Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2528
THE PARTNERS!!             
 


   
search resources

ธนาคารแหลมทอง
สุระ จันทร์ศรีชวาลา
สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์
Banking
เล็ก นันทาภิวัฒน์




มันเป็นเรื่องของธนาคารที่น่าจะมีอนาคตมาแต่แรก แต่ผู้บริหารใช้ความรั้นดื้อและไม่ยอมรับฟังเหตุผล ก็เลยเกิดภาวะการขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาจนในที่สุดก็ต้องยอม เพราะเงื้อมมือของกฎหมายได้เอื้อมเข้ามาจนจวนจะถึงตัวเองในที่สุด

มีคนวงในธนาคารแหลมทองพูดออกมาในเชิงวิเคราะห์ว่าปัญหาที่แท้จริงของธนาคารแหลมทองนั้นไม่ได้อยู่ที่ สุระ จันทร์ศรีชวาลา จะเข้ามาเป็นกรรมการหรือไม่? แต่ปัญหาอยู่ที่สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการนั่นเองที่อยู่มานานจนเกินไป

“ผู้จัดการ” ฉบับที่ 7 ประจำเดือนมีนาคม 2527 ได้เคยเอาเรื่องธนาคารแหลมทองขึ้นปกมาแล้วโดยใช้ชื่อปกว่า “บางระจัน ของนันทาภิวัฒน์”

ในฉบับนั้นเราได้สืบสาวความเป็นมาและความขัดแย้งในธนาคารแหลมทองตั้งแต่ต้นจนกระทั่งมาแตกแยกกันในที่สุดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2527 โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นด้านเล็ก นันทาภิวัฒน์ และสุระ จันทร์ศรีชวาลา ฟ้องสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ และพวกเพื่อล้มการขายหุ้นออกไปในลักษณะที่ผิดข้อตกลง

เพียง 10 เดือนให้หลังทั้งสองฝ่ายก็เซ็นสัญญาสงบศึกหรือตามภาษานักกฎหมายเรียกว่า “สัญญาประนีประนอม” ในวันที่ 28 ธันวาคม 2527

และคนที่เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยนั้น คือ ชาตรี โสภณพนิช แห่งธนาคารกรุงเทพนั่นเอง

”มันไม่มีอะไรมากหรอก ผมเจอคุณสมบูรณ์เห็นหน้าตาเขาไม่ค่อยดีก็ถามว่าทำไมดูไม่สบาย คุณสมบูรณ์ก็บอกว่า เขากำลังมีเรื่องกับคุณสุระ ผมก็ถามเขาว่าเรื่องอะไร เขาก็เล่าให้ฟัง ผมฟังดูแล้วก็ไม่เห็นมันจะมีอะไรก็เลยบอกว่า ผมจะช่วยเป็นคนกลางให้ แต่ต้องมีเงื่อนไขตามที่ผมบอกถึงจะทำให้” ชาตรี โสภณพนิช เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟังในงานเลี้ยงนายเดวิด เทย์เลอร์ รองประธานของธนาคารคอนติเนนตัล อิลลินอยส์ ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล

เงื่อนไขของชาตรีก็มีดังนี้ “ผมบอกว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่พูดเรื่องเก่ากันเลยแม้แต่นิดเดียว และห้ามไม่ให้เอาทนายเข้ามาคุยด้วยเด็ดขาด”

เดือนพฤศจิกายน 2527 จึงเป็นเดือนที่ทั้งสมบูรณ์และสุระต่างก็แวะเวียนมาหาชาตรี โสภณพนิช กันเป็นระยะๆ

จนในที่สุดสัญญาประนีประนอมก็ถูกร่างขึ้นมาในปลายเดือนธันวาคม

และเพียง 3 เดือนให้หลังสุระ จันทร์ศรีชวาลา และเล็ก นันทาภิวัฒน์ ก็ได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการของธนาคารแหลมทองในที่สุดเมื่อปลายเดือนมีนาคมนี้ โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้เพิ่มจำนวนกรรมการจาก 11 คนเป็น 15 คน

และ 4 คนที่เพิ่มนั้น 2 คนคือฝ่ายสุระ ส่วนอีกสองคนเป็นฝ่ายของกลุ่มวานิช ไชยวรรณ

เรียกได้ว่าประนีประนอมกันกำลังพอดีๆ

“งานนี้สุระได้ค่าทำขวัญโดยธนาคารรับอาวัลตั๋วของกลุ่มสุระไป 200-300ล้านบาท เป็นเงื่อนไขอันหนึ่งของการประนีประนอม” แหล่งข่าวคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เองก็ไม่ได้มีความสุขนักกับการประนีประนอมครั้งนี้ เพราะมองในรูปการณ์แล้ว สมบูรณ์น่าจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้มากกว่าถึงยอมประนีประนอม

