วันที่ 25 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ประเทศไทยจะมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าเพิ่มอีก 1 แห่ง จากโรงไฟฟ้า "น้ำงึม 2" ถือเป็นการขับเคลื่อนบทบาท "แบตเตอรี่แห่งเอเชีย" ของ สปป.ลาวให้โดดเด่นยิ่งขึ้น
ตลอดเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชาวคณะเขื่อนน้ำงึม 2 ในสาธารณรัฐประชา ธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าเก่า
เพราะนอกจากต้องเร่งงานก่อสร้าง เพื่อให้ทันกำหนดปิดอุโมงค์เปลี่ยนทางน้ำ เพื่อสะสมน้ำไว้เหนือเขื่อน ซึ่งได้กำหนดวัน เอาไว้ชัดเจนแล้วในวันที่ 18 มีนาคม
พวกเขาเหล่านี้ต้องคอยต้อนรับแขก หลากหลายคณะที่เดินทางจากประเทศไทย เข้าไปเยี่ยมชมกิจการต่อเนื่องกัน ชนิดที่เรียกได้ว่าแทบจะตลอดทั้งเดือนเลยทีเดียว
ว่ากันว่า การเชื้อเชิญแขกเหรื่อจากหลายหน่วยงานไปเยี่ยมชมโครงการ "น้ำงึม 2" ตลอดเดือนมีนาคม เป็นหนึ่งในกระบวนการเตรียมความพร้อมสำหรับการนำโครงการนี้เข้าไปจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของบริษัท ช.การช่าง เจ้าของโครงการ ซึ่งเดิมเคยมีดำริจะนำเข้าไปจดทะเบียนตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แต่ต้องเจอกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก จนต้องเลื่อนกำหนดการจดทะเบียนมาเป็นปีนี้
"น้ำงึม 2" เป็นชื่อโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำ และโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ตั้งอยู่บนร่องน้ำงึม บ้านห้วยบ่อ แขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
แม่น้ำงึมเป็นแม่น้ำที่ไหลจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ สปป.ลาว ประมาณว่าต้นน้ำอยู่ในบริเวณแขวงเชียงขวาง ไหลลงมาทางทิศใต้จนมาถึงแขวงเวียงจันทน์
ก่อนหน้าที่จะมีเขื่อนและโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 บนสายน้ำงึมได้มีเขื่อนและโรงไฟฟ้าน้ำงึม 1 ซึ่งสร้างโดยญี่ปุ่น สร้างเสร็จ และเปิดดำเนินการมาแล้วกว่า 30 ปี
ลูกค้าหลักที่ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าน้ำงึม 1 คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.)
เป็นปฐมบทที่ทำให้ สปป.ลาวมองเห็นถึงจุดเด่นของที่ตั้งของประเทศ ซึ่งแม้จะมีจุดอ่อนตรงที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่ก็มีจุดแข็งตรงที่มีลำน้ำหลากสาย สามารถ สร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ได้หลายแห่ง สามารถป้อนพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไม่รู้จบ นำ เงินตราต่างประเทศเข้าประเทศได้อย่างมหาศาลในอนาคต
สปป.ลาวจึงนำจุดแข็งดังกล่าว มาวางตำแหน่งของประเทศว่าเป็น "แบตเตอรี่แห่งเอเชีย"
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าน้ำงึม 1 หมดอายุสัมปทาน ได้โอนกิจการและการดำเนินงานทั้งหมดมาอยู่กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite Du Lao: EDL) เรียบร้อยแล้ว
ส่วนเขื่อนและโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ตั้ง อยู่เหนือเขื่อนและโรงไฟฟ้าน้ำงึม 1 ขึ้นไป ทางต้นน้ำ ห่างกันประมาณ 35 กิโลเมตร
โครงการนี้ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (30,832 ล้านบาท) มีบริษัท ช.การช่าง (ลาว) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2549
ในโครงการประกอบด้วยเขื่อนหินทิ้งฉาบหน้าด้วยคอนกรีต สันเขื่อนมีความสูงเหนือระดับลำน้ำงึม 181 เมตร มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 381 เมตร ถือว่าเป็นเขื่อนที่มีความสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความกว้างของสันเขื่อน 9 เมตร ความยาว 485 เมตร ความกว้างของฐานเขื่อน 518 เมตร
นอกจากนี้ยังมีทางระบายน้ำล้น แบ่งเป็น 3 ช่องทาง แต่ละช่องทางมีความกว้าง 15 เมตร และสูง 17 เมตร
อุโมงค์ระบายน้ำ เพื่อนำน้ำเข้าไปปั่นกังหันเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แบ่งเป็น 2 ช่องทางรูปเกือกม้า แต่ละช่องทางมีความกว้าง 11.70 เมตร มีความยาว 1,100 เมตร และ 1,200 เมตร ตามลำดับ
นับเป็นอุโมงค์ระบายน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเซียตะวันออกเฉียงใต้อีกเช่นกัน
