Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤษภาคม 2553
พม่า จุดเปลี่ยน “อาเซียน”             
 

   
related stories

ความตื่นตัวของนักธุรกิจท้องถิ่น
สภาธุรกิจไทย-พม่า จังหวะการจัดตั้งที่ “เหมาะเจาะ”

   
search resources

International
Greater Mekong Subregion




ท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนระอุในเมืองไทย ทำให้จุดสนใจของทุกคนในชาติมุ่งมาให้ความสนใจต่อสถานการณ์ภายในประเทศ จนอาจละเลยต่อ "พม่า" ประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งอาจมีผลถึง "ตำแหน่ง" และ "บทบาท" ของไทยในกลุ่มอาเซียนให้ด้อยหรือถดถอยลง ความเปลี่ยนแปลงในพม่าจึงมิอาจมองข้าม หรือละสายตาไปได้แม้แต่น้อย

แม้การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในสหภาพเมียนมาร์ หรือชื่อที่คนไทยยังเรียกติดปาก ว่าพม่า ยังถูกมองจากนักวิชาการหลายคนว่ายังไม่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญของ พม่า ให้ก้าวสู่การเป็นประเทศ "เปิด" ที่มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดอย่างเต็มรูปแบบ

แต่นักลงทุนหลายรายจากทั่วโลก ก็มองปรากฏการณ์ในพม่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ว่าเริ่มมีสัญญาณของพัฒนาการที่ดีขึ้น และเป็นพัฒนาการที่มีผลสำคัญยิ่งต่อการรวมกลุ่มของ 10 ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ในนามของ "อาเซียน"

ที่ผ่านมา ไทยมีบทบาทเด่นพอสมควรในระดับอาเซียน ความเด่นดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่กึ่ง กลางของกลุ่มประเทศเหล่านี้

แต่สถานการณ์ทางการเมืองภายในของไทย กำลังทำให้บทบาทที่เคยเด่นนี้กำลัง ด้อยลงไปตามลำดับ

และหากมองจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เช่นกัน พัฒนาการที่กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ ของ พม่า กำลังขับเคลื่อนให้พม่าโดดเด่นขึ้นมาแทนที่

ในฐานะที่เป็นจุดเชื่อมต่ออาเซียนกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่นๆ และภูมิภาคอื่นของโลก

"พวกเขามองเห็นความสำคัญของอาเซียน"

เป็นข้อสรุปที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวไว้เมื่อคราวเดินทาง มาปาฐกถาพิเศษเรื่อง AEC; โอกาสทองทางเศรษฐกิจของไทย ในการสัมมนาหอการค้า ไทย ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2552

มีมากกว่า 30 ประเทศนอกกลุ่มอาเซียนได้ส่งคนเข้ามาร่วมทำงานกับอาเซียนที่ จาการ์ตา บารัค โอบามา ประธาธิบดีของสหรัฐอเมริกา พูดไว้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 ว่าอเมริกาจะมาตั้งสำนักงานทำงานร่วมกับอาเซียน และอีก 29 ประเทศก็ตั้งทูตอาเซียนขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

ปี 2008 อาเซียน 10 ประเทศ มีประชากร 584 ล้านคน มีการลงทุนจากต่างประเทศ (นอกกลุ่มอาเซียน) เข้ามามากถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อคิดเป็นสัดส่วน แล้วมากกว่าการลงทุนในจีนและอินเดีย ที่แต่ละประเทศมีประชากรมากกว่า 1,000 ล้าน คน

ถ้ารวมทั้งอาเซียน อินเดีย และจีน นั่นคือตลาดที่มีผู้บริโภคเกือบครึ่งของทั้งโลก

นอกเหนือไปจาก FTA อาเซียน-จีน ที่เริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคม 2553 กับประชาคมอาเซียน (AEC) ที่จะมีผลเต็มรูป ในปี 2558

ปัจจัยสำคัญที่จะทวีอัตราเร่งแห่งพลวัตการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคนี้ก็คือ พม่า ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเหมือนคอขวดในเชิงการเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์ สำหรับตลาดอาเซียนกับโลกภายนอก

โดยเฉพาะในด้านโลจิสติกส์ทางบก เส้นทางในผังพัฒนาที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เคยศึกษาไว้ หลากหลายเส้นทางที่ปรากฏเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นเส้นทาง R3 (ทั้ง a และ b) ผ่านจีน พม่า ลาว ไทย ที่จีนทุ่มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เส้นทางหมายเลข 8, 9 และ 12 เชื่อมไทย ลาว เวียดนาม และจีน ฯลฯ

