|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคม 2552 หอการค้าจังหวัดตาก ร่วมกับชมรมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมุกดาหาร จัดคณะสำรวจเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) จาก อ.แม่สอด-มุกดาหาร-สะหวันนะเขต (สปป.ลาว)-เมืองวินห์/ฮานอย (เวียดนาม) สิ้นสุดที่เมืองหนานหนิง เมืองเอกของมณฑลกว่างสีของจีน
การเดินทางของคณะหอการค้าจังหวัดตากเริ่มต้นจากสุดชายแดนประจิมที่ริมเมย มุ่งหน้าไปตามทางหลวงพิเศษหมายเลข 12 ผ่านสุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ระยะทางรวม 780 กม.
ก่อนเข้าร่วมกับคณะของชมรมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมุกดาหาร นำโดยอาชว์ ตั้งประกิจ ประธานชมรมฯ หนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวภาคอีสาน ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 ผ่านด่านมุกดาหาร-สะหวันนะเขต ผ่านเส้นทางหมายเลข 9 เข้าสู่เส้นทางหมายเลข 8 ที่ทางแยกหลักซาวผ่านภูแสนหน่อ-ภูเจื่องเซิน-ภูผาม่าน ที่เปรียบเหมือนม่านกั้นระหว่าง สปป.ลาว กับเวียดนาม ก่อนที่จะมุ่งเข้าสู่ด่านชายแดนน้ำพาว (สปป.ลาว)-เก่าแจว (เวียดนาม) จังหวัดฮาติงห์
พ้นพรมแดน สปป.ลาว ระหว่างที่รอทำพิธีตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านเก่าแจว คนที่เดินทางผ่านไป-มาระหว่างลาว-เวียดนาม ด้านนี้จะสัมผัสได้ทันทีถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง จากที่ค่อนข้างร้อนระอุในลาว กลับเย็นยะเยือกทันที พร้อมกับภาพที่พบเห็นได้เป็นประจำ คือรถบรรทุกสุนัขหลากสี-หลายพันธุ์ นำเข้าจากภาคอีสานของไทย มีจุดหมายปลายทางที่เวียดนาม และจีน
ก่อนมุ่งหน้าไปตามเส้นทางสายประวัติศาสตร์สงครามเวียดนาม บรรจบทางหลวงหมายเลข 1 ของเวียดนาม เข้าสู่เมืองวินห์ บ้านเกิดของโฮจิมินห์ หรือ "ลุงโฮ" ด้วยระยะทางประมาณ 110 กม.
Dang Ngoc Ninh อดีตผู้สื่อข่าวเสียงเวียดนามวัย 68 ปี ผู้ที่เติบโตในเมืองไทย จนได้ชื่อ "นิล ศรีสมบูรณ์" ก่อนย้ายกลับเวียดนาม ผันตัวเองมาเป็นไกด์ภาษากัมพูชา-ไทย ในเวียดนาม คอยทำหน้าที่บอกเล่าวิถีของเวียดนาม แผ่นดินที่เคยอยู่ใต้การปกครองของจีนมา 2,000 กว่าปี ก่อนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกญี่ปุ่นปกครองอีก 3 ปี เมื่อประกาศเอกราชได้ไม่นานก็ต้องสู้รบกับฝรั่งเศส ต่อเนื่องจนถึงสงครามเวียดนาม และเพิ่งเป็นตัวของตัวเองมาได้ 36 ปี
'เวียดนาม" 1 ในสมาชิกอาเซียนที่นับรัสเซียเป็นพี่ใหญ่, จีนเป็นพี่รอง, ลาว-กัมพูชาเป็นน้อง ใช้ช่วงเวลา 3 ทศวรรษ เร่งรัดพัฒนาตนเองจนเติบโตอย่างรวดเร็ว
โดย 10 ปีแรก ถือเป็นช่วงปิดประตูประเทศ จัดระบบภายในตั้งแต่การจัดสรรที่ดิน โดยมอบพื้นที่ให้ 50 ตร.ม.ต่อครอบครัวขนาด 3 คน, 60-70 ตร.ม.ต่อครอบครัว 4 คน ไม่รวมที่ทำกิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากรูปแบบบ้านเรือนของเวียดนามที่สร้างเป็นล็อกหน้ากว้าง ไม่เกิน 15 เมตร ยาว 20 เมตร
ยุค 2 เป็นการเปิดประตูรับการลงทุนจากภายนอก ซึ่งไทยนับเป็นประเทศแรกที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม และก็ "เจ๊ง" เป็นชาติแรกเช่นกัน
ยุคที่ 3 เวียดนามเปิดให้นักลงทุนทดลองดำเนินการก่อน 3 ปี ถ้าอยู่ได้ค่อยมาคุยกันว่า "คนละเท่าไหร่" เรียกระบบนี้ว่า "ระบบลุงโฮ" เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนของโครงการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ระยะที่ผ่านมามีกลุ่มทุนจากญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ ไทย ฯลฯ โดยใช้แรงงานเวียดนามเป็นหลัก
