ชื่อของมิตซูบิชิที่ผ่านมาในวงการอุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้า อาจจะไม่ใช่เครื่องไฟฟ้าชั้นนำอย่างยี่ห้ออื่น
ๆ ของญี่ปุ่น นอกเหนือจากเครื่องปรับอากาศ ที่มีชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์มิตซูบิชิ
ค่อนข้างจะได้รับความเชื่อถือมาก
อย่างไรก็ตาม ยอดการจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของมิตซูบิชิในไทยนั้น
ประพนธ์ โพธิวรคุณ กรรมการรองผู้จัดการ ส่วนบริหารการตลาดและการบริการบริษัทกันยงวัฒนา
ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าของมิตซูบิชิ กล่าวยืนยันกับ "ผู้จัดการ"
ว่าสินค้าของบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมเป็นอันดับสอง รองจากพานาโซนิค
ความเป็นมาของกันยงวัฒนานั้น เริ่มด้วยตระกูลโพธิวรคุณ เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของ
มิตซูบิชิเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนในนามร้าน "สหกันยง" และสามารถที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของมิตซูบิชิ
ได้เป็นที่น่าพอใจมากในระยะแรก โดยเฉพาะพัดลมไฟฟ้าซึ่งมิตซูบิชิเข้ามาจำหน่ายในไทยเกือบจะเป็นรายแรก
ความสำเร็จในด้านยอดการจำหน่ายของสหกันยงดูจะเป็นที่พอใจของผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นมาก
ดังนั้น ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2514 มิตซูบิชิอิเลคทริค จึงสนใจเข้าร่วมทุนกับสหกันยง
และจัดตั้งเป็นบริษัทกันยงวัฒนาขึ้นมา เพื่อจำหน่ายสินค้าของมิตซูบิชิก่อนที่จะมีการแตกกิ่งก้านสาขาเป็นหลายๆ
บริษัทในวันนี้ เพื่อทำการผลิตและจำหน่ายสินค้าของมิตซูบิชิอิเลคทริค
T.DON SHIMOZATO ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของมิตซูบิชิอิเล็คทริคในเมืองเกียวโตประเทศญี่ปุ่นบอกกับ
"ผู้จัดการ" ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าของมิตซูบิชิในญี่ปุ่น เป็นที่แพร่หลายและมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่
4 รองจากพานาโซนิค โซนี่และโตชิบา แต่พวกเขามั่นใจว่าในอนาคตพวกเขาสามารถที่จะขึ้นมาในอันดับดีกว่านี้ได้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีด้านผลิตภัณฑ์เครื่องไฟฟ้าต่างๆ
ของบริษัท
"เรา (มิตซูบิชิอิเลคทริค) กับกันยงวัฒนา มีความสัมพันธ์ที่ดีกันมานานที่สามารถจะช่วยเหลือกันในหลาย
ๆ เรื่อง" T.DON SHIMOZATO กล่าวในความหมายที่เป็นการย้ำว่า เป็นเหตุผลที่พวกเขาเชื่อว่าในอนาคต
สินค้ามิตซูบิชิในไทย จะสามารถที่จะมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่านี้ด้วย การร่วมมือกันเป็นอย่างดีของ
2 พาร์เนอร์ใน 2 ประเทศ
ปัจจุบันเครือข่ายของมิตซูบิชิอิเลคทริคมีอยู่ทั้วหมด 9 บริษัท ได้แก่
1-บริษัท กันยงอิเลคทริก 2-บริษัท บูรพาการไฟฟ้าอุตสาหกรรม 3-เมลโก้ แมนูแฟกเจอนิ่ง
(ประเทศไทย) 4-บริษัท ไทยซีอาร์ที 5-บริษัท สยามคอมเพรสเซอร์ อุตสาหกรรม
6-บริษัท เมลโก้ คอนซูมเมอร์โปรดักส์ (ประเทศไทย) 7-บริษัท มิตซูบิชิเอลเลเวเตอร์เอเชีย
8-บริษัท กันยงวัฒนา และ 9-บริษัท วรจักรอินเตอร์เนชั่นแนล
ปัญหาของมิตซูบิชิในประเทศไทยนั้น ประพนธ์โพธิวรคุณ ซึ่งดูแลเรื่องการตลาดของกันยงวัฒนา
โดยตรงยอมรับว่า เป็นเรื่องของยอดการขายที่ยังไม่น่าพอใจมากนักแม้จะมีส่วนแบ่งการตลาดรวมอยู่ในอันดับสองก็ตาม
แต่เรื่องนี้ ประพนธ์เชื่อว่าไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะกันยงวัฒนาเชื่อมั่นว่า
สินค้าของมิตซูบิชิ ดีพอที่จะเจาะตลาดในประเทศไทยได้ดี!!!
