Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤษภาคม 2553
ชีวิตหลากสีสัน...ที่บราซิล             
โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
 





สงกรานต์ปีนี้ ผู้เขียนพบว่าตนเองห่างไกลบ้านมาอยู่ในดินแดนแห่งเทศกาลคาร์นิวัล ระบำแซมบ้า และไคปิรินยา (เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผสมมะนาวสด)

ใช่แล้ว...ผู้เขียนอยู่ที่บราซิล

ทวีปอเมริกาใต้ซึ่งบราซิลตั้งอยู่และครองอันดับต้นๆ ทั้งในด้านพื้นที่ของประเทศ ประชากร และอำนาจทางเศรษฐกิจนั้น อยู่ห่างจากเมืองไทยไกลหลายพันกิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางมาถึงที่นี่ประมาณวันครึ่ง แต่นั่นเป็นเพราะผู้เขียนต้องการแวะสหรัฐอเมริกาเพื่อเยี่ยมเพื่อนด้วย หนทางจากไทยมาถึงบราซิลจึงต้องผ่านการแวะเมืองต่างๆ จนใช้เวลานานขนาดนั้น ซึ่งหากบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยังดูไบ ไปจบที่เซา เปาโลแห่งประเทศ บราซิล ก็จะย่นระยะทางได้อีกมาก

การเดินทางเข้าประเทศบราซิลไม่ใช่ เรื่องยาก เนื่องจากคนไทยไม่ต้องขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศบราซิล (นอกจากบราซิลแล้วทั้งชิลีและเปรูก็อนุญาตให้คนไทยเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องใช้วีซ่าได้) แต่ปัญหา คือการเดินทางภายในประเทศบราซิลนั้นต้องอาศัยเครื่องบินเท่านั้น เนื่องจากบราซิลไม่มีระบบรถไฟระหว่างจังหวัด จะมีก็แต่รถไฟใต้ดินตามเมืองใหญ่ๆ เช่น ริโอ เดอ จาเนโร หรือเซา เปาโลเท่านั้น ส่วนรถโดยสารประจำทาง หรือรถ บขส.ระหว่างจังหวัดนั้น ก็ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวบราซิลด้วยกัน เพราะถนน หนทางในต่างจังหวัดไม่ค่อยดี อีกอย่าง บราซิลเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ การเดินทางจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งใช้เวลาเป็นวันๆ ก็เป็นได้ คนส่วนใหญ่ที่มี ปัจจัยเพียงพอ จึงพึ่งพาสายการบินในการเดินทางไปยังเมืองต่างๆ เท่านั้น

แต่นั่นก็หมายความว่า ชนชั้นกลาง เท่านั้นที่จะสามารถเดินทางไปไกลๆ ได้ เพราะชาวบ้านที่ยากจนคงไม่มีเงินซื้อตั๋วเครื่องบิน

อาจจะไม่ได้เดินทางบ่อยครั้งนัก หรือหากเดินทาง อาจยอมนั่งรถ บขส. เป็นวันๆ เพื่อไปถึงจุดหมาย แม้ว่าบราซิลกับไทย จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา เหมือนกัน แต่ค่าครองชีพในประเทศบราซิลนั้นสูงกว่าไทยเป็น 2-3 เท่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาประเทศของบราซิลที่ก้าวไกลกว่าไทย เพราะบราซิลเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ก้าวหน้าคือ กลุ่ม BRICS (บราซิล (Brazil), รัสเซีย (Russia), อินเดีย (India) และจีน (China)) ซึ่งทั่วโลกต้องจับตามอง อย่างไรก็ตาม เมื่อระดับการพัฒนาของบราซิลไม่ได้ห่างไกลจากไทยมากนัก เห็นได้จากจำนวนคนจนและคนไร้บ้านที่นอนตามถนนมากมาย ระบบการคมนาคม ขนส่ง และสาธารณูปโภคที่ยังไม่พัฒนามากนัก รวมทั้งชุมชนสลัมน้อยใหญ่ที่ยังคงมีอยู่มากมายทั่วประเทศ ทำให้ค่าครองชีพของบราซิลไม่ควรที่จะสูงกว่าไทยถึงขนาดนั้น

