กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาสแรกปีนี้อวดกำไรรวม 2,407 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปี 52 ที่ทำได้ 1,310 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 84% เหตุความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มและการผลิตที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาดดัน กำไรขั้นต้นสูง DELTA พระเอกตลอดกาลของกลุ่ม ขณะ HANA CCET และ KCE กำไรเติบโตโดดเด่น ส่วนที่เหลือขยับฟื้นตัวชัดเจน
KCE -SPPT ฟื้นตัวชัดเจน
บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE งวดนี้กำไรพุ่ง 252% โดยพบว่ามีกำไรสุทธิ 180.9 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันในปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 119.4 ล้านบาท ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นนั้นมาจากยอดขายสูงขึ้นแตะ 1,857.7 ล้านบาท(เทียบเท่า 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้น 68 % จากยอดขาย 1,102.6 ล้านบาท (เทียบเท่า 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในไตรมาสเดียวกันของปี 52 ขณะที่อยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และไตรมาสแรกปีนี้ความต้องการในสินค้า PCB (Demand) ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ปกติไตรมาสนี้ไม่ใช่ฤดูกาลขาย(Season) ของธุรกิจ ส่งผลให้มียอดขายเพิ่มขึ้น 7 % ไตรมาสต่อไตรมาส อัตรากำไรขั้นต้นทรงตัวในระดับสูงที่ 24.4 % แม้ว่าจะลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน เนื่องจากเริ่มมีการปรับราคาวัตถุดิบที่สำคัญและมีการใช้กำลังการผลิตโดยรวม อยู่ที่ 90 % เนื่องจากบริษัทย่อย เคซีอี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่กลับมาเปิดดำเนินการยังไม่ได้ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SPPT กำไร 42 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกปี 52 ขาดทุน 25 ล้านบาท หรือฟื้นกำไร267% เพราะตัวเลขอัตรากำไรขั้นต้นงวดนี้เพิ่มขึ้นจากขาดทุน 3% ของปีก่อน เป็นอัตรา 22% เพราะประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการผลิต และต้นทุนวัตถุดิบได้ดี บริษัทสามารถกลับมาเดินเครื่องจักรได้เต็มกำลังการผลิต ปริมาณการผลิตเพิ่มสูงขึ้นกว่า 90% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และอยู่ในขนาดของการผลิตที่เหมาะสม และ ประหยัด (Economy of Scale) ส่วนผสมของการขาย (Sales mix) ของกลุ่มสินค้า CE&E ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น
โดยยอดขายไตรมาสนี้มี 206.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 63.40 ล้านบาท หรือ 40% ยอดขายเพิ่มขึ้นตามการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมอีเล็กทรอนิกส์สดใส ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นและรายได้เติบโตอีกทั้งผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และจากหลักทรัพย์เพื่อค้า ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้น ด้านต้นทุนขายลดลงจากประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุนการผลิตดังที่กล่าวมาแล้ว
DELTA-CCET-HANA เติบโตต่อเนื่อง
บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์(ประเทศไทย) จากัด (มหาชน) หรือ DELTA งวดนี้กำไร 894 ล้านบาท สูงกว่าปี 52 ที่ทำไว้ 511 ล้านบาท เนื่องจาก อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาสแรกปี 53 ปรับตัวสูงขึ้น 1.8 % จาก 25.9 % ของไตรมาสแรกปี 52 เป็น 27.7% หรือเพิ่มขึ้น 75% ส่วนค่าใช้จ่ายจากการขายและดำเนินงาน ( SG&A )เพิ่มขึ้น แต่จากการที่บริษัทฯ สามารถสร้างยอดขายเพิ่มสูงขึ้น ทำ ให้อัตราค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อยอดขายลดลงเล็กน้อย ส่วนค่าวิจัยและพัฒนา ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน
ขณะยอดขายงวดนี้เพิ่มขึ้น 18.7 % จากจำนวน 6,359 ล้านบาทของไตรมาสเดียวกันปีก่อนเป็น 7,545 ล้านบาทในไตรมาสนี้เนื่องจากในปัจจุบันมีความต้องการในตลาดสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างสูง ซึ่งบริษัทฯ สามารถทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ (ประกอบด้วยพัดลมระบายความร้อนและ EMI filter) นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม IT Power ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 55% และกลุ่มของDC-DC converter และ DES ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น 25-30% ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์Telecom Power กลับมียอดขายลดลงกว่าไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบแต่อย่างไรก็ดีบริษัทฯคาดว่าประมาณไตรมาสที่สอง หรือสามของปีนี้สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะคลี่คลายขึ้นตามลำดับ
HANA หรือบริษัท บริษัทฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) งวดนี้กำไรโต 197% กล่าวคือมีกำไรสุทธิ 597.40 ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 201.20 ล้านบาท ผลมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ Operating Leverage สูงขึ้น จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น
