เมื่อหนังสือพิมพ์ไนชนไกไซ ชิมบุน ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งสำหรับหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับธุรกิจเปิดเผยรายชื่อบริษัทของญี่ปุ่นที่เยี่ยมยอดที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคมปีกลายปรากฏว่า
อันดับที่หนึ่งและสองเป็นบริษัทที่ใช้นโยบายการบริหารงานแบบคล้ายๆ กับเผด็จการทหาร ซึ่งได้แก่บริษัทชื่อเกียวเซรา
ผู้ผลิตเซรามิกและบริษัทฟานุค ผู้ผลิตเครื่องมือและหุ่นยนต์ซึ่งควบคุมโดยตัวเลข
นายอิชิโร ไอโซดะ ประธานธนาคารซูมิโตโม ผู้กล่าวประโยคว่า “เนื่องจากโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เราต้องการผู้บริหารระดับสูงที่สามารถตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว”
การบริหารงานและตัดสินใจโดยคนคนเดียวเช่นนี้มักจะพบว่ามีอยู่ในกิจการของบริษัทใดๆ
ก็ตามที่เร่งรุดเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะขยายกิจการออกไปในต่างประเทศ
หลังจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายที่ปรึกษาการบริหารฝ่ายเลือกสรรผู้บริหารและผู้จัดการบริษัทใหญ่ๆ
หลายสิบคนโดยนิตยสารฟอร์จูน ซึ่งได้คัดเลือกนักบริหารชั้นเยี่ยมชาวญี่ปุ่นไว้ได้หลายคน
บางคนเป็นนักบริหารประเภทมือหนัก อ่อนโยนบ้าง ตีสีหน้าเก่งบ้างและบางคนก็โหดจริงๆ
ก็มี แต่ละคนถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่แท้จริงของนักบริหารชาวญี่ปุ่นที่ชาวโลกทั่วไปอยากจะรู้จักความเป็นมาว่าใหญ่โตได้อย่างไร?
อิชิโร อิโซดะ
BOSS OF BOSSES
เพียงหนึ่งวันให้หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผ่านไป นายอิชิโร อิโซดะ
ประธานกรรมการธนาคารซูมิโตโมได้ออกแถลงการณ์ผ่านหนังสือพิมพ์ในญี่ปุ่นถึงประธานาธิบดีโรนัลด์
เรแกน เรียกร้องให้เร่งมือจัดการเกี่ยวกับเรื่องการขาดดุลและการค้าในงบประมาณของสหรัฐฯ
เสียโดยเร็ว
ผู้บริหารระดับเดียวกันชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ แม้จะมีความคิดแบบเดียวกับนายอิโซดะแต่ก็ไม่กล้าที่จะทำเช่นเขา ด้วยเกรงว่าจะถูกหาความว่าเห็นแก่ได้
แต่นายอิโซดะไม่ได้คิดเช่นนั้นแม้แต่น้อย เพราะเป็นเวลานานมาแล้วที่เขาชอบจะเข้าไปแทรกแซงเรื่องราวของคนอื่นๆ
อย่างอาจหาญเช่นนี้บ่อยๆ
โดยเนื้อหาของธนาคารซูมิโตโมนั้นก็เป็นกิจการที่ยิ่งใหญ่หาใครเทียมยากของญี่ปุ่นอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางกิจการอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นชนิดอื่นๆ ด้วย
เช่น เอ็นอีซี คอร์ป. ซึ่งเป็นกิจการไฟฟ้าใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้ นายอิโซดะ
ยังเข้าไป “ล้างบาง” ผู้บริหารทั้งทีมของบริษัทอาซาชิ บริวเวอรี่
เมื่อปี 1982 และก่อนหน้านั้นยังเข้าไปนั่งแป้นเป็นผู้บริหารสูงสุดของโรงงานโตโยโกเกียว
ซึ่งนิสสันและโตโยต้าเจ้าของเก่าทอดทิ้งไป พร้อมกับไล่ผู้ก่อตั้งโรงงานดังกล่าว นายโกไฮ
มัตซูดะ ออกไป เขากล่าวว่า “จำเป็นจะต้องทำเพราะหากโตโยโกเกียวเลิกล้มกิจการไป
อุตสาหกรรมทั้งหมดของเมืองฮิโรชิมาจะพังตามไปด้วย” แล้วต่อจากนั้นไม่นานระหว่างอยู่ในสหรัฐฯ
