คนหนุ่มอายุราวๆ 40 ปีที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ก็ต้องนับว่ามีความสามารถ
ยิ่งถ้าคนหนุ่มคนนั้นดำเนินธุรกิจสามารถคว้ากำไรเข้ากระเป๋าอย่างเงียบๆ
สัก 400-500 ล้านบาท โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วันย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา
มันเป็นเรื่องของคนเก่งระดับเซียนที่ใครๆ ได้ฟังแล้วต้องทึ่งเป็นที่สุด!!
ศิริชัย บูลกุล เขาทำมาแล้วเมื่อ 8 ปีก่อน
แต่ทว่าวันนี้เขาก็ต้องทุ่มโถมแรงกายใจ ฝ่าฝันอุปสรรคทางธุรกิจครั้งสำคัญของชีวิต
เพราะเขาเกรงว่าเขาจะต้อง "ซ้ำรอยเดิม" ที่ต้องเดินทางจากเมืองไทยไปฮ่องกงเมื่อปี
2512 อีกครั้ง
ศิริชัย บูลกุลเป็นลูกชายคนสุดท้องของ มา บูลกุล ที่เกิดจากภรรยาหลวงในเมืองไทย
เขาลืมตามองดูโลกในวันที่ค่อนข้างสดใส (2484) อันเป็นห้วงเวลาที่พ่อของเขากำลังประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูภาวะการค้าข้าว
ในฐานะผู้จัดการบริษัทข้าวไทยของรัฐบาลที่กล้าอาสาเข้าแก้ไขวิกฤตจนลุล่วงไปได้
(โปรดอ่านล้อมกรอบเรื่อง "มา บูลกุล : พ่อที่ลูกๆ ไม่ถอดแบบ")
ศิริชัยนับเป็นคนโชคดีที่เกิดมาในยุคที่ครอบครัวอันมีจะกิน เขาเริ่มการศึกษาชั้นต้นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
และต่อระดับมัธยมโรงเรียนเซ็นต์สตีเว่น ที่ฮ่องกงหลังจากนั้นก็บุกน้ำข้ามมหาสมุทรเรียนไฮสคูลที่บอสตัน-
- วอเชสเตอร์ อาคาเดมี่ สหรัฐอเมริกา
เขาต้องหยุดเรียนกลางคันเมื่อพ่อของเขาจากโลกด้วยน้ำมือของน้องชายคนละแม่
"ไอ้ช้างตอนนั้นเป็นคนชอบสนุกและชอบเล่นการพนันเป็นชีวิตจิตใจ อย่างว่าเกิดมาสบาย
อีกอย่างอาจจะติดนิสัยคนฮ่องกงมาก็ได้" เพื่อนในอดีตของศิริชัยเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง เขาบอกว่าที่เรียก "ไอ้ช้าง" เพราะตอนเด็กๆ
ศิริชัย บูลกุลเป็นคนอ้วนตุ๊ต๊ะ
เพราะการพนันขึ้นสมองนี้เอง เขาจึงไม่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจในระยะนั้นงานแรกที่ศิริชัยจับคือธุรกิจก่อสร้างงานโยธาในฐานทัพสหรัฐที่อู่ตะเภา
"ทางดีมาก แต่ดันขาดทุน" เพื่อนของเขาว่า
"เวลาส่วนใหญ่เขามักจะขลุกอยู่ที่โรงแรมดุสิตธานี และสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ
เล่นไพ่ คุณธาตรี ประภาพรรณกรรมการรองผู้จัดการมาบุญครองอบพืชฯ นี้ก็เป็นเพื่อนกันมาสมัยนั้น"
ในปี 2512 ศิริชัย บูลกุลต้องเดินทางไปปักหลักที่ฮ่องกงอย่างเงียบเชียบ
โดยมีเพื่อนที่ชื่อสมชาย เชาววิศิษฐ์เพียงคนเดียวไปส่งที่สนามบิน บางคนบอกว่าเขาจะไปแสวงโชค
แต่หลายคนก็บอกว่าเขาหนีหนี้?
เกาะฮ่องกงเป็นดินแดนของนักเสี่ยงโชคโดยแท้ ลูกจ้างร้านบะหมี่ริมน้ำอาจโชคดีเป็นเศรษฐีอยู่บนยอดเขาวิคตอรี่ในวันหนึ่งข้างหน้านั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
มหาเศรษฐีหลีกาเชียงก็สร้างตัวจากไม่มีอะไรกลายเป็น "เจ้าพ่อ"
อุตสาหกรรมมูลค่ากว่าพันล้านเหรียญสหรัฐมาแล้ว หรือแม้แต่เซอร์ วาย เคเปา
ราชาเดินเรือของโลกผู้เป็นข่าวในหนังสือทั่วโลกในปัจจุบันก็เริ่มต้นเช่นเดียวกัน
ที่ฮ่องกงธุรกิจมีชื่อของโลกแห่มาเปิดกิจการสินค้าฟุ่มเฟือย ตั้งแต่ คาร์เทียร์
กุทชิ เฮอร์เมส ฯลฯ ว่ากันว่าที่แปลกก็คือฮ่องกงอยู่ในเขตร้อน แต่กลับมีร้านขายขนสัตว์สตรีเกลื่อนกลาด
นอกจากฮอลลีวู้ดแล้วมีที่ฮ่องกงเท่านั้นที่สามารถเห็นสตรีสวมเสื้อขนมิงค์สีชมพูก้าวลงจากรถโรลส์รอยซ์สีเดียวกับเสื้อ
ศิริชัย บูลกุลได้ค้นพบว่าธุรกิจค้าข้าวของพ่อ - ห้างจินเส็งฮงที่ฮ่องกงมี
"กำไร" ซ่อนอยู่จำนวนมาก เขาเก็บเรื่องราวนี้เป็นความลับ ในที่สุดเขาได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนี้
"ผมไม่ทราบว่าเขาทำอย่างไรพวกพี่ๆ จึงยอมขายหุ้นให้ เพียงแต่รู้กันว่ากิจการนี้ตามบัญชีแล้วกำไรน้อยมาก"
แหล่งข่าวใกล้ชิดเหตุการณ์ไม่บอกตรงๆ "ต่อมาภายหลังคุณวันชัย บูลกุลไม่ค่อยจะพอใจเรื่องนี้เท่าไหร่"
เขาพูดต่อ
จากกำไรที่ซ่อนอยู่ประมาณกันว่ากว่า 100 ล้านบาท ศิริชัยได้ทำทุนก้อนใหญ่เป็นเงินต่อเงินเล่นหุ้นในตลาดหุ้นฮ่องกงที่เสี่ยงโชคของคนหนุ่มยุคนั้น
ปะเหมาะกับที่น้องชายคนละแม่ (ที่ฮ่องกง) ชื่อมาชานลี เดินทางกลับจากสหรัฐพกปริญญา
MBA. ด้านการเงินมาด้วย ต่อมาทั้งสองรักใคร่สนิทสนมกันมาก ศิริชัยมีทุน มาชานลีมีมันสมองเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
"เรื่องการเล่นหุ้นหรือความเป็นนักวางแผนทางการเงิน มาชานลีคนนี้เก่งมาก
และเป็นคนสอนศิริชัย" เพื่อนของศิริชัยคนหนึ่งยอมรับ
ผลพลอยได้ที่สำคัญ เขาใช้ชื่อเสียงของพ่อ (มา บูลกุล) สร้าง CONNECTION
กับวงการเงินในฮ่องกงได้ไม่น้อย
หลังจากที่ศิริชัย รวยอย่างไม่คาดฝันจากมรดกของผู้เป็นพ่อ และสามารถนำไปต่อเงินอีกเล็กน้อย
เขาก็พาความมั่นใจและไอเดียเดินทางกลับกรุงเทพฯ พร้อมน้องชายคนละแม่
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของเขาและ มาบุญครองกรุ๊ปในเวลาต่อมา
สิ่งแรกที่ศิริชัยทำก็คือกิจการส่งออกข้าวของบริษัทโรงสีไฟจินเส็งในประเทศไทยเรียกได้ว่าตลาดส่งออกส่วนใหญ่คือฮ่องกงประสานงานกับจินเส็งฮงที่นั่น
