Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2528
"สุมิโตโม" ธนาคารชั้นนำของญี่ปุ่นกำลังมาแรง             
 


   
www resources

Sumitomo Mitsui Banking Corporation

   
search resources

Banking
ธนาคารสุมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป
คอห์ โคมัตสุ




จากการเลือกเอาข้อดีของกรรมการผู้จัดการคนก่อนๆ คอห์ โคมัตสุ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของธนาคารสุมิโตโม กำลังเร่งรัดก้าวไปสู่การตลาดที่สามารถทำกำไรได้มากยิ่งขึ้น

จากการขยายตัวของความนิยมใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ จักรยานยนต์ เหล็ก รถยนต์ เครื่องมือกล และหุ่นยนต์ เครื่องกึ่งสื่อไฟฟ้า ที่ผลิตจากญี่ปุ่น ทำให้เสียงสวดของวงการอุตสาหกรรมตะวันตกที่ว่า อุตสาหกรรมของตนต้องพังพินาศ และต้องเสียหายอย่างร้ายแรง เนื่องจากการส่งออกของญี่ปุ่นนั้น ดูเหมือนแทบจะไม่มีวันสิ้นสุด แล้วสินค้าตัวต่อไปของญี่ปุ่นคืออะไรที่จะรุกออกไปอีก ?

ก็การเงินน่ะซี !

นี่คือตัวอะไรที่จะเกิดขึ้นต่อไป !

แต่ก่อนนี้คนญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นที่รู้จักกันในฐานะเป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรมผู้ผลิตสินค้า แต่ในปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นกำลังก้าวขึ้นไปเป็นผู้อำนวยบริการในระดับโลก เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของตนต้องตกอยู่ภายใต้การแข่งขันอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นของกลุ่มประเทศ “ญี่ปุ่นใหม่” อย่างเช่นเกาหลีใต้และไต้หวัน

ดังนั้น เพื่อตอบโต้กับแรงกดดันใหม่ๆ โดยสอดคล้องกับโอกาสใหม่ๆ พร้อมกับได้รับความสนับสนุนส่งเสริมจากรัฐบาล บรรดาธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นจึงได้เริ่มมองออกไปยังภาคพื้นโพ้นทะเลนอกประเทศญี่ปุ่น เพื่อความเจริญเติบโตของตนเองในอนาคตเพราะญี่ปุ่นได้มีการค้าอยู่ต่างประเทศมากแล้ว ฉะนั้นบรรดาสถาบันการเงินเหล่านี้จึงต้องการที่จะเป็นผู้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น บนเวทีระหว่างประเทศในปัจจุบันนี้

และในบรรดาสถาบันการเงินดังกล่าวนั้น ก็ไม่มีสถาบันการเงินใดที่แก่งหล้าและมีความพร้อมเป็นอย่างดี สำหรับบทบาทก้าวใหม่นี้ เท่ากับธนาคารสุมิโตโม !!

ถึงแม้ว่าสุมิโตโมจะเป็นธนาคารที่อยู่ในอันดับ 3 ในปริมาณเงินฝากรวม และรายได้รวมในบรรดาธนาคารทั้งหลายของญี่ปุ่นก็ตาม แต่ธนาคารสุมิโตโมก็เป็นธนาคารที่ทำกำไรได้มากที่สุดมาเป็นเวลานาน และที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เป็นธนาคารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด กล้าได้กล้าเสีย และเป็นผู้มีความคิดใหม่ๆ เก่งที่สุดของญี่ปุ่น

เกือบ 19% ของรายได้ทั้งหมด และ 25 % ของกำไรทั้งหมดของสุมิโตโม ได้มาจากการดำเนินกิจการต่างประเทศ มากยิ่งกว่าธนาคารอื่นใดของญี่ปุ่น นอกจากธนาคารแห่งกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

ปัจจุบันนี้ เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของธนาคารสุมิโตโมพูดถึงการทำกำไรจากกิจการในต่างประเทศให้ได้ถึง 40% และกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของธนาคาร คือ คอห์ โคมัตสุ ก็มิได้ปิดบังความปรารถนาของเขาแต่อย่างใด ที่จะทำธนาคารสุมิโตโมให้เป็น “ธนาคารซิตี้แบงก์ของญี่ปุ่น” ให้จงได้

หลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในความมุ่งมั่นดังกล่าวนี้ ที่แสดงออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ก็คือการที่ธนาคารสุมิโตโมได้ซื้อหุ้นในธนาคารกอตธาร์ดของสวิตเซอร์แลนด์ เป็นจำนวนถึง 53% ของหุ้นทั้งหมด จากบริษัทผู้ถือหุ้นบั๊งโค อัมโบรเซียโน แห่งลักเซมเบิร์ก ที่ประสบปัญหายุ่งยากเป็นมูลค่าถึง 144 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนมีนาคม 1984 ที่ล่วงมานี้ ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่นายทุนผู้สนใจจากญี่ปุ่นได้ซื้อธนาคารของยุโรปไป ซึ่งวงการธนาคารระหว่างประเทศถือว่าเป็นการรุกทางยุทธศาสตร์การธนาคารครั้งสำคัญ

รอเบิร์ต เบิร์กฮาร์ต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทดับเบิลยู ไอคาร์ ซันส์แอนด์โก (โพ้นทะเล) ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า “จะเห็นได้ชัดทีเดียวว่า ธนาคารสุมิโตโม ….ซึ่งเป็นธนาคารที่จัดการที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น พร้อมทั้งมีพลังทางการเงิน และกำลังรุกคืบหน้าในด้านประกอบการ เพื่อแข่งกับธนาคารขนาดใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ และของยุโรปในตลาดเงินทุนของโลก” และในรายงานประจำเดือนตุลาคม 1984 ของบริษัทกรีฟซัน แกรนท์ แอนด์โก ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าค้าหุ้นแห่งกรุงลอนดอน ได้กล่าวต่อไปว่า “เป็นที่แน่นอนว่า ธนาคารสุมิโตโมจะยังคงยืนเด่นอยู่ในหมู่สถาบันการเงินชั้นยอดเยี่ยมที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งความจริงก็ของโลกด้วย”