ดิโซดะ จึงเจรจาขายกิจการโรงงานผลิตรถยนต์ดังกล่าวในอัตราหนึ่งในสี่แก่ฟอร์ดมอเตอร์ ในขณะนั่งอยู่หลังรถยนต์ตระเวนเยือนเมืองมิชิแกนอยู่
อิโซดะขึ้นมาเป็นประธานธนาคารซูมิโตโมเมื่อต้นปี 1977 ตอนนั้นกิจการไม่ค่อยจะรุ่งเรืองเท่าไร เพราะไม่มีการตัดสินใจที่ดี
เอาแต่รอมติยอมรับทั้งหมดอยู่ เจ้าตัวเล่าเกี่ยวกับช่วงเวลานั้นว่า “ไม่มีใครกล้าตัดสินใจ”
ครั้นพอฝ่ายให้กู้ซึ่งเป็นกลุ่มกรรมการ ไม่ใช่คนคนเดียวตัดสินใจปล่อยเงินกู้ก็มักจะตัดสินใจผิดให้กิจการที่ง่อนแง่นกู้เงินไปแล้วเก็บเงินคืนไม่ได้
ร้อนถึงอิโซดะ ต้องปรับปรุงการบริหารใหม่โดยแบ่งการบริหารเป็น 6 ฝ่าย ให้หัวหน้าของแต่ละฝ่ายมีอำนาจตัดสินใจและเขายังประกาศอีกว่าหัวหน้าฝ่ายที่ตัดสินใจผิดก็จะไม่เอาโทษ
ขออย่างเดียวอย่าเลี่ยงการตัดสินใจก็แล้วกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ผมไม่ตำหนิแผลที่เกิดที่หน้าผากหรอก
จะตำหนิก็แต่แผลข้างหลัง”
ดื่มให้ผมคนเดียว
ไกโซ ซาจิ
ประธานและประธานกรรมการ บริษัท ซันโตริ จำกัด
ได้ชื่อว่าทำตัวเป็นขุนนางหรือผู้ดีเก่ามากที่สุดคนหนึ่งในหมู่ผู้บริหารระดับสูงสุดชาวญี่ปุ่นด้วยกัน
เขียนหนังสือเกี่ยวกับไวน์ไว้แล้ว 2 เล่ม ก่อสร้างหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ดีที่สุดในญี่ปุ่นไว้
ชอบอาหารดีๆ กอล์ฟ ภาพเขียน และไปไหนมาไหนกับสาวสวยๆ และคราใดที่ท่านประธานซาจิส่งเสียงดังขึ้นมาครั้งใด ก็จะเป็นเพียงในระหว่างการเปล่งเสียงร้องเพลงโอเปร่าของโปรดกับวงกันไซฟิลฮาโมนิค
แห่งเมืองโอซากาเท่านั้น
นุ่มนวลและแสนจะเป็นผู้ดีอย่างนี้แต่ก็ไม่มีใครสักคนเดียวในโรงงานซันโตริจะกล้าแนะนำท่านประธานซาจิว่าควรจะทำอะไรดีสักคนเดียว
ขนาดขั้นตอนการซื้อไวน์จากสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งดำเนินมาจนหมดสิ้นแล้วซึ่งเป็นที่รับรู้กันทุกคน
รวมทั้งซาจิด้วย แต่พอถึงกำหนดวันลงนามในสัญญาซื้อ ตัวประธานซาจิไม่มาทำงานในวันนั้นพอดี ด้วย
สาเหตุใดก็ไม่ทราบ ทำให้สัญญาการซื้อไวน์ดังกล่าวต้องเลิกล้มไปเพราะไม่มีใครลงนามแทน
ประธานซันโตรินิยมจะเล่นงานพนักงานระดับบริหารของเขาด้วยคำถามว่าทำไม5ประการด้วยกันเสมอๆ
เขาอธิบายว่า “ยกตัวอย่างเช่น ในงานปาร์ตี้แห่งหนึ่งจะมีคนเสนอความเห็นอะไรขึ้นมาสักอย่างผมจะเริ่มซักไซ้ด้วยคำถามว่า
“ทำไม” เพราะผมต้องการจะรู้รายละเอียดมากกว่านั้น ครั้นเมื่อเขาอธิบายมาผมจะถามว่า
“ทำไม” กลับไปอีก ถามว่า “ทำไม” เช่นนี้อยู่ 5 ครั้งด้วยกัน
เรียกว่าซักกันจนถึงไขกระดูกทีเดียว”
บิดาของซาจิเป็นผู้ก่อตั้งโรงงานซันโตริขึ้นมาเพื่อผลิตเหล้าแก้กระหายของทหารอเมริกันในญี่ปุ่นยุคก่อน
จนกระทั่งปัจจุบันนี้ซันโตริมียอดขายปีละ 4 พันล้านดอลลาร์ ผลิตเหล้าต่างๆ
18 ชนิดออกสู่ตลาดโลก ไวน์อีกแปดสิบกว่าชนิดแล้วยังมียิน ตากิลา และเครื่องดื่มอื่นๆ
อีก เป็นกิจการที่ครอบครัวของนายซาจิเป็นเจ้าของทั้งหมด
ไกโซ ซาจิ ดำเนินกิจการผลิตน้ำเมาต่อจากบิดา เพราะตัวเองนั้นเป็นนักเคมีประเภทฝึกฝนตัวเอง ต้องการจะใช้การค้นคว้าทางการแพทย์เคมีกับเหล้าสกุลต่างๆ