ตามรายงานที่กรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ระบุกว่าในปี 2516 บริษัทโรงสีไฟจินเส็งไม่ได้ดำเนินการส่งออกข้าวไปฮ่องกง
แต่โอนโควต้าส่งออกข้าวไปให้บริษัมมาบุญครองโดยได้ค่าป่วยการกระสอบละ 1 บาท
เหตุเกิดภายหลังศิริชัยกลับจากฮ่องกงเพียงปีเดียว และเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นคนแรกที่ตั้งชื่อบริษัทว่ามาบุญครอง
อันเป็นนามของพ่อและแม่ของเขา และต่อมาชื่อนี้ได้ขนานนามเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่โตอีกกลุ่มหนึ่งในเมืองไทย
ในระยะเดียวกันเขาได้ร่วมทุนกับบริษัทโหงวฮัก ซื้อเรือเดินทะเล 3 ลำ ลำหนึ่งนั้นมีชื่อว่ามาบูลกุล
และว่ากันว่าในบริษัทนี้ศิริชัย บูลกุลถือหุ้นประมาณ 30%
ปี 2517 เขาตั้งบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล ด้วยทุนจดทะเบียนครั้งแรก
60 ล้านบาท ร่วมทุนกับฮ่องกง สวิส โดยคนในตระกูล บูลกุลถือหุ้นใหญ่ (75%)
เพื่อสร้างไซโลและ ท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย
เพียง 2-3 ปีเท่านั้นชื่อเสียงของศิริชัยก็เริ่มเจิดจรัส
"มาชานลี เขาเป็นคนคิดโปรเจ็คนี้รวมทั้งแผนทางการเงิน" สมบุญ
ผไทฉันท์ ผู้ซึ่งรู้จักครอบครัวบูลกุลดีออก
จากจุดนี้อง ศิริชัยจึงได้เข้าไปมีสายสัมพันธ์กับสมพร บุณยคุปต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(บีโอไอ) โครงการไซโลและท่าเทียบเรืออันสวยหรูของเขาได้รับการส่งเสริมอย่างง่ายดาย
เมื่อได้บัตรส่งเสริมแล้ว เขาก็เริ่มหาที่ที่จะลงรากโครงการใหญ่นี้ "พี่เขยของช้างคนหนึ่งพาเขาไปซื้อที่ที่พระประแดง
แต่ปรากฎว่าไม่มีทางออก ในที่สุดจึงไปลงเอยที่ อ.ศรีราชา ชลบุรี" เพื่อนของเขาคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
โครงการไซโลขนาดใหญ่พร้อมด้วยอุปกรณ์การขนถ่ายสินค้าที่ทอดยาวสู่ทะเลเป็นกิโลเมตรอันเป็นท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าพืชไร่นี้
ต้องลงทุนถึง 335 ล้านบาท "เพราะได้รับบีโอไอ. เขาจึงยื่นเสนอขอกู้เงินจากไอเอฟซีที
(บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) อีกส่วนหนึ่งเป็น LOAN ของแบงก์กรุงเทพและ
DOUBLE LOAN แบงก์กว้างตุ้ง" ผู้อยู่วงการเงินเล่าแผนทางการเงินโครงการนี้ของมาชานลีให้ฟัง
ดร.รชฏ กาญจนวณิชย์ เป็นวิศวกรออกแบบท่าเทียบเรือที่ยื่นออกไปในทะเลนับกิโลเมตรนี้
และดร.รชฏ คนนี้ก็คือ "ตัวละคร" สำคัญในเวลาต่อมา
ไซโลดังกล่าวสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2519 และเริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่
1 กรกฎาคม 2520
น่าอัศจรรย์มาก ปีแรกบริษัททำกำไรถึง 80 ล้านบาท
และแผนการกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วคือบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลจะต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัมมหาชน
ในช่วงเดือนเมษายน-ธันวาคม 2521 เป็นช่วงเวลาที่ศิริชัย บูลกุลในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล
ต้องเหน็ดเหนื่อยแต่ก็คุ้มค่า
เมื่อมาบุญครองฯ เสนอตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ และได้ทำการเปิดเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนจำนวน
17,500 หุ้นในราคา 360 บาท/หุ้น ปรากฏว่ามีคนสั่งจองจำนวนมากจนต้องใช้วิธีจับฉลากด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
ในช่วงก่อนเสนอตัวเข้าตลาดหุ้นมาบุญครองฯ ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 60 ล้านบาทเป็น
175 ล้านบาท
แต่แล้วจู่ๆ ก็มีข่าวว่าคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่วารี
พงษ์เวชเป็นประธานไม่ยอมให้บริษัทมาบุญครองฯ เข้าเป็นสมาชิกในฐานะบริษัทจดทะเบียนตลาด
โดยอ้างว่าตัวเลขแสดงกำไรของบริษัทมีเงื่อนงำ
"บริษัทได้แสดงตัวเลขทางบัญชีว่ามีกำไรสูงมาก และเป็นกำไรที่ไม่ได้กันไว้เป็นการตัดค่าเสื่อมราคาของกิจการเช่นกิจการที่มั่นคงทั้งหลายพึ่งแสดง
กล่าวคือมาบุญครองฯ ได้ตั้งตัวเลขค่าเสื่อมถึง 50 ปี" อดีตกรรมการคนหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ฟื้นความหลังกับ
"ผู้จัดการ"
หนังสือพิมพ์มติชนธุรกิจ นสพ.ธุรกิจฉบับเดียวในช่วงนั้นตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับบริษัทมาบุญครองฯ
พยายามเข้าตลาดหุ้นแต่มีอุปสรรคอย่างต่อเนื่อง
"ตามธรรมดากิจการใหม่อย่างนี้เมื่อมีกำไรตอนแรกๆ จะต้องพยายามกันเงินที่กำไรไว้เป็นค่าเสื่อมให้มากที่สุดเท่าที่กรมสรรพากรอนุญาต
ไม่ใช่ตั้งราคาค่าเสื่อมถึง 50 ปีเพื่อพยายามอวดกำไร จะได้ขายหุ้นให้ประชาชนที่รู้ไม่ทันการณ์ซื้อในราคาที่สูงมากเกินไป"
นสพ.ฉบับนั้นอ้างแหล่งข่าววิจารณ์การกระทำของมาบุญครองฯ อย่างไม่เกรงใจ
กรรมการตลาดหุ้นไม่พอใจ มาบุญครองฯ ที่ใช้วิธีตัดค่าใช้จ่ายที่ก่อขึ้นก่อนดำเนินการประมาณ
30 ล้านบาทเป็นเวลาถึง 30 ปี โดยตัดเพียงปีละ 1 ล้านบาท และในการขายหุ้นครั้งนี้ทางบริษัทยังได้นำกำไรส่วนหนึ่งมาชำระหนี้สินของบริษัทจำนวน
120 ล้านบาท "ความจริงต้องถือว่าเป็นหุ้นใหม่แยกรับไว้ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง…ผมสงสารคนที่แห่มาจองหุ้นไว้จำนวนมากจริงๆ