“สุระเองเขาก็ไม่ใช่ย่อยเพราะเมื่อชาตรีเสนอตัวเข้ามาไกล่เกลี่ยแล้วสำหรับคนที่ฉลาดอย่างสุระก็คงจะไม่ขวางลำ แล้วเมื่อพิจารณาสิ่งที่สุระได้มาก็คุ้มค่าอย่างมากๆ นอกจากได้อาวัลตั๋วแล้วการเข้ามาเป็นกรรมการก็ย่อมเป็นช่องทางต่อไปที่ต้องจับเอาไว้ก่อน”

สำหรับสุระ จันทร์ศรีชวาลา หรือสุระ อัมตซิงห์แล้ว การประนีประนอมครั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่เขาต้องการที่สุด และเขาก็สมควรจะได้มันด้วยเพราะความรอบคอบของเขา

ความจริงแล้วสถานภาพของสุระในรอบปี 2527 ที่ผ่านมานี้ก็เป็นสถานภาพที่เหนื่อยเอาอย่างมากๆ ทีเดียว

ฐานการเงินหลายแห่งที่เขาพอจะพึ่งพาได้พากันมีปัญหาและอุปสรรคกับกลุ่มของเขาอย่างมาก

นับตั้งแต่ธนาคารกรุงไทยที่ ตามใจ ขำภโต ถูกมัดมือไว้หมดทำให้ตามใจเองช่วยใครไม่ได้เหมือนที่เคยช่วย มิหนำซ้ำตัวเองยังต้องวิ่งอย่างสุดฤทธิ์เพื่อปกป้องไม่ให้สมหมาย ฮุนตระกูล มาลงดาบฟันตำแหน่งตัวเอง

“ตามใจเป็นฐานการเงินใหญ่ของสุระทีเดียว และสมัยที่ตามใจยังมีอำนาจอยู่เต็มที่นั้น สุระก็จะให้ตั๋วอาวัลโดยแหลมทองแล้วขึ้นเงินที่กรุงไทย แต่พอหมดฐานที่แหลมทองก็มาเจอกรุงไทยที่ตามใจมีปัญหา มิหนำซ้ำธนาคารสยาม (เอเชียทรัสต์เก่า) ที่สุระเคยใช้ FACILITY อยู่ได้บ้างก็ถูกสวมโดยรัฐบาล และกำลังฟ้องสุระเรื่องเงินอยู่ ก็พอพูดได้ว่าปี 27 เป็นปีที่สุระเหนื่อยเอามากๆ” แหล่งข่าวในวงการเงินเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

ถ้า 2527 เป็นปีที่สุระต้องเหนื่อยแล้ว 2527 ก็เป็นปีที่สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ต้องหอบแฮ่กเหมือนกัน

“สมบูรณ์นอกจากจะต้องทะเลาะกับกลุ่มสุระที่ศาลแล้วปัญหาต่างๆ ก็มาประดังกับสมบูรณ์ไม่น้อยเลย ฟินิกซ์พัลพ์ก็ปัญหาหนึ่งที่สมบูรณ์เป็นต้นเรือใหญ่แล้วจะเจ๊ง ความจริงโดยสถานภาพที่แท้จริงนั้นมันเจ๊งไปแล้วและสมบูรณ์ก็พยายามเข็นไม่ให้มันเจ๊ง นอกจากนั้นแล้วก็ยังเป็นปัญหาของการบริหารภายในที่สมบูรณ์ยังคงต้องการเกาะเก้าอี้กรรมการผู้จัดการไปเรื่อยๆ และทำให้คนอื่นเขาอึดอัด” แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

แต่ที่ทำให้สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ต้องหอบแฮ่กๆ อย่างมากที่สุดนั้นคงจะเป็นคดีอาญา 3 คดีที่ถูกกลุ่มสุระฟ้อง ตั้งแต่ข้อหาปลอมแปลงเอกสารผิดพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ และยักยอกทรัพย์

