|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา การจัดอันดับความโปร่งใสจากการคอร์รัปชั่นทั่วโลก ผลปรากฏว่าประเทศไทยโดนลดอันดับอีกครั้งไปอยู่ที่ 84 เรียกว่าลดลงติดต่อกันอย่างไม่มีหูรูดจากเมื่อ 5 ปีก่อนอยู่ที่ 59 ในขณะที่นิวซีแลนด์ยังคงรักษาตำแหน่งแชมป์ประเทศโปร่งใสเป็นปีที่สี่ติดต่อกันตั้งแต่กระชากบัลลังก์แชมป์จากไอซ์แลนด์เมื่อปี พ.ศ.2549 ซึ่งแชมป์ความโปร่งใสโลกนั้นมักจะเป็นการฟัดกันระหว่างนิวซีแลนด์และประเทศนอร์ดิก คือ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ไอซ์แลนด์
ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา นิวซีแลนด์ครองแชมป์ 4 หน ฟินแลนด์ 1 หน และไอซ์แลนด์ 1 สมัย เรียกว่าได้แชมป์ไปครึ่งหนึ่ง ส่วนปีที่ไม่ได้ เมืองกีวีได้ที่ 3 ในปี 2545 ตามฟินแลนด์กับเดนมาร์กได้ที่ 2 ปี 2546 ตามฟินแลนด์ ตกมาที่ 3 ปี 2547 โดยตามฟินแลนด์กับไอซ์แลนด์ และที่ 2 ปี 2548 ตามแค่ไอซ์แลนด์ ก่อนที่จะกระชากแชมป์มาครอง 4 สมัยติดต่อกันจนถึงทุกวันนี้ โดยเป็นการชี้ว่าในปีที่ไม่ได้แชมป์นิวซีแลนด์ไม่เคยได้ต่ำกว่าที่สามเลย ทำให้หลายคนสงสัยว่าอะไรที่ทำให้ประเทศนิวซีแลนด์รักษาความขาวได้นานขนาดนี้
ก่อนอื่นผมต้องขอเล่าเกี่ยวกับการจัดอันดับสักนิดว่าองค์กร Transparency International (TI) นั้นเป็น NGO จากเยอรมนี โดยได้ทำการจัดอันดับ Corruption Perception Index (CPI) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 โดยได้รับข้อมูลและทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างโคลัมเบียของสหรัฐอเมริกา และไอเอ็มดีของสวิตเซอร์แลนด์ หน่วยข้อมูลข่าวสารของนิตยสารระดับโลกอย่างอีโคโนมิสต์ เอ็นจีโอ ด้วยกันเองอย่างฟรีดอมเฮาส์ และหน่วยงานของสหประชาชาติ
ดังนั้น การจัดอันดับจึงเป็นที่ยอมรับในระดับ สากลว่ามีมาตรฐานที่เชื่อถือได้มากที่สุด แม้ว่าในบางครั้งจะโดนค่อนแคะว่าการวิจัยเป็นไปตามหลักวิจัยเชิงปริมาณคือดู แต่ภาพรวมและตัวเลขมากไปกว่าการวิจัยเชิงคุณภาพที่ดูลึกไปถึงการคอร์รัปชั่น ในเชิงลึก อย่างไรก็ตาม หากดูในความเป็นจริงของการวิจัยแล้ว เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าการวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งเน้นการวิจัยเชิงลึกนั้น ไม่สามารถกระทำได้ในระยะเวลาที่กำหนดเพราะต้องใช้จำนวน นักวิจัยและงบวิจัยมากขึ้นเป็นหลายสิบเท่าตัว และข้อมูลมักจะเก่าเกินไปเมื่อตีพิมพ์ ในสายตาผมมองว่าคนที่ค่อนแคะคือคนที่ไม่เข้าใจ ไม่ยอมเข้าใจ หรือแกล้งไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง qualitative กับ quantitative methods แต่วิจารณ์เพราะการวิจารณ์คนอื่นนั้นง่ายกว่าการลงมือทำเอง