เมื่อนำมาต่อจิ๊กซอว์เข้าด้วยกันแล้ว หลายเส้นทางสำคัญในทางยุทธศาสตร์ยังต้องรอพม่า ที่ยังติดกับดักในมิติความมั่นคง ระหว่างโลกเสรีกับระบอบเผด็จการทหารมานานหลายทศวรรษ

ปีนี้ พม่ากำลังพยายามเดินหน้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป ท่ามกลางกระแสกดดัน จากโลกตะวันตก ที่ใช้คำว่า "ประชาธิปไตย" เป็นเครื่องมือ ล่าสุดมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อมุ่งเข้าโหมดการเลือกตั้งในประมาณปลายปีนี้ (2553) ซึ่งมีการมองกันว่า พม่ากำลังจะมีการเปลี่ยน แปลงครั้งใหญ่

รวมถึงท่าทีของโลกภายนอกที่เริ่มส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงในเชิงความสัมพันธ์กับพม่าในทางที่ดีขึ้น

นั่นจึงหมายถึงจุดเปลี่ยนที่จะทำให้จุดเชื่อมต่อสำคัญในการเชื่อมตลาดอาเซียน ที่มีผู้บริโภค 584 ล้านคน เข้ากับจีน อินเดีย บังกลาเทศ จนกลายเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีประชากรเกือบครึ่ง โลกได้ รวมไปถึงจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อระเบียงเศรษฐกิจจะเชื่อมโยงไปถึงยุโรปในอนาคต

ระยะที่ผ่านมา พม่าพยายามที่จะปรับสมดุลอำนาจทั้งภายใน-ภายนอก โดยเฉพาะ จากมหาอำนาจของโลกที่พยายามเข้ามามีบทบาทในพื้นที่ใจกลางของอาเซียนมาตลอด

เช่นกรณีของจีนที่กล่าวได้ว่าก่อนหน้านี้เป็นมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลในพม่ามาตลอด เคยให้การช่วยเหลือทั้งในและนอกรูปแบบต่อพม่าอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 หลังพม่าส่งทหารเข้าโจมตี "โกก้าง" ชนกลุ่มน้อยเชื้อสายจีนบริเวณพรมแดนพม่า-จีน ได้ผลักดันให้ชาวโกก้างหลบหนีเข้าไปในมณฑลหยุนหนันของจีน มากกว่า 37,000 คน

ปฏิบัติการครั้งนี้สร้างความไม่พอใจจากรัฐบาลปักกิ่งเป็นอย่างมากทีเดียว

แต่อีกด้านหนึ่ง เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่ากลับได้สิทธิพิเศษในเวทีสหประชาชาติ (UN) พร้อมๆกับได้ออกจากสถานที่ประชุม UN และเข้าพบกับรัฐมนตรีคนสำคัญของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

กรณีที่พม่าหันไปพัฒนาความสัมพันธ์กับอินเดีย ที่ถือเป็นอริกันมาเกือบครึ่งศตวรรษ ด้วยการร่วมพัฒนา เส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างกันผ่านพรมแดนด้านตามู และกรณีที่รัฐบาลอินเดียมีนโยบาย Look East เข้าช่วยพม่าพัฒนาถนนจากมัณฑะเลย์-เนปิดอ เมืองหลวงใหม่ของพม่า รวมถึงมีโครงการพัฒนาเส้นทางจากรัฐมิซอรัม-ชายแดนพม่า เพื่อเปิดทางออกทะเลที่เมืองสิตต่วย (Sittwe) ในรัฐยะไข่ของพม่าด้วย

"พม่าเป็นประเทศที่ฉลาดในเชิงยุทธศาสตร์" เป็นคำยอมรับของวิรัช นิยมธรรม ผู้อำนวยการศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่บอกกับผู้จัดการ 360 ํ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ในการสร้างสมดุลทางอำนาจ ระหว่างพม่ากับชาติมหาอำนาจทั้งหลายในโลก โดยเฉพาะจีนและสหรัฐอเมริกา

ขณะที่สมดุลทางเศรษฐกิจ เส้นทางคมนาคมทั้งหลายที่พาดผ่านพม่า หากได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ จะพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจของอาเซียนได้อย่างมหาศาล ไม่เฉพาะการค้าขายกันเองภายในกลุ่ม แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงประเทศใหญ่ๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป

ซึ่งประเทศไทยในฐานะที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ บริเวณใจกลาง มิอาจมองข้ามได้

เพราะกรุงร่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของ พม่า เมืองท่าสำคัญในอันดามัน อยู่ห่างจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไปทางตะวันตก เพียง 447 กม.