นอกจากนั้นยังมีคดีความแพ่งที่สมบูรณ์ถูกกลุ่มสุระฟ้องอีก 2 คดี

รวมทั้งหมดเป็น 5 คดีที่ในปี 2527 ก็เริ่มเข้าไคลแมกซ์อย่างใจหายใจคว่ำ สำหรับสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์

ประเด็นที่ทำให้สมบูรณ์จะต้องหนาวๆ ร้อนๆ คือประเด็นของการปลอมแปลงเอกสาร และการยักยอกทรัพย์

พื้นฐานเดิมของเรื่องมีดังนี้:-

พฤศจิกายน 2526

ธนาคารแหลมทองได้ส่งจดหมายเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการเพิ่มทุนซึ่งต้องใช้มติพิเศษ ในหนังสือนัดประชุมระบุข้อความการประชุมว่า:-

… จะเพิ่มทุนอีก 500,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท

… หุ้น 500,000 หุ้นใหม่นี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน

… ส่วนแรก 100,000 หุ้นจะขายในเดือนมกราคม 2527 โดยขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม 5 หมื่นหุ้น และบุคคลภายนอกอีก 5 หมื่นหุ้น

… อีก 400,000 หุ้นนั้นมอบให้คณะกรรมการธนาคาร พิจารณาขายเป็นคราวๆ ไป

กลุ่มสุระซึ่งถือหุ้นเกือบ 30% ขณะนั้นคัดค้านข้อความในหนังสือนัดประชุมและไม่เห็นด้วยและเสนอให้สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์เสนอให้กรรมการขายหุ้น 400,000 หุ้นนี้เป็นคราวๆ ไปกับผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วนของหุ้นที่ผู้ถือหุ้นเดิมได้ถืออยู่ ซึ่งสมบูรณ์ก็รับปากว่าจะเพิ่มข้อความดังกล่าวลงในภาวะการประชุม

25 พฤศจิกายน 2526

มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก่อนมีการลงมติเกี่ยวกับการขายหุ้นจำนวน 4 แสนหุ้นนี้

สำราญ กัลยาณรุจ ผู้ถือหุ้นของธนาคารแหลมทอง (และต่อมาก็เป็นทนายว่าความให้ธนาคารแหลมทอง) ได้เสนอเพิ่มข้อความที่มีความหมายว่า “หากธนาคารแหลมทองจะขายหุ้นที่ออกใหม่ก่อนวันที่ 8 มีนาคม 2527 นั้นจะต้องขายให้กับบุคคลภายนอกเสียก่อนในอัตราร้อยละ 25 ตามกฎหมาย พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ที่กำหนดไว้ ส่วนที่เหลือจึงจะนำมาขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคาร”

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ก็ได้ให้คำรับรองกับที่ประชุมด้วยว่าหุ้นที่เหลือจำนวน 4 แสนหุ้นนั้นจะไม่นำออกขายภายใน 6 เดือน นับระยะเวลาตั้งแต่วันทำการประชุม

กลุ่มสุระก็พอใจจึงลงมติเห็นด้วยกับวาระการประชุมที่กำหนดลงไว้ในหนังสือนัดประชุม

ธันวาคม 2526

ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นและยืนยันมติเดิมเพื่อให้กลายเป็นมติพิเศษแล้วนำไปจดทะเบียน

มกราคม 2527

สมบูรณ์ได้ขายหุ้นที่ออกใหม่ 100,000 หุ้น โดยขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม 50,000 หุ้นและขายให้คนนอก 50,000 หุ้น ตามที่ลงมติตกลงกันไว้

ขณะนั้นภาวะการตลาดการเงินกำลังผันผวนกันอย่างหนัก ทรัสต์ต่างๆ กำลังล้มกันอย่างระเนระนาด เงินทุนหลักทรัพย์สหไทยของโค้วเฮงท้งที่ธนาคารแหลมทองอุ้มไว้อยู่กำลังถึงจุดสุดท้ายที่จะล้ม

27 มกราคม 2527

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เรียกประชุมคณะกรรมการธนาคาร และเสนอว่าจะขายหุ้น 200,000หุ้นที่ออกใหม่จากจำนวน 400,000 หุ้นให้คนนอก

คณะกรรมการบางคน เช่น ปิยะ จิตตาลาน ค้านโดยอยากให้นำหุ้น 200,000 นี้ออกมาประมูลขายกัน ไพจิตร โรจนวานิช ค้านว่าน่าจะขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม

กุมภาพันธ์ 2527

กลุ่มสุระและเล็ก นันทาภิวัฒน์ เมื่อรู้เรื่องนี้ก็ให้ทนายความชื่อ สุวัฒน์ พฤกษ์เสถียร มอบให้ทนายความส่งหนังสือคัดค้านการกระทำดังกล่าว เพราะเป็นการขัดต่อมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

กลุ่มสุระและเล็ก นันทาภิวัฒน์ ก็อ่านเกมออกว่าสมบูรณ์จะขายหุ้น 200,000 หุ้นให้กับกลุ่มใหม่ที่พร้อมจะสนับสนุนสมบูรณ์บริหารธนาคารต่อไป

กลุ่มสุระและเล็กก็รับแก้เกมทันทีโดยทำจดหมายเสนอขอซื้อหุ้นที่จะขาย โดยผู้ซื้อแบ่งเป็น 3 กลุ่ม มี

ก) หม่อมเจ้าดุลภากร วรวรรณ ขอซื้อในราคา 700 บาท โดยได้ใช้ตั๋วเงินของกรุงไทยเป็นหลักฐาน

ข) เล็ก นันทาภิวัฒน์ ขอซื้อในราคา 700 บาท โดยทำเป็นจดหมายถึงสมบูรณ์ และจะจ่ายเป็นเงินสด

ค) คุณหญิงสุวรรณี พัวไพโรจน์ ขอซื้อหุ้นละ 710 บาท โดยใช้ตั๋วเงินของธนาคารกรุงไทยเช่นกัน

กลุ่มสุระและเล็กได้ทราบข้อมูลอยู่แล้วว่าสมบูรณ์ได้ขายให้กลุ่มวานิช ไชยวรรณ และกลุ่มปาล์มโก้มาเลเซียเพียงหุ้นละ 600 บาท

ฉะนั้นเกมการตั้งราคา 700 และ 710 บาทก็ถูกคิดขึ้นมาเผื่อเหนียวและจะเป็นประโยชน์ภายหลังเมื่อมีเรื่องแตกหักกัน เพราะเมื่อฟ้องร้องกันกลุ่มสุระและเล็กก็ใช้ผู้ถือหุ้นฟ้องสมบูรณ์ข้อหา “ฉ้อโกง” ที่สามารถขายหุ้นได้ในราคา 700 และ 710 แต่ไม่ขายกลับไปขายในราคา 600 บาท ทำให้ธนาคารต้องสูญเสียรายได้ไป 20 ล้านบาท

ที่สมบูรณ์ทำพลาดอีกประการหนึ่งคือ คุณหญิงสุวรรณี พัวไพโรจน์ได้จดหมายแจ้งความจำนงขอซื้อหุ้นในราคา 710 กับสมบูรณ์

และสมบูรณ์ได้ตอบคุณหญิงสุวรรณี ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2527 ว่า หุ้นดังกล่าวที่จะซื้อกำลังพิพาทกันอยู่ในศาลแพ่ง ถ้าเสร็จเรียบร้อยแล้วคณะกรรมการก็จะพิจารณาข้อเสนอให้

ส่วนรายของหม่อมเจ้าดุลภากร วรวรรณ นั้น สมบูรณ์ได้พูดด้วยปากว่า หุ้นดังกล่าวยังขายไม่ได้เพราะศาลยังห้ามขายหุ้นอยู่

ซึ่งทุกอย่างกลับเป็นหลักฐานมัดตัวสมบูรณ์ว่าหุ้นที่ออกใหม่นั้นยังไม่ได้ขายใคร เพราะถ้าขายแล้วสมบูรณ์ก็ควรจะตอบว่าหุ้นนั้นได้ขายให้คนอื่นแล้ว

และจากการเช็กทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2527 ปรากฏว่าหุ้น 200,000 หุ้นอยู่ในชื่อของวานิช ไชยวรรณ และกลุ่มปาล์มโก้

เพียงวันเดียวหลังจากที่ศาลแพ่งได้อนุญาตให้เพิกถอนหมายห้ามชั่วคราวที่กลุ่มสุระได้ขอให้ระงับการขาย สมบูรณ์ก็จัดวานิช ไชยวรรณ และปาล์มโก้เข้ามาถือหุ้นทันที โดยลืมจดหมายที่ตนเองตอบคุณหญิงสุวรรณี พัวไพโรจน์ ไปเสียสนิทว่าจะเอาข้อเสนอของคุณหญิงสุวรรณีเข้าที่ประชุมกรรมการ!!!