แม้ว่าการจัดอันดับอาจจะไม่ Perfect แต่ก็เป็นการจัดอันดับที่ดีที่สุดในปัจจุบันเท่าที่มนุษย์สามารถกระทำได้ ซึ่งการสำรวจนี้ได้เน้นภาพรวมที่น่าเชื่อถือที่สุดเท่าที่มีในโลก โดยชี้ถึงรัฐบาลต่างๆในโลกในด้านความโปร่งใส เมื่อจะพูดถึงความโปร่งใส ก็ต้องพูดถึงสิ่งที่เราต้องเอามาเป็นมาตรวัดนั่นคือ อัตราการคอร์รัปชั่น การยอมรับต่อการที่ผู้มีอำนาจทำการคอร์รัปชั่น
บทลงโทษของสังคมไม่ใช่ตัวบทกฎหมายนะครับ สังคมลงโทษหรือประณามคนที่คอร์รัปชั่นอย่างไร ความเสมอภาคในการลงโทษ ความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรม และที่สำคัญที่สุดคือความโปร่งใสในด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลและในหน่วยราชการ เพราะคำว่าคอร์รัปชั่นนั้นไม่ได้แปลว่าการเอาเงินไปให้หรือเอาเงินไปซื้อเสียงเท่านั้น การแก้สัญญาสัมปทาน การเอื้อประโยชน์ตนเองและลูกน้อง การเบิกเงินเกินแล้วแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ข้าราชการหรือนักการเมือง การกินตามน้ำ การกินทวนน้ำ ที่เราเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็โดนจัดอยู่ในหมวดหมู่นี้ด้วย
ดังนั้น CPI ที่ตรวจสอบในเชิงปริมาณจึงเรียกได้ว่าเป็นการวัดค่าที่ผ่านกระบวนการทาง วิทยาศาสตร์และมีการหาค่าเฉลี่ยแบบถูกต้องไม่จำเป็นต้องทำการผ่าแบบเครื่อง GT200 ซึ่งเมื่อผ่าออกมาแล้วถึงรู้ว่าเครื่องทำงานจากพลังวิญญาณแทนระบบ อิเล็กทรอนิกส์ตามที่โม้ไว้ ในขณะที่ CPI นั้นมาจากมาตรวัดพื้นฐานทาง Political Science และ Social Science จึงเป็นการวัดที่มีค่าความแม่นยำกว่า 80% ไม่ใช่ 20%
เหตุผลที่นิวซีแลนด์มีความโปร่งใสที่สูง ไม่ได้อยู่ที่นักการเมืองหรือข้าราชการเพียงอย่างเดียวแต่อยู่ที่ทุกๆ คนในสังคม ผมยังจำได้ว่าตอนที่เรามีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหา นครเมื่อห้าปีก่อน ผมชอบคำพูดของผู้ลงสมัครท่านหนึ่งซึ่งแม้ท่านจะสอบตก แต่ในฐานะนักการเมืองที่มีจริยธรรมท่านสอบผ่านในสายตาของผม ผู้สมัครท่านนั้นพูดว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นในโลกอยู่ที่สังคม เพราะถ้าคนส่วนมากรับได้กับการโกง เช่น ถ้ามีคน 55% รับได้ คนอีก 45% ก็ต้องทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น หรือจำใจจำยอมต้องจ่ายเงินไป แต่ถ้าคนส่วนมากไม่โกง คนส่วนน้อยย่อมไม่กล้าเช่นกัน นิวซีแลนด์เองก็เหมือนตามทฤษฎีดังกล่าว