ของซันโตริแพร่หลายออกไปด้วย ซ้ำยังมีความคิดประหลาดๆ ล้ำสมัยอื่นๆ อีกเช่น
ติดต่อกับนิตยสารนิวส์วีคเพื่อขอแปลเนื้อหาของนิตยสารฉบับนี้เป็นภาษาญี่ปุ่นเป็นจำนวนสัปดาห์ละ
250,000 เล่ม เพื่อขายให้แก่นักศึกษาและนักธุรกิจเพื่อนร่วมชาติ ที่เขาเชื่อว่าต้องการจะรับรู้เรื่องราวต่างๆ
ของสหรัฐฯ ให้ได้มากกว่าที่วงการหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นทำไว้ในปัจจุบัน
จากการทำสำรวจสอบถามพบว่านักศึกษาชายชาวญี่ปุ่นที่เรียนคณะศิลปศาสตร์ต้องการจะเข้ามาร่วมงานกับซันโตริเมื่อเรียนจบแล้วมากที่สุด
เป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าซันโตริประสบความสำเร็จด้านการตลาดและการบริหารมากมายแค่ไหนในทุกวันนี้
l
ตะสุบูชิ: สตาลินญี่ปุ่น
เมื่อครั้งที่ตกเป็นเชลยศึกของรัสเซียอยู่ที่แมนจูเรียในระยะปลายสงครามโลกครั้งที่ 2
อิซาโอะ ตะสุบูชิ ตั้งข้อสังเกตกับทหารรัสเซียที่ควบคุมพวกเขาว่าทุกคนล้วนแต่พูดถึงโจเซฟ
สตาลิน ผู้นำรัสเซียในยุคนั้น ด้วยความยกย่องชื่นชม ทั้งๆ ที่ในสายตาหรือความเห็นของพลโลกส่วนมากเห็นว่าสตาลินคือเผด็จการตัวร้ายที่สุด
ตะสุบูชิเล่าประสบการณ์ตอนนั้นว่า “พวกเขาพูดถึงสตาลินว่าไม่ได้เอาเปรียบทหารแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ซ้ำยังใช้ชีวิตง่ายๆ แบบปกติธรรมดา”
เรื่องราวของสตาลิน จอมเผด็จการ อาจจะเป็นจริงได้เพียงครึ่งเดียว สำคัญที่ว่าตัวของฮิซาโอะ
ตะสุบูชิ มองเห็นตัวเองว่าเป็นเช่นนั้นไปด้วย ในเมื่อตัวเขาและภรรยาชื่อ
ซูมิโกะ ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการอู่ต่อเรือชื่อ กูรุชิมา กิจการที่เมื่อปี
ค.ศ.1983 มีรายได้ 3.3 พันล้านดอลลาร์ เป็นอู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นทุกวันนี้
แม้จะเป็นเจ้าของกิจการใหญ่โตอย่างว่า แต่ครอบครัวตะสุบูชิกลับใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ
มีความสนิทสนมกับพนักงานบริษัทถึงขนาดที่ว่าแต่ละเดือนผู้จัดการสายจำนวน
300 คนจะเข้ามารายงานความเคลื่อนไหวกับเขาด้วยตัวเองและโดยตรง
นโยบายของตะสุบูชิคือ กว้านซื้อกิจการอู่ต่อเรือที่ประสบปัญหาและลงมือปรับปรุงกิจการนั้นๆ
ขึ้นมาใหม่ให้เจริญขึ้นไปแทน อย่างเช่นอู่ต่อเรือชื่อซาเซโบ ที่กำลังซวดเซจวนจะล้มละลายทั้งๆ
ที่แต่ก่อนเคยยิ่งใหญ่ขนาดสร้างเรือให้กองทัพญี่ปุ่น แต่ตะสุบูชิกลับตัดสินใจซื้อกิจการแห่งนี้มาในอัตรา 1ใน 4 ส่วนด้วยวงเงิน
5 ล้านดอลลาร์ แล้วลงมือปรับปรุงกิจการใหม่ เช่น การตัดเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ
ลงครึ่งหนึ่ง ย้ายคนงานที่ล้นออกไปอยู่โรงงานอื่นๆ ในเครือ อู่แห่งนี้จึงฟื้นคืนตัวขึ้นมา
มีคนเปรียบความสำเร็จของตะสุบูชิว่าเหมือนกับของนายลี ไอคอกกา แห่งบริษัท
ไครส์เลอร์ สหรัฐฯ ตรงที่สามารถกู้กิจการใหญ่ที่กำลังจะล้ม ให้ฟื้นตัวทำผลกำไรได้ในเวลาต่อมา
สำหรับอู่ดังกล่าวเมื่อปีกลายต่อเรือใหม่ออกมาได้ 19 ลำ มียอดขาย 455 ล้านดอลลาร์และกำไร
20 ล้านดอลลาร์ได้เป็นครั้งแรก
ฮิซาโอะ ตะสุบูชิ ยังเป็นผู้บรรยายวิชาการบริหารที่โด่งดังของประเทศในขณะนี้ด้วย
