ในขณะที่โรงงานผลิตถ้วยชามเซรามิคในซอยนวลทองที่มีสุรีย์พร นิมมานเหมินท์คุมการก่อสร้างอยู่กำลังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
โดยไม่วิตกต่อสายฝนที่กระหน่ำลงมาเป็นครั้งคราว ที่กรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งไปยื่นจดทะเบียนขอตั้งบริษัท
โดยระบุประเภทธุรกิจในระยะเริ่มแรกว่าเพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตเซรามิคและเครื่องเคลือบ
เครื่องปั้นดินเผา
บริษัทนี้ยื่นจดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2529 ในชื่อของบริษัท ที.เบรนส์
จำกัด (THE T. BRAINS COMPANY LIMITED) จึงจัดได้ว่าเป็นบริษัทน้องใหม่ล่าสุดในวงการอุตสาหกรรมเซรามิคของประเทศไทย
หุ้นของบริษัทที.เบรนส์แบ่งออกเป็น 120,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาทชำระเต็มมูลค่า
ทุนจดทะเบียนเท่ากับ 12 ล้านบาท
มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 13 ราย 12 รายเป็นผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาและเป็นคนไทย
รายสุดท้ายเป็นนิติบุคคลของเยอรมันชื่อว่าบริษัทเครามิชเชอร์อินดัสทรี-เบดราฟ
จำกัด ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมเซรามิคของเยอรมันและในช่วงที่สุรีย์พร
นิมมานเหมินท์เรียนจบก็เคยฝึกงานในโรงงานแห่งนี้ รวมทั้งเมื่อตอนที่สุรีย์พรตั้งโรงงานที่
7 ของกลุ่มเสถียรภาพเพื่อผลิต TABLEWARE คุณภาพสูงก็สั่งเตาเผาจากบริษัทแห่งนี้เช่นกัน
"T.BRAINS นั้นย่อมาจากชื่อเต็มว่า TWELF BRAINS คงหมายถึงผู้ถือหุ้นคนไทยทั้ง
12 คนในบริษัทนี้ แต่ถ้าดูรายชื่อผู้ถือหุ้นคนไทยแล้ว คนในวงการเซรามิคส่ายหน้ากันหมดไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน
มันน่าประหลาดมากเพราะคนที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้จะต้องมีมือเก่าอยู่บ้างไม่งั้นพังแน่
ไม่รู้นะ T.BRAINS อาจจะหมายถึง TWO BRAINS คือ 2 แม่ลูกนั้นก็เป็นได้"
แหล่งข่าวในกลุ่มเจ้าหนี้เสถียรภาพบอกกับ "ผู้จัดการ"
ไม่ใช่เรื่องที่ลึกลับเกินไปที่ "ผู้จัดการ" จะสืบรู้ว่าบริษัทที.เบรนส์
ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ๆสดๆ นี้ก็คือบริษัทที่เป็นเจ้าของโรงงานที่สุรีย์พร นิมมานเหมินท์กำลังคุมงานก่อสร้างอยู่
คงไม่ต้องเดากระมังว่าสุรีย์พรเกี่ยวข้องในบริษัทนี้อย่างไร
"ในทางธุรกิจแล้วมันไม่เป็นปัญหาหรอกที่คุณจะสามารถคุมการบริหารของกิจการใดกิจการหนึ่ง
โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องถือหุ้นเลยแม้แต่หุ้นเดียว คนจดทะเลียนมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ทำไปสิเสร็จแล้วก็เซ็นโอนลอยไว้ให้คุณ
บริษัทมหาชนเขายังทำกันเกร่อ นี่เป็นบริษัทจำกัดธรรมดา ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่เพราะตรวจสอบไม่ได้
"แหล่งข่าวรายเดียวกันอธิบายต่อ
สำหรับรายชื่อผู้ถือหุ้นทั้ง 13 รายของบริษัท ที.เบรนส์ จำกัด มีดังต่อไปนี้
1. นายสัดทัด แก้วชิงดวง 2,400 หุ้น
2. นายธีระ ชลธาร์นนท์ 16,800 หุ้น
3. นายมานิตย์ ปรียงค์ 2,400 หุ้น
4. นายสุรเชษฐ์ สิทธิไพโรจน์สกุล 2,400 หุ้น
5. นายทวี พาณิชย์วิสัย 42,000 หุ้น
6. นายไพโรจน์ เพ็ญสุด 2,400 หุ้น
7. นายสมาน พวงสุดรัก 2,400 หุ้น
8. นายสมชัย ธรรมภูษิต 2,400 หุ้น
9. นายชัยยง เลิศเสนาะวจี 2,400 หุ้น
10. นายเริงยุทธ อัญชุลี 2,400 หุ้น
11. นายอนันต์ แตงเอี่ยม 1,200 หุ้น
12. นายสัญชัย แซ่ลิ้ม 1,200 หุ้น
13. บริษัทเครามิชเชอร์ฯ 39,600 หุ้น
รวม 120,000 หุ้น
ผู้ถือหุ้นคนไทยส่วนใหญ่มีที่อยู่อาศัยในย่านกระทุ่มแบน นครชัยศรีและบางขุนเทียน
ชื่อ
แม้จะใหม่ในวงการเซรามิค แต่เชื่อว่าหลายคนมีความรู้เรื่องการผลิตถ้วยชามเซรามิคเป็นอย่างดี
"ดูจากรายชื่อผู้ถือหุ้นแล้ว หากมีคดีกับเสถียรภาพเราคงไปยุ่งอะไรกับบริษัทใหม่นี้ไม่ได้เพราะ
2 แม่ลูกคู่นี้เขาไม่ยอมเอาชื่อไปเกี่ยวข้องเลย ในทางตรงกันข้ามมันก็ยิ่งส่อเจตนาของเขาว่าเขามีเจตนาเบี้ยวตั้งแต่แรกแล้ว
การสร้างหนี้สินให้ล้นพ้นตัวเพื่อให้ถูกฟ้องล้มละลายเป็นเรื่องที่วางแผนมาก่อน"
เจ้าหนี้อีกรายหนึ่งพูดอย่างแค้นๆ
คนเรานั้นทำอะไรคนอื่นอาจจะไม่รู้ กฎหมายเอาเรื่องไม่ได้ แต่ตัวเองและฟ้าดินย่อมรู้
ชักเป็นห่วง "คุณยุ้ย" เสียแล้วสิ กำลังอยู่ในช่วงฤดูฝนอยู่ด้วยอย่าออกไปคุมงานกลางแจ้งบ่อยนัก
เดี๋ยวฟ้าจะผ่าเอา!