แม้จะให้เกียรติกันถึงขนาดนั้นแล้วก็ตาม ก็เป็นที่แน่นอนว่าธนาคารสุมิโตโม ยังจะต้องเดินทางอีกไกลกว่าจะเข้าทาบรัศมีในด้านบทบาทระหว่างประเทศของธนาคารซิตี้แบงก์ ซึ่งมีสาขาโพ้นทะเลมากกว่า 1,600 แห่ง และเมื่อปีกลายนี้สามารถทำกำไรจากกิจการโพ้นทะเลได้มากมายถึง 62% ของกำไรทั้งหมด

นอกจากซิตี้แบงก์แล้วยังมีธนาคารที่เข้มแข็งอื่นๆ ทั้งของสหรัฐฯ และของยุโรปอีกหลายธนาคาร ที่ถือว่าเป็นธนาคารระหว่างประเทศที่ใหญ่โตหรูหรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน ที่ใหญ่โตยิ่งกว่าธนาคารสุมิโตโม

ที่ซึ่งสุมิโตโมทำแต้มได้มาก

ธนาคารสุมิโตโมเองก็ใช่ว่าจะอยู่ในระดับถึงขั้นเป็นธนาคารระหว่างประเทศ ในบรรดาธนาคารของญี่ปุ่นด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ในช่วงระยะ 7 เดือนแรกของปี 1984 ธนาคารมิตซูบิชิ ยังได้ออกหนังสือค้ำประกันสัญญาทางการเงินที่เป็นเงินยูโรดอลลาร์ มากกว่าธนาคารสุมิโตโมเสียอีก

สาขาของธนาคารมิตซูบิชิในแคลิฟอร์เนียก็ยังโตกว่าธนาคารสุมิโตโมอันเก่าแก่ในแคลิฟอร์เนีย

และแม้แต่ธนาคารได-อิชิ กังโยะ ก็ยังมีสำนักงานสาขาในต่างประเทศมากกว่า แต่กระนั้นก็เป็นที่แน่นอนว่า ในด้านรายได้ในต่างประเทศและธุรกิจโดยส่วนรวมแล้วธนาคารสุมิโตโมก็ยังล้ำหน้ากว่าธนาคารอื่นๆ อยู่

บรรดาบุคคลภายนอกอาจจะพากันสงสัยว่าโคมัตสุ ซึ่งเพิ่งเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1983 นี้เองจะมีส่วนในการทำให้ธนาคารสุมิโตโมกลายเป็นธนาคารนำในการก้าวรุดหน้าในด้านกิจการระหว่างประเทศได้หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ 2 คนก่อน คือ โชโซ ฮอตตา กับ อิชิโร อิโซดะ

โคมัตสุยังได้ยอมรับในการให้สัมภาษณ์แก่ “นิตยสารระหว่างประเทศ” ที่สำนักงานใหญ่ของเขาในกรุงโตเกียวว่า เขาเห็นบทบาทสำคัญของเขาอยู่ที่ การสร้างเสริมพลังให้แก่สินทรัพย์ที่เขาได้รับช่วงมาจากผู้จัดการใหญ่คนก่อนๆ แต่กระนั้นเขาก็ยังต้องคลำทางเพื่อแสวงหาแบบวิธีของเขาเองในฐานะเป็นแบบอย่างตัวกลางขององค์การ เขากล่าวว่า “ผมต้องการจะผลักดันผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผม ให้ทำในสิ่งที่ดียิ่งขึ้น แต่ผมไม่กล้าสั่งให้เขาทำอะไรมากไปกว่าผมได้ พวกเขาย่อมจับตามองดูผมจากด้านหลังอยู่เสมอ ผมไม่ประสงค์จะเสแสร้งแกล้งทำเป็นแบบอย่างที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่ผมก็ไม่อาจทำตัวให้ด้อยไปกว่าแบบอย่างที่ดีได้เหมือนกัน”

ผู้ร่วมงานส่วนมากไม่ค่อยถ่อมตัวเกี่ยวกับความสามารถของเขาเลย พนักงานทั่วไปชมโคมัตสุว่า เป็นคนที่มีความรู้สูง เป็นนักการธนาคารที่มีความคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ และชมเชยในความสามารถของเขาที่ซื้อธนาคารกอตธาร์ดเอามาได้

ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งชมเขาว่า “เป็นคนเข้มแข็ง”

โคมัตสุเป็นนายทหารเรือนอกราชการ ที่มีประสบการณ์ในกิจการธนาคารระหว่างประเทศเหมือนกัน โดยเขาเคยเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการของธนาคารสุมิโตโม สาขาแคลิฟอร์เนีย มาเป็นเวลาถึง 3 ปี ในตอนกลางทศวรรษ 1960 และเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการจัดการของฝ่ายวางแผนงานระหว่างประเทศของธนาคารสำนักงานใหญ่ ระหว่างปี 1973 ถึง 1976

แต่ภายในธนาคารกันแล้ว โคมัตสุเป็นที่รู้จักดีในฐานะเป็น “มือขวาน” และ “มือรับงานกู้ภัย” ตามที่พนักงานคนหนึ่งของธนาคารตั้งฉายาให้เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ตัวเขานี่แหละที่ได้รับมอบหมายจาก อิโซดะ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ในตอนปลายทศวรรษ 1970 ให้ทำการรีดเค้นเอาอะไรทั้งหมดที่หลงเหลืออยู่บ้างของบริษัทอาตากะ แอนด์โก บริษัทการค้าซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารสุมิโตโม ที่ประสบกับการล้มละลายอย่างน่าตื่นเต้น จนเป็นต้นเหตุให้ธนาคารสุมิโตโมต้องตัดหนี้สูญเป็นจำนวนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์

อิโซดะ ผู้ซึ่งนำธนาคารสุมิโตโมกลับคืนสู่ความเป็นธนาคารชั้นยอด ที่ทำกำไรได้งามในญี่ปุ่น ภายหลังจากกรณีอันฉาวโฉ่ของบริษัทอาตากะ ระหว่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้เองที่เป็นผู้เลือกโคมัตสุขึ้นมาสืบตำแหน่งแทนเขา

เนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องตัดทอนรายจ่ายบางประเภท เพราะเหตุที่ธนาคารต้องประสบกับความยุ่งยากบางอย่างจากการให้กู้ยืมเงินแก่ประเทศที่มีปัญหาลำบาก โคมัตสุจึงจำต้องดึงบังเหียนยับยั้งการให้กู้ยืมต่างประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดการเก็งกันว่า คราวนี้แหละธนาคารสุมิโตโมจะต้องสูญเสียความได้เปรียบทางโพ้นทะเลของตนไปบ้างละ ซึ่งก็เป็นความจริง โดยในระยะ 6 เดือนแรกของปีการเงินที่สิ้นสุดลงเมื่อ 30 กันยายน 1984 ที่แล้วมา รายได้จากการดำเนินงานระหว่างประเทศของธนาคารได้ตกลงไปถึง 6% แต่โคมัตสุยึดมั่นอยู่กับภาระผูกพันของเขาที่มีอยู่กับธุรกิจโพ้นทะเลที่ไม่มีการให้กู้ยืมเงิน หากจะมีปัญหาขลุกขลักอะไรบ้างในการก้าวรุดหน้าออกไปสู่วงการระหว่างประเทศของธนาคารสุมิโตโมแล้วละก็ มันก็เป็นแต่เพียงปัญหาชั่วคราวเท่านั้น

ก็อย่างที่นักอุตสาหกรรมตะวันตกได้ประจักษ์ความจริงมาแล้วว่าคนเราอาจถังแตกได้ง่ายๆ หากประเมินราคาของญี่ปุ่นต่ำไป แล้วธนาคารสุมิโตโมนี้ก็มีลักษณะเหมือนคนผอมอดอยากที่เฝ้าคอยที่อยู่อย่างเอาใจใส่เป็นพิเศษ

ไม่ว่าจะพิจารณาจากด้านไหนๆ ก็ตาม ธนาคารสุมิโตโมนับเป็นธนาคารที่มีประสิทธิภาพมากของญี่ปุ่น ธนาคารนี้มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่ำมากที่สุดเมื่อเปรียบกับรายได้จากการดำเนินงาน มีจำนวนเงินให้กู้กับจำนวนเงินฝากคิดถัวเฉลี่ยต่อสาขามากที่สุด นอกจากธนาคารแห่งโตเกียวซึ่งเป็นกรณีพิเศษ และมีจำนวนเงินกำไรสุทธิและจำนวนเงินฝากคิดถึงเฉลี่ยต่อพนักงาน 1 คนมากที่สุด

เมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนประเภทต่างๆ ตามที่กล่าวนี้แล้ว ธนาคารสุมิโตโมยังล้ำหน้าธนาคารที่มีชื่อเสียงเด่นๆ ของฝ่ายตะวันตก ดังเช่น ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารแห่งอเมริกา และธนาคารเชสแมนฮัตตันเสียอีก ตัวอย่างเช่น ธนาคารสุมิโตโม มีเงินกำไรสุทธิถัวเฉลี่ยต่อพนักงาน 1 คนเป็นเงินถึง 24,526 ดอลลาร์ ซึ่งเมื่อมองดูแล้วเป็นที่ประทับใจยิ่งกว่าตัวเลขถัวเฉลี่ยของซิตี้แบงก์ที่มี 13,491 ดอลลาร์ ธนาคารแห่งอเมริกามี 4,267 ดอลลาร์ และธนาคารเชสแมนฮัตตันมี 11,552 ดอลลาร์

กำเนิดจากโอซากา

บุคคลภายนอกให้เหตุผลถึงความดีเด่นข้อนี้ว่า เนื่องมาจากประสิทธิภาพและความสามารถทำกำไรของธนาคารที่มีบทบาทในฐานะเป็นผู้นำของกลุ่มธุรกิจ (ไคเรตสุ) ที่ใหญ่ที่สุดในนครโอซากา อันเป็นภูมิภาคที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ในญี่ปุ่น เพื่อให้เป็นเมืองที่ใช้ไหวพริบในทางธุรกิจและปฏิบัติการทางพาณิชย์ที่อาศัยการคำนวณจากอดีตกลุ่มธุรกิจไซบัตสุ (กลุ่มธุรกิจประสบก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2)

กลุ่มสุมิโตโมได้รับการเชื่อถือว่า เป็นกลุ่มที่เหนียวแน่นมั่นคงมากที่สุด แนวโน้มดังกล่าวนี้ได้รับการเสริมกำลังขึ้นไปอีกในปี 1977 เมื่อธนาคารสุมิโตโมเล่นเอา “ธนาคารเป็นเดิมพัน” เพื่อช่วยให้บริษัทการค้าอาตากะรอดพ้นจากการล้มละลาย

ผลที่ติดตามมาจากคราวนั้นก็คือ อิโซดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารสุมิโตโมในครั้งนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานธนาคารในปัจจุบันนี้ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา แมคเคนซี แอนด์โก มาให้คำแนะนำแก่เขาว่า ควรจะปรับโครงสร้างของธนาคารใหม่ทั้งหมดอย่างไร?

ด้วยการทำตามคำแนะนำของบริษัทแมคเครซี อิโซดะ ได้เปลี่ยนแปลงงานของฝ่ายกำหนดแนวทางปฏิบัติงานในธนาคารสุมิโตโมเสียใหม่ โดยตั้งกลุ่มคณะเจ้าหน้าที่ตรวจการ 3 กลุ่มขึ้นมาแทนที่ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยรวม หน่วยในประเทศ และหน่วยต่างประเทศ โดยในแต่ละหน่วยนี้ยังมีหน่วยย่อยลงไปอีก แต่เป็นหน่วยที่มีอำนาจมากในการวางแผน และในการบริหารกลุ่มแต่ละกลุ่มดังกล่าวนี้ผู้อำนวยการจัดการอาวุโสเป็นหัวหน้ากลุ่ม ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มที่มีอำนาจดำเนินงานได้เองมากอยู่ทีเดียว

นอกจากนี้ก็ยังมีการให้กู้ยืมโดยไม่จำกัด และไม่มีคณะกรรมการเงินกู้ เป็นต้น คณะกรรมการทบทวนเงินกู้ทั่วทั้งธนาคารมีการประชุมกันเพียงปีละ 2 ครั้ง เพื่อรับฟังว่าได้มีการให้กู้ยืมเงินไปอย่างไรบ้าง

อิโซดะ คุยให้ฟังว่า “หัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ของเรามีอำนาจมากราวกับว่าเขาเป็นหัวหน้าของอีกธนาคารหนึ่ง” ครั้งแล้วธนาคารอื่นๆ ของญี่ปุ่นก็ได้เริ่มดำเนินการในแบบเดียวกันนี้ด้วยเหมือนกัน