ส่วนอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสามารถกักเก็บน้ำได้เต็มที่ 4,486 ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่น้ำเต็มเขื่อน ระดับน้ำมีความสูง 375 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลครอบคลุมพื้นที่ 107 ตารางกิโลเมตร
ทางใต้เขื่อนมีโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ กำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 เครื่อง เครื่องละ 205 เมกะวัตต์ มีอัตราการผลิตไฟฟ้า 2,218 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี
ต่อจากโรงผลิตไฟฟ้าได้มีการเดินสายส่งไฟฟ้าขนาด 230-500 กิโลวัตต์ มาจนถึงสถานีย่อยบ้านนาบง ซึ่งอยู่ห่างจากโรงผลิตไฟฟ้า 80 กิโลเมตร ต่อจากนั้นได้เดินสายมาอีก 27 กิโลเมตร ถึงจุดส่งมอบริมแม่น้ำโขง และโยงสายส่งไฟฟ้าข้ามแม่น้ำ โขงเข้ามายังประเทศไทย บริเวณหมู่บ้านจอมแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
การวางระบบสายส่งจากโรงผลิตไฟฟ้ามาถึงบ้านจอมแจ้งระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร ดำเนินการโดยบริษัทศรีอู่ทองจากประเทศไทย โดย กฟผ.ได้วางระบบสายส่งภายในประเทศไทย เพื่อรับไฟจากจุดส่งมอบ ส่งต่อไปถึงสถานีไฟฟ้าย่อยที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบ
ปัจจุบันการวางระบบสายส่งจากโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 มาจนถึงสถานีไฟฟ้าย่อย ที่จังหวัดอุดรธานี ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย ไปแล้ว
ส่วนการก่อสร้างเขื่อนและโรงผลิตไฟฟ้า ณ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้แล้วเสร็จไปแล้วมากกว่า 90% โดยในวันที่ 18 มีนาคม สมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีผู้ประจำการรัฐบาล เป็นประธานในพิธีปิดอุโมงค์เปลี่ยนทางน้ำ เพื่อเริ่มการกักเก็บน้ำบริเวณเหนือเขื่อน
ตามกำหนดการเดิมในสัญญา เขื่อน จะกักเก็บน้ำจนได้ปริมาณเพียงพอที่จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ในเดือนมีนาคม 2554 แต่เนื่องจากการก่อสร้างมีความคืบหน้าเร็วกว่ากำหนด ทำให้บริษัท ช.การช่าง ได้กำหนดวันที่จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าใหม่ โดยร่นเข้ามาเป็นวันที่ 25 ธันวาคมปีนี้ ซึ่งจะเป็นวันแรกของการเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้า
หากทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด หลังเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ในวันที่ 25 ธันวาคม บริษัทราช-ลาว เซอร์วิส บริษัทลูกของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จะเข้ามารับช่วงเป็นผู้ดำเนินการต่อทั้งในส่วนของโรงผลิตไฟฟ้าและเขื่อน โดยมีอายุสัมปทาน 27 ปี
กฟผ.เป็นลูกค้าหลักของโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 โดยมีพิธีเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.กับบริษัทเซาท์อีสเอเชีย เอน เนอจี (SEAN) ผู้ดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2549 ที่โรงแรมดอนจันทน์ พาเลส นครหลวงเวียงจันทน์
โครงการ "น้ำงึม 2" ก่อสร้างและดำเนินการโดยผู้ประกอบการคนไทย ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินของไทย ที่สำคัญผู้ประกอบการแต่ละรายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ล้วนกำลังมีบทบาท สำคัญทางด้านการลงทุนอยู่ในประเทศ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)
บริษัทไฟฟ้าน้ำงึม 2 เป็นบริษัทที่ถูกจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมาใน สปป.ลาวเพื่อรับช่วงเป็นเจ้าของสัมปทาน บริษัทแห่งนี้มีผู้ถือหุ้นหลัก 2 ราย ได้แก่ SEAN ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ถือหุ้น 75% ส่วนหุ้นที่เหลืออีก 25% ถือโดย EDL
เงินลงทุนที่รัฐบาล สปป.ลาวนำมาให้ EDL เพื่อเข้ามาซื้อหุ้นในสัดส่วน 25% ดังกล่าว เป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่ได้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ในวงเงิน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ SEAN มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 6,606.75 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นประกอบด้วยบริษัท ช.การช่าง 38% บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง 33.3% บริษัททางด่วน กรุงเทพ 16.7% P.T.Construction & Irrigation 5.3% Shalapak Development 5.3% Team Consulting Engineering and Management 1.3%