จะต้องพากันอกหักกันเป็นแถวๆ ถ้าหุ้นอันนี้ไม่สามารถเข้าตลาดได้ ในขณะที่ผู้ถือหุ้นเดิมรายใหญ่ๆ
รวยกันไปหมดแล้ว" แหล่งข่าวที่ให้ข่าวนสพ.มติชนธุรกิจร่ายยาว
เรื่องนี้ยังลุกลามต่อไป เมื่อประยูร เถลิงศรี อธิบดีกรมทะเบียนการค้าในขณะนั้นเรียกบริษัทคูเปอร์แอนด์ไลย์แบนด์
แอสโซซิเอทส์ ผู้สอบบัญชีของบริษัทมาบุญครองฯ มาพบเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง
ตามที่มีการเรียกร้องให้ลงโทษ ในฐานะที่ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ดี อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งในเวลาไม่นานนัก
แต่ความพยายามของมาบุญครองฯ ในการที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ยังดำเนินต่อไป
ต้นเดือนมิถุนายน 2521 มาบุญครองฯ ได้ยื่นรายการทำบัญชีของบริษัทที่ได้ปรับปรุงและแก้ไขตัวเลขใหม่
ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้งหนึ่งเพื่อขอให้พิจารณารับเป็นบริษัทจดทะเบียน
โดยมาบุญครองได้แสดงตัวเลขตัดค่าเสื่อมราคาในทรัพย์สินเหลือเพียง 30 ปี และได้ชำระหนี้
120 ล้านบาทแล้ว
นสพ.มติชนธุรกิจเสนอข่าวต่อเนื่องพูดถึงพฤติกรรมมิชอบของหุ้นมาบุญครองฯ
อีกหลายประการ "โดยเฉพาะการถือหุ้นของบริษัทมีผู้ถือหุ้นภายในตระกูลเดียวกัน
16-17 คนเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด แล้วทำการเพิ่มทุนอีกมหาศาลหลังการขายหุ้นดังกล่าวให้กับประชาชนในราคา
360 บาท/หุ้น ทำให้บริษัทและผู้ถือหุ้นเดิมกำไรมหาศาล โดยชี้ให้เห็นว่าบริษัทสามารถชำระหนี้
120 ล้านบาทในบัญชีได้แล้ว"
ในช่วงคาราคาซังอยู่นั้น ตลาดหลังทรัพย์ฯ ได้มีการเปลี่ยนตัวผู้จัดการจากศุกรีย์
แก้วเจริญ เป็นณรงค์ จุลชาติ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่
1 กรกฎาคม 2521
ยิ่งไปกว่านั้นสมพร บุณยคุปต์ รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะเลขาธิการบีโอไอ.ได้ออกมาประกาศ
(ในช่วงเดียวกัน) สวนควันปืนอนุมัติการส่งเสริมการผลิตซีเมนต์ผง 4 โครงการ
ซึ่งรวมโครงการของบริษัทมาบุญครองซีเมนต์เข้าไปด้วย
มาบุญครองฯ ซึ่งก่อนหน้าภาพพจน์ดูอึมครึมๆ กลับดูแจ่มใสขึ้นเป็นกอง
กลางเดือนกรกฏาคมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ในการพิจารณารับบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนนั้นคณะกรรมการมีความเห็นแตกออกเป็น
2 ฝ่าย
ฝ่ายที่คัดค้านเห็นว่าการที่บริษัทเปลี่ยนระยะรอบบัญชีจากสิ้นสุดเมื่อวันที่
31 ธันวาคมมาเป็นวันที่ 30 มิถุนายนนั้นเป็นเรื่องที่ผิดสังเกตมาก นอกจากนี้การดำเนินงานในระยะ
7 เดือนที่ผ่านมาบริษัทได้มีมติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสูงถึง 90% ของผลกำไรที่สิ้นสุดเมื่อวันที่
31 มกราคม 2521 แสดงว่าการที่บริษัทตัดค่าเสื่อมของทรัพย์สินในอัตราต่ำเพื่อต้องการกำไรสูง
"ในการเพิ่มทุนของบริษัทได้ขายหุ้นที่ออกใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมเพียง
2 รายเท่านั้นและยังขายในราคาเท่ากับมูลค่าหุ้นเดิมเป็นจำนวนถึง 85% ของหุ้นทั้งหมดซึ่งไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อผู้ถือหุ้นใหม่
อีกทั้งทางบริษัทยังมีปัญหาเรื่องที่ดินที่ใช้ก่อสร้างไซโลซึ่งอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องของชาวบ้านว่า
สร้างทับที่ดินสาธารณะ"
ฝ่ายที่คัดค้านเสนอให้พิจารณาพฤติกรรมของบริษัทที่ผ่านมาว่าส่อเจตนาอย่างไร
มากกว่าจะมองถึงฐานะทางการเงินและการดำเนินงานที่ผลกำไรงามเพียงอย่างเดียว
ส่วนฝ่ายสนับสนุนกล่าวว่าบริษัทได้กระทำถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย และเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งเป็นผู้ฟันฝ่าอุปสรรคมาอย่างหนักจนเกิดการประสบความสำเร็จ
นสพ.รายงานคาดหมายว่าในที่สุดมาบุญครองฯ จะต้องได้เข้าตลาดหุ้นอย่างไม่มีปัญหา
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2521 วารี พงษ์เวช ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ออกแถลงผลการประชุมตกลงใจรับบริษัทมาบุญครองอบพืช
และไซโลเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนโดยให้เหตุผลว่าบริษัทมาบุญครองฯ เป็นบริษัทที่มีการบริหารงานดีโดยระยะเวลาเพียง
6 เดือนสามารถทำกำไรได้ถึง 40 ล้านบาท และได้ยอมโอนอ่อนตามความต้องการของตลาดฯ
เปลี่ยนแปลงการตัดค่าเสื่อมราคาในทรัพย์สินลงมาเหลือเพียง 25 ปี และการทำบัญชีทั้งหมดบริษัทผู้สอบบัญชีจากต่างประเทศที่มีชื่อรับรองแล้ว
ผู้รู้เรื่องดีบอก "ผู้จัดการ" ว่าการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปลี่ยนใจรับมาบุญครองฯ
เข้าตลาดหุ้นนั้น ดัชนีสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนตัวกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ
จากศุกรีย์ แก้วเจริญ มาเป็นณรงค์ จุลชาติ "ความจริงคุณวารีไม่เห็นด้วยที่จะให้มาบุญครองฯ
เข้าตลาดหุ้นมาตลอดเพราะรู้ประวัติของคุณศิริชัยและชวนลีที่ฮ่องกงดี"
แต่ห้วงเวลานั้นถึงช้างก็ฉุดมาบุญครองฯ ไว้ไม่อยู่เสียแล้ว!