20 กุมภาพันธ์ 2527

สุวัฒน์ พฤกษ์เสถียร ตัวแทนของสุระและกลุ่มนำหมายศาลไปแจ้งให้สมบูรณ์และสหายทราบที่ธนาคารพร้อมทั้งพา ร.ต.ต.อำนาจ ทีคะสุข ตำรวจท้องที่บางรักไปเป็นพยาน

สุวัฒน์ พฤกษ์เสถียร กับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น และได้ถ่ายภาพสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นบันทึกลงในบันทึกประจำวันของสถานีตำรวจบางรัก ซึ่งมีสาระว่า:-

… ธนาคารแหลมทองได้ออกใบหุ้นใบสุดท้ายหมายเลข 02177 ให้กับนิคม รัตนคำแปง ไปในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527 อยู่หน้าที่ 963 และหมึกที่ใช้กรอกข้อความตามรายการเป็นหมึกสีแดง

… แฟ้มทะเบียนหุ้นนั้นเป็นแฟ้มเจาะรูสามารถถอดหรือเพิ่มเติมเปลี่ยนได้

27 กุมภาพันธ์ 2527

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ จดหมายตอบคุณหญิงสุวรรณี พัวไพโรจน์ ที่ส่งจดหมายมาขอซื้อหุ้น 200,000 หุ้นในราคาหุ้นละ 710 บาทว่า ยังขายให้ไม่ได้เพราะกำลังมีเรื่องราวที่ศาลเมื่อเรื่องเรียบร้อยแล้วจะเสนอให้กรรมการพิจารณา

14 มีนาคม 2527

ศาลได้เห็นว่าระยะเวลาตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ได้ผ่านพ้นไปแล้วจึงเพิกถอนคำสั่งห้ามชั่วคราว

19 มีนาคม 2527

หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าธนาคารแหลมทองได้ขายหุ้นจำนวน 2 แสน 3 หมื่นหุ้นเรียบร้อยและนำไปจดทะเบียนแล้ว

กลุ่มสุระจึงไปขอค้นทะเบียนผู้ถือหุ้นอีกครั้งหนึ่งปรากฏว่า

… ใบทะเบียนหุ้นหน้าสุดท้ายที่สุวัฒน์ พฤกษ์เสถียรได้ถ่ายภาพไว้และลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจหายไป

… เดิมทีใบทะเบียนหุ้นหน้าสุดท้ายนี้เป็นของนายนิคม รัตนคำแปง และอยู่แผ่นที่ 963 แต่

… ในวันที่ 19 มีนาคมนั้นใบทะเบียนหุ้นมีเลขหน้าแค่ 960

… หลังจากหน้า 960 มีใบทะเบียนหุ้นอีกแต่ไม่ได้ลงจำนวนเลขแผ่นและ

… ใบทะเบียนหุ้นหลังจากใบที่ลงเลข 960 แผ่นที่ 3 ซึ่งเดิมเป็น 963 ในชื่อนายนิคมนั้นกลับไม่ใช่ใบหุ้นของนายนิคมและหมึกที่ลงรายการสีแดงกลายเป็นสีดำ

… ทะเบียนหุ้นนายนิคมกลับมีอยู่ในหน้าเลขที่ 1022

… หมายเลขหุ้น 02177 ที่เคยเป็นของนายนิคมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปรากฏว่า

… ในวันที่ 19 มีนาคม กลับไม่มีหมายเลขแต่

… หมายเลขหุ้น 02177 กลับมาเป็นหมายเลขหุ้นของวานิช ไชยวรรณ ซึ่งอยู่ในหน้า 1023

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่า

ก) ได้มีการแก้ไขวันที่ในใบทะเบียนหุ้นในช่องวันลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นจากของเดิม ซึ่งลงไว้วันที่ 17/03/27 เป็นวันที่ 20/02/27 ทุกใบ

ที่ต้องลงเลขหุ้นเป็นวันที่ 20/02/27 นั้น เพื่อจะได้เป็นข้ออ้างว่าได้ออกใบหุ้นและลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นก่อนได้รับคำสั่งห้ามของศาลแพ่งซึ่งกลุ่มของสุระนำมาให้รับทราบในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2527 ( 21/02/27)