โดยในไตรมาสที่ 1/2553 มียอดขายรวมเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น 49 % เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนคือ 3.92 พันล้านบาทในไตรมาส 1/53 เมื่อเทียบกับ 2.64 พันล้านบาทของไตรมาส 1/52 รายได้จากการขายในรูปสกุลเงินเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 60 % คือ 119.3 ล้านเหรีญสหรัฐ ในไตรมาส 1/53 เทียบกับ 74.6 ล้านเหรียญสหรัฐของไตรมาส 1/52 เนื่องจากตลาดฟื้นตัวมาที่ระดับใกล้เคียงกับจุดสูงสุดของปี 51 อัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของเงินบาทต่อเหรียญสหรัฐในไตรมาส 1/53 แข็งค่าขึ้น 7 % เท่ากับ 32.9 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับ 35.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในไตรมาส 1/52 ส่งผลให้ยอดขายในรูปสกุลเงินบาทเพิ่มขึ้นนั้นน้อยกว่าเมื่อเทียบปีต่อปี
SVI หรือ บริษัท เอส วี ไอ จำกัด (มหาชน) ไตรมาสนี้กำไรขยับเพิ่ม 173 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 153 ล้านบาท กำไรเพิ่มไม่มากเพราะอัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะยอดขายงวดนี้มีมูลค่า 55 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากยอดขายไตรมาสหนึ่งปี 52 และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นลดลง 3.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องด้วยค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น เป็นผลให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้สัดส่วนกับต้นทุนวัตถุดิบ ขณะค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัย จะสูญ
บริษัท มูราโมโต้ อีเล็คตรอน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ METCO แจ้งผลงานไตรมาส 2 ปีนี้พบว่ามีกำไรสุทธิ 119.85 ล้านบาท ขณะงวดเดียวกันของปีก่อนมีผลขาดทุนสุทธิ 183.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 302.9 ล้านบาท หรือ 165 % เหตุกำไรขั้นต้นเพิ่ม 338.08 ล้านบาท หรือแตะ 326.32 ล้านบาท
โดยไตรมาส 2 นี้บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายสินค้า 4,161.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,365.21 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 131.69 % เนื่องจากยอดขายของผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อกลับมา รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ใหม่คือ LCD Backlight ขณะมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทฯและบริษัทย่อยในไตรมาสที่ 2 นี้ลดลง 168 ล้านบาทจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากเมื่อปีที่แล้วบริษัทมีโครงการสมัครใจลาออกก่อนกำหนด โดยจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย
CCET หรือ บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จากัด (มหาชน) งวดนี้โกยกำไร 382 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่ทำไว้ 103 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 296% เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายและความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายด้าน ต่างๆได้ดีขึ้น ขณะมีรายได้จากการขาย 27,316.33 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 12.68 % จากการเพิ่มขึ้นของคาสั่งซื้อของสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์ประกอบคอมพิวเตอร์ ขณะต้นทุนขายลดลง ดันให้กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นผลจากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนสินค้าแบบสาเร็จรูป และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่ำลง
บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ EIC ขาดทุนลดลงจากเดิมที่ขาดทุนอยู่ 7 ล้านบาทเหลือ 2 ล้านบาท หรือลดลง69 % เหตุรายได้จากการขายสูงกว่าไตรมาสแรกปี 52 และมีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายสูงกว่าปี 52
บริษัท ดราโก้ พีซีบี จำกัด (มหาชน) หรือ DRACO งวดนี้กำไรยังโต 230% จากไตรมาสแรกปี 52 มีกำไรสุทธิ 4.27 ล้านบาท เป็น 14.06 ล้านบาท ด้านยอดขายงวดนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 38 % อันเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นทำให้ยอดขายของแผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้าที่ใช้ ในอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์และผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล คโทรนิคส์มีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์พลอยได้ เนื่องจากปริมาณการผลิตแผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นจากคำสั่งซื้อที่ เพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณเศษแผ่นเคลือบทองแดงที่มีขนาดเล็ก ตลอดจนสารเคมีที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตที่มีส่วนผสมของทองแดงมีมาก ขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วนต้นทุนขายลดลง เนื่องจากปริมาณการผลิตจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน บริษัทก็มีการบริหารต้นทุนคงที่ต่างๆ อย่างเคร่งครัด ทำให้อัตราส่วนต้นทุนขายต่ำลง
ขณะที่TEAM หรือ บริษัท ทีมพรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทเดียวในกลุ่มที่มีผลงานกดำเนินงานงวดนี้กำไรลดลง แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น กล่าวคือเล็กน้อยจากเดิมที่ทำไว้ 2.93 ล้านบาทเหลือ 1.61 ล้านบาทหรือลดลง 45 % เพราะอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในไตรมาสนี้ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 52 และการเข้าไปแข่งขันในตลาดสินค้าที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง ขณะยอดขายรวมในไตรมาสนี้มี 376 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้รวมของไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า 9.1% เนื่องจากความต้องการสินค้าของลูกค้าของบริษัทที่เพิ่มขึ้นโดยส่วนใหญ่มา จากกลุ่มลูกค้าในเอเซียแปซิฟิก
|