เพราะทั้งสถานการณ์การลงทุนภาพรวมที่เมืองไทยกระเตื้องขึ้นก่อนหน้านี้
เนื่องจากดอกเบี้ยและน้ำมันลดราคา ทั้งธุรกิจในฮ่องกงก็บูมได้ที่ส่งผลกระทบตามมาเป็นลูกคลื่น
ส่วนกำลังภายในมาบุญครองฯ นั่นเล่าก็ดีเหลือหลาย ในภาวะที่ถูกครหา ก็มีแรงหนุนด้านอื่นหนุนเนื่องอยู่ตลอดเวลา
เมื่อเข้าตลาดหุ้นได้ไม่นานนั้นราคาหุ้นจากประมาณ 400 บาท ก็ชนเพดาน 500
บาท/หุ้นอย่างไม่ยากเย็นอะไร
นสพ.รายงานว่าเมื่อมาบุญครองฯ เข้าตลาดหุ้นแบบล้างอายได้ ราคาหุ้นก็พุ่งพรวดขึ้น
500 กว่าบาททำเอานักเล่นหุ้นชัดขยาดเพราะราคาแซงหน้าปูนใหญ่ไปหลายช่วง "แต่อาศัยที่มีผู้คุมเกมดี
ก็ค่อยล่อใจให้มีการเข้ามาเล่นโดยยอมลดราคาต่ำลงไปเรื่อยซึ่งดูเหมือนว่าหุ้นนี้กำลังจะเหี่ยแห้งตาย
แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ วิธีการนี้แหละที่เท่ากับเป็นการชุบชีวิตของหุ้นนี้ให้โตวันโตคืนเพราะเมื่อราคาต่ำลงก็ทำให้ดึงดูดนักเก็งกำไร
กล้าเข้ามาจับมากขึ้น โอกาสเก็งกำไรหุ้นนี้มีมากขึ้น แต่อาศัยวิธีการพื้นฐานดังกล่าวก็ไม่สามารถดึงราคาหุ้นนี้ให้สูงเกินกว่า
500 บาทได้มากนักจำเป็นจะต้องอาศัยสิ่งอื่นประกอบ" ภาวะหุ้นดังรายงานนี้บอกกลยุทธ์
ของศิริชัย บูลกุล และมาชานลีได้ดีว่าเขาทั้งสองช่ำชองมากเพียงใด
"ที่หนีไม่พ้นอันดับแรกได้แก่การจ่ายเงินปันผล ปรากฏว่าบริษัทใจป้ำยอมจ่ายงวดครึ่งปีหุ้นละ
23 บาทหรือปีละ 46 บาทก็ทำให้หุ้นนี้ฮือฮากันมาก…และที่แสบทรวงของผู้ไม่ได้ถือหุ้นนี้ก็คือ
หลังปิดสิทธิ์ได้รับเงินปันผลแล้วยังได้กำไรจากแม่หุ้น ในสภาพแบบนี้ก็เรียกว่าหุ้นนี้แหกคอกหลักพื้นฐานจริงๆ"
ที่แน่ๆ คือมีโบรกเกอร์มือเซียนทั้งดึงทั้งดันเอาไว้ และที่สำคัญคือข่าวมาบุญครองฯ
จะเข้าร่วมทุนผลิตปูนกับบริษัทชลประทานซิเมนต์
ตอนนั้น ดร.รชฏ กาญจวณิชย์ เป็นประธานกรรมการบริษัทชลประทานซิเมนต์ก่อนหน้านี้ไม่นานนายแพทย์สมภพ
สุสังกรกาญน์ กรรมการผู้จัดการปูนเล็กกล่าวกับสื่อมวลชนว่า การที่บริษัทมาบุญครองฯ
ได้รับส่งเสริมผลิตปูนรายใหม่จะเป็นกิจการลำบากมาก เพราะราคาปูนถูกควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์
และจะต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท พร้อมทั้งกล่าวแบะท่าว่าทางที่ดีควรจะร่วมทุนกัน
"มันเป็นข่าวไม่จริงเลยเพียงแต่ว่าตอนนั้นดร.รชฏ เขามากินกาแฟกับคุณศิริชัย
ที่โรงแรมโนห์ราบ่อยๆ เนื่องจาก ดร.รชฏเป็นวิศวกรโครงการมาบุญครองฯ คนก็เลยเข้าใจว่าจะร่วมทุนกัน"
อดีตเพื่อนร่วมงานศิริชัยคนหนึ่งบอก "ผู้จัดการ" ถึงเบื้องหลังครั้งนั้น
ราวๆ เดือนกันยายน เสรี ทรัพย์เจริญก็โดดเข้าซื้อหุ้นมาบุญครองฯ ฉุดราคาพุ่งจาก
500 บาทขึ้นไปเกือบถึง 700 บาท/หุ้น "ผมซื้อในฐานะนักลงทุนที่มองเห็นกำไร
คราวนั้นผมซื้อเพียง 2-300 ล้านบาท ได้กำไรเพียงเล็กน้อยเพียง 2-3 ล้านบาทเท่านั้น
ผมเล่นครั้งเดียวก็เลิก" เสรี ทรัพย์เจริญ ยอมรับกับ "ผู้จัดการ"
เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 8 ปีเต็ม
กลางเดือนตุลาคมมาบุญครองฯ ประกาศเพิ่มทุนจาก 175 ล้านบาทเป็น 575 ล้านบาท
แบ่งการจัดสรรขายหุ้นออกเป็น 2 งวด งวดแรกให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน
1 ต่อ 1 จำนวน 1.75 ล้านหุ้นในราคาพาร์ อีกส่วนหนึ่ง 8.75 หมื่นหุ้นขายแก่พนักงานของบริษัทในราคา
360 บาทและที่เหลือ 2,162,500 หุ้นจะพิจารณาขายแก่บุคคลภายนอก ข่าวที่ออกมาเช่นนี้หุ้นมาบุญครองฯ
ที่ติดลมบนถึง 1,120 บาท/หุ้นก็ชะงักทันที
นักลงทุนตลาดหุ้นฯ คนหนึ่งเล่าว่าเหตุที่หุ้นมาบุญครองฯ ทะยานขึ้นไปเกิน
1,000 บาทเนื่องจากข่าวจะเพิ่มทุนที่ถูกปล่อยออกมนาน คนคาดกันว่าจะนำเงินไปร่วมทุนกับปูนเล็ก
อีกทั้งข่าวที่มาบุญครองฯ เสนอเข้าร่วมประมูลสร้างศูนย์การค้าบนที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย
ปลายปี 2521 เป็นช่วงที่ศิริชัย บูลกุลสนุกมาก และก็รวยเอามากๆ เสียด้วย
เงินของพ่อ 100 ล้านบาทจากจินเส็งฮงและผลกำไรจากการเล่นหุ้นในฮ่องกงถือว่าเล็กน้อยสำหรับเขาในตอนนั้น
เพราะหุ้นเมืองไทยกำลังบูมสุดขีด
ที่ดินของจุฬาฯ จำนวน 23 ไร่บริเวณหัวมุมสี่แยกปทุมวันด้านสนามกีฬาแห่งชาติอันเป็นย่านทำเลการค้าที่ดีเยี่ยม
ทางจุฬาฯ ได้เปิดให้เอกชนเสนอตัวเข้าร่วมพัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าว ปรากฏว่ามีกลุ่มธุรกิจใหญ่
3 รายเข้าร่วมชิงดำ ประกอบด้วย พีเอสเอ. ของพร สิทธิอำนวย บริษัทโรงแรมราชดำริและบริษัทมาบุญครองฯ