เทียบราคาสินค้าง่ายๆ เช่น น้ำเปล่าขนาด 500 มล. มีราคาตั้งแต่ 21 บาท (ตามร้านค้าและโรงอาหารทั่วไป) ถึง 50 บาท (ราคาที่สนามบิน) แฮมเบอร์เกอร์ชุด บิ๊กแมคของร้านแมคโดนัลด์ ราคาชุดละกว่า 240 บาท (นิตยสาร The Economist ของอังกฤษ ได้พัฒนาแนวคิดการเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อในแต่ละประเทศ ด้วยการคำนวณจากราคาของชุดอาหารบิ๊กแมคของแมคโดนัลด์ในทุกประเทศทั่วโลก) ค่ารถแท็กซี่จากสนามบินกวา รูโลส์ (Guarulhols) ของกรุงเซา เปาโล ไปยังเขตชานเมืองของเซา เปาโล (ยังไม่ถึงใจกลางกรุงเซา เปาโลดี) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเต็ม และมีระยะทางพอๆ กับจากกลางใจเมืองกรุงเทพฯ ไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ มีราคาตกอยู่ที่ 1,800 บาท! (124 รีไอล์ (Reals) หรือประมาณ 62 ดอลลาร์สหรัฐ)

อาหารกลางวัน 1 จานถูกๆ ซึ่งเป็นอาหารแบบบุฟเฟต์ คิดราคาตามน้ำหนักของอาหารในจาน ราคาที่ถูกที่สุดในห้องอาหารชาวบ้านธรรมดาที่สุด ขนาดน้ำหนักประมาณ 400 กรัม (มีข้าว ถั่วเหลืองต้ม เนื้อสัตว์และผักบ้าง แล้วแต่ผู้รับประทาน จะเลือกใส่จาน) จะมีราคาตกอยู่ที่ประมาณ 70 กว่าบาทหรือ 5.5 รีไอล์ ซึ่งเป็นราคาที่ชาวบ้านและคนทำงานทั่วไป จ่ายเวลารับประทานอาหารกลางวัน เทียบกับข้าวแกงราดกับ 3 อย่างของบ้านเรา ที่อยู่ในสนน ราคาประมาณเพียง 40-45 บาทเท่านั้น

เพื่อนชาวบราซิลของผู้เขียนกล่าวว่า กรุงเซา เปาโลมีค่าครองชีพสูง น่าจะเทียบ เท่ากับระดับราคาในนครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา เพราะเซา เปาโลเป็นเมืองใหญ่และเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของบราซิล ชาวบราซิลจากทั่วประเทศมักจะเดินทางเข้ามายังเซา เปาโล เพื่อหางานทำ แต่ราคา ที่ผู้เขียนยกตัวอย่างข้างต้นนั้น เป็นราคาที่พบได้จากหลายเมือง ไม่เฉพาะเซา เปาโล เท่านั้น จึงน่าจะสรุปได้ว่า ค่าครองชีพของบราซิลน่าจะสูงกว่าไทยประมาณ 2-3 เท่า ใครจะมาเที่ยวควรเตรียมสำรองเงินในบัญชีไว้ให้ดี

ระบบสาธารณูปโภคเพื่อการเดินทาง ในประเทศบราซิล อาจจะพลิกโฉมหน้าภายในอีกไม่กี่ปีนี้ เนื่องจากบราซิลได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในเทศกาลกีฬาระดับโลก 2 เทศกาล คือกีฬาโอลิมปิกปี 2016 ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร และฟุตบอลโลกในปี 2014 ซึ่งบราซิลจะจัดการแข่งขันใน 12 เมืองหลวงของแต่ละรัฐทั่วประเทศ คือ Belo Horizonte, Brasilia, Cuiaba, Curitiba, Fortaleza, Manaus, Nata l, Porto Alegre, Recife, Rio de Janeiro, Salvador และ Sao Paulo