ถึงกับมีเทปคำบรรยายออกวางขายทั่วประเทศ เช่นเรื่อง “เคล็ดลับการพลิกฟื้นกิจการ”
หรือ “จะตักเตือนผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไรดี” เทปทั้งสองเรื่องขายดิบขายดีจนทุกวันนี้
l
ไฮฮา ไอซาโอะ นากาอูชิ: เจ้าสาขา
นายไอซาโอะ นากาอูชิ วัย 62 ปี ประธานฝ่ายบริหารบริษัทไดอิ ซึ่งจัดว่าเป็นกิจการที่สาขากว้างขวางใหญ่โตที่สุดของญี่ปุ่น
เป็นชายผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เพียงแต่ด้วยตัวเขาคนเดียวโดยปราศจากเพื่อนฝูงหรือคนที่รักใคร่เอาใจหรือเข้าใจการกระทำของเขา
นากาอูชิได้รับการเลี้ยงดูสั่งสอนให้พึ่งตนเองมาแต่เด็ก ไม่จำเป็นอย่างพึ่งคนอื่น ซึ่งเป็นการอบรมที่ค่อนข้างจะแปลกไปจากครอบครัวชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ
ไม่น้อย เขาเริ่มต้นไต่เต้าสู่วงการธุรกิจและความมั่นคง ด้วยการขายยาเพนนิซิลินในช่วงหลังสงครามโลกจบใหม่ๆ
ราคายาเพนนิซิลินของนากาอูชิที่ตั้งไว้สูงกว่าราคามาตรฐานสักหน่อย ซึ่งมีผลให้เพื่อนฝูงและญาติที่มาช่วยทำการขายถูกจับกุม แต่กลับไม่ทำให้นากาอูชิหวาดหวั่นแต่อย่างไร
กลับถือเป็นประสบการณ์และบทเรียนว่าหากจะทำการค้าก็ต้องเสี่ยงอยู่บ้าง
ต่อจากการขายยา นากาอูชิหันมาเปิดร้านขายของชำที่มีสาขาในระยะแรกเริ่มถึง
160 แห่ง สินค้าที่ขายในร้านล้วนมีคุณภาพดี แต่ราคาต่ำ จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งก็ไม่ได้หยุดแค่นั้นหันมาเปิดร้านขายเสื้อผ้ามาตรฐานสูงจากยุโรป แต่ราคาไม่แพง ชื่อร้านโอแพรงตองพ์ สาขาญี่ปุ่นขึ้น
ซึ่งใครๆ ที่เห็นต่างก็บอกว่าเป็นความคิดที่ดี
แต่นากาอูชิไม่ได้หยุดยั้งแค่นั้น กลับมีการเคลื่อนไหวขยายกิจการออกไปอีก และอย่างรวดเร็วชนิดไม่มีใครตามทัน
โดยไปเปิดร้านใหม่อีกแห่งหนึ่งที่ย่านกินซ่าอีก เพราะเห็นว่าคู่แข่งของกิจการไปเปิดร้านที่นี่ก่อน
การแข่งขันดังกล่าวทำให้บริษัทไดอิขาดทุนไป 51 ล้านดอลลาร์ จากยอดขายทั้งหมด
5.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าเป็นการขาดทุนปีที่สองติดต่อกัน และด้วยสาเหตุที่ว่ากู้เงินมาลงทุนมากเกินไปแต่นากาอูชิกลับไม่หวั่นวิตกแต่อย่างใด
เมื่อกล่าวว่า “เป็นการขาดทุนที่คาดไว้ล่วงหน้า ในอีกสิบปีข้างหน้าเราจะได้กำไร”
ซึ่งหลายคนฟังแล้วก็ไม่ค่อยจะเชื่อนัก แม้จะคุ้นเคยกับการตัดสินใจทุ่มลงทุนโดยรวดเร็วและดูเหมือนจะเสี่ยงกว่าปกติของไอซาโอะ
นากาอูชิ มาแล้วก็ตามที l
ผู้ยิ่งใหญ่ย่านกินซ่า: ไซจิ
ไซจิ ตะสุตะสุมิ วัย 57 ปี เป็นหนึ่งในผู้บริหารด้วยตัวเองที่มีรสนิยมด้านสุนทรียภาพอยู่มาก
เพราะโดยตัวเขาเองก็เป็นนักกลอนและศิลปินอยู่แล้ว ยังมีเพื่อนในแวดวงศิลปินอยู่อีกหลายคน
แต่อีกด้านหนึ่งเขาคือ พ่อค้าที่มีความสามารถ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของกิจการร้าน
และสาขาขายของปลีกไซบุกรุ้พ ซึ่งมียอดขายเมื่อปีกลาย 1.9 พันล้านดอลลาร์ และเป็นประธานร้านไซยุและสาขาซึ่งเลียนแบบกิจการแบบเดียวกันนี้ชื่อ
เซียร์ โรบัค ในสหรัฐฯ ร้านหลังนี้มียอดขายเมื่อปีกลาย 3.6 พันล้านดอลลาร์