อบพืชและไซโล
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2521 คณะกรรมการพิจารณาเรื่องดังกล่าวของจุฬาฯ
ได้ตัดสินคัดเลือกบริษัทมาบุญครองฯ เป็นผู้ชนะ มาบุญครองฯ วาดแผนว่าบริเวณนี้ต่อไปจะเป็นศูย์การค้า
6 ชั้น มีที่จอดรถเป็นชั้นๆ จอดได้ประมาณ 2,000 คัน มีหอประชุมขนาด 3,500
คน มีโรงแรมทันสมัยขนาด 700 ห้อง ก่อสร้างเสร็จเต็มโครงการภายในเวลา 5 ปี
ว่ากันว่าจะให้เสร็จทันฉลองครบรอบ 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์โครงการนี้ลงทุนกว่า
1,200 ล้านบาท(ขณะนั้น)
เท่านี้เองราคาหุ้นของมาบุญครองฯ ก็ทะยานแรงขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่บันทึกไว้คือสูงถึง
1,648 บาท/หุ้น ปริมาณซื้อขายในช่วงนั้นระหว่าง 500-1,000 ล้านบาท
ในเดือนตุลาคม 2521 เป็นเดือนที่ตลาดหุ้นมีการซื้อขายมากที่สุด ตั้งแต่เปิดตลาดหุ้นในเมืองไทย
และภายในไม่กี่วันในระยะนี้เองศิริชัย บูลกุล เทหุ้นขายฟันกำไรไปหลายร้อยล้านบาทอย่างเงียบๆ
ไม่บอกกระทั่งเพื่อนๆ ที่เคยร่วมเล่นหุ้นกันมาหลายเดือนเพื่อนๆ ซึ่งมีส่วนทำให้หุ้นมาบุญครองฯ
สูงขึ้นไปเกินคาด
เพราะให้หลังพียงเดือนเดียว หุ้นมาบุญครองฯ ก็เริ่มตก โครงการทุกอย่างที่ทำท่าว่าจะเดินเครื่องก็มีอันเป็นไป
"การเพิ่มทุนนั้นแท้ที่จริงเขาต้องการสร้างโรงสีขนาดใหญ่ที่ปทุมธานีเท่านั้น"
เพื่อนที่ "เจ็บตัว" เพราะตามแห่ซื้อหุ้นตามคำเชื้อชวนของศิริชัย
บอกเบื้องหลัง
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2521 คณะกรรมการผังเมืองมีมติไม่ให้ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้ที่ดิน
23 ไร่สร้างศูนย์การค้าและโรงแรมขนาดใหญ่ ด้วยคะแนน 10 ต่อ 9
ว่ากันว่าคณะกรรมการทั้งหมด 21 คนได้ใช้เวลาพิจารณายาวนานเกือบ 3 ชั่วโมงโดยเปิดให้มีการอภิปรายอย่างเต็มที่ในที่สุดให้ยืนตามมติเดิมที่เคยอนุมัติให้ใช้เป็นเขตพาณิชยกรรมเพียง
16 ไร่และอีก 10 ไร่ให้ใช้เป็นเขตการศึกษา ซึ่งขัดกับทางฝ่ายผู้บริหารจุฬาฯ
ได้ตกลงให้มาบุญครองฯ ใช้พื้นที่ทั้งหมดสร้างเป็นจุฬาฯ คอมเพล็กซ์โดยประมาณการว่าใช้เงินในขณะนั้น
1066 ล้านบาท และทางจุฬาฯ ได้รับผลตอบแทน 885 ล้านบาทในเวลา 30 ปี
เป็นว่าโครงการยักษ์ที่มาบุญครองฯ ลุ้นอยู่ต้องล้มตึง
หุ้นมาบุญครองฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตกลงมาเหลือประมาณ 1,000 บาทและลดลงอีกระยะหนึ่งเหลือ
600 กว่าบาทเป็นไปตามความคาดหมาย
"พรรคพวกของคุณศิริชัย ที่เชื่อกันว่าหุ้นมาบุญครองฯ จะขึ้นไปอีกขาดทุนพอหอมปากหอมคอคนละนับสิบล้านบาทปัจจุบันบางคนยังใช้หนี้แบงก์ไม่หมด
ส่วนคนทั่วไปไม่ต้องพูดถึงขาดทุนกันถ้วนหน้า"
มาบุญครองฯ เพิ่มทุนอีก 400 ล้านบาทสำเร็จไปแล้ว ศิริชัย บูลกุลก็กำไรอย่างเงียบเชียบเรียบร้อยไปแล้ว
คนที่มีบุญคุณอย่างลึกๆ ต่อเขาก็คือ สมพร บุณยคุปต์ เลขาธิการบีโอไอ.นั่นเอง
ศิริชัย เขามิอาจรู้เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลเสียอย่างลึกซึ้งมาถึงฐานะของมาบุญครองกรุ๊ปในปัจจุบัน
หากมาบุญครองคอมเพล็กซ์เริ่มแต่ตอนนั้น รับรองศิริชัย บูลกุลต้องเป็นดาวรุ่งค้างฟ้าแน่นอน
แต่เฉพาะหน้านั้น เขาก็เริ่ม DIVERSIFIED และก่อตัวเป็นกลุ่มธุรกิจที่ประกอบกิจการหลายประเภทในนามมาบุญครองกรุ๊ปซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ในคราวนั้นก็เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป
และแน่นอนที่สุด เขากับ สมพร บุณยคุปต์ก็แนบแน่นกันมากขึ้น เพราะเวลาต่อมาบริษัทในเครือมาบุญครองไม่น้อยกว่า
7 บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุน ทั้งจากระยะที่สมพร เป็นเลขาธิการและคนอื่นๆ
ต่อมา (ไม่รวมบริษัทมาบุญครองซีเมนต์ ที่บัตรส่งเสริมหมดอายุไปเมื่อเดือนธันวาคม
2521) อาทิ บริษัทมาบุญครองเทรดดิ้ง ประกอบธุรกิจสั่งเข้าและส่งออกสินค้า
(TRADING COMPANY) บริษัทมาบุญครองการนิคมอุตสาหกรรมประกอบกิจการจัดและปรับปรุงที่ดินเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม
ธุรกิจการค้าและที่อยู่อาศัยเป็นต้น (โปรดดูตารางบริษัทในเครือมาบุญครองฯ)
ยุทธวิธีที่พยายามขยายฐานธุรกิจพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบให้คณะกรรมการผังเมืองพิจารณาผ่อนผันให้มาบุญครองสร้างคอมเพล็กซ์ที่มุมถนนปทุมวัน
แม้จะพยายามกันอย่างหนัก แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผลกันในเร็ววัน หุ้นของมาบุญครองอบพืชและไซโลจึงไม่อาจจะดึงไว้อยู่ก็เลยหล่นลงมาเรื่อยๆ
