เรื่องของวิสิษฐ์ ตันสัจจากับอาราเบียนไทย เป็นเรื่องที่ "ผู้จัดการ"
ได้เคยเขียนถึงไปแล้วด้วยความรู้สึกที่ขมขื่นต่อการกระทำของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักบริหารมืออาชีพในยคุหนึ่งบางคน
ส่วนเรื่องระหว่างอาราเบียนไทยกับวิวัฒน์ สุวรรณภาศรี นี้ก็มาในทำนองไม่ต่างกันเท่าไรนัก
เพียงแต่จุดหมายปลายทางของความแตกหักแทนที่จะเป็นการเลิกราเหมือนกรณีวิสิษฐ์ก็กลายเป็นว่าทั้งสองฝ่ายต้องมีนัดพบกันที่ศาลแพ่ง
ไม่ทราบว่ายังจดจำเรื่องของบริษัทอาราเบียนไทย อินเตอร์เนชั่นแนลกันได้หรือไม่?
เรื่องของอาราเบียนไทยบริษัทร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจเชื้อสายไทยกับมหาเศรษฐีแขกจากซาอุดิอารเบียอันมีนามว่าชิ๊คซาเล่ห์นั้น
"ผู้จัดการ" ได้เคยรายงานไว้อย่างละเอียดมาครั้งหนึ่งแล้วในฉบับปีที่
1 ฉบับที่ 10 ประจำเดือนมิถุนายน 2527 ซึ่งประเด็นใหญ่ ก็คือ การบอกกล่าวว่าบริษัทอาราเบียนไทยนี้
เปิดตัวอย่างเกรียงไกรด้วยการร่วมทุนระหว่างกลุ่มของชิ๊คซาเล่ห์กับกลุ่มพรรคชาติไทยมีลูกชายพลตรีประมาณ
อดิเรกสารที่ชื่อยงยศเป็นผู้ออกหน้าทั้งนี้ก็ด้วยการชักนำของนักธุรกิจข้ามชาติระหว่างตะวันออกกลางกับไทยคือไพโรจน์
เปี่ยมพงษ์ศานต์ ลูกเขยประทีป เชิดธรนินทร์ที่เป็นเลขาฯ ของพลตรีประมาณ
และอาราเบียนไทยในขณะนั้นก็ประกาศอย่างอหังการ์ว่า มีเงินจำนวนไม่อั้นที่พร้อมจะส่งจากตะวันออกกลางเข้ามาลงทุนในโครงการใหญ่ๆ
ในประเทศไทย แม้แต่ธนาคารเพื่อการลงทุนทางกลุ่มนี้ก็พยายามที่จะตั้งขึ้น
แต่เผอิญโชคชะตาได้พาอาราเบียนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่ม "ตึกตำ"
เข้าด้วยการที่สายชาติไทยกลุ่มพลตรีประมาณมีความสนิทสนมกับวิสิษฐ์ ตันสัจจา
มานานโดยเฉพาะยงยศแล้วก็นับถือความสามารถของวิสิษฐ์เอามากๆ
ภายหลังจากที่วิสิษฐ์ ตันสัจจา, วัฒนา ลัมพะสาระและจิตเกษฒ แสงสิงแก้ว
ต้องอกหักมาจากแบงก์นครหลวงไทยด้วยฝีมือของพี่นอ้งไหหลำตระกูลมหาดำรงค์กุลแล้ว
กลุ่มนี้ก็ได้เข้ามาบริหารบริษัทอาราเบียนไทยด้วยการชักชวนแทบจะเรียกว่า
"ใส่พาน" ให้จากยงยศ อดิเรกสาร ด้วยความที่ยงยศนั้นไม่มีความรู้และความสามารถพอที่จะเอาเงินกลุ่มชิ๊คซาเล่ห์ไปลงทุนทำอะไรให้มันดูเป็นมืออาชีพ
ก็เลยต้องเอามืออาชีพอย่างวิสิษฐ์-วัฒนา-จิตเกษมมาช่วย
ซึ่งก็เข้ามาช่วยอาราเบียนไทยใช้เงินได้อย่างสมใจมาก เพราะช่วงนี้นธุรกิจของ
"ตึกดำ" ก็กำลังร้อนเงินกันอย่างหนักอยู่พอดี