เมื่อบิดาเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1964 ไซจิ ตะสุตะสุมิ ได้รับมรดกเป็นร้านสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่มีหนี้สินมากมายตั้งอยู่ใกล้ปลายทางรถไฟชื่อไอกิบูกูโร
เจ้าของใหม่เล่าถึงสมัยแรกๆ ที่เข้าไปครอบครองว่า “ทำเลไม่ดี มีแต่แก๊งคนเกเรเต็มไปหมดแถวนั้น
เราต้องเริ่มด้วยการไปขอร้องร้านส่งสินค้าให้ขายส่งแก่เราก่อนด้วยตัวเอง เขาถึงยอม”
แต่ไซจิมีเป้าหมายการขยายกิจการของเขาอยู่ในใจแล้ว นั่นคือ ในเมื่อขาดทุนและเป็นหนี้อยู่แล้วก็จะเพิ่มหนี้ให้มากขึ้นไปอีก พร้อมกันนี้จะขยายร้านสาขาออกไปอีกให้ทั่วกรุงโตเกียว ซึ่งปรากฏว่าทำสำเร็จได้ผลดี
โดยเฉพาะร้านแรกที่เมืองไอกีบูกูโรนั้นในเวลาต่อมาเขตชานเมืองของโตเกียวขยายมาถึงพอดี จึงขายสินค้าได้มากขึ้น
เป็นทั้งร้านสรรพสินค้าและจุดเริ่มต้นของการขนส่งและคมนาคมจุดใหม่ที่เติบโตขึ้นไปอีก จนทำให้ร้านไอกีบูกูโรได้ชื่อว่าเป็นร้านสรรพสินค้าที่ใหญ่ในโลกแห่งหนึ่งไป
สินค้าแต่ละปีที่ขายได้คิดเป็นเงินถึง 1 พันล้านดอลลาร์ทีเดียว
ไซจิ ตะสุตะสุมิ ขยับขยายกิจการของตนออกไปโดยใช้วิธีกว้านซื้อพนักงานที่เก่งกาจเข้ามาทำงานให้
ส่วนตัวเขาเข้าควบคุมรายละเอียดต่างๆ เอง แม้แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ปล่อยให้ผ่านตาไป เช่นแม้แต่การออกแบบเครื่องแบบพนักงานที่มอบหมายหน้าที่ให้ฝ่ายออกแบบไปแล้ว
ไซจิจะมาดูแลด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง และแม้จะมีพนักงานบางคนที่ทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ก็จะไม่ถูกไล่ออก หากจะให้พิจารณาจนรู้ข้อผิดพลาดของตนเอง พนักงานคนนั้นจะเกิดความอับอายลาออกไปเองในที่สุด
ร้านใหม่ที่ย่านกินซ่าที่ไซจิ ตะสุตะสุมิ สร้างขึ้นได้รับการยกย่องว่าสวย มีเสน่ห์
เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วไป แต่สำหรับตัวไซจิแล้วร้านแห่งนี้ไม่ได้อยู่ในความคิดของเขาอีกต่อไป
มันผ่านพ้นไปแล้ว ปัจจุบันเขายังหมกมุ่นอยู่กับความคิดริเริ่มใหม่ คือเครดิต
การ์ดสำหรับวงการธุรกิจ โครงการร่วมลงทุนทางการประกัน โทรทัศน์ตามสาย และอาจจะสูงขึ้นไปจนถึงเรื่องการก่อตั้งธนาคารใหม่ก็เป็นได้
l
เจ้าพ่อรถไฟ ! ตะสุตะสุมิ
สำหรับพนักงานระดับผู้จัดการ 500 คนของบริษัทไซบุการรถไฟ ภาระแรกสำหรับวันขึ้นปีใหม่ของพวกเขาคือ
มาร่วมชุมนุมกันก่อนเวลาตีห้าอย่างพร้อมเพรียง แล้วเดินแถวกันอย่างเป็นระเบียบไปที่สุสานของบิดาของเจ้านายเพื่อคารวะ
เจ้านายหรือประธานบริษัทชื่อ นายโยชิอิอากิ ตะสุตะสุมิ วัย 50 ปี ผู้ทำตัวเปรียบเหมือนเจ้าศักดินาในสมัยก่อนอยู่อีก
แต่ก็เป็นความจริงอยู่ในเมื่อเขาได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นรายหนึ่ง
ส่วนพนักงานระดับบริหารที่เข้าแถวเดินทางไปเคารพสุสานของบิดานั้นก็ไม่ได้รับการขอร้องหรือบังคับแต่อย่างใด
ซ้ำตัวตะสุตะสุมิเองก็ไม่ได้ไปแสดงความเคารพที่สุสานนี้มาแล้วสองหรือสามปี
ตะสุตะสุมิ ได้รับมรดกจากบิดาเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในกิจการจัดสรรที่ดินซึ่งหุ้นส่วนดังกล่าวมีอยู่ในบริษัทรถไฟไซบุเสีย