เมืองวินห์วันนี้...ยังเป็นเมืองผ่าน ตามทางหลวงเวียดนามหมายเลข 1 ที่จะขึ้นเหนือสู่ฮานอย (300 กม.) หรือลงใต้สู่เว้ ดานัง โฮจิมินห์ ฯลฯ ที่ยังคงบรรยากาศวิถีแห่งเวียดนามแตกต่างจาก (อดีต) เวียดนามใต้ ซึ่งเต็มไปด้วยโลกทุนนิยมอย่างมากนั้น กำลังพัฒนาโครงการพื้นที่ฐานอย่างต่อเนื่อง ระหว่างเส้นทางสู่ฮานอย มีแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่ออยู่ในเขต "มินห์วินห์" ที่มี "ฮาลองบก" (Tam Coc) ที่มีเรือกระจาดบริการนำนักท่องเที่ยวเที่ยวล่องไปตามแม่น้ำโด่งลู่
ก่อนมุ่งเข้าฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ตามทางหลวงเอเชีย หมายเลข 1 ที่บางช่วงเป็นไฮเวย์ ประดับด้วยวิถีชีวิตคนในท้องถิ่นตลอด 2 ข้างทาง ที่มีการทำนาตลอดปีทั้ง 2 ฝั่งถนน (ปีละ 4 ครั้ง) ใช้ไหล่ทางเป็นลานตากข้าว จนผลักดันให้เวียดนามเป็นประเทศที่ผลิตข้าวอันดับต้นๆ ของโลก ตลอดจนบรรดา "หลานลุงโฮ" หรือเด็กนักเรียนเวียดนามที่ปั่นจักรยานไปกลับระหว่างบ้าน-โรงเรียน ซึ่งหลายคนมี "ผ้าพันคอสีแดง" พันรอบคออยู่ แสดงความเป็น "เด็กดี" จนได้รับการเชิดชูเป็นหลานลุงโฮ
จากฮานอย เมื่อเดินทางขึ้นเหนือไปตามเส้นทางหมายเลข 10 ของเวียดนาม ด้วยระยะทางประมาณ 180 กม. ก็จะถึงด่านพรมแดน "ล่างเซิน" เขตเศรษฐกิจพิเศษด่งดัง-ล่างเซิน (ตรงข้ามกับด่านถาวรโหย่วอี้กวาน มณฑลกว่างสี) ที่เป็นเส้นทางคู่ขนานไปกับทางรถไฟจีน-เวียดนาม
แม้ว่าด่านล่างเซิน (เวียดนาม)-โหย่วอี้กวาน (จีน) จะเป็นด่านการค้าที่มีมูลค่าการค้ามหาศาล ตลอดจนมีเส้นทางรถยนต์-รถไฟที่เชื่อมต่อกัน
ขณะที่จีนทุ่มงบประมาณพัฒนาทางด่วน 4 เลนเชื่อมต่อไปถึงหนานหนิง เมืองเอกของกว่างสี ต่อเนื่องไปถึงคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน ตั้งแต่ปี 2003 แล้วก็ตามที่ "ล่างเซิน" กลับสะท้อนให้เห็นแรงต่อต้านลึกๆ ของเวียดนามที่มีต่อจีนอยู่ไม่น้อย
สังเกตได้จากวิถีชีวิต อาคารบ้านเรือน ฯลฯ ในหัวเมืองชายแดนแห่งนี้ที่ในฝั่งของเวียดนาม จะคงไว้ซึ่งวิถีเวียดนามอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งอาหารการกิน การดำรงชีวิต ฯลฯ
ต่างจากหัวเมืองชายแดนประเทศอื่นๆ ที่ติดกับจีน ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว หรือแม้แต่หัวเมืองชายแดนไทยในภาคเหนือที่แม้ไม่มีพรมแดนติดกับจีน แต่ได้รับอิทธิพลจากพ่อค้าจีนแผ่ทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ล่างเซินก็ถือเป็นประตูเข้าสู่กว่างสีของจีนที่น่าจับตาเช่นเดียวกับหยุนหนัน
โดยปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจในพื้นที่มุกดาหาร และกระทรวงคมนาคมของไทย ทำพิธีเปิดเส้นทางรถบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้า ลดต้นทุนขนส่งผ่านด่านมุกดาหาร-สะหวันนะเขต-ลาวบาว ภายใต้โควตารถบรรทุกประเทศละ 400 คัน
อาชว์บอกว่า ที่ผ่านมามีการขนส่งผลไม้จากไทยผ่านเส้นทางสายนี้เข้าเวียดนามตามเส้นทางหมายเลข 9 รวมถึงเข้าจีนทางกว่างสี ผ่านเส้นทางหมายเลข 8-ฮานอย-ล่างเซิน-หนานหนิงด้วย โดยใช้เวลาเพียง 2 วันเท่านั้น มีต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่าทางทะเล ก่อนที่จะใช้หนานหนิงเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังมณฑลอื่นๆ ของจีน
ผลไม้ไทยถูกขนส่งผ่านเส้นทางหมายเลข 8 ขึ้นสู่เวียดนามตอนเหนือ และจีน มากกว่า 10,000 ตัน ทั้งลำไย มังคุด มะม่วง ทุเรียน ฯลฯ
แน่นอนว่า เส้นทางสายนี้ยังจะได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพยิ่งขึ้นในอนาคต
ถือเป็นระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกอย่างแท้จริง หากพม่ามีการเปลี่ยนแปลง เปิดประตูสู่โลกภายนอกภายใต้โครงข่ายที่สามารถเชื่อมเข้าสู่บังกลาเทศ อินเดีย และยุโรป
|
|
|
|
|