เส้นทางหมายเลข 9 เชื่อมระหว่างไทย ลาว และเวียดนาม รวมถึงทางหลวง พิเศษหมายเลข 12 (AH 16) เชื่อมระหว่าง อ.แม่สอด กับ จ.มุกดาหาร ถือเป็นเส้นทางหลักของของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) เส้นทางตัดขวางภูมิภาค อาเซียน เชื่อม 4 ประเทศที่อยู่บนแผ่นดิน ใหญ่ของอาเซียน (เวียดนาม ลาว ไทย พม่า) เข้าหากัน โดยมีปลายทางอยู่ที่ทวีปยุโรปผ่านทางอินเดีย

เส้นทางสายเดียวกันนี้ หากเชื่อมต่อกับเส้นทางสายเหนือจะสามารถมุ่งหน้าจากมัณฑะเลย์สู่ลาเฉียว ถึงเขตเศรษฐกิจมูเซ (พม่า)/เจียก้าว เมืองลุ่ยลี่ มณฑลหยุนหนันของจีน ที่มีท่อก๊าซของ CNPC บริษัทน้ำมันของจีนพาดผ่านอยู่ด้วย

เป็นข้อต่อสำคัญที่จะเสริมให้กรอบความร่วมมือ GMS, ACMEC และ BIMSTEC ที่เป็นส่วนหนึ่งของ AEAN ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

(อ่านเรื่อง "East-West Corridor ประตูฝั่งตะวันตกที่รอการเปิด" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2551 และเรื่อง "เต๋อหง ช่องทางสินค้าจีนที่ไทยไม่อาจมองข้าม" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

Tun Aung ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมพม่า (UMFCCI) บอกว่าพม่าอยู่ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกรอบความร่วมมือต่างๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะทางบก ที่ติดกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และจีน

"อนาคต พม่าจะเป็นศูนย์รวมของการคมนาคมในย่านนี้" Tun Aung ย้ำ เมื่อคราวเดินทางมาร่วมสัมมนา GMS ในทศวรรษใหม่ที่คณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยม เศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ จังหวัดและเทศบาลนครเชียงรายร่วมกันจัดขึ้น ณ โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท จ.เชียงราย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

เขาย้ำว่า รัฐบาลพม่าให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อเชื่อมโยงกับภายนอกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา ถนนถูกสร้างเพิ่มขึ้นถึง 69,000 ไมล์ สะพานใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้ว 280 แห่ง รวมถึงสนามบินใหม่ก็เกิดขึ้นด้วย

Tun Aung บอกอีกว่า โดยเฉพาะถนนที่เชื่อมกับอินเดีย บังกลาเทศ ไทย และจีน กำลังได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้เส้นทางพม่า-จีนมีอยู่ 2 สายหลักๆ ก็ทำให้การค้า ระหว่างกันเติบโตขึ้นในช่วงปี 2006-2008 มากกว่า 3 เท่าตัวแล้ว

"ถ้า Network ลงตัว เศรษฐกิจจะขยายตัวมากกว่านี้อีกมาก"

โครงข่ายคมนาคมเคยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อ สปป.ลาว ทั้งประเทศมาแล้ว สะท้อนได้จากข้อสรุปของ Chantao Pathammavong ตัวแทนจากสภาการค้า และอุตสาหกรรม สปป.ลาว ที่บอกไว้ว่า การเปลี่ยนลาวจาก Land Lock เป็น Land Link ทำให้การค้าระหว่างประเทศของลาวเพิ่มขึ้น 18 เท่าตัวในเวลาไม่กี่ปี การลงทุนเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว และมีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมากนับจากนี้

แน่นอน ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นที่พม่า รวมถึงพื้นที่รอบๆ พม่าด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะหากพม่ามีการเปิดประเทศ

สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม บอกว่าภูมิภาคแถบนี้มีจะการเปลี่ยน แปลงอย่างแน่นอน ดูได้จากระดับนโยบายที่สอดคล้องกันคือ ไทยมีนโยบายกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3, จีนมีนโยบาย Go West, อินเดียมีนโยบาย Look East

