Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2529
LIFE BOAT รั่วคลัง-แบงก์ชาติทุ่งเงินหมื่นล้านอุดแต่อุดไม่ถูกรู             
 


   
search resources

ศุภชัย พานิชภักดิ์
Financing




เมื่อ 2 ปีก่อนครั้งที่เกิดวิกฤติการณ์สถาบันการเงินครั้งที่สอง สถานบันการเงินประเภทต่างๆ 19 แห่งถูกถอนใบอนุญาตตามนโยบายของ สมหมาย ฮุนตระกูล รมว.คลังสมัยนั้นที่บอกว่า "สถาบันการเงินไหนไม่ดีจะปล่อยให้ล้ม " สถาบันการเงินที่ดีอยู่ทางการก็จะให้ความช่วยเหลือตามโครงการที่ออกมา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2527 ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นโครงการ LIFE BOAT เมื่อ 2 ปีผ่านไป แค่หมาดๆ LIFE BOAT ลำนี้แทนที่จะรอดกลับจะจมลงเสียเอง และที่เป็นเช่นนั้นก็เป็นฝีมือของบรรดาที่เรียกกันว่ามืออาชีพทั้งหลายของกระทรวงการคลัง และของแบงก์ชาติที่ถูกส่งเข้าไปบริหาร

คนแรกที่ใช้คำว่าโครงการ LIFE BOAT กับสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นใหญ่จำนวน 25 บริษัทก็คือ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์เมื่อครั้งที่ยังทำงานที่แบงก์ชาติในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน และใช้กันติดปากคู่กับคำว่า "โครงการ 4 เมษายน" (อ่านล้อมกรอบประกอบเรื่อง)

"LIFE BOAT หรือเรือช่วยชีวิตเป็นชื่อโครงการที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเมื่อประมาณ 12 ปีก่อน เป็นโครงการที่ธนาคารกลางของอังกฤษรับโอนหุ้นบริษัทที่มีปัญหากลุ่มหนึ่งประมาณ 20 กว่าบริษัทเหมือนกับที่เราทำกับสถาบันการเงินกลุ่มนี้คือเราเข้าไปเป็นเรือลำใหญ่รับขึ้นมาทีเดียวเลย และใครที่สามารถช่วยตัวเองได้ ก็สามารถลอยตัวเองออกจากโครงการไปได้" ประโยคหนึ่งของดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ที่พูดเมื่อประมาณต้นปี 2528

การเข้าไปรับโอนหุ้นและส่งคนเข้าไปบริหารสถาบันการเงินที่มีทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตั้งแต่ต้นปี 2527 ตามโครงการ 4 เมษายน ในปีแรกเป็นไปอย่างเงียบเชียบเจ้าหน้าที่ผุ้รับผิดชอบก็ออกมาแถลงเพียงว่ากำลังแบ่งแยกสถาบันการเงินในโครงการออกเป็นกลุ่มๆ อย่าง 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีบริษัทแกนนำขึ้นมาเพื่อบริหารสถาบันการเงินในกลุ่มตนทั้งหมดในขั้นตอนนี้เรียกกันว่าใช้นโยบายบริหารแบบ MANAGEMENT POOL

"นโยบายที่กำหนดให้มีการบริหารเป็นกลุ่มหรือ POOL ก็เพื่อลดค่าใช้จ่ายทางด้านการบริหาร ทางการก็ไม่ต้องส่งคนเข้าไปมากคอยควบคุมทางด้านนโยบายและให้การช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น และในระหว่างที่กำลังคัดเลือกบริษัทเงินทุนเข้ามาในโครงการคุณเริงชัย มะระกานนท์ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับฯ สถาบันการเงินถูกย้ายไปเป็นผู้อำนวยการฝายการธนาคาร โดยเลื่อนดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการฝ่าย ตอนนี้แหละที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ใหญ่มาก ยกเลิกหลักการ POOL ทั้งหมด ให้บริษัทเงินทุนแต่ละแห่งบริหารกันเองที่เรียกว่า LIFE BOAT" ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ "ผู้จัดการ"ฟัง

