Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤษภาคม 2553
รู้จัก Volvo... รู้จัก Geely... รู้จัก “หลี่ ซูฝู”             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 


   
www resources

Ford Motor Homepage

   
search resources

ฟอร์ด มอเตอร์
Automotive
Li Shufu




วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2553 ณ เมืองโกเตนเบิร์ก ประเทศสวีเดน

และแล้วข่าวลือชิ้นใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์จีนก็กลายเป็นความจริง หลังเสร็จสิ้นการลงนามในสัญญาซื้อขายกิจการมูลค่า 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 59,000 ล้านบาท) เลวิส บูท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) ของบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ก็เข้าสวมกอดกับชายชาวจีนวัยกลางคน ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มบริษัทเจ้อเจียง จี๋ลี่ โฮลดิ้ง ที่ชื่อ "หลี่ ซูฝู (Li Shufu)"

"วันนี้ถือเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของจี๋ลี่" หลี่กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการลงนามในสัญญาซื้อกิจการวอลโว่ (Volvo) แบรนด์รถหรูสัญชาติสวีเดนจากฟอร์ด

จี๋ลี่ คืออะไร? หลี่ ซูฝูเป็นใคร? เหตุใดบริษัทของชายชาวจีนวัยเพียง 47 ปี ที่เพิ่งกระโดดเข้าสู่แวดวงยานยนต์ได้เพียงสิบกว่าปี จึงสามารถก้าวขึ้นมาเทกโอเวอร์กิจการรถยนต์ระดับโลกที่มีชื่อเสียงยาวนานกว่า 80 ปีได้?

หลี่ ซูฝู ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มเจ้อเจียง จี๋ลี่ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของประเทศจีนและบริษัทผลิตรถยนต์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ชายผู้นี้เกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.1963 ณ เมืองไถโจว มณฑลเจ้อเจียง (มณฑลที่อยู่ติดกับนครเซี่ยงไฮ้) ปัจจุบันอายุ 47 ปี

หลี่เกิดและเติบโตในครอบครัวของเจ้าของกิจการเล็กๆ ในเขตเมืองไถโจวเมืองขนาดกลางของประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันมีประชากรราว 6 ล้านคน "ผมเกิดและโตขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ไถโจว มณฑลเจ้อเจียง ตอนนั้นคิดอยู่ว่า หนึ่ง ไม่กลัวความลำบาก สอง ไม่กลัวจน และสามแน่นอนล่ะว่า อยากรวย!" นายใหม่ของวอลโว่เคยเล่าชีวิตและความฝันในวัยเด็กให้กับสื่อมวลชนฟัง

ด้วยปณิธานต้องการจะเป็นเศรษฐี... ในปี 2525 (ค.ศ.1982) หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปลาย หลี่ในวัย 19 ปีจึงเริ่มต้นทำธุรกิจจากเงินจำนวน 120 หยวน ที่บิดาให้เป็นรางวัล ด้วยการรับจ้างถ่ายรูปในสวนสาธารณะ โดยใช้กล้องถ่ายรูปเก่าๆ ยี่ห้อ Seagull เป็นเครื่องมือหากินกับจักรยานเก่าๆ หนึ่งคันเป็นพาหนะ โดยไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากการขี่จักรยานรับจ้างถ่ายรูป หลี่ก็มีเงินเก็บมากถึง 2 พันหยวน

ต้องทราบว่า ประเทศจีนในเวลานั้นเพิ่งหลุดพ้นจากฝันร้ายของการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมที่กินเวลายาวนานถึง 1 ทศวรรษมาหมาดๆ เติ้ง เสี่ยวผิง พรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่งทำการปฏิรูปเศรษฐกิจได้ไม่กี่ปี เวลานั้นเงินเดือนสำหรับปัญญาชนที่มีการศึกษาและแรงงานมีฝีมืออย่างมากก็ 50 หยวนเท่านั้น ดังนั้นหลี่กับเงิน 2,000 หยวน ที่เขาหาได้จากธุรกิจ เล็กๆ จึงถือว่าเป็นรายได้ที่ไม่เลวเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นคนกล้าเสี่ยง กล้าพนัน เขาจึงนำเงินก้อนดังกล่าวไปลงทุนเปิดร้านถ่ายรูป แม้เงินพันกว่าหยวนจะไม่เพียงพอซื้ออุปกรณ์สำหรับร้านถ่ายรูปทั้งหมด แต่ด้วยความที่เป็นคนช่างสังเกต ช่างคิด ช่างประดิษฐ์ เขาจึงประกอบอุปกรณ์หลายชิ้นในร้านขึ้นมาด้วยตัวเอง ระหว่างที่เปิดร้านถ่ายรูปนั้นเอง หลี่ก็ค้นพบเส้นทาง ทำเงินก้อนใหญ่ คือ เขาหาวิธีการแยกโลหะเงินที่เป็นของเหลือใช้ระหว่างการล้าง-อัดรูป และสามารถนำไปขายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้

ไม่นานหลังจากที่ทราบเทคนิคดังกล่าว เขาก็ตัดสินใจควักเงินเก็บกว่า 1 หมื่นหยวนมาลงทุน เขาปิดร้านถ่ายรูปลง แล้วทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับธุรกิจใหม่ที่เขาเพิ่งค้นพบ

หลังจากนั้นไม่นานในปี 2527 (ค.ศ.1984) ไอ้หนุ่มชาวไถโจวก็ค้นพบธุรกิจใหม่อีกนั่นคือ ธุรกิจ ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ตู้เย็น เพื่อส่งให้กับโรงงานผลิตตู้เย็น ก่อนที่อีกสองปีถัดมา เจ้าตัวจะยกระดับกิจการจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนตู้เย็น เป็นโรงงานผลิตตู้เย็นเต็มตัว โดยใช้ชื่อยี่ห้อว่า "ดอกไม้แห่งขั้วโลกเหนือ (เป่ยจี๋ฮวา)"

"ตอนนั้นกิจการดีมากๆ ปีหนึ่งๆ กำไรประมาณ 40-50 ล้านหยวน... พอถึงเดือนพฤษภาคม 1989 ยอดขายก็พุ่งทะลุ 40 ล้านหยวน แถมยังมีความร่วมมือกับโรงงานหงซิงที่เมืองชิงเต่า คือ เราผลิตตู้เย็น ตู้แช่ให้กับหงซิงด้วย" พนักงานเก่าแก่คนหนึ่งของกลุ่มจี๋ลี่ ย้อนอดีตตั้งแต่เจ้านายเริ่มสร้างธุรกิจ

ในปี 2532 (ค.ศ.1989) หลี่ ซูฝู ในวัยเพียง 26 ปีก็กลายเป็นเศรษฐีระดับร้อยล้านของเมืองจีน ทว่า เขากลับไม่พอใจนักกับสถานะเศรษฐีร้อยล้านและย้อนเข้าไปหาความรู้ในรั้วมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะค้นพบธุรกิจใหม่ๆ ระหว่างการเรียนในมหาวิทยาลัยนั่นเอง นั่นคือธุรกิจผลิตอุปกรณ์และวัสดุในการตกแต่งบ้าน ซึ่งในเวลาต่อมาหลี่ได้ส่งต่อธุรกิจเหล่านี้ให้ญาติพี่น้องดำเนินการจนร่ำรวย และสามารถสร้างรายได้ให้สมาชิกในครอบครัวหลักร้อยล้านหยวนต่อปีจนถึงปัจจุบัน

แม้จะคลุกคลีกับแวดวงธุรกิจมานานนับสิบปี โดยเมื่อหยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด ทว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 หลี่ก็ประสบกับความผิดหวังและความล้มเหลวทางธุรกิจครั้งใหญ่ นั่นคือ การที่เขานำเงินไปลงทุนในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลัง ร้อนแรงที่เกาะไหหลำ แต่ท้ายที่สุดเขาต้องสูญเงิน ไปหลายสิบล้านหยวนภายในระยะเวลา 2 ปี และต้องตัดสินใจล่าถอยจากสิ่งที่เขาไม่ถนัด

"ตอนที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ไหหลำกำลังบูมๆ ผมหมดเงินไปหลายสิบล้านหยวน..." หลี่เล่า และว่าความพ่ายแพ้ครั้งนั้นได้ให้บทเรียนกับตัวเขาว่า เขาคงไม่มีหัวการค้าในเรื่องการเก็งกำไร ทำได้ก็แต่ธุรกิจในภาคการผลิตเท่านั้น

เมื่อประสบความล้มเหลวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2537 (ค.ศ.1994) เศรษฐีหนุ่มในวัย 30 ก็กลับเข้ามาสร้างธุรกิจใหม่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการตั้งโรงงานผลิตรถมอเตอร์ไซค์ภายใต้ยี่ห้อ "โชคดี" หรือในภาษาจีนคือ "จี๋ลี่ (Geely)" ซึ่งเป็นโรงงานที่เขาต่อยอดมาจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์ เหมือนกับที่เขาเคยทำกับโรงงานผลิตตู้เย็น

เพียงสองปีหลังจากตั้งโรงงานเริ่มผลิตมอเตอร์ไซค์คันแรก ในปี 2539 (ค.ศ.1996) มอเตอร์ไซค์และสกูตเตอร์ยี่ห้อจี๋ลี่ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยมียอดจำหน่ายหลายแสนคันต่อปี

กระนั้นเดือนมิถุนายน 2539 ในการเดินทาง ไปยังเมืองหลินไห่ เมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของไถโจวเพื่อดูสถานที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ เพื่อขยายกำลังการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ หลี่ ซูฝูก็สร้างความตกตะลึงให้กับลูกน้องคนสนิทอีกครั้ง เมื่ออยู่ๆ เขาก็ชี้ไปยังที่ดินที่ตามแผนจะถูกสร้างเป็นโรงงานมอเตอร์ไซค์ และเอ่ยขึ้นว่า "ที่ตรงนี้ พวกเราจะเอามาผลิตรถยนต์"

อัน ชงฮุ่ย (An Conghui) คนสนิทของหลี่ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกลุ่มจี๋ลี่เล่าว่า ในเวลานั้นธุรกิจผลิตรถมอเตอร์ไซค์จี๋ลี่นั้นดีมาก เพราะมียอดจำหน่ายปีละหลายแสนคัน แต่สำหรับคนจีนแล้วการผลิตรถยนต์เป็นเรื่องที่ลึกลับซับซ้อนกว่า เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูงมาก ด้วยเหตุนี้เขาจึงถามเจ้านาย พร้อมกับชี้ไปยังรถกระบะที่จอดติดไฟแดงอยู่ข้างหน้าว่า "ที่เราจะทำนี่คือรถปิกอัพใช่ไหม?"

คำถามของลูกน้องคนสนิทถึงกับทำให้หลี่ฉุนกึ๊ก และยกมือขึ้นตบเบาะนั่งรถเบนซ์อันหรูหราและว่า "ไม่ใช่ เราจะทำรถเบนซ์แบบที่นั่งกันอยู่นี่แหละ!"

จากนั้นไม่นาน หลี่ก็เริ่มฉายแววเจ้าฉายา "ไอ้บ้าแห่งวงการรถยนต์" เมื่อออกมาประกาศว่า "รถยนต์ก็แค่ไอ้ล้อ 4 ล้อ กับโซฟา 2 ตัว ที่ครอบด้วยเหล็ก 1 ชิ้น"

ทว่า ปลายปี 2541 (ค.ศ.1998) ฝันของไอ้บ้าแห่งวงการรถยนต์ก็เป็นความจริง เมื่อรถยนต์จี๋ลี่ รุ่นหาวฉิง (Haoqing) คันแรกได้ออกจากสายพานการผลิต รถยนต์จี๋ลี่รุ่นแรกถูกคนในแวดวงรถยนต์หัวเราะและเยาะเย้ย ส่วนตัวเขาเองก็เกือบสิ้นเนื้อประดาตัวไปกับธุรกิจรถยนต์ เนื่องจากปัญหาเชิงเทคนิคและอุปสรรคเรื่องกฎหมาย แต่เมื่อหลี่สามารถจับจุดได้ว่า ตลาดรถยนต์ในจีนกำลังเติบโตและคนจีนกำลังต้องการรถยนต์ผลิตในประเทศที่ราคาสมเหตุสมผล จี๋ลี่รุ่นต่อๆ มาจึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

จากสถิติปีที่แล้ว (2552) จี๋ลี่มียอดขายรถยนต์ทั้งสิ้น 329,100 คัน ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับตัวเลขยอดขายทั่วโลกของวอลโว่ในปีเดียวกันที่อยู่ที่ ประมาณ 335,000 คัน แต่ทิศทางและอนาคตของแบรนด์ทั้งสองกลับแตกต่างกัน เพราะขณะที่จี๋ลี่เพิ่มเป้าว่าในปีนี้ (2553) จะขายรถให้ได้ 421,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 และตั้งเป้าในระยะ 5 ปีข้างหน้าว่าจะสูงถึง 2 ล้านคัน ในปี 2558 (ค.ศ.2015) แต่วอลโว่กลับสูญเสียส่วนแบ่งตลาดสำคัญคือยุโรปกับสหรัฐฯ ทั้งยังต้องดิ้นรนให้หลุดพ้นจากภาวะการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

จนในที่สุดก็นำมาสู่จุดที่บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐฯ อย่างฟอร์ด ต้องนำแบรนด์รถยนต์เก่าแก่ของสวีเดนมาขายให้กับบริษัทผลิตรถยนต์เอกชนจากจีนที่มีอายุเพียง 12 ปี

จากข่าวการเทกโอเวอร์วอลโว่โดยจี๋ลี่ แม้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายทั้งฝรั่ง จีนและไทยจะออกมา สบประมาทและเปรียบเทียบว่า รอยยิ้มของหลี่ ซูฝู ในวันเซ็นสัญญาอาจจะคงอยู่ได้ไม่นาน เพราะปัญหา ที่เขาต้องประสบในอนาคตนั้นไม่เพียงเป็นปัญหาทางด้านการเงินที่เขาไม่เพียง ต้องจ่ายเงิน 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อกิจการที่ "ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง" โดยเมื่อเร็วๆ นี้บอร์ดวอลโว่เพิ่งกระทุ้งเจ้านายใหม่ว่า ต้องรีบอัดฉีดเงินอีก 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 46,000 ล้านบาท) เข้ามาฟื้นฟูกิจการวอลโว่โดยด่วน ขณะที่ปัญหาอื่นๆ อย่างเช่น ขั้นตอนของการควบรวมกิจการต่างชาติที่ละเอียดอ่อน ปัญหาความแตกต่างเรื่องวัฒนธรรมองค์กรกับคนงานวอลโว่ที่มีอยู่กว่าสองหมื่นคน เป็นต้น ก็รอจ่อคอหอยให้ชายชาวจีนวัย 47 คนนี้ทุบโต๊ะตบเบาะอยู่

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์ชายที่ชื่อ "หลี่ ซูฝู" ผู้ที่ไม่เพียงมีตลาดรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกเป็นหลังพิง, มีรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เปิดไฟเขียวในการควบรวมกิจการและประกาศหนุนหลังอย่างเต็มที่ แต่ยังมีแนวคิดที่แหวกแนวและยกขึ้นวางลงเรื่องราวต่างๆ ได้โดยไม่ยึดติด...

"ผมมาจากไร่จากนา คุณรู้ไหมว่าไร่นาเป็นยังไง... ในไร่ ในนามีปลากด มีกบเขียด มีงู มีปลา มีสิ่งโน้นสิ่งนี้ ผมเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมอย่างนี้แหละ ลองบอกสิว่าผมจะกลัวอะไร แพ้ก็ไม่เป็นไร ก็กลับบ้าน ผมก็กลับไปทำนา กลับไปเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ใช่ไหม? มีที่สัก 2 ไร่จีน (1 ไร่จีน = 666.7 ตารางเมตร) ไร่หนึ่งปลูกผัก อีกไร่หนึ่งปลูกข้าว แล้วจะกลัวอะไร แค่นี้ก็มีดื่มมีกินแล้ว"

ใช่ครับ! นี่แหละประโยคที่ผมคิดว่าสามารถถ่ายทอดตัวตนของชายผู้ไม่มีอะไรจะเสีย ชนะก็ดีไป แพ้ก็กลับบ้านไปทำไร่ทำนา ผู้นี้ได้ชัดเจนที่สุด... ชายผู้นี้คือ หลี่ ซูฝู ไอ้บ้าแห่งวงการรถยนต์จีนและเจ้านายคนใหม่ของวอลโว่

ข้อมูลอ้างอิงจาก:
- หนังสือหลี่ ซูฝู ไอ้บ้าแห่งวงการรถยนต์
- Man in the News: Li Shufu, FT.com, 26 Mar 2010.
- , Business Times 20 Mar 2010.
- http://baike.baidu.com/view/99375.htm

อ่านเพิ่มเติม :
- เมื่อ London Black Cabs เปลี๊ยนไป๋! นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2549
- โรงแรมอังกฤษ Made in Shenzhen นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนมิถุนายน 2551   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us