้นฐานความขัดแย้งระหว่างแนวความคิดเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ
และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้ข้ออ้างเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญ
ยุวัฒน์ วุฒิเมธี ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันโครงการขุดลอกป่าพรุ
3 แห่ง ที่ตำบลไม้ขาวคือ พรุหลังวัดไม้ขาว พรุจิก และพรุเจ๊ะสัน ให้เป็นอ่างเก็บน้ำและสร้างถนนกว้าง
8 เมตรเข้าไปในป่าพรุเจ๊ะสัน เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบของ
"มินิดิสนีย์แลนด์"
โครงการนี้ได้รับการคัดค้านอย่างหนักทั้งจากคนท้องถิ่นรวมทั้งนักวิชาการ
และกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ คนตำบลไม้ขาวส่วนใหญ่ยืนยันว่า ไม่เคยมีการขาดแคลนน้ำในหมู่บ้านเลยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายชั่วอายุคน
จนกระทั่ง 2 ปีที่ผ่านมา มีการขุดลอกพรุขึ้นเริ่มจากพรุทุ่งเตียน พรุจืด
และพรุยาว เป็นผลให้น้ำในบ่อของชาวบ้านแห้งลง เพราะน้ำจะไหลลงสู่ที่ต่ำและกว้างกว่า
อีกทั้งชาวบ้านต้องเสียแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่สำคัญ เสมือนหนึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่
ทำให้ความเป็นอยู่ของคนบ้านไม้ขาวลำบากขึ้น นอกจากนั้นน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ขุดลอกพรุยาวเมื่อปีที่แล้ว
กลับมีสภาพเป็นฟองและมีรสเปรี้ยว
ส่วนนักวิชาการและกลุ่มอนุรักษ์ได้เรียกร้องขอให้ชะลอโครงการไว้ก่อน เพราะกว่าธรรมชาติจะสร้างป่าพรุขึ้นได้ต้องอาศัยเวลาเป็นพันปีในการทำให้แอ่งน้ำเค็มที่เกิดจากกระแสน้ำทะเลพัดทรายมาถมตามริมฝั่ง
จะกลายเป็นน้ำกร่อยและที่สุดกลายเป็นน้ำจืด เมื่อพืชล้มลุกจำพวกหญ้าและกกที่ขึ้นตามขอบแอ่งน้ำตื้นเขินไม้ยืนต้นไม้พุ่มจึงเจริญงอกงามแทนหญ้าจนกลายเป็นป่าพรุ
ประกอบกับป่าพรุผืนนี้อุดมด้วยสัตว์น้ำ นกนักร้อยชนิดตลอดจนพืชสมุนไพรและพืชใช้สอย
ที่ยังไม่เคยมีการศึกษาถึงพันธุ์พืชและสัตว์เหล่านี้เลย
เดิมป่าพรุของตำบลไม้ขาวมีทั้งหมด 10 พรุ อยู่ตรงกลางระหว่างป่าสนผสมป่าสันทราย
กับพื้นที่สวนมะพร้าวของชาวบ้าน พรุเหล่านี้จะอยู่เรียงรายใกล้เคียงกันเลียบขนานกับชายหาด
เริ่มจากพรุเป็ดน้ำ พรุทับเคย ซึ่งปัจจุบันไม่มีลักษณะของป่าพรุแล้ว เพราะถูกถมเพื่อขยายท่าอากาศยานของจังหวัด
ถัดมาเป็นพรุยายรัตน์ ไม่มีสภาพของป่าพรุเช่นกัน เพราะเจ้าของที่ดินปรับพื้นที่เป็นสวนมะพร้าว
ส่วนพรุที่เหลืออีก 7 พรุ ได้แก่พรุทุ่งเตียน พรุหลังวัดไม้ขาว พรุจืด พรุยาว
พรุแหลมหยุด พรุจิก และพรุเจ๊ะสัน
บริเวณที่ดินรอบ ๆ ป่าพรุมีทั้งที่ดินของชาวบ้านและที่ดินของเอกชนที่ได้กรรมสิทธิ์มาจากการซื้อขายจากชาวบ้าน
เพื่อเก็งกำไรในยุครัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะนอกจากท่าฉัตรไชยแล้วก็มีหาดไม้ขาวที่ยังคงความบริสุทธิ์แห่งเดียวของเกาะภูเก็ต
อย่างไรก็ดี กรรมสิทธิ์ของเอกชนในที่ดินบริเวณนี้เช่นตระกูลวาณิช ตระกลูเทพบุตร
และราชัน กาญจนะวณิชย์ ยังถือว่าเป็นส่วนน้อยมีเพียงไม่เกินคนละ 100 ไร่
เมื่อเทียบกับที่ดินนับพัน ๆ ไร่ของตระกูลหงษ์หยก ที่อยู่ในความดูแลของภูมิศักดิ์
หงษ์หยก นายกเทศมนตรีคนปัจจุบันหรือชาวภูเก็ตเรียกกันติดปากว่า "โอมี่"
ที่ดินมรดกบริเวณนี้ ตระกูลหงษ์หยกซื้อมาจากบริษัทไซมีส ทิน เป็นบริษัททำเหมืองแร่ในอดีต
ปัจจุบันกลายเป็นสวนมะพร้าวและสวนยางมีเนื้อที่ส่วนหนึ่งอยู่ติดกับบริเวณโครงการขุดลอกพรุจิก
ซึ่งเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกับที่ถนนจะตัดผ่านเข้าสู่พรุเจ๊ะสัน
"การขุดลอกพรุเป็นโครงการของจังหวัดทั้ง 7 พรุ และบางพรุเช่นที่พรุจิกและพรุเจ๊ะสันทางจังหวัดขอตัดถนนบนที่ดินของบริษัทเข้าไป