40% บริษัทรถไฟดังกล่าวมีกิจการเดินรถกว้างขวางหลายเส้นทาง สายหนึ่งเป็นเส้นทางเดินรถระหว่างชานเมืองโตเกียวกับเมืองชิชิบุ ซึ่งบนเส้นทางนี้นายตะสุตะสุมิได้ลงทุนลงแรงสร้างโรงแรม สนามกอล์ฟ
บ้านพักเล่นสกี หรือสกีรีสอร์ต และสนามเบสบอลไว้ ทั้งหมดนี้ทำรายได้ให้ถึง
1.4 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีกลาย
”ศักดินาตะสุตะสุมิ” ปฏิบัติต่อพนักงานที่ทำงานด้วยเหมือนกับตัวเขาเองเป็นเจ้าของที่ดินให้คนเหล่านั้นเช่า
ส่วนเขาเองก็วุ่นวายอยู่กับการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของพนักงาน จนไม่มีเวลาว่างสำหรับการให้สัมภาษณ์หรือถ่ายรูป
ตะสุตะสุมิเคยชี้แจงแก่ผู้ซักถามเกี่ยวกับฐานะของพนักงานระดับผู้จัดการในความดูแลของเขาว่า
“ผู้จัดการก็คือกรรมกรประเภทหนึ่ง ไม่ใช่เจ้าของ ดังนั้นเมื่อจะกินอาหารก็ต้องเข้าไปกินในโรงอาหารของบริษัท
ไม่ใช่ขึ้นไปนั่งกินในห้องอาหารที่จัดไว้เป็นพิเศษ นอกจากนี้ผู้จัดการเหล่านี้ยังคงจะต้องมีหน้าที่พิเศษด้วยการผลัดเปลี่ยนเวรกันไปทำหน้าที่เป็นยามดูแลสุสานบรรพบุรุษของเจ้าของบริษัทอีกด้วย”
ส่วนหน้าที่ของผู้บริหารสูงสุดเช่นนายตะสุตะสุมินั้นก็มีมากมาย บางครั้งเขาจะนั่งรถไฟเคียงข้างไปกับพนักงานขับเพื่อตรวจตราความสะอาดและอื่นๆ
ของสถานีรถไฟตามเส้นทางที่ขบวนรถผ่าน พร้อมกับให้เหตุผลว่า “หน้าที่ของผมคือ
การตำหนิ”
หน้าที่อีกประการหนึ่งที่ตะสุตะสุมิทำได้ดีเป็นพิเศษคือผู้ก่อตั้ง อย่างเช่น
เมื่อตอนที่เขาตัดสินใจขอซื้อโอนทีมเบสบอลระดับฝีมือปานกลางแห่งหนึ่งมาปลุกปั้นใหม่แล้วเปลี่ยนชื่อทีมมาเป็น
“ไซบุ ไลออน” พร้อมกันนี้ก็ยังสร้างสนามแข่งขันเบสบอลขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ทำการโหมทั้งโฆษณาทีมและควบคุมการฝึกซ้อมนักกีฬาอย่างเข้มแข็ง
อีกทั้งยังตั้งสถานีรถไฟขึ้นให้ใกล้กับสนามแข่งขันอีกแห่งหนึ่ง ในที่สุดทีมเบสบอลไซบุไลออนก็ชนะเลิศเป็นแชมเปี้ยนของญี่ปุ่นและรายได้จากสถานีรถไฟที่ตั้งขึ้นใหม่ก็งอกเงยตามไปด้วยอย่างน่าพอใจทั้งคู่
ในเชิงรายละเอียดเกี่ยวกับทีมเบสบอลนั้น โดยแท้จริงแล้วตะสุตะสุมิรู้ทุกสิ่งทุกอย่างหมด
ไม่ว่าจะเป็นการจัดเลขที่นั่งของเก้าอี้ในสนาม ตำแหน่งที่จะตั้งห้องส้วม รวมทั้งความประพฤติของนักกีฬาในทีม ซึ่งเขาเน้นแต่แรกว่า
ทุกคนจะต้องไม่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือปรากฏตัวในรายการโฆษณาทางโทรทัศน์ เป็นระเบียบวินัยที่แม้แต่ทีมเบสบอลในอเมริกาเมื่อมาเห็นจะต้องอายม้วน
l
ตายไปแล้วก็ยังต้องอยู่ที่ทำงาน
บริษัทห้างร้านทุกแห่งของญี่ปุ่นต้องการให้พนักงานทำงานเลยกำหนดเลิก แต่หากพนักงานคนนั้นหมดลมหายใจไป
ห้างร้านส่วนใหญ่จะไม่เก็บพนักงานคนนั้นไว้อีก ปล่อยให้กลับบ้านไปเสียจะดีกว่า
แต่ไม่ใช่วิธีการของกลุ่มเกียวเซราผู้ผลิตเครื่องเซรามิกระดับสูง เพราะที่นี่เมื่อพนักงานเสียชีวิตไปหลังจากการทำพิธีงานศพเรียบร้อยแล้ว
กระดูกหรืออัฐิบางส่วนจะให้ภรรยาผู้ตายนำกลับบ้านได้ แต่อีกส่วนหนึ่งจะเก็บรักษาไว้ในสุสานของบริษัทที่สามีเคยทำงาน