รัฐบาลบราซิลจึงมีแผนที่จะลงทุนทางด้านรถเมล์ รถไฟฟ้าใต้ดิน ถนน และการเดินทางโดยเครื่องบิน อีกทั้งรัฐบาลยังวางแผนที่จะลงทุนในโครงการรถไฟด่วนสายริโอ-เซา เปาโล ผ่านเมืองคัมปิน่า (Campina) กวารูโลส์ (Guarulhos-ที่ตั้งแห่งสนามบินของเซา เปาโล) ระยะทาง 322 ไมล์ มูลค่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยรถไฟด่วนนี้จะวิ่งด้วยความเร็ว 150 ไมล์ต่อชั่วโมง จะทำให้การเดินทางจากเซา เปาโลไปยังริโอนั้นใช้เวลาเพียง 90 นาทีเท่านั้น จากปัจจุบันที่การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางระหว่างริโอ-เซา เปาโล ใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงกว่า เป็นการเดินทางทางบกเพียงทางเดียว ระหว่างทั้งสองเมือง (บราซิลไม่มีบริการรถไฟเชื่อมระหว่างเมือง) ด้วยขนาดของประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล ทำให้แต่ละเมืองจากเหนือจรดใต้ของประเทศบราซิล มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเรื่องสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เชื้อชาติของผู้คนที่อาศัยในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งอุปนิสัยใจคอของผู้คนแต่ละเมืองด้วย

ในขณะที่เดือนเมษายนของเซา เปาโลและเมืองต่างๆ ทางตอนใต้ของประเทศ จะเป็นการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วง และมีอากาศหนาวเย็น ครึ้มฝนอยู่ตลอดเวลา อุณหภูมิอยู่ที่ราวๆ 20 องศา แต่ในแถบอะเมซอนทางตอนเหนือของประเทศ อากาศกลับอบอ้าว ร้อนชื้น เฉกเช่นเมืองไทยไม่ผิดเพี้ยน ทำให้อะเมซอนมีผลไม้หลากหลาย เป็นแหล่งกำเนิดผลไม้บางชนิด ที่ประเทศไทยก็มี เช่น เงาะ น้อยหน่า เสาวรส มะละกอ และมะม่วง แม้ว่ารสชาติ จะไม่หวานเท่าของไทยก็ตาม แต่อะเมซอน ยังคงมีผลไม้ประจำท้องถิ่นอีกมากมายหลายชนิดที่พวกเราไม่เคยเห็น เช่น คุปุอาซู (Cupuaçu) ผลไม้ลูกใหญ่เกือบเท่ามะพร้าว เปลือกสีน้ำตาล ซึ่งสามารถนำมา คั้นน้ำและทำน้ำผลไม้ปั่นได้ หรือการรับประทานผลที่สุกแล้วของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ แต่สิ่งที่แปลกคือน้ำผลไม้ของที่นี่ จะไม่มีการใส่น้ำตาลหรือน้ำเชื่อมลงไปด้วย ทำให้ได้รสชาติฝาด เฝื่อน บางครั้งถึงกับขมตามรสชาติของผลไม้จริงๆ อย่างไรก็ตาม ร้านค้าจะมีน้ำเชื่อมเตรียมให้ลูกค้าหยดลงไปในน้ำผลไม้ หากต้องการ