การเร่งเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพของธนาคารสุมิโตโม พร้อมทั้งการปรับปรุงครั้งใหม่และท่าทีที่จะรุกคืบหน้านี้ เป็นผลจากการเตรียมการที่ได้ดำเนินมานานแล้ว ด้วยการดำเนินกิจการธนาคารโดยใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีศิลปะ

เมื่อปี 1967 ธนาคารสุมิโตโมเป็นธนาคารแรกของญี่ปุ่นที่สามารถติดต่อเกี่ยวกับบัญชีของลูกค้าได้โดยทางโทรศัพท์

ในปี 1969 สุมิโตโมก็เป็นธนาคารแรกอีกเหมือนกันที่ติดตั้งเครื่องสำหรับลูกค้าเบิกถอนเงิน (แบบที่เรียกกันว่า “บริการเงินด่วน”) และในปี 1974 ได้จัดตั้งระบบธนาคารอัตโนมัติขึ้นมา

ธนาคารสุมิโตโมได้ใช้จ่ายเงินถึง 33 ล้านดอลลาร์ เพื่อยกระดับระบบธนาคารให้สูงขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนสามารถทำให้สาขาในประเทศทั้งหมด 216 สาขา สามารถติดต่อบัญชีเงินฝากได้ทางสายพร้อมกับติดตั้งเครื่องฝากและถอนเงินสดอัตโนมัติให้ได้ทุกสาขา ด้วยเหตุนี้ในระยะ 5 ปีที่แล้วมา ธนาคารจึงสามารถตัดทอนพนักงานลงไปได้ถึง 10% อันเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้ธนาคารมีรายได้สุทธิต่อพนักงาน 1 คน เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัวในระยะเดียวกัน

ปัจจุบันนี้ธนาคารกำลังใช้จ่ายเงินอีก 208 ล้านดอลลาร์ เพื่อยกระดับของระบบดังกล่าวให้สูงยิ่งขึ้นไปอีกในปี 1987 ข้างหน้านี้

นอกจากการเตรียมทางด้านอื่นๆ แล้ว ความพร้อมอีกอย่างหนึ่งของธนาคารสุมิโตโมในการเร่งรัดเพื่อก้าวไปสู่กิจการระหว่างประเทศนั้น ก็ได้แก่ความเอาใจใส่ในเรื่องผลกำไร ทั้งนี้นับว่าเป็นของใหม่ในญี่ปุ่น เพราะว่าบริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นโดยทั่วไปนั้น เขาถือว่าการดำรงไว้และการปกป้องไว้ซึ่งงานของบริษัทนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของบริษัท และโดยแท้จริงแล้วการมุ่งเอาแต่กำไรนั้น กระเดียดไปในทางมีรสนิยมต่ำทราม และค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ อันเป็นแนวทางปฏิบัติในด้านการจัดการในระยะสั้นๆ ของตะวันตก

อย่างไรก็ดี ธนาคารสุมิโตโม มิได้มีความวิตกกังวลอะไรกับการแสวงหากำไรเท่าใดนัก เพราะเมื่อสิ้นปีการเงิน 31 มีนาคม 1984 ที่แล้วมา ธนาคารทำกำไรสุทธิได้ถึง 338 ล้านดอลลาร์จากรายได้รวมที่มีถึง 7.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นกำไรที่น้อยมาก (เพียง 4.7%) ตามมาตรฐานของฝ่ายตะวันตก แต่ก็ยังมากกว่าธนาคารฟูจิที่โตกว่า แต่มีกำไรเพียง 4.3% ของรายได้

อิโซดะ อธิบายว่า “เราย้ำเรื่องกำไร ก็เพราะเราต้องการเอามันมาเป็นทุนในการสร้างความเติบโตของเราในอนาคต ความอยากได้กำไรนี้ทำให้เราต้องกล้าเสี่ยง และรู้จักคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ”

ปิเตอร์ เจ.มอร์แกน ที่ปรึกษาผู้หนึ่งประจำบริษัท เค เค ข่าวสารธุรกิจระหว่างประเทศให้ข้อสังเกตว่า ความสามารถทำกำไรได้มาก จะช่วยให้ธนาคารสุมิโตโมง่ายขึ้น ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ฐานเงินทุนของตนในการเข้าไปสู่ตลาดเงินทุน

ธุรกิจที่กำลังทรุดตัว

ถ้าหากการขยายธุรกิจโพ้นทะเลอย่างรวดเร็วของตนจะเป็นการเสี่ยงแล้วละก็ ธนาคารสุมิโตโมก็มีทางเลือกได้น้อยมาก ทั้งนี้เพราะด้วยเหตุผลหลายประการ กล่าวคือ ธุรกิจภายในประเทศของสุมิโตโมกำลังขาดเสน่ห์ดึงดูดจากลูกค้า ความต้องการเงินกู้ของบริษัทญี่ปุ่นซึ่งโดยถัวเฉลี่ยแล้วเคยอยู่ในระดับสูงตลอดมานั้น ได้ตกต่ำลงในขณะที่ความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้เฉื่อยช้าลง และในขณะที่หลายบริษัทได้เริ่มเปลี่ยนสภาพจากการเป็นหนี้มาเป็นการถือหุ้น หรือเปลี่ยนจากผู้รับซื้อตั๋วแลกเงินราคาต่ำ ที่สามารถขึ้นเงินในตลาดยุโรปได้มาเป็นผู้ออกเงินส่วนใหญ่ให้เป็นทุนแก่ธนาคารตามที่ต้องการ

นอกจากนั้น ฐานเงินกองทุนของธนาคารต่างๆ ยังได้ถูกบีบให้แคบลง เนื่องจากรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายอนุมัติให้ดำเนินงานระบบออมทรัพย์โดยทางไปรษณีย์ และให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถแข่งขันหาเงินฝากได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนี้บริษัทหลักทรัพย์สามารถออกบัตรเงินฝาก และตราสารของตลาดการเงินในระยะสั้นๆ ได้และตั้งแต่ทศวรรษ 1960 มาแล้ว กระทรวงการคลังได้สั่งจำกัดให้ธนาคารต่างๆ แต่ละธนาคารเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นได้เพียงปีละ 1 สาขาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ มร.กรีฟสัน แกรนด์ จึงบอกว่าธนาคารซิตี้แบงก์ สาขาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่อันดับที่ 13 ของญี่ปุ่น จึงมีส่วนสัดของเงินกองทุนที่ใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งธนาคารมีอยู่ได้ลดลงเหลือเพียง 16.50% ในปี 1980 จากเดิมที่เคยมีอยู่ถึง 33.1% ในปี 1955