ด้วยการตัดสินใจของวิสิษฐ์ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทอาราเบียนไทยในขณะนั้น
เงินจำนวนหลายล้านบาทก็ถูกส่งจากอาราเบียนไทยไปประคองฐานะของธุรกิจกลุ่ม
"ตึกดำ" และหลังจากได้เงินไปพักเดียว "ตึกดำ" ก็ถึงกาลอวสาน
โดยที่เงินของอาราเบียนไทยนั้นก็หมดหนทางที่จะได้คืน
แล้วเรื่องของวิสิษฐ์ทีมงานนักบริหารมืออาชีพของเขากับอาราเบียนไทยก็จบลงด้วยการที่ทุกคนต้องโบกมืออำลากัน
เรื่องของอาราเบียนไทยที่ "ผู้จัดการ" ได้รายงานไปนั้น ก็เป็นเรื่องที่
วิสิษฐ์ ตันสัจจา เป็นหัวใจของเรื่อง
ส่วนเรื่องของอาราเบียนไทยคราวนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงใกล้กันนั้นเหมือนกัน
เพียงแต่ว่าหัวใจของเรื่องแทนที่จะเป็นวิสิษฐ์กลับเป็นผู้มีส่วนร่วมกับบริษัทอาราเบียนไทยอีกคนหนึ่งที่ชื่อ
วิวัฒน์ สุวรรณภาศรี
วิวัฒน์ ในยุคที่สถาบันการเงินกำลังเฟื่องนั้น เขาจัดเป็นเจ้าของสถาบันการเงินที่มีแต่คนคอยนบนอบ
วิวัฒน์ มีธุรกิจหลายอย่างทั้งค้าที่ดิน ก่อสร้าง ประกันภัยแต่ที่เป็นปมเงื่อนสำคัญก็เห็นจะได้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ส่งเสริมเงินทุนไทยที่ปัจจุบันกลายเป็นของคลังไปแล้ว
เพราะโครงการ "เรือช่วยชีวิต" ที่คลังกับแบงก์ชาติร่วมกันจัดทำขึ้นภายหลังการล้มอย่างระเนนระนาดของสถาบันการเงินหลายแห่ง
และวิวัฒน์ก็เคยรุ่งเรืองถึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกสมาคมไทยเงินทุนและหลักทรัพย์คนสุดท้ายก่อนที่จะมีการยุบสมาคมนี้ไปในปี
2528 นี้ด้วย
วิวัฒน์ สุวรรณภาศรี เข้าไปร่วมก่อตั้งบริษัทอาราเบียนไทยและก็ได้ร่วมถือหุ้นในนามส่วนตัวไว้
230 หุ้น ในนามบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ส่งเสริมเงินทุนไทย 230 หุ้นเท่ากัน
"ที่เขาเข้ามาร่วมด็ด้วยการชักชวนของยงยศ โดยวิสิษฐ์ ตันสัจจา เป็นคนแนะนำเพราะช่วงใกล้ๆ
กันนั้นวิวัฒน์ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่กลุ่มคุณบุญชู โรจนเสถียร ดึงไปซื้อหุ้นแบงก์นครหลวงฯ
จะเรียกว่าวิวัฒน์มาทางสายวิสิษฐ์ก็คงจะพูดได้…" ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์ศานต์
ชี้แจงกับ "ผู้จัดการ"
และการเข้ามาของวิวัฒน์ก็ช่างดีใจหาย เพราะขณะที่อาราเบียนไทยกำลังมองหาสถานที่ตั้งสำนักงานอยู่นั้น
วิวัฒน์ก็เสนอให้มาใช้อาคารส่งเสริมเงินทุนไทยของวิวัฒน์
"เฉพาะค่าเช่าก็คงจะคุ้มค่าลงทุนแล้วมั้ง…" แหล่งข่าวคนหนึ่งวิจารณ์