บราซิลได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็น Melting Pot หรือมีการอยู่ร่วมกันและผสมผสานในสายเลือดระหว่างชนชาติต่างๆ จนไม่สามารถแยกแยะได้ง่ายๆ ว่าใครเป็นชาวบราซิลบ้าง เพราะชาวบราซิลมีทั้งชนผิวขาว ผิวดำ เอเชีย ชาวเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งเลือดผสมต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่าง กันในแต่ละท้องถิ่น เช่น ผู้คนที่อาศัยอยู่ทางเขตอะเมซอนจะเป็นลูกครึ่งผสม ระหว่างชนพื้นเมืองชาวอะเมซอนกับชนผิวขาว ชนผิวดำ และชาวเอเชีย คือญี่ปุ่น ซึ่งชนผิวดำนั้นถูกเกณฑ์มาเป็นแรงงานทาส ทำงานในสวนยาง ส่วนชาวญี่ปุ่นก็อพยพมาตั้งรกรากในประเทศบราซิลตั้งแต่ปี 1908 เพื่อทำงานในไร่กาแฟ เมื่อเวลาผ่านไป จึงมีการผสมกลมกลืนระหว่างเชื้อชาติ

แต่ในทางตอนใต้ของประเทศ ผู้คน ส่วนมากสืบเชื้อสายมาจากชาวยุโรป เช่นชาวเยอรมัน มักเป็นเจ้าของฟาร์มวัวเนื้อ ชาวอิตาเลียน ชาวโปแลนด์ และฮังการี ที่มาตั้งชุมชนในเมืองคุริทิบา (Curitiba) ชาวโปรตุเกส ซึ่งเข้ามารุกรานและยึดครองประเทศบราซิลจากชนพื้นเมือง ตั้งแต่ปี 1500 หรือกว่า 500 ปีมาแล้ว รวมทั้งชาวญี่ปุ่น ที่อพยพมายังบราซิลตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 18 เพื่อทำงานในไร่กาแฟ จนภายหลังได้แยกย้ายไปตั้งรกรากกันตามเมืองต่างๆ แต่ยังคงมีชุมชนของชาวญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในเมืองเซา เปาโล

ส่วนคนผิวดำ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่เมืองซัลวาดอร์ (Salvador) ทางตะวันออก เฉียงเหนือของประเทศ ซัลวาดอร์เป็นเมืองท่าแห่งแรกที่ทาสผิวดำที่ถูกเกณฑ์แรงงานมาจากทวีปแอฟริกา ได้เหยียบแผ่นดินบราซิลเป็นครั้งแรกและตั้งรกรากมาตั้งแต่นั้น

ปัจจุบันซัลวาดอร์เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา และมีวัฒนธรรมของชนผิวดำที่ได้รับการสืบสานอย่างเข้มข้นอยู่ไม่จางหาย แม้จะได้รับอิทธิพลให้นับถือศาสนาคริสต์ตามชาวโปรตุเกส ที่เกณฑ์แรงงานตนมาจากแอฟริกา แต่ทาสผิวดำต่างก็พยายามรักษาขนบประเพณีและความเชื่อดั้งเดิมของตนไว้ รวมทั้งพิธีกรรมทางศาสนา "คานดอมเบลย์" (Candombl?) ของชาวบราซิลเชื้อสายแอฟริกันที่นับถือเทพเจ้าท้องถิ่นมากมายหลายองค์ ซึ่งเรียกรวมกัน ว่า Orishas โดยพิธีดังกล่าวจะมีการเชิญ เจ้าเข้าทรง ถวายภัตตาหาร รวมทั้งบูชายัญ สัตว์เล็กแก่เทพเจ้าด้วย