นอกจากนั้น ซิตี้แบงก์ สาขาญี่ปุ่น ยังถูกกดดันให้ต้องรับผลกำไรต่ำลง ด้วยการทำให้ต้นทุนในการให้กู้ยืมเงินต้องสูงขึ้น แต่ได้เปิดโอกาสใหม่ให้แสวงหาผลประโยชน์ในระยะยาวได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโครงการเพื่อค่อยๆ เปลี่ยนแปลงระเบียบการเดิมที่ดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง มาตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา และโครงการนี้ยังได้รวมไปถึงการกระตุ้นให้มีการแข่งขันในการหาเงินฝาก การปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยเป็นไปอย่างเสรี รวมทั้งการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่สถาบันการเงินต่างประเทศด้วย ตัวอย่างเช่น สัญญาความตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ที่กระทำกันเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เปิดทางให้ธนาคารต่างประเทศสามารถเข้าไปสู่ตลาดการลงทุนของญี่ปุ่นได้ อันเป็นธุรกิจที่เคยห้ามมิให้ธนาคารซิตี้แบงก์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่มาบัดนี้จำต้องเปิดให้แก่ธนาคารต่างประเทศในเร็วๆ นี้

แต่ในขณะเดียวกันโอกาสของธนาคารญี่ปุ่นในการกู้ยืมเงินในต่างประเทศ ก็กำลังลดน้อยลง ธนาคารญี่ปุ่นส่วนมาก รวมทั้งธนาคารสุมิโตโมด้วย ต่างพลาดท่าถูกไฟลวกมือไปตามๆ กัน เพราะให้กู้ยืมเงินเป็นจำนวนมากแก่ “ประเทศที่มีปัญหา” และได้ถอนตัวออกจากการให้กู้ยืมแบบหน้าใหญ่ใจโตเช่นนั้นแล้ว และค่าใช้จ่ายในการให้กู้ยืมเงินระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็กำลังลดลงโดยกระจายการให้กู้ยืมแก่โครงการต่างๆ ในต่างประเทศ

โคมัตสุกล่าวว่า “สิ่งที่เราเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือ ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินจะถูกบีบให้ได้กำไรน้อยลง ปัญหาจึงมีว่า เราจะแก้ไขสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร?” เขากล่าวว่า สำหรับธนาคารสุมิโตโมแล้ว เห็นว่ามีวิธีการที่พอจะทำได้อยู่ 2 วิธี คือ วิธีที่ 1 ให้เร่งเพิ่มพูนประสิทธิภาพเช่น การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าช่วยให้มากยิ่งขึ้น และอีกวิธีหนึ่งก็คือ พยายามแสวงหาพื้นที่ปฏิบัติการใหม่ๆ ให้กว้างขวางหลากหลายออกไป

พื้นที่ใหม่ๆ ที่ว่านี้ได้แก่ พื้นที่โพ้นทะเล และการทำธุรกิจที่ช่วยให้ “ได้ค่าธรรมเนียม” ความจริงวิธีการทั้ง 2 นี้ ก็เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน กิจการที่ช่วยให้ได้ค่าธรรมเนียมประกอบด้วยธุรกิจประเภทที่มิใช่เป็นการให้กู้ยืมเงินของธนาคาร เช่น การซื้อขายพันธบัตร และการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การออกเครดิตการ์ด การให้เช่าซื้อ หรือจัดขาย การค้ำประกันตราสารต่างๆ เป็นต้น แม้กระทรวงการคลังจะได้ออกกฎกระทรวงมาจำกัดบทบาทของธนาคารที่จะพึงแสดงได้ในธุรกิจแขนงต่างๆ เหล่านี้ก็ตาม แต่การค่อยๆ ยกเลิกกฎข้อบังคับดังกล่าวจะช่วยเปิดทางให้ทั้งแก่ธนาคารญี่ปุ่น และธนาคารต่างประเทศสามารถเข้าไปสู่กิจการเหล่านี้ได้ในหลายแขนง เพื่อใช้โอกาสใหม่เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ ธนาคารในเมืองทั้งหลายจะต้องเรียนรู้ธุรกิจใหม่ๆ และสถานที่ที่เหมาะที่สุดแก่การเรียนรู้เช่นนั้น ก็คือในดินแดนต่างประเทศ

โคมัตสุยอมรับว่า “เพื่อที่จะสามารถทำกำไรในแขนงงานใหม่ๆ ได้ เราก็ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นั้นด้วย นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราซื้อธนาคารกอตธาร์ด” ราว 50% จากผลกำไรของธนาคารนี้ ได้มาจากค่าธรรมเนียมต่างๆ

ธนาคารกอตธาร์ดมีความมั่นคงแข็งแรงเป็นพิเศษในกิจการทรัสต์ การจัดการทรัพย์สินและการค้ำประกันตราสารการเงินต่างๆ

อิชิยา กุมาไก ผู้อำนวยการจัดการอาวุโส ซึ่งรับผิดของกลุ่มกิจการธนาคาระหว่างประเทศของธนาคารสุมิโตโม กล่าวว่า “เราสามารถเรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ในกิจการเหล่านี้ได้ ถึงแม้ธนาคารนี้จะเป็นธนาคารเล็ก แต่เป็นธนาคารที่มีคุณภาพดีมาก มันจึงสามารถขยายกิจการออกไปอีกได้”

ผู้สังเกตการณ์โดยทั่วไปเห็นพ้องต้องกันว่า การซื้อธนาคารนี้เอาไว้นับว่าฉลาดมาก จากการที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ได้จงใจให้บริษัทของญี่ปุ่นหันไปออกหุ้นกู้โดยนำไปขายในตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์กันมากขึ้นในระยะหลังๆ นี้ ซึ่งนี่หมายความว่า ธนาคารในญี่ปุ่นกำลังสูญเสียธุรกิจของตนไป