ธนาคารพาณิชย์ไทย 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธหารไทย และธนาคารนครหลวงไทย เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับ SEAN ในการก่อสร้างเขื่อน และโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2
นอกจากเขื่อนและโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 แล้ว บริษัท ช.การช่าง ยังได้รับสัมปทานในการทำเขื่อนและโรงไฟฟ้าไชยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นลำน้ำโขงในแขวงไชยะบุรี สปป.ลาว มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านดอลลาร์
โรงผลิตไฟฟ้าของโครงการไชยะบุรี มีกำลังการผลิตสูงถึง 1,200 เมกะวัตต์ ถือเป็นโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดใน สปป.ลาว
ช.การช่างได้เซ็นสัญญาเพื่อพัฒนาโครงการนี้กับรัฐบาล สปป.ลาวมาตั้งแต่ปี 2551 และเพิ่งจะเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ไปเมื่อไม่นานมานี้ คาดว่าการก่อสร้างกำลังจะเริ่มขึ้น โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 6 ปี
นอกจากเขื่อนไชยะบุรีแล้ว ช.การช่างยังได้เข้าไปรับสัมปทานโครงการเขื่อนและโรงไฟฟ้าน้ำบาก 1 และ 2 ในแขวงเวียงจันทน์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเขื่อน น้ำงึม 2 เป็นโครงการเขื่อนและโรงไฟฟ้าขนาดไม่ใหญ่มากประมาณ 300 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท
ส่วนบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง นอกจากการเข้ามาถือหุ้นในโครงการน้ำงึม 2 ร่วมกับ ช.การช่าง และเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งนี้แล้ว บริษัทยังมีโครงการลงทุนใน สปป.ลาวอีกหลายโครงการ อาทิ การร่วมทุนกับบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ ในโครงการ "น้ำงึม 3" ซึ่งอยู่เหนือโครงการน้ำงึม 2 ขึ้นไปทางแขวงเชียงขวาง
นอกจากนั้น บริษัทยังได้ร่วมทุนกับบริษัทบ้านปู ในโครงการโรงไฟฟ้าจากถ่านหินในนาม "หงสาเพาเวอร์" ที่เมืองหงสา แขวงไชยะบุรี มีกำลังการผลิต 1,880 เมกะวัตต์ ถือเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดใน สปป.ลาว
รวมถึงการร่วมกับบ้านปูในบริษัทภูไฟ ไมนิ่ง ซึ่งรับสัมปทานเหมืองถ่านหินลิกไนต์ เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงงาน ผลิตไฟฟ้าหงสา
ขณะที่ที่บริษัทเอ็มดีเอ็กซ์เองนั้น นอกจากโครงการน้ำงึม 3 แล้วยังได้รับสัมปทานจาก สปป.ลาวในโครงการเขื่อนและโรงงานผลิตไฟฟ้าเทิน-หินบุน และเป็นผู้ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลสหภาพเมียน มาร์ ในการก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำสาละวิน เพื่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ด้าน EXIM ก็ได้วางตำแหน่งขององค์กรไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าจะเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะในประเทศ ในกลุ่ม GMS
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 วงเงินลงทุนใน GMS ที่ EXIM เป็นผู้ให้การสนับสนุน ประกอบด้วยใน สปป.ลาว 9,021.93 ล้านบาท สหภาพเมียนมาร์ 4,392.09 ล้านบาท กัมพูชา 3,149.38 ล้าน บาท และเวียดนาม 425.08 ล้านบาท
ขณะที่ประเทศไทย รัฐบาล โดยกระทรวงพลังงาน ได้กำหนดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะใน สปป.ลาวจำนวน 7,000 เมกะวัตต์ โดยที่ สปป.ลาวได้วางตำแหน่งของประเทศให้เป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย มีโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศ เพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านมากถึง 144 เขื่อน
นอกจากโครงการน้ำงึม 1 ที่จ่ายไฟให้กับประเทศไทยมาแล้วกว่า 30 ปีกับน้ำงึม 2 ที่กำลังจะเริ่มจ่ายไฟให้กับไทยในปลายปีนี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 กำลังการผลิต 1,088 เมกะวัตต์ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทอิตาเลียน ไทยดีเวลอปเม้นท์ ร่วมทุนกับการไฟฟ้าของประเทศฝรั่งเศส ได้เริ่มจ่ายไฟให้กับประเทศไทยแล้ว หลังจากล่าช้ากว่ากำหนดเดิมไปประมาณ 3 เดือน เนื่องจากพบปัญหาทางเทคนิค
|