คนส่วนมากไม่โกง คนส่วนน้อยถ้ากล้าโกงก็จะโดนประณาม ลงโทษ จนไม่กล้า ผมมองสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวทำให้ผมทึ่งกับความโปร่งใสของข้าราชการ นิวซีแลนด์ เพราะข้าราชการที่นี่ไม่ได้มองว่าเขาเป็นเจ้าคนนายคน เขาไม่ได้เรียกชื่ออาชีพเขาว่า Bureaucrats แต่เรียกว่า Civil Servants หรือคนรับใช้ของประชาชน หรือข้าประชาชน เมื่อเป็นข้าประชาชนย่อมกดขี่ประชาชนไม่ได้
ผมยกตัวอย่างความโปร่งใสง่ายๆ เลยครับ คนที่ประกอบธุรกิจภัตตาคารในนิวซีแลนด์อาจจะคุ้นเคยกับสาธารณสุขกันดี สำหรับร้านอาหารที่ขายดีๆ ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นลูกค้าเช่นกัน เมื่อมารับประทานอาหารนอกเวลาราชการพวกเขาก็สั่งแล้วก็จ่ายเงินเหมือนลูกค้าทั่วไป แต่ถ้าวันต่อมา เมื่อเจ้าหน้าที่มาตรวจร้าน หากมีพนักงานหรือเจ้าของจำเขาได้แล้วชวนคุยเขาจะบอกว่าไม่ได้เพราะวันนี้เขามาทำงาน แม้แต่จะเลี้ยงน้ำชาหรือกาแฟเขาจะไม่รับเพราะต้องโปร่งใส อย่างมากที่สุดที่เขาจะรับได้คือน้ำก๊อกสักแก้วหนึ่ง เพราะน้ำก๊อกไม่มีการคิดเงินกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่นี่ก็เช่นกัน ไปรับประทานอาหารที่ไหน ไปพักโรงแรมที่ไหน ก็เดินไปจ่ายเงินแต่โดยดี ไม่มีการใช้อำนาจนอกเหนือหน้าที่โดยเด็ดขาด ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ประกอบการในนิวซีแลนด์จะเห็นข้าราชการเดินทางมาสอบถามราคาที่พักหรือต่อรองราคา ให้ถูกที่สุดเพื่อประหยัดงบราชการ
เหตุดังเรื่องคอร์รัปชั่นนั้นจากช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ฟิล ฮีทเลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประมงลาออกจากตำแหน่งและโดนตั้งคณะกรรมการสอบสวน เนื่องจากว่ากระทรวงประมงนี้มีหน้าที่ดูแลน่านน้ำนิวซีแลนด์ซึ่งมีขนาดใหญ่ ติดอันดับที่แปดของโลก รวมทั้งการจัดโควตาประมงในเขตน่านน้ำ นอกจากนี้ ฮีทเลย์ยังมีหน้าที่ดูแลโครงการบ้านการเคหะ บ้านเอื้ออาทร อีกตำแหน่ง ดังนั้นเมื่อมีข่าวฉาวออกมาจึงต้องลาออกทันที
ทีนี้คำถามที่หลายคนอาจจะสงสัยว่าโกงไปเท่าไร และโกงอย่างไร ผมก็ขอชี้แจงเลยว่าถ้าเอาแค่คำจำกัดความของคำว่าคอร์รัปชั่นในนิวซีแลนด์ นั้น เจ้าแม่ใหญ่ของคอร์คัสของพรรคเนชั่นแนล มิเชล บอร์ค ให้คำตอบว่าการใช้อำนาจเพื่อเรื่องส่วนบุคคล ไม่ว่ากรณีใดก็ตามสามารถจัดได้ว่าเป็นการลุแก่อำนาจและถือว่าโกงได้หมด ทีนี้เรามาลองคิดกันแบบไทยๆ ว่า กระทรวงที่มีอำนาจในการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร น่าจะโกงอะไรบ้าง ก็คงโกงหิน ดิน ทราย อิฐ และสัมปทานก่อสร้างตามที่เราได้อ่านหรือ ได้ยินจากโทรทัศน์หลายช่อง ยิ่งคุมกระทรวงประมง ที่บริษัทประมง สะพานปลาทุกแห่งต้องมาขอโควตา ถ้าคิดแบบไทยๆ รมต.