นายธนาคารสหรัฐฯ ผู้หนึ่งซึ่งคอยสังเกตติดตามตลาดการเงินระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ผมคิดว่ามูลเหตุจูงใจอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ซื้อธนาคารกอตธาร์ดนั้น…ก็เพราะว่า มันจะช่วยให้เป็นการง่ายยิ่งขึ้นสำหรับธนาคารสุมิโตโมที่จะจัดการกับบริษัทญี่ปุ่นที่ไปออกตราสารการเงินในสวิตเซอร์แลนด์ การจัดการพันธบัตรเงินกู้และหุ้นกู้ เป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของธนาคารต่างๆ ในโลกนี้”

นายธนาคารในซูริก ผู้หนึ่งกล่าวเสริมว่า “สำหรับธนาคารสุมิโตโมแล้ว ธนาคารกอตธาร์ดนับว่าเป็นปลาตัวเล็กไป แต่ก็เป็นปลาที่น่าใจที่ควรจะตะครุบเอาไว้ในแนวทางธุรกิจของตน”

ธนาคารสุมิโตโมได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้จัดการ 5 คน ไปประจำอยู่ที่ธนาคารกอตธาร์ดเพื่อเรียนรู้ธุรกิจของธนาคารนี้ กุมาไก ได้บอกว่า 2 คนในจำนวนนี้เป็นผู้จัดการอาวุโส ได้แก่ มิคิโอะ อิชิซากิ ผู้อำนวยการคนหนึ่งของธนาคารสุมิโตโม ซึ่งจัดเป็นบุคคลอันดับ 2 ในการบริหารของธนาคารกอตธาร์ด ส่วนอีกคนหนึ่งได้แก่ อาคิโอะ อาสุเกะ ซึ่งเป็นกรรมการรองผู้จัดการฝ่ายบริหารคนหนึ่งในจำนวน 3 คน ที่ทำหน้าที่รองลงมาจากกรรมการผู้จัดการใหญ่ คนที่ 3 คือ ฟราซิสโก โบลกิอานี ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ธนาคารกอตธาร์ดจำเป็นที่จะต้องบริหารงานโดยคณะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตามเดิม ภายใต้เฟอร์นันโด การ์โซนี ประธานกรรมการโบลกิอานี กล่าวว่า “พวกเรายังคงทำธุรกิจกันตามปกติ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่โตนัก”

โบลกิอานี กับ กุมาไก อธิบายว่า เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นที่ธนาคารกอตธาร์ดนี้ ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่ติดต่อกับการดำเนินงานทั่วโลกของธนาคารสุมิโตโม โดยรายงานความรู้ที่พวกเขาได้รับมาจากธนาคารกอตธาร์ด แล้วนำงานจากสาขาต่างประเทศของธนาคารสุมิโตโม มาให้แก่ธนาคารกอตธาร์ดเป็นการแลกกัน

ธนาคารสุมิโตโม ไม่เพียงแต่ประกอบกิจการธนาคารกับธนาคารกอตธาร์ดเท่านั้น แต่ยังจะต้องช่วยให้ธนาคารกอตธาร์ดได้เติบโต และเร่งขยายงานด้านที่ช่วยให้ได้ค่าธรรมเนียมอีกด้วย กุมาไก บอกว่าธนาคารสุมิโตโมสาขาแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีอายุ 32 ปี ก็ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัสต์อยู่แล้ว และกำลังมองหาช่องทางเพื่อประกอบธุรกิจการจัดการให้เช่าซื้อ

ส่วนในยุโรป ธนาคารการค้าซึ่งตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ มีชื่อว่าบริษัทการเงินระหว่างประเทศ สุมิโตโมก็กำลังทำกิจการเกี่ยวกับการค้ำประกันตราสารการเงิน และการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในอัตราลอยตัว กุมาไกอธิบายว่าบริษัทการเงินระหว่างประเทศ สุมิโตโมนี้เดิมร่วมทุนดำเนินงานกับบริษัทไวน์เวลด์ ซึ่งบัดนี้ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทสุมิโตโมแล้ว บริษัทการเงินระหว่างประเทศสุมิโตโม จึงเป็นธนาคารการค้าที่มีธุรกิจคึกคักมาก ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของธนาคารญี่ปุ่น

กุมาไกกล่าวต่อไปว่า “เราคิดว่าเรามีความรู้พอตัวเกี่ยวกับการค้ำประกันตราสารการเงิน แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการจัดการทรัพย์สิน และกิจการทรัสต์” ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกอตธาร์ดจึงยังมีความสำคัญอยู่มาก สุมิโตโมต้องการจะหยุดพักสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะลงทุนครั้งสำคัญอีก แต่ดูเหมือนอยากจะทำในทางที่อยากจะได้กิจการแบบนั้นอีก เขากล่าวเสริมว่า “แม้แต่คนในประเทศของเราก็รู้ดีว่า เขาจะสามารถอำนวยบริการให้แก่ลูกค้าในประเทศซึ่งธุรกิจของเขากำลังสัมพันธ์กับต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ได้เป็นอย่างดีก็ต่อเมื่อเขามีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศ”

ดุลยภาพที่ดีขึ้น

เจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารสุมิโตโมยืนยันว่า เขาไม่ได้ละเลยต่อการให้กู้ยืมเงินแต่อย่างใด? ตัวอย่างเช่น ในปี 1983 ธนาคารเป็นผู้นำการจัดการในการให้หลายธนาคารร่วมกันออกเงินให้กู้ เป็นจำนวนเงินรวมถึง 18.2 ล้านดอลลาร์ ด้วยเหตุนี้ในการจัดอันดับของสมาพันธ์สมาคมการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารซึ่งเมื่อปี 1980 อยู่ในอันดับที่ 50 เพิ่งจะลดน้อยลงไปบ้างเมื่อเร็วๆ นี้

รายได้จากกิจการระหว่างประเทศของธนาคารสุมิโตโม ซึ่งในปีการเงิน 1983 มีจำนวนถึง 282 ล้านดอลลาร์ เป็นรายได้ที่ได้มาจากลูกค้าที่มิใช่เป็นคนญี่ปุ่น เพียงไม่ถึง 25% ก็เช่นเดียวกับธนาคารญี่ปุ่นอื่นๆ ทั้งหลาย ได้สร้างธุรกิจโพ้นทะลของตนขึ้นมาก็เพื่อทำบริการให้แก่ลูกค้าในประเทศของตน ที่ได้ขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศ แต่โคมัตสุต้องการจะให้มีดุลยภาพที่ดีกว่านั้น