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของชาติมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ มิพักต้องมองถึงญี่ปุ่น ที่นอกจากจะตอกย้ำผ่านเวทีประชุมสุดยอดผู้นำ Mekong-Japan ระหว่างวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2552 ว่าญี่ปุ่น จะให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงต่อไป รวมถึงความเคลื่อนไหวขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในพื้นที่พรมแดนแม่สอด จ.ตาก ของไทย กับเมืองเมียวดี พม่า (อ่านเรื่อง "แม่สอดกำลังเปลี่ยนแปลง" ประกอบ)

ญี่ปุ่นยังถือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้ามามีบทบาทในพม่าและลุ่มน้ำโขงตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่าน ADB ที่ก่อตั้งในปี 1966 โดยมีญี่ปุ่นและอเมริกาสนับสนุน อยู่ และญี่ปุ่นก็เป็น "ผู้ให้" ที่สำคัญมาจนถึงทุกวันนี้

"ทศวรรษต่อจากนี้ของ GMS นอกจากเราจะมุ่งเน้น Asian Economic Community แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงนโยบายความสนใจจากอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย ที่มีต่อภูมิภาคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย โดยเฉพาะญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับ EWEC มาก"

อลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ขึ้นปาฐกถาเรื่อง GMS ในทศวรรษใหม่ ว่าตลอด 20 ปีมานี้กรอบความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะ GMS พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และปีนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปเอเชียที่มี กรอบความร่วมมือหลากหลายกรอบ ทั้ง ASEAN-China FTA ที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเชิงตลาด มีผู้บริโภคกว่า 2 พันล้าน คน (1 ใน 3 ของประชากรโลก), FTA ไทย-อินเดีย และประชาคมอาเซียน (AEC) อีก 5 ปีข้างหน้า (2015 หรือ 2558)

ซึ่งไทยจะสนับสนุน GMS อย่างเต็มที่ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น กพบ., สศช., สพบ. ฯลฯ มุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ทั้งตามแนวเศรษฐกิจเหนือใต้/ตะวันออก-ตะวันตก, R12 (ไทย-ลาว-เวียดนาม-หนานหนิง-หยุนหนัน-กวางตุ้ง), R1 ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม-กาญจนบุรี, เสริมสร้างความรู้สึกชุมชนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมผลักดันให้เกิด "Asian First" เพราะอาเซียนเป็น HUB ที่จะเชื่อมโยงกับประเทศนอกกลุ่มเศรษฐกิจอีกกว่า 200 ประเทศ

อลงกรณ์ย้ำว่า ปี 2010-2020 จะผลักดันเมกกะโปรเจ็กต์เชื่อมตะวันออก-ตะวันตกที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในอาเซียน นั่นคือท่าเรือน้ำลึกทวาย ภายใต้ความร่วมมือไทย-พม่า ที่จะมีมอเตอร์เวย์เชื่อมท่าเรือทวาย-กาญจนบุรี-แหลมฉบัง หรือต่อเชื่อมเข้ากับ Southern Corridor ที่จะมีท่าเรือน้ำลึกปากบาราเข้ามารองรับ

ไม่นานมานี้ อลงกรณ์คือฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันให้เกิดสภาธุรกิจไทย-พม่า เบิกทางนำร่องรับการเปลี่ยนแปลงข้อต่อสำคัญในภูมิภาคนี้

หลังจากที่เขาร่วมขับเคลื่อนผลักดัน จนคณะรัฐมนตรีมีมติให้ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าข้ามน้ำเมยแห่งที่ 2, ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ One Stop Service (OSS) และคลังสินค้า มาแล้วเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552


ดูเหมือนจะมีอลงกรณ์เพียงคนเดียว ในฐานะตัวแทนรัฐบาลที่ออกหน้า มาเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง

แน่นอน ขณะที่พม่ากำลังมีความเคลื่อนไหวที่บ่งบอกถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่สถานการณ์ในไทยกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่กึ่งกลางของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ไทยเคยภาคภูมิใจมาตลอด หากไม่มีการบริหารจัดการ หรือวางยุทธศาสตร์ให้ดีพอ อาจทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนเป็นเสมือนไข่ดาว โดยมีไทยเป็นไข่แดงลอยโดดเดี่ยวอยู่ท่ามกลางไข่ขาว ไม่เชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกัน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us