จุดมุ่งหมายของการเปลี่ยนนโยบายเป็นแบบ LIFE BOAT ก็เพื่อให้แต่ละบริษัทที่มีพื้นฐานปัญหาต่างกัน แยกกันดำเนินธุรกิจใครเข้มแข็งได้ก่อนก็โอนหุ้นให้เจ้าของเดิม หรือผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในสถาบันการเงินเท่ากับเป็นการปล่อยออกไปจากโครงการ บริษัทไหนยังอ่อนแอ ย่ำแย่ทางการก็จะประคองฟูมฟักต่อไปแต่ตั้งเป้าหมายว่าไม่เกิน 5 ปีต้องฟื้น

"จุดนี้ก็คือจุดแรกที่กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติพลาด เพราะแนวคิดเดิมที่จะให้บริหารแบบ POOL นั้นทางการจะจ้างมืออาชีพเข้ามา ส่วนคนของทางการจะคอยควบคุมดูแล ซึ่งถ้ามีแค่ 3 กลุ่มก็ไม่ต้องใช้คนมากมายนัก แต่พอแตกตัวไปเป็น 25 บริษัทต่างคนต่างบริหารจะเอาเงินที่ไหนไปจ้างนักบริหารมืออาชีพเข้ามา หรือถึงมีเงินจะไปเอาคนที่ไหน" อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนในโครงการวิเคราะห์

เมื่อหามืออาชีพข้างนอกไม่ได้ กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติก็ตัดสินใจส่งข้าราชการในสังกัดของตนเข้าไปเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของสถาบันการเงินในโครงการ

"การตัดสินใจแบบนี้มันสะท้อนให้เห็นถึงทัศนะแบบเก่าๆ ของข้าราชการไทยคือคิดเสมอว่าพวกเอกชนพวกพ่อค้านี่ไว้ใจไม่ได้ แทนที่จะดึงเอาพวกเจ้าหนี้หรือผู้ถือตั๋วรายใหญๆ เข้ามาบริหารซึ่งเขาจะต้องดูแลผลประโยชน์ของเขาเต็มที่อยู่แล้วทางการคอยดูแลและให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องก็พอแล้ว ส่งข้าราชการประจำเข้าไปอาจจะซื่อสัตย์จริงแต่ไม่รู้เรื่องธุรกิจผลออกมามันก็มีแต่พังกับพัง" อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนรายเดิมให้ความเห็นต่อ

เสรี ทรัพย์เจริญอดีตผู้บริหารบริษัทราชาเงินทุนเคยพูดเตือนไว้ใน "ผู้จัดการ" ตั้งแต่ฉบับเดือนมกราคม 2528 ว่า "ต่อไปนี้ใครจะเป็นคนกำกับตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติล่ะ…อะไรผิดอะไรถูกจะทราบได้อย่างไร เมื่อผู้มีอำนาจตรวจสอบกับผู้ลงมือกระทำเป็นคนๆ เดียวกัน"

แม้จะมีเสียงคัดค้านหนาหูกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ฟังข้าราชการกระทรวงการคลัง พนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยก็เดินแถวเข้าไปกินตำแหน่งกรรมการของสถาบันการเงินในโครงการร่วมๆ 100 คน (ดูล้อมกรอบประกอบเรื่อง) รับทั้งเบี้ยประชุมกรรมการ รับทั้งเงินเดือนกรรมการและรับทั้งเงินเดือนข้าราชการ

"ผมว่าไม่ใช่เปลี่ยนตัวผู้อำนวยการฝ่ายฯจากคุณเริงชัยมาเป็นดร.ศุภชัยแล้วนโยบายเปลี่ยน คุณอย่าลืมว่าสถาบันการเงินที่เข้ามาในโครงการนั้นไม่ใช่ว่าใครอยากจะเข้าก็ได้ ก่อนที่ทางการเขาจะรับเข้ามา เขาต้องให้ผู้บริหารเดิมแสดงฐานะทั้งหนี้สินและทรัพย์สินออกมาให้ชัดเจนมีการกลั่นกรองกันพอสมครว แต่พอรับเข้ามาแล้ว ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบละเอียดจริงๆ ก็พบว่าหนี้สินมันปูดขึ้นมาจากตอนแรกอีกเยอะ ทรัพย์สินบางรายการก็ไม่มีค่า มีราคาต่ำกว่าที่ประเมินมาตอนขอเข้าโครงการตั้งมากมาย ขืนเข้าไปบริษัทประเภทนี้ก็ไปฉุดบริษัทดีๆ เขาเสียไปด้วย" ลูกน้องเก่าของดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

จะเป็นเพราะความเจ็บใจหรือหมดความเชื่อในกลุ่มผู้บริหารเดิมของสถาบันการเงินในโครงการก็แล้วแต่ นโยบายของทางการที่ตามมาหลังนโยบาย LIFE BOAT ก็คือนโยบายที่เรียกกันว่า "ล้างครัวให้สะอาด" สถาบันการเงินที่มีคนของทางการเข้าไปยึดหัวหาดเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มดำเนินการเรียกเก็บหนี้สินทั้งทางด้านลูกค้าและผู้บริหารเดิมโดยแทบจะหยุดทำธุรกิจประเภทอื่น

"คือเขาเห็นว่าครัวมันสกปรกเพราะผู้บริหารเดิมมันทุจริต ซึ่งผิดกับทัศนะเดิมที่มองว่าพวกนี้เป็นคนดี ทางการจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ ก็มีการปลดผู้บริหารเดิมออกเป็นการใหญ่ ทีนี้ทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่สำคัญมากของสถาบันการเงิน 25 แห่งนี้ก็คือเงินสินเชื่อที่ปล่อยให้ลูกค้าไปประมาณ 12,000-15,000 ล้านบาท (ต้นปี 2528) โดยผู้บริหารเดิม เมื่อคนของทางการเข้ามาไม่รู้จักใครก็ทวงหนี้ดะไปหมด วงเงินกู้ก็ไม่ให้ ลูกหนี้ก็เลยไม่ยอมชำระ เป็นยุคที่ลูกหนี้ไม่กลัวเจ้าหนี้ฟ้องได้ฟ้องไป ซึ่งก็ฟ้องได้ไม่กี่รายที่มีหลักฐานชัดเจน" ทนายรายหนึ่งที่เชี่ยวในแวดวงธุรกิจเล่าให้ฟัง

เทคนิคอย่างง่ายๆ ที่ลูกหนี้ไม่กลัวเจ้าหนี้ที่เป็นคนของทางการก็คือ ผู้บริหารเดิมของสถาบันในโครงการบางแห่งมีลายเซ็นหลายแบบ อนุมัติให้สินเชื่อก็แบบหนึ่ง ลงนามทำสัญญานิติกรรมอื่นก็อีกแบบหนึ่ง ลูกหนี้รายไหนถูกฟ้อง ผู้บริหารเดิม (ที่แค้นอยู่แล้ว) ให้การว่าลายเซ็นที่อนุมัติสินเชื่อรายนั้นไม่ใช่ของตน ลูกหนี้ที่ว่านี้ไม่เคยเห็นหน้าไม่เคยมากู้เงินกับบริษัทของตนมาก่อนเลย เผลอๆ เจ้าหน้าที่ของทางการจะถูกฟ้องกลับฐานปลอมแปลงเอกสารเหมือนอย่างดุษฎี สวัสดิ-ชูโตเคยโดนมาแล้สมัยที่เป็นประธานบริษัทเงินทุนแห่งหนึ่ง

"โธ่คุณ…เอาข้าราชการมาบริหารธุรกิจมันจะได้ผลได้ยังไง และนี่ไม่ใช่ธุรกิจธรรมดามันเป็นเรื่องของการบริหารเงินที่ต้องใช้มืออาชีพ เอาข้าราชการที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาก่อนมาทำก็เลิกคิดได้เรื่องที่จะมีกำไร พวกนี้ไม่มีความรู้หนึ่งไม่มี SENSE OF BELONGING อีกหนึ่งเขาให้มาทำก็มาทำตามหน้าที่รับมอบหมายอะไรที่เกินเลยกว่านั้นเขาก็ไม่ยอมทำแล้วแม้จะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อบริษัท" พนักงานระดับสูงของแบงก์พาณิชย์แห่งหนึ่งให้ความเห็น

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์เองก็รู้ว่าการส่งคนของทางการเข้าไป นอกจากไม่ได้แก้ปัญหาแล้วยังไปเพิ่มปัญหาก็ได้เรียกร้องอยู่ตลอดเวลาให้คนของทางการถอนตัวออกมา แต่เสียงของผู้อำนวยการฝ่ายคนหนึ่งของแบงก์ชาติมันไม่ดังพอจึงไม่มีใครฟัง

"คุณศุภชัย พานิชภักดิ์ก่อนลาออกได้ออกคำสั่งอยู่ 3-4 เรื่องที่จะถูกข้าราชการในบริษัทเงินทุน 25 แห่งรุมกระทืบ อย่างแรกก็คือให้ลดเบี้ยประชุมลงตามระเบียบรัฐวิสาหกิจซึ่งได้แค่ 150 บาทต่อครั้ง ยกเว้นระดับอธิบดีขึ้นไปได้ 200 บาท เรื่องที่สองให้งดการเบิกค่ารับรองเพราะเห็นว่าการที่เข้าไปเป็นการเข้าไปช่วยเหลือ เรื่องที่สามก็คือขอให้กรรมการที่เป็นคนของทางการทุกบริษัทรับเงินเดือนเท่ากัน และเรื่องสุดท้ายขอให้กลับสังกัดเดิม ใครที่ยังมีงานค้างอยู่ก็ให้เซ็นใบลาออกทิ้งไว้ก่อน หมดงานเมื่อไหร่จะได้กลับทันที ก็ไม่มีใครฟัง" คนใกล้ชิดดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์เล่าให้ฟัง

เมื่อเรื่องราวของสถาบันการเงินในโครงการ มีลำดับความเป็นมาตามที่ "ผู้จัดการ" เสนอไปนั้น ผลก็คือในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2529 เป็นต้นมา คำถามของนักข่าวที่ว่า "บริษัทเงินทุนในโครงการ LIFE BOAT" ไปถึงไหนแล้ว เป็นคำถามที่คนแบงก์ชาติหลายคนอึดอัดเป็นที่สุด ข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงไม่มีใครอยากจะพูดออกมา

จนกระทั่งหลังการยุบสภาผู้แทนฯ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 สมหมาย ฮุนตระกูลยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าตนจะไม่กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกเพราะได้แก้ไขปัญหาด้านการเงินการคลังไปมากแล้ว เหลืออยู่เรื่องเดียวก็คือสถาบันการเงินในโครงการ 25 บริษัท จะพยายามดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 เดือนที่รักษาการณ์อยู่ ก็ทำให้สาธารณชนพุ่งความสนใจมาที่เรื่องนี้อีกครั้ง

"คุณสมหมายต้องพูดอย่างนั้น เพราะจะว่าไปนโยบายนี้เป็นนโยบายของคุณสมหมาย เพราะนโยบายของแบงก์ชาติเดิมก็คือตั้งสถาบันประกันเงินฝาก และก็น่าเชื่อว่าตอนที่คุณสมหมายบอกว่าจะเคลียร์เรื่องสถาบันการเงิน 25 แหงนี้ให้เรียบร้อยภายใน 3 เดือน ท่านก็คงไม่ทราบว่าเรื่องราวบานปลายไปถึงไหนแล้วเนื่องจากไม่มีใครกล้ารายงาน" อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแบงก์ชาติเล่าให้ฟัง

ผลก็คือคนของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติต้องทำงานกันหัวปั่นเพื่อรวบรวมตัวเลข ทำรายงานประเมินผลส่งให้สมหมาย ฮุนตระกูล ที่ว่าต้องหัวปั่นนั้นเพราะเดิมทีต่างคนต่างทำ ภาพรวมๆ เป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ พอต้องรวบรวมทีก็เหนื่อยหน่อย

"ก็มีข่าวออกมาเป็นระยะๆ หลังจากนั้นว่ามีบริษัทเงินทุนในโครงการเท่านั้นเท่านี้บริษัทแข็งแรงพอที่จะออกจากการดูแลของทางการได้แล้ว กำลังจะขายหุ้นคืนให้กับผู้บริหารเดิมบ้างหล่ะ ผมถามคุณว่าบริษัทยังขาดทุนอยู่โทนโท่ ขนาดประชาชนเชื่อถือเพราะทางการถือหุ้นอยู่ยังเข็นไม่ค่อยไหว คุณเป็นเจ้าของเก่าคุณจะรับคืนมาไหม" อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนในโครงการอีกรายให้ความเห็น

วันที่ 23 กรกฎาคม 2529 หลังการประชุมครม.นัดสุดท้ายสำหรับรัฐบาลรักษาการณ์เพียงวันเดียว สื่อมวลชนทุกแขนงก็ไปแออัดกันในห้องประชุมกระทรวงการคลังเพื่อฟังการสรุปฟลของทากงารในการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน

ก็ผิดหวังไปตามๆ กันเพราะแทนที่สมหมาย ฮุนตระกูลจะเป็นผู้แถลงเองกลับส่งตัวแทนของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติคือพนัส สิมะเสถียร ภุชงค์ เพ่งศรี นิพัทธื พุกกะณะสุต กำจร สถิรกุล และจรุง หนูขวัญร่วมกันแถลง

ประเด็นของการแถลงก็คือสถาบันการเงินในโครงการได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้นเพราะมีเงินฝากเพิ่มขึ้น และทางการได้ให้ความช่วยเหลือเป็นเงินเพิ่มทุน 1,750 ล้านบาท เงินกู้ซอฟท์ โลนจากแบงก์ชาติ 3,200 ล้านบาท ยอดกู้คงค้างจากกองทุนเสริมสภาพคล่องของธนาคารกรุงไทยอีก 2,700 ล้านบาท และเตรียมที่จะเพิ่มทุนในบริษัทเงินทุนอีก 4 แห่งซึ่งคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 1,500 ล้านบาท ทั้งหมดจะไม่เกินวงเงิน 8,800 ล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัททุกแห่งยังขาดทุนอยู่เพราะบัญชีเดิมมีการตกแต่งโดยผู้บริหารชุดเก่า เมื่อทำตัวเลขให้ตรงความเป็นจริงจึงมีผลขาดทุนมาก

ฟังดูก็เหมือนถอดแบบมาจากคำแถลงเรื่องธนาคารสยามยังไงก็ยังงั้น

ท่าทีของทางการต่อไป และอนาคตของสถาบันการเงินในโครงการก็คงมั่นคงแข็งแรงตามที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติแถลง เพราะเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าเกิดมีบริษัทเงินทุนในโครงการไปไม่ไหวจะมีการเพิกคอนใบอนุญาตหรือไม่ ซึ่งนิพัทธ์ พุกกะณะสุต รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลังตอบอย่างชัดเจนว่า

"อย่าเพิ่งบอกว่าทำไม่ไหว มันไปไหวทุกบริษัท ขึ้นอยู่ว่าเราจะต้องใช้เงินหรือมาตรการต่างๆ มากมายขนาดไหน"

"ผู้จัดการ" เชื่ออย่างที่นิพัทธ์ พุกกะณะสุตพูดว่าบริษัทไหนมันก็ไปได้ทั้งนั้นถ้าอัดฉีดเงินเข้าไปเรื่อยๆ ส่วนมาตรการแก้ไข คงไม่ต้องออกมามากมายนักหรอกครับ

หาวิธีการมาตรการดึงข้าราชการของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ที่ต้องเสียสละเวลาในหน้าที่การงานออกไปนั่งเป็นกรรมการบริษัทเงินทุนในโครงการ 25 แห่งกลับสังกัดเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ภายในระยะ 1-2 ปีก็คือได้ว่าแก้ปัญหาได้เกินครึ่งแล้ว

เร็วๆ หน่อยนะครับ เพราะได้ยินข่าวมาว่าข้าราชการโดยเฉพาะของกระทรวงการคลังระดับซี.5-6 เกิดค่านิยมใหม่ขึ้นแล้วว่า

ใครไม่ได้เป็นกรรมการสถาบันการเงินในโครงการ..คนๆ นั้นไม่เท่.

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us