ต่อคำถามที่ว่า ธนาคารสุมิโตโมจะสามารถสนองบริการอะไรให้แก่ลูกค้าโพ้นทะเล ที่เขาไม่สามารถได้รับจากที่อื่นได้บ้าง? โคมัตสุก็ยกตัวอย่างขึ้นมาตั้งหลายเรื่อง เป็นต้นว่า ธนาคารของเขาได้ให้เงินกู้แก่สาขาของบริษัทสหรัฐฯ ในอเมริกาใต้ ที่ได้ใช้วงเงินสินเชื่อจากธนาคารในประเทศของตนจนหมดสิ้นแล้ว ในสหรัฐอเมริกาโดยใช้วิธีวิเคราะห์สินเชื่อแบบจัดอันดับให้ได้ถึงขนาดดีเลิศ (สามเอ) ธนาคารสุมิโตโม จะให้วงเงินสินเชื่อสนับสนุนแก่บริษัทที่ออกตราสารการพาณิชย์ และให้เงินกู้แก่รัฐบาลแห่งรัฐ และเทศบาลท้องถิ่นต่างๆ ที่ต้องการกู้ยืมเงิน อย่างไรก็ดี ธนาคารสุมิโตโมไม่มีแผนการที่จะขยายงานธนาคารเพื่อการค้าปลีกในสหรัฐฯ เพราะจะต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันนี้ก็มีการแข่งขันในประเทศในด้านนี้อยู่แล้วอย่างรุนแรงจากธนาคารซิตี้แบงก์และธนาคารแห่งอเมริกา

โคมัตสุกล่าวว่า “การกระโดดข้ามรั้วขั้นต่อไปที่เราจะต้องกระทำก็คือ การเข้าไปช่วยพัฒนาธุรกิจขนาดกลางของบริษัทต่างประเทศ ภายในประเทศของเขาเอง” กุญแจสำคัญที่จะก้าวไปสู่ตลาดเช่นว่านั้นได้ ก็ได้แก่การระดมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นชั้นดีๆ เอาไว้ใช้งาน เขาให้ข้อสังเกตว่า ธนาคารสุมิโตโมแห่งแคลิฟอร์เนียกำลังทดลองตั้งหน่วยงานใหม่นี้ขึ้นมา โดยว่าจ้างเจ้าหน้าที่เงินกู้ในท้องถิ่นขึ้นมาพัฒนาธุรกิจประเภทนี้ รวมทั้งสาขาโพ้นทะเลอื่นๆ ที่ได้เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่แรกด้วย โดยมีคนญี่ปุ่นอยู่ที่ยอดสุด กุมาไก อธิบายว่า “เหตุผลสำคัญก็คือเรื่องภาษา การที่จะบริหารสาขาโพ้นทะเลให้ได้ดี ท่านจำเป็นจะต้องสื่อความหมายได้เป็นอย่างดีกับสำนักงานใหญ่”

การเอาใจใส่ต่อพนักงานของธนาคารเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับโคมัตสุทั้งในการดำเนินงานในประเทศและในต่างประเทศ เขากล่าวย้ำว่า ความลับในการที่จะแข่งขันอย่างประสบความสำเร็จกับธนาคารของสหรัฐฯ และของยุโรป ก็คือ การมีพนักงานที่มีคุณภาพสูงที่สำนักงานใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารสุมิโตโมจึงย้ำนักย้ำหนาที่การฝึกอบรม ซึ่งดูเหมือนจะมากยิ่งกว่าธนาคารญี่ปุ่นอื่นๆ พนักงานธนาคารทุกคนจะต้องเข้าฟังการบรรยายเรื่องต่างๆ และเข้าชั้นเรียนถัวเฉลี่ยแล้วทุก ปีครึ่ง และงานที่มีลักษณะพิเศษ เช่น งานเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ก็จะถูกส่งไปรับการอบรมจากงานในบริษัทหลักทรัพย์กันทีเดียว และเพื่อแลกเปลี่ยนกับธนาคารสุมิโตโมก็รับผู้เข้าฝึกอบรมจากบริษัทหลักทรัพย์ด้วย

ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่บริการชั้นหัวหน้า มักถือเอาการพูดปลอบใจลูกน้องเป็นคุณสมบัติสำคัญก็ตาม แต่ก็มีอยู่หลายคนที่เป็นคนพูดจริงทำจริงด้วยเหมือนกันในธนาคารสุมิโตโมก็มีแบบเดียวกันนี้ ตัวอย่างเช่น อิโซดะ ได้เล่าถึงความหลังเมื่อกว่า 25 ปีมาแล้ว ครั้งที่เขายังดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบุคลากรว่า ผู้ช่วยของเขาจำชื่อพนักงานผู้ชายของธนาคารได้ทุกคน จำได้จนกระทั่งปีที่เข้ามาทำงานในธนาคาร ตำแหน่งงาน และรายละเอียดอื่นๆ ทั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นความเอาใจใส่ในหน้าที่การงานอย่างดีมาก

ส่วนอีกด้านหนึ่ง ฮอตตา ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในครั้งนั้นได้ใช้ระบบที่รุนแรงในการให้รางวัล และในการทำโทษพนักงานของธนาคาร เช่น ถ้ามีผู้จัดการคนหนึ่งกระทำผิดพลาด เขาจะถูกลดตำแหน่งหรือไม่ก็ไม่ได้รับเลื่อนตำแหน่งอีกเลย

การเข้มงวดกวดขันแบบนี้ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้เห็นว่า สุมิโตโม เป็นธนาคารที่เคร่งครัดทำให้ผู้ปฏิบัติงานล้วนตกอยู่ในความหวาดกลัว เมื่ออิโซดะ ได้ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เขาจึงได้ยกเลิกระบบการลงโทษแบบรุนแรงนี้เสีย เนื่องจากเห็นว่า เป็นระบบที่ทำให้ผู้จัดการมีลักษณะกลายเป็นนักจารีตนิยมไป และทำให้เป็นห่วงกังวลอยู่กับการคอยป้องกันตัวเองมากเกินไป