ในด้านอุปนิสัยใจคอของผู้คนในแต่ละพื้นที่ ก็ยังมีความแตกต่างกันไป เช่น ชาวเซา เปาโล หรือที่มักเรียกตนเองกันว่าชาวเพาลิสตาโนส (Paulistanos) มักมีภาพพจน์ของการเป็นคนเอาการเอางาน จริงจัง ทำงานตลอดเวลา และพักผ่อนด้วยการเดินชอปปิ้งตาม ห้างต่างๆ อันเป็นชีวิตของคนเมืองกรุงโดยแท้ เนื่องจากเซา เปาโล ไม่มีอาณาเขตติดกับทะเล การพักผ่อนทำได้แค่เพียงเดินห้างเล่นไปวันๆ เท่านั้น ผิดกับชาวคาริโอคัส (Cariocas) หรือผู้ที่อาศัยอยู่ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ที่มีทั้งเมืองอันงดงาม และหาดทรายยาว จึงสามารถเดินทางไปนั่งเล่นชายทะเลทุกเมื่อที่ต้องการได้ ชาวคาริโอคัสจึงได้รับภาพพจน์ของการเป็นคนสบายๆ ไม่เร่งรีบ หรือเคร่งเครียดกับเรื่องใดๆ ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ความแตกต่างระหว่างริโอกับเซา เปาโลนี้ ทำให้ทั้งสองเมืองเป็นคู่แข่งและเป็นไม้เบื่อไม้เมา กันตลอดเวลา

ส่วนเมืองซัลวาดอร์ ซึ่งเรียกว่าเป็นเมืองที่มีสีสันที่สุดเมืองหนึ่งในประเทศบราซิล ทั้งในด้านสีผิว และการใช้ชีวิตของผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกัน เนื่องจากซัลวาดอร์เป็นเมืองติดชายทะเลทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ อากาศจึงอบอุ่น ผู้คนใช้ชีวิตอย่างง่ายๆ และสนุกสนาน อาหารการกินมักเป็นอาหารทะเลที่ใช้กะทิเป็นส่วนประกอบ ตาม ลักษณะภูมิประเทศของเมืองที่อยู่ติดชาย ทะเล ภายในตัวเมืองผู้คนมักร้องรำทำเพลงกลางแจ้ง แสดงดนตรีร่วมกัน หรือฝึกซ้อม "คาโปเอร่า (Capoeira)" ซึ่งเป็นการออกกำลังกายของชาวบราซิลเชื้อสายแอฟริกันที่ผนวกการเต้นรำ ศิลปะการป้องกันตัว และการร้องรำทำเพลงเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ว่ากันว่าคาโปเอร่าเป็นศิลปะที่ทาสผิวดำจากแอฟริกานำติดตัวมายังบราซิลด้วย และเป็นวิธีต่อต้านและป้องกันตนจาก "นาย" ชาวผิวขาวอย่างลับๆ ที่ชอบรังแกเฆี่ยนตีทาสที่ไม่มีทางสู้ ปัจจุบัน คาโปเอร่ากลายเป็นรูปแบบของการออกกำลังกายอย่างหนึ่งที่ฟิตเนสต่างๆ ทั่วโลกได้นำไปประยุกต์ใช้สอนให้กับลูกค้าของตนอย่างแพร่หลาย

ในด้านกฎหมายแรงงาน บราซิลเป็นประเทศที่มีกฎหมายแรงงานที่เข้มข้นประเทศหนึ่ง บราซิลไม่มีสหภาพแรงงานแยกตามบริษัท แต่แรงงานทุกคนที่มีงานทำจะเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานตามภูมิลำเนาของสถานประกอบการที่ตนทำงานอยู่โดยอัตโนมัติ เงินเดือนที่ได้รับจะถูกหักค่าสมาชิกเพื่อนำเข้าสหภาพ แรงงานทุกเดือน ส่วนการคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานนั้น เพื่อนของผู้เขียนซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบุคลากรของบริษัทข้ามชาติ ยักษ์ใหญ่แห่งสหรัฐฯ และประจำอยู่ที่เซา เปาโล กล่าวว่าระดับความเข้มข้นของการคุ้มครองแรงงานขึ้นอยู่กับสหภาพแรงงานแต่ละแห่ง ว่าจะต่อสู้เพื่อสมาชิกสหภาพของตนมากน้อยเพียงใด บางสหภาพเข้มแข็ง ก็จะต่อสู้และเรียกร้องความคุ้มครองให้แก่สมาชิกอย่างเหนียวแน่น แต่บางสหภาพที่มีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น สมาชิกก็จะไม่ได้รับคุ้มครองเท่าที่ควร