จากระดับ 400 กว่าบาทในปีถัดมา และประมาณ 200 บาทในปี 2523 จนถึงระดับ 180
บาท/หุ้นในปี 2524 (โปรดพิจารณากร๊าฟประกอบ)
"ผลกระทบอีกประการหนึ่งก็คือบรรยากาศการลงทุนตกต่ำ ดอกเบี้ยเงินกู้สูงมากถึง
19% แม้แต่ดอกเบี้ยของสหรัฐยังอยู่ในระดับ 17-18% ที่สำคัญผลพวงอันเกิดจากภาวะหุ้นซบเซาจากกรณีราชาเงินทุนในปี
2522" นักลงทุนในตลาดหุ้นคนหนึ่งบรรยายถึงปัจจัยภายนอก โดยชี้ว่าเป็น
"เงื่อนไข" สำคัญในการลงทุนในตลาดหุ้น "ใครจะ MANIPULATE
ก็ต้องดูปัจจัยนี้ว่าสุกงอมหรือไม่" เขาสรุป
ปี 2522 ศิริชัย บูลกุลมีความหวังกับโครงการมาบุญครองคอมเพล็กซ์ขึ้นมาอีกครั้ง
เมื่อคณะกรรมการผังเมืองได้กลับมาทบทวนมติเดิมที่ห้ามบริเวณก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างประกอบกิจการพาณิชย์
ทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดเอาไว้ปลายปี 2525 บริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจำนวนประมาณ
23 ไร่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อสร้างคอมเพล็กซ์ ศิริชัย บูลกุลโชคดีที่จุฬาฯ
มิได้คิดอัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้นจากเดิมแม้แต่บาทเดียว
แต่ขณะเดียวกันเขาโชคร้ายอีกหลายเรื่อง
หนึ่ง-มูลค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเท่าตัว จากที่เคยประเมินว่า 1,200
ล้านบาทก็จะต้องมาเริ่มใหม่หลังเวลาเดิมประมาณ 5 ปี อย่างน้อยตั้งแต่ 3 พันล้านบาทขึ้นไป
สอง-ในระยะไล่เลี่ยกันกรุงเพทมหานครได้เป็นเนื้อดินที่สมบูรณ์ในการเกิดคอมเพล็กซ์อีกหลายโครงการ
ตั้งแต่เซ็นทรัลพลาซ่าที่ลาดพร้าว ซึ่งเกิดก่อนมิหนำซ้ำยังฉกโครงการหอประชุมนานาชาติเอาไปไว้ที่นั่น
โดยร้องขอรัฐบาลไม่ให้มีการลงทุนในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกด้วยส่วนที่เกิดก่อนหน้าเพียงเล็กน้อยก็คืออัมรินทร์พลาซ่า
มหาทุนพลาซ่า ซิตี้พลาซ่ารวมไปถึงสีลมพลาซ่า
ทุกโครงการเดินหน้าปิดล้อม มาบุญครองคอมเพล็กซ์ทั้งสิ้น
สาม-ตลาดหุ้นยังไม่ฟื้นจากภาวะซบเซาในปี 2522-2524 ก็โดนกระหน่ำซ้ำเติมจากกรณีแคเรียนในฮ่องกง
การระดมทุนผ่านบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของศิริชัยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นที่เขาเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในปลายปี
2521
ทั้งกิจการค้าส่งออกพืชไร่ที่ซบเซาอย่างหนักและต่อเนื่อง กระทบต่อบริการขนถ่าย
และคลังสินค้า ประกอบกับผู้ส่งออกสินค้าเหล่านั้นล้วนพยายามมีไซโลหรือคลังสินค้าของตนเองกัน
นอกจากนี้มาตรการควบคุมสินเชื่อของธนาคารชาติก็ยังมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม
เขาพร้อมที่จะเสี่ยงโชคอีกครั้ง ทั้งๆ ที่อาจจะเรียกได้ว่า แทบไม่มีเค้าหน้าตักเลย
สิ่งแรกๆ ที่เขาต้องทำคือการเพิ่มทุนบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหุ้น
ข่าวจะเพิ่มทุนจาก 575 ล้านบาทเป็น 800 ล้านบาทปลิวว่อนในตลาดหุ้น แต่ราคาหุ้นมาบุญครองที่อืดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
ปลายๆ ปี 2526 หุ้นมาบุญครองทำท่าเขยิบขึ้น เท่าที่บันทึกไว้สูงสุดเท่าที่ทำได้คือ
273 บาท/หุ้น
"คุณสิริลักษณ์ (รัตนากร) ได้เชิญคุณศิริชัยไปพบสอบถามเรื่องราคาหุ้นที่ขึ้นสูงอย่างผิดปกติ"
ผู้คร่ำหวอดตลาดหุ้นคนหนึ่งเล่าให้ฟังเหตุการณ์ครั้งนั้น
ผู้รู้บางคนตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์ตอนนั้นน่าจะเกื้อกูลมาบุญครองฯ เกี่ยวกับการลงทุนในตลาหุ้นได้พอสมควร
เพราะดอกเบี้ยในระบบธนาคารเริ่มลด พร้อมกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มต่ำลงอย่างไรก็ตาม
ปัจจัยที่เกื้อหนุนเหล่านี้ไม่อาจต้าน "ภาพ" การลงทุนในตลาดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ
(โดยเฉพาะฮ่องกง) ที่เจอวิกฤตอย่างหนักและยังฝังอยู่ในความทรงจำของนักเล่นหุ้น
"ความพยายามทำให้หุ้นมาบุญครองพุ่งขึ้นในช่วงนั้น เป็นที่รู้กันว่าคุณศิริชัยขาดทุนเป็นร้อยๆ
ล้านบาททีเดียว" คนวงในตลาดหุ้นกระซิบ
จะเห็นได้ว่ากว่ามาบุญครองฯ จะเพิ่มทุนเสร็จสรรพก็กินเวลาล่วงเลยมาถึงปลายปี
2528 แล้ว
แหล่งเงินที่จะหาได้ต่อมา ตามแผนการของมาชานลีก็คือเงินกู้ ซึ่งผู้อยู่ในวงการเงินเล่าให้ฟังว่าเป็นเงินกู้ระยะสั้นเสียส่วนมาก
"ตรงนี้เองเงินทุนหมุนเวียนเลยไม่ค่อยคล่องต้องติดๆ ขัดๆ ต้องกู้ตรงโน้นมาโปะตรงนี้เป็นประจำ"
ผู้ให้ข่าวแสดงทรรศนะประกอบ
แหล่งเงินกู้ภายในประเทศคือธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย เป็นแหล่งใหญ่
ส่วนธนาคารแห่งต่างประเทศนั้นได้แก่ ธนาคารเชสแมนฮัตตัน และธนาคารแห่งอเมริกาฯ
"แบงก์พวกนี้เขานิยมให้กู้ในระยะสั้นด้วยกันทั้งนั้นในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีอีกประการหนึ่งเขาเองไม่มีธุรกิจหลักในประเทศไทย"
นายธนาคารคนหนึ่งคอมเมนต์
วงการธนาคารต่างสรุปกันไว้อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นถึงเรื่องยุ่งๆ เกี่ยวกับมาบุญครองคอมเพล็กซ์ที่สืบเนื่องจากปลายปี
2528 ถึงปัจจุบัน (หนึ่ง-ภาวะเศรษฐกิจ สอง-โครงการเริ่มช้าไปและ สาม- แผนเงินกู้และการระดมทุนไม่คล่องตัว)
จากกรณีเบอร์ลี่ยุคเกอร์ฟ้องเรียกค่าจ้างติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าจำนวน 22 ล้านบาท
(โปรดอ่าน "ผู้จัดการ" ปีที่ 3 ฉบับที่ 29 เดือนกุมภาพันธ์ 2529)
ได้จุดปะทุให้เห็นอย่างเด่นชัดในสายตาของบุคคลทั่วไป "แท้ที่จริงกรณีเบอร์ลี่ฯ
เป็นเพียงรายเดียวในจำนวนหลายรายที่มาบุญครองมีปัญหาในช่วงนั้น เช่นวิทยาคมที่เบอร์ลี่ฯ
ต้องทำเช่นนั้นเพราะเป็นบริษัทที่บริหารโดยฝรั่งส่วนใหญ่ ส่วนวิทยาคมนั้นยังนิยมทวงหนี้แบบไทยๆ
ซึ่งก็ได้ผลบ้าง" แหล่งข่าววงการธนาคารเปรย
ตามมาด้วยรายงานงบการเงินประจำปี 2528 ที่เผยแพร่โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามหน้าที่ที่ดุษฎี
สวัสดิ-ชูโต ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์เน้นกับ "ผู้จัดการ" ว่าเป็น
FULL DISCLOSER ออกมาราวๆ เดือนมีนาคม แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน
กล่าวคือหนี้สินหมุนเวียนของบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล ณ วันที่ 31 ธันวาคม
2528 มีรวมทั้งสิ้น 2,961.44 ล้านบาท แต่มีสินทรัพย์หมุนเวียน มีอยู่เพียง
1,024 ล้านบาท
เดือนมิถุนายน 2529 เป็นเดือนที่ศิริชัย ต้องถูกจับมานั่งโต๊ะเจรจาเผชิญหน้ากับนายธนาคารหลายแห่ง
ต้นเดือนมิถุนายน ดร.โอฬาร ไชยประวัติ รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์
หนึ่งในสองเจ้าหนี้รายใหญ่กล่าวว่าบรรดาเจ้าหนี้ซึ่งมีวงเงินรวมกันประมาณ
2,200 ล้านบาทได้พูดคุยถึงแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของมาบุญครองฯ มาประมาณ
2 เดือน และคาดว่าภายในเดือนหน้าทุกอย่างคงจะเรียบร้อย "อาจจะต้องเปลี่ยนจากเงินกู้ระยะสั้นเป็นระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน
เนื่องมาจากมาบุญครองฯ ไม่สามารถขายพื้นที่ได้ตามเป้าหมาย
ประมาณกลางเดือนมิถุนายน ตลาดหลักทรัพย์ฯ แจ้งผลประกอบการ 3 เดือนแรก (มกราคม-มีนาคม
2529) ขาดทุนครั้งแรก 23,000 บาท แม้จะดูไม่มากแต่เป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงสำหรับบริษัทที่เคยกำไรมาตลาด
ซึ่งย้ำให้เห็นว่าปัญหาเงินทุนหมุนเวียนเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสเอาการ นอกจากนี้มีการกล่าวกันว่าสาเหตุประการหนึ่งเกิดจากมาบุญครองฯ
ได้ซื้อหุ้นของบริษัทไทยออฟชอร์ปิโตรเลี่ยมของกลุ่มพีเอสเอ.เป็นเงิน 70 ล้านบาท
โดยพีเอสเอ.ตกลงว่าจะรับซื้อหุ้นนั้นกลับคืนในราคา 110 ล้านบาท รวมทั้งมาบุญครองฯ
ยังได้ให้เงินกู้ยืมบริษัทไทยออฟชอร์อีก 33 ล้านบาทอีกด้วย "มูลค่าปัจจุบันของหุ้นที่กล่าวข้างต้นและความสามารถที่จะชำระหนี้คืนนั้นไม่สามารถจะคาดคะเนได้อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอน
บริษัทพีเอสเอ.จำกัดยังอาจจะไม่อยู่ในฐานะที่จะซื้อหุ้นดังกล่าวคืนและบริษัทก็ไม่ได้ตั้งสำรองสำหรับมูลค่าของเงินลงทุนหรือเงินให้กู้แต่อย่างใด"
ผู้สอบบัญชีได้ระบุไว้ในรายงานงบการเงินดังกล่าวอันเป็นช่วงที่ พีเอสเอ.เผชิญวิกฤติการณ์
ปลายเดือนมิถุนายน บรรยงค์ ล่ำซ่ำ กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย เจ้าหนี้อีกรายหนึ่งกล่าวว่าฝ่ายบริหารธนาคารประชุมกันแล้วมีมติผ่อนผันการชำระเงินกู้ของมาบุญครองฯ
ออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้มาบุญครองได้มีเวลาเพียงพอในการขายพื้นที่โครงการส่วนที่เหลือ
โดยเน้นว่าเงินกู้วงเงินประมาณ 200 ล้านบาทนี้ธนาคารกสิกรไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยในอัตราเดิม
ในสายตาธนาคารปัญหาของมาบุญครองฯ คือขายพื้นที่ศูนย์การค้าไม่ได้ตามเป้า!
ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย (วันที่ 19 มิถุนายน 2529) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อ้างคำชี้แจงของบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลเกี่ยวกับสถานะการเงินของบริษัท
"ขณะนี้บริษัทกำลังดำเนินการเจรจากับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงนรายใหญ่ต่างๆ
อยู่ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของบริษัทฯ เสนอโครงสร้างระบบการชำระเงินกู้คืนแก่ธนาคารและสถาบันการเงินนั้นน่าจะเป็นที่ตกลงกันได้ในไม่ช้านี้
แต่ในระหว่างการเจรจากับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินรายใหญ่ดังกล่าว บริษัทฯจำต้องระงับการชำระเงินกู้คืนเป็นการชั่วคราวไว้ก่อนและมีสถาบันการเงินบางแห่งที่ไม่ยอมรอรับชำระเงินพร้อมกับธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ
ในลักษณะเป็นสัดส่วนเท่าๆ กันจึงได้มีการเรียกร้องมาบ้างแต่เป็นส่วนน้อย
บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่าเมื่อการเจรจากับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินรายใหญ่ดังกล่าวในที่ตกลงกันได้เรียบร้อยแล้วบริษัทฯ
ก็จะเริ่มชำระเงินกู้คืนให้แก่ธนาคารและสถาบันการเงินไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่รายเล็กได้เป็นที่พอใจต่อไป"
ข้อความข้างต้นนับเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการของมาบุญครองฯ เกี่ยวกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่
แต่กว่าจะออกมายอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน มาบุญครองฯ ถูกยื่นฟ้อง ณ ศาลแพ่งไปแล้วอย่างน้อย
5 คดี อาทิบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซี. ยื่นฟ้องในข้อหาความผิดเกี่ยวกับตั๋วเงินจำนวน
5,151,232 บาท บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนสิน (บางกอกโนมูระ) ยื่นฟ้องในข้อหาเดียวกันกับจำนวนเงิน
5,293,972 ล้านบาท บริษัทซีพีเอส (ประเทศไทย ผู้รับจ้างทำความสะอาดอาคารมาบุญครองเซ็นเตอร์ยื่นฟ้องเรียกเงินค่าค้างจ่าย
จำนวน 3,649,234.41 บาท หรือรายที่จำนวนเงินไม่ถึง 1 ล้านก็ร่วมสังฆกรรมด้วยคือบริษัทไทยรุ่งเรืองฮาร์ดแวร์ยื่นฟ้องมาบุญครองอบพืชและไซโลเรียกชำระเงินค่าลวดตาข่ายจำนวน
108,274 บาท
และอีกรายที่ "ผู้จัดการ" ตกอกตกใจประมาณเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม
2529 บริษัทล็อกเล่ย์ (กรุงเทพ) ยื่นฟ้องเรียกให้จ่ายหนี้เพียง 113,400 บาท
(ค่าอุปกรณ์โทรศัพท์และอะไหล่ลิฟท์) เมื่อเทียบกับคู่กรณีแล้ววงเงินที่ต้องลงเอยที่ศาลนี้ถือว่า
"จิ๊บจ๊อย" มาก ยิ่งเมื่อทราบว่าบริษัทล็อกเล่ย์ฯ คือธุรกิจเก่าแก่ของตระกูลล่ำซำ
ผู้ถือหุ้นสำคัญและผู้บริหารธนาคารกสิกรไทยที่ศิริชัย บูลกุล ผู้บริหารสูงสุดมาบุญครองฯ
พยายามเจรจาต้าอวยตามแผน Restructure กันอยู่ ก็ยิ่งงุนงงเข้าไปอีก "อาจเป็นเรื่องระดับเจ้าหน้าที่เขาทำกันไป
ทวงกันตั้ง 8 เดือนไม่จ่าย เป็นผมก็ต้องใช้วิธีนี้" ผู้สันทัดกรณีวิจารณ์
คดีที่ศิริชัย บูลกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทมาบุญ๕รองอบพืชและไซโลหนักใจที่สุดคือ
ธนาคารปารีบาร์แห่งฝรั่งเศสยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งในข้อหาผิดสัญญากู้เงิน ในวงเงิน
72,052,680 บาท เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2529
จำนวนเงินดูไม่มาก แต่ก็ทำให้มาบุญครองฯ ไม่สามารถเคลียร์หนี้ก้อนใหญ่
730 ล้านบาทจากเงินต้น 675 ล้านบาทอันจะสามารถเจรจากู้เงินก้อนใหม่มาหล่อลื่นโครงการทั้งโครงการเลยทีเดียว
ธนาคารปารีบาร์ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน ในที่สุดศาลได้ออกคำสั่งห้ามมาบุญครองฯ
จำนองอาคารมาบุญครองเซ็นเตอร์เพื่อกู้เงินจากธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทยจำนวนดังกล่าว
(โปรดอ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ)
เรียกได้ว่าแผนแก้ปัญหาขาดเงินหมุนเวียนจำต้องชะงักอยู่อย่างไรก็อย่างนั้นจนทุกวันนี้
เรื่องของเรื่องมาจากแผนการ "ฟื้นฟู" สภาพคล่องของกิจการ โดยธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทยที่เปลี่ยนจากการกู้เงินระยะสั้นมาเป็นการกู้ระยะยาว
และธนาคารทั้งสองขอให้นำอาคารศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์มาค้ำประกันซึ่งอยู่ระหว่างการประกาศให้มีการคัดค้าน
และธนาคารปารีบาส์ก็โดยเข้าคัดค้านโดยอ้างว่าผิดสัญญากู้เงินดังกล่าว
ผู้สังเกตการณ์มองเหตุการณ์เรื่องนี้บอกว่า "ดูว่าเรื่องเล็กก็เล็ก
มองว่าเรื่องใหญ่ก็ใหญ่" โดยพยายามชี้ว่าต้องจับตาดูศิริชัย บูลกุล
และมาชานลี นักการเงินชั้นเซียนของมาบุญครองฯ จะแก้ปัญหานี้อย่างไร?
โดยมีทางออก หนึ่ง-ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทยต้องเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญากู้เงินใหม่
หรือยอมจ่ายเงินก้อนหนึ่งมาเคลียร์หนี้สินกับปารีบาร์ก่อน สอง-ศิริชัย หาเงินกู้จากแหล่งอื่นๆ
สักก้อน โดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันที่จะมาทำนิติกรรมกับอาคารมาบุญครองเซ็นเตอร์นำมาเคลียร์หนี้กับธนาคารปารีบาส์
เวลาตั้งแต่ 6 มิถุายนมาจนถึงปัจจุบัน (25 กรกฎาคม 2529) หรือเกือบ 2 เดือนทุกอย่างยังเดินไปตามขั้นตอน
มันไม่ง่ายเลยที่มาบุญครองฯ จะแก้ปัญหานี้ - ข้อสรุปจากเวลาที่ผ่านไปและเท่ากับเป็นการตอกย้ำรายงานที่
"ผู้จัดการ" เคยเขียนไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2529 ที่ว่าศิริชัย
บูลกุล วิ่งวุ่นหาเงินกู้สักก้อน จากแหล่งเงินกู้ต่างๆ แม้กระทั่งธนาคารที่ไม่เคยติดต่อกันเลยเช่นธนาคารศรีนครก็ตาม
หลังจากเงินงวดสุดท้ายจากธนาคารไทยพาณิชย์หมดลงแล้ว
คำถามที่เกิดขึ้นในฉับพลันก็คือ เครือมาบุญครองฯ มีสินทรัพย์รวมๆ กันประมาณ
3 พันล้านบาท หนี้เก่าหนี้ใหม่รวมกันน่าจะน้อยกว่าสินทรัพย์นั้นจริงหรือไม่?
สถานะของมาบุญครองเป็นเช่นไรในสายตาของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ
ถึงไม่ยอมให้เงินกู้สักก้อนเพียงเพื่อปรับเงื่อนไขในการกู้เงิน 730 ล้านบาทจากธนาคารไทยพาณิชย์และกสิกรไทย
และก็เชื่อกันต่อไปว่ามิเพียงมีปัญหากับธนาคารปารีบาส์แห่งฝรั่งเศสเท่านั้นน่าจะมีอะไร
"ซ่อน" อยู่ข้างในอีกมาก!!
ที่สำคัญ ศิริชัย บูลกุลเองนั้นแหละคือที่มาของความยุ่งยากทั้งปวง (โปรดอ่านล้อมกรอบเรื่องความเชื่อไทยๆ
จิตใจ ฮ่องกง บางที…อาจจบลงแบบโฮเวิร์ดฮิวส์")
ทุกอย่างล้วนมารวมศูนย์ที่ศิริชัย บูลกุล เพราะมาบุญครองคอมเพล็กซ์เป็น
"ที่ยื่น" สำคัญที่เขาจะยืนหยัดต่อสู้ เพื่อความยิ่งใหญ่ของมาบุญครองกรุ๊ปที่เขาสร้างมาด้วยมือของเขา
ในประเทศไทยไม่มีที่อื่นอีกแล้ว! สำหรับศิริชัย