อย่างเช่นโทรทัศน์ เป็นที่รู้กันว่า ในตลาดในสหรัฐอเมริกา ทีวีสีของมิตซูบิชิ
มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด อันเนื่องมาจากมิตซูบิชิอิเลคทริค ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่ให้ความสนใจในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านทีวีมากที่สุดบริษัทหนึ่ง
จุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาคุณภาพของทีวีของมิตซูบิชิอิเลคทริค น่าจะกล่าวถึงการเริ่มตั้ง
AV PLAZA ขึ้นในเดือนเมษายน 1989 เพื่อเป็นศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์ใหม่ของมิตซูบิชิในเมืองเกียวโต
ที่มีการพัฒนาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านเสียง (AUDIO) และด้านภาพ (VIDEO) มาเรียบร้อยแล้ว
จากการเข้าไปชม AV PLAZA ของมิตซูบิชิอิเลคทริคในเมืองเกียวโตของ "ผู้จัดการ"
ตามคำเชิญของบริษัทกันยงวัฒนา พบว่า การพัฒนาสินค้าหลายตัว มิตซูบิชิถือเป็นเรื่องใหญ่มาก
โดยเห็นได้จากผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเสียงและภาพหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นทีวีเครื่องวีดีโอหรือกระทั่งเครื่องโปรเจคเตอร์หลาย
ๆ รุ่นที่นำมาแสดงให้เห็น ต่างก็มีการพัฒนาคุณภาพสูงยิ่งขึ้นเพื่อการเข้าแข่งขันในตลาดทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ
เจ้าหน้าที่ประจำ AV PLAZA ของมิตซูบิชิอิเลคทริคในเมืองเกียวโต กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่าการตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าของมิตซูบิชิ
กลายเป็นสินค้าที่มีการพัฒนาคุณภาพสูงที่สุดบริษัทหนึ่งในญี่ปุ่นและในโลก
การพัฒนาดังกล่าวนี้ส่งผลดีถึงเมืองไทยด้วยทั้งนี้เพราะ มิตซูบิชิอิเลคทริคมีนโยบายว่า
สินค้าทุกอย่างของมิตซูบิชิ ไม่ว่าจะผลิตจากที่ไหนจะต้องมีคุณภาพเหมือนกัน
ในส่วนของประเทศไทยนั้น SHIMOZATO กล่าวว่าประเทศไทยจะเป็นฐานธุรกิจหลักของ
มิตซูบิชิในภูมิภาคอินโดจีนและอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาดหรือด้านการผลิต
"เราโชคดีที่มีการร่วมทุนกับบริษัทใหญ่ๆ ในไทยหลายๆบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์
AV หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เครือข่ายในไทยจำนวน 7 โรงงาน 2 บริษัทขาย เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า
เราให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทยมากแค่ไหน และขอยืนยันว่า ไทยจะเป็นฐานในการผลิตเพื่อการส่งออกในภูมิภาคนั้น"
SHIMOZATO กล่าวและชี้ว่า เครือข่ายที่มีมากถึง 9 บริษัทในประเทศไทยนั้น
เป็นเครือข่ายของมิตซูบิชิที่มากที่สุดในต่างประเทศเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา
จึงนับเป็นโชคดี ที่กันยงวัฒนาได้พาร์ทเนอร์ดีอย่างมิตซูบิชิอิเลคทริคมาร่วมหัวจมท้ายในการทำธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทย
เพราะพาร์ทเนอร์รายนี้ ให้ความสนใจกับการพัฒนาคู่ค้าในไทยด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องช่างหรือเรื่องการตลาด
ที่คนของกันยงวัฒนาจะต้องเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อเรียนรู้เรื่องราวของผลิตภัณฑ์ใหม่รุ่นต่าง
ๆ ของมิตซูบิชิที่จะออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นในญี่ปุ่นหรือทั่วโลก
เจ้าหน้าที่ระดับบริหารของมิตซูบิชิอิเลคทริกในเมืองเกียวโต ซึ่ง "ผู้จัดการ"
ได้เข้าเยี่ยมชม โรงงาน กล่าวว่า การพัฒนาสินค้าของมิตซูบิชินั้นมีสม่ำเสมอ
แต่อาจจะไม่มีการผลิตออกมาสู่ท้องตลาดทันที เพราะพวกเขาจะต้องมั่นใจมากว่า
หากออกสู่ท้องตลาดแล้วสินค้าของพวกเขาจะต้องเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคได้ทันที
"เราผลิตโดยยึดหลักซื่อสัตย์และสามารถ" พวกเขากล่าวถึงปรัชญาการทำงาน
ที่จะต้องสอดคล้องกับคำขวัญของบริษัทที่ว่า SOCIO-TECH อันหมายถึง การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสังคม
ในวิชาการตลาด มักจะเอ่ยถึง 4P ในการแข่งขันของสินค้าต่าง ๆ ได้แก่ PRICE
หรือ ราคา PLACE หรือช่องทางการจำหน่าย PRODUCT หรือสินค้า และ PROMOTION
หรือการโฆษณา ว่าคือสิ่งสำคัญในการแข่งขันแล้ว ดูเหมือนว่ามิตซูบิชิ จะมีสิ่งเหล่านี้พร้อมอยู่แล้ว
แต่ในส่วนของกันยงวัฒนา พวกเขามี P ตัวที่ 5 ที่จะเข้าแข่งขันด้วย
นั่นคือ PARTNER ที่ดีอย่างมิตซูบิชิอิเลคทริค ที่พร้อมที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเขาด้วยเทคโนโลยีใหม่
ๆ
ถึงวันนี้ ความพร้อมของกันยงวัฒนา ความพร้อมของมิตซูบิชิอิเลคทริค ที่จะลงมาทำตลาดอย่างจริงจังในไทยจึงมีมากกว่าวันวานที่พวกเขาอาจจะยังไม่พร้อมเท่าวันนี้
มีมิตซูบิชิอิเลคทริค ยืนยันแล้วว่ากันยงวัฒนา จะเป็นแกนหลักด้านการผลิตและขายสินค้าของเขาในไทยและประเทศในแถบอินโดจีน
ที่มีตลาดใหญ่แต่ยังไม่เหมาะสมที่จะถึงขั้นลงทุนตั้งโรงงานเพื่อผลิตเอง
วันนี้ของกันยงวัฒนา จึงเป็นที่น่าจับตามองเพราะ P ตัวที่ 5 เริ่มทำงานหนักขึ้น