วิวัฒน์นั้นก็มาทำนองเดียวกับวิสิษฐ์และอีกหลายๆ คนที่เห็นเงินของอาราเบียนไทยที่ชี๊คซาเล่ห์ส่งเข้ามาเป็นเสมือนพระเจ้าช่วยโปรด
เพราะส่งเสริมเงินทุนไทยในนช่วงนั้นก็อยู่ในช่วงกำลังฝืดไม่ต่างไปจากพัฒนาเงินทุนของกลุ่ม
"ตึกดำ" เท่าไหร่
"วิวัฒน์เขาไปพังกับการสร้างศูนย์การค้า และมหาวิทยาลัยรามคำแหงแห่งใหม่มาก
เพราะช่วงก่อนนั้นก็มีเรื่องร้องเรียนเรื่องตึกที่สร้างร้าว ทางมหาวิทยาลัยก็เลยไม่ยอมย้าย
เมื่อไม่ย้ายศูนย์การค้าก็ขายไม่ออก เงินลงทุนที่ลงไปมันก็จมดอกเบี้ยก็แพง
ช่วงนั้นวิวัฒน์ก็เรียกว่าหมุนเงินตัวเป็นเกลียว" ผู้บริหารสถาบันการเงินรุ่นเดียวกับวิวัฒน์เล่า
การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัทอาราเบียนไทยของวิวัฒน์เมื่อเริ่มต้นกันแล้ว
วิวัฒน์ในฐานผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทคนหนึ่งก็อาศัยบารมีที่มีอยู่ดึงเอาเงินไม่ต่ำกว่า
20 ล้านบาทจากอาราเบียนไทยไปใส่ไว้ในส่งเสริมเงินทุนไทยเพื่อจะแปรสภาพไปสู่จุดอื่นต่อ
ก็ทำนองเดียวกับที่วิสิษฐ์เอาไปใส่ในพัฒนาเงินทุน และอีกหลายคนก็เอาไปใส่ไว้ตามที่ต่างๆ
กันอย่างสนุกมือ
แต่วิวัฒน์ ดูจะมีภาษีที่ดีกว่าวิสิษฐ์อยู่นิดก็ตรงที่ส่งเสริมเงินทุนไทยยังประคองตัวมาได้อีกพักใหญ่ๆ
ก่อนจะกลายเป็น 1 ใน 25 กิจการที่คลังกับแบงก์ชาติต้องเข้ามาช่วยอุ้ม ส่วนพัฒนาเงินทุนนั้นใส่ไปแล้วพักเดียวก็ล้ม
ในขณะที่วิสิษฐ์ต้องตกเป็นขี้ปาก
วิวัฒน์จึงยังรอดมาได้ชนิดหวุดหวิด
และก็อาจจะรอดไปได้ตลอดฝั่งก็เป็นได้ ถ้าวิวัฒน์ไม่ย่ามใจถึงขนาดเอาบริษัทในเครือบริษัทหนึ่งมาเอาเงินไปจากอาราเบียนไทยพร้อมกับตัววิวัฒน์เองเป็นผู้ลงนามค้ำประกัน
บริษัทที่ว่านี้มีชื่อสั้นๆ ว่า "แสน" จำกัด
บริษัทแสนนั้นตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 แสนบาท แล้วต่อมาก็เพิ่มทุนเป็น
4 แสน ตัวเจ้าของเดิมเป็นคนมาเลเซียชื่อ ชู กิม ซัน กับ ลี อิง ชี
ชื่อเดิมของบริษัทนี้ก็ชื่อ บริษัทแสนการลงทุน จำกัด โดยเป็นกิจการทรัสต์เถื่อนที่ยุคนั้นกำลังแพร่หลายกันกว้างขวาง
วิวัฒน์ ได้ซื้อกิจการบริษัท "แสนการลงทุน" เข้ามาอยู่ในเครือส่งเสริมเงินทุนไทยอย่างเงียบๆ
(เพราะไม่เคยแสดงตัวเลยว่ามีบริษัทนี้อยู่ในเครือ) เมื่อปี 2521 ภายหลังจากที่บริษัทนี้เปลี่ยนเจ้าของมาแล้วหลายคน
"เขาก็ไม่เข้าไปถือหุ้นเอง แต่เอาญาติหลายคนเข้าไปถือหุ้น…"
คนที่รู้ความเป็นมาบริษัทนี้บอกกับ "ผู้จัดการ"
บริษัท แสน การลงทุน เมื่อมาอยู่ในมือของกลุ่มวิวัฒน์ สุวรรณภาศรี นั้นก็ได้เพิ่มทุนอยู่หลายครั้ง