ปัจจุบันนี้บรรดาผู้จัดการทั้งหลาย หลังจากได้ทำความผิดพลาดอย่างร้ายแรงมาแล้วจะได้รับโอกาสให้ทำการแก้ตัวได้อีกครั้งหนึ่ง อิโซดะ ยังคุยต่อไปว่ายิ่งกว่านั้น ชาวธนาคารสุมิโตโมจะได้รับเงินเดือนสูงขึ้น เมื่อเขาได้รับเลื่อนขั้นขึ้นไปถึงการจัดการในระดับชั้นกลาง ซึ่งมากกว่าเงินเดือนในตำแหน่งเดียวกันของธนาคารอื่นเสียอีก

กำเนิดของธนาคารสุมิโตโมที่เมืองโอซากา ย่อมช่วยอธิบายให้เห็นถึงความเข้มงวดกวดขันในการบริหารงานของฮอตตา ซึ่งดำเนินมาตั้ง 25 ปี ได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งสิ้นสุดลงในปี 1977 เมื่ออิโซดะ ได้รับเลือกขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แทน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลยุทธ์ระยะยาวของธนาคาร ทำให้จำเป็นที่จะต้องเข้มแข็งในการอยู่รอดในกรุงโตเกียว เช่นเดียวกับธนาคารอื่นๆ ในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นเหตุผลสำหรับธนาคารใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นทุกธนาคาร นอกจากธนาคาร ซันวะ

การที่ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากข้อจำกัดอันเข้มงวดกวดขันของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการขออนุญาตเปิดสาขาใหม่

ความมุ่งหมายประการหนึ่งของฮอตตา ก็คือ ต้องการให้ทุกคนทำงานหนักขึ้นเป็นพิเศษและความมุ่งหมายอีกประการหนึ่ง ก็เพื่อกระตุ้นธุรกิจโพ้นทะเลของธนาคารสุมิโตโม ซึ่งเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเพียงที่ 2 รองจากธนาคารแห่งโตเกียวที่เป็นธนาคารชำนาญพิเศษ ในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเท่านั้น

ฮิซาโอะ อาโอกิ ผู้อำนวยการจัดการอาวุโสของคณะเจ้าหน้าที่วางแผนกลุ่มที่ 1 เท้าความหลังว่า “ทางเลือกเพื่อความเติบโตของเราในตอนนั้นมีอยู่เพียงทางเดียวเท่านั้น คือ การขยายงานทางโพ้นทะเล” ในระยะ 10 ปีแรก หรือราวๆ นั้น ธนาคารสุมิโตโมมุ่งหน้าอยู่ที่การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการให้กู้ยืมเงินทางการค้าในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งก็เป็นทำนองเดียวกับธนาคารคู่แข่งอื่นๆ ของญี่ปุ่น แต่แล้วก็เปลี่ยนไปเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินระหว่างประเทศ โดยให้กู้ยืมเงินแก่สาขาบริษัทของญี่ปุ่นในต่างประเทศ ในไม่ช้าการกระทำเช่นนี้ก็กลายเป็นการเข้าทางประตูหลังบ้านเพื่อจะเอาชนะธุรกิจในท้องถิ่นนั้น และยังทำให้ธนาคารสุมิโตโมต้องคอยระมัดระวังอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ผิดระเบียบข้อบังคับรวมทั้งการทำให้เงินเยนกลายเป็นเงินตราระหว่างประเทศ อันเป็นการช่วยเปิดโอกาสให้แก่กิจการระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้นในระยะไม่กี่ปีที่ล่วงมานี้


หลักปรัชญาอันเดียวกัน

อาโอกิ กล่าวว่า ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ธนาคารสุมิโตโม เป็นธนาคารหนึ่งในจำนวนธนาคารใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นเพียงไม่กี่ธนาคารที่มิใช่เป็นผลจากการรวมตัวกับธนาคารอื่น ธนาคารนี้จึงสามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและความไม่สะดวกในการมีโครงสร้าง และปรัชญาการจัดการหลายอย่างที่ยังคงมีอยู่ในธนาคารคู่แข่งบางธนาคาร ดังเช่นธนาคาร ได-อิชิ กังโยะ เป็นต้น อาโอกิ คุยว่า “เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของเรา สามารถสั่งงานได้ราวกับว่าเป็นเจ้าของธนาคารเอง และโชคดีที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานของธนาคารของเราหลังสงครามล้วนเป็นคนที่มีความสามารถมากทั้งสิ้น”

เจ้าหน้าที่บริหารชั้นสูงของธนาคารสุมิโตโม ได้ยอมรับอยู่แล้วว่า ความเติบโตจากกิจการระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ธนาคารไม่เคยกระทำมาก่อน ความเติบโตของรายได้จากกิจการต่างประเทศในปีการเงิน 1983 ค่อนข้างต่ำมาก ทั้งนี้เนื่องจากการลดลงของธุรกิจการให้กู้ยืมเงินและรายได้จากค่าธรรมเนียมก็ยังต้องพัฒนากันอีกสักระยะหนึ่งก่อน รายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าคอมมิชชั่นของธนาคารแม่ในปี 1983 นั้น มีจำนวนเพียง 2.6% ของรายได้ทั้งหมด อาโอกิ เล่าต่อไปว่า “ในสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกอย่างในปัจจุบันนี้ ท่านไม่อาจหวังที่จะพัฒนากิจการระหว่างประเทศให้ได้เร็วๆ ดอก”

แล้วกุมาไก ก็เสริมว่า “ธนาคารที่ถือเงินเยนเป็นหลัก การหวังพึ่งกำไรจากธุรกิจระหว่างประเทศมากเกินไป จะเป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยมีเหตุผล” แต่อาโอกิ ยืนยันว่า ธนาคารได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวแล้วที่จะล้ำหน้าธนาคารในเมืองอื่นๆ ให้ได้ระหว่าง 5 ถึง 15 พันล้านเยน ในด้านรายได้ระหว่างประเทศต่อปี และจะทิ้งช่วงห่างให้ได้มากที่สุดที่จะทำได้

โชโซ ฮอตตา คงจะต้องดีใจเมื่อได้รู้ว่า วิญญาณอย่างเขาที่ “จะเอาอะไรก็ต้องเอาให้ได้” ยังคงมีชีวิตชีวา และดำรงอยู่ด้วยดีที่ธนาคารสุมิโตโม l

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us