คนนี้ต้องกินนอกกินใน แอบรับเงินตามน้ำเพื่อให้โควตา ซึ่งมีข้าราชการร่วมมือและช่วยกันกินเป็นทอดๆ เป็นแน่แท้ แต่ปรากฏว่าในความเป็นจริงแล้วการโกงของ รมต.คนนี้ไม่ได้เข้าข่ายพวกนี้เลยแม้แต่น้อย
ถ้าอย่างนั้น รมต.ฮีทเลย์ทำผิดอะไรถึงโดนสังคมประณาม โดนสอบสวน ต้องลาออกจากเก้าอี้ และถ้าผิดจริง ทางพรรคจะให้ลาออกจากการเป็นส.ส.และจะให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้น และถ้า ฮีทเลย์ต้องการลงสมัครใหม่จะต้องผ่านการพิจารณา จากคณะกรรมการอีกต่างหาก ถ้าผิดตามกฎหมายต้องโดนลงโทษ ปรากฏว่าความผิดของฟิล ฮีทเลย์ มีสองอย่าง อย่างแรกคือการเบิกค่าเช่าบ้านอาทิตย์ละ 1,000 ดอลลาร์ (25,000 บาท) เนื่องจากตามกฎหมาย รัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากกรุงเวลลิงตันสามารถเบิกงบนี้ได้ หาก รมต.คนนั้นไม่มีบ้านพักของตนเองในเวลลิงตัน ซึ่งฮีทเลย์เป็น ส.ส.จากเมืองวังคาเร ซึ่งอยู่เหนือสุดของประเทศย่อมมีสิทธิเบิกเงินก้อนนี้ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฮีทเลย์มีคอนโดอยู่ในกรุงเวลลิงตัน แต่การเบิกนี้มาจากความหัวใสของท่าน รมต.ว่า คอนโดไม่ใช่บ้านจึงไม่สมฐานะ และไปให้คนมาเช่าคอนโดของตนก่อนเบิกงบประมาณมาเช่าคฤหาสน์อยู่ ทีนี้ถ้าคิดแบบไทยๆ ก็ไม่น่าจะผิด งบก็มี ตนก็มีสิทธิเบิก เมื่อเบิกออกมาก็ใช้ตามเหตุผลที่เบิกจริงๆ แต่ปรากฏว่าเมื่อเรื่องแดงขึ้นมาเพราะข้าราชการทำเรื่องร้องเรียน ท่านนายกฯ ต้องเรียกมาตักเตือนเพราะมีคอนโดในเวลลิงตันก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือการตีความแบบศรีธนญชัยระหว่างคอนโดกับบ้าน แถมเอาคอนโดไปปล่อยเช่าและเอาเงินเข้ากระเป๋า แล้วมาเบิกงบราชการไปเช่าบ้านนั้นผิดแน่นอน แม้จะไม่ผิดกฏหมายก็ผิดทางจริยธรรม
ในนิวซีแลนด์นั้นนายกรัฐมนตรีไม่มีสิทธิไล่รัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเพราะ นายกรัฐมนตรีเป็น First among equal ตามแบบอังกฤษคือเป็น ส.ส. ที่มีหน้าที่บริหารแผ่นดินเท่านั้น ดังนั้นการปลด รมต. อยู่ที่คณะผู้บริหารพรรคที่เรียกว่า คอร์คัส ท่านนายกฯ เองก็มองว่าเรื่องนี้ต้องเข้าคอร์คัส และให้ กกต.เข้ามาสอบสวนการเบิกจ่าย แต่ก่อนที่เรื่องจะจบ ก็เกิดเหตุการณ์ที่สองขึ้นเมื่อท่านรัฐมนตรีเอาเครดิตการ์ดของรัฐบาลไปจ่าย เงินซื้อไวน์สองขวดระหว่างดินเนอร์กับภรรยาโดยเบิกเป็นค่าอาหาร อย่าเพิ่งตกใจนะครับไม่ใช่ไวน์ขวดละห้าหมื่นหรือแสนบาทแบบที่ท่าน รมต.