กฎหมายแรง งานอีกฉบับหนึ่ง คือการให้สิทธิในการทำงานแก่ผู้พิการ โดยบังคับให้บริษัทและสถานประกอบการจะต้องรับผู้พิการเข้าทำงาน ในอัตราอย่างน้อยร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงานทั้งหมดของบริษัท กฎหมายดังกล่าวได้ออกมาเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้ว แต่รัฐบาลเพิ่งเริ่มเข้ามาตรวจสอบการบังคับใช้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่จำเป็นต้องปรับตัวและเริ่มจ้างผู้พิการเข้าทำงาน

ปัญหาในขณะนี้ก็คือ ผู้พิการที่ได้รับพิจารณาเข้าทำงานเป็นกลุ่มแรก คือผู้ที่ ไม่ได้พิการมาก่อนแต่ประสบอุบัติเหตุทำให้กลายเป็นคนพิการ ดังนั้นแรงงานกลุ่มดังกล่าวจึงมีทักษะในการทำงานสูง ต่างจากผู้ที่พิการมาแต่กำเนิด ทั้งที่เป็นผู้ที่พิการทางร่างกายและสมอง ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐไม่ได้จัดสวัสดิการเพิ่ม พูนทักษะในการเข้าสังคมและการประกอบ อาชีพให้แก่คนกลุ่มนี้ ทำให้แม้ว่าจะเริ่มมีกฎหมายจ้างงานผู้พิการรองรับ แต่ผู้ประกอบการกลับไม่สามารถจ้างแรงงานพิการเข้าทำงานได้ เนื่องจากความไม่พร้อมของแรงงานกลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวเป็นผลพวงของการต่อสู้เพื่อพื้นที่ทางสังคม โดยกลุ่มผู้พิการในบราซิล เพื่อให้มีโอกาสทัดเทียมกับประชาชนทั่วไปในสังคม

อาชญากรรมยังคงเป็นปัญหาสำคัญของบราซิล ภาพยนตร์เรื่อง City of God เมื่อปี 2002 ถ่ายทอดปัญหาความรุนแรงในชุมชนแออัดแห่งเมืองริโอ เดอ จาเนโร แต่ชาวคาริโอคัส หรือพลเมืองที่อาศัยอยู่ในเมืองริโอ กลับกล่าวว่านครเซา เปาโลก็มีปัญหาความรุนแรงไม่แตกต่างจากเมืองริโอมากนัก ชนชั้นกลางในกรุงเซา เปาโล ที่พอมีเงินเก็บ ซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง จะไม่ซื้อบ้านเดี่ยว แต่จะซื้ออพาร์ตเมนต์หรือห้องชุดในคอนโดมิเนียมแทน เพราะมียามรักษาการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง มีรั้วรอบขอบชิด การเข้าออกบริเวณอาคารจะต้องผ่านประตูเหล็กซึ่งติดตั้งกล้องวงจรปิด ไว้ และได้รับอนุญาตจากยามให้ผ่านได้ แขกผู้มาเยือนจะต้องถูกเจ้าของบ้านพาไปทำความรู้จักกับยาม เพื่อให้ยามเปิดประตู ให้ผ่านเข้ามายังภายในบริเวณตึกได้

แต่แม้จะมีการป้องกันอย่างเข้มงวดขนาดนี้ก็ยังมีมิจฉาชีพสามารถผ่านเข้ามายังอาคารและประทุษร้ายผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารที่พักอาศัยได้ เพื่อนของผู้เขียน เป็นหนึ่งในผู้อาศัยอยู่ในอาคารห้องชุด ซึ่งมีครอบครัวนักแข่งรถฟอร์มูล่าวันอาศัยอยู่ในอาคารเดียวกัน เล่าว่าเมื่อปีที่แล้ว มีกลุ่ม มิจฉาชีพลอบเข้ามายังบริเวณอาคารระหว่าง ที่ประตูเหล็กสู่ที่จอดรถของอาคารกำลังเปิดอยู่ พร้อมตรงขึ้นไปยังห้องชุดที่ครอบครัวนักแข่งรถอาศัย โดยหวังที่จะจับตัวสมาชิกของครอบครัวดังกล่าวเป็นตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ โชคดีที่ตำรวจมาทันและจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพได้