เราบอกว่าให้ใช้ประโยชน์ได้ เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมบริเวณนี้ให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่เราควรจะทำ
มิใช่ปล่อยไว้เฉย ๆ บางทีไม่ใช่ว่าจะดีขึ้น อาจจะเสื่อมโทรมลงก็ได้"
ภูมิศักดิ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริหารบริษัทอนุภาษและบุตร
ภูมิศักดิ์ เป็นทายายรุ่นหลานของตระกูลหงษ์หยก ซึ่งเป็นตระกูลเก่าแก่ที่คนภูเก็ตรู้จักดี
ต้นตระกูลคือหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ผู้ริเริ่มทำเหมืองสูบเป็นรายแรกของไทย
เมื่อปี 2482 ภายใต้ชื่อบริษัทจินหงวน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทอานุภาษและบุตร
หลวงอานุภาษภูเก็ตการเป็นเจ้าของเหมืองแร่ถึง 6 แห่ง มีที่จังหวัดพังงา
3 แห่ง ที่สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง และที่ภูเก็ต 2 แห่ง คือ เหมืองเจ้าฟ้าและเหมืองตีนแล
นอกจากนี้แล้วยังมีโรงงานทำน้ำมันมะพร้าว โรงงานทำสบู่ โรงน้ำแข็ง โรงกลึงโรงไฟฟ้าท่าเรือคลองจีน
และเรือเดินทะเลชื่อทุ่งคา ตลอดจนเป็นเจ้าที่ดินสวนมะพร้าวและสวนยางที่ตำบลไม้ขาว
ความมั่นคั่งของตระกูลหงษ์หยกราบรื่นยาวนานต่อเนื่อง 40 ปีเศษ ก็ต้องมาเผชิญปัญหาการขาดทุนในรุ่นหลานเพราะกิจการเหมืองแร่ที่เคยเป็นได้หลักของตระกูลกลายเป็นกิจการขาดทุนเดือนละล้านบาท
เนื่องจากวิกฤติการณ์ราคาแร่ดีบุกโลกตกต่ำในราวปี 2528-2529 ทำให้กิจการเหมืองส่วนใหญ่ในภูเก็ตต้องปิดเหมืองลงรวมถึงเหมืองของตระกูลหงษ์หยกด้วย
จากภาวะหนี้สินที่รุมเร้าภูมิศักดิ์หาทางออกด้วยการบุกเบิกกิจการใหม่ ๆ
ที่ตอบสนองวิถีชีวิตของคนภูเก็ตในยุคของธุรกิจท่องเที่ยวเฟื่องฟู ได้แก่
เป็นบริษัทตัวแทนขายรถยนต์มาสด้าและฮอนด้า กิจการค้าปลีกปั้มน้ำมันเชลล์
2 แห่ง และสร้างสนามกอลฟ์มาตรฐาน 18 หลุมแห่งแรกของภูเก็ต ชื่อว่า "ภูเก็ตคันทรีคลับ"
บนที่ดินเหมืองแร่ 1,500 ไร่ของครอบครัว
ความเป็น "นายเหมืองใหญ่" ของตระกูลหงษ์หยกจึงจบลง ก้าวสู่บทบาทใหม่คือนักธุรกิจพัฒนาที่ดินจากผืนดินมรดกของตระกูล
หลังจากที่ภูมิศักดิ์ประสบความสำเร็จจากภูเก็ตคันทรีคลับแล้ว เขามีแผนพัฒนาที่ดินของตระกูลอีกหลายโครงการซึ่งหนึ่งในโครงการได้แก่
โรงแรมขนาดใหญ่ประมาณ 500 ห้อง บริเวณที่ดินชายทะเลหาดไม้ขาว
"ตอนนี้เราชะลอโครงการโรงแรมไว้ก่อน เราเคยขอบัตรส่งเสริมการลงทุน
และเราก็คืนไปเพราะว่าจำนวนห้องพักมากขึ้น และภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกไม่แน่นอน
ก็คงต้องรอจังหวัะภูมิศักดิ์เล่าความคืบหน้าของโครงการสร้างโรงแรมบนบริเวณที่ดินต่อเนื่องกับพรุจิก
ว่ากันว่าผู้ที่เสนอโครงการตัดถนนและพัฒนาที่ดินบนพรุเจ๊ะสันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจนสภาจังหวัดภูเก็ตเอออาห่อหมกรับมาเป็นโครงการของสภาฯ
เองนั้น ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นกำนันคนหนึ่งซึ่งคนหาดไม้ขาวรู้ดีว่าเป็นหนึ่งในผู้ดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจของตระกูลหงษ์หยกนั่นเอง
หากโครงการนี้สำเร็จแน่นอนว่าโรงแรมบนหาดไม้ขาวของหงษ์หยกได้เกิดอย่างสบาย
ๆ เพราะถนนสายใหม่ที่ตัดผ่านพรุเจ๊ะสัน และแหล่งท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น
จะเป็นตัวเปิดบริสุทธิ์หาดไม้ขาว โดยที่หงษ์หยกไม่ต้องกระโดดลงไปเผชิญหน้ากับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยตรง
อย่างน้อยที่สุดราคาที่ดินก็จะต้องเพิ่มมูลค่าขึ้นหลายเท่าตัว หากไม่คิดจะเดินหน้าทำโรงแรมต่อไป
เล่นกันครบองค์ประกอบอย่างนี้ มีนายกฯ เป็นเจ้าของที่ดิน กำนันเป็นคนชงเรื่องสภาฯ
รับลูก ผู้ว่าฯ อนุมัติ แล้วป่าพรุที่หาดไม้ขาวจะไปเหลืออะไร