ไทยดื่มกัน เพราะสนนราคาไวน์สองขวดอยู่ที่ $70 หรือ 1,750 บาท เท่ากับขวดละ 875 บาทเท่านั้น ซึ่งมาดูๆ แล้วถ้าคิดแบบไทยๆ นี่อาจจะไม่นับเป็นการคอร์รัปชั่นหรือแม้แต่กินตามน้ำ เพราะเบิกไปใช้จริงๆ เพราะการดื่มไวน์ระหว่างกินข้าวย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำหรับนิวซีแลนด์นั้น ตรงนี้ถือเป็นการลุแก่อำนาจและเข้าข่ายคอร์รัปชั่น ซึ่งเงินที่เบิกไปแน่นอนต้องจ่ายคืน ส่วนถ้าถามว่าผิดไหม เจ้าแม่คอร์คัสรัฐบาลคือ มิเชล บอร์ค สรุปหน้าจอโทรทัศน์ทันทีว่า ผิดแบบไม่ต้องรอพิสูจน์จาก กกต. คตส. หรือศาล เพราะว่าเงินนี้เป็นภาษีอากรประชาชนเลือกฮีทเลย์เป็น รมต. แต่ภรรยาไม่เกี่ยวไปดินเนอร์กับภรรยาไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ จึงผิด การเบิกค่าที่พักทั้งๆ ที่มีคอนโด อยู่และเอาไปปล่อยเช่าถือว่าผิด เมื่อโดนเจ้าแม่คอร์คัสประกาศแบบนี้ ฟิล ฮีทเลย์จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งสารภาพว่าเขาไม่ได้คิดจะโกงหรือคอร์รัปชั่น เขามีวินัยการเงินไม่ดี จึงเอาเครดิตการ์ดไปจ่ายก่อน พอเงินเดือนออกก็จะรีบเอาไปจ่ายคืนก่อนบิลเครดิตการ์ดจะออก แต่ไม่สามารถลบล้างสิ่งที่ผิดได้เพราะ กกต.ได้สั่งให้ตรวจสอบไม่ใช่แค่ รมต.ฮีทเลย์ แต่ ครม.ทุกคน ตั้งแต่ท่านนายกฯ ลงมาโดนสอบหมด รัฐบาลสั่งอายัดเครดิตการ์ดของรัฐบาลทั้งหมด
ต่อคำถามด้านจริยธรรมว่าบรรทัดฐานไหนคือการคอร์รัปชั่น ผมขอยกเอาคำพูดของมิเชล บอร์ค มาอ้างเพราะท่านกล่าวต่อหน้าโทรทัศน์ทั่วประเทศและต่อหน้าประธานพรรคแรงงานซึ่งเป็นฝ่ายค้าน และนักวิชาการคือ ดร.เทเรส อาเซน ว่า การลุแก่อำนาจคือการคอร์รัปชั่น ตัวอย่างของคำว่าลุแก่อำนาจหรือคอร์รัปชั่น นั้นคือ ถ้าพรุ่งนี้เป็นวันหยุดแล้วรัฐมนตรีให้ข้าราชการที่เป็นเลขานุการโทรไปจองโรงแรมให้ แม้จะจ่ายเงินเองนั่นคือความผิด เพราะเลขาไม่ได้มีหน้าที่จองที่พักในเรื่องส่วนตัวของ รมต. เลขามีหน้าที่ทำงานที่เกี่ยวกับแผ่นดิน ถ้าท่านรัฐมนตรีหิวข้าวเที่ยง ให้ข้าราชการเอารถประจำตำแหน่งออกไปซื้ออาหารเที่ยง หรือจะไปกินข้าวเย็นกับเพื่อนแล้วเอารถประจำตำแหน่งไปใช้ ตรงนี้ก็ผิด เพราะคนขับรถเป็นข้าราชการ มีหน้าที่ขับรถพาท่านไปประกอบหน้าที่ของราชการเท่านั้น รถยนต์ก็เป็นของหลวงไม่ใช่ของ รมต. เอาไปใช้เรื่องส่วนตัวไม่ได้ เมื่อโดนไม้นี้เข้าไปนักข่าวถามฝ่ายค้านกับนักวิชาการว่ามีอะไรจะเพิ่มเติมหรือไม่ ดร.