นายกาซูโอะ อินาโมริ ประธานกรรมการบริษัทเกียวเซรา วัย 52 ปี ชี้แจงเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“พวกเราใช้เวลาเกือบทั้งหมดในขณะที่มีชีวิตอยู่กับงานที่นี่ ดังนั้นเมื่อความตายมาเยือนก็ยังเป็นสิ่งที่ดีอยู่ที่จะใช้เวลาร่วมกันต่อไประหว่างคนที่ตายไปแล้วกับคนที่อยู่ เพื่อจิบสุรากันสักแก้วหรือสองแก้วบนสุสานแห่งนี้”
นายอินาโมริ คือบุคคลที่สมควรจะได้รับยกย่องสรรเสริญจากพนักงานบริษัททุกคนอย่างแท้จริงในระยะเวลา
25 ปีที่เขาก่อตั้งบริษัทแห่งนี้มา จนกระทั่งได้รับการยกย่องทั้งจากในและนอกประเทศเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันมีหุ้นส่วนจากต่างประเทศเป็นเจ้าของกิจการนี้อยู่ 10 เปอร์เซ็นต์และบริษัทเกียวเซราสามารถส่งผลิตภัณฑ์เซรามิกของตนซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของชิปในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ในอัตราร้อยละ
70 ของตลาดทั้งหมด นอกจากนี้บริษัทยังเป็นผู้สร้างชิ้นส่วนเซรามิกของรถยนต์ไปจนถึงกระดูกคนเทียมที่ทำด้วยเซรามิกอีกด้วย
มียอดขายเมื่อปีกลาย 1 พันล้านดอลลาร์ มีกำไรประมาณ 132 ล้านดอลลาร์
ผู้จัดการคนก่อนให้ทัศนะเกี่ยวกับความเป็นไปของเกียวเซราว่า “ไม่ใช่ดูเหมือนกับกองทัพ
แต่นี่คือกองทัพดีๆ นี่เอง” เพราะทุกวันพนักงานทุกคนจะเข้าแถวเรียงตามลำดับฐานะเพื่อรอฟังการอบรมและคำแนะนำจากผู้บังคับบัญชา
หากเดินผ่านกันก็จะต้องทำความเคารพและเมื่อครั้งที่อินาโมริและเพื่อนอีก 7 คนตกลงใจร่วมกันก่อตั้งกิจการนี้ขึ้นมา ได้มีการกรีดเลือดสาบานลงนามแสดงความซื่อสัตย์ต่อกันมาแล้ว
อินาโมริผู้มีความเชื่อว่าความสามารถของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด จึงย่อมเป็นที่เข้าใจกันต่อไปด้วยว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาทุกคนจะต้องได้รับการคาดหมายเช่นนี้ด้วย
ซึ่งย่อมจะหมายความไปถึงการทำงานที่หนักหน่วงแบบเดียวกับซูเปอร์แมน
แต่อินาโมริปฏิเสธที่จะยอมรับว่าเขาเรียกร้องมากเกินไป ประธานบริษัทผู้ดูเรียบร้อยและเงียบขรึมกล่าวว่า
“ผมเคยพูดกับผู้จัดการกิจการสาขาของเราในอเมริกาว่า ให้ยอมรับฟังพนักงานระดับรองๆ
ดูบ้าง แต่ผู้จัดการเหล่านั้นกลับตอบว่า ผมเป็นหัวหน้าเขานี่ครับ ผมก็ได้แต่บอกกับเขาอีกว่าไม่มีใครจะเก่งไปเสียทุกอย่างหรอก
ต้องฟังเสียงผู้น้อยดูบ้างและฟังอย่างอ่อนน้อมด้วย”
สำหรับผู้ที่เคยเห็นอินาโมริทำงานจะลงความเห็นว่า เขาไม่ใช่คนแบบเปิดเผยหรือควบคุมอารมณ์ได้เสมอไป
เพราะบางครั้งที่โกรธจัดอินาโมริถึงกับขว้างที่เขี่ยบุหรี่ทิ้ง และดูเหมือนจะไม่ยอมฟังเสียงพนักงานต่ำชั้นกว่าแต่อย่างใดทั้งสิ้น จนเป็นที่พูดกันอย่างกว้างขวางว่า
“คนที่ทำงานในบริษัทเกียวเซราไม่รู้จักโตหรอก อยู่กันมา 25 ปีแล้ว พวกเขารู้แต่เพียงว่าจะต้องทำงานหนักและฟังคำสั่งลูกเดียวเท่านั้น”
l
”สุมิโตโม”
ธนาคารชั้นนำของญี่ปุ่นกำลังมาแรง
จากการเลือกเอาข้อดีของกรรมการผู้จัดการคนก่อนๆ คอห์ โคมัตสุ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของธนาคารสุมิโตโม
กำลังเร่งรัดก้าวไปสู่การตลาดที่สามารถทำกำไรได้มากยิ่งขึ้น
ก็การเงินน่ะซี !
นี่คือตัวอะไรที่จะเกิดขึ้นต่อไป !
แต่ก่อนนี้คนญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นที่รู้จักกันในฐานะเป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรมผู้ผลิตสินค้า
แต่ในปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นกำลังก้าวขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการในระดับโลก เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของตนต้องตกอยู่ภายใต้การแข่งขันอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นของกลุ่มประเทศ
“ญี่ปุ่นใหม่” อย่างเช่นเกาหลีใต้และไต้หวัน
ดังนั้น เพื่อตอบโต้กับแรงกดดันใหม่ๆ โดยสอดคล้องกับโอกาสใหม่ๆ พร้อมกับได้รับความสนับสนุนส่งเสริมจากรัฐบาล
บรรดาธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นจึงได้เริ่มออกไปยังภาคพื้นโพ้นทะเลนอกประเทศญี่ปุ่น
เพื่อความเจริญเติบโตของตนเองในอนาคต เพราะญี่ปุ่นได้มีการค้าอยู่ต่างประเทศมากแล้ว
ฉะนั้นบรรดาสถาบันการเงินเหล่านี้จึงต้องการที่จะเป็นผู้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น
บนเวทีระหว่างประเทศในปัจจุบันนี้
และในบรรดาสถาบันการเงินดังกล่าวนั้น ก็ไม่มีสถาบันการเงินใดที่แกร่งกล้าและมีความพร้อมเป็นอย่างดี
สำหรับบทบาทก้าวใหม่นี้เท่ากับธนาคารสุมิโตโม !!
ถึงแม้ว่าสุมิโตโมจะเป็นธนาคารที่อยู่ในอันดับ 3 ในปริมาณเงินฝากรวม และรายได้รวมในบรรดาธนาคารทั้งหลายของญี่ปุ่นก็ตาม
แต่ธนาคารสุมิโตโมก็เป็นธนาคารที่ทำกำไรได้มากที่สุดมาเป็นเวลานาน และที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า
เป็นธนาคารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด กล้าได้กล้าเสีย และเป็นผู้มีความคิดใหม่ๆ
เก่งที่สุดของญี่ปุ่น
เกือบ 19% ของรายได้ทั้งหมดและ 25 % ของกำไรทั้งหมดของสุมิโตโม ได้มาจากการดำเนินกิจการต่างประเทศ
มากยิ่งกว่าธนาคารอื่นใดของญี่ปุ่น นอกจากธนาคารแห่งกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
ปัจจุบันนี้เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของธนาคารสุมิโตโมพูดถึงการทำกำไรจากกิจการในต่างประเทศให้ได้ถึง
40% และกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของธนาคาร คือ คอห์ โคมัตสุ ก็มิได้ปิดบังความปรารถนาของเขาแต่อย่างใด
ที่จะทำธนาคารสุมิโตโมให้เป็น “ธนาคารซิตี้แบงก์ของญี่ปุ่น” ให้จงได้
หลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในความมุ่งมั่นดังกล่าวนี้ ที่แสดงออกมาเมื่อเร็วๆ
นี้ ก็คือการที่ธนาคารสุมิโตโมได้ซื้อหุ้นในธนาคารกอตธาร์ดของสวิตเซอร์แลนด์
เป็นจำนวนถึง 53% ของหุ้นทั้งหมด จากบริษัทผู้ถือหุ้นบั๊งโค อัมโบรเซียโน
แห่งลักเซมเบิร์ก ที่ประสบปัญหายุ่งยากเป็นมูลค่าถึง 144 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนมีนาคม
1984 ที่ล่วงมานี้ ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่นายทุนผู้สนใจจากญี่ปุ่นได้ซื้อธนาคารของยุโรปไป
ซึ่งวงการธนาคารระหว่างประเทศถือว่าเป็นการรุกทางยุทธศาสตร์การธนาคารครั้งสำคัญ
รอเบิร์ต เบิร์กฮาร์ต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทดับเบิลยู ไอคาร์ ซันส์แอนด์โก
(โพ้นทะเล) ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า “จะเห็นได้ชัดทีเดียวว่า ธนาคารสุมิโตโม
… ซึ่งเป็นธนาคารที่จัดการดีที่สุดในญี่ปุ่น พร้อมทั้งมีพลังทางการเงิน
และกำลังรุกคืบหน้าในทางการประกอบการ เพื่อแข่งกับธนาคารขนาดใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ และของยุโรปในตลาดเงินทุนของโลก”
และในรายงานประจำเดือนตุลาคม 1984 ของบริษัทกรีฟซัน แกรนท์ แอนด์โก ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าค้าหุ้นแห่งกรุงลอนดอน
ได้กล่าวต่อไปว่า “เป็นที่แน่นอนว่า ธนาคารสุมิโตโมจะยังคงยืนเด่นอยู่ในหมู่สถาบันการเงินชั้นยอดเยี่ยมที่สุดของญี่ปุ่น
ซึ่งความจริงก็ของโลกด้วย”