จนปัจจุบันนี้มีทุนจดทะเบียน 6,667,000 บาท มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 37 คน โดยหุ้นใหญ่ล้วนแล้วแต่คนที่ใช้นามสกุล
"สุวรรณภาศรี" ทั้งสิ้น
และในปี 2527 บริษัทเปลี่ยนชื่อให้สั้นลงโดยตัดคำว่า การลงทุนออกไปเหลือแต่คำว่า
"แสน" คำเดียว เพราะคำว่า "การลงทุน" นั้นขัดต่อประกาศของแบงก์ชาติที่ออกมาเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดของประชาชนว่าบริษัทไหนเป็นสถาบันการเงินที่ถูกต้อง
อันไหนเป็นสถาบันการเงินเถื่อน ซึ่งก็เช่นเดียวกับอีกหลายคำที่ทำให้ช่วงนั้นบรรดาทรัสต์เถื่อนทั้งหลายต้องเปลี่ยนชื่อกันเป็นทิวแถว
หลังจากเปลี่ยนชื่อได้ไม่นานนั้น บริษัทแสน ก็ติดต่อกู้เงินจากบริษัทอาราเบียนไทย
โดยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2527 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้กับบริษัทอาราเบียนไทย
2 ฉบับ ฉบับแรกจำนวน 10 ล้านบาท ฉบับหลังจำนวนเท่ากัน ซึ่งทั้ง 2 ฉบับก็ลงนามค้ำประกันโดยวิวัฒน์
สุวรรณภาศรี ที่ก็เป็นกรรมการของอาราเบียนไทยอยู่ด้วย
เมื่อครบอายุตั๋วคือ 1 ปีตามที่ระบุไว้ก็ปรากฏว่า อาราเบียนไทยเรียกเงินคืนไม่ได้
พยายามทวงถามอยู่นานก็ไม่สำเร็จ
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมาหลังจากปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังมาพอหอมปากหอมคอแล้ว
บริษัทอาราเบียนไทยโดยภิญโญ พิริยะเมธา ผู้รับมอบอำนาจก็ได้แต่งตั้งให้ทนายยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง
บริษัทแสนจำกัด เป็นจำเลยที่ 1 วิวัฒน์ สุวรรณภาศรี เป็นจำเลยที่ 2 เรื่องขอให้เป็นบุคคลล้มละลาย
เพราะมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทวงถามแล้วไม่ชำระ เป็นมูลคา 23,501,369.86 บาท
ซึ่งศาลก็ได้ประทับรับฟ้องเพื่อจะดำเนินการต่อไป
"ผมไม่ทราบเรื่องเลยนะ ทราบแต่ว่าได้ทวงถามกันไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังเคลียร์ไม่ได้…"
ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์ศานต์กล่าวสั้นๆ กับ "ผู้จัดการ" และพยายามออกตัวที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆ
ก็อาจจะเป็นได้ที่เรื่องราวระหว่างอาราเบียนไทยกับบริษัทแสนและวิวัฒน์นี้เป็นเรื่องของคนที่เคยร่วมกอดคอกันด้วยความรัก
แต่จู่ๆ ก็จะต้องลงมีดกันคนละแผลสองแผล คำอธิบายนั้นย่อมไม่ใช่จะพูดกันได้ง่ายๆ
และก็อย่าได้มีใครเที่ยวไปถามชี๊คซาเล่ห์เชียวเพราะถามไปก็อายแขกเปล่าๆ