29 มีนาคม 2527

กลุ่มสุระตัดสินใจเดินหน้าชนโดยใช้คดีอาญามาบีบเพื่อให้สมบูรณ์ประนีประนอม

สมบูรณ์ถูกฟ้องคดีอาญา 3 คดี โดยสองคดีแรกโจทก์คือ สุวัฒน์ พฤกษ์เสถียร ฟ้องสมบูรณ์ข้อหาผิดพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ฯลฯ และอีกข้อหาคือ ปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งทั้งสองคดีนี้ศาลได้อนุญาตตามคำขอของจำเลยคือ สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ให้รวมเป็นคดีเดียวกัน

คดีอาญาอีกคดีหนึ่งสมบูรณ์และกรรมการถูกนายธีรพล สันติกาญจน์ ฟ้องข้อหายักยอกทรัพย์ ซึ่งฟ้องในวันที่ 15มิถุนายน 2527

เมษายน 2527

ศาลได้นัดสืบโจทก์ทั้งสองคดีที่สุวัฒน์ พฤกษ์เสถียรเป็นโจทก์

27 เมษายน 2527

ศาลเห็นว่าคดีผิดพระราชบัญญัติ ฯลฯ มีมูลจึงนัดสืบพยาน

8 พฤษภาคม 2527

ศาลเห็นว่า คดีปลอมแปลงเอกสารมีมูล

15 มิถุนายน 2527

นัดสืบพยานคดีปลอมแปลงเอกสาร

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ อ้างเอกสิทธิ์ของการเป็นวุฒิสมาชิกขณะอยู่รัฐสภาอยู่ในระหว่างเปิดสมัยประชุม

29 ตุลาคม 2527

สืบพยานโจทก์

1 พฤศจิกายน 2527

สืบพยานโจทก์

17 ธันวาคม 2527

สืบพยานโจทก์ปากสุดท้าย

อีก 11 วันให้หลัง ในวันที่ 28 ธันวาคม 2527 ทั้งสองฝ่ายทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชาตรี โสภณพนิชเป็นคนกลาง

สรุปแล้วก็คงพอจะพูดไว้ว่างานนี้สุระถือไพ่เหนือกว่า เพราะคดีอาญาทั้ง 3 คดีนั้นเป็นคดีของการสืบเอกสารทั้งสิ้น โอกาสที่จะถูกยกฟ้องทั้ง 3 คดีนั้นคงน้อย

สำหรับสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ แล้วการประนีประนอม คือ ทางออกที่ดีที่สุดเพราะทางข้างหน้ามันค่อนข้างจะมืดมนและสุขภาพสมบูรณ์คงไม่ดีแน่ถ้าศาลพิพากษาเรื่องปลอมเอกสาร

สำหรับประชาชนที่ฝากเงินกับธนาคารแหลมทองนั้นก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกอย่างจบลงด้วยดี

สำหรับ “ผู้จัดการ” แล้วเราอยากเห็นสมบูรณ์เกษียณตัวเองไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

ถึงเวลาแล้วที่สมบูรณ์ควรจะพักได้ การทำงานที่ผิดพลาดหลายอย่างใน 2-3 ปีที่ผ่านมานั่นน่าจะเป็นเครื่องชี้บอกให้สมบูรณ์รู้ได้ว่า ควรจะใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างไรจึงจะดีที่สุด

เราเคยพูดไว้ในฉบับที่ 7 เดือนมีนาคม 2527 ว่า ธนาคารแหลมทองถึงจุดจุดหนึ่งจะต้องใช้มืออาชีพเข้าบริหาร

มืออาชีพคนนั้นควรจะเป็นคนที่ไม่ใช่คนดื้อและหัวรั้นแต่ต้องเป็นคนที่มองการณ์ไกล มีแผนงาน และได้รับการยอมรับจากคนในวงการพอสมควร

ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของธนาคารแหลมทองจริงๆ

เมื่อมองดูโครงสร้างของกรรมการธนาคาร และกลุ่มผู้ถือหุ้นแล้วก็ดูกันไม่ยากว่าถ้ายังไม่รีบเอามืออาชีพขึ้นมาบริหารและทำธนาคารให้ก้าวหน้าไปตามกาลเวลาแล้วละก้อ

เราคิดว่าถ้ายังคงเป็นเหมือนเดิมก็คงจะมี “ธนาคารแหลมทอง ภาค 3” อีกครั้งเป็นแน่ๆ

เชื่อเราเถอะ การลาออกไม่ใช่เป็นการเสียหน้าสำหรับสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ แต่เป็นการแสดงสปิริตที่ทุกคนจะต้องปรบมือให้อย่างแน่นอนที่สุด l

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us