สำหรับบ้านเดี่ยวชานกรุงเซา เปาโลนั้น ปัจจุบันมีแต่ ผู้ประกาศขาย หรือหากยังมีผู้อาศัยอยู่ก็จะมีรั้วสูงกั้น พร้อมกับยามรักษาการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยามรักษาการณ์และตอบสนองความต้องการของ ผู้มีอันจะกินและไม่ต้องการอาศัยอยู่ในที่คับแคบแบบคอนโดมิเนียม จึงได้เกิดการก่อสร้างกลุ่มบ้านเดี่ยวขึ้น คล้ายๆ หมู่บ้านจัดสรรแต่มีบริเวณแคบกว่า เป็นการสร้างบ้านเดี่ยวหลายหลังภายในเนื้อที่เดียวกัน โดยแต่ละบ้านจะแชร์ประตูทางออกทางเข้า ยามรักษาการณ์ และสวัสดิการต่างๆ ร่วมกัน เปรียบเสมือนบ้านหลายหลังของเครือญาติ ที่สร้างภายในบริเวณเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ผู้ที่นิยมอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยว มากกว่าการอยู่ในอาคารสูงที่มีพื้นที่จำกัด

ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ แต่บราซิลได้กลายเป็นผู้นำทางด้านวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ที่อินเทรนด์ ทั้งทางด้านการเต้นรำ และเสียง เพลง รวมทั้งวัฒนธรรมของคนจนในบราซิล ที่ได้แปรเปลี่ยนเป็นแฟชั่นสุดฮิตของชนชั้น กลางในบราซิล รวมทั้งคนรุ่นใหม่ทั่วโลก เช่น รองเท้าฟองน้ำยี่ห้อ Havaianas ซึ่งได้รับการพัฒนามาจากรองเท้าฟางสานของญี่ปุ่น เมื่อปี 1962 แต่ใช้ยางทำแทนฟาง ซึ่งบริษัท Sao Paulo Alpargatas ผลิตขาย แต่มีแต่คนจนๆ เท่านั้นที่ซื้อใส่ รองเท้าฟองน้ำ Havaianas จึงได้ฉายาว่าเป็น "chinelos de pobre" หรือรองเท้าฟองน้ำของคนจน แต่ก็ขายดีจนมียอดขายประมาณวันละ 1 พันคู่ จนกระทั่งในปี 1994 ที่ชนชั้นกลางและผู้มีอันจะกินในบราซิลเริ่มให้ความสนใจกับสินค้าตัวนี้ ชาวบราซิลบางรายกล่าวว่าความโด่งดังของ รองเท้าฟองน้ำ Havaianas นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนักท่องเที่ยวที่เริ่มนิยมในตัวสินค้า รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงดีไซน์ให้มีสีสันสดใส จนในปี 2000 Havaianas เป็นที่นิยมในหมู่ดารา นักแสดง และชาวไฮโซในบราซิล ทางบริษัทได้ส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ จนทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังตราบจนทุกวันนี้ ประมาณกันว่า ยอดขายของรองเท้าฟองน้ำ Havaianas นั้นสูงถึง 160 ล้านคู่ต่อปีเลยทีเดียว สนนราคาในบราซิลตกคู่ละประมาณ 22-28 รีไอส์ หรือประมาณ 350-500 บาท

ความหลากหลายของบราซิลยังมีอีกมากมาย ซึ่งผู้เขียนจะทยอยนำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับต่อๆ ไป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us