อาเซนตอบเพียงว่าถ้าทางรัฐบาลยืนยันขนาดนี้ หน้าที่ของนักวิชาการก็มีเพียงติดตามวิจัยและนำเสนอว่าทำได้ตามที่พูดหรือไม่ ขณะที่ ฝ่ายค้านก็ตอบว่าไม่ต้องอภิปรายแล้ว แค่สงสัยว่าทำผิด ก็ลงโทษสอบสวนขนาดนี้ก็ไม่มีอะไรให้อภิปราย แต่ปรากฏว่าคนที่ไม่ยอมจบคือฝ่ายรัฐบาลที่ออกทีวีขู่ ครม. ว่าใครที่ทำผิดเตรียมตัวให้ดี ขอย้ำว่าแค่ลาออกนั้นไม่ใช่จบ ที่ผิดต้องมาชำระกัน และขอให้รู้ว่า ตัวอย่างที่เกิดขึ้นมีบทสรุปคือห้ามทำผิด เพราะถ้าทุกคนทำผิดแล้วแค่ลาออก แบบนี้ รมต.ก็เป็นแค่เก้าอี้ดนตรีพอลาออกหมด ก็วนมาที่เก่าแบบนี้น้ำเน่า ใครทำผิดต้องชำระกันให้ถึงที่สุด
ผลจากการเชือดไก่อย่างฮีทเลย์ ทำให้บรรดาลิงกลัว รวมถึงเลขาธิการพรรคอย่างเจอรี่ บราวน์ลีย์ ตำแหน่งประธานวิปรัฐบาลที่รีบออกมาให้ข่าวและนำเงิน $151.90 หรือ 3,797 บาท 50 สตางค์ มาจ่ายให้สังคมดูเพราะชี้แจงว่าเมื่อท่านประธาน พรรคบอกการเอารถประจำตำแหน่งไปใช้ทานข้าวกลางวันผิดและทางการเฉลี่ยว่าท่าน ประธานวิปเอารถไปใช้เป็นค่าน้ำมันและค่าเสื่อมสภาพเป็นเงินเท่าไหร่ ท่านประธานวิปก็เอาเงินส่วนตัวมาจ่ายให้ครบทุกเศษสตางค์ เพื่อแสดงความโปร่งใส
ในนิวซีแลนด์แค่การเอาของหลวงไปใช้ทั้งๆ ที่มีอำนาจก็ต้องโดนสังคมประจาน ชวนให้ผมนึกถึงคำพูดของลี ไออาคอร์คคา ประธานบริษัทไครส์เลอร์เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ที่เขาชื่นชมรัฐมนตรีแมคนามาราของประธานาธิบดีเคนเนดี้ว่าเป็นผู้บริหารใน อุดมคติ เพราะก่อนเป็น รมต.นั้น แมคนามาราเป็นผู้บริหารฟอร์ดและบอกไออาคอคคาว่า การเอาทรัพยากรของบริษัทไปใช้ในเรื่องส่วนตัวแม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ไม่ สมควร เพราะมืออาชีพต้องรู้จักแยกแยะระหว่างหน้าที่การงานซึ่งสามารถใช้ทรัพยากร ของบริษัทได้ และชีวิตส่วนตัวซึ่งไม่สามารถเอาตำแหน่งหน้าที่มาใช้ประโยชน์ บริษัทได้จ่ายค่าจ้างที่คุณพอใจแล้ว คุณต้องเอาค่าจ้างที่ได้มาใช้ในชีวิตส่วนตัวของคุณ คำพูดนี้ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชมและเชื่อว่านี่คือบรรทัดฐานของมืออาชีพ ที่นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ และลูกจ้างทุกคนควรจะเอาเยี่ยงอย่าง ถ้าคุณพอใจในผลตอบแทนที่ได้คุณถึงทำงานนั้นๆ อย่าอ้างแบบที่เรามักจะได้ยินว่าเป็นข้าราชการหรือนักการเมืองเงินเดือนน้อย ถึงมีการโกง ชีวิตทุกคนกำหนดเองได้ ถ้าคุณคิดว่าผลตอบแทนน้อยคุณก็เลือกไปทำงานที่ผลตอบแทนเหมาะสม ถ้าเข้ามาทำงานเพราะหวังอำนาจก็อย่าทำ เพราะหัวโขนที่เขาให้คุณใส่นั้นมีไว้สำหรับทำงานอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น ถ้าทำอาชีพใดเพราะหวังอำนาจย่อมผิดจุดประสงค์จากประสบการณ์ของผมที่เคยเข้า ออกทำเนียบรัฐบาลนิวซีแลนด์เพื่อการวิจัย ทำให้ผมพบสิ่งที่น่าสนใจที่สุด คือเวลารับประทานอาหารกลางวัน ในร้านอาหารของทำเนียบนั้นไม่มีการแบ่งแยก รัฐมนตรี ข้าราชการไปจนถึงภารโรง ต่างต้องยืนต่อคิวซื้ออาหารกันไม่มีใครก่อนใครหลัง ต้องยกถาดเทน้ำจากเหยือกเอง ไม่มีใครบริการใคร ไม่มีใครสูงกว่าใคร เพราะเวลาพักทุกคนถอดหัวโขน กลับมาเป็นประชาชน ไม่มีใครอยู่เหนือใคร เมื่อหมดเวลาแล้วก็กลับไปสวมหัวโขนกัน พอหมดเวลางานก็ถอดออก
เมื่อเอาแนวคิดเหล่านี้มาเป็นมาตรวัดว่าชาติใดที่โปร่งใสไร้คอร์รัปชั่น แล้ว ผมก็อดหดหู่ใจไม่ได้เมื่อหันมามองประเทศไทยของเรา ผมเชื่อเหลือเกินว่าคนไทยบางคนอาจจะหัวเราะเยาะฮีทเลย์ ว่าทำไมโง่เพราะโกงให้เขาจับได้ หรือทำไมโกงทั้งทีเอาแค่ไม่กี่พันบาท แต่คำตอบที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่จับได้หรือจับไม่ได้ โกงเงินแค่สตางค์เดียวหรือสี่หมื่นแปดพันล้านบาท แต่ความสำคัญคือคุณค่าของจริยธรรม คำว่าโกงก็คือโกง ไม่ว่าจะผิดเพราะจงใจ ผิดโดยบริสุทธิ์ใจ หรือผิดโดยไม่เจตนา เพราะถ้าเงินแค่นี้ยังกล้าโกงต่อมาก็จะย่ามใจและโกงมากขึ้นไปเรื่อยๆ
ดังนั้น ถ้าเราหันมามองสังคมเราแล้วก็อย่าไปโกรธฝรั่งเลยที่จัดว่าเราโกงติดอันดับเอเชีย เพราะคำถามที่เราต้องหาคำตอบคือในเมืองพุทธที่ถือศีลห้าเป็นหลักอย่างบ้านเรา ทำไมทุกคนชาชินกับคำโกหกและแก้ตัวกันอย่างสม่ำเสมอ เช่นพอมาสายก็ต้องหาข้อแก้ตัว ในขณะที่ในนิวซีแลนด์เมื่อมาสายเขาพูดแค่ ขอโทษและพร้อมรับผิด ทำไมผมมองว่า สังคมที่ยอมรับเรื่องโกหกง่ายๆ ต้องหันมามองตัวเอง นั่นก็เพราะว่าถ้าคนที่โกหกได้แล้วไม่ทำชั่วเป็นไม่มี ดังนั้นถ้าสังคมของเรายังรับเรื่องโกหกได้ เราก็รับเรื่องผิดศีลธรรมได้หมด
มีคำกล่าวว่า ประชาชนเป็นอย่างไร รัฐบาลก็เป็นอย่างนั้น ดังนั้นที่จะแก้ที่นักการเมืองหรือข้าราชการที่ไม่ดีนั้นคือการแก้ที่ไม่ถูก จุด เพราะพวก นั้นคือผลไม้เกิดจากต้นไม้ที่มีรากและลำต้นเป็นพิษ ผลไม้เหล่านั้นย่อมต้องมีพิษตามไปด้วย
ดังนั้น การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในบ้านเราคือแก้ไขที่ตัวของเราเองเมื่อเรามีระเบียบวินัยไม่โกหก ไม่ลุแก่อำนาจ ไม่ดูถูกผู้อื่น ไม่ผิดศีล เมื่อคนส่วนมากเป็นคนดีย่อมส่งผลต่อสังคม นั่นคือรากของต้นไม้ เมื่อรากไม้ได้รับการฟื้นฟู คนไม่ยอมรับคนไม่ดีมีมากกว่า 55% ก็จะทำให้คนขี้โกงก็จะค่อยๆ หายไปจากบ้านเรา
|
|
|
|
|