นีลสัน เฮยส์ ห้องสมุดเล็กๆ ที่ถูกสร้างขึ้นจากความรักอันยิ่งใหญ่ ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางแมกไม้
อย่างเงียบสงบ ริมถนนสุริวงศ์ ที่พลุกพล่าน จอแจ มานานแสนนาน
อาคารห้องสมุด ซึ่งเป็นตึกชั้นเดียว หลังคารูปโดม สไตล์ยุโรป นั้น มีประวัติศาสตร์
และความเป็นมาที่น่าสนใจ เรื่องราวอันน่าประทับใจนั้นได้ถูกถ่ายทอดเล่าต่อกันมาว่า
เมื่อครั้งที่ดร.นีลสัน เฮยส์ ได้เดินทางมาในประเทศไทยในฐานะแพทย์ประจำกองทัพเรืออังกฤษ
ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ดร.เฮยส์ได้นำเอาภรรยาสาว
คือ นางเจนนี่ นีลสัน เฮยส์ มาด้วย
มิสซิส เฮยส์ คนนี้เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือนวนิยายเป็นชีวิต จิตใจ เมื่อมาอยู่ในเมืองไทยเธอก็พบว่า
หนังสือนวนิยาย หรือหนังสือ อื่นๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษหาอ่านได้ยากมาก จึงได้ร่วมกับเพื่อนๆ
จัดตั้งสมาคมห้องสมุดสุภาพสตรีกรุงเทพฯ (Bangkok Ladies Library Association)
ในปี พ.ศ.2412 หรือ ค.ศ.1869 ขึ้น ในช่วงแรกนั้นห้องสมุดจะเคลื่อนย้ายไปรอบๆ
เมือง เปิดบริการสัปดาห์ละ 2-3 วันและเธอเองก็ได้ทุ่มเทเวลาทั้งหมดในชีวิตให้กับการดูแลบริการกิจการห้องสมุดนี้อย่างเต็มที่
โดยมีสามีคอยให้การสนับสนุน และเป็นกำลังใจอยู่เบื้องหลัง
จนกระทั่งปี พ.ศ.2464 มิสซิสเฮยส์ ก็ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคร้าย ซึ่งสร้างความเศร้าโศกให้กับ
ดร.เฮยส์เป็นอย่างมาก และเพื่อเป็นการรำลึกถึงเธอชั่วนิรันดร์ เขาจึงได้สร้างห้องสมุด
นีลสัน เฮยส์ หลังใหม่ในเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ที่ยืนตระหง่านอยู่ริมถนนสุริวงศ์ไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความรัก
อาคารห้องสมุดนี้เป็นอาคารชั้นเดียว ใช้เทคนิคของการก่อสร้างฐานเป็นแบบเดียวกับ
พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นตึกเก่าที่หาดูได้ไม่ง่ายนักของเมืองไทย ถูกออกแบบโดยนายมาริโอ
ตามาน โย สถาปนิกชาวอิตาเลียน ที่เข้ามารับราชการในราชสำนักในสมัยรัชกาลที่
5 และฝากฝีไม้ลายมือไว้ในหลายอาคาร เช่น แบงก์สยามกัมมาจล ธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย
ในครั้งนั้น หนังสือพิมพ์ บางกอกไทม์ถึงกับลงข่าวโดยมีเนื้อความตอนหนึ่งระบุไว้ว่า
อาคารที่สวยเด่นเป็นสง่านี้เหมือนพระราชวังย่อส่วนลงมา การก่อสร้างเป็นโดม
หรือหลังคาทรงกลม ใช้เสาหินที่หล่อขึ้นมา เสริมสร้างลักษณะให้ดูเด่นและหรูหรามากขึ้น
ภายในอาคารยังมีห้องใต้โดมชื่อ "โรทันดา แกลลอรี่" ซึ่งใช้เป็นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียน
โดยมีทั้งศิลปินคนไทย และชาวต่างประเทศ เข้าร่วมแสดงผลงานทั้งปี
ดร.เฮยส์ ผู้นี้มีความสนิทสนมอย่างมากกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ถึงขนาดมีจดหมายโต้ตอบกันเป็นส่วนตัว
จดหมายเหล่านั้นได้นำมาเก็บไว้ที่ห้องสมุดแห่งนี้ และเมื่อวันเปิดตึกใหม่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชทานโต๊ะกึ่งตู้ไม้ คือ สามารถใช้ทั้งเขียนหนังสือ และเก็บหนังสือได้
โดยมีสัญลักษณ์ประจำพระองค์ และพระปรมาภิไธยย่อสลักไว้อยู่ที่ตัวโต๊ะดังกล่าว
เพื่อเป็นที่ระลึกด้วย
ทุกวันนี้ห้องสมุด นีลสัน เฮยส์ อยู่ในความดูแลของสมาคมชาวแม่บ้านต่างชาติ
มีหนังสืออยู่ทั้งหมดประมาณ 3 พันเล่ม ล้วนแล้วแต่เป็นภาษาอังกฤษ จะเป็นนิยาย
คลาสสิกประมาณครึ่งหนึ่ง และที่เหลือจะเป็นหนังสือเก่าหายากทางด้านประวัติศาสตร์
และชีวประวัติบุคคลสำคัญทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนังสือเกี่ยวกับเรื่องราชวงศ์ของไทย
ที่เขียนโดยชาวต่างชาติ หนังสือเกี่ยวกับแสตมป์ของไทย และยังมีมุมหนังสือการ์ตูนของเด็ก
วรรณกรรมเยาวชนต่างๆ ที่เป็นเล่มปกแข็ง ซึ่งหาซื้อได้ยากมากในปัจจุบัน
หนังสือของห้องสมุดแห่งนี้ ส่วนหนึ่งได้มาจากการบริจาคบางส่วน ก็คือ การจัดหาซื้อใหม่เป็นประจำทุกปี
เปิดให้บริการในวันอังคารถึงวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น.-16.00 น. วันอาทิตย์เปิดแค่บ่าย
2 โมง และจะหยุดทำการในวันจันทร์สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติประมาณ 70
เปอร์เซ็นต์
แม้วันเวลาจะผ่านล่วงเลยไปแสนนานแล้วก็ตาม แต่อนุสรณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่
ได้ถูกสานต่อเจตนารมณ์อย่างต่อเนื่องให้เป็นสถานที่ที่มีคุณประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง
ในการหาความรู้ และความเพลิดเพลิน สมดั่งที่มิสซิสเฮยส์ตั้งใจไว้แต่แรกเริ่ม
และคงต้องมีต